ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความพากเพียรนำมาซึ่งความปีติยินดี

ความพากเพียรนำมาซึ่งความปีติยินดี

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ความ​พากเพียร​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​ปีติ​ยินดี

เล่า​โดย มาริโอ โรชา เดอ โซซา

“ไม่​น่า​เป็น​ไป​ได้​ที่​นาย​โรชา​จะ​รอด​ตาย​หลัง​ผ่าตัด.” ทั้ง ๆ ที่​แพทย์​คาด​คะเน​อย่าง​หมด​หวัง​เช่น​นี้ ทุก​วัน​นี้ เวลา​ผ่าน​ไป​ประมาณ 20 ปี​แล้ว ผม​ยัง​คง​มี​ชีวิต​อยู่​และ​ทำ​งาน​รับใช้​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. อะไร​ได้​ช่วย​ผม​ให้​มี​ความ​พากเพียร​ตลอด​หลาย​ปี?

ผม​ใช้​ชีวิต​วัย​เด็ก​ใน​ฟาร์ม​ใกล้​ซัง​ตู เอสตาวาอู หมู่​บ้าน​ใน​รัฐ​บาเอีย ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​บราซิล. ตอน​อายุ​เจ็ด​ขวบ​ผม​เริ่ม​ช่วย​พ่อ​ทำ​งาน​ใน​ฟาร์ม​แล้ว. ทุก​วัน​หลัง​โรง​เรียน​เลิก พ่อ​กำหนด​งาน​ให้​ผม​ทำ. ต่อ​มา เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​พ่อ​ไป​ทำ​ธุรกิจ​ใน​ซัลวาดอร์​เมือง​หลวง​ของ​รัฐ พ่อ​ก็​จะ​ให้​ผม​รับผิดชอบ​งาน​ใน​ฟาร์ม.

เรา​ไม่​มี​ไฟฟ้า, ไม่​มี​น้ำ​ประปา, หรือ​ความ​สะดวก​สบาย​ต่าง ๆ ซึ่ง​ใน​ทุก​วัน​นี้​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา กระนั้น เรา​มี​ความ​สุข. ผม​มัก​จะ​เล่น​ว่าว​หรือ​เล่น​กับ​รถยนต์​ทำ​จาก​ไม้​ที่​ผม​และ​เพื่อน​ช่วย​กัน​ทำ​ขึ้น​มา. นอก​จาก​นั้น ผม​เป่า​คลาริเน็ต​ใน​ขบวน​แห่​ทาง​ศาสนา. ผม​เป็น​เด็ก​ใน​คณะ​นัก​ร้อง​ของ​โบสถ์​ประจำ​หมู่​บ้าน และ​ที่​นั่น​เอง​ผม​ได้​เจอ​หนังสือ​ชื่อ​ประวัติศาสตร์​ศักดิ์สิทธิ์ (ภาษา​โปรตุเกส) ซึ่ง​กระตุ้น​ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ของ​ผม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล.

ปี 1932 ผม​อายุ 20 ปี เกิด​ภัย​แล้ง​สาหัส​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​บราซิล​และ​ยืดเยื้อ​อยู่​นาน. ฝูง​สัตว์​ของ​เรา​ล้ม​ตาย ไม่​มี​ผล​ผลิต​ทาง​เกษตร ดัง​นั้น ผม​จึง​ย้าย​ไป​ยัง​เมือง​ซัลวาดอร์ ผม​ได้​งาน​ทำ​เป็น​คน​ขับ​รถ​ราง. ต่อ​มา ผม​เช่า​บ้าน​และ​พา​ครอบครัว​มา​อยู่​ด้วย​กัน. ปี 1944 พ่อ​เสีย​ชีวิต ผม​จึง​รับ​ภาระ​ดู​แล​แม่​และ​น้อง​สาว​แปด​คน น้อง​ชาย​อีก​สาม​คน.

จาก​คน​ขับ​รถ​ราง​มา​เป็น​ผู้​เผยแพร่

สิ่ง​แรก​ที่​ผม​ทำ​เมื่อ​มา​ถึง​ซัลวาดอร์​คือ​ซื้อ​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​หนึ่ง. หลัง​จาก​เข้า​ร่วม​กับ​คริสตจักร​แบพติสต์​สัก​ระยะ​หนึ่ง ผม​กลาย​เป็น​เพื่อน​กับ​ดูร์วัล คน​ขับ​รถ​ราง​ด้วย​กัน. บ่อย​ครั้ง​ผม​กับ​ดูร์วัล​จะ​คุย​กัน​นาน​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​พระ​คัมภีร์. วัน​หนึ่ง เขา​ฝาก​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ชื่อ​คน​ตาย​อยู่​ที่​ไหน? * ให้​ผม​ไว้​อ่าน. ถึง​แม้​ผม​เชื่อ​ว่า​มนุษย์​มี​จิตวิญญาณ​อมตะ แต่​ผม​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​จึง​ได้​ตรวจ​สอบ​ข้อ​คัมภีร์​ต่าง ๆ ที่​ยก​มา​อ้าง​ไว้​ใน​หนังสือ​เล่ม​นั้น. ผม​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ยืน​ยัน​ว่า​จิตวิญญาณ​ที่​ทำ​บาป​จะ​ตาย.—ยะเอศเคล 18:4.

เมื่อ​สังเกต​เห็น​ว่า​ผม​สนใจ ดูร์วัล​ได้​ขอ​อันโตนยู อันดราเด ผู้​รับใช้​ประเภท​เต็ม​เวลา​คน​หนึ่ง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มา​เยี่ยม​ผม​ที่​บ้าน. หลัง​การ​เยี่ยม​ครั้ง​ที่​สาม อันโตนยู​ได้​ชวน​ผม​ออก​ไป​ใน​งาน​สอน​พระ​คัมภีร์​แก่​คน​อื่น ๆ. หลัง​จาก​เขา​พูด​คุย​กับ​สอง​บ้าน​แรก​แล้ว เขา​บอก​ผม​ว่า “ตอน​นี้​เป็น​คราว​ของ​คุณ​บ้าง.” ผม​รู้สึก​ประหม่า​มาก แต่​ดีใจ​เมื่อ​เห็น​ครอบครัว​หนึ่ง​ตั้งใจ​ฟัง แถม​ยัง​รับ​เอา​หนังสือ​ที่​ผม​เสนอ​ให้​เขา​สอง​เล่ม. มา​ถึง​วัน​นี้ ผม​รู้สึก​ปลาบปลื้ม​ยินดี​เช่น​เดียว​กัน​เมื่อ​ได้​พบ​คน​สนใจ​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล.

ปี​นั้น วัน​ที่ 19 เมษายน 1943 ตรง​กับ​วัน​ฉลอง​ครบ​รอบ​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์ ผม​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ใกล้​เมือง​ซัลวาดอร์. เนื่อง​จาก​ขาด​ผู้​ชาย​คริสเตียน​ที่​มี​ประสบการณ์ ผม​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ให้​ช่วย​กลุ่ม​พยาน​ฯ ที่​ประชุม​กัน​ใน​บ้าน​บราเดอร์​อันดราเด​บน​ถนน​สาย​แคบ ๆ ซึ่ง​เชื่อม​ส่วน​ที่​อยู่​บน​เนิน​สูง​กับ​ส่วน​ที่​อยู่​ต่ำ​กว่า​ของ​ตัว​เมือง​ซัลวาดอร์.

การ​ต่อ​ต้าน​ใน​ช่วง​แรก ๆ

กิจกรรม​คริสเตียน​ของ​พวก​เรา​ไม่​เป็น​ที่​นิยม​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 (1939-1945). เจ้าหน้าที่​บาง​คน​สงสัย​ว่า​เรา​เป็น​พวก​สืบ​ราชการ​ลับ​ของ​อเมริกา​เหนือ เพราะ​หนังสือ​ส่วน​ใหญ่​ของ​เรา​ส่ง​มา​จาก​สหรัฐ. ผล​ก็​คือ การ​จับ​กุม​และ​การ​ไต่สวน​เป็น​เรื่อง​ปกติ. เมื่อ​พยาน​ฯ คน​ใด​ไม่​กลับ​จาก​งาน​ประกาศ เรา​ลง​ความ​เห็น​ว่า​เขา​ถูก​กัก​ตัว และ​เรา​ก็​จะ​ไป​ที่​สถานี​ตำรวจ​เพื่อ​เจรจา​ให้​ปล่อย​ตัว​เขา.

เดือน​สิงหาคม 1943 อะดอลฟ์ เมสเมอร์​พยาน​ฯ ชาว​เยอรมัน​ได้​มา​ถึง​เมือง​ซัลวาดอร์​เพื่อ​ช่วย​จัด​ระเบียบ​การ​ประชุม​ภาค​ครั้ง​แรก​ของ​พวก​เรา. ภาย​หลัง​ได้​รับ​อนุมัติ​จาก​เจ้าหน้าที่​ให้​จัด​การ​ประชุม​ได้ จึง​มี​การ​ดำเนิน​งาน​โฆษณา​ปาฐกถา “เสรีภาพ​ใน​โลก​ใหม่” โดย​ทาง​หนังสือ​พิมพ์​ราย​วัน​ของ​ท้องถิ่น และ​ปิด​โฆษณา​ตาม​ตู้​กระจก​หน้า​ร้าน​และ​ด้าน​ข้าง​รถ​ราง. แต่​เมื่อ​ประชุม​วัน​ที่​สอง เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ได้​แจ้ง​ว่า​ใบ​อนุญาต​การ​ประชุม​นั้น​ถูก​เพิกถอน. อาร์ชบิชอป​ประจำ​เมือง​ซัลวาดอร์​กดดัน​ผู้​กำกับ​การ​ตำรวจ​ให้​ระงับ​การ​ประชุม​ของ​พวก​เรา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เดือน​เมษายน​ปี​ถัด​ไป ใน​ที่​สุด​เรา​ก็​ได้​รับ​อนุญาต​จัด​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​ที่​ได้​โฆษณา​ไว้.

การ​ติด​ตาม​เป้าหมาย

ปี 1946 ผม​ได้​รับ​เชิญ​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​ภาค​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ชื่อ​ว่า “ประชาชาติ​ทั้ง​หลาย​จง​ชื่น​ใจ​ยินดี” ใน​นคร​เซาเปาลู. กัปตัน​เรือ​สินค้า​ใน​ซัลวาดอร์​ยอม​ให้​เรา​ไป​กับ​เรือ​ของ​เขา​ได้​ถ้า​จะ​นอน​บน​ดาดฟ้า​เรือ. แม้​การ​ผจญ​พายุ​ใหญ่​ระหว่าง​ทาง​ทำ​ให้​พวก​เรา​เมา​คลื่น​กัน​ทุก​คน แต่​หลัง​จาก​สี่​วัน​ใน​ทะเล เรือ​ก็​นำ​เรา​เข้า​เทียบ​ท่า​ที่​นคร​ริวเดจาเนโร​อย่าง​ปลอด​ภัย. เหล่า​พยาน​ฯ ที่​นั่น​ต้อนรับ​พวก​เรา พา​ไป​พัก​ใน​บ้าน​ของ​เขา​หลาย​วัน​ก่อน​จะ​เดิน​ทาง​ต่อ​โดย​รถไฟ. ชน​กลุ่ม​เล็ก ๆ ที่​ถือ​ป้าย “ยินดี​ต้อนรับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา” ต่าง​ก็​ทักทาย​พวก​เรา​เมื่อ​รถไฟ​ไป​ถึง​เซาเปาลู.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​กลับ​มา​ที่​ซัลวาดอร์ ผม​ได้​พูด​คุย​กับ​แฮร์รี แบล็ก มิชชันนารี​จาก​สหรัฐ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​ผม​ปรารถนา​จะ​เป็น​ไพโอเนียร์ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​ผู้​ประกาศ​ประเภท​เต็ม​เวลา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. แฮร์รี​เตือน​ผม​ให้​นึก​ถึง​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ภาย​ใน​ครอบครัว​ที่​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่ และ​แนะ​นำ​ผม​ให้​อด​ใจ​รอ. ใน​ที่​สุด เมื่อ​ถึง​เดือน​มิถุนายน 1952 น้อง​ชาย​น้อง​สาว​ของ​ผม​ทุก​คน​ดู​แล​ตัว​เอง​ได้ โดย​ไม่​ต้อง​พึ่ง​ผม​ด้าน​การ​เงิน​อีก และ​ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ใน​ประชาคม​เล็ก ๆ ที่​เมือง​อีลยาอุส ลง​ไป​ทาง​ใต้​ตาม​แนว​ชายฝั่ง​ห่าง​จาก​ซัลวาดอร์​ประมาณ 210 กิโลเมตร.

การ​จัด​เตรียม​ด้วย​ความ​เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่

ปี​ต่อ​มา ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ไป​ที่​เชคเย เมือง​ใหญ่​ส่วน​กลาง​ของ​รัฐ​บาเอีย​บน​พื้น​ที่​สูง ไม่​มี​พยาน​ฯ ใน​เมือง​นั้น. คน​แรก​ที่​ผม​ได้​เยี่ยม​เป็น​บาทหลวง​ท้องถิ่น. เขา​ชี้​แจง​ว่า​เมือง​นี้​เป็น​เขต​ปกครอง​ของ​เขา​และ​ห้าม​ผม​ประกาศ​ที่​นั่น. เขา​เตือน​สมาชิก​ให้​รู้​เกี่ยว​กับ​การ​มา​ของ “ผู้​พยากรณ์​เท็จ” และ​จัด​พวก​สอดแนม​อยู่​ทั่ว​เมือง​คอย​ติด​ตาม​ดู​กิจกรรม​ของ​ผม. กระนั้น​ก็​ตาม วัน​นั้น​ผม​จำหน่าย​คู่มือ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ได้ 90 กว่า​เล่ม​และ​เริ่ม​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​สี่​ราย. สอง​ปี​ต่อ​มา มี​การ​จัด​ตั้ง​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ขึ้น​ใน​เมือง​เชคเย และ​มี​พยาน​ฯ 36 คน! เมือง​เชคเย​ใน​ปัจจุบัน​มี​แปด​ประชาคม​และ​พยาน​ฯ ประมาณ 700 คน.

ช่วง​เดือน​แรก ๆ ที่​มา​อยู่​ใน​เชคเย ผม​เช่า​ห้อง​เล็ก ๆ แถบ​ชาน​เมือง​อยู่. แล้ว​ผม​ได้​พบ​มิเกล วัส ดี โอลิเวรา เจ้าของ​โรงแรม​ซูเดอเอสเทอ (เซาท์เวสต์โฮเต็ล) หนึ่ง​ใน​โรงแรม​ดี​ที่​สุด​ของ​เมือง​เชคเย. มิเกล​ตอบรับ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​และ​ยืนกราน​ให้​ผม​ย้าย​ไป​พัก​ที่​โรงแรม​ของ​เขา. ใน​เวลา​ต่อ​มา มิเกล​พร้อม​ด้วย​ภรรยา​ได้​เข้า​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

ความ​ทรง​จำ​ที่​ดี​ของ​ผม​อีก​เรื่อง​หนึ่ง​ตอน​ที่​อยู่​ใน​เชคเย​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ลูอิส โคทริม ครู​โรง​เรียน​มัธยม​ปลาย​ที่​ผม​ได้​นำ​การ​ศึกษา​กับ​เขา. ลูอิส​เสนอ​ช่วย​ผม​ปรับ​ปรุง​ความ​รู้​ด้าน​ภาษา​โปรตุเกส​และ​คณิตศาสตร์. ผม​เรียน​จบ​แค่​ระดับ​ประถม ดัง​นั้น​ผม​ตอบรับ​คำ​เชิญ​ทันที. วิชา​ที่​ลูอิส​สอน​ผม​ทุก​สัปดาห์​หลัง​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ได้​ช่วย​เตรียม​ผม​ไว้​พร้อม​สำหรับ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ผม​ได้​รับ​เพิ่ม​เติม​จาก​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน.

เผชิญ​การ​ท้าทาย​ใหม่

ปี 1956 ผม​ได้​รับ​จดหมาย​เชิญ​เข้า​ไป​รับ​การ​อบรม​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด ชื่อ​เรียก​ผู้​เผยแพร่​เดิน​ทาง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา ณ สำนักงาน​สาขา ซึ่ง​เวลา​นั้น​สำนักงาน​ตั้ง​อยู่​ใน​นคร​ริวเดจาเนโร. หลัก​สูตร​นี้​ใช้​เวลา​เรียน​เดือน​กว่า มี​ผู้​เข้า​รับ​การ​อบรม​แปด​คน. ขณะ​ใกล้​จบ​หลัก​สูตร ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ไป​ที่​รัฐ​เซาเปาลู ซึ่ง​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​กังวล. ผม​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘คน​ผิว​ดำ​อย่าง​ผม​นะ​หรือ​จะ​ไป​ทำ​งาน​ที่​นั่น​ท่ามกลาง​คน​อิตาลี? พวก​เขา​จะ​ยอม​รับ​ผม​หรือ?’ *

ณ ประชาคม​แรก​ที่​ผม​ได้​เข้า​เยี่ยม​ใน​เขต​ซังตู อะมารู ผม​มี​กำลังใจ​เมื่อ​เห็น​เพื่อน​พยาน​ฯ และ​ผู้​สนใจ​มา​กัน​เต็ม​หอ​ประชุม. สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ผม​สำนึก​ว่า​ความ​วิตก​กังวล​ของ​ผม​ไม่​มี​เหตุ​อัน​ควร​ก็​คือ​ทั้ง 97 คน​ใน​ประชาคม​ได้​ออก​ไป​ใน​งาน​เผยแพร่​กับ​ผม​ตอน​วัน​สุด​สัปดาห์. ผม​รำพึง​กับ​ตัว​เอง​ว่า ‘จริง ๆ แล้ว คน​เหล่า​นี้​ล้วน​เป็น​พี่​น้อง​ของ​ผม​ทั้ง​สิ้น.’ ความ​รัก​อัน​อบอุ่น​ของ​พี่​น้อง​ทั้ง​ชาย​และ​หญิง​นั่น​เอง​เป็น​กำลังใจ​ให้​ผม​เพียร​อด​ทน​ใน​งาน​เดิน​ทาง​ดู​แล​หมวด.

ลา, ม้า, และ​ตัว​ลิ่น

ข้อ​ท้าทาย​แสน​สาหัส​ที่​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​สมัย​นั้น​เคย​เผชิญ​ได้​แก่​การ​เดิน​ทาง​ระยะ​ไกล​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ รวม​ถึง​พยาน​ฯ กลุ่ม​เล็ก ๆ ใน​ชนบท. รถ​โดยสาร​ประจำ​ทาง​ใน​เขต​เหล่า​นั้น​ไม่​ปลอด​ภัย​หรือ​ไม่​มี​รถ​วิ่ง​ประจำ​ด้วย​ซ้ำ และ​ถนน​ส่วน​มาก​เป็น​แค่​ทาง​แคบ ๆ ไม่​ลาดยาง.

บาง​หมวด​แก้​ปัญหา​นี้​โดย​การ​ซื้อ​ลา​หรือ​ม้า​สำหรับ​ให้​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ใช้. พอ​ถึง​วัน​ต้น​สัปดาห์ ผม​ก็​ผูก​อาน​ม้า​หรือ​ลา แล้ว​เอา​ของ​ใช้​ส่วน​ตัว​ผูก​ไว้​ข้าง​อาน และ​ขี่​ม้า​ร่วม 12 ชั่วโมง​ไป​เยี่ยม​อีก​ประชาคม​หนึ่ง. ที่​เมือง​ซังตา เฟ ดู ซูล พยาน​ฯ มี​ลา​ตัว​หนึ่ง ตั้ง​ชื่อ​มัน​ว่า​โดราดู (หรือ​โกลดี) มัน​รู้​จัก​ทาง​ไป​ยัง​กลุ่ม​ศึกษา​ใน​เขต​ชนบท. โดรา​ดู​จะ​หยุด​ตรง​ประตู​เข้า​ออก​ไร่​และ​อด​ทน​คอย​เมื่อ​ผม​เปิด​ประตู. เมื่อ​เสร็จ​การ​เยี่ยม ผม​กับ​โดรา​ดู​ก็​จะ​เดิน​ทาง​เยี่ยม​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง.

การ​ไม่​มี​การ​ติด​ต่อ​สื่อสาร​ที่​ไว้​วางใจ​ได้​เป็น​ข้อ​ท้าทาย​สำหรับ​งาน​เยี่ยม​หมวด​เช่น​กัน. ตัว​อย่าง​เช่น เพื่อ​จะ​เยี่ยม​พยาน​ฯ กลุ่ม​เล็ก ๆ ที่​ประชุม​ร่วม​กัน​ใน​ไร่​รัฐ​มาโตโกรสโซ ผม​ต้อง​นั่ง​เรือ​ข้าม​แม่น้ำ​อาราไกวอา แล้ว​ขี่​ม้า​หรือ​ลา​ผ่าน​ป่า​อีก​ประมาณ 25 กิโลเมตร. คราว​หนึ่ง ผม​ได้​เขียน​จดหมาย​แจ้ง​การ​เยี่ยม​พี่​น้อง​กลุ่ม​นี้ แต่​ดู​เหมือน​จดหมาย​ไป​ไม่​ถึง เพราะ​ไม่​มี​คน​มา​รับ​เมื่อ​ผม​ข้าม​แม่น้ำ. ใกล้​ย่ำ​ค่ำ​แล้ว ผม​จึง​ขอ​ฝาก​สัมภาระ​ไว้​กับ​ชาย​เจ้าของ​ร้าน​ขาย​เหล้า​เล็ก ๆ ให้​ช่วย​ดู​แล แล้ว​ผม​ก็​ออก​เดิน​ต่อ​ไป​พร้อม​กับ​มี​แค่​กระเป๋า​ใส่​เอกสาร​เท่า​นั้น.

ไม่​นาน​ก็​พลบ​ค่ำ. ขณะ​เดิน​สะดุด​กุกกัก​ฝ่า​ความ​มืด​ไป​นั้น ผม​ได้​ยิน​เสียง​ตัว​ลิ่น​พ่น​ลม​ออก​ทาง​จมูก. ผม​เคย​ได้​ยิน​มา​ว่า​เจ้า​ตัว​นี้​ลุก​ขึ้น​ยืน​สอง​ขา​ได้​และ​ใช้​ขา​หน้า​อัน​มี​พลัง​ทำ​ร้าย​ชาย​คน​หนึ่ง​ถึง​แก่​ชีวิต. ดัง​นั้น ไม่​ว่า​สัตว์​อะไร​ที่​ส่ง​เสียง​มา​จาก​พุ่ม​ไม้​เตี้ย ๆ ผม​จะ​ก้าว​ต่อ​ไป​อย่าง​ระวัง​ตัว​และ​หอบ​กระเป๋า​ไว้​ด้าน​หน้า​เพื่อ​ป้องกัน​ตัว. หลัง​จาก​เดิน​หลาย​ชั่วโมง​แล้ว ผม​ก็​มา​ถึง​ลำธาร​เล็ก ๆ. แย่​หน่อย เพราะ​ความ​มืด​นี่​เอง ผม​มอง​ไม่​เห็น​รั้ว​ลวด​หนาม​ที่​อยู่​ฝั่ง​ตรง​กัน​ข้าม. ผม​กระโดด​พรวด​เดียว​ข้าม​ลำธาร เลย​โดน​ลวด​หนาม​ทิ่ม​เป็น​แผล!

ใน​ที่​สุด​ผม​ได้​มา​ถึง​ไร่​และ​สุนัข​หลาย​ตัว​พา​กัน​เห่า​เสียง​เกรียว​เป็น​การ​ทักทาย. สมัย​นั้น​ถือ​เป็น​เรื่อง​ปกติ​หาก​ขโมย​เข้า​มา​ลัก​แกะ​ใน​เวลา​กลางคืน ฉะนั้น​พอ​เขา​เปิด​ประตู ผม​รีบ​แสดง​ตัว​ทันที. สภาพ​ของ​ผม​ใน​ชุด​เสื้อ​ผ้า​ที่​ฉีก​ขาด​และ​เปื้อน​เลือด​ก็​คง​น่า​สงสาร​ไม่​น้อย แต่​พี่​น้อง​ดีใจ​เมื่อ​เห็น​หน้า​ผม.

ทั้ง ๆ ที่​มี​ความ​ยาก​ลำบาก วัน​เหล่า​นั้น​ก็​เป็น​ช่วง​ที่​ผม​มี​ความ​สุข. ผม​เพลิดเพลิน​กับ​การ​เดิน​ทาง​ไกล​ไม่​ว่า​จะ​นั่ง​ไป​บน​หลัง​ม้า​หรือ​เดิน​เท้า บาง​ครั้ง​พักผ่อน​ใต้​ร่ม​ไม้ ฟัง​เสียง​นก​ร้อง และ​จับตา​ดู​ฝูง​สุนัข​จิ้งจอก​วิ่ง​ตัด​หน้า​ขณะ​ที่​ผม​อยู่​บน​ทาง​เปลี่ยว. อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ก่อ​ความ​ยินดี​คือ​ผม​รู้​ว่า​การ​เยี่ยม​ของ​ผม​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ผู้​คน​อย่าง​แท้​จริง. หลาย​คน​เขียน​จดหมาย​แสดง​ความ​ขอบคุณ. บาง​คน​กล่าว​ขอบคุณ​ผม​เป็น​ส่วน​ตัว​เมื่อ​เรา​พบ​ปะ​กัน ณ การ​ประชุม​ใหญ่. ช่าง​เป็น​ความ​สุข​ใจ​สำหรับ​ผม​เสีย​จริง ๆ ที่​เห็น​ผู้​คน​เอา​ชนะ​ปัญหา​ส่วน​ตัว​ได้ และ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ!

ได้​ผู้​ช่วย​ใน​ที่​สุด

ระหว่าง​หลาย​ปี​ที่​เยี่ยม​หมวด ผม​เดิน​ทาง​เพียง​ลำพัง​อยู่​เนือง ๆ และ​นั่น​เป็น​บทเรียน​สอน​ผม​ให้​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา ประหนึ่ง ‘เป็น​ศิลา​และ​เป็น​ป้อม​ของ​ผม.’ (บทเพลง​สรรเสริญ 18:2) นอก​จาก​นี้ ผม​ได้​ตระหนัก​ว่า การ​อยู่​เป็น​โสด​ช่วย​ผม​ที่​จะ​จดจ่อ​ใส่​ใจ​ใน​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ได้​เต็ม​ที่.

อย่าง​ไร​ก็​ดี ปี 1978 ผม​ได้​รู้​จัก​ไพโอเนียร์​สาว​ชื่อ​ชูเลีย ทาคาฮาชิ. เธอ​สละ​งาน​ที่​มั่นคง​มี​ราย​ได้​ดี​ฐานะ​เป็น​พยาบาล​ใน​โรง​พยาบาล​ใหญ่​ของ​เมือง​เซาเปาลู เพื่อ​ไป​รับใช้​ใน​เขต​ที่​มี​ความ​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​มาก​กว่า. คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ที่​รู้​จัก​เธอ​ดี​ต่าง​ก็​ชม​ชอบ​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ทั้ง​ด้าน​วิญญาณ​และ​ความ​สามารถ​ของ​เธอ​ฐานะ​เป็น​ไพโอเนียร์. คุณ​คง​นึก​ภาพ​ได้​ที่​บาง​คน​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​เมื่อ​ผม​ตก​ลง​ใจ​จะ​แต่งงาน​หลัง​จาก​อยู่​เป็น​โสด​นาน​หลาย​ปี. เพื่อน​สนิท​คน​หนึ่ง​ไม่​อยาก​จะ​เชื่อ และ​เขา​สัญญา​ว่า​จะ​ยก​โค​น้ำหนัก 270 กิโลกรัม​ให้​ผม หาก​ผม​แต่งงาน​จริง ๆ. เรา​ย่าง​โค​ตัว​นั้น​ฉลอง​เลี้ยง​วัน​สมรส​ของ​เรา​ใน​วัน​ที่ 1 กรกฎาคม 1978.

พากเพียร​อด​ทน​ถึง​แม้​สุขภาพ​ไม่​แข็งแรง

ตลอด​แปด​ปี​หลัง​การ​แต่งงาน ชูเลีย​ร่วม​กับ​ผม​ใน​งาน​เยี่ยม​หมวด เรา​ไป​ด้วย​กัน​เมื่อ​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ทาง​ใต้​และ​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​บราซิล. ครั้น​แล้ว​ผม​เริ่ม​มี​อาการ​โรค​หัวใจ. ผม​หมด​สติ​สอง​ครั้ง​ใน​ระหว่าง​การ​ประกาศ ขณะ​ที่​ยัง​คุย​กับ​เจ้าของ​บ้าน​อยู่. เมื่อ​คำนึง​ถึง​ข้อ​จำกัด​ของ​ผม เรา​ตก​ลง​รับ​งาน​มอบหมาย​ฐานะ​ไพโอเนียร์​พิเศษ​ใน​เมือง​บิริกวี รัฐ​เซาเปาลู.

เมื่อ​มา​ถึง​จุด​นี้ พยาน​ฯ ใน​เมือง​บิริกวี​อาสา​พา​ผม​นั่ง​รถยนต์​ไป​พบ​แพทย์​ใน​เมือง​กอยยาเนีย ระยะ​ทาง​ห่าง​ออก​ไป​ประมาณ 500 กิโลเมตร. เมื่อ​สภาพ​ร่าง​กาย​ของ​ผม​ยัง​พอ​ไหว ผม​ได้​รับ​การ​ผ่าตัด​ฝัง​เครื่อง​คุม​จังหวะ​การ​เต้น​ของ​หัวใจ. นั่น​เป็น​เหตุ​การณ์​เมื่อ 20 ปี​ที่​แล้ว. แม้​ว่า​ผ่าน​การ​ผ่าตัด​หัวใจ​อีก​สอง​ครั้ง ผม​ยัง​คง​แข็งขัน​ใน​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก. ชูเลีย​ก็​เหมือน​ภรรยา​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​คน​อื่น ๆ หลาย​คน​ที่​เป็น​แหล่ง​เสริม​กำลัง​และ​ให้​การ​หนุน​ใจ​มิ​ได้​ขาด.

ถึง​แม้​ปัญหา​สุขภาพ​จำกัด​กิจกรรม​ของ​ผม และ​บาง​ครั้ง​เป็น​เหตุ​ทำ​ให้​ผม​ท้อ​แท้ แต่​ผม​ก็​ยัง​สามารถ​เป็น​ไพโอเนียร์​ได้. ผม​เตือน​ใจ​ตัว​เอง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​เคย​สัญญา​กับ​เรา​ว่า​ชีวิต​ใน​ระบบ​เก่า​นี้​จะ​มี​สภาพ​ที่​น่า​พอ​ใจ​หรือ​ปราศจาก​ปัญหา​โดย​สิ้นเชิง. ถ้า​อัครสาวก​เปาโล​และ​คริสเตียน​คน​อื่น ๆ ที่​ซื่อ​สัตย์​ครั้ง​โบราณ​ต้อง​พากเพียร​อด​ทน ทำไม​ใน​กรณี​ของ​เรา​จะ​ต้อง​แตกต่าง​ออก​ไป​ล่ะ?—กิจการ 14:22.

ไม่​นาน​มา​นี้ ผม​เจอ​พระ​คัมภีร์​เล่ม​แรก​ที่​ได้​มา​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1930. ที่​ปก​ด้าน​ใน ผม​จด​ตัว​เลข 350 ไว้ นั่น​คือ​จำนวน​ผู้​ประกาศ​ใน​ประเทศ​บราซิล ตอน​ที่​ผม​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​ปี 1943. ดู​เหมือน​ไม่​น่า​เชื่อ​เลย​ว่า เวลา​นี้​มี​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มาก​กว่า 600,000 คน​ใน​ประเทศ​บราซิล. ช่าง​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​จริง ๆ ที่​ได้​มี​ส่วน​เล็ก​น้อย​ใน​การ​เติบโต​เช่น​นี้! แน่นอน พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​ความ​พากเพียร​ของ​ผม​อย่าง​อุดม​บริบูรณ์. ผม​สามารถ​พูด​ได้​อย่าง​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ที่​กล่าว​ดัง​นี้: “พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​กระทำ​การ​มโหฬาร​แก่​พวก​ข้าพเจ้า, และ​พวก​ข้าพเจ้า​จึง​ชื่นชม​ยินดี.”—บทเพลง​สรรเสริญ 126:3.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​เวลา​นี้​งด​พิมพ์​แล้ว.

^ วรรค 23 ชาว​อิตาลี​เกือบ 1,000,000 คน​ได้​ย้าย​ถิ่น​เข้า​ไป​อยู่​ใน​เซาเปาลู​ระหว่าง​ปี 1870–1920.

[ภาพ​หน้า 9]

เหล่า​พยาน​ฯ โฆษณา คำ​บรรยาย​สาธารณะ ณ การ​ประชุม​ภาค​ครั้ง​แรก​ใน​เมือง​ซัลวาดอร์ ปี 1943

[ภาพ​หน้า 10]

เหล่า​พยาน​ฯ เดิน​ทาง​มา​ถึง​นคร​เซาเปาลู เพื่อ​ร่วม​การ​ประชุม​ภาค “ประชาชาติ​ทั้ง​หลาย​จง​ชื่น​ใจ​ยินดี” ปี 1946

[ภาพ​หน้า 11]

ขณะ​อยู่​ใน​งาน​เดิน​ทาง​เยี่ยม​ประชาคม ช่วง​ปลาย​ทศวรรษ 1950

[ภาพ​หน้า 12]

กับ​ชูเลีย ภรรยา​ของ​ผม