ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากพระธรรมเอศเธระ

จุดเด่นจากพระธรรมเอศเธระ

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​พระ​ธรรม​เอศเธระ

แผนการ​ที่​วาง​ไว้​จะ​ต้อง​สำเร็จ​แน่ ๆ. แผนการ​ที่​ว่า​นี้​คือ​การ​สังหาร​หมู่​ชาว​ยิว​ทั้ง​หมด​ไม่​ให้​เหลือ​แม้​แต่​คน​เดียว. เมื่อ​ถึง​วัน​ที่​กำหนด​ไว้ ชาว​ยิว​ทุก​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​แดน​ของ​จักรวรรดิ ตั้ง​แต่​อินเดีย​ไป​จน​ถึง​เอธิโอเปีย จะ​ต้อง​ถูก​กำจัด​ให้​สิ้น​ซาก​ภาย​ใน​วัน​เดียว. นั่น​คือ​สิ่ง​ที่​ผู้​วาง​แผน​คิด​เอา​ไว้. แต่​เขา​คง​จะ​ลืม​สิ่ง​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ไป. พระเจ้า​แห่ง​สรวง​สวรรค์​สามารถ​ช่วย​ประชาชน​ที่​พระองค์​ทรง​เลือก​สรร​ไว้​ให้​หลุด​พ้น​จาก​สภาพการณ์​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​คุกคาม​ชีวิต​ได้. การ​ช่วย​ให้​รอด​ดัง​กล่าว​ได้​บันทึก​ไว้​ใน​พระ​ธรรม​เอศเธระ.

ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​เอศเธระ​คือ​มาระดะคาย ชาว​ยิว​ผู้​สูง​วัย พระ​ธรรม​นี้​ครอบ​คลุม​ระยะ​เวลา​ราว 18 ปี​แห่ง​รัชกาล​ของ​อะหัศวะโรศ กษัตริย์​เปอร์เซีย หรือ​เซอร์เซส​ที่ 1. เรื่อง​ราว​ที่​น่า​ตื่นเต้น​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ปก​ป้อง​ประชาชน​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร​ให้​พ้น​จาก​แผน​ชั่ว​ของ​ศัตรู ถึง​แม้​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​จะ​กระจาย​อยู่​ทั่ว​จักรวรรดิ​อัน​กว้าง​ใหญ่​นี้. ความ​รู้​ดัง​กล่าว​ช่วย​เสริม​ความ​เชื่อ​จริง ๆ สำหรับ​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทุก​วัน​นี้​ซึ่ง​กำลัง​ทำ​งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ถวาย​แด่​พระองค์​ใน 235 ดินแดน. ยิ่ง​กว่า​นั้น บุคคล​ต่าง ๆ ที่​พรรณนา​ใน​พระ​ธรรม​เอศเธระ​มี​ทั้ง​ตัว​อย่าง​ที่​เรา​ควร​เลียน​แบบ​และ​ที่​ไม่​ควร​เลียน​แบบ. จริง​ที​เดียว “พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มี​ชีวิต​และ​ทรง​พลัง.”—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.

ราชินี​ต้อง​ยื่น​มือ​เข้า​ช่วย

(เอศเธระ 1:1–5:14)

ใน​ปี​ที่​สาม​แห่ง​รัชกาล​ของ​กษัตริย์​อะหัศวะโรศ (ปี 493 ก่อน​สากล​ศักราช) ท่าน​ได้​จัด​งาน​เลี้ยง​ใหญ่. ราชินี​วัศธี ซึ่ง​เลื่อง​ลือ​ใน​เรื่อง​ความ​งาม ทำ​ให้​กษัตริย์​ไม่​พอ​พระทัย​อย่าง​มาก​และ​ทำ​ให้​พระ​นาง​ถูก​ถอด​จาก​ตำแหน่ง. ฮะดัดซา หญิง​สาว​ชาว​ยิว​ได้​รับ​เลือก​เป็น​ราชินี​คน​ใหม่​จาก​บรรดา​หญิง​พรหมจารี​ที่​งดงาม​ทั่ว​ทั้ง​จักรวรรดิ. โดย​การ​ชี้​นำ​จาก​มาระดะคาย​ซึ่ง​เป็น​ลูก​พี่​ลูก​น้อง เธอ​ปก​ปิด​เรื่อง​ที่​ตน​เป็น​ชาว​ยิว​และ​ใช้​ชื่อ​เปอร์เซีย​ว่า เอศเธระ.

ต่อ​มา ฮามาน ชาย​ผู้​หยิ่ง​ยโส​ได้​รับ​ตำแหน่ง​นายก​รัฐมนตรี. ฮามาน​รู้สึก​โกรธ​แค้น​ที่​มาระดะคาย​ไม่​ยอม “กราบ​หรือ​แสดง​ความ​เคารพ” เขา​จึง​วาง​แผน​กำจัด​ชาว​ยิว​ทุก​คน​ใน​จักรวรรดิ​เปอร์เซีย. (เอศเธระ 3:2, ฉบับ​แปล​ใหม่) ฮามาน​โน้ม​น้าว​อะหัศวะโรศ​ให้​เห็น​ด้วย​กับ​เขา​และ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ให้​กษัตริย์​ออก​กฤษฎีกา​เพื่อ​ดำเนิน​การ​สังหาร​หมู่​ดัง​กล่าว. มาระดะคาย “เอา​ผ้า​เนื้อ​หยาบ​นุ่ง​ห่ม​อัน​คลุก​ด้วย​ขี้เถ้า​ใส่​ตัว.” (เอศเธระ 4:1) มา​ถึง​ตอน​นี้ เอศเธระ​ต้อง​ยื่น​มือ​เข้า​ช่วย. พระ​นาง​ทูล​เชิญ​กษัตริย์​และ​นายก​รัฐมนตรี​มา​ยัง​งาน​เลี้ยง​ส่วน​ตัว​ที่​พระ​นาง​จัด​ขึ้น. เมื่อ​เห็น​ว่า​พวก​เขา​ยินดี​มา​ร่วม เอศเธระ​จึง​เชิญ​มา​งาน​เลี้ยง​ที่​จะ​จัด​อีก​ใน​วัน​รุ่ง​ขึ้น. ฮามาน​รู้สึก​เบิกบาน​ใจ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เขา​โกรธ​มาก​ที่​มาระดะคาย​ไม่​ยอม​ทำ​ความ​เคารพ. ก่อน​จะ​ถึง​งาน​เลี้ยง​วัน​รุ่ง​ขึ้น ฮามาน​จึง​วาง​แผน​สังหาร​มาระดะคาย.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

1:3-5—งาน​เลี้ยง​กิน​เวลา 180 วัน​จริง​หรือ? ข้อ​คัมภีร์​ไม่​ได้​กล่าว​ว่า​งาน​เลี้ยง​ใช้​เวลา​นาน​ขนาด​นั้น แต่​กล่าว​ว่า​กษัตริย์​อวด​ให้​ข้าราชการ​เห็น​ความ​มั่งคั่ง​และ​ความ​งดงาม​แห่ง​อาณาจักร​อัน​รุ่งเรือง​ของ​ท่าน​เป็น​เวลา 180 วัน. กษัตริย์​อาจ​จะ​ใช้​การ​ชุมนุม​ที่​ยาว​นาน​นั้น​อวด​สง่า​ราศี​แห่ง​อาณาจักร​ของ​ท่าน​เพื่อ​ทำ​ให้​เหล่า​ขุนนาง​ประทับใจ​และ​มั่น​ใจ​ใน​พระ​ปรีชา​สามารถ​ของ​ท่าน​ที่​จะ​ทำ​ให้​แผนการ​สำเร็จ​ลุ​ล่วง. ถ้า​เป็น​กรณี​นั้น​จริง ๆ ข้อ 3 และ 5 อาจ​หมาย​ถึง​งาน​เลี้ยง 7 วัน​ที่​จัด​ขึ้น​ใน​ช่วง​สุด​ท้าย​ของ 180 วัน​แห่ง​การ​ชุมนุม.

1:8—วลี​ที่​ว่า ‘ไม่​มี​ใคร​บังคับ​เกี่ยว​กับ​การ​รับประทาน​น้ำ​องุ่น​ตาม​กฎหมาย’ หมาย​ความ​อย่าง​ไร? ใน​คราว​นั้น กษัตริย์​อะหัศวะโรศ​ทำ​การ​ยก​เว้น​สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​ธรรมเนียม​เปอร์เซีย​เกี่ยว​กับ​การ​คะยั้นคะยอ​ให้​ดื่ม​ตาม​ปริมาณ​ที่​กำหนด​ไว้ ณ การ​ชุมนุม​แบบ​นั้น. แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “พวก​เขา​สามารถ​ดื่ม​ได้​มาก​หรือ​น้อย​ตาม​ใจ​ชอบ.”

1:10-12—เหตุ​ใด​ราชินี​วัศธี​จึง​ขัด​รับสั่ง​ที่​ให้​มา​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์? ผู้​คง​แก่​เรียน​บาง​คน​แนะ​ว่า ที่​ราชินี​ขัด​รับสั่ง​ก็​เพราะ​พระ​นาง​ไม่​อยาก​ลด​ตัว​ลง​มา​ปรากฏ​โฉม​ต่อ​หน้า​แขก​ที่​เมา​มาย. หรือ​บาง​ที ราชินี​ที่​งดงาม​แต่​ภาย​นอก​ไม่​ได้​แสดง​ความ​อ่อนน้อม​ต่อ​พระ​สวามี​จริง ๆ. ขณะ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​กล่าว​ว่า​เจตนา​ของ​พระ​นาง​เป็น​อย่าง​ไร แต่​ชาย​ที่​ฉลาด​สุขุม​ใน​สมัย​นั้น​คิด​ว่า​การ​เชื่อ​ฟัง​สามี​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​และ​ตัว​อย่าง​ที่​ไม่​ดี​ของ​วัศธี​จะ​มี​อิทธิพล​ต่อ​ภรรยา​ทั้ง​หลาย​ใน​มณฑล​ต่าง ๆ ของ​เปอร์เซีย.

2:14-17—เอศเธระ​ได้​มี​ความ​สัมพันธ์​ทาง​เพศ​อย่าง​ผิด​ศีลธรรม​กับ​กษัตริย์​ไหม? คำ​ตอบ​คือ​ไม่. บันทึก​กล่าว​ว่า​ใน​ตอน​เช้า ผู้​หญิง​คน​อื่น​ที่​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์​จะ​ถูก​นำ​กลับ​มา​พัก​ใน​ตำหนัก​ที่​สอง​และ​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ดู​แล​ของ​ขันที​ซึ่ง “เป็น​ผู้​รักษา​นาง​ห้าม.” ผู้​หญิง​ที่​ได้​อยู่​กับ​กษัตริย์​คืน​หนึ่ง​จะ​กลาย​เป็น​นาง​ห้าม​หรือ​อนุ​ภรรยา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เอศเธระ​ไม่​ได้​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ไว้​ที่​ตำหนัก​นาง​ห้าม​หลัง​จาก​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์​แล้ว. เมื่อ​เอศเธระ​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์​อะหัศวะโรศ “กษัตริย์​ได้​รัก​นาง​เอศเธระ​มาก​กว่า​หญิง​ทั้ง​ปวง, และ​นาง​เอศเธระ​นั้น​ได้​รับ​ความ​ชอบ​และ​ความ​โปรดปราน​ใน​พระ​เนตร​ของ​กษัตริย์​มาก​ยิ่ง​กว่า​หญิง​พรหมจารี​ทั้ง​หลาย​เหล่า​นั้น.” (เอศเธระ 2:17) เธอ​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​ได้​รับ “ความ​ชอบ​และ​ความ​โปรดปราน” จาก​อะหัศวะโรศ? ก็​ทำ​วิธี​เดียว​กัน​กับ​ที่​เธอ​ชนะ​ใจ​คน​อื่น ๆ นั่น​เอง. “ฝ่าย​เฮฆาย​นั้น​ชอบ​ใจ​เอศเธระ, และ​ได้​สงเคราะห์​นาง​เป็น​อัน​มาก.” (เอศเธระ 2:8, 9) เฮฆาย​รู้สึก​เอ็นดู​เอศเธระ​เป็น​พิเศษ​เนื่อง​จาก​สิ่ง​ที่​เขา​สังเกต​เห็น ซึ่ง​ก็​คือ การ​ปรากฏ​ตัว​และ​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ใน​ตัว​เธอ​นั่น​เอง. ที่​จริง “เอศเธระ​นั้น​ได้​เป็น​ที่​ชอบ​ตา​ของ​คน​ทั้ง​ปวง​ที่​ได้​เห็น​นาง​นั้น.” (เอศเธระ 2:15) ใน​ทำนอง​เดียว​กัน กษัตริย์​รู้สึก​ประทับใจ​สิ่ง​ที่​ท่าน​เห็น​ใน​ตัว​เอศเธระ​และ​จึง​ทำ​ให้​ท่าน​รัก​เธอ.

3:2; 5:9—เหตุ​ใด​มาระดะคาย​ไม่​ยอม​โค้ง​คำนับ​ฮามาน? ไม่​ผิด​ที่​ชาว​อิสราเอล​จะ​แสดง​การ​ยอม​รับ​บุคคล​สำคัญ​ที่​ได้​รับ​การ​ยก​ให้​มี​ตำแหน่ง​ที่​สูง​กว่า​โดย​การ​หมอบ​ตัว​ลง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม กรณี​ของ​ฮามาน​มี​สิ่ง​อื่น​ที่​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย. ฮามาน​เป็น​ชาว​อะฆาฆ หรือ​อาจ​เป็น​ชาว​อะมาเลค และ​พระ​ยะโฮวา​เคย​มี​รับสั่ง​ให้​ทำลาย​พวก​อะมาเลค​ให้​สิ้น​ซาก. (พระ​บัญญัติ 25:19) สำหรับ​มาระดะคาย​แล้ว การ​ก้ม​หัว​ให้​กับ​ฮามาน​ย่อม​หมาย​ถึง​การ​ไม่​ภักดี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. ท่าน​จึง​ปฏิเสธ​เด็ดขาด​และ​บอก​ว่า​ท่าน​เป็น​ชาว​ยิว.—เอศเธระ 3:3, 4.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

2:10, 20; 4:12-16. เอศเธระ​ยอม​รับ​การ​ชี้​แนะ​และ​คำ​แนะ​นำ​ของ​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ที่​อาวุโส. นับ​ว่า​ฉลาด​สุขุม​ที่​เรา​จะ “เชื่อ​ฟัง​และ​ยอม​อยู่​ใน​โอวาท​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ปกครอง [เรา].”—เฮ็บราย 13:17.

2:11; 4:5. เรา​ไม่​ควร “เห็น​แก่​ประโยชน์​ของ​ตน​เอง​เท่า​นั้น แต่​ให้​เห็น​แก่​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น ๆ ด้วย.”—ฟิลิปปอย 2:4, ล.ม.

2:15. เอศเธระ​แสดง​ความ​เจียม​ตัว​และ​การ​รู้​จัก​บังคับ​ตน​โดย​ไม่​เรียก​ร้อง​เครื่อง​ประดับ​หรือ​เสื้อ​ผ้า​ที่​งดงาม​เกิน​กว่า​ที่​เฮฆาย​ได้​จัด​เตรียม​ไว้​ให้. การ​เป็น “บุคคล​ที่​ซ่อน​เร้น​ไว้​แห่ง​หัวใจ ด้วย [เครื่อง​แต่ง​กาย] ที่​เปื่อย​เน่า​ไม่​ได้​แห่ง​น้ำใจ​สงบเสงี่ยม​และ​อ่อนโยน” นั่น​เอง​ที่​ทำ​ให้​เอศเธระ​เป็น​ที่​โปรดปราน​ของ​กษัตริย์.—1 เปโตร 3:4, ล.ม.

2:21-23. เอศเธระ​และ​มาระดะคาย​วาง​แบบ​อย่าง​ที่​ดี​ใน​การ “ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​ที่​สูง​กว่า.”—โรม 13:1, ล.ม.

3:4. ใน​บาง​สถานการณ์ อาจ​เป็น​เรื่อง​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​ปก​ปิด​ฐานะ​ของ​เรา​ไว้​เป็น​ความ​ลับ​ดัง​เช่น​ที่​เอศเธระ​ได้​ทำ. แต่​เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​ต้อง​ยืนหยัด​เพื่อ​ประเด็น​ต่าง ๆ ที่​สำคัญ เช่น พระ​บรม​เดชานุภาพ​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​เรา เรา​ต้อง​ไม่​กลัว​ที่​จะ​ประกาศ​ตัว​ว่า​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

4:3. เมื่อ​เผชิญ​ความ​ยาก​ลำบาก เรา​ควร​หัน​เข้า​หา​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​อธิษฐาน​ขอ​กำลัง​และ​สติ​ปัญญา.

4:6-8. มาระดะคาย​แสวง​หา​ทาง​แก้ไข​อย่าง​ที่​ชอบ​ด้วย​กฎหมาย​ใน​คราว​ที่​ฮามาน​วาง​แผน​ทำลาย​ล้าง​พวก​ยิว.—ฟิลิปปอย 1:7, ล.ม.

4:14. มาระดะคาย​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ใน​เรื่อง​การ​มั่น​ใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา.

4:16. ด้วย​การ​ไว้​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เต็ม​ที่ เอศเธระ​เผชิญ​สถานการณ์​ที่​ต้อง​เสี่ยง​ชีวิต​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​กล้า​หาญ. นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา ไม่​ใช่​ตัว​เรา​เอง.

5:6-8. เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​อะหัศวะโรศ เอศเธระ​เชิญ​ท่าน​มา​งาน​เลี้ยง​ครั้ง​ที่​สอง. เธอ​ลง​มือ​ทำ​อย่าง​ฉลาด เรา​ก็​ควร​ทำ​อย่าง​นั้น​เช่น​กัน.—สุภาษิต 14:15.

เหตุ​การณ์​พลิก​ผัน​เป็น​ลำดับ

(เอศเธระ 6:1–10:3)

ดัง​ที่​เรื่อง​ราว​เผย​ให้​เห็น เหตุ​การณ์​กลับ​พลิก​ผัน​จาก​หน้า​มือ​เป็น​หลัง​มือ. ฮามาน​ถูก​แขวน​คอ​บน​ขาหยั่ง​ที่​ตน​เอง​เตรียม​ไว้​สำหรับ​มาระดะคาย และ​คน​ที่​ถูก​หมาย​ไว้​ว่า​จะ​เป็น​เหยื่อ​กลับ​ได้​เป็น​นายก​รัฐมนตรี! แล้ว​แผนการ​สังหาร​หมู่​ชาว​ยิว​ล่ะ? แผนการ​นั้น​ก็​จะ​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​น่า​ทึ่ง​เช่น​กัน.

เอศเธระ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​เอ่ย​ปาก​อีก​ครั้ง. เธอ​ยอม​เสี่ยง​ชีวิต​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์​พร้อม​ด้วย​คำ​ขอ​เพื่อ​หา​หน​ทาง​ล้ม​ล้าง​แผนการ​ของ​ฮามาน. อะหัศวะโรศ​รู้​ว่า​จะ​ต้อง​ทำ​อะไร. ดัง​นั้น เมื่อ​วัน​แห่ง​การ​สังหาร​มา​ถึง​ใน​ที่​สุด คน​ที่​ถูก​ฆ่า​ไม่​ใช่​พวก​ยิว แต่​เป็น​คน​ที่​ต้องการ​จะ​ฆ่า​พวก​เขา. มาระดะคาย​มี​คำ​สั่ง​ให้​จัด​เทศกาล​ฉลอง​ฟูริม​ขึ้น​ทุก​ปี​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​ช่วย​ให้​รอด​ครั้ง​ยิ่ง​ใหญ่​นี้. มาระดะคาย​ซึ่ง​ได้​รับ​ตำแหน่ง​สูง จะ​เป็น​รอง​ก็​แต่​กษัตริย์​อะหัศวะโรศ​เท่า​นั้น ได้ “แสวง​หา​ความ​สุข​ให้​ชน​ชาติ​ของ​ท่าน​และ​พูด​ให้​เกิด​สันติ​สุข​แก่​พงศ์พันธุ์​ทั้ง​ปวง​ของ​ท่าน.”—เอศเธระ 10:3, ฉบับ​แปล​ใหม่.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

7:4 (ฉบับ​แปล​ใหม่)—การ​สังหาร​ชาว​ยิว​จะ​เกิด “ผล​เสียหาย” แก่​กษัตริย์​อย่าง​ไร? เอศเธระ​ใช้​ไหว​พริบ​ชี้​ให้​กษัตริย์​เห็น​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ขาย​พวก​ยิว​เป็น​ทาส เธอ​เน้น​ว่า​กษัตริย์​จะ​ได้​รับ​ผล​เสีย​ถ้า​พวก​ยิว​ถูก​สังหาร. เงิน 10,000 ตะลันต์​ที่​ฮามาน​สัญญา​จะ​จ่าย​ก็​ยัง​น้อย​กว่า​กำไร​ที่​กษัตริย์​จะ​ได้​หาก​ฮามาน​วาง​แผน​จะ​ขาย​พวก​ยิว​เป็น​ทาส. นอก​จาก​นั้น ถ้า​แผนการ​ของ​ฮามาน​สำเร็จ​นั่น​ย่อม​หมาย​ความ​ว่า​กษัตริย์​ต้อง​สูญ​เสีย​ราชินี​อีก​ด้วย.

7:8—เหตุ​ใด​ข้าราชสำนัก​จึง​คลุม​หน้า​ฮามาน​ไว้? ดู​เหมือน​ว่า นี่​บ่ง​ชี้​ถึง​ความ​อับอาย​หรือ​กำลัง​จะ​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ประหาร. ตาม​ที่​แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​กล่าว​ไว้ “การ​คลุม​หน้า​ใน​สมัย​โบราณ​บาง​ครั้ง​หมาย​ถึง​การ​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต.”

8:17“คน​เป็น​อัน​มาก​ทั่ว​แผ่นดิน​นั้น​ได้​เข้า​จารีต​พรรค​พวก​ยูดาย [“ประกาศ​ตัว​เป็น​พวก​ยิว,” ฉบับ​แปล​ใหม่]” ใน​แง่​ใด? เห็น​ได้​ชัด​ว่า ชาว​เปอร์เซีย​หลาย​คน​ได้​เปลี่ยน​มา​ถือ​ศาสนา​ยิว โดย​คิด​ว่า​กฤษฎีกา​ที่​ให้​ผล​กลับ​กัน​บ่ง​ชี้​ว่า​พระเจ้า​ทรง​โปรดปราน​ชาว​ยิว. ความ​สำเร็จ​เป็น​จริง​ของ​คำ​พยากรณ์​ที่​พบ​ใน​พระ​ธรรม​ซะคาระยา​ก็​เป็น​ไป​ตาม​หลักการ​เดียว​กัน​นี้. ข้อ​นั้น​กล่าว​ว่า “สิบ​คน​แต่​บรรดา​ภาษา​ประเทศ​เมือง​ทั้ง​ปวง​จะ​ยึด​ชาย​เสื้อ​แห่ง​คน​ชาติ​ยูดาย​ว่า เรา​จะ​ไป​ด้วย​ท่าน เพราะ​เรา​ได้​ยิน​ว่า​พระเจ้า​อยู่​กับ​ท่าน​แล้ว.”—ซะคาระยา 8:23.

9:10, 15, 16—แม้​กฤษฎีกา​นั้น​จะ​ให้​สิทธิ​แก่​ชาว​ยิว​ที่​จะ​ยึด​เอา​ของ​ที่​ริบ​มา แต่​เหตุ​ใด​พวก​เขา​ไม่​ทำ​เช่น​นั้น? เห็น​ได้​ชัด​ว่า ที่​พวก​เขา​ไม่​ทำ​ก็​เป็น​การ​แสดง​ให้​เห็น​ชัดเจน​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​หวัง​ความ​ร่ำรวย แต่​ต้องการ​ปก​ป้อง​พวกพ้อง​ของ​ตน.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

6:6-10. “ความ​เย่อหยิ่ง​นำ​ไป​ถึง​ความ​พินาศ, และ​จิตต์​ใจ​ที่​จองหอง​นำ​ไป​ถึง​การ​ล้ม​ลง.”—สุภาษิต 16:18.

7:3, 4. เรา​กล้า​เปิด​เผย​ตัว​เอง​ว่า​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไหม แม้​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ถูก​ข่มเหง?

8:3-6. เรา​สามารถ​ทำ​ได้​และ​น่า​จะ​ทำ​ใน​เรื่อง​การ​อุทธรณ์​ต่อ​รัฐบาล​และ​ศาล เพื่อ​ขอ​การ​คุ้มครอง​ให้​พ้น​ภัย​ศัตรู.

8:5. ด้วย​ความ​สุขุม เอศเธระ​ไม่​ได้​เอ่ย​ว่า​กษัตริย์​ต้อง​รับผิดชอบ​ต่อ​กฤษฎีกา​ที่​หมาย​จะ​กำจัด​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ของ​พระ​นาง. เรา​ต้อง​ระมัดระวัง​เช่น​กัน​เมื่อ​ให้​คำ​พยาน​กับ​เจ้าหน้าที่​ระดับ​สูง.

9:22. เรา​ไม่​ควร​ลืม​คน​ยาก​จน​ใน​หมู่​พวก​เรา.—ฆะลาเตีย 2:10.

พระ​ยะโฮวา​จะ​จัด​เตรียม “การ​บรรเทา​ทุกข์​และ​ความ​รอด”

มาระดะคาย​พูด​เป็น​นัย​ว่า การ​ที่​เอศเธระ​ได้​มา​เป็น​ราชินี​นั้น​เป็น​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. เมื่อ​ถูก​คุกคาม ชาว​ยิว​พา​กัน​อด​อาหาร​และ​อธิษฐาน​ขอ​การ​ช่วยเหลือ. ราชินี​ปรากฏ​ตัว​ต่อ​พระ​พักตร์​กษัตริย์​โดย​มิ​ได้​รับ​เชิญ และ​แต่​ละ​ครั้ง​ก็​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน. ใน​คืน​ที่​จะ​เกิด​เหตุ​การณ์​ร้าย​นั้น กษัตริย์​บรรทม​ไม่​หลับ​พอ​ดี. จริง​ที​เดียว พระ​ธรรม​เอศเธระ​คือ​บันทึก​เหตุ​การณ์​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เข้า​แทรกแซง​เพื่อ​เห็น​แก่​ผล​ประโยชน์​ของ​ประชาชน​ของ​พระองค์.

เรื่อง​ราว​ที่​น่า​ตื่นเต้น​ใน​พระ​ธรรม​เอศเธระ​ให้​การ​หนุน​ใจ​พวก​เรา​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน “เวลา​อวสาน” นี้. (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) “ใน​ช่วง​สุด​ท้าย​แห่ง​สมัย” หรือ​ช่วง​สุด​ท้าย​ของ​เวลา​อวสาน โกก​แห่ง​มา​โกก—ซาตาน​พญา​มาร—จะ​ทำ​ทุก​วิถี​ทาง​เพื่อ​โจมตี​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา. จุด​ประสงค์​ของ​มัน​ก็​คือ​กำจัด​ผู้​นมัสการ​แท้​ให้​สิ้น​ซาก. แต่​เช่น​เดียว​กับ​ใน​สมัย​ของ​เอศเธระ พระ​ยะโฮวา​จะ​จัด​เตรียม “ความ​โปรด [“การ​บรรเทา​ทุกข์,” ล.ม.] และ​ความ​รอด” แก่​ผู้​นมัสการ​พระองค์.—ยะเอศเคล 38:16-23, ล.ม.; เอศเธระ 4:14.

[ภาพ​หน้า 10]

เอศเธระ​และ​มาระดะคาย​เข้า​เฝ้า​อะหัศวะโรศ