ตั้งใจแน่วแน่จะรับใช้พระยะโฮวา
เรื่องราวชีวิตจริง
ตั้งใจแน่วแน่จะรับใช้พระยะโฮวา
เล่าโดยไรโม โกกาเนน
ปี 1939 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป และสหภาพโซเวียตบุกโจมตีฟินแลนด์ประเทศบ้านเกิดของผม. พ่อจากบ้านไปร่วมรบในกองทัพฟินแลนด์. ไม่นานหลังจากนั้น เครื่องบินรบของรัสเซียได้ทิ้งระเบิดในเมืองที่พวกเราอยู่ และแม่ส่งผมไปอยู่กับยายในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกว่า.
ในปี 1971 ผมทำงานรับใช้ฐานะมิชชันนารีในประเทศยูกันดา แอฟริกาตะวันออก. วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังประกาศตามบ้าน ผู้คนวิ่งผ่านผมไปด้วยความตื่นตระหนก. ผมได้ยินเสียงปืนจึงวิ่งแน่วกลับบ้าน. เนื่องจากเสียงปืนใกล้ตัวเข้ามาทุกที ผมจึงกระโดดลงไปหลบอยู่ในคูข้างถนน. ขณะที่ลูกปืนเฉียดข้ามหัวผมไป ผมคลานกลับบ้าน.
ผมไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ แต่ด้วยเหตุผลอะไรที่ผมกับภรรยาสมัครใจยอมเสี่ยงชีวิตมาเผชิญกับความไม่สงบในแอฟริกาตะวันออก? คำตอบเกี่ยวข้องอย่างมากกับความตั้งใจแน่วแน่ของเราที่จะรับใช้พระยะโฮวา.
ความตั้งใจแน่วแน่ถูกเพาะไว้
ผมเกิดปี 1934 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์. พ่อผมเป็นช่างทาสี วันหนึ่ง พ่อต้องไปทาสีอาคารสำนักงานสาขาฟินแลนด์ของพยานพระยะโฮวา. พยานฯ คุยกับพ่อเรื่องการประชุมต่าง ๆ ของประชาคม. เมื่อพ่อกลับมาบ้าน พ่อได้บอกแม่เกี่ยว
กับการประชุมเหล่านั้น. ตอนนั้นแม่ยังไม่ไปร่วมประชุม แต่ในเวลาต่อมาท่านเริ่มพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในพระคัมภีร์กับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งซึ่งเป็นพยานฯ. ไม่ช้าแม่ก็เอาจริงเอาจังกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ และรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาในปี 1940.พอดีก่อนหน้านั้น ยายได้รับผมไปอยู่ด้วยที่บ้านนอกตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. แม่อยู่ที่กรุงเฮลซิงกิเริ่มเขียนจดหมายบอกยายกับน้าสาวถึงเรื่องความเชื่อศรัทธาของพยานพระยะโฮวา. ทั้งสองคนแสดงความสนใจและเล่าสิ่งที่เรียนรู้มาให้ผมฟังอีกทอดหนึ่ง. ผู้แทนเดินทางแห่งพยานพระยะโฮวาได้มาเยี่ยมที่บ้านยายและสนับสนุนพวกเรา แต่ผมยังไม่ตัดสินใจจะรับใช้พระเจ้า.
การอบรมตามระบอบของพระเจ้าได้ช่วยผม
เมื่อสงครามยุติในปี 1945 ผมกลับไปที่กรุงเฮลซิงกิ และแม่เริ่มพาผมเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา. บางครั้งผมไปดูภาพยนตร์ แทนที่จะไปประชุม. แต่แม่มักจะพูดเรื่องที่แม่ได้ฟังจากคำบรรยาย ณ การประชุม และย้ำจุดหนึ่งอยู่เสมอว่าอาร์มาเก็ดดอนมาใกล้แล้ว. ผมเชื่อเรื่องนี้ และจึงเริ่มเข้าร่วมการประชุมทุกรายการ. ขณะที่การหยั่งเห็นคุณค่าความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเพิ่มทวี ผมก็ยิ่งปรารถนาจะมีส่วนร่วมกิจกรรมทุกอย่างของประชาคม.
ผมชอบเป็นพิเศษเมื่อได้ไปยังการประชุมหมวดและการประชุมภาค. ปี 1948 ผมไปร่วมการประชุมภาคซึ่งจัดขึ้นใกล้บ้านยาย ตอนนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียนและผมไปพักผ่อนตากอากาศที่นั่น. เพื่อนผมคนหนึ่งกำลังจะรับบัพติสมา ณ การประชุมภาคครั้งนั้น และเขาชวนผมให้รับบัพติสมาด้วย. ผมบอกเขาว่าไม่ได้นำชุดว่ายน้ำมาด้วย แต่เขาเสนอให้ผมใช้ชุดของเขาหลังจากเขารับบัพติสมาเสร็จแล้ว. ผมรับคำและจึงได้รับบัพติสมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน 1948 เมื่ออายุ 13 ปี.
ภายหลังการประชุมภาค เพื่อนของแม่บางคนบอกแม่ว่าผมรับบัพติสมาแล้ว. ในเวลาต่อมา เมื่อผมกลับมาอยู่กับแม่ แม่อยากรู้เหตุผลที่ผมตัดสินใจทำขั้นตอนสำคัญเช่นนั้นโดยไม่มีการหารือกันก่อน. ผมชี้แจงว่าผมเข้าใจคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล และตระหนักถึงหน้าที่รับผิดชอบต่อพระยะโฮวาสำหรับการกระทำของผม.
มีความตั้งใจแน่วแน่มากขึ้น
พวกพี่น้องในประชาคมสนับสนุนความตั้งใจของผมให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่องานรับใช้พระยะโฮวา. พวกเขาไปกับผมเมื่อเราออกประกาศตามบ้าน และมอบหมายส่วนการประชุมให้ผมแทบทุกสัปดาห์. (กิจการ 20:20) เมื่อผมอายุ 16 ปีผมได้ขึ้นบรรยายสาธารณะครั้งแรก. หลังจากนั้นไม่นานผมถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้รับใช้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในประชาคมของเรา. กิจกรรมทุกอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับงานรับใช้พระยะโฮวาช่วยเสริมให้ผมบรรลุวุฒิภาวะ กระนั้น ผมยังต้องเอาชนะการกลัวหน้ามนุษย์.
สมัยนั้น เมื่อจัดประชุมภาคเราโฆษณาปาฐกถาด้วยแผ่นป้ายขนาดใหญ่. แผ่นป้ายแต่ละชุดประกอบด้วยป้ายสองแผ่นผูกเชื่อมกันด้วยเชือกสองเส้นแขวนประกบตัวทั้งด้านหน้าและหลัง. ดังนั้น บางคนเรียกพวกเราว่าแซนด์วิชแมน.
ครั้งหนึ่ง ผมยืนอยู่ที่มุมถนนอันเงียบสงัด ป้ายโฆษณายังคงทาบตัวอยู่ ผมแลเห็นนักเรียนร่วมชั้นกลุ่มหนึ่งมุ่งหน้ามาทางผม. ขณะที่พวกเขาเดินผ่านไป สายตาของเขาทำให้ผมหวาดกลัว. ผมทูลอธิษฐานขอพระยะโฮวาประทานความกล้าหาญและผมยืนนิ่งพร้อมกับมีแผ่นป้ายประกบอยู่. การเอาชนะความกลัวหน้ามนุษย์คราวนั้นเป็นการเตรียมผมไว้พร้อมสำหรับการทดลองที่สาหัสกว่า เกี่ยวเนื่องกับการรักษาตัวเป็นกลางแบบคริสเตียน.
ในเวลาต่อมา รัฐบาลออกคำสั่งให้ผมและพยานฯ หนุ่ม ๆ จำนวนหนึ่งไปรายงานตัวเป็นทหาร. พวกเราไปถึงที่ตั้งกองทหารตามคำสั่ง แต่ด้วยท่าทีที่แสดงความนับถือ พวกเราปฏิเสธการสวมเครื่องแบบ. พวกเราถูกเจ้าหน้าที่กักตัวไว้ในค่ายทหาร และหลังจากนั้นไม่นาน ศาลตัดสินจำคุกพวกเราเป็นเวลาหกเดือน. อนึ่ง เรายังต้องติดคุกอีกแปดเดือน เท่ากับเวลาที่ต้องเข้าประจำการ. ฉะนั้น เราติดคุกรวม 14 เดือนเพราะการยืนหยัดเป็นกลางของพวกเรา.
ในโรงนอนของเรือนจำ พวกเราร่วมประชุมพิจารณาพระคัมภีร์ด้วยกันทุกวัน. ตลอดหลายเดือน หลายคนใน
พวกเราได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลจบเล่มถึงสองรอบ. เมื่อครบกำหนดการต้องโทษ พวกเราที่ออกจากคุกส่วนใหญ่มุ่งมั่นตั้งใจจะรับใช้พระยะโฮวาให้มากยิ่งขึ้น. พยานฯ หนุ่ม ๆ หลายคนในกลุ่มนี้ยังคงรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์มั่นคงตราบทุกวันนี้.หลังจากพ้นเรือนจำออกมาแล้ว ผมกลับไปอยู่กับพ่อแม่. ต่อมาไม่นาน ผมก็เริ่มรู้จักคุ้นเคยกับวีรา พยานฯ ที่กระตือรือร้นซึ่งเพิ่งรับบัพติสมา. เราแต่งงานกันในปี 1957.
เหตุการณ์ในเย็นวันหนึ่งได้เปลี่ยนชีวิตของเรา
เย็นวันหนึ่ง ขณะไปเยี่ยมกับพี่น้องผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจากสำนักงานสาขา พี่น้องคนหนึ่งถามเราว่าอยากเข้าสู่งานหมวดหรือเปล่า. ภายหลังการทูลอธิษฐานตลอดคืน ผมจึงแจ้งสาขาว่าเราตอบรับคำเชิญ. การจะเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา จำเป็นต้องลาออกจากงานที่มีรายได้ดี ทว่าเราตั้งใจแน่วแน่จะจัดให้ราชอาณาจักรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิต. อายุผม 23 ปี และอายุวีรา 19 ปี เมื่อเราเริ่มงานเยี่ยมหมวดเดือนธันวาคม 1957. เราเพลิดเพลินกับการเยี่ยมและสนับสนุนประชาคมพยานพระยะโฮวาหลายแห่งในฟินแลนด์เป็นเวลาสามปี.
ช่วงปลายปี 1960 ผมได้รับจดหมายเชิญเข้าโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดในบรุกลิน นิวยอร์ก. มีสามคนจากฟินแลนด์เข้ารับการอบรมหลักสูตรพิเศษสิบเดือนเกี่ยวกับการดำเนินงานของสาขา. ภรรยาของพวกเราไม่ได้เข้าอบรมด้วย แต่พวกเธอทำงานที่สำนักงานสาขาฟินแลนด์.
ไม่นานก่อนเรียนจบหลักสูตร ผมถูกเรียกไปรายงานตัวที่ห้องทำงานของนาทาน เอช. นอรร์ สมัยนั้นท่านดูแลกิจการของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก. บราเดอร์นอรร์เสนอให้ผมกับภรรยาไปทำงานมิชชันนารีในสาธารณรัฐมาลากาซี ปัจจุบันคือเกาะมาดากัสการ์. ผมส่งข่าวถึงวีราและถามเธอว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับงานมอบหมายครั้งนี้ เธอตอบจดหมายทันทีว่า “ตกลง.” เมื่อผมกลับไปถึงฟินแลนด์ เราก็เร่งรีบเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับชีวิตในมาดากัสการ์.
ความยินดีและความผิดหวัง
เดือนมกราคม 1962 เราบินไปอันตานานาริโว เมืองหลวงของประเทศ เราสวมหมวกขนสัตว์และเสื้อคลุมตัวโคร่งและหนัก เนื่องจากเราไปจากฟินแลนด์ในช่วงฤดูหนาว. เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนในประเทศมาดากัสการ์ เราจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบเสื้อผ้าเสียใหม่โดยเร็ว. บ้านมิชชันนารีหลังแรกของเราเป็นบ้านหลังเล็กมีหนึ่งห้องนอน. มิชชันนารีคู่สมรสมาอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ผมกับวีราจึงนอนที่ระเบียง.
เราเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาทางการภาษาหนึ่งของมาดากัสการ์. นี่เป็นการเรียนที่ค่อนข้างยาก เพราะเราสองคนไม่ได้พูดภาษาเดียวกันกับซิสเตอร์การ์บอโนซึ่งเป็นผู้สอน. เธอใช้ภาษาอังกฤษเมื่อสอนเราภาษาฝรั่งเศส แต่วีราไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ. ฉะนั้น ผมต้องแปลการสอนของซิสเตอร์การ์บอโนเป็นภาษาฟินแลนด์ให้วีรา. ต่อมาเรารับรู้ว่าวีราเข้าใจคำศัพท์ภาษาสวีเดนได้ดีกว่า ผมก็เลยต้องอธิบายไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาสวีเดน. ไม่นาน เราก็ก้าวหน้าด้านการพูดภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี แล้วเราจึงเริ่มเรียนมาลากาซี ภาษาท้องถิ่น.
ผมนำการศึกษาพระคัมภีร์รายแรกในมาดากัสการ์กับผู้ชายซึ่งพูดได้เพียงภาษามาลากาซี. ผมค้นหาข้อคัมภีร์จากฉบับภาษาฟินแลนด์ก่อน แล้วจึงค้นหาข้อต่าง ๆ ในคัมภีร์ภาษามาลากาซีของเขา. ผมแทบไม่ได้อธิบายข้อคัมภีร์เหล่านั้น แต่ในไม่ช้าความจริงในคัมภีร์ไบเบิล
งอกงามในหัวใจของชายคนนี้ และเขาก้าวหน้าถึงขั้นรับบัพติสมา.ปี 1963 มิลตัน เฮนเชลจากสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่บรุกลินได้ไปเยี่ยมประเทศมาดากัสการ์. หลังจากนั้นไม่นาน มีการจัดตั้งสำนักงานสาขาในประเทศมาดากัสการ์ และผมรับการแต่งตั้งฐานะผู้ดูแลสาขา นอกเหนือจากทำหน้าที่ฐานะผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาค. ตลอดระยะเวลาช่วงนี้ พระยะโฮวาทรงอวยพรพวกเราอย่างอุดมบริบูรณ์. จากปี 1962 ถึงปี 1970 จำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรในมาดากัสการ์เพิ่มจาก 85 เป็น 469 คน.
วันหนึ่ง ในปี 1970 เมื่อกลับถึงบ้านหลังจากออกประกาศตามบ้านประชาชน ที่ประตูบ้านเราเห็นแจ้งความบนแผ่นกระดาษสั่งให้มิชชันนารีพยานพระยะโฮวาทุกคนไปรายงานตัวที่กระทรวงมหาดไทย. ณ ที่นั่นเจ้าหน้าที่บอกเราว่ารัฐบาลมีคำสั่งให้เราออกนอกประเทศทันที. ครั้นถามว่าผมกระทำความผิดทางอาญาสถานใดถึงได้เนรเทศกันแบบนี้ เจ้าหน้าที่พูดว่า “คุณโกกาเนน คุณไม่ได้กระทำความผิดอะไรเลย.”
ผมบอกเขาว่า “พวกเราเข้ามาอยู่ในประเทศนี้แปดปีแล้ว. ที่นี่เป็นบ้านของเรา. พวกเราไม่อาจจากที่นี่ไปทันทีทันใดและโดยปราศจากเหตุผล.” ทั้ง ๆ ที่เราพยายามทุกวิถีทาง แต่มิชชันนารีทุกคนต้องออกจากประเทศภายในหนึ่งสัปดาห์. รัฐบาลสั่งปิดสำนักงานสาขา และพยานฯ ในท้องถิ่นก็เริ่มดูแลงานประกาศเอง. ก่อนออกเดินทางจากพี่น้องที่รักของเราในมาดากัสการ์ เราได้รับงานมอบหมายแห่งใหม่คือประเทศยูกันดา.
เริ่มงานมอบหมายใหม่
ภายหลังเดินทางจากมาดากัสการ์เพียงไม่กี่วัน เราก็มาถึงกรุงกัมปาลา เมืองหลวงประเทศยูกันดา. เราเริ่มเรียนภาษาลูแกนดาทันที ภาษานี้มีความไพเราะเหมือนทำนองเพลง ทว่าเรียนยากมาก. เพื่อนมิชชันนารีต่างก็ช่วยวีราให้เรียนภาษาอังกฤษเสียก่อน และพวกเราก็สามารถใช้ภาษาอังกฤษในงานประกาศอย่างมีประสิทธิภาพ.
สภาพภูมิอากาศในกัมปาลานั้นร้อนอบอ้าวและชื้นซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของวีรา. ดังนั้น เราได้รับมอบหมายให้ไปทำงานที่เมืองอึมบารารา เมืองเล็ก ๆ ในยูกันดาซึ่งอากาศสบายกว่า. เราเป็นพยานฯ รุ่นแรกที่นั่น และวันแรกที่ออกไปทำงานรับใช้ เรามีประสบการณ์ที่น่ายินดี. ผมกำลังคุยกับผู้ชายคนหนึ่งในบ้านเมื่อภรรยาของเขาออกมาจากห้องครัว. เธอชื่อมาร์กาเรต เธอได้ฟังผมให้คำพยาน. วีราเริ่มนำการศึกษาพระคัมภีร์กับมาร์กาเรต และเธอก้าวหน้าเป็นอย่างดีในการเรียนรู้เรื่อง
พระเจ้า. เธอได้รับบัพติสมาและเข้ามาเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรที่กระตือรือร้น.การสู้รบบนถนน
เมื่อปี 1971 สงครามกลางเมืองได้ทำลายความสงบในยูกันดา. วันหนึ่งการสู้รบเกิดขึ้นในบริเวณรอบ ๆ บ้านมิชชันนารีของเราในเมืองอึมบารารา. ผมได้พรรณนาเหตุการณ์ที่ประสบครั้งนั้นแล้ว ณ ตอนเริ่มเรื่อง.
วีราอยู่ในบ้านแล้วตอนที่ผมกลับเข้าบ้านหลังจากค่อย ๆ คลานศอกคลานเข่าเลียบคูเป็นระยะทางไกล เพื่อเลี่ยงไม่ให้ทหารมองเห็น. เราเอาฟูกและเครื่องเรือนสุมรวมกันที่มุมหนึ่งของห้องสร้างเป็นที่ “กำบัง.” นานหนึ่งสัปดาห์ทีเดียวที่เราอยู่แต่ในบ้าน ติดตามฟังข่าวจากวิทยุ. บางครั้งลูกปืนแฉลบผนังบ้านไปขณะที่เราหมอบราบอยู่ในที่กำบัง. ตกกลางคืนเราก็ไม่เปิดไฟเพื่อไม่ให้เห็นว่ามีคนอยู่ในบ้าน. มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทหารมาที่หน้าบ้านและตะโกนเรียกเสียงดัง. พวกเราไม่กระดุกกระดิก แต่ได้อธิษฐานต่อพระยะโฮวาอย่างเงียบ ๆ. ภายหลังการสู้รบยุติลงแล้ว เพื่อนบ้านพากันมาขอบคุณพวกเราที่ทำให้เขาอยู่รอดปลอดภัย. พวกเขาเชื่อว่าพระยะโฮวาทรงคุ้มครองพวกเราทุกคนถ้วนหน้า และเราเองก็เห็นพ้องกับคนเหล่านั้น.
สถานการณ์ยังคงสงบอยู่ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งเราฟังข่าวทางวิทยุว่ารัฐบาลยูกันดาสั่งห้ามกิจกรรมของพยานพระยะโฮวา. โฆษกประกาศว่าทุกคนที่เป็นพยานพระยะโฮวาควรกลับไปถือศาสนาเดิมของตน. ผมพยายามพูดขอร้องเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่สำเร็จ. ครั้นแล้วผมได้ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอเวลานัดพบประธานาธิบดี นายพลอีดี อามิน. เจ้าหน้าที่ต้อนรับบอกผมว่าประธานาธิบดีไม่ว่าง. ผมกลับไปอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีโอกาสเจรจากับประธานาธิบดีแม้แต่ครั้งเดียว. ในที่สุด พอถึงเดือนกรกฎาคม ปี 1973 พวกเราจึงต้องออกจากยูกันดา.
หนึ่งปียืดเป็นสิบปี
ความรู้สึกเศร้าใจในคราวที่ถูกเนรเทศออกจากประเทศมาดากัสการ์ได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเราต้องจากพี่น้องชาวยูกันดาผู้เป็นที่รักของเรา. ก่อนไปยังเขตงานมอบหมายแห่งใหม่ในเซเนกัล เราเดินทางกลับฟินแลนด์. เมื่ออยู่ที่ฟินแลนด์งานมอบหมายในแอฟริกาของเราจึงเป็นอันยกเลิก และเราได้รับแจ้งให้อยู่ในฟินแลนด์. งานของเราในฐานะมิชชันนารีดูเหมือนจบสิ้นลง. ที่ฟินแลนด์ เรารับใช้ฐานะไพโอเนียร์พิเศษและต่อมาก็เข้าสู่งานหมวดอีก.
ปี 1990 การขัดขวางงานประกาศที่ประเทศมาดากัสการ์ลดน้อยลง และเราแปลกใจเมื่อสำนักงานใหญ่ที่บรุกลินถามเราอยากกลับไปอยู่มาดากัสการ์อีกสักหนึ่งปีไหม. เราอยากไป แต่เรากำลังเผชิญข้อท้าทายหนักสองอย่าง. พ่อของผมอายุมากแล้วจำเป็นต้องมีคนดูแล และวีรายังคงเจ็บออดแอดอยู่เรื่อยมา. ตอนที่พ่อเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน 1990 ผมเศร้าเสียใจ แต่สุขภาพของวีราดีขึ้นจึงทำให้เรามีความหวังจะกลับไปทำงานมิชชันนารีอีก. เรากลับไปยังมาดากัสการ์ในเดือนกันยายน 1991.
เราได้รับมอบหมายให้ทำงานที่มาดากัสการ์หนึ่งปี แต่กลับยืดนานเป็นสิบปี. ระหว่างนั้นจำนวนผู้ประกาศเพิ่มจาก 4,000 เป็น 11,600 คน. ผมชื่นชมยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รับใช้ฐานะมิชชันนารี. กระนั้น บางครั้งก็รู้สึกท้อ คิดสงสัยว่าตัวเองอาจละเลยไม่เอาใจใส่ภรรยาที่รักในด้านความต้องการทางกายภาพและด้านอารมณ์. พระยะโฮวาทรงประทานพละกำลังให้เราทั้งสองได้รับใช้ต่อไป. ในที่สุด ปี 2001 เรากลับสู่ประเทศฟินแลนด์ และทำงานที่สำนักงานสาขาตั้งแต่นั้นเรื่อยมา. เรายังมีความกระตือรือร้นที่จะสนับสนุนราชอาณาจักรของพระเจ้า และยังถือว่าความทรงจำเกี่ยวกับแอฟริกามีค่าล้ำสำหรับเราเสมอ. เราตั้งใจแน่วแน่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา ไม่ว่าที่ไหน ๆ ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้เราทำ.—ยะซายา 6:8.
[แผนที่หน้า 12]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ฟินแลนด์
ยุโรป
[แผนที่หน้า 14]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
แอฟริกา
มาดากัสการ์
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
แอฟริกา
ยูกันดา
[ภาพหน้า 14]
วันสมรสของเรา
[ภาพหน้า 14, 15]
จากงานหมวดในฟินแลนด์ ปี 1960 . . .
. . . ไปยังงานมิชชันนารีในมาดากัสการ์ ปี 1962
[ภาพหน้า 16]
กับวีราในปัจจุบัน