ผู้บำรุงเลี้ยงที่เป็น “แบบอย่างแก่ฝูงแกะ”
ผู้บำรุงเลี้ยงที่เป็น “แบบอย่างแก่ฝูงแกะ”
“จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกท่าน . . . ด้วยความเต็มใจ . . . ด้วยใจกระตือรือร้น . . . เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะนั้น.”—1 เปโตร 5:2, 3 (ฉบับแปล 2002).
1, 2. (ก) พระเยซูทรงแสดงความไว้ใจอัครสาวกเปโตรโดยให้สิทธิพิเศษอะไรแก่ท่าน และเหตุใดความเชื่อมั่นของพระเยซูจึงมีเหตุผลสมควร? (ข) พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับผู้บำรุงเลี้ยงที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง?
ก่อนวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 เล็กน้อย เปโตรกับเหล่าสาวกอีกหกคนกำลังรับประทานอาหารเช้าที่พระเยซูทรงจัดให้ ณ ริมฝั่งทะเลแกลิลี. นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เปโตรพบพระเยซูหลังจากที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านรู้สึกปลาบปลื้มที่ทราบว่าพระเยซูทรงพระชนม์อยู่. แต่เปโตรอาจรู้สึกกังวลใจด้วย. ทั้งนี้เพราะเพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ท่านเพิ่งกล่าวปฏิเสธกับหลายคนว่าไม่เคยรู้จักพระเยซู. (ลูกา 22:55-60; 24:34; โยฮัน 18:25-27; 21:1-14) พระเยซูทรงตำหนิเปโตรผู้กลับใจแล้วในเรื่องที่ท่านขาดความเชื่อไหม? เปล่าเลย. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์ทรงแสดงความไว้ใจเปโตรโดยมอบสิทธิพิเศษแก่ท่านให้เลี้ยงและดูแล “แกะเล็ก ๆ” ของพระองค์. (โยฮัน 21:15-17, ล.ม.) ดังเห็นได้จากบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับประวัติของประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรก พระเยซูไม่ได้ไว้ใจผิดคน. โดยร่วมกับอัครสาวกคนอื่น ๆ และพวกผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลม เปโตรได้บำรุงเลี้ยงประชาคมคริสเตียนจริง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายตลอดช่วงที่มีการทดลองอย่างแสนสาหัสและมีการแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว.—กิจการ 1:15-26; 2:14; 15:6-9.
2 ปัจจุบัน พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งชายที่มีคุณวุฒิโดยทางพระเยซูคริสต์ให้รับใช้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณเพื่อจะนำแกะของพระองค์ให้ผ่านพ้นช่วงอันวิกฤติที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์. (เอเฟโซ 4:11, 12; 2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงมีเหตุผลที่ดีไหมที่เชื่อมั่นชายเหล่านี้? ภราดรภาพในหมู่คริสเตียนอันเปี่ยมด้วยสันติสุขที่มีอยู่ตลอดทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น. จริงอยู่ ผู้บำรุงเลี้ยงเหล่านี้เป็นมนุษย์ที่อาจพลาดพลั้งได้ เช่นเดียวกับเปโตร. (ฆะลาเตีย 2:11-14; ยาโกโบ 3:2) ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงเชื่อใจพวกเขาให้ดูแลแกะที่ “ทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตแห่งพระบุตรของพระองค์เอง.” (กิจการ 20:28, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงมีความรักใคร่อย่างลึกซึ้งต่อชายเหล่านี้ ถือว่าพวกเขา “สมควรจะได้เกียรติยศสองเท่า.”—1 ติโมเธียว 5:17.
3. ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณรักษาน้ำใจที่กระตือรือร้นและเต็มใจโดยวิธีใด?
3 ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณรักษาน้ำใจที่กระตือรือร้นและเต็มใจโดยวิธีใดเพื่อจะเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ? เช่นเดียวกับเปโตรและผู้บำรุงเลี้ยงคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรก พวกเขาไว้วางใจในพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าซึ่งให้กำลังที่จำเป็นแก่พวกเขาเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบของตน. (2 โกรินโธ 4:7) พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังก่อให้เกิดผลพระวิญญาณในพวกเขาด้วย อันได้แก่ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, และการควบคุมตนเอง. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ให้เรามาพิจารณากันอย่างเจาะจงในบางแง่ที่ผู้บำรุงเลี้ยงอาจวางแบบอย่างในการแสดงผลพระวิญญาณขณะที่พวกเขาบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าในความอารักขาของพวกเขา.
รักแกะทั้งฝูงและเป็นรายตัว
4, 5. (ก) พระยะโฮวาและพระเยซูแสดงความรักต่อฝูงแกะอย่างไร? (ข) ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณแสดงความรักต่อฝูงแกะในทางใดบ้าง?
4 คุณลักษณะที่เด่นที่สุดในผลพระวิญญาณของพระเจ้าคือความรัก. พระยะโฮวาทรงแสดงความรักต่อฝูงแกะโดยรวมทั้งหมดเมื่อพระองค์ทรงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์ให้ฝูงแกะ. (ยะซายา 65:13, 14; มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) กระนั้น พระองค์ทรงทำมากกว่าแค่ให้อาหารแก่ฝูงแกะ. พระองค์ทรงรู้สึกผูกพันเป็นส่วนตัวกับแกะแต่ละตัว. (1 เปโตร 5:6, 7) พระเยซูก็ทรงรักฝูงแกะด้วย. พระองค์ทรงสละจิตวิญญาณของพระองค์เพื่อประโยชน์ของฝูงแกะ และพระองค์ทรงรู้จักและเรียกแกะ “ตามชื่อ” ของแกะแต่ละตัว.—โยฮัน 10:3, 14-16.
5 ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณเลียนแบบพระยะโฮวาและพระเยซู. พวกเขาแสดงความรักต่อฝูงแกะของพระเจ้าทั้งหมดโดย ‘เอาใจใส่ในการสอน’ ประชาคม. คำบรรยายของพวกเขาซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักช่วยให้ฝูงแกะได้รับอาหารและการปกป้อง และงานหนักของพวกเขาในด้านนี้ทุกคนสามารถเห็นได้ชัด. (1 ติโมเธียว 4:13, 16) แต่ที่ไม่ค่อยจะเห็นได้ชัดนักคือเวลาที่พวกเขาใช้ไปในการเก็บบันทึกของประชาคม, การรับและตอบจดหมาย, การกำหนดตารางเวลา, และการเอาใจใส่รายละเอียดอื่น ๆ อีกหลายอย่างเพื่อทำให้แน่ใจว่าการประชุมประชาคมและกิจกรรมอื่น ๆ จะทำกัน “อย่างที่ถูกที่ควรและเป็นไปตามระเบียบ.” (1 โกรินโธ 14:40, ล.ม.) งานเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำต่อหน้าประชาคม และอาจมีไม่กี่คนที่สังเกตเห็นและแสดงความหยั่งรู้ค่า. นั่นเป็นงานที่ทำด้วยความรักอย่างแท้จริง.—ฆะลาเตีย 5:13.
6, 7. (ก) วิธีหนึ่งที่ผู้บำรุงเลี้ยงจะทำความรู้จักคุ้นเคยกับแกะให้ดีขึ้นคืออะไร? (ข) เหตุใดบางครั้งจึงเป็นประโยชน์ที่จะเผยความรู้สึกของเรากับผู้ปกครอง?
6 คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรักพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงความสนใจเป็นส่วนตัวต่อแกะที่อยู่ในประชาคมเป็นรายตัว. (ฟิลิปปอย 2:4) วิธีหนึ่งที่ผู้บำรุงเลี้ยงทำความรู้จักคุ้นเคยกับแกะแต่ละรายให้ดีขึ้นก็คือโดยการทำงานด้วยกันกับพวกเขาในการประกาศ. พระเยซูมัก พาเหล่าสาวกไปด้วยกันกับพระองค์ในงานประกาศและใช้โอกาสนั้นเพื่อหนุนใจพวกเขา. (ลูกา 8:1) คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสบการณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “ผมพบว่าวิธีหนึ่งที่ดีมากในการทำความรู้จักและหนุนใจพี่น้องชายหญิงคือการทำงานกับพวกเขาในงานประกาศ.” หากในช่วงหลังนี้คุณยังไม่มีโอกาสได้ทำงานกับผู้ปกครองในการรับใช้ที่เขตประกาศ ก็คงดีที่จะวางแผนทำอย่างนั้นในเร็ว ๆ นี้.
7 ความรักกระตุ้นพระเยซูให้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเหล่าสาวก. ตัวอย่างเช่น เมื่อเหล่าสาวก 70 คนกลับมาด้วยความยินดีจากการประกาศ พระเยซู “ทรงยินดียิ่ง.” (ลูกา 10:17-21, ล.ม.) แต่เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าความตายของลาซะโรมีผลกระทบอย่างไรต่อมาเรียและสมาชิกในครอบครัวรวมไปถึงเพื่อน ๆ “พระเยซูก็กันแสง.” (โยฮัน 11:33-35) เช่นเดียวกัน ผู้บำรุงเลี้ยงที่เอื้ออาทรในปัจจุบันก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อความรู้สึกของแกะ. ความรักกระตุ้นเขาให้ “มีใจยินดีด้วยกันกับผู้ที่มีความยินดี” และ “ร้องไห้ด้วยกันกับผู้ที่ร้องไห้.” (โรม 12:15) หากคุณประสบความยินดีหรือความโศกเศร้าในชีวิต ก็อย่ารีรอที่จะเผยความรู้สึกกับคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยง. การได้ยินได้ฟังเรื่องที่ทำให้คุณยินดีจะหนุนใจพวกเขา. (โรม 1:11, 12) เมื่อทราบถึงปัญหาที่คุณประสบอยู่ก็จะทำให้เขาสามารถเสริมกำลังและปลอบโยนคุณได้.—1 เธซะโลนิเก 1:6; 3:1-3.
8, 9. (ก) ผู้ปกครองคนหนึ่งได้แสดงความรักต่อภรรยาอย่างไร? (ข) การที่ผู้บำรุงเลี้ยงแสดงความรักต่อครอบครัวนั้นสำคัญอย่างไร?
8 ความรักที่ผู้บำรุงเลี้ยงมีต่อฝูงแกะเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิธีที่เขาปฏิบัติต่อครอบครัวของเขาเอง. (1 ติโมเธียว 3:1, 4) หากเขาสมรสแล้ว ความรักและความนับถือที่เขาแสดงต่อภรรยาเป็นตัวอย่างที่สามีคนอื่น ๆ จะเลียนแบบได้. (เอเฟโซ 5:25; 1 เปโตร 3:7) ขอพิจารณาความเห็นของสตรีคริสเตียนคนหนึ่งชื่อลินดา. สามีของเธอรับใช้เป็นผู้ดูแลนานกว่า 20 ปีก่อนเขาจะเสียชีวิตไป. เธอบอกว่า “สามีดิฉันมีงานยุ่งอยู่เสมอในการดูแลเอาใจใส่ประชาคม. แต่เขาทำให้ดิฉันรู้สึกว่าเราทำงานเป็นทีม. เขาแสดงความหยั่งรู้ค่าอยู่บ่อย ๆ สำหรับการสนับสนุนของดิฉัน และใช้เวลาอยู่กับดิฉันเมื่อไม่ได้ทำงานประชาคม. เพราะอย่างนี้ ดิฉันจึงรู้สึกว่าเขารักดิฉันและไม่รู้สึกอิจฉาที่เขาใช้เวลามากในการรับใช้ประชาคม.”
9 หากคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงมีลูก วิธีที่เขาตีสอนด้วยความรักและชมเชยลูกที่ยังเล็กเป็นประจำก็เป็นแบบอย่างที่บิดามารดาคนอื่น ๆ จะทำตามได้. (เอเฟโซ 6:4) ที่จริง ความรักที่เขาแสดงต่อครอบครัวเป็นการให้หลักฐานต่อ ๆ ไปว่าเขาคู่ควรกับความไว้วางใจที่ได้มอบไว้กับเขาเมื่อรับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.—1 ติโมเธียว 3:4, 5.
ส่งเสริมความยินดีและสันติสุขโดยการสื่อความ
10. (ก) อะไรอาจส่งผลในทางลบต่อความยินดีและสันติสุขของประชาคม? (ข) ประเด็นอะไรที่คุกคามสันติสุขของประชาคมในศตวรรษแรก และประเด็นนั้นได้รับการจัดการให้เรียบร้อยอย่างไร?
10 พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถก่อให้เกิดความยินดีและสันติสุขในหัวใจคริสเตียนแต่ละคน, ในคณะผู้ปกครอง, และทั้งประชาคม. อย่างไรก็ตาม หากขาดการสื่อความกันอย่างจริงใจก็อาจส่งผลในทางลบต่อความยินดีและสันติสุขนี้ได้. ซะโลโมให้ข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ครั้งโบราณแล้วว่า “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) ในทางตรงกันข้าม การสื่อความแบบที่จริงใจและให้ความนับถือส่งเสริมความยินดีและสันติสุข. ตัวอย่างเช่น เมื่อประเด็นเรื่องการรับสุหนัตมีทีท่าว่าจะทำลายสันติสุขของประชาคมในศตวรรษแรก คณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเลมแสวงหาการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. พวกเขายังได้แสดงทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ด้วย. หลังจากพิจารณาประเด็นนี้อย่างมีชีวิตชีวากันมากแล้ว พวกเขาก็ได้ข้อตัดสิน. เมื่อพวกเขาส่งคำตัดสินที่เป็นเอกฉันท์นี้ไปยังประชาคมต่าง ๆ พี่น้อง “ต่างก็มีความยินดี, เพราะทำให้มีน้ำใจขึ้น.” (กิจการ 15:6-23, 25, 31; 16:4, 5) การสื่อความกันอย่างนั้นส่งเสริมความยินดีและสันติสุข.
11. ผู้ปกครองจะส่งเสริมความยินดีและสันติสุขในประชาคมได้อย่างไร?
11 ทำนองเดียวกันในปัจจุบัน ผู้บำรุงเลี้ยงส่งเสริมความยินดีและสันติสุขในประชาคมโดยการเป็นผู้สื่อความที่ดี. เมื่อมีปัญหาที่อาจบ่อนทำลายสันติสุขของประชาคม พวกเขาจะประชุมกันและเปิดเผยความรู้สึกกันอย่างตรงไปตรงมา. พวกเขารับฟังความเห็นของเพื่อนผู้บำรุงเลี้ยงด้วยความนับถือ. (สุภาษิต 13:10; 18:13) หลังจากอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขาก็จะทำการตัดสินใจโดยใช้ หลักการในคัมภีร์ไบเบิลและคำแนะนำที่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้จัดพิมพ์ไว้. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.; 1 โกรินโธ 4:6) เมื่อคณะผู้ปกครองได้ทำการตัดสินใจอย่างรอบคอบตามหลักพระคัมภีร์แล้ว ผู้ปกครองแต่ละคนก็จะยอมตามการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยสนับสนุนการตัดสินใจนั้นแม้แต่ในกรณีที่ความเห็นส่วนตัวของเขาไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่. ความถ่อมเช่นนั้นส่งเสริมความยินดีและสันติสุข อีกทั้งวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับแกะทั้งหลายในเรื่องวิธีดำเนินกับพระเจ้า. (มีคา 6:8) คุณให้ความร่วมมืออย่างถ่อมใจกับการตัดสินใจซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักของผู้บำรุงเลี้ยงในประชาคมไหม?
อดกลั้นไว้นานและกรุณา
12. เหตุใดพระเยซูจึงจำเป็นต้องแสดงความอดกลั้นไว้นานและความกรุณาในการปฏิบัติต่อเหล่าอัครสาวก?
12 พระเยซูทรงอดกลั้นไว้นานและกรุณาในการปฏิบัติต่อเหล่าอัครสาวก แม้ว่าพวกเขาผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก. ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงพยายามเน้นกับพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องความจำเป็นที่จะถ่อมใจ. (มัดธาย 18:1-4; 20:25-27) ถึงกระนั้น ในคืนสุดท้ายของชีวิตพระเยซูบนแผ่นดินโลก หลังจากเพิ่งให้บทเรียนแก่พวกเขาในเรื่องความถ่อมด้วยการล้างเท้าพวกเขา “มีการเถียงกันในพวกเขาว่าใครจะนับว่าเป็นใหญ่.” (ลูกา 22:24; โยฮัน 13:1-5) พระเยซูทรงตำหนิเหล่าอัครสาวกไหม? ไม่ พระองค์ทรงหาเหตุผลกับพวกเขาอย่างกรุณาโดยบอกว่า “ใครเป็นใหญ่กว่า, ผู้ที่นั่งโต๊ะหรือผู้รับใช้, ผู้ที่นั่งโต๊ะมิใช่หรือ แต่ว่าเราอยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลายเหมือนผู้รับใช้.” (ลูกา 22:27) ความอดกลั้นไว้นานและความกรุณาของพระเยซู พร้อมกับตัวอย่างที่ดีของพระองค์ กระทบใจของเหล่าอัครสาวกในที่สุด.
13, 14. ผู้บำรุงเลี้ยงต้องแสดงความกรุณาเป็นพิเศษเมื่อไร?
13 คล้ายกัน ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณอาจจำเป็นต้องให้คำแนะนำซ้ำแล้วซ้ำอีกแก่บางคนเกี่ยวกับข้อบกพร่องบางอย่าง. ผู้บำรุงเลี้ยงอาจเริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับคนนั้น. อย่างไรก็ตาม หากเขาระลึกไว้เสมอถึงข้อบกพร่องของเขาเองขณะที่ “กล่าวเตือนสติคนที่เกะกะ” เขาก็จะสามารถแสดงความอดกลั้นไว้นานและความกรุณาต่อพี่น้อง. โดยวิธีนั้น เขาเลียนแบบพระเยซูและพระยะโฮวาผู้ทรงแสดงคุณลักษณะดังกล่าวต่อคริสเตียนทั้งสิ้น รวมทั้งผู้บำรุงเลี้ยงด้วย.—1 เธซะโลนิเก 5:14; ยาโกโบ 2:13.
14 บางครั้ง ผู้บำรุงเลี้ยงอาจจำเป็นต้องพูดแรง ๆ เมื่อให้คำแนะนำแก่คนที่ทำผิดร้ายแรง. หากคนนั้นไม่กลับใจ ผู้บำรุงเลี้ยงก็ต้องขับคนทำผิดนั้นออกไปจากประชาคม. (1 โกรินโธ 5:11-13) แม้กระนั้น ท่าทีที่พวกเขาปฏิบัติต่อคนนั้นจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเกลียดบาปที่คนนั้นทำ ไม่ใช่ตัวบุคคล. (ยูดา 23) ท่าทีที่กรุณาของผู้บำรุงเลี้ยงอาจทำให้ง่ายขึ้นที่แกะผู้หลงผิดจะกลับคืนสู่คอกในที่สุด.—ลูกา 15:11-24.
ความเชื่อกระตุ้นให้กระทำการดี
15. วิธีหนึ่งที่ผู้บำรุงเลี้ยงเลียนแบบความดีของพระยะโฮวาคืออะไร และอะไรกระตุ้นพวกเขาให้ทำอย่างนั้น?
15 “พระยะโฮวาทรงดีต่อทุกคน” แม้แต่คนที่ไม่หยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 145:9, ล.ม.; มัดธาย 5:45) ความดีของพระยะโฮวาเห็นได้ชัดเป็นพิเศษจากการที่พระองค์ทรงส่งประชาชนของพระองค์ออกไปประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ผู้บำรุงเลี้ยงสะท้อนความดีของพระเจ้าโดยนำหน้าในงานประกาศนี้. อะไรกระตุ้นพวกเขาให้พยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย? ความเชื่อที่มั่นคงในพระยะโฮวาและคำสัญญาของพระองค์นั่นเอง.—โรม 10:10, 13, 14.
16. ผู้บำรุงเลี้ยงอาจ “ทำการดี” ต่อแกะได้อย่างไร?
16 นอกเหนือจากการทำ “การดีต่อคนทั้งปวง” โดยการฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) วิธีหนึ่งที่พวกเขาทำอย่างนี้คือโดยการเยี่ยมบำรุงเลี้ยงที่หนุนใจ. ผู้ปกครองคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมชอบการเยี่ยมบำรุงเลี้ยงพี่น้อง. ในการเยี่ยมแบบนี้ ผมมีโอกาสที่จะชมเชยพี่น้องในเรื่องความพยายามของพวกเขาและช่วยพี่น้องให้ตระหนักว่างานหนักที่พวกเขาทำนั้นเป็นที่หยั่งรู้ค่า.” บางครั้ง ผู้บำรุงเลี้ยงอาจเสนอแนะวิธีที่บางคนสามารถปรับปรุงงานรับใช้ที่เขาทำถวายแด่พระยะโฮวา. ผู้บำรุงเลี้ยงที่ฉลาดสุขุมทำอย่างนั้น ซึ่งเป็นการเลียนแบบอัครสาวกเปาโล. ขอให้พิจารณาวิธีที่ท่านวิงวอนพี่น้องในเมืองเทสซาโลนิเก ที่ว่า “เรามีความไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าเนื่องด้วยท่านทั้งหลายว่า, ท่านกำลังประพฤติและจะประพฤติต่อไปตามที่เราได้กำชับท่านแล้ว.” (2 เธซะโลนิเก 3:4) คำพูดซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นเช่นนั้นจะดึงดูดแนวโน้มที่ดีในตัวแกะและทำให้ง่ายขึ้นที่พวกเขาจะ “เชื่อฟังผู้ที่นำหน้า.” (เฮ็บราย 13:17, ล.ม.) เมื่อพวกเขามาเยี่ยมเพื่อให้การบำรุงเลี้ยงที่หนุนใจแก่คุณ คุณน่าจะแสดงความขอบคุณสำหรับการเยี่ยมนั้นมิใช่หรือ?
ประกาศแล้ว ผู้บำรุงเลี้ยงยังมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะทำดี “โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่สัมพันธ์กับ [พวกเขา] ในความเชื่อ.” (เพื่อจะแสดงความอ่อนโยนต้องควบคุมตนเอง
17. เปโตรได้บทเรียนอะไรจากพระเยซู?
17 พระเยซูทรงมีพระทัยอ่อนโยน แม้แต่เมื่อพระองค์ทรงถูกยั่วยุ. (มัดธาย 11:29, ล.ม.) เมื่อพระองค์ถูกทรยศและถูกจับกุม พระเยซูทรงแสดงความอ่อนโยนและการควบคุมตนเองอย่างมาก. เปโตรชักดาบและตอบโต้อย่างหุนหัน. แต่พระเยซูทรงเตือนท่านว่า “ท่านถือว่าเราจะขอพระบิดาของเรา, และในประเดี๋ยวเดียวพระองค์จะทรงประทานทูตสวรรค์แก่เรากว่าสิบสองกองไม่ได้หรือ?” (มัดธาย 26:51-53; โยฮัน 18:10) เปโตรเข้าใจบทเรียนนี้เป็นอย่างดีและภายหลังท่านเตือนคริสเตียนให้ระลึกว่า “พระคริสต์ได้ทรงรับทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ให้เป็นแบบอย่างแก่ท่าน, เพื่อท่านจะได้ตามรอยพระบาทของพระองค์ . . . ครั้นเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์, พระองค์ไม่ได้กล่าวคำหยาบคายตอบแทนเลย เมื่อพระองค์ได้ทรงทนเอาการร้ายเช่นนั้น, พระองค์ไม่ได้ขู่ตวาด.”—1 เปโตร 2:21-23.
18, 19. (ก) ผู้บำรุงเลี้ยงต้องแสดงความอ่อนโยนและการควบคุมตนเองเป็นพิเศษเมื่อไร? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรกันต่อไป?
18 ในลักษณะเดียวกัน ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพเป็นคนอ่อนโยนแม้แต่เมื่อถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม. ตัวอย่างเช่น บางคนที่เขาพยายามช่วยในประชาคมอาจแสดงปฏิกิริยาที่ไม่ดี. หากคนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือนั้นอ่อนแอหรือป่วยฝ่ายวิญญาณ เขาอาจตอบโต้คำแนะนำที่ได้รับโดยใช้ ‘คำพูดพล่อย ๆ ซึ่งเหมือนการแทงของกระบี่.’ (สุภาษิต 12:18) อย่างไรก็ตาม ผู้บำรุงเลี้ยงทำเช่นเดียวกับพระเยซูคือไม่ตอบโต้ด้วยวาจาที่เจ็บแสบหรือทำบางอย่างเพื่อแก้แค้น. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาแสดงการเหนี่ยวรั้งตนและยังคงแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์สำหรับคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือนั้น. (1 เปโตร 3:8, 9, ล.ม.) คุณเรียนรู้จากตัวอย่างของผู้ปกครองโดยแสดงความอ่อนโยนและการควบคุมตนเองเมื่อได้รับคำแนะนำไหม?
19 ไม่ต้องสงสัย พระยะโฮวาและพระเยซูทรงหยั่งรู้ค่างานหนักของเหล่าผู้บำรุงเลี้ยงนับแสนที่เต็มใจเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะตลอดทั่วโลก. นอกจากนั้น พระยะโฮวาและพระบุตรทรงมีความรักใคร่อย่างลึกซึ้งต่อผู้ช่วยงานรับใช้อีกนับแสนที่สนับสนุนเหล่าผู้ปกครองในการ “ปรนนิบัติสิทธชน.” (เฮ็บราย 6:10) ในเมื่อเป็นอย่างนั้น เหตุใดพี่น้องชายบางคนจึงลังเลไม่อยากเอื้อมแขนสำหรับ “การงานอย่างดี” นี้? (1 ติโมเธียว 3:1) และพระยะโฮวาทรงฝึกคนที่พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงอย่างไร? เราจะพิจารณาคำถามดังกล่าวในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
• ผู้บำรุงเลี้ยงแสดงความรักต่อฝูงแกะในทางใดบ้าง?
• ทุกคนในประชาคมสามารถส่งเสริมความยินดีและสันติสุขได้อย่างไร?
• เหตุใดผู้บำรุงเลี้ยงจึงแสดงความอดกลั้นไว้นานและความกรุณาเมื่อให้คำแนะนำ?
• ผู้ปกครองแสดงความดีและความเชื่ออย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 18]
ความรักเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ผู้ปกครองรับใช้ประชาคม
[ภาพหน้า 18]
พวกเขาใช้เวลากับครอบครัวด้วยทั้งในการพักผ่อนหย่อนใจ . . .
. . . และในงานรับใช้
[ภาพหน้า 20]
การสื่อความที่ดีในหมู่ผู้ปกครองส่งเสริมความยินดีและสันติสุขในประชาคม