คุณจะตัดสินใจตามแนวทางของพระเจ้าได้อย่างไร?
คุณจะตัดสินใจตามแนวทางของพระเจ้าได้อย่างไร?
ชายคนหนึ่งในสหรัฐไปที่ธนาคารพร้อมกับเช็คจำนวน 25,000 ดอลลาร์ (1 ล้านบาท). เขาตั้งใจนำเงินไปเข้าบัญชีฝากประจำ. อย่างไรก็ตาม พนักงานธนาคารแนะเขาให้เอาเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น โดยอ้างว่าในระยะยาวการลงทุนในตลาดหุ้นจะไม่มีทางขาดทุน. ชายคนนั้นตัดสินใจทำตามคำแนะนำ. หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็สูญเงินไปจำนวนมาก.
ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมไม่ใช่เรื่องง่าย. จะว่าอย่างไรกับการตัดสินใจเรื่องอื่น ๆ ที่เราต้องเผชิญในชีวิต? การตัดสินใจหลายเรื่องของเราอาจยังผลเป็นความสำเร็จ หรือไม่ก็ล้มเหลว—และไม่ช้าก็เร็วอาจยังผลเป็นชีวิตหรือความตายสำหรับเราด้วยซ้ำ. ถ้าอย่างนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเรากำลังตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม?
“ทางนี้แหละ”
ในแต่ละวันเราตัดสินใจว่าจะรับประทานอะไร, ใส่เสื้อผ้าแบบไหน, ไปที่ไหน, และอื่น ๆ. การตัดสินใจบางอย่างอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ กระนั้น ผลที่ตามมาอาจเป็นเรื่องร้ายแรง. ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจจุดบุหรี่สูบเป็นครั้งแรกอาจส่งผลให้มีนิสัยสูบบุหรี่ไปตลอดชีวิต. เราไม่ควรดูเบาการตัดสินใจในเรื่องที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย.
เราจะแสวงหาคำแนะนำได้จากที่ไหนเมื่อต้องตัดสินใจ แม้แต่ในเรื่องที่ดูเหมือนไม่สำคัญ? จะดีเยี่ยมสักเพียงไรถ้าเรามีที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ซึ่งจะให้คำแนะนำเมื่อเราตัดสินใจเรื่องยาก ๆ! คุณสามารถพบผู้ให้คำแนะนำเช่นนั้นได้. หนังสือโบราณเล่มหนึ่งซึ่งมีข่าวสารที่ใช้ได้ในทุกวันนี้กล่าวว่า “เมื่อเจ้าสงสัยว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา, หูของเจ้าก็จะได้ยินเสียงแนะมาข้างหลังของเจ้าว่า, ‘ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!’ ” (ยะซายา 30:21) ใครเป็นผู้กล่าวถ้อยคำนี้? และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำแนะนำของผู้นี้เชื่อถือได้?
คำรับรองข้างต้นพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งผู้คนหลายล้านได้ศึกษาและตระหนักว่าเป็นหนังสือที่ได้รับการดลใจจากพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้าง. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) พระยะโฮวาทรงรู้จักเราดีที่สุด ดังนั้น จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะให้คำแนะนำเรา. นอกจากนั้น พระองค์ทรงหยั่งเห็นอนาคต พระองค์ทรงเป็น “ผู้บอกเล่าตั้งแต่ต้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตอนปลาย, และบอกเล่าสิ่งซึ่งยังไม่เกิดขึ้นไว้ตั้งแต่เวลาโบราณ . . . เป็นผู้กล่าวว่า, ‘โครงการของเราจะยั่งยืน.’ ” (ยะซายา 46:10) ด้วยเหตุนั้น ผู้ประพันธ์ เพลงสรรเสริญจึงกล่าวถ้อยคำที่แสดงว่าท่านวางใจในพระคำของพระยะโฮวาดังนี้: “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า, และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:105) แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเราอย่างไรให้ถือหางเสือนาวาชีวิตของเราผ่านห้วงน้ำอันปั่นป่วนของโลกทุกวันนี้ได้อย่างปลอดภัย? เราจะตัดสินใจตามแนวทางของพระเจ้าได้อย่างไร?
ใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิล
พระยะโฮวาพระเจ้าประทานหลักการของพระองค์แก่คริสเตียนเพื่อจะตัดสินใจอย่างถูกต้อง. การเรียนรู้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลและนำไปใช้ เปรียบเหมือนการเรียนและพูดอีกภาษาหนึ่ง. เมื่อคุณเรียนภาษานั้นจนเชี่ยวชาญแล้ว คุณมักจะรู้ว่าใครบ้างที่พูดไม่ถูกหลักไวยากรณ์เพราะสิ่งที่เขาพูดฟังดูแปลก ๆ. คุณอาจไม่สามารถบอกได้อย่างเจาะจงว่าคำไหนบ้างที่ผิดหลักไวยากรณ์ แต่คุณก็รู้ว่าเขาพูดผิด. เมื่อคุณเรียนหลักการต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลและนำไปใช้ในชีวิต คุณจะรู้ว่าการตัดสินใจแบบไหนที่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับหลักการของพระเจ้า.
ขอพิจารณาตัวอย่างของชายหนุ่มคนหนึ่งที่อาจกำลังตัดสินใจเรื่องทรงผม. คัมภีร์ไบเบิลไม่มีคำสั่งให้ทำทรงผมแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ. กระนั้น ขอพิจารณาหลักการของคัมภีร์ไบเบิลข้อหนึ่ง. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ฝ่ายพวกผู้หญิงก็เหมือนกัน, ให้แต่งตัวด้วยผ้านุ่งห่มอย่างสุภาพ, ให้รู้จักละอายและหงิมเสงี่ยม [“สุภาพและมีสุขภาพจิตดี,” ล.ม.], ไม่ใช่ถักผมหรือประดับกายด้วยเครื่องทองและมุกดาหรือมีผ้านุ่งห่มอย่างแพง, แต่ให้ประดับกายด้วยกิจการอันดี, ซึ่งสมกับหญิงที่ประกาศตัวว่าเป็นคนธรรม.” (1 ติโมเธียว 2:9, 10) ในที่นี้เปาโลเขียนเกี่ยวกับผู้หญิง แต่ข้อนี้ก็ใช้ได้กับทั้งหญิงและชาย. หลักการที่ว่าคืออะไร? นั่นคือ การแต่งกายของเราควรสุภาพและสะท้อนถึงการมีสุขภาพจิตดี. ดังนั้น ชายหนุ่มคนดังกล่าวอาจถามตัวเองว่า ‘ทรงผมของฉันจะสะท้อนความเจียมตัวที่เหมาะกับคริสเตียนไหม?’
และหลักการที่เป็นประโยชน์อะไรที่เยาวชนสามารถดึงเอามาใช้ได้จากถ้อยคำต่อไปนี้ของสาวกยาโกโบ? “ท่านทั้งหลายผู้ผิดประเวณีชายหญิง, ท่านไม่รู้หรือว่าการที่เป็นมิตรกับโลกก็เป็นศัตรูต่อพระเจ้า? เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดใคร่เป็นมิตรกับโลก, ผู้นั้นก็ตั้งตัวเป็นศัตรูต่อพระเจ้า.” (ยาโกโบ 4:4) คริสเตียนเกลียดชังแนวความคิดเรื่องการเป็นมิตรกับโลก ซึ่งหมายถึงการเป็นศัตรูกับพระเจ้า. แบบทรงผมที่คนรุ่นเดียวกันชอบจะทำให้เขาเป็นมิตรกับพระเจ้าหรือเป็นมิตรกับโลก? ชายหนุ่มที่กำลังคิดถึงการเปลี่ยนทรงผมอาจใช้หลักการที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักดังกล่าวเพื่อจะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม. ใช่แล้ว หลักการของพระเจ้าช่วยเราในการตัดสินใจ. และเมื่อเราเคยชินกับการตัดสินใจโดยอาศัยหลักการของพระเจ้า ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่เราจะตัดสินใจได้อย่างสุขุมซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลเสียตามมา.
เยเนซิศ 4:6, 7, 13-16; พระบัญญัติ 30:15-20; 1 โกรินโธ 10:11) เมื่อได้อ่านเรื่องราวเหล่านั้นและวิเคราะห์ดูผลที่ตามมา เราจะเข้าใจหลักการของพระเจ้าซึ่งสามารถช่วยเราตัดสินใจในแบบที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย.
เราสามารถพบหลักการมากมายในพระคำของพระเจ้า. แน่นอน เราอาจจะไม่พบข้อคัมภีร์ที่ใช้กับสถานการณ์ของเราโดยเฉพาะ. กระนั้น เราสามารถอ่านเรื่องราวที่ว่า บางคนเชื่อฟังการชี้นำจากพระเจ้าอย่างไรและบางคนเพิกเฉยคำเตือนของพระเจ้าอย่างไร. (ขอพิจารณาตัวอย่างการสนทนาสั้น ๆ ระหว่างพระเยซูคริสต์กับอัครสาวกเปโตร. ชายคนหนึ่งที่เก็บเงินภาษีจำนวนสองแดร็กมาได้ถามเปโตรว่า “อาจารย์ของท่านไม่เสียเงินบำรุงการนมัสการในโบสถ์นั้นหรือ”? เปโตรตอบว่า “เสีย.” หลังจากนั้นไม่นาน พระเยซูถามเปโตรว่า “กษัตริย์เคยเก็บส่วยและภาษีจากผู้ใด, จากโอรสหรือจากผู้อื่น?” เมื่อเปโตรตอบว่า “จากผู้อื่น” พระเยซูจึงตรัสแก่เขาว่า “ถ้าเช่นนั้นโอรสก็ไม่ต้องเสีย. แต่เพื่อมิให้เขาเข้าใจผิด, ท่านจงไปตกเบ็ดที่ทะเล เมื่อได้ปลาตัวแรกขึ้นมาก็ให้เปิดปากมันแล้วจะพบเงินตราแผ่นหนึ่ง, จงเอาเงินนั้นไปให้เขาเป็นค่าบำรุงการนมัสการในโบสถ์สำหรับเรากับท่าน.” (มัดธาย 17:24-27) หลักการของพระเจ้าในแง่ใดที่เราได้จากเรื่องนี้?
โดยการใช้คำถามต่าง ๆ พระเยซูช่วยเปโตรหาเหตุผลว่าฐานะพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ได้รับการยกเว้นภาษี. แม้ว่าตอนแรกเปโตรไม่เข้าใจเรื่องนี้ แต่พระเยซูก็ทรงช่วยท่านอย่างกรุณาให้เข้าใจจุดสำคัญ. ในการเลียนแบบพระเยซู เมื่อผู้อื่นพลาดพลั้งทำผิด เราอาจตัดสินใจที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเมตตาแทนที่จะชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดอย่างเกรี้ยวกราดหรือตำหนิติเตียนเขา.
นอกจากนั้น เปโตรยังสามารถเข้าใจเหตุผลที่ต้องเสียภาษี นั่นคือเพื่อจะไม่ให้ผู้อื่นสะดุด. นี่เป็นอีกหลักการหนึ่งที่เราเรียนได้จากเรื่องนี้. การคำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบของผู้อื่นสำคัญกว่าการยืนกรานทำตามสิทธิของเรา.
อะไรกระตุ้นเราให้ตัดสินใจอย่างที่จะแสดงความนับถือต่อสติรู้สึกผิดชอบของผู้อื่น? ความรักต่อเพื่อนบ้านนั่นเอง. พระเยซูคริสต์สอนว่าการรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเองเป็นพระบัญญัติที่มีความสำคัญรองจากการรักพระเจ้าด้วยสุดชีวิต. (มัดธาย 22:39, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม เรากำลังมีชีวิตอยู่ในโลกที่ผู้คนสนใจแต่ตัวเอง และการเป็นมนุษย์ที่ผิดบาปทำให้เรามีแนวโน้มจะเป็นคนเห็นแก่ตัว. ดังนั้น ถ้าจะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง คนเราต้องเปลี่ยนความคิดจิตใจเสียใหม่.—โรม 12:2, ล.ม.
หลายคนทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น และพวกเขาคำนึงถึงผู้อื่นเมื่อมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม. เปาโลเขียนว่า “ดูก่อนพวกพี่น้องทั้งหลาย, ที่ทรงเรียกท่านทั้งหลายนั้นก็เพื่อจะให้มีเสรีภาพ แต่อย่าเอาเสรีภาพของท่านเป็นช่องสำหรับปล่อยตัวไปตามเนื้อหนัง จงปรนนิบัติซึ่งกันและกันโดยความรักเถิด.” (ฆะลาเตีย 5:13) เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร? ขอพิจารณาตัวอย่างของเด็กสาวคนหนึ่งที่ย้ายไปอยู่เขตชนบทเพื่อช่วยผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า. เมื่อสนทนากับผู้คน เธอสังเกตว่าชุดที่เธอสวมใส่ แม้จะดูเรียบร้อยตามมาตรฐานของ ผู้คนในชุมชน แต่ชุดของเธอกลายเป็นที่กล่าวขวัญของผู้คนในเมืองเล็ก ๆ นั้น. แม้จะแต่งกายเรียบร้อยอยู่แล้ว แต่เธอก็ตัดสินใจว่าจะใส่เสื้อผ้าที่มีสีเรียบ ๆ กว่า “เพื่อจะไม่มีผู้ใดพูดลบหลู่พระคำของพระเจ้า.”—ติโต 2:5, ล.ม.
คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไรถ้าคุณเผชิญการตัดสินใจบางเรื่องเกี่ยวกับการแต่งกายหรือเรื่องอื่นที่เป็นรสนิยมส่วนตัว? คุณแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะพอพระทัยเมื่อคุณตัดสินใจในแบบที่แสดงให้เห็นว่าคุณคำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบของผู้อื่น.
จงมองดูเรื่องราวในระยะยาว
นอกจากคำนึงถึงหลักการของคัมภีร์ไบเบิลและสติรู้สึกผิดชอบของผู้อื่นแล้ว เราอาจคำนึงถึงอะไรอีกเมื่อตัดสินใจ? แม้เส้นทางชีวิตคริสเตียนจะขรุขระและแคบ แต่พระเจ้าก็ทรงให้เสรีภาพแก่เราไม่น้อยภายในขอบเขตที่พระองค์ได้วางไว้. (มัดธาย 7:13, 14) เราต้องพิจารณาให้ดีว่า การตัดสินใจของเราจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสวัสดิภาพด้านวิญญาณ, จิตใจ, อารมณ์, และร่างกายของเราในอนาคต.
สมมุติว่าคุณกำลังคิดจะเข้าทำงานในบริษัทหนึ่ง. บางที ลักษณะของงานนั้นอาจไม่มีอะไรที่ผิดศีลธรรมหรือไม่เหมาะสม. คุณสามารถเข้าร่วมการประชุมในประชาคมและการประชุมใหญ่ได้. เงินเดือนที่จะได้ก็มากกว่าที่คุณคิดเอาไว้. นายจ้างยกย่องความสามารถของคุณและต้องการจะใช้คุณอย่างเต็มที่. คุณเองก็ชอบงานนี้ด้วย. มีอะไรที่จะขัดขวางไม่ให้คุณรับข้อเสนอไหม? เอาล่ะ จะว่าอย่างไรถ้าคุณคาดว่าตัวคุณเองอาจชอบงานนี้และทุ่มเทกับงานนี้มาก. นายจ้างบอกว่าไม่มีการบังคับให้คุณทำงานล่วงเวลา. แต่เพื่อจะให้งานเสร็จตามเวลา คุณยินดีจะทุ่มเทตัวเองเต็มที่มากกว่าที่ควรไหม? งานนี้อาจทำให้คุณต้องทำงานล่วงเวลาบ่อย ๆ ไหม? งานดังกล่าวจะทำให้คุณต้องห่างเหินจากครอบครัวและในที่สุดก็ห่างเหินจากกิจกรรมฝ่ายวิญญาณที่คุณไม่ควรจะพลาดอย่างยิ่งไหม?
ขอพิจารณาวิธีที่จิมทำการตัดสินใจครั้งใหญ่เรื่องงานอาชีพ. เขาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงในบริษัท. ในที่สุดเขาก็ได้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดการดูแลงานทั้งหมดในประเทศแถบตะวันออก, ประธานกรรมการของบริษัทในเครือเดียวกันที่อยู่ในสหรัฐ, และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารภาคพื้นยุโรป. อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจในญี่ปุ่นตกต่ำลง เขาตระหนักว่าการติดตามวัตถุและอำนาจช่างไร้ประโยชน์สักเพียงไร. เงินที่ได้มาจากการทำงานหนักอันตรธานไปอย่างรวดเร็ว. เขารู้สึกว่าชีวิตไร้จุดมุ่งหมาย. เขาถามตัวเองว่า ‘จากนี้ไปอีกสิบปีฉันจะเป็นอย่างไร?’ แล้วเขาก็ได้มาตระหนักว่าภรรยาและลูก ๆ มีเป้าหมายชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายมากกว่า. ภรรยาและลูก ๆ ของเขาได้ร่วมสมทบกับพยานพระยะโฮวามาตลอดหลายปี. จิมอยากมีความสุขและความอิ่มใจเหมือนกับครอบครัวของเขา. เขาจึงเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.
ไม่ช้าจิมก็เห็นว่า รูปแบบชีวิตของเขาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายฐานะคริสเตียน. เนื่องจากต้องเดินทางไปเอเชีย, สหรัฐ, และยุโรปตลอดเวลา เขาจึงไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคบหากับเพื่อนร่วมความเชื่อ. เขาจึงต้องตัดสินใจว่า ‘ฉันจะดำเนินชีวิตแบบนี้ต่อไปเหมือนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา หรือฉันจะเลือกแนวทางชีวิตใหม่? หลังจากอธิษฐานถึงพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว เขาได้พิจารณาผลระยะยาวจากการตัดสินใจเลือกของเขาและตัดสินใจเลิกงานอาชีพทุกอย่างโดยเหลือไว้เพียงอย่างเดียวเพื่อจะมีเวลาให้กับสิ่งฝ่ายวิญญาณ. (1 ติโมเธียว 6:6-8) การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้เขามีความสุขมากขึ้น ทำให้เขามีโอกาสทุ่มเทให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียน.
การตัดสินใจของคุณเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าเรื่องนั้นจะใหญ่หรือเล็ก. การตัดสินใจของคุณในตอนนี้อาจยังผลเป็นความสำเร็จ หรือไม่ก็ล้มเหลว และในอนาคตยังอาจหมายถึงชีวิตและความตายด้วยซ้ำ. คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างสุขุมถ้าคุณคำนึงถึงหลักการในคัมภีร์ไบเบิล, สติรู้สึกผิดชอบของผู้อื่น, และผลระยะยาวจากการกระทำของคุณ. จงตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ตามแนวทางของพระเจ้า.
[ภาพหน้า 13]
การตัดสินใจเรื่องที่ดูเหมือนไม่สำคัญอาจก่อผลเสียหายร้ายแรงตามมา
[ภาพหน้า 14]
หลักการในคัมภีร์ไบเบิลช่วยเธอตัดสินใจอย่างสุขุมได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 15]
พระเยซูตรัสกับเปโตรด้วยความเมตตา