คุณสื่อความอย่างประสบผลสำเร็จแค่ไหน?
คุณสื่อความอย่างประสบผลสำเร็จแค่ไหน?
“จดหมายรักจากคนวัยหกสิบ.” นั่นคือหัวเรื่องของการแข่งขันที่ใช้วิธีจับฉลากเอารางวัลโดยธนาคารแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีมานี้. การแข่งขันนั้นได้สนับสนุนชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในวัย 50 และ 60 ปีขึ้นไปให้แสดง “ความรู้สึกจากใจจริง” ต่อคู่ชีวิตของตน. ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งได้เขียนจดหมายถึงภรรยาของเขาว่า “คุณอาจหัวเราะก็ได้ แต่ผมจะเสียใจหากไม่ได้พูดออกมา ดังนั้น ผมขอพูดดัง ๆ ว่า ขอบคุณที่แต่งงานกับผม.”
ในหลาย ๆ วัฒนธรรม รวมทั้งบางวัฒนธรรมในประเทศทางตะวันออก มีการถือว่าไม่เหมาะสมที่จะแสดงความรู้สึกของตนออกมาอย่างเปิดเผย. กระนั้น มีมากกว่า 15,000 คนได้ตอบรับการแข่งขันประกวดจดหมายรักนั้น. การแข่งขันดังกล่าวได้รับความนิยมมากจนถึงกับมีการจัดการแข่งขันขึ้นอีก และถึงกับได้มีการจัดพิมพ์หนังสือที่รวบรวมข้อความจากจดหมายรักเหล่านั้น. นี่บ่งบอกว่า ในส่วนลึกที่สุดแล้ว หลายคนปรารถนาจะพูดออกมาว่าเขารู้สึกอย่างไรกับคู่ชีวิตผู้เป็นที่รักของตน. แต่คนอื่นไม่อยากทำเช่นนั้น. เพราะเหตุใด? นั่นอาจเป็นเพราะว่า เขาต้องใช้ความพยายามและทักษะอยู่บ้างที่จะให้คนอื่น—เช่น คู่สมรส—รับรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร.
ฮิโตชิ คาโตะ ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเกษียณอายุ กล่าวว่าในบรรดาคู่สมรสสูงวัยในญี่ปุ่น การฟ้องหย่าหลายรายภรรยาเป็นฝ่ายริเริ่มเนื่องจากความขุ่นเคืองที่ฝังรากลึกซึ่งได้สะสมมาเป็นเวลาหลายปี. เขาบอกว่า “แต่เรื่องนี้ยังเป็นผลมาจากการที่คู่สมรสไม่ได้พูดจากันเมื่อเผชิญภาวะวิกฤติด้วย.”
บางครั้งภรรยาต้องการหย่าทันทีหลังจากสามีปลดเกษียณ และสามีประหลาดใจที่เป็นเช่นนั้น. เป็นเวลาหลายปีที่คู่สมรสอาจไม่ได้สนทนากันว่าเขารู้สึกอย่างไรต่อกัน. สามีและภรรยาอาจพยายามจะพูดถึงความรู้สึกของตน แต่
ก็ไม่สามารถทำให้การสนทนาแบบที่สร้างสรรค์ดำเนินต่อไป. แทนที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เขากลับพบว่าตัวเองเข้าไปพัวพันในการโต้เถียงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า.สามีภรรยาจะจัดการกับความขัดแย้งกันด้วยวิธีที่สงบสุขและบอกให้รู้ความรู้สึกของตนด้วยท่าทีที่สุภาพได้อย่างไร? คุณอาจสนใจที่จะทราบว่าข้อเสนอแนะที่ใช้ได้ผลมากที่สุดนั้นมีอยู่ ไม่ใช่ในหนังสือที่เขียนไม่นานมานี้โดยผู้ให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องชีวิตสมรส แต่มีในหนังสือเก่าแก่เล่มหนึ่งที่ถือกันว่ามีค่ามาหลายศตวรรษแล้ว นั่นก็คือคัมภีร์ไบเบิล.