“เราพบมาซีฮาแล้ว”
“เราพบมาซีฮาแล้ว”
“เราพบมาซีฮาแล้ว.” “เราได้พบพระองค์นั้นที่โมเซได้กล่าวถึงในคัมภีร์พระบัญญัติและพวกศาสดาพยากรณ์ได้กล่าวถึงด้วย.” ชาวยิวผู้เลื่อมใสสองคนในศตวรรษแรกได้แจ้งให้ทราบข่าวที่น่าตื่นเต้นดังกล่าว. ในที่สุด พระมาซีฮาที่รอคอยกันได้เสด็จมา. เขาทั้งสองมั่นใจจริง ๆ!—โยฮัน 1:35-45.
ถ้าคุณพิจารณาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และทางศาสนาในตอนนั้น ความมั่นใจของพวกเขาจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอีก. หลายคนที่อ้างว่าเป็นผู้ปลดปล่อยได้ปรากฏตัวโดยมีการประโคมข่าวและให้คำสัญญาอย่างใหญ่โต แต่ในไม่ช้าความหวังก็พังทลายขณะที่ผู้แอบอ้างเหล่านั้นไม่สามารถปลดแอกของพวกโรมันออกจากชาวยิวได้.—กิจการ 5:34-37.
อย่างไรก็ดี ชาวยิวสองคนนี้ ซึ่งก็คืออันดะเรอากับฟิลิป ไม่เคยสงสัยเลยว่าตนได้พบพระมาซีฮาแท้แล้ว. ตรงกันข้าม ในหลายปีต่อมา เขาทั้งสองมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อตัวเขาเองได้เห็นการอัศจรรย์ที่บุรุษผู้นี้ได้กระทำซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มีการบอกไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับพระมาซีฮา.
ทำไมสองคนนี้และคนอื่นอีกหลายคนที่แสดงความเชื่อในพระองค์ มั่นใจว่าพระองค์ไม่ใช่เป็นเพียงมาซีฮาปลอมหรือนักหลอกลวงที่ทำให้ผิดหวัง? มีหลักฐานอะไรบ้างที่ทำให้เชื่อถือได้ว่าพระองค์เป็นมาซีฮาแท้?
ตามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อันดะเรอาและฟิลิปได้ชี้ตัวพระเยซูชาวนาซาเรท อดีตช่างไม้ว่าเป็นพระมาซีฮาโยฮัน 1:45) ลูกานักประวัติศาสตร์ที่ละเอียดถี่ถ้วนในยุคนั้นกล่าวว่าการเสด็จมาของพระมาซีฮานี้มีขึ้น “เมื่อปีที่สิบห้าในรัชกาลติเบเรียวกายะซา.” (ลูกา 3:1-3) ปีที่ 15 ของรัชกาลติเบเรียวเริ่มต้นในเดือนกันยายนของสากลศักราช 28 และจบลงเดือนกันยายน ส.ศ. 29 ลูกากล่าวต่อไปว่า ชาวยิวในตอนนั้น “กำลังมุ่งคอย” การเสด็จมาของพระมาซีฮา. (ลูกา 3:15) ทำไมจึงมีการมุ่งคอยพระองค์ในเวลานั้นโดยเฉพาะ? เราจะพิจารณากัน.
ตามคำสัญญาที่คอยกันมานานแล้ว. (หลักฐานที่จะชี้ตัวพระมาซีฮา
เนื่องจากพระมาซีฮามีบทบาทสำคัญ คงมีเหตุผลที่จะคาดหมายว่าพระยะโฮวา พระผู้สร้างจะทรงจัดให้มีหลักฐานต่าง ๆ ที่แน่ชัดเพื่อช่วยชนผู้ซื่อสัตย์ที่เฝ้าระวังอยู่ให้ระบุตัวพระมาซีฮาตามคำสัญญา. เพราะเหตุใด? เพราะโดยวิธีนั้น บุคคลที่ตื่นตัวจะไม่ถูกตัวปลอมหลอกลวง ดังที่หลายคนทีเดียวถูกหลอก.
เมื่อแนะนำตัวต่ออีกรัฐบาลหนึ่ง มีการคาดหมายว่าเอกอัครราชทูตจะยืนยันการแต่งตั้งที่เขาได้รับด้วยเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็น. คล้ายกัน พระยะโฮวาได้ทรงบันทึกไว้ล่วงหน้านานมาแล้วเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่พระมาซีฮาจะต้องบรรลุ. ดังนั้น เมื่อมาซีฮา ปรากฏตัว นั่นก็จะเป็นประหนึ่งว่าพระองค์เสด็จมาพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งจะยืนยันว่าพระองค์คือมาซีฮา.
ข้อเรียกร้องที่พระมาซีฮาตัวจริงจะต้องบรรลุนั้นมีชี้แจงไว้ในคำพยากรณ์หลายข้อในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเขียนล่วงหน้าเป็นเวลาหลายร้อยปี. คำพยากรณ์ดังกล่าวบอกล่วงหน้าในรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับวิธีที่พระมาซีฮาเสด็จมา, ลักษณะแห่งงานรับใช้ของพระองค์, ความทุกข์ทรมานของพระองค์โดยน้ำมือของคนอื่น, และลักษณะความตายที่พระองค์จะประสบ. คุณอาจสนใจที่รู้ว่า คำพยากรณ์ที่น่าเชื่อถือเหล่านั้นยังได้บอกล่วงหน้าถึงการคืนพระชนม์ของพระองค์, การยกพระองค์ขึ้นสู่พระหัตถ์เบื้องขวาของพระเจ้า, และในที่สุดบอกถึงพระพรต่าง ๆ ที่การปกครองโดยราชอาณาจักรของพระองค์ในอนาคตจะนำมาสู่มนุษย์. โดยวิธีนี้ คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลจัดให้มีรูปแบบที่ไม่มีใดเหมือนซึ่งอาจเปรียบได้กับลายนิ้วมือซึ่งจะระบุถึงคนคนเดียวเท่านั้น.
แน่นอน เมื่อพระเยซูปรากฏตัวในปี ส.ศ. 29 คำพยากรณ์ทั้งหมดเกี่ยวกับพระมาซีฮาไม่ได้สำเร็จเป็นจริงในตอนนั้น. ตัวอย่างเช่น พระองค์ยังไม่ได้ถูกประหารและได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์. ถึงกระนั้น อันดะเรอา, ฟิลิป, และคนอื่นอีกมากมายได้แสดงความเชื่อในพระเยซูเนื่องจากสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนและทำ. พวกเขาเห็นข้อพิสูจน์มากมายว่า ที่จริงแล้ว พระองค์ทรงเป็นพระมาซีฮา. หากคุณมีชีวิตอยู่ย้อนหลังไปในตอนนั้นและคุณสามารถศึกษาหลักฐานโดยตรงด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง คุณก็คงจะมั่นใจเช่นกันว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา.
ภาพที่ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ
อะไรคงได้ช่วยคุณให้ลงความเห็นเช่นนั้น? ตลอดหลายศตวรรษ ผู้พยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้เสนอข้อเรียกร้องโดยเฉพาะที่พระมาซีฮาจะต้องบรรลุ ซึ่งจะระบุตัวพระองค์อย่างไม่ผิดพลาด. ขณะที่พวกผู้พยากรณ์ได้เสนอรายละเอียดเหล่านี้ตลอดหลายศตวรรษ ภาพของพระมาซีฮาค่อย ๆ ปรากฏออกมา. เฮนรี เอช. ฮัลเลย์ได้กล่าวว่า “สมมุติว่ามีคนจำนวนหนึ่งจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยพบกันหรือติดต่อกันเลย เดินเข้าไปในห้องหนึ่ง และแต่ละคนนำเอาหินอ่อนที่แกะสลักแล้วมาด้วยคนละชิ้น ซึ่งเมื่อเอาหินอ่อนชิ้นต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว จะได้รูปสลักที่สมบูรณ์ครบถ้วน—คนเราจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไรโดยไม่ลงความเห็นว่ามีบุคคลหนึ่งได้กำหนดรายละเอียดแต่ละส่วนของรูปนั้น แล้วส่งรายละเอียดเหล่านั้นไปให้แต่ละคน?” แล้วเขาก็ถามว่า “จะอธิบายได้อย่างไรเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ที่น่าทึ่งนี้แห่งชีวิตและงานของพระเยซูซึ่งได้รับการประกอบเข้าด้วยกันโดยผู้เขียนคนละคนและอยู่กันคนละศตวรรษ, ในยุคก่อนพระเยซูมามีชีวิตบนโลก, นอกเสียจากจะยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า มีผู้หนึ่งซึ่งมีความคิดเหนือมนุษย์ควบคุมดูแลการเขียนเรื่องนี้?” ฮัลเลย์ได้ลงความเห็นว่านั่นเป็น “สุดยอดแห่งการอัศจรรย์!”
“การอัศจรรย์” นี้ได้เริ่มต้นในพระธรรมเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากกล่าวคำพยากรณ์แรกในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งชี้ถึงบทบาทของพระมาซีฮา ผู้เขียนพระธรรมเยเนซิศได้บันทึกว่า พระมาซีฮาจะมาทางเชื้อสายของอับราฮาม. (เยเนซิศ 3:15; 22:15-18) เค้าเงื่อนอีกอย่างหนึ่ง เปิดเผยว่าพระมาซีฮาจะอยู่ในตระกูลยูดาห์. (เยเนซิศ 49:10) พระเจ้าได้ทรงแจ้งให้ชาวอิสราเอลทราบผ่านทางโมเซว่าพระมาซีฮาจะเป็นโฆษกและผู้ช่วยให้รอดที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ.—พระบัญญัติ 18:18.
ระหว่างสมัยของกษัตริย์ดาวิด คำพยากรณ์เปิดเผยว่าพระมาซีฮาจะเป็นรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ของดาวิด และอาณาจักรของพระองค์จะ “ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์.” (2 ซามูเอล 7:13-16) พระธรรมมีคาเปิดเผยว่าพระมาซีฮาจะประสูติในเบทเลเฮมเมืองของดาวิด. (มีคา 5:2) ยะซายาได้บอกล่วงหน้าว่า พระองค์จะประสูติจากหญิงพรหมจารี. (ยะซายา 7:14) ผู้พยากรณ์มาลาคีได้บอกล่วงหน้าว่าผู้หนึ่งที่เหมือนเอลียาจะประกาศการเสด็จมาของพระองค์.—มาลาคี 4:5, 6.
รายละเอียดที่เจาะจงต่อไปอีกเกี่ยวกับพระมาซีฮาได้ปรากฏอยู่ในพระธรรมดานิเอล. โดยชี้ชัดถึงปีนั้นแหละที่พระมาซีฮาจะปรากฏ คำพยากรณ์กล่าวว่า “ท่านควรรู้ และหยั่งเห็นเข้าใจว่า ตั้งแต่มีถ้อยคำออกไปให้กู้กรุงเยรูซาเลมและสร้างขึ้นใหม่จนถึงพระมาซีฮาผู้นำ นั้น จะเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ กับอีกหกสิบสองสัปดาห์. กรุงจะคืนสภาพและจะถูกสร้างขึ้นใหม่จริง ๆ พร้อมด้วยจัตุรัสและคูเมือง แต่ในยามลำเค็ญ.”—ดานิเอล 9:25, ล.ม.
กษัตริย์อะระธาสัศธาแห่งเปอร์เซียได้ตรัส “ถ้อยคำ” ที่ให้กู้กรุงเยรูซาเลมและสร้างขึ้นใหม่ในปี 20 แห่งรัชกาลของท่าน. การปกครองของท่านเริ่มในปี 474 ก่อนสากลศักราช ดังนั้น ปีที่ 20 ก็จะตรงกับปี 455 ก่อน ส.ศ. (นะเฮมยา 2:1-8) ด้วยเหตุนั้น ช่วงเวลา 69 (7 บวก 62) สัปดาห์เชิงพยากรณ์คงจะอยู่ระหว่างพระบัญชาให้กู้และสร้างกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่กับการปรากฏของพระมาซีฮา. แน่นอน หกสิบเก้าสัปดาห์ตามตัวอักษรเท่ากับ 483 วันเท่านั้น คือไม่ถึงสองปี. แต่เมื่อใช้กฎเชิงพยากรณ์ที่มีการกล่าวไว้ที่ว่า “หนึ่งวันแทนหนึ่งปี” จึงได้ข้อเฉลยที่ว่าพระมาซีฮาจะมาปรากฏใน 483 ปีให้หลัง ซึ่งก็คือในปี ส.ศ. 29.—ยะเอศเคล 4:6, ล.ม. *
ถึงแม้ผู้อ้างสิทธิ์เป็นมาซีฮาหลายคนได้ปรากฏตัว ณ เวลาต่าง ๆ กัน เฉพาะแต่พระเยซูชาวนาซาเรทได้ปรากฏบนเวทีโลกในปี ส.ศ. 29. (ลูกา 3:1, 2) ในปีนั้นแหละ พระเยซูได้เสด็จมาหาโยฮันผู้ให้รับบัพติสมาและได้รับบัพติสมาในน้ำ. ครั้นแล้ว พระเยซูได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระมาซีฮา. ต่อมา โยฮัน ผู้ที่มาเตรียมทางไว้ซึ่งเป็นเหมือนเอลียาตามที่บอกล่วงหน้า ได้แนะนำอันดะเรอาและสาวกอีกคนหนึ่งให้รู้จักพระเยซู โดยเรียกพระองค์ว่า “พระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไป.”—โยฮัน 1:29; ลูกา 1:13-17; 3:21-23.
ลำดับวงศ์ตระกูลและการระบุตัวพระมาซีฮา
คำพยากรณ์ต่าง ๆ ที่มีขึ้นโดยการดลใจได้เชื่อมโยงพระมาซีฮากับวงศ์ตระกูลของชาวยิวที่เฉพาะเจาะจง. ดังนั้น จึงมีเหตุผลที่สุดที่พระผู้สร้างองค์สัพพัญญูจะทรงเตรียมการให้พระมาซีฮาเสด็จมาในตอนที่สามารถหาบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลได้เพื่อจะพิสูจน์ยืนยันบรรพบุรุษของพระองค์.
ไซโคลพีเดีย ของแมกคลินทอกและสตรองก์กล่าวว่า “แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลของชาวยิวสูญสิ้นไปในคราวการทำลายกรุงเยรูซาเลม [ในปี ส.ศ. 70] และไม่ใช่ก่อนหน้านั้น.” มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ามัดธายและลูกาได้เขียนกิตติคุณของตนก่อนปี ส.ศ. 70. ดังนั้น เขาทั้งสองจึงสามารถค้นหาข้อมูลจากบันทึกเหล่านี้ในการเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษของพระเยซู. (มัดธาย 1:1-16; ลูกา 3:23-38) และแน่นอนว่าในเรื่องที่สำคัญ มากเช่นนั้น หลายคนที่อยู่ร่วมสมัยกับเขาคงต้องการจะพิสูจน์ยืนยันเรื่องบรรพบุรุษของพระเยซูด้วยตัวเอง.
สำเร็จเป็นจริงโดยบังเอิญในตัวพระเยซูไหม?
อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ไหมว่าการที่พระเยซูทำให้คำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮาสำเร็จเป็นจริงนั้นเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ? ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งได้ตอบในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้. โอกาสที่จะเป็นเรื่องบังเอิญนั้นเป็นไปได้น้อยเสียจนตัดออกไปได้เลย. คนที่คิดคำนวณออกมาพบว่าโอกาสที่คำพยากรณ์แค่แปดเรื่องจะสำเร็จเป็นจริงโดยบังเอิญนั้นมีความเป็นไปได้หนึ่งในหนึ่งแสนล้านล้าน.” เพื่อแสดงให้เห็นว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยเสียจนไม่อาจนึกภาพได้ เขากล่าวว่า “หากคุณเอาเหรียญเงินจำนวนดังกล่าวมาวางเรียงซ้อนกัน เงินจำนวนนี้จะครอบคลุมรัฐเท็กซัส [พื้นที่ 690,000 ตารางกิโลเมตร] สูงถึง 2 ฟุต. หากคุณทำเครื่องหมายไว้ที่เหรียญเงินอันหนึ่งในบรรดาเหรียญทั้งหมด แล้วให้คนหนึ่งที่ปิดตาเดินไปทั่วทั้งรัฐแล้วก้มลงเก็บเหรียญหนึ่งขึ้นมา จะมีโอกาสเป็นไปได้ไหมว่าเขาจะเลือกเหรียญที่ทำเครื่องหมายไว้นั้น?” แล้วเขาได้กล่าวว่านั่นคือ “ความเป็นไปได้อย่างเดียวกันที่ใครคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้ทำให้คำพยากรณ์ [เกี่ยวกับพระมาซีฮา] เพียงแปดเรื่องสำเร็จเป็นจริงโดยบังเอิญ.”
กระนั้น ระหว่างช่วงงานรับใช้สามปีครึ่งของพระองค์ พระเยซูได้ทำให้คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริงไม่เพียงแค่แปดเรื่อง แต่ทรงทำให้สำเร็จหลายเรื่อง. เมื่อคำนึงถึงหลักฐานที่มีท่วมท้นดังกล่าว ผู้คงแก่เรียนคนนั้นได้สรุปว่า “พระเยซู—และตลอดประวัติศาสตร์ก็มีพระเยซูเท่านั้น—ที่ทำให้คำพยากรณ์หลายข้อในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง.”
“การเสด็จมา” ของพระมาซีฮา
เห็นได้ชัด พระมาซีฮาได้เสด็จมาในปี ส.ศ. 29 เป็นพระเยซูชาวนาซาเรท. นั่นเป็นการเสด็จมาในฐานะผู้ไถ่ที่ต่ำต้อยซึ่งได้รับความทุกข์ทรมาน. พระองค์มิได้เสด็จมาในฐานะกษัตริย์ที่พิชิตศัตรูทั้งสิ้นเพื่อจะปลดแอกที่กดขี่ของชาวโรมัน ดังที่ชาวยิวส่วนใหญ่และแม้แต่เหล่าผู้ติดตามพระองค์ก็ดูเหมือนจะคาดหวังเช่นนั้น. (ยะซายาบท 53; ซะคาระยา 9:9; กิจการ 1:6-8) อย่างไรก็ดี มีการบอกล่วงหน้าว่าการเสด็จมาของพระองค์ในอนาคตจะเป็นการมาด้วยอำนาจและฤทธานุภาพอันใหญ่ยิ่ง.—ดานิเอล 2:44; 7:13, 14.
การศึกษาคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างละเอียดถี่ถ้วนได้ทำให้ผู้คนที่มีเหตุผลตลอดทั่วโลกมั่นใจว่าพระมาซีฮาได้เสด็จมาแล้วในศตวรรษแรก และพระองค์ต้องเสด็จกลับมาอีก. หลักฐานพิสูจน์ว่าการเสด็จกลับของพระองค์ที่บอกไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็คือการเริ่มต้นแห่ง “การประทับ” ของพระองค์ได้เกิดขึ้นในปี 1914. * (มัดธาย 24:3-14, ล.ม.) ในปีนั้น พระเยซูขึ้นครองราชย์ในสวรรค์อย่างไม่ประจักษ์แก่ตาในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. ในไม่ช้า พระองค์จะลงมือจัดการเพื่อกำจัดผลกระทบที่เกิดจากการกบฏในสวนเอเดน. ต่อจากนั้นรัชสมัยพันปีของพระองค์จะอวยพรบรรดาคนเหล่านั้นที่สำแดงความเชื่อในพระองค์ฐานะพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญา พระมาซีฮาผู้ “ทรงรับความผิดบาปของโลกไป.”—โยฮัน 1:29; วิวรณ์ 21:3, 4.
พยานพระยะโฮวายินดีจะพิจารณาหลักฐานนั้นกับคุณและชี้ให้คุณดูจากคัมภีร์ไบเบิลว่าการปกครองของพระมาซีฮาจะก่อผลประโยชน์เช่นไรสำหรับคุณและคนที่คุณรัก.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 17 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับดานิเอล 9:25 (ล.ม.) โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 899-904 และหนังสือจงเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล! หน้า 186-191 ทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 27 สำหรับรายละเอียดเพิ่มขึ้น โปรดดูบท 10 และ 11 ของหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 6, 7]
ปี 455 ก่อน ส.ศ. “มีถ้อยคำออกไปให้กู้กรุงเยรูซาเลม”
ปี ส.ศ. 29 พระมาซีฮาเสด็จมา
483 ปี (69 สัปดาห์เชิงพยากรณ์)—ดานิเอล 9:25
ปี 1914 พระมาซีฮาขึ้นครองราชย์ในสวรรค์
ในไม่ช้าพระมาซีฮาจะทำให้ความชั่วสิ้นสุดลงและทำให้แผ่นดินโลกเป็นอุทยาน