ความพยายามอย่างกล้าหาญเพื่อส่งเสริมการอ่านคัมภีร์ไบเบิล
ความพยายามอย่างกล้าหาญเพื่อส่งเสริมการอ่านคัมภีร์ไบเบิล
เขาสิ้นใจขณะอยู่ในเขตที่ราบอันหนาวเหน็บทางฝั่งตะวันออกของไซบีเรีย เขาถูกใส่ร้ายและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง. มีไม่กี่คนที่จำได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ส่งเสริมให้ชาวกรีกซึ่งเป็นชนร่วมชาติมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านศาสนา. ผู้บุกเบิกที่ถูกมองข้ามผู้นี้ชื่อเซราฟิม. ความพยายามอย่างกล้าหาญเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิต.
เซราฟิมมีชีวิตอยู่ในช่วงที่กรีซเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมาน. ตามที่จอร์จ เมทาลลิโนส ผู้คงแก่เรียนชาวกรีกออร์โทด็อกซ์กล่าวไว้ ยุคสมัยนั้นเป็นยุคที่ “ขาดแคลนโรงเรียนดี ๆ” และ “คนส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา” ซึ่งก็รวมกระทั่งพวกบาทหลวงด้วย.
ภาษาคีนี (ภาษากรีกแบบสามัญ) แตกต่างกันมากกับภาษาถิ่นซึ่งมีอยู่มากมาย. ความแตกต่างดังกล่าวยิ่งมีมากขึ้นถึงขนาดที่ผู้คนซึ่งไม่ได้เรียนหนังสือไม่สามารถเข้าใจภาษาคีนี ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการเขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกได้อีกต่อไป. เมื่อเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้ คริสตจักรเห็นชอบที่จะให้ใช้ภาษากรีกคีนีแม้จะเป็นภาษาที่ไม่สามารถเข้าใจได้.
ในสถานการณ์เช่นนี้เองที่สเตฟาโนส อีโออันนิส โพโกนาโทส ถือกำเนิดมาในครอบครัวที่มีชื่อเสียงบนเกาะเลสบอส ประเทศกรีซในปี 1670. ผู้คนส่วนใหญ่บนเกาะนี้มีฐานะยากจนและไม่รู้หนังสือ. เนื่องจากบนเกาะนั้นไม่มีโรงเรียน สเตฟาโนสจึงต้องเรียนขั้นพื้นฐานในอารามท้องถิ่น. เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยบาทหลวงของคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและได้รับชื่อว่าเซราฟิม.
ประมาณปี 1693 ความใฝ่รู้กระตุ้นเซราฟิมให้ไปที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบูล ตุรกี). ในเวลาต่อมา ความสามารถของเขาทำให้บุคคลที่มีชื่อเสียงชาวกรีกต่างก็ให้ความนับถือ. ไม่นาน กลุ่มรักชาติกลุ่มหนึ่งในกรีซซึ่งเป็นขบวนการใต้ดินได้ส่งเขาเป็นตัวแทนไปหาปีเตอร์มหาราช ซาร์แห่งรัสเซีย. การเดินทางไปและกลับจากมอสโกทำให้เซราฟิมมีโอกาสเดินทางเกือบทั่วยุโรป และได้เห็นกระแสแห่งการปฏิรูปศาสนาและการศึกษา. ในปี 1698 เซราฟิมเดินทางไปอังกฤษและมีโอกาสพบกับบุคคลต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเขาทั้งในลอนดอนและออกซฟอร์ด. เขาได้พบกับอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ประมุขแห่งคริสตจักรแองกลิกัน ซึ่งการพบปะกันครั้งนั้นส่งผลดีต่อเซราฟิมในเวลาต่อมา.
การพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล
ขณะอยู่ที่อังกฤษ เซราฟิมได้ข้อสรุปว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวกรีกจะต้องมี “ภาคพันธสัญญาใหม่” (พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก) ฉบับใหม่ที่เข้าใจง่าย. โดยอาศัยฉบับแปลที่ทำขึ้นมากกว่าห้าสิบปีก่อนโดยนักบวชแมกซิมุส เซราฟิมได้เริ่มที่จะทำฉบับแปลปรับปรุงใหม่ที่ไม่มีข้อผิดพลาดและเข้าใจง่าย. เขาเริ่มทำงานนี้อย่างกระตือรือร้น แต่ไม่ช้าเงินทุนของเขาก็หมด. เขามีความหวังขึ้นมาอีกเมื่ออาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีสัญญาจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน. เมื่อได้รับการสนับสนุนเช่นนั้น เซราฟิมจึงซื้อกระดาษพิมพ์และเจรจากับช่างพิมพ์.
อย่างไรก็ตาม เงินทุนที่ได้มานั้นพอแค่นำมาจ่ายเป็นค่าพิมพ์กิตติคุณมัดธาย, มาระโก, และครึ่งหนึ่งของกิตติคุณลูกาเท่านั้น. ครั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอังกฤษเป็นเหตุให้อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีไม่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินอีกต่อไป. เซราฟิมไม่ท้อถอย เขาขอความช่วยเหลือจากผู้อุปถัมภ์ที่มั่งคั่งบางคน และจัดพิมพ์ฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 1703. ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเพื่อการเผยแพร่กิตติคุณในภาษาต่างประเทศ.
ฉบับแปลชุดสองเล่มของแมกซิมุสที่ได้ออกก่อนหน้านั้นมีข้อความภาษากรีกดั้งเดิมรวมอยู่ด้วย. ฉบับแปลนี้ทั้งใหญ่และหนัก. ฉบับปรับปรุงใหม่ของเซราฟิมใช้ตัวอักษรเล็กกว่า, มีเฉพาะภาษากรีกสมัยใหม่, อีกทั้งบางกว่าและถูกกว่า.
กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง
ผู้คงแก่เรียนจอร์จ เมทาลลิโนส กล่าวว่า “แน่นอนว่า ฉบับปรับปรุงใหม่นี้เป็นที่ต้องการอย่างมาก. อย่างไรก็ตาม เซราฟิมฉวยโอกาสนี้โจมตีพวกบาทหลวงที่ต่อต้านการแปล [คัมภีร์ไบเบิล].” พวกบาทหลวงโกรธมากเมื่อเซราฟิมเขียนในคำนำว่า เขาผลิตฉบับแปลนี้ ‘เพื่อเห็นแก่บาทหลวงบางคนที่ไม่เข้าใจภาษากรีก [คีนี] เพื่อว่าด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สุด พวกเขาจะอ่านและเข้าใจข้อความดั้งเดิม เพื่อจะถ่ายทอดให้กับคริสเตียนทั่วไป.’ (การแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษากรีกสมัยใหม่—ระหว่างศตวรรษที่ 19, ภาษาอังกฤษ) ด้วยเหตุนั้น เซราฟิมจึงตกเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งในคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์เกี่ยวกับการแปลคัมภีร์ไบเบิล.
ฝ่ายหนึ่งนั้นคือคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตระหนักว่าประชาชนจะเข้าใจศาสนาและศีลธรรมอย่างถ่องแท้ก็โดยการเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขารู้สึกเช่นกันว่าพวกบาทหลวงเองต้องพัฒนาความรู้ในพระคัมภีร์ให้ดีขึ้น. นอกจากนั้น กลุ่มคนที่สนับสนุนให้แปลคัมภีร์ไบเบิลเชื่อว่าความจริงในพระคัมภีร์สามารถถ่ายทอดออกมาในภาษาใดก็ได้.—วิวรณ์ 7:9.
ส่วนกลุ่มที่คัดค้านการแปลคัมภีร์ไบเบิลอ้างว่า การแปลคัมภีร์ไบเบิลใด ๆ ก็ตามจะทำให้เกิดการปลอมปนเนื้อหาและทำให้สิทธิอำนาจของคริสตจักรในการตีความและการตั้งหลักคำสอนเป็นโมฆะไป. แต่ที่จริงแล้ว พวกเขากลัวว่าพวกโปรเตสแตนต์จะใช้การแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนทางไปสู่การบุกรุกอำนาจของคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์. บาทหลวงหลายคนคิดว่า พวกเขามีหน้าที่ขัดขวางแนวโน้มใด ๆ ที่อาจทำให้มีการเห็นใจพวกโปรเตสแตนต์ ซึ่งรวมถึงความพยายามที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น การแปลคัมภีร์ไบเบิลจึงเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุดระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์กับออร์โทด็อกซ์.
แม้ว่าเซราฟิมไม่มีแนวโน้มที่จะเลิกนับถือนิกายออร์โทด็อกซ์ แต่เขาก็กล้าเปิดโปงความไม่รู้และอคติของพวกบาทหลวงที่เป็นปฏิปักษ์กับเขา. เขาเขียนในคำนำของ “ภาคพันธสัญญาใหม่” ว่า “คริสเตียนทุกคนที่เกรงกลัวพระเจ้าต้องอ่านพระคัมภีร์บริสุทธิ์” เพื่อจะ “เป็นผู้เลียนแบบพระคริสต์และเชื่อฟังคำสอน [ของพระองค์].” เซราฟิมยืนยันว่า การสั่งห้ามผู้คนศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นความคิดของพญามาร.
คลื่นแห่งการต่อต้าน
เมื่อฉบับแปลของเซราฟิมไปถึงกรีซ คริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ไม่พอใจอย่างมาก. ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ถูกสั่งห้าม. หลายเล่มถูกนำมาเผา และมีการขู่ว่าใครก็ตามที่เป็นเจ้าของหรืออ่านจะถูกไล่ออกจากศาสนา. อัครบิดรกาเบรียลที่ 3 สั่งระงับการแจกจ่ายฉบับแปลของเซราฟิมโดยอ้างว่าฉบับแปลนี้ไม่มีความจำเป็นและไร้ประโยชน์.
แม้เซราฟิมไม่หมดหวัง แต่เขาก็สำนึกถึงความจำเป็นที่ต้องระวังตัวมากขึ้น. ถึงแม้ว่าคริสตจักรจะสั่งห้ามอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีบาทหลวงและสามัญชนจำนวนหนึ่งยินดีใช้ฉบับแปลของเขา. เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลนี้. กระนั้น ความขัดแย้งระหว่างเซราฟิมกับปรปักษ์ที่ทรงอิทธิพลไม่จบง่าย ๆ แค่นี้.
ปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่จุดจบ
นอกจากจะสนับสนุนการแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เซราฟิมยังเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการปฏิรูปและกลุ่มรักชาติด้วย. เพื่อสนับสนุนขบวนการเหล่านี้ เขากลับไปที่มอสโกในฤดูร้อนปี 1704. เขากลายเป็นคนสนิทของปีเตอร์มหาราชและเป็นศาสตราจารย์ที่ราชวิทยาลัยรัสเซียช่วงหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นห่วงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับฉบับแปลของเขา เซราฟิมจึงเดินทางกลับไปที่คอนสแตนติโนเปิลในปี 1705.
เมื่อจัดพิมพ์ฉบับแปลนี้อีกในปีเดียวกัน เซราฟิมตัดคำนำที่สร้างความไม่พอใจที่มีอยู่ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกออกไป. เขาเพิ่มเติมคำนำที่เรียบง่ายซึ่งสนับสนุนให้ผู้คนอ่านคัมภีร์ไบเบิล. มีการแจกจ่ายฉบับพิมพ์ใหม่นี้ไปทั่ว และไม่มีบันทึกใด ๆ ที่แสดงว่าอัครบิดรแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน.
กระนั้น ในปี 1714 อะเล็กซานเดอร์ เฮลลาดิอุส นักเดินทางชาวกรีกและผู้ต่อต้านการแปลคัมภีร์ไบเบิล เป็นผู้จุดชนวนให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมา. เขาเขียนหนังสือชื่อสถานะปัจจุบันของคริสตจักรกรีก (ภาษากรีก) เพื่อโจมตีเหล่าผู้แปลและการแปลคัมภีร์ไบเบิล. เฮลลาดิอุสได้สละหน้ากระดาษถึงหนึ่งบทเต็ม ๆ เพื่อเขียนเกี่ยวกับเซราฟิมโดยกล่าวหาว่า เซราฟิมเป็นหัวขโมย, โกหกหลอกลวง, ไม่รู้หนังสือ, และคดโกงอย่างไร้ศีลธรรม. ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นความจริงบ้างไหม? สตีเลียโนส ไบรัคทาริส นักประพันธ์กล่าวถึงความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือของผู้คงแก่เรียนหลายคนเมื่อเขาเรียกเซราฟิมว่า ‘คนขยันและผู้บุกเบิกที่รอบรู้’ ผู้ซึ่งถูกเล่นงานเนื่องจากเขารู้มากกว่าคนในรุ่นเดียวกัน. กระนั้น หนังสือของเฮลลาดิอุสก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เซราฟิมพบจุดจบอันน่าเศร้า.
ตกเป็นผู้ต้องสงสัย
ตอนที่เซราฟิมกลับไปรัสเซียในปี 1731 ปีเตอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ไปแล้ว. ดังนั้น ผู้ช่วยบาทหลวงชาวกรีกผู้นี้จึงขาดผู้มีอำนาจที่คอยปกป้อง. จักรพรรดินีแอนนา อิวานอฟนาขึ้นครองราชย์เป็นองค์ถัดมา แต่พระนางก็ระแวงทุกสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในอาณาเขตที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระนาง. ในเดือนมกราคม 1732 มีข่าวลือในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กว่ามีสายลับชาวกรีกคนหนึ่งกำลังทำสิ่งที่ขัดต่อผลประโยชน์ของจักรวรรดิ. เซราฟิมตกเป็นผู้ต้องสงสัย. เขาถูกจับกุมและถูกส่งไปที่อารามเนฟสกีเพื่อไต่สวน. อารามแห่งนั้นมีหนังสือของเฮลลาดิอุส ซึ่งกล่าวหาว่าเซราฟิมทำความผิดร้ายแรงหลายอย่าง. เซราฟิมเขียนข้อคัดค้านสามฉบับเพื่อพยายามแก้ต่างให้ตนเอง. การสอบสวนใช้เวลาถึงห้าเดือน และเซราฟิมก็ไม่อาจทำให้ตัวเองพ้นจากความระแวงสงสัยไปได้.
เนื่องจากไม่มีการเสนอหลักฐานจริงที่จะเอาผิดเซราฟิม เขาจึงไม่ถูกลงโทษประหารชีวิต. แต่เพราะข้อกล่าวหาของเฮลลาดิอุส พวกเจ้าหน้าที่จึงไม่เต็มใจที่จะปล่อยเซราฟิมไป. ผู้ช่วยบาทหลวงชาวกรีกผู้นี้จึงถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่ไซบีเรียตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ. คำตัดสินของคณะลูกขุนกล่าวว่า คำฟ้องอาศัยข้อกล่าวหาจาก “หนังสือที่เขียนโดยเฮลลาดิอุส นักประพันธ์ชาวกรีก.” ในเดือนกรกฎาคมปี 1732 เซราฟิมจึงถูกใส่ตรวนและถูกส่งไปที่คุกโอคอตสค์ที่เลวร้ายทางภาคตะวันออกของไซบีเรีย.
ประมาณสามปีต่อมา เซราฟิมเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ถูกทิ้งและถูกลืม. บางครั้ง การตัดสินใจและวิธีการของเซราฟิมมาจากแรงกระตุ้นที่ไม่ถูกต้องและไม่สุขุม แต่ฉบับแปลของเขาก็เป็นหนึ่งในฉบับแปลภาษากรีกสมัยใหม่หลายฉบับที่หาอ่านได้ในปัจจุบัน. * ในจำนวนคัมภีร์ไบเบิลภาษากรีกสมัยใหม่ที่เข้าใจง่ายก็มีพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ซึ่งมีในภาษาอื่น ๆ อีกหลายภาษาด้วยเช่นกัน. เรารู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาพระเจ้าสักเพียงไรที่ทรงปกปักรักษาพระคำของพระองค์เพื่อผู้คนทุกหนแห่งจะมีโอกาส “บรรลุความรู้ถูกต้องเรื่องความจริง”!—1 ติโมเธียว 2:3, 4, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 26 ดู “ความบากบั่นเพื่อให้มีคัมภีร์ไบเบิลในภาษากรีกสมัยใหม่” ในหอสังเกตการณ์ 15 พฤศจิกายน 2002 หน้า 26-29.
[ภาพหน้า 12]
ปีเตอร์มหาราช
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Photos: Courtesy American Bible Society