“เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอ”
“เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอ”
“ทูตพระยะโฮวาได้เอาข่าวของพระยะโฮวาแจ้งแก่คนทั้งปวงว่า, ‘พระยะโฮวาตรัสว่า, “เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอ.”’ ”—ฮาฆี 1:13.
1. พระเยซูตรัสถึงเหตุการณ์อะไรที่เป็นภาพพยากรณ์ถึงสมัยของเรา?
เรามีชีวิตอยู่ในช่วงที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์. ดังที่ความสำเร็จของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นข้อพิสูจน์ นับตั้งแต่ปี 1914 เราอยู่ใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (วิวรณ์ 1:10) คุณอาจได้ศึกษาเรื่องนี้มาแล้วพอสมควร ดังนั้นคุณคงทราบว่าพระเยซูทรงเทียบ “สมัยของบุตรมนุษย์” ภายใต้อำนาจแห่งราชอาณาจักรว่าเหมือนกับ “สมัยของโนฮา” และ “สมัยของโลต.” (ลูกา 17:26, 28) โดยวิธีนี้ คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าเหตุการณ์ในสมัยโนฮาและโลตเป็นภาพพยากรณ์ถึงสมัยของเรา. อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นภาพพยากรณ์ที่เราควรพิจารณาอย่างจริงจัง.
2. พระยะโฮวาทรงมอบหมายฮาฆีและซะคาระยาให้ทำหน้าที่อะไร?
2 ให้เราย้อนไปพิจารณาสถานการณ์ในสมัยของฮาฆีและซะคาระยาผู้พยากรณ์ชาวฮีบรู. ข่าวสารอะไรที่ผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ทั้งสองได้แจ้งซึ่งมีจุดที่เป็นประโยชน์อย่างชัดเจนสำหรับประชาชนของพระยะโฮวาในสมัยของเรา? ฮาฆีและซะคาระยาเป็น “ทูตพระยะโฮวา” ซึ่งส่งข่าวสารถึงชาวยิวหลังจากพวกเขากลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน. ท่านทั้งสองได้รับมอบหมายเพื่อช่วยชาวอิสราเอลให้มั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือพวกเขาในการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. (ฮาฆี 1:13; ซะคาระยา 4:8, 9) แม้ว่าพระธรรมฮาฆีและซะคาระยามีเนื้อความสั้น ๆ แต่ทั้งสองเล่มเป็นส่วนของ “พระคัมภีร์ทุกตอน [ซึ่ง] มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์สำหรับการสอน, สำหรับการว่ากล่าว, สำหรับการจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, สำหรับการตีสอนด้วยความชอบธรรม.”—2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.
เราควรสนใจคำพยากรณ์ของท่านทั้งสอง
3, 4. เหตุใดเราควรสนใจข่าวสารของฮาฆีและซะคาระยา?
3 แน่นอน ข่าวสารของฮาฆีและซะคาระยาเป็นประโยชน์ต่อชาวยิวในสมัยของท่าน และคำพยากรณ์เหล่านี้ก็สำเร็จในสมัยนั้นด้วย. แต่เหตุใดเราจึงแน่ใจได้ว่าพวกเราในทุกวันนี้ควรสนใจพระธรรมทั้งสองนี้? เราพบเบาะแสอย่างหนึ่งซึ่งจะช่วยตอบคำถามนี้ที่เฮ็บราย 12:26-29. ที่นั่น อัครสาวกเปาโลยกข้อความจากฮาฆี 2:6 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวถึงการที่พระเจ้าจะ “เขย่าฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” ในที่สุด การเขย่านี้ “จะคว่ำพระที่นั่งของอาณาจักรทั้งหลายเสีย . . . จะล้างอำนาจของอาณาจักรแห่งนานาประเทศให้สิ้นเชิง.”—ฮาฆี 2:22.
4 หลังจากยกข้อความจากพระธรรมฮาฆีขึ้นมากล่าวแล้ว เปาโลกล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ “อาณาจักรแห่งนานาประเทศ” และกล่าวถึงความเหนือกว่าของราชอาณาจักรที่ไม่มีวันสั่นคลอนซึ่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมจะได้รับ. (เฮ็บราย 12:28) จากคำกล่าวของเปาโล คุณจะเห็นได้ว่าเมื่อถึงตอนที่เขียนพระธรรมเฮ็บรายในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชก็ยังไม่ถึงเวลาตามที่คำพยากรณ์ของฮาฆีและซะคาระยาชี้ถึง. ในปัจจุบัน ชนที่เหลือแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เป็นรัชทายาทแห่งราชอาณาจักรมาซีฮาร่วมกับพระ เยซูก็ยังคงอยู่บนแผ่นดินโลก. ด้วยเหตุนั้น คำพยากรณ์ของฮาฆีและซะคาระยาจึงต้องมีความสำคัญสำหรับสมัยของเราอย่างแน่นอน.
5, 6. สถานการณ์เป็นเช่นไรก่อนฮาฆีและซะคาระยาจะเข้ามาทำหน้าที่?
5 พระธรรมเอษราให้ข้อมูลบางอย่างอันเป็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์. หลังจากที่ชาวยิวกลับจากการเป็นเชลยของบาบิโลนในปี 537 ก่อนสากลศักราช ผู้สำเร็จราชการซะรูบาเบลและมหาปุโรหิตยะโฮซูอะ (หรือเยชูอา) ดูแลการวางฐานรากพระวิหารหลังใหม่ในปี 536 ก่อน ส.ศ. (เอษรา 3:8-13; 5:1) แม้ว่างานนี้ก่อความยินดีอย่างใหญ่หลวง แต่ไม่นานความกลัวก็เข้าครอบงำชาวยิว. พวกผู้ต่อต้านก่อให้เกิดความกลัวดังกล่าว ดังที่เอษรา 4:4 (ฉบับแปลใหม่) รายงานไว้ว่า “ประชาชนแห่งแผ่นดินนั้นได้กระทำให้ประชาชนยูดาห์ท้อถอยและกระทำให้เขากลัวที่จะสร้าง.” ศัตรูเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกซะมาเรีย ตั้งข้อกล่าวหาเท็จปรักปรำชาวยิว. พวกผู้ต่อต้านเหล่านี้ชักจูงให้กษัตริย์เปอร์เซียสั่งห้ามงานสร้างพระวิหาร.—เอษรา 4:10-21.
6 ความกระตือรือร้นในการสร้างพระวิหารที่เคยมีในตอนแรกค่อย ๆ หดหาย. ชาวยิวหันไปสนใจผลประโยชน์ส่วนตัว. อย่างไรก็ตาม ในปี 520 ก่อน ส.ศ. 16 ปีหลังจากวางฐานรากพระวิหาร พระยะโฮวาทรงมอบหมายให้ฮาฆีและซะคาระยากระตุ้นประชาชนให้สร้างพระวิหารต่อ. (ฮาฆี 1:1; ซะคาระยา 1:1) โดยถูกกระตุ้นจากผู้ส่งข่าวของพระเจ้าและเพราะเห็นหลักฐานชัดเจนว่าพระยะโฮวาทรงสนับสนุน ชาวยิวลงมือสร้างพระวิหารกันต่อไปและสร้างเสร็จในปี 515 ก่อน ส.ศ.—เอษรา 6:14, 15.
7. สถานการณ์ในสมัยของผู้พยากรณ์คล้ายคลึงกันเช่นไรกับในสมัยปัจจุบัน?
7 คุณทราบความหมายของเหตุการณ์ทั้งหมดนี้สำหรับเราไหม? เรามีงานที่ต้องทำเกี่ยวข้องกับการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) งานนี้ได้รับการเน้นเป็นพิเศษภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1. เช่นเดียวกับชาวยิวเมื่อครั้งกระโน้นที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลยของบาบิโลน ประชาชนของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันก็ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นเชลยของบาบิโลนใหญ่ จักรภพโลกแห่งศาสนาเท็จ. ผู้ถูกเจิมของพระเจ้าทุ่มเทตัวเองในการประกาศ, การสอน, และการนำผู้คนเข้าสู่การนมัสการแท้. งานนี้ยังทำกันอยู่ในทุกวันนี้ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเดิมด้วยซ้ำ และคุณเองก็อาจมีส่วนร่วมในงานนี้อยู่. บัดนี้เป็นเวลาที่ต้องทำงานนี้ให้เสร็จ เพราะอวสานของระบบชั่วนี้ใกล้จะมาถึงแล้ว! งานที่พระเจ้าทรงมอบหมายนี้ต้องทำกันต่อไปจนกระทั่งพระยะโฮวาจะทรงเข้ามาจัดการกับกิจธุระของมนุษย์ในคราว “ความทุกข์ลำบากใหญ่.” (มัดธาย 24:21) ถึงตอนนั้น ความชั่วจะถูกขจัดให้หมดไปและการนมัสการแท้ก็จะรุ่งเรืองเต็มที่บนแผ่นดินโลก.
8. เหตุใดเราสามารถเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะทรงสนับสนุนงานของเรา?
8 ดังที่คำพยากรณ์ของฮาฆีและซะคาระยาแสดงให้เห็น เราสามารถแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงหนุนหลังและอวยพรขณะที่เราร่วมงานนี้อย่างสุดหัวใจ. แม้ว่าบางคนพยายามห้ามผู้รับใช้ของพระเจ้าหรือสั่งห้ามงานที่พวกเขาได้รับมอบหมาย ไม่มีรัฐบาลใดสามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าของงานประกาศได้. ลองคิดดูซิว่าพระยะโฮวาได้อวยพรงานราชอาณาจักรให้เพิ่มทวีอย่างไรตลอดทศวรรษต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มาจนถึงสมัยของเรา. อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกมากที่จะต้องทำ.
9. สถานการณ์เช่นไรในสมัยโน้นที่เราควรสนใจ และเพราะเหตุใด?
9 สิ่งที่เราเรียนจากฮาฆีและซะคาระยาจะสามารถกระตุ้นเรายิ่งขึ้นไปอีกได้อย่างไรในการเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้ประกาศและสั่งสอน? ขอให้เราสังเกตบทเรียนบางอย่างที่เราอาจได้จากพระธรรมทั้งสองนี้ก็แล้วกัน. ยกตัวอย่าง ลองพิจารณารายละเอียดบางอย่างที่เกี่ยวกับงานสร้างพระวิหารซึ่งชาวยิวที่กลับมาต้องทำให้สำเร็จ. ดังได้กล่าวไปแล้ว ชาวยิวที่กลับจากบาบิโลนมายังกรุงเยรูซาเลมไม่ได้บากบั่นในงานสร้างพระวิหาร. หลังจากวางฐานรากแล้ว พวกเขาก็ผ่อนมือลง. ทัศนะที่ผิด ๆ แบบใดได้ก่อตัวขึ้นท่ามกลางพวกเขา? และเราจะเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
ต้องมีทัศนะที่ถูกต้อง
10. ชาวยิวปล่อยให้ทัศนะที่ผิด ๆ เช่นไรก่อตัวขึ้น และพร้อมด้วยผลเช่นไร?
10 ชาวยิวที่กลับมากล่าวว่า “ยังไม่ถึงกำหนด.” (ฮาฆี ) เมื่อพวกเขาเริ่ม งานสร้างพระวิหารด้วยการวางฐานรากในปี 536 ก่อน ส.ศ. พวกเขาไม่ได้กล่าวว่า “ยังไม่ถึงกำหนด.” แต่ไม่นานนักพวกเขาก็ปล่อยให้การต่อต้านจากชาติข้างเคียงและการขัดขวางจากรัฐบาลมีผลกระทบต่อพวกเขา. ชาวยิวเริ่มเน้นมากขึ้นในเรื่องบ้านและความสะดวกสบายของตัวเอง. โดยเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างบ้านส่วนตัวของพวกเขาที่ตกแต่งด้วยแผ่นไม้ชั้นดีกับพระวิหารที่ยังสร้างไม่เสร็จ พระยะโฮวาทรงถามว่า “ถึงเวลาแล้วหรือที่ตัวเจ้าเองอาศัยอยู่ในบ้านที่มีไม้บุ แต่ส่วนพระนิเวศนี้ทิ้งให้พังทลาย?”— 1:2ฮาฆี 1:4, ฉบับแปลใหม่.
11. เหตุใดพระยะโฮวาจึงจำเป็นต้องให้คำแนะนำแก่ชาวยิวในสมัยของฮาฆี?
11 ใช่แล้ว ทัศนะของชาวยิวได้เปลี่ยนไปในเรื่องที่ว่าอะไรสำคัญที่สุด. แทนที่จะรักษาให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาในการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่สำคัญเป็นอันดับแรก ประชาชนของพระเจ้ากลับเริ่มหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเองและที่อยู่อาศัยของตน. งานสร้างพระนิเวศแห่งการนมัสการของพระเจ้าถูกละเลย. คำตรัสของพระยะโฮวาดังบันทึกที่ฮาฆี 1:5 สนับสนุนชาวยิวให้ “พิจารณาแนวทางประพฤติของตน.” ในข้อนี้ พระยะโฮวาทรงบอกพวกเขาให้หยุดและคิดใคร่ครวญว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่และพิจารณาว่าพวกเขากำลังได้รับผลกระทบอย่างไรจากการไม่ได้ให้งานสร้างพระวิหารมาเป็นอันดับแรกในชีวิต.
12, 13. ฮาฆี 1:6 พรรณนาอย่างไรถึงสถานการณ์ของชาวยิว และคำกล่าวในข้อนี้หมายความเช่นไร?
12 ดังที่คุณคงสามารถนึกภาพออก การที่ชาวยิวจัดลำดับผิดในเรื่องสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก่อผลเสียหายต่อพวกเขาเอง. ขอให้สังเกตทัศนะของพระเจ้าซึ่งแสดงไว้ในฮาฆี 1:6 ที่ว่า “เจ้าทั้งหลายได้หว่านมาก, แต่ได้เกี่ยวเล็กน้อย; ได้รับประทานแต่ไม่พออิ่ม; ได้ดื่มแต่ไม่หายอยาก [“แต่ไม่ถึงขั้นเมา,” ล.ม.]; ได้นุ่งห่มแต่ไม่พออุ่นกาย; ส่วนผู้ได้ค่าจ้างมาก็ได้เก็บไว้ในถุงก้นรั่ว.”
13 ชาวยิวอยู่ในแผ่นดินที่พระเจ้าได้ประทานแก่พวกเขา กระนั้น แผ่นดินนั้นไม่เกิดผลอย่างที่พวกเขาปรารถนา. พระยะโฮวาทรงเหนี่ยวรั้งพระพรของพระองค์ไว้ ดังที่พระองค์ทรงเตือนไว้แล้ว. (พระบัญญัติ 28:38-48) เมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์ ชาวยิวก็หว่านแต่เก็บเกี่ยวได้เพียงเล็กน้อย อาหารที่ได้จึงไม่พอจะทำให้อิ่มท้อง. เพราะขาดพระพรจากพระองค์ พวกเขาจึงไม่สามารถมีเสื้อผ้าอุ่น ๆ ใส่. แม้แต่เงินที่พวกเขาหามาได้ก็ดูราวกับว่าใส่ไว้ในถุงก้นรั่ว ผู้รับค่าจ้างจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย. จะว่าอย่างไรสำหรับวลีที่ว่า “ได้ดื่มแต่ไม่ถึงขั้นเมา”? วลีนี้ไม่อาจจะหมายความว่าการดื่มจนเมามายแสดงถึงพระพรที่พระเจ้าประทานให้ เพราะพระองค์ทรงตำหนิการเมาเหล้า. (1 ซามูเอล 25:36; สุภาษิต 23:29-35) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น นี่เป็นอีกวลีหนึ่งซึ่งกล่าวถึงการที่ชาวยิวขาดพระพรจากพระเจ้า. เหล้าองุ่นที่พวกเขาทำได้จะมีปริมาณจำกัด ไม่พอจะทำให้เมา.
14, 15. เราเรียนรู้อะไรจากฮาฆี 1:6?
14 สิ่งที่เราควรเรียนจากเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่บทเรียนเกี่ยวกับการออกแบบหรือการตกแต่งบ้าน. นานมาแล้วก่อนการพลัดถิ่น ผู้พยากรณ์อาโมศได้ตำหนิคนมั่งมีในอิสราเอลเกี่ยวกับ “เรือนที่ทำด้วยงาช้าง” ของพวกเขา และการที่พวกเขา “นอนบนเตียงงาช้าง.” (อาโมศ 3:15; 6:4, ฉบับแปลใหม่) บ้านที่สวยหรูและเครื่องเรือนที่ตกแต่งไว้สวยงามอยู่ได้ไม่นาน. สิ่งเหล่านี้ถูกศัตรูผู้พิชิตปล้นทำลาย. กระนั้น หลายปีต่อมาหลังจากที่พลัดถิ่นอยู่นานถึง 70 ปี ประชาชนของพระเจ้าเป็นจำนวนมากก็ยังไม่ได้บทเรียนจากเหตุการณ์นี้. แล้วเราล่ะ? คงเหมาะที่เราแต่ละคนจะถามตัวเองว่า ‘พูดกันอย่างไม่อ้อมค้อม ฉันเน้นในเรื่องบ้านและการแต่งบ้านขนาดไหน? จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการศึกษาในหลักสูตรพิเศษเพื่อเสริมความก้าวหน้าในงานอาชีพทั้ง ๆ ที่การเรียนนั้นต้องใช้เวลามากและนานหลายปี จนฉันไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมที่สำคัญในการนมัสการพระเจ้า?’—ลูกา 12:20, 21; 1 ติโมเธียว 6:17-19.
15 สิ่งที่เราอ่านในฮาฆี 1:6 น่าจะทำให้เราสำนึกถึงความจำเป็นที่เราต้องได้รับการอวยพรจากพระเจ้าในชีวิตเรา. ชาวยิวเมื่อครั้งกระโน้นขาดพระพรจากพระเจ้าซึ่งยังผลเป็นความเสียหายแก่พวกเขา. ไม่ว่าเรามีสิ่งฝ่ายวัตถุมากหรือน้อย หากเราไม่ได้รับพระพรจากพระยะโฮวา เราจะประสบผลเสียหายทางฝ่ายวิญญาณอย่างแน่นอน. (มัดธาย 25:34-40; 2 โกรินโธ 9:8-12) แต่เราจะได้รับพระพรนั้นได้อย่างไร?
พระยะโฮวาทรงช่วยโดยทางพระวิญญาณของพระองค์
16-18. ซะคาระยา 4:6 มีความหมายเช่นไรในสมัยโน้น?
16 ซะคาระยา เพื่อนผู้พยากรณ์ของฮาฆี ได้รับการดลใจให้เน้นในเรื่องวิธีที่พระยะโฮวาทรงกระตุ้นและอวยพรผู้ที่อุทิศตัวแด่พระองค์ในสมัยนั้น. และนั่นแสดงให้เห็นวิธีที่พระองค์จะทรงอวยพรคุณเช่นกัน. เราอ่านดังนี้: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า, ไม่ใช่ด้วยกำลังแลฤทธิ์, แต่โดยพระวิญญาณของเรา.” (ซะคาระยา 4:6) คุณอาจได้ยินข้อนี้ซึ่งมีการยกขึ้นมากล่าวบ่อย ๆ แต่ข้อนี้มีความหมายเช่นไรสำหรับชาวยิวในสมัยของฮาฆีและซะคาระยา และมีความหมายเช่นไรสำหรับคุณ?
17 พึงระลึกว่าถ้อยคำของฮาฆีและซะคาระยาที่มีขึ้นโดยการดลใจก่อผลอย่างน่าทึ่งในเวลานั้น. สิ่งที่ผู้พยากรณ์ทั้งสองกล่าวทำให้ชาวยิวที่ซื่อสัตย์เข้มแข็งขึ้นอีกครั้ง. ฮาฆีเริ่มพยากรณ์ในเดือนที่หกของปี 520 ก่อน ส.ศ. ซะคาระยาเริ่มพยากรณ์ในเดือนที่แปดของปีเดียวกัน. (ซะคาระยา 1:1) ดังที่คุณจะเห็นได้จากฮาฆี 2:18 ได้มีการลงมือสร้างฐานรากกันต่ออย่างเอาจริงเอาจังในเดือนที่เก้า. ดังนั้น ชาวยิวได้รับการกระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ และพวกเขาเชื่อฟังพระยะโฮวาด้วยความมั่นใจในการสนับสนุนของพระองค์. ถ้อยคำที่ซะคาระยา 4:6 เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนจากพระเจ้า.
18 เมื่อครั้งที่ชาวยิวหวนคืนสู่มาตุภูมิในปี 537 ก่อน ส.ศ. นั้นพวกเขาไม่มีกองทหาร. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงปกป้องพวกเขาและนำพวกเขาตลอดเส้นทางจากบาบิโลน. และพระวิญญาณของพระองค์ทรงชี้นำเรื่องต่าง ๆ เมื่อพวกเขาเริ่มงานสร้างพระวิหารหลังจากนั้นไม่นาน. ทันทีที่พวกเขาเริ่มงานอย่างสิ้นสุดหัวใจอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ก็ทรงหนุนหลังพวกเขาโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์.
19. พระวิญญาณของพระเจ้าเอาชนะอิทธิพลที่มีพลังอะไร?
19 โดยทางนิมิตแปดเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ซะคาระยาได้รับการรับรองว่าพระยะโฮวาจะทรงอยู่กับประชาชนของพระองค์ ซึ่งก็จะทำให้พวกเขาทำงานสร้างพระวิหารอย่างซื่อสัตย์จนแล้วเสร็จ. นิมิตที่สี่ ดังบันทึกในบท 3 แสดงว่าซาตานเอาจริงเอาจังในการต่อต้านความพยายามของชาวยิวที่จะสร้างพระวิหารให้เสร็จ. (ซะคาระยา 3:1) ซาตานคงไม่พอใจแน่ที่เห็นมหาปุโรหิตยะโฮซูอะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ณ พระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่. แม้ว่าพญามารเอาจริงเอาจังในการขัดขวางชาวยิวไม่ให้สร้างพระวิหาร พระวิญญาณของพระยะโฮวาจะมีบทบาทสำคัญในการขจัดอุปสรรคทั้งหลายและทำให้ชาวยิวมีกำลังที่จะรุดหน้าต่อไปจนกระทั่งพระวิหารแล้วเสร็จ.
20. พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยชาวยิวอย่างไรในการทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ?
20 ปัญหาอีกอย่างหนึ่งซึ่งดูราวกับเป็นอุปสรรคขัดขวางซะคาระยา 4:7, ฉบับแปลใหม่) และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ! กษัตริย์ดาระยาศที่ 1 ทรงตรวจสอบและพบบันทึกของไซรัสที่อนุญาตให้ชาวยิวสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. ดังนั้น ดาระยาศเพิกถอนคำสั่งห้ามและโปรดให้มอบเงินจากท้องพระคลังแก่ชาวยิวเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในงานนี้. เหตุการณ์พลิกผันอย่างน่าพิศวงอะไรอย่างนี้! พระวิญญาณของพระเจ้ามีบทบาทในเรื่องนี้ไหม? เราแน่ใจได้เลยว่าเป็นเช่นนั้น. พระวิหารแล้วเสร็จในปี 515 ก่อน ส.ศ. ในปีที่หกแห่งรัชกาลกษัตริย์ดาระยาศที่ 1.—เอษรา 6:1, 15.
ที่ไม่อาจก้าวข้ามไปได้มาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจสั่งห้ามงานนี้. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าอุปสรรคที่ใหญ่โตราวกับ “ภูเขา” นี้จะถูกขจัดออกไปและกลายเป็น “ที่ราบ.” (21. (ก) ในสมัยโน้น พระเจ้า “เขย่าชาติทั้งปวง” อย่างไร และ “สิ่งน่าปรารถนา” ออกมาอย่างไร? (ข) ความสำเร็จเป็นจริงในสมัยปัจจุบันเป็นเช่นไร?
21 ที่ฮาฆี 2:5 ผู้พยากรณ์เตือนชาวยิวให้ระลึกถึงสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับพวกเขาที่ภูเขาไซนายเมื่อ “ภูเขานั้นก็สะเทื้อนหวั่นไหวไปหมด.” (เอ็กโซโด 19:18) ในสมัยของฮาฆีและซะคาระยา พระยะโฮวากำลังจะทำให้เกิดการสะเทือนหวั่นไหวอีกครั้งหนึ่ง ดังคำพรรณนาเชิงอุปมาอุปไมยในข้อ 6 และ 7 (ล.ม.). สถานการณ์ในจักรวรรดิเปอร์เซียจะปั่นป่วนวุ่นวาย แต่งานสร้างพระวิหารจะดำเนินต่อไปจนสำเร็จ. “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” ซึ่งก็คือคนที่ไม่ใช่ชาวยิว ในที่สุดจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าร่วมกับชาวยิวในสถานนมัสการนั้น. ในความสำเร็จครั้งใหญ่ในสมัยของเรา พระเจ้าได้ “เขย่าชาติทั้งปวง” ด้วยการประกาศของเราในฐานะคริสเตียน และ “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” ได้เข้ามานมัสการพระเจ้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิม. จริงทีเดียว บัดนี้ชนผู้ถูกเจิมและแกะอื่นกำลังทำให้พระนิเวศของพระยะโฮวาเต็มด้วยสง่าราศี. ผู้นมัสการแท้เหล่านั้นคอยท่าด้วยความเชื่อให้ถึงเวลาที่พระยะโฮวาจะ “เขย่าฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง. พระองค์จะทรงทำอย่างนั้นเพื่อโค่นล้มและทำลายกองกำลังของอาณาจักรแห่งชาติทั้งหลาย.—ฮาฆี 2:22.
22. ชาติต่าง ๆ กำลังถูก “เขย่า” อย่างไร พร้อมด้วยผลเช่นไร และยังจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก?
22 เราได้รับการเตือนให้นึกถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นในองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งได้ให้ภาพไว้ว่าเป็น “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกและทะเลและพื้นดินแห้ง.” ประการหนึ่งนั้น ซาตานพญามารและเหล่าบริวารได้ถูกเหวี่ยงลงมายังบริเวณแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 12:7-12) นอกจากนั้น การประกาศซึ่งชนผู้ถูกเจิมของพระเจ้าเป็นกลุ่มนำได้เขย่าองค์ประกอบต่าง ๆ ของสังคมมนุษย์ในระบบนี้แล้วอย่างแน่นอน. (วิวรณ์ 11:18) แม้กระนั้น “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งเป็นสิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงได้เข้าร่วมสมทบกับอิสราเอลฝ่ายวิญญาณในการรับใช้พระยะโฮวา. (วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.) ชนฝูงใหญ่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคริสเตียนผู้ถูกเจิมในการประกาศข่าวดีที่ว่าอีกไม่ช้าพระเจ้าจะทรงเขย่านานาชาติ ณ อาร์มาเก็ดดอน. เหตุการณ์นั้นจะเปิดทางไว้เพื่อให้การนมัสการแท้ถูกนำเข้าสู่สภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั่วทั้งแผ่นดินโลก.
คุณจำได้ไหม?
• ฮาฆีและซะคาระยารับใช้เมื่อไรและภายใต้สถานการณ์เช่นไร?
• คุณสามารถใช้ข่าวสารที่ฮาฆีและซะคาระยาถ่ายทอดได้อย่างไร?
• เหตุใดคุณจึงพบว่าซะคาระยา 4:6 นั้นให้กำลังใจ?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 20]
ข้อเขียนของฮาฆีและซะคาระยาทำให้เรามั่นใจในความช่วยเหลือจากพระเจ้า
[ภาพหน้า 23]
“ถึงเวลาแล้วหรือที่ตัวเจ้าเองอาศัยอยู่ในบ้านที่มีไม้บุ แต่ส่วนพระนิเวศนี้ทิ้งให้พังทลาย?”
[ภาพหน้า 24]
ประชาชนของพระยะโฮวามีส่วนร่วมในการเข้าถึง ‘ผู้คนที่น่าปรารถนาแห่งชาติทั้งหลาย’