ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมลิโตแห่งซาร์ดิสเป็นผู้ปกป้องความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไหม?

เมลิโตแห่งซาร์ดิสเป็นผู้ปกป้องความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไหม?

เมลิโต​แห่ง​ซาร์ดิส​เป็น​ผู้​ปก​ป้อง​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?

แต่​ละ​ปี​คริสเตียน​แท้​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ใน​วัน​ซึ่ง​ตรง​กับ​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​ตาม​ปฏิทิน​ฮีบรู. พวก​เขา​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “จง​กระทำ​อย่าง​นี้​ให้​เป็น​ที่​ระลึก​ถึง​เรา.” วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​สากล​ศักราช 33 นั้น​เอง​พระ​เยซู​ทรง​ตั้ง​อนุสรณ์​ระลึก​ถึง​การ​วาย​พระ​ชนม์​เป็น​เครื่อง​บูชา​ของ​พระองค์​หลัง​จาก​การ​ฉลอง​ปัศคา. พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์​ก่อน​ที่​วัน​นั้น​จะ​สิ้น​สุด​ลง.—ลูกา 22:19, 20; 1 โกรินโธ 11:23-28.

ช่วง​ศตวรรษ​ที่​สอง​แห่ง​สากล​ศักราช บาง​คน​เริ่ม​เปลี่ยน​วัน​เวลา​และ​วิธี​การ​ฉลอง​ต่าง​ไป​จาก​เดิม. ใน​เอเชีย​น้อย​มี​ธรรมเนียม​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​ต่อ​ไป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดัง​ที่​แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​แสดง​ให้​เห็น “ใน​โรม​และ​อะเล็กซานเดรีย​มี​ธรรมเนียม​ระลึก​ถึง​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​ใน​วัน​อาทิตย์​หลัง​จาก​วัน​ที่​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์” ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ปัศคา​แห่ง​การ​คืน​พระ​ชนม์. กลุ่ม​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​ใน​ชื่อ​ควอร์โทเดสิมานส์ (ผู้​ถือ​วัน​ที่​สิบ​สี่) ยัง​คง​สนับสนุน​ว่า​ควร​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน. เมลิโต​แห่ง​ซาร์ดิส​เห็น​ด้วย​กับ​คำ​สอน​นี้. เมลิโต​เป็น​ใคร? เขา​ปก​ป้อง​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ข้อ​นี้​และ​ข้อ​อื่น ๆ อย่าง​ไร?

‘ผู้​ฉาย​ความ​สว่าง​อัน​ยิ่ง​ใหญ่’

ตาม​ที่​ยูเซบิอุส​แห่ง​ซีซาเรีย กล่าว​ไว้​ใน​งาน​เขียน​ของ​เขา​ชื่อ​ประวัติศาสตร์​ของ​คริสตจักร ช่วง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​สอง โพลิกราติส​แห่ง​เอเฟโซส์​ส่ง​จดหมาย​ไป​ที่​กรุง​โรม​เพื่อ​สนับสนุน​การ​ฉลอง “ใน​วัน​ที่​สิบ​สี่​ซึ่ง​เป็น​วัน​ปัศคา​ดัง​ที่​บันทึก​ไว้​ใน​กิตติคุณ โดย​ไม่​หันเห​ออก​ไป แต่​ทำ​ตาม​หลัก​ข้อ​เชื่อ​ของ​คริสเตียน.” ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​จดหมาย​นี้ เมลิโต—บิชอป​แห่ง​ซาร์ดิส​ใน​ลิเดีย—เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​สนับสนุน​การ​ฉลอง​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน. จดหมาย​นั้น​กล่าว​ว่า ผู้​คน​ใน​ยุค​สมัย​เดียว​กับ​เมลิโต​ถือ​ว่า​เขา​เป็น​หนึ่ง​ใน ‘ผู้​ฉาย​ความ​สว่าง​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​ได้​ล่วง​ลับ​ไป​แล้ว.’ โพลิกราติส​กล่าว​ว่า​เมลิโต​ไม่​ได้​สมรส​และ​เขา “สนใจ​แต่​เรื่อง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ ศพ​ของ​เขา​ถูก​ฝัง​ไว้​ใน​เมือง​ซาร์ดิส​เพื่อ​รอ​คอย​การ​เรียก​จาก​สวรรค์​และ​จะ​ได้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย.” นี่​อาจ​หมาย​ความ​ว่า เมลิโต​อยู่​ใน​กลุ่ม​คน​ที่​เชื่อ​ว่า​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​จะ​ไม่​เกิด​ขึ้น​จน​กว่า​พระ​คริสต์​จะ​เสด็จ​กลับ.—วิวรณ์ 20:1-6.

ดัง​นั้น เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เมลิโต​ต้อง​มี​ความ​กล้า​หาญ​และ​ตั้งใจ​แน่วแน่. ที่​จริง เขา​เขียน​หนังสือ​ชื่อ​การ​แก้​ต่าง ให้​กับ​คริสเตียน ซึ่ง​เป็น​หนึ่ง​ใน​หนังสือ​การ​แก้​ต่าง ชิ้น​แรก ๆ ที่​มี​การ​บันทึก​ไว้ เขียน​ถึง​มาร์คุส เอาเรลีอุส จักรพรรดิ​โรมัน​ที่​ปกครอง​ใน​ช่วง ส.ศ. 161 ถึง ส.ศ. 180. เมลิโต​ปก​ป้อง​ศาสนา​คริสเตียน​อย่าง​ไม่​หวั่น​เกรง อีก​ทั้ง​ประณาม​คน​ชั่ว​และ​คน​โลภ. คน​ชั่ว​เหล่า​นั้น​พยายาม​ใช้​พระ​ราชกฤษฎีกา​ต่าง ๆ ของ​จักรพรรดิ​เป็น​ข้อ​อ้าง​เพื่อ​จะ​ข่มเหง​และ​กล่าว​โทษ​คริสเตียน​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​เพื่อ​จะ​ได้​ยึด​ทรัพย์​สิน​ของ​คริสเตียน.

เมลิโต​เขียน​จดหมาย​ถึง​จักรพรรดิ​อย่าง​ไม่​เกรง​กลัว​ว่า “เหล่า​ข้า​พระองค์​ทูล​ขอ​แค่​เรื่อง​เดียว​เท่า​นั้น คือ​ขอ​ให้​พระองค์​เอง​ตรวจ​สอบ​พวก​ที่​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ความ​วุ่นวาย [พวก​คริสเตียน] และ​ขอ​ทรง​พิพากษา​อย่าง​เป็น​ธรรม​ว่า​พวก​เขา​สม​ควร​ตาย​และ​ถูก​ลง​โทษ หรือ​สม​ควร​จะ​ได้​รับ​การ​ไว้​ชีวิต​และ​การ​คุ้มครอง. แต่​ถ้า​พระ​ราชกฤษฎีกา​นี้​และ​กฤษฎีกา​ใหม่ ซึ่ง​ไม่​เหมาะ​แม้​แต่​จะ​ใช้​เพื่อ​กำราบ​ศัตรู​ที่​ป่า​เถื่อน ไม่​ได้​มา​จาก​พระองค์ ก็​ขอ​อย่า​ทรง​นิ่ง​ดู​ดาย​เหล่า​ข้า​พระองค์​ซึ่ง​อยู่​ท่ามกลาง​คน​ที่​ถูก​ปล้น​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​โดย​ผู้​ข่มเหง.”

การ​ใช้​พระ​คัมภีร์​เพื่อ​ปก​ป้อง​ศาสนา​คริสเตียน

เมลิโต​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ศักดิ์สิทธิ์​ด้วย​ความ​สนใจ​อย่าง​ยิ่ง. แม้​ไม่​มี​ราย​ชื่อ​หนังสือ​ทั้ง​หมด​ที่​เขา​เขียน แต่​กระนั้น ชื่อ​หนังสือ​บาง​เล่ม​ก็​เผย​ให้​ทราบ​ว่า​เขา​สนใจ​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล. หนังสือ​ต่าง ๆ ดัง​กล่าว​ได้​แก่ ว่า​ด้วย​ชีวิต​คริสเตียน​และ​ผู้​พยากรณ์, ว่า​ด้วย​ความ​เชื่อ​ของ​มนุษย์, ว่า​ด้วย​การ​ทรง​สร้าง, ว่า​ด้วย​การ​รับ​บัพติสมา​และ​ความ​จริง​และ​ความ​เชื่อ​และ​การ​ประสูติ​ของ​พระ​คริสต์, ว่า​ด้วย​การ​มี​น้ำใจ​รับรอง​แขก, กุญแจ​สำคัญ, และ​ว่า​ด้วย​พญา​มาร​และ​วิวรณ์​ของ​โยฮัน.

เมลิโต​เอง​เคย​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​ดินแดน​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เพื่อ​ศึกษา​ว่า​พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​จริง ๆ แล้ว​มี​จำนวน​กี่​เล่ม. เขา​เขียน​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​ว่า “ดัง​นั้น เมื่อ​ข้าพเจ้า​เดิน​ทาง​ไป​ที่​ประเทศ​แถบ​ตะวัน​ออก​และ​ไป​ยัง​สถาน​ที่​ที่​เคย​มี​การ​ประกาศ​ข่าวสาร​เหล่า​นี้​และ​มี​ผู้​นำ​ไป​ปฏิบัติ และ​หลัง​จาก​ข้าพเจ้า​ได้​เรียน​เกี่ยว​กับ​พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​เก่า​อย่าง​ถูก​ต้อง​และ​ได้​บันทึก​ข้อ​เท็จ​จริง​แล้ว ข้าพเจ้า​ได้​ส่ง​ให้​ท่าน.” บัญชี​ราย​ชื่อ​พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​เก่า​ของ​เมลิโต​นี้​ไม่​มี​พระ​ธรรม​นะเฮมยา​และ​เอศเธระ แต่​ก็​ถือ​ได้​ว่า​เป็น​บัญชี​ราย​ชื่อ​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​สารบบ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู ซึ่ง​เขียน​โดย​ผู้​ที่​อ้าง​ว่า​เป็น​คริสเตียน.

ช่วง​ที่​เมลิโต​ค้นคว้า​เรื่อง​นี้ เขา​รวบ​รวม​ข้อ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ตอน​ต่าง ๆ ที่​พยากรณ์​ถึง​พระ​เยซู. งาน​เขียน​ของ​เมลิโต​ชื่อ​การ​คัด​ลอก​ข้อ​ความ แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​มาซีฮา​ที่​เฝ้า​คอย​มา​นาน​และ​กฎหมาย​ของ​โมเซ​และ​คำ​พยากรณ์​ล้วน​แต่​กล่าว​ล่วง​หน้า​ถึง​พระ​คริสต์.

การ​ปก​ป้อง​คุณค่า​แห่ง​ค่า​ไถ่

มี​ชุมชน​ชาว​ยิว​ขนาด​ใหญ่​ใน​เมือง​สำคัญ ๆ ของ​เอเชีย​น้อย. ชาว​ยิว​ใน​เมือง​ซาร์ดิส ซึ่ง​เป็น​เมือง​ที่​เมลิโต​อาศัย​อยู่ ได้​ฉลอง​ปัศคา​ของ​ชาว​ฮีบรู​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน. เมลิโต​เขียน​คำ​เทศน์​ซึ่ง​มี​หัวเรื่อง​ว่า​ปัศคา ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​การ​ฉลอง​ปัศคา​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ และ​สนับสนุน​การ​ที่​คริสเตียน​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน.

หลัง​จาก​ให้​ข้อ​สังเกต​เกี่ยว​กับ​เอ็กโซโด​บท 12 และ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ปัศคา​เป็น​ภาพ​ล่วง​หน้า​ของ​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​คริสต์ เมลิโต​อธิบาย​ว่า​เหตุ​ใด​จึง​ไม่​สม​เหตุ​สม​ผล​ที่​คริสเตียน​จะ​ฉลอง​ปัศคา. นั่น​เป็น​เพราะ​พระเจ้า​ยก​เลิก​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​แล้ว. จาก​นั้น เขา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เหตุ​ใด​จึง​จำเป็น​ต้อง​มี​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​คริสต์. กล่าว​คือ พระเจ้า​สร้าง​อาดาม​ให้​อยู่​ใน​สวน​อุทยาน​เพื่อ​เขา​จะ​มี​ชีวิต​อย่าง​มี​ความ​สุข. แต่​มนุษย์​คน​แรก​ไม่​เชื่อ​ฟัง​คำ​สั่ง​ของ​พระเจ้า​ที่​ห้าม​รับประทาน​ผล​จาก​ต้น​ไม้​ที่​ทำ​ให้​รู้​ดี​รู้​ชั่ว. ด้วย​เหตุ​นั้น จึง​จำเป็น​ต้อง​มี​ค่า​ไถ่.

เมลิโต​อธิบาย​เพิ่ม​เติม​ว่า​พระ​เยซู​ถูก​ส่ง​มา​บน​แผ่นดิน​โลก​และ​สิ้น​พระ​ชนม์​บน​หลัก​เพื่อ​เป็น​ค่า​ไถ่​สำหรับ​มนุษยชาติ​ที่​แสดง​ความ​เชื่อ ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​พวก​เขา​พ้น​จาก​บาป​และ​ความ​ตาย. น่า​สนใจ​ที่​ว่า เมลิโต​ใช้​คำ​ภาษา​กรีก​ซีลอน ซึ่ง​หมาย​ถึง “ต้น​ไม้” เมื่อ​เขียน​ถึง​หลัก​ทรมาน​ที่​ใช้​ประหาร​พระ​เยซู.—กิจการ 5:30; 10:39; 13:29.

เมลิโต​เป็น​ที่​รู้​จัก​อย่าง​กว้างขวาง​ไม่​เฉพาะ​ใน​เอเชีย​น้อย. เทอร์ทูลเลียน, เคลเมนต์​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย, และ​ออริเกน​คุ้น​เคย​กับ​งาน​เขียน​ของ​เขา. กระนั้น ราเนียโร คัน​ตา​ลา​เมซา นัก​ประวัติศาสตร์​กล่าว​ว่า “ความ​นิยม​ใน​ตัว​เมลิโต​เสื่อม​ลง ซึ่ง​ส่ง​ผล​ให้​งาน​เขียน​ของ​เขา​ค่อย ๆ สูญ​หาย​ไป​เมื่อ​เริ่ม​มี​การ​ถือ​ว่า​พวก​ควอร์โทเดสิมานส์​เป็น​พวก​นอก​รีต หลัง​จาก​ธรรมเนียม​ของ​พวก​ที่​ถือ​ปัศคา​วัน​อาทิตย์​มี​อิทธิพล​เพิ่ม​ขึ้น.” ใน​ที่​สุด งาน​เขียน​ของ​เมลิโต​เกือบ​จะ​สาบสูญ​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง.

เหยื่อ​ของ​การ​ออก​หาก​หรือ?

หลัง​จาก​พวก​อัครสาวก​เสีย​ชีวิต​ไป​หมด​แล้ว การ​ออก​หาก​ที่​มี​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า​เริ่ม​แทรกซึม​เข้า​มา​ใน​ศาสนา​คริสเตียน​แท้. (กิจการ 20:29, 30) เห็น​ได้​ชัด​ว่า นี่​ส่ง​ผล​กระทบ​เมลิโต. รูป​แบบ​งาน​เขียน​ของ​เมลิโต​ที่​ซับซ้อน​ดู​เหมือน​สะท้อน​งาน​เขียน​เกี่ยว​กับ​ปรัชญา​กรีก​และ​โลก​สมัย​จักรวรรดิ​โรมัน. นี่​อาจ​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​เมลิโต​เรียก​ศาสนา​คริสเตียน​ว่า “ปรัชญา​ของ​พวก​เรา.” นอก​จาก​นั้น เขา​คิด​ว่า​การ​ผสมผเส​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ศาสนา​คริสเตียน​เข้า​กับ​จักรวรรดิ​โรมัน เป็น “หลักฐาน​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด . . . ใน​เรื่อง​ความ​สำเร็จ.”

แน่นอน เมลิโต​ไม่​ได้​ใส่​ใจ​คำ​แนะ​นำ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่​ว่า “จง​ระวัง​ให้​ดี, เกรง​ว่า​จะ​มี​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​นำ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ให้​หลง​ด้วย​หลัก​ปรัชญา​และ​ด้วย​คำ​ล่อ​ลวง​เหลวไหล, ตาม​เรื่อง​ซึ่ง​มนุษย์​สอน​กัน​ต่อ ๆ มา​นั้น, ตาม​โลกธรรม, และ​ไม่​ใช่​ตาม​พระ​คริสต์.” ด้วย​เหตุ​นั้น แม้​เมลิโต​ปก​ป้อง​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ขอบ​เขต​หนึ่ง แต่​ใน​หลาย​แง่ เขา​ละ​ทิ้ง​ความ​จริง.—โกโลซาย 2:8.

[ภาพ​หน้า 18]

พระ​เยซู​ได้​ตั้ง​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน