จุดเด่นจากพระธรรมโยบ
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมโยบ
โยบปฐมบรรพบุรุษอาศัยในเมืองอูศ ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรอาหรับในปัจจุบัน. ชาวอิสราเอลจำนวนมากอาศัยอยู่ในอียิปต์ในเวลานั้น. แม้ว่าโยบเองไม่ใช่ชาวอิสราเอล แต่ท่านก็เป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับโยบว่า “ไม่มีใครในโลกดีเหมือนเขา; เป็นคนดีรอบคอบและชอบธรรม, เป็นผู้ยำเกรงพระเจ้าและหลบหลีกจากความชั่ว.” (โยบ 1:8) ช่วงที่โยบมีชีวิตอยู่ ต้องเป็นช่วงหลังสมัยโยเซฟบุตรของยาโคบจนกระทั่งก่อนสมัยของผู้พยากรณ์โมเซ ซึ่งทั้งสองคนเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาที่โดดเด่น.
คาดกันว่าโมเซเป็นผู้เขียนพระธรรมโยบ เป็นไปได้ที่ท่านอาจรู้เรื่องราวของโยบในช่วง 40 ปีที่อยู่ในมิดยาน ไม่ไกลจากเมืองอูศ. โมเซอาจได้ยินเรื่องราวบั้นปลายชีวิตของโยบเมื่อชาวอิสราเอลผ่านมาใกล้เมืองอูศในช่วงปลายของการรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร 40 ปี. * ประสบการณ์ชีวิตของโยบได้รับการเรียบเรียงเป็นถ้อยคำได้อย่างยอดเยี่ยม จึงเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทีเดียว. แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น พระธรรมนี้มีคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า เหตุใดคนดีต้องทนทุกข์? เหตุใดพระยะโฮวายอมให้ความชั่วมีอยู่? มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าได้ไหม? เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า ข่าวสารในพระธรรมโยบมีชีวิตและทรงพลังแม้กระทั่งในทุกวันนี้.—เฮ็บราย 4:12.
‘ให้วันที่ข้าได้เกิดมาดับศูนย์ไป’
วันหนึ่งซาตานตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบที่มีต่อพระเจ้า. พระยะโฮวารับคำท้าและปล่อยให้ซาตานนำภัยพิบัติมาสู่โยบครั้งแล้วครั้งเล่า. แต่โยบก็ไม่ได้ “แช่งด่าพระเจ้า.”—โยบ 2:9.
เพื่อนสามคนมาหาโยบเพื่อจะ “ร่วมทุกข์กับท่าน.” (โยบ 2:11) พวกเขานั่งกับโยบโดยไม่พูดจาสักคำจนกระทั่งโยบทำลายความเงียบโดยกล่าวว่า “ให้วันที่ข้าฯ ได้เกิดนั้น . . . จงดับศูนย์ไป.” (โยบ 3:3) โยบอยากเป็นเหมือน “ลูกที่มิได้เห็นแสงสว่าง” หรือทารกที่เสียชีวิตตอนคลอด.—โยบ 3:11, 16.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:4—บุตรของโยบฉลองวันเกิดไหม? พวกเขาไม่ได้ฉลองวันเกิด. คำภาษาเดิมสำหรับคำว่า “วันกำหนด” และ ‘วันเกิด’ เป็นคำที่ต่างกัน โดยแต่ละคำมีความหมายของมันเอง. (เยเนซิศ 40:20) โยบ 1:4 ใช้คำว่า “วัน” ซึ่งหมายถึงระยะเวลาระหว่างดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก. ดูเหมือนว่า บุตรชายเจ็ดคนของโยบจัดงานรวมญาติปีละครั้ง ครั้งละเจ็ดวัน. พวกเขาเวียนกันจัดงานเลี้ยงโดยบุตรชายแต่ละคนเป็นเจ้าภาพและจัดงานเลี้ยงที่เรือนของตนใน “วันกำหนดของเขา.”
1:6; 2:1—ใครบ้างที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา? ท่ามกลางเหล่าผู้มาเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวามีพระวาทะซึ่งเป็นพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า; ทูตสวรรค์ที่ซื่อสัตย์; และ “เหล่าเทพบดี” ซึ่งก็คือทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟัง รวมทั้งซาตานพญามาร. (โยฮัน 1:1, 18) ซาตานและเหล่าผีปิศาจยังไม่ถูกขับออกจากสวรรค์กระทั่งภายหลังการสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าในปี 1914 ได้ไม่นาน. (วิวรณ์ 12:1-12) โดยอนุญาตให้ซาตานและพรรคพวกของมันเข้าเฝ้า พระยะโฮวาทรงแสดงให้เหล่ากายวิญญาณทั้งสิ้นเห็นการท้าทายของซาตานและประเด็นที่มันยกขึ้นมา.
1:7; 2:2—พระยะโฮวาตรัสกับซาตานโดยตรงไหม? คัมภีร์ไบเบิล ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาติดต่อกับเหล่ากายวิญญาณ. อย่างไรก็ตาม นิมิตที่ผู้พยากรณ์มีคายาได้รับแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาสนทนากับทูตสวรรค์องค์หนึ่งโดยตรง. (1 กษัตริย์ 22:14, 19-23) ดังนั้น ดูเหมือนว่าพระยะโฮวาตรัสกับซาตานโดยไม่ผ่านผู้ใด.
1:21—โยบกลับไปยัง “ครรภ์มารดา” ได้ในแง่ใด? เนื่องจากพระยะโฮวาพระเจ้าสร้างมนุษย์ “ด้วยผงคลีดิน” คำว่า “มารดา” ในที่นี้จึงมีความหมายเป็นนัยหมายถึงแผ่นดินโลก.—เยเนซิศ 2:7.
2:9—ภรรยาของโยบอาจคิดอย่างไรเมื่อบอกให้สามีแช่งด่าพระเจ้าและตายเสีย? ภรรยาของโยบสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเดียวกับสามี. และเธอต้องรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นสามีผู้เคยแข็งแรงกลับทนทุกข์ทรมานเพราะเป็นโรคร้ายที่น่ารังเกียจ. เธอได้สูญเสียลูก ๆ ที่เธอรัก. เธออาจทุกข์ใจอย่างแสนสาหัสจนถึงกับมองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือสัมพันธภาพของพวกเขากับพระเจ้า.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:8-11; 2:3-5. ดังที่เห็นได้จากตัวอย่างของโยบ ความซื่อสัตย์มั่นคงนอกจากเรียกร้องให้เราพูดและประพฤติอย่างเหมาะสมแล้ว ยังเรียกร้องให้เรามีเจตคติที่ถูกต้องเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาอีกด้วย.
1:21, 22. โดยการรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาทั้งในยามสะดวกสบายและยามลำบาก เราสามารถพิสูจน์ว่าซาตานเป็นตัวมุสา.—สุภาษิต 27:11.
2:9, 10. เช่นเดียวกับโยบ เราควรรักษาความเชื่อที่มั่นคงต่อไปแม้ว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัวจะไม่เห็นคุณค่ากิจกรรมฝ่ายวิญญาณที่เรากำลังทำ หรือกดดันเราให้อะลุ่มอล่วยหรือละทิ้งความเชื่อ.
2:13. เพื่อนของโยบไม่ได้กล่าวถึงพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์เพื่อให้การหนุนใจโยบ เพราะพวกเขาไม่ได้มองเรื่องต่าง ๆ แบบที่พระเจ้ามอง.
“ข้าฯ จะไม่เอาความซื่อสัตย์มั่นคงไปจากตัวข้าฯ!”
ใจความสำคัญของคำพูดที่เพื่อนสามคนได้กล่าวกับโยบคือ โยบคงต้องได้กระทำอะไรบางอย่างที่ชั่วช้ามากจึงทำให้ท่านถูกพระเจ้าลงโทษอย่างหนัก. อะลีฟาศพูดเป็นคนแรก. บิลดัดพูดต่อจากอะลีฟาศโดยใช้ถ้อยคำที่เจ็บแสบขึ้น. คำพูดของโซฟาร์ยิ่งเชือดเฉือนหนักขึ้นไปอีก.
โยบไม่ยอมรับการหาเหตุผลแบบผิด ๆ ของแขกผู้มาเยือน. แต่เนื่องจากโยบไม่เข้าใจว่าเหตุใดพระเจ้ายอมให้ท่านทนทุกข์ โยบจึงเป็นห่วงมากเกินไปกับการพิสูจน์ว่าตนไม่มีความผิด. กระนั้น โยบรักพระเจ้าและกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ข้าฯ จะไม่เอาความซื่อสัตย์มั่นคงไปจากตัวข้าฯ จนกว่าข้าฯ จะสิ้นลม!”—โยบ 27:5, ล.ม.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
7:1; 14:14 (ล.ม.)—คำว่า “เวลาเข้าเกณฑ์” หรือ “เวลาประจำการ” หมายถึงอะไร? ความทุกข์ของโยบหนักหนาสาหัสมากจนท่านคิดว่าชีวิตมีแต่ความยากลำบาก. (โยบ 10:17, ล.ม. เชิงอรรถ) เนื่องจากเวลาที่คนเราอยู่ในหลุมศพ—นับจากเวลาที่คนเราตายจนถึงได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย—เป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจจะไปไหนได้ โยบจึงเปรียบว่าช่วงเวลานั้นเหมือนกับเวลาประจำการ.
7:9, 10; 10:21; 16:22—ถ้อยคำเหล่านี้บ่งชี้ไหมว่าโยบไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย? ข้อเหล่านั้นกล่าวเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ของโยบ. ฉะนั้น ท่านหมายถึงอะไร? ความหมายหนึ่งที่เป็นไปได้คือ ถ้าโยบตาย ผู้คนที่อยู่ในสมัยเดียวกับท่านจะไม่ได้เห็นท่านอีก. จากแง่คิดของพวกเขา ท่านจะไม่กลับมาหรือไม่เป็นที่รู้จักอีกต่อไปจนกว่าจะถึงเวลากำหนดของพระเจ้า. นอกจากนี้ โยบอาจหมายความว่าไม่มีใครสามารถกลับมาจากเชโอล (หลุมศพ) ได้ด้วยตัวเอง. ความเชื่อของโยบเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายในอนาคตเห็นได้ชัดจากโยบ 14:13-15.
10:10—พระยะโฮวา ‘เทโยบออกมาเช่นอย่างน้ำนม, และทรงทำให้โยบเปลี่ยนรูปไปเช่นกับเนยแข็ง’ อย่างไร? คำพรรณนาเชิงกวีนี้อธิบายวิธีที่โยบก่อตัวในครรภ์มารดา.
19:20—โยบหมายความเช่นไรเมื่อกล่าวว่า “ข้าฯ รอดมาอย่างเหลือแต่ตัวล่อนจ้อน [“รอดมาพร้อมกับหนังหุ้มฟัน,” ล.ม. เชิงอรรถ]”? โดยการกล่าวว่า ท่านรอดมาพร้อมกับผิวหนังของสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีหนังหุ้ม โยบอาจหมายความว่าท่านรอดมาได้อย่างหวุดหวิด.
บทเรียนสำหรับเรา:
4:7, 8; 8:5, 6; 11:13-15. เราไม่ควรด่วนสรุปว่า คนที่ประสบความยุ่งยากลำบากกำลังเก็บเกี่ยวสิ่งที่เขาหว่านและเขาทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย.
4:18, 19; 22:2, 3. คำแนะนำของเราควรอาศัยพระคำของพระเจ้า ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว.—2 ติโมเธียว 3:16.
10:1. ความขมขื่นทำให้โยบสับสนจนทำให้ท่านไม่ได้คิดให้ดีว่าอาจมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ท่านต้องทนทุกข์. เราไม่ต้องรู้สึกขมขื่นเมื่อประสบความทุกข์เดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากเราเข้าใจอย่างชัดเจนถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง.
14:7, 13-15; 19:25; 33:24. ไม่ว่าเราจะเผชิญการทดลองใด ๆ ก็ตามจากซาตาน ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายจะค้ำจุนเราไว้.
16:5; 19:2. เราควรพูดด้วยถ้อยคำที่หนุนใจและเสริมสร้างผู้อื่น ไม่ใช่ทำให้ขุ่นเคือง.—สุภาษิต 18:21.
22:5-7. การให้คำแนะนำโดยอาศัยข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง เป็นคำแนะนำที่ไม่ก่อประโยชน์และทำให้เกิดความเสียหาย.
27:2; 30:20, 21. การรักษาความซื่อสัตย์ภักดีไม่ได้เรียกร้องความสมบูรณ์พร้อม. โยบยังเคยวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าอย่างผิด ๆ.
27:5 (ล.ม.) เฉพาะโยบเท่านั้นที่จะทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของตนเองได้ เนื่องจากความซื่อสัตย์มั่นคงขึ้นอยู่กับความรักที่มีต่อพระเจ้า. ดังนั้น เราควรพัฒนาความรักที่มีต่อพระเจ้าให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น.
28:1-28. มนุษย์รู้ว่า ขุมทรัพย์ของแผ่นดินโลกอยู่ที่ไหน. เมื่อค้นหาขุมทรัพย์นั้น ความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ทำให้เขาขุดลงไปใต้ดินซึ่งเป็นที่ที่สายตาของนกล่าเหยื่อก็ไม่สามารถมองเห็นได้. แต่สติปัญญามาจากการเกรงกลัวพระเจ้า.
29:12-15. เราควรเต็มใจแสดงความกรุณารักใคร่ต่อคนที่ขัดสน.
31:1, 9-28. โยบเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราในเรื่องการหลีกเลี่ยงการเกี้ยวพานเล่น ๆ, การเล่นชู้, ความลำเอียง, และการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่กรุณา, การนิยมวัตถุ, และการไหว้รูปเคารพ.
‘ข้าจะกลับใจรับผิดด้วยอาการเกลือกลงในฝุ่นและขี้เถ้า’
ชายหนุ่มอะลีฮูซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกลฟังการโต้เถียงด้วยความอดทน. ตอนนี้ถึงเวลาที่เขาจะพูดบ้าง. เขาพูดแก้ไขโยบและทั้งสามคนที่ก่อความปวดร้าวให้กับโยบ.
ทันทีที่อะลีฮูพูดจบ พระยะโฮวาตรัสตอบออกมาจากลมพายุ. พระองค์ไม่ได้อธิบายว่าโยบต้องทนทุกข์เพราะอะไร. แต่โดยการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการทำให้โยบตระหนักถึงอำนาจอันน่าเกรงขามและสติปัญญาอันล้ำเลิศของพระองค์. โยบยอมรับว่าพูดโดยปราศจากความเข้าใจและกล่าวว่า “ข้าฯ จึงชังตัวของข้าฯ เองอย่างยิ่ง, และกลับใจรับผิดด้วยอาการเกลือกลงในฝุ่นและขี้เถ้า.” (โยบ 42:6) เมื่อความทุกข์ลำบากของโยบจบลง ความซื่อสัตย์มั่นคงของท่านทำให้ท่านได้รับผลตอบแทน.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
32:1-3—อะลีฮูมาถึงเมื่อไร? เนื่องจากอะลีฮูได้ยินการสนทนาทั้งหมด เขาคงต้องนั่งในระยะที่จะได้ยินการสนทนา โดยอยู่ที่นั่นอยู่แล้วชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนที่โยบจะพูดและเริ่มพูดหลังจากที่เพื่อนของโยบเงียบอยู่เจ็ดวัน.—โยบ 3:1, 2.
34:7—โยบเป็นเหมือนคนที่ “ดูดดื่มความเหยียดหยามเข้าไปราวกับดื่มน้ำ” ในทางใด? เมื่อโยบอยู่ในสภาพที่เป็นทุกข์ ท่านมีแนวโน้มที่จะคิดว่าคำพูดเยาะเย้ยของผู้มาเยือนสามคนนี้พุ่งเป้ามาที่ตัวท่าน แม้ว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาพูดต่อว่าพระเจ้า. (โยบ 42:7) ดังนั้น ท่านจึงซึมซับคำพูดเยาะเย้ยประหนึ่งคนที่ดื่มน้ำด้วยความเพลิดเพลิน.
บทเรียนสำหรับเรา:
32:8, 9. ความสูงวัยใช่ว่าจะนำมาซึ่งสติปัญญาเสมอไป. สติปัญญาได้มาจากความเข้าใจในพระคำของพระเจ้าและการยอมรับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระองค์.
34:36 (ฉบับแปลใหม่). เราจะพิสูจน์ตัวว่าซื่อสัตย์มั่นคงได้โดยทนรับ ‘การทดลองจนถึงที่สุด.’
35:2. อะลีฮูตั้งใจฟังและเจาะจงจุดที่เป็นประเด็นจริง ๆ ก่อนจะพูด. (โยบ 10:7; 16:7; 34:5) ก่อนที่จะให้คำแนะนำ คริสเตียนผู้ปกครองต้องตั้งใจฟัง, รับฟังข้อเท็จจริง, และเข้าใจประเด็นอย่างชัดเจน.—สุภาษิต 18:13.
37:14; 38:1–39:30. การใคร่ครวญถึงพระราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า ซึ่งแสดงถึงฤทธิ์อำนาจและสติปัญญาของพระองค์ ทำให้เราถ่อมใจลงและช่วยให้เราเห็นว่าการพิสูจน์ความถูกต้องเกี่ยวกับพระบรมเดชานุภาพของพระองค์สำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวใด ๆ ของเรา.—มัดธาย 6:9, 10.
40:1-4. เมื่อเรารู้สึกตัวว่ามีแนวโน้มที่จะบ่นว่าพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ เราควร “เอามือปิดปากไว้.”
40:15–41:34 (ฉบับแปลใหม่). เบเฮโมท (ฮิปโปโปเตมัส) และเลวีอาธาน (จระเข้) ช่างมีพละกำลังมหาศาลจริง ๆ! เพื่อจะอดทนในการรับใช้พระเจ้า เราจำเป็นต้องได้รับการเสริมกำลังเช่นกันจากผู้ทรงสร้างสัตว์ที่ทรงพลังเหล่านี้ ผู้ซึ่งจะประทานกำลังให้เรา.—ฟิลิปปอย 4:13.
42:1-6. การที่โยบฟังพระคำของพระยะโฮวาและได้รับการเตือนให้เห็นถึงฤทธิ์อำนาจของพระองค์ช่วยท่านให้ “เห็นพระเจ้า” หรือเห็นความจริงเกี่ยวกับพระองค์. (โยบ 19:26) สิ่งเหล่านี้ช่วยปรับความคิดของท่าน. เมื่อเราได้รับการแก้ไขที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล เราควรเต็มใจยอมรับความผิดและทำการปรับเปลี่ยน.
จงปลูกฝัง “ความเพียรอดทนของโยบ”
พระธรรมโยบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบต่อความทุกข์ของมนุษย์. ซาตานต่างหากที่ต้องรับผิดชอบ. ที่พระเจ้าอนุญาตให้มีความชั่วบนแผ่นดินโลกก็เพราะต้องการให้เรามีโอกาสให้คำตอบด้วยตัวเองว่าเรายืนอยู่ฝ่ายไหนในประเด็นเกี่ยวกับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและพิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคงของเรา.
เช่นเดียวกับโยบ ทุกคนที่รักพระยะโฮวาจะถูกทดลอง. เรื่องราวของโยบทำให้เรามั่นใจว่าเราจะอดทนได้. เรื่องราวเหล่านี้เตือนใจว่าเราไม่ต้องทนรับมือกับปัญหาตลอดไป. ยาโกโบ 5:11 (ล.ม.) กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินถึงความเพียรอดทนของโยบและได้เห็นผลที่พระยะโฮวาทรงประทานแล้ว.” พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่โยบเนื่องจากท่านรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. (โยบ 42:10-17) ช่างเป็นความหวังอันยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่อยู่ตรงหน้าเรา—การมีชีวิตตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก! ด้วยเหตุนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงเช่นเดียวกับโยบ.—เฮ็บราย 11:6.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 พระธรรมโยบครอบคลุมระยะเวลามากกว่า 140 ปี ระหว่างปี 1657 จนถึงปี 1473 ก่อนสากลศักราช
[ภาพหน้า 16]
เราเรียนอะไรได้จาก “ความเพียรอดทนของโยบ”?