ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด!”

“ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด!”

“ข้าพเจ้า​รัก​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระองค์​มาก​เพียง​ใด!”

“ข้าพเจ้า​รัก​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระองค์​มาก​เพียง​ใด! ข้าพเจ้า​คำนึง​ถึง​ตลอด​วัน.”—บทเพลง​สรรเสริญ 119:97, ล.ม.

1, 2. (ก) ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​บท 119 ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​เผชิญ​กับ​สถานการณ์​เช่น​ไร? (ข) ท่าน​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​บท 119 เผชิญ​การ​ทดลอง​อัน​สาหัส. ศัตรู​ผู้​ล่วง​ล้ำ​สิทธิ์​ซึ่ง​เพิกเฉย​ต่อ​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​เย้ย​หยัน​ท่าน​และ​ใส่​ร้าย​ป้าย​สี​ท่าน. พวก​เจ้า​ชาย​ปรึกษา​กัน​เพื่อ​ต่อ​สู้​และ​มุ่ง​ร้าย​ท่าน. คน​ชั่ว​มี​อยู่​รอบ​ด้าน และ​ชีวิต​ท่าน​ตก​อยู่​ใน​อันตราย. ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​ท่าน “นอน​ไม่​หลับ​เพราะ​ความ​เศร้า​โศก.” (บทเพลง​สรรเสริญ 119:9, 23, 28, ล.ม., 51, 61, 69, 85, 87, 161) แต่​แม้​ว่า​ต้อง​เผชิญ​การ​ทดลอง​ดัง​กล่าว ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ร้อง​เป็น​เพลง​ว่า “ข้าพเจ้า​รัก​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระองค์​มาก​เพียง​ใด! ข้าพเจ้า​คำนึง​ถึง​ตลอด​วัน.”—บทเพลง​สรรเสริญ 119:97, ล.ม.

2 เรา​อาจ​ถาม​ว่า “กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ให้​การ​ปลอบ​ใจ​แก่​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ได้​อย่าง​ไร?” ความ​เชื่อ​มั่น​ที่​ว่า​พระ​ยะโฮวา​สน​พระทัย​ใน​ตัว​ท่าน​นั่น​เอง​ที่​ช่วย​ค้ำจุน​ท่าน. การ​คุ้น​เคย​ดี​กับ​บทบัญญัติ​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ของ​กฎหมาย​นั้น​ทำ​ให้​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​มี​ความ​สุข แม้​พวก​ผู้​ต่อ​ต้าน​ท่าน​นำ​ความ​ทุกข์​ยาก​มาก​มาย​มา​สู่​ท่าน. ท่าน​สำนึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​ท่าน​ด้วย​ความ​กรุณา. นอก​จาก​นั้น การ​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​ชี้​แนะ​ใน​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ฉลาด​สุขุม​ยิ่ง​กว่า​เหล่า​ศัตรู​และ​ถึง​กับ​ช่วย​ท่าน​รักษา​ชีวิต​ให้​รอด​ด้วย​ซ้ำ. การ​เชื่อ​ฟัง​กฎหมาย​นั้น​ทำ​ให้​ท่าน​มี​สันติ​สุข​และ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​สะอาด.—บทเพลง​สรรเสริญ 119:1, 9, 65, 93, 98, 165.

3. เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​สำหรับ​คริสเตียน​ที่​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า​ใน​ปัจจุบัน?

3 ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​บาง​คน​ใน​ปัจจุบัน​ถูก​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​อย่าง​รุนแรง​ด้วย​เหมือน​กัน. เรา​อาจ​ไม่​ได้​เผชิญ​วิกฤติ​ถึง​ขนาด​ที่​คุกคาม​ชีวิต​เหมือน​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ แต่​เรา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน “วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ได้.” ผู้​คน​มาก​มาย​ที่​เรา​ติด​ต่อ​ด้วย​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน​ไม่​มี​ความ​รัก​ต่อ​ค่า​นิยม​ฝ่าย​วิญญาณ—เป้าหมาย​ของ​พวก​เขา​เป็น​แบบ​ที่​คิด​ถึง​แต่​ตัว​เอง​และ​มุ่ง​ใน​ด้าน​วัตถุ ท่าที​ของ​พวก​เขา​นั้น​หยิ่ง​ยโส​และ​ขาด​ความ​เคารพ. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) คริสเตียน​หนุ่ม​สาว​ต้อง​รับมือ​เป็น​ประจำ​กับ​หลาย​สิ่ง​ที่​ทดสอบ​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ด้าน​ศีลธรรม. ใน​สถานการณ์​แวด​ล้อม​เช่น​นั้น อาจ​นับ​ว่า​ยาก​ที่​จะ​รักษา​ความ​รัก​ของ​เรา​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต่อ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. เรา​จะ​ป้องกัน​ตัว​เรา​เอง​ได้​โดย​วิธี​ใด?

4. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ไร และ​คริสเตียน​ควร​ทำ​แบบ​เดียว​กัน​อย่าง​ไร?

4 สิ่ง​ที่​ช่วย​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ให้​รับมือ​กับ​ความ​กดดัน​ต่าง ๆ ได้​คือ​การ​ที่​ท่าน​กัน​เวลา​เอา​ไว้​โดย​เฉพาะ​เพื่อ​ศึกษา​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ถี่ถ้วน​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า. โดย​วิธี​นี้ ท่าน​จึง​รัก​กฎหมาย​นั้น. ที่​จริง แทบ​ทุก​ข้อ​ของ​เพลง​สรรเสริญ​บท 119 กล่าว​ถึง​แง่​มุม​บาง​อย่าง​ใน​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา. * คริสเตียน​ใน​ปัจจุบัน​ไม่​อยู่​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ที่​พระเจ้า​ประทาน​แก่​ชาติ​อิสราเอล​โบราณ. (โกโลซาย 2:14) อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลักการ​ที่​แฝง​อยู่​ใน​พระ​บัญญัติ​นั้น​ยัง​คง​มี​คุณค่า​อยู่​เสมอ. หลักการ​เหล่า​นี้​เป็น​สิ่ง​ที่​ปลอบโยน​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ และ​ให้​การ​ปลอบโยน​ได้​ด้วย​แก่​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ที่​กำลัง​ต่อ​สู้​เพื่อ​รับมือ​กับ​ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก​ใน​ชีวิต​สมัย​ปัจจุบัน.

5. เรา​จะ​พิจารณา​แง่​มุม​ใด​บ้าง​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ?

5 ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​เรา​สามารถ​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​เช่น​ไร​จาก​เพียง​สาม​แง่​มุม​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ที่​จะ​ยก​ขึ้น​มา​พิจารณา: การ​จัด​เตรียม​เกี่ยว​กับ​ซะบาโต, การ​จัด​เตรียม​ให้​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา, และ​พระ​บัญชา​ที่​ห้าม​ไม่​ให้​โลภ. ใน​แต่​ละ​กรณี เรา​จะ​พบ​ว่า​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​หลักการ​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​กฎหมาย​เหล่า​นี้​นับ​ว่า​สำคัญ​ยิ่ง​เพื่อ​เรา​จะ​รับมือ​ได้​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ทั้ง​หลาย​ใน​สมัย​ของ​เรา.

สนอง​ความ​จำเป็น​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา

6. ประชาชน​ทุก​คน​มี​ความ​จำเป็น​พื้น​ฐาน​อะไร?

6 มนุษยชาติ​ถูก​สร้าง​ให้​มี​ความ​จำเป็น​หลาย​ด้าน. ตัว​อย่าง​เช่น อาหาร, น้ำ, และ​ที่​พัก​อาศัย​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น​ต้อง​มี​เพื่อ​คน​เรา​จะ​มี​สุขภาพ​ร่าง​กาย​ที่​ดี. กระนั้น มนุษย์​เรา​ต้อง​ดู​แล “ความ​จำเป็น​ฝ่าย​วิญญาณ” ของ​ตน​ด้วย. เขา​จะ​ไม่​มี​ความ​สุข​อย่าง​แท้​จริง​หาก​ไม่​ดู​แล​ความ​จำเป็น​ใน​ด้าน​นี้. (มัดธาย 5:3, ล.ม.) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ถือ​ว่า​การ​สนอง​ความ​จำเป็น​ที่​มี​มา​แต่​กำเนิด​นี้​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​พระองค์​ทรง​มี​พระ​บัญชา​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​หยุด​การ​งาน​ตาม​ปกติ​ของ​ตน​หนึ่ง​วัน​เต็ม​ใน​แต่​ละ​สัปดาห์​เพื่อ​จะ​เอา​ใจ​ใส่​เรื่อง​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ.

7, 8. (ก) พระเจ้า​ทรง​ทำ​ให้​วัน​ซะบาโต​ต่าง​จาก​วัน​อื่น ๆ อย่าง​ไร? (ข) ซะบาโต​ตั้ง​ไว้​ด้วย​จุด​ประสงค์​อะไร?

7 การ​จัด​เตรียม​เกี่ยว​กับ​ซะบาโต​เน้น​ความ​สำคัญ​ของ​การ​ใช้​เวลา​ใน​การ​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​กับ​พระเจ้า. แห่ง​แรก​ที่​ปรากฏ​คำ “ซะบาโต” ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​จัด​เตรียม​ให้​มี​มานา​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร. ได้​มี​การ​แจ้ง​แก่​ชาว​อิสราเอล​ว่า​พวก​เขา​ควร​เก็บ​อาหาร​ที่​เกิด​ขึ้น​อย่าง​อัศจรรย์​นี้​ใน​หก​วัน. ใน​วัน​ที่​หก พวก​เขา​ต้อง​เก็บ “อาหาร​ให้​พอ​รับประทาน​สอง​วัน” เพราะ​ใน​วัน​ที่​เจ็ด​จะ​ไม่​โปรด​ให้​มี​มานา. วัน​ที่​เจ็ด​จะ​เป็น “ซะบาโต​วัน​บริสุทธิ์​แห่ง​พระ​ยะโฮวา” ซึ่ง​ใน​วัน​นั้น​แต่​ละ​คน​ควร​พัก​อยู่​ใน​ที่​ของ​ตน. (เอ็กโซโด 16:13-30) พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ​ข้อ​หนึ่ง​สั่ง​ไว้​ว่า​ห้าม​ทำ​งาน​ใน​วัน​ซะบาโต​เด็ดขาด. วัน​นี้​เป็น​วัน​ศักดิ์สิทธิ์. การ​ไม่​ปฏิบัติ​ตาม​กฎหมาย​ข้อ​นี้​มี​โทษ​ถึง​ตาย.—เอ็กโซโด 20:8-11; อาฤธโม 15:32-36.

8 กฎหมาย​ซะบาโต​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​ห่วงใย​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​สวัสดิภาพ​ของ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ทั้ง​ทาง​กาย​และ​ฝ่าย​วิญญาณ. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “วัน​ซะบาโต​นั้น​ตั้ง​ไว้​สำหรับ​มนุษย์.” (มาระโก 2:27) วัน​นี้​ไม่​เพียง​ทำ​ให้​ชาว​อิสราเอล​ได้​พักผ่อน แต่​ยัง​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​โอกาส​ได้​เข้า​ใกล้​พระ​ผู้​สร้าง​และ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระองค์. (พระ​บัญญัติ 5:12) วัน​นี้​เป็น​วัน​ที่​อุทิศ​ไว้​โดย​เฉพาะ​เพื่อ​ผล​ประโยชน์​ฝ่าย​วิญญาณ. ผล​ประโยชน์​นั้น​รวม​ถึง​กิจกรรม​ต่าง ๆ เช่น การ​นมัสการ​ด้วย​กัน​เป็น​ครอบครัว, การ​อธิษฐาน, และ​การ​คิด​รำพึง​ใน​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า. การ​จัด​เตรียม​นี้​ช่วย​ป้องกัน​ชาว​อิสราเอล​ไม่​ให้​ใช้​เวลา​และ​พลัง​ทั้ง​หมด​ไป​กับ​การ​แสวง​หา​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ. วัน​ซะบาโต​เตือน​ใจ​พวก​เขา​ไม่​ให้​ลืม​ว่า​สาย​สัมพันธ์​ของ​ตน​กับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ชีวิต. พระ​เยซู​ตรัส​ย้ำ​อีก​ถึง​หลักการ​ดัง​กล่าว​ซึ่ง​ไม่​เคย​เปลี่ยน​เมื่อ​พระองค์​ตรัส​ว่า “มี​คำ​เขียน​ไว้​ว่า, ‘มนุษย์​จะ​บำรุง​ชีวิต​ด้วย​อาหาร​สิ่ง​เดียว​หา​มิ​ได้, แต่​ด้วย​บรรดา​โอวาท​ซึ่ง​ออก​มา​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​พระเจ้า.’ ”—มัดธาย 4:4.

9. การ​จัด​เตรียม​ให้​มี​วัน​ซะบาโต​สอน​บทเรียน​อะไร​แก่​คริสเตียน?

9 ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ไม่​ได้​ถูก​เรียก​ร้อง​ให้​ถือ​รักษา​ซะบาโต​ด้วย​การ​หยุด​พัก​นาน 24 ชั่วโมง​อีก​ต่อ​ไป แต่​การ​จัด​ให้​มี​วัน​ซะบาโต​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​เรื่อง​น่า​รู้​ทาง​ประวัติศาสตร์​เท่า​นั้น. (โกโลซาย 2:16) ซะบาโต​เป็น​เครื่อง​เตือน​ใจ​ว่า​เรา​ก็​เช่น​กัน​ต้อง​ให้​กิจกรรม​ฝ่าย​วิญญาณ​มา​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​เรา​มิ​ใช่​หรือ? กิจกรรม​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​ของ​เรา​ต้อง​ไม่​ถูก​บดบัง​โดย​การ​หมกมุ่น​ใน​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ​หรือ​การ​หา​ความ​บันเทิง. (เฮ็บราย 4:9, 10) ดัง​นั้น เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า “ฉัน​ให้​อะไร​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต? ฉัน​ให้​ความ​สำคัญ​ใน​อันดับ​แรก​แก่​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว, การ​อธิษฐาน, การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​คริสเตียน, และ​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ไหม? หรือ​ว่า​ความ​สนใจ​ใน​เรื่อง​อื่น ๆ เข้า​มา​เบียด​บัง​กิจกรรม​ดัง​กล่าว?” หาก​เรา​จัด​ให้​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​มา​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต พระ​ยะโฮวา​ทรง​รับรอง​กับ​เรา​ว่า​เรา​จะ​ไม่​ขาด​สิ่ง​ที่​จำเป็น​ใน​ชีวิต.—มัดธาย 6:24-33.

10. เรา​สามารถ​ได้​ประโยชน์​อย่าง​ไร​จาก​การ​อุทิศ​เวลา​เพื่อ​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ?

10 เวลา​ที่​เรา​ใช้​ไป​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​สิ่ง​พิมพ์​ที่​อาศัย​พระ​คัมภีร์​เป็น​หลัก รวม​ทั้ง​การ​คิด​ให้​ลึกซึ้ง​ถึง​ข่าวสาร​ที่​อยู่​ใน​นั้น สามารถ​ช่วย​เรา​ให้​เข้า​ใกล้​พระ​ยะโฮวา​ยิ่ง​ขึ้น. (ยาโกโบ 4:8) ซูซาน ซึ่ง​เมื่อ​ประมาณ 40 ปี​ที่​แล้ว​ได้​เริ่ม​จัด​เวลา​ไว้​โดย​เฉพาะ​สำหรับ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประจำ ยอม​รับ​ว่า​ใน​ช่วง​แรก ๆ การ​ทำ​อย่าง​นี้​ไม่​ใช่​เรื่อง​สนุก​แต่​เป็น​งาน​หนัก. ทว่า​ยิ่ง​เธอ​อ่าน​มาก​ขึ้น เธอ​ก็​ยิ่ง​รู้สึก​เพลิดเพลิน​มาก​ขึ้น. ตอน​นี้ ถ้า​วัน​ไหน​มี​เหตุ​จำเป็น​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​เธอ​ไม่​ได้​ศึกษา​ส่วน​ตัว เธอ​จะ​รู้สึก​ว่า​ขาด​อะไร​ไป​สัก​อย่าง. เธอ​บอก​ว่า “การ​ศึกษา​ได้​ช่วย​ดิฉัน​ให้​ทำ​ความ​รู้​จัก​กับ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​ที่​พระองค์​ทรง​เป็น​พระ​บิดา. ดิฉัน​สามารถ​ไว้​ใจ​พระองค์, หวัง​พึ่ง​พระองค์, และ​ทูล​อธิษฐาน​ถึง​พระองค์​ได้​อย่าง​สนิท​ใจ. เป็น​เรื่อง​น่า​ตื้นตัน​ใจ​จริง ๆ ที่​ได้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​มาก​ขนาด​ไหน, ทรง​ห่วงใย​ดิฉัน​เป็น​ส่วน​ตัว​อย่าง​ไร, และ​ได้​ทำ​อย่าง​ไร​บ้าง​เพื่อ​ช่วย​ดิฉัน.” มี​ความ​ยินดี​มาก​มาย​จริง ๆ ที่​เรา​เอง​ก็​สามารถ​ได้​รับ​จาก​การ​เอา​ใจ​ใส่​ความ​จำเป็น​ฝ่าย​วิญญาณ​เป็น​ประจำ!

พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ว่า​ด้วย​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา

11. มี​การ​จัด​เตรียม​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา?

11 แง่​มุม​ที่​สอง​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ที่​สะท้อน​ให้​เห็น​ถึง​ความ​ห่วงใย​ของ​พระเจ้า​ต่อ​สวัสดิภาพ​ของ​ประชาชน​ของ​พระองค์​คือ​สิทธิ​ที่​จะ​เก็บ​พืช​ผล​ที่​เหลือ​ใน​ไร่​นา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​พระ​บัญชา​ว่า​เมื่อ​กสิกร​ชาว​อิสราเอล​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​จาก​ไร่​นา เขา​ต้อง​อนุญาต​ให้​คน​ขัดสน​เข้า​มา​เก็บ​พืช​ผล​ที่​คน​งาน​เก็บ​เกี่ยว​เหลือ​ค้าง​อยู่​ใน​ไร่​นา. ชาว​นา​ต้อง​ไม่​เกี่ยว​ข้าว​จน​เกลี้ยง​ถึง​ขอบ​นา​หรือ​กลับ​มา​เก็บ​ผล​องุ่น​หรือ​มะกอก​ที่​ตก​ค้าง​อยู่. พวก​เขา​ต้อง​ไม่​กลับ​ไป​เก็บ​ฟ่อน​ข้าว​ที่​ร่วง​ตก​อยู่​ตาม​ทุ่ง​นา​โดย​ไม่​ตั้งใจ. นี่​เป็น​การ​จัด​เตรียม​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​คน​ยาก​จน, พลเมือง​ที่​เป็น​คน​ต่าง​ด้าว, ลูก​กำพร้า, และ​หญิง​ม่าย. จริง​อยู่ เพื่อ​จะ​เก็บ​พืช​ผล​ที่​เหลือ​ใน​ไร่​นา​พวก​เขา​เอง​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก แต่​โดย​วิธี​นี้​ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ขอ​ทาน.—เลวีติโก 19:9, 10; พระ​บัญญัติ 24:19-22; บทเพลง​สรรเสริญ 37:25.

12. การ​จัด​เตรียม​เกี่ยว​กับ​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา​ทำ​ให้​ชาว​นา​มี​โอกาส​อะไร?

12 พระ​บัญญัติ​ว่า​ด้วย​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา​ไม่​ได้​กำหนด​ว่า​กสิกร​ต้อง​เหลือ​พืช​ผล​ให้​คน​ขัดสน​เท่า​ไร. ทั้ง​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​พวก​เขา​เอง​ว่า​จะ​เหลือ​ข้าว​ที่​ไม่​ถูก​เกี่ยว​ไว้​ตาม​ขอบ​นา​มาก​น้อย​ขนาด​ไหน. ใน​เมื่อ​เป็น​เช่น​นี้ การ​จัด​เตรียม​นี้​จึง​สอน​ใน​เรื่อง​ความ​เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่. พระ​บัญญัติ​นี้​ทำ​ให้​กสิกร​มี​โอกาส​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ผู้​ทรง​อวย​พร​ให้​มี​การ​เก็บ​เกี่ยว เนื่อง​จาก “บุคคล​ผู้​มี​ความ​เมตตา​แก่​คน​ยาก​จน​ก็​ถวาย​เกียรติยศ​แก่ [พระ​ผู้​สร้าง​ของ​ตน].” (สุภาษิต 14:31) โบอัศ​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​ทำ​อย่าง​นั้น. ด้วย​ความ​กรุณา เขา​จัดแจง​เพื่อ​ให้​รูธ แม่​ม่าย​คน​หนึ่ง​ที่​มา​เก็บ​พืช​ผล​ที่​เหลือ​ใน​ทุ่ง​นา​ของ​เขา จะ​เก็บ​เกี่ยว​ข้าว​ได้​มาก​พอ. พระ​ยะโฮวา​ประทาน​บำเหน็จ​อย่าง​เหลือ​ล้น​แก่​โบอัศ​เพราะ​ความ​เอื้อเฟื้อ​ของ​เขา.—ประวัตินางรูธ 2:15, 16; 4:21, 22; สุภาษิต 19:17.

13. กฎหมาย​ใน​สมัย​โบราณ​ว่า​ด้วย​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา​สอน​อะไร​แก่​เรา?

13 หลักการ​เบื้อง​หลัง​กฎหมาย​ว่า​ด้วย​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา​ไม่​ได้​เปลี่ยน​ไป. พระ​ยะโฮวา​ทรง​คาด​หมาย​ให้​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​มี​ใจ​เอื้อเฟื้อ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​คน​ขัดสน. ยิ่ง​เรา​เอื้อเฟื้อ​มาก​เท่า​ใด เรา​ก็​จะ​ได้​รับ​พระ​พร​มาก​เท่า​นั้น. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​แจก​ปัน​ให้​เขา, และ​เขา​จะ​แจก​ปัน​ให้​ท่าน​ด้วย เขา​จะ​ตวง​ด้วย​ทะนาน​ถ้วน​ยัด​สั่น​แน่น​พูน​ล้น​ใส่​ใน​ตัก​ของ​ท่าน. เพราะ​ว่า​ท่าน​จะ​ตวง​ให้​เขา​ด้วย​ทะนาน​อัน​ใด, เขา​จะ​ตวง​ให้​ท่าน​ด้วย​ทะนาน​อัน​นั้น.”—ลูกา 6:38.

14, 15. เรา​จะ​แสดง​ความ​เอื้อเฟื้อ​ได้​อย่าง​ไร และ​นั่น​อาจ​ก่อ​ผล​ประโยชน์​เช่น​ไร​ทั้ง​ต่อ​ตัว​เรา​เอง​และ​คน​ที่​เรา​ช่วยเหลือ?

14 อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​เรา​ให้ “กระทำ​การ​ดี​แก่​คน​ทั้ง​ปวง, และ​ที่​สำคัญ​นั้น​จง​กระทำ​แก่​ครอบครัว​ของ​ความ​เชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10) ด้วย​เหตุ​นั้น เป็น​เรื่อง​แน่นอน​ว่า​เรา​จำเป็น​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​เพื่อ​ช่วยเหลือ​เพื่อน​คริสเตียน​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​พวก​เขา​เผชิญ​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ. แต่​พวก​เขา​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ใน​ภาค​ปฏิบัติ​ด้วย​ไหม เช่น ใน​การ​เดิน​ทาง​มา​ที่​หอ​ประชุม​หรือ​ใน​การ​จับจ่าย​ซื้อ​ของ? มี​ผู้​สูง​อายุ, ผู้​ป่วย, หรือ​คน​ที่​ไป​ไหน​มา​ไหน​ไม่​ได้​ใน​ประชาคม​ของ​คุณ​ไหม​ซึ่ง​คง​จะ​หยั่ง​รู้​ค่า​หาก​ได้​รับ​การ​เยี่ยม​ที่​หนุน​ใจ​หรือ​ช่วย​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ให้? หาก​เรา​พยายาม​ตื่น​ตัว​เพื่อ​จะ​สังเกต​เห็น​ความ​จำเป็น​เช่น​นั้น พระ​ยะโฮวา​ก็​อาจ​จะ​สามารถ​ใช้​เรา​เพื่อ​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​คน​ขัดสน. แม้​ว่า​การ​ดู​แล​กัน​และ​กัน​เป็น​พันธะ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​คริสเตียน การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ยัง​ช่วย​ผู้​ที่​ให้​การ​ดู​แล​แก่​ผู้​อื่น​ด้วย. การ​แสดง​ความ​รัก​แท้​ต่อ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ​เป็น​ที่​มา​ของ​ความ​ยินดี​อย่าง​มาก​มาย​และ​ความ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระ​ยะโฮวา.—สุภาษิต 15:29.

15 วิธี​ที่​สำคัญ​อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​คริสเตียน​แสดง​เจตคติ​ที่​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​คือ​โดย​การ​ใช้​เวลา​และ​พลัง​ของ​ตน​เพื่อ​พูด​เกี่ยว​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. (มัดธาย 28:19, 20) ใคร​ก็​ตาม​ที่​มี​ความ​ยินดี​ใน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้​อื่น​จน​กระทั่ง​ถึง​ขั้น​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา​ย่อม​ตระหนัก​ดี​ถึง​ความ​สัตย์​จริง​ใน​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “การ​ให้​เป็น​เหตุ​ให้​มี​ความ​สุข​ยิ่ง​กว่า​การ​รับ.”—กิจการ 20:35.

ระวัง​ตัว​ให้​พ้น​จาก​ความ​โลภ

16, 17. พระ​บัญญัติ​ข้อ​ที่​สิบ​ห้าม​อะไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

16 แง่​มุม​ที่​สาม​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ประทาน​แก่​ชาติ​อิสราเอล​ที่​เรา​จะ​พิจารณา​กัน​ต่อ​ไป​คือ​พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ​ข้อ​ที่​สิบ​ซึ่ง​ห้าม​ไม่​ให้​โลภ. พระ​บัญญัติ​ข้อ​นี้​กล่าว​ว่า “อย่า​โลภ​เรือน​ของ​เพื่อน​บ้าน, อย่า​โลภ​ภรรยา​ของ​เพื่อน​บ้าน, หรือ​ทาสา​ทาสี​ของ​เขา, หรือ​โค​ลา​ของ​เขา, หรือ​สิ่ง​ใด ๆ ซึ่ง​เป็น​ของ ๆ เพื่อน​บ้าน.” (เอ็กโซโด 20:17) ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​สามารถ​บังคับ​ใช้​พระ​บัญญัติ​เช่น​นี้​ได้ เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ใคร​อ่าน​ใจ​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​บัญญัติ​ข้อ​นี้​ยก​ระดับ​พระ​บัญญัติ​ให้​อยู่​ใน​ระดับ​ที่​สูง​กว่า​ระบบ​ความ​ยุติธรรม​ของ​มนุษย์. พระ​บัญญัติ​ข้อ​นี้​ทำ​ให้​ชาว​อิสราเอล​แต่​ละ​คน​สำนึก​ว่า​เขา​ต้อง​ให้​การ​โดย​ตรง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ผู้​ทรง​สามารถ​อ่าน​ความ​โน้ม​เอียง​ของ​หัวใจ. (1 ซามูเอล 16:7) นอก​จาก​นั้น พระ​บัญญัติ​ข้อ​นี้​หยั่ง​ลึก​ลง​ไป​ถึง​ราก​ของ​การ​กระทำ​ที่​ผิด​กฎหมาย​หลาย ๆ อย่าง.—ยาโกโบ 1:14.

17 กฎหมาย​ที่​ห้าม​ความ​โลภ​สนับสนุน​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ให้​หลีก​เลี่ยง​การ​นิยม​วัตถุ, ความ​ละโมบ, และ​การ​พร่ำ​บ่น​เกี่ยว​กับ​ความ​ลำบาก​ใน​ชีวิต​ตน. กฎหมาย​นี้​ยัง​ป้องกัน​พวก​เขา​ไว้​จาก​การ​ล่อ​ใจ​ให้​ขโมย​หรือ​ทำ​ผิด​ศีลธรรม. ใน​โลก​นี้​มี​คน​ที่​เรา​นิยม​ชม​ชอบ​ซึ่ง​มี​ทรัพย์​สิน​เงิน​ทอง​มาก​หรือ​คน​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก​กว่า​เรา​ใน​ทาง​ใด​ทาง​หนึ่ง​เสมอ. หาก​เรา​ไม่​ได้​ควบคุม​ความ​คิด​ใน​กรณี​อย่าง​นี้ เรา​อาจ​เริ่ม​ไม่​มี​ความ​สุข​และ​รู้สึก​อิจฉา​คน​อื่น​ได้. คัมภีร์​ไบเบิล​เรียก​ความ​โลภ​ว่า​เป็น​การ​แสดง​ออก​ซึ่ง “สภาพ​จิตใจ​ที่ [พระเจ้า] ไม่​พอ​พระทัย.” เรา​จะ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ดี​กว่า​มาก​หาก​ไม่​มี​ความ​โลภ.—โรม 1:28-30, ล.ม.

18. น้ำใจ​อะไร​มี​อยู่​โดย​ทั่ว​ไป​ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้ และ​น้ำใจ​นี้​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​เช่น​ไร?

18 น้ำใจ​ที่​แพร่​หลาย​ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้​ส่ง​เสริม​การ​นิยม​วัตถุ​และ​การ​แข่งขัน. โดย​ทาง​โฆษณา ธุรกิจ​การ​ค้า​ปลุก​เร้า​ให้​อยาก​ได้​สินค้า​ใหม่ ๆ และ​บ่อย​ครั้ง​พยายาม​ถ่ายทอด​แนว​คิด​ที่​ว่า​เรา​จะ​ไม่​มี​ความ​สุข​หาก​ไม่​ได้​เป็น​เจ้าของ​สินค้า​เหล่า​นั้น. นี่​แหละ​คือ​น้ำใจ​แบบ​ที่​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ตำหนิ. สิ่ง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​น้ำใจ​นี้​ก็​คือ​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ก้าว​หน้า​ใน​ชีวิต​ไม่​ว่า​จะ​ต้อง​เสีย​อะไร​ก็​ตาม​และ​ส่ำ​สม​ความ​มั่งคั่ง. อัครสาวก​เปาโล​เตือน​ว่า “คน​เหล่า​นั้น​ที่​อยาก​เป็น​คน​มั่งมี​ก็​ย่อม​ตก​ใน​การ​ทดลอง, และ​ใน​บ่วง​แร้ว, และ​ใน​ตัณหา​หลาย​อย่าง​อัน​โฉด​เขลา​และ​เป็น​ภัย​แก่​ตัว, ซึ่ง​ย่อม​ทำ​ให้​ตัว​จม​ลง​ใน​ความ​พินาศ​เสื่อม​ศูนย์​ไป. ด้วย​ว่า​การ​รัก​เงิน​ทอง​นั้น​ก็​เป็น​ราก​แห่ง​ความ​ชั่ว​ทุก​อย่าง และ​บาง​คน​ที่​ได้​โลภ​เงิน​ทอง​จึง​ได้​หลง​ไป​จาก​ความ​เชื่อ​นั้น, และ​ความ​ทุกข์​เป็น​อัน​มาก​จึง​ทิ่ม​แทง​ตัว​ของ​เขา​เอง​ให้​ทะลุ.”—1 ติโมเธียว 6:9, 10.

19, 20. (ก) สำหรับ​ผู้​รัก​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา สิ่ง​ที่​มี​ค่า​มาก​คือ​อะไร​บ้าง? (ข) บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​เรื่อง​อะไร?

19 คน​ที่​รัก​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ตระหนัก​ดี​ถึง​อันตราย​ของ​น้ำใจ​นิยม​วัตถุ​และ​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง​ไว้​จาก​น้ำใจ​นี้. ตัว​อย่าง​เช่น ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ว่า “ขอ​ทรง​โน้ม​ใจ​ของ​ข้าพเจ้า​ให้​นิยม​ใน​ข้อ​ปฏิญาณ​ของ​พระองค์, และ​ขอ​อย่า​ให้​มี​ใจ​โลภ​ได้. พระ​บัญญัติ​ที่​ออก​มา​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​พระองค์​นั้น​ดี​ประเสริฐ​สำหรับ​ข้าพเจ้า​ประเสริฐ​กว่า​เงิน​ทอง​หลาย​พัน​ชั่ง.” (บทเพลง​สรรเสริญ 119:36, 72) การ​เชื่อ​มั่น​ถึง​ความ​สัตย์​จริง​ของ​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​จะ​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​สมดุล​ที่​จำเป็น​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​บ่วง​แร้ว​แห่ง​วัตถุ​นิยม, ความ​ละโมบ, และ​ความ​ไม่​พอ​ใจ​กับ​ชีวิต​ของ​ตัว​เอง. “ความ​เลื่อมใส​พระเจ้า” คือ​กุญแจ​สู่​ผล​กำไร​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ ไม่​ใช่​การ​ส่ำ​สม​ทรัพย์​สมบัติ.—1 ติโมเธียว 6:6, ล.ม.

20 หลักการ​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​พระ​บัญญัติ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​แก่​ชาติ​อิสราเอล​โบราณ​นั้น​มี​คุณค่า​ใน​สมัย​อัน​ยุ่งยาก​ลำบาก​ของ​เรา​เช่น​เดียว​กับ​ใน​สมัย​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​พระ​บัญญัติ​นั้น​แก่​โมเซ. ยิ่ง​เรา​ใช้​หลักการ​เหล่า​นี้​มาก​เท่า​ใด​ใน​ชีวิต เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​เข้าใจ​ดี​ขึ้น, รัก​หลักการ​เหล่า​นี้​มาก​ขึ้น, และ​มี​ความ​สุข​มาก​ขึ้น. พระ​บัญญัติ​เก็บ​รักษา​บทเรียน​มาก​มาย​ซึ่ง​มี​ค่า​สำหรับ​เรา และ​ข้อ​เตือน​ใจ​ที่​ชัดเจน​ให้​ระลึก​ถึง​คุณค่า​ของ​บทเรียน​เหล่า​นี้​เห็น​ได้​จาก​เรื่อง​ราว​ชีวิต​และ​ประสบการณ์​ของ​หลาย​คน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เรา​จะ​พิจารณา​เรื่อง​ราว​ของ​บาง​คน​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ยก​เว้น​เพียง 4 ข้อ​จาก​ทั้ง​หมด 176 ข้อ​ของ​เพลง​สรรเสริญ​บท​นี้ ข้อ​อื่น ๆ ล้วน​กล่าว​ถึง​พระ​บัญชา, การ​พิพากษา​ตัดสิน, กฎหมาย, ระเบียบ, กฎ, ข้อ​เตือน​ใจ, สุภาษิต, ข้อ​บังคับ, วิถี​ทาง, หรือ​พระ​ดำรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​บท 119 รัก​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา?

• คริสเตียน​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​การ​จัด​เตรียม​เกี่ยว​กับ​ซะบาโต?

• กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ว่า​ด้วย​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา​มี​คุณค่า​ที่​ยั่งยืน​เช่น​ไร?

• พระ​บัญญัติ​ที่​ห้าม​ไม่​ให้​โลภ​ช่วย​ปก​ป้อง​เรา​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 21]

กฎหมาย​ซะบาโต​เน้น​ใน​เรื่อง​อะไร?

[ภาพ​หน้า 23]

กฎหมาย​ว่า​ด้วย​การ​เหลือ​พืช​ผล​ใน​ไร่​นา​สอน​อะไร​แก่​เรา?