“ผู้ที่นับถือคำเตือนสอนเป็นผู้มีสติ”
“ผู้ที่นับถือคำเตือนสอนเป็นผู้มีสติ”
สุภาษิต 23:12 กล่าวว่า “จงสนใจในคำสั่งสอน [“การตีสอน,” ล.ม.] ทั้งหลายนั้น, และจงเอียงหูฟังคำทั้งปวงที่ประกอบด้วยความรู้.” ในข้อนี้ การใช้คำ “การตีสอน” หรือการฝึกอบรมทางศีลธรรม หมายรวมถึงทั้งการตีสอนตัวเองและการเตือนสอนที่เราได้รับจากผู้อื่น. การตีสอนเช่นนั้นต้องอาศัยความรู้ที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องแก้ไขและจะดำเนินการอย่างไร. ฉะนั้น “คำทั้งปวงที่ประกอบด้วยความรู้” จากแหล่งที่ไว้ใจได้คือสิ่งจำเป็นสำหรับการตีสอน.
พระธรรมสุภาษิตคือแหล่งที่ดีเยี่ยมที่จะพบถ้อยคำอันฉลาดสุขุม. สุภาษิตต่าง ๆ ในพระธรรมนี้มีไว้ “เพื่อคนเราจะรู้จักสติปัญญาและวินัย . . . เพื่อรับการตีสอนที่ทำให้มีความหยั่งเห็นเข้าใจ, ความชอบธรรม, ดุลพินิจ, และความเที่ยงธรรม.” (สุภาษิต 1:1-3, ล.ม.) นับว่าสุขุมที่เราจะ “เอียงหูฟัง” สุภาษิตเหล่านั้น. พระธรรมสุภาษิตบท 15 มีคำแนะนำที่ไว้ใจได้เกี่ยวกับการควบคุมความโกรธ, การใช้ลิ้น, และการเผยแพร่ความรู้. ให้เราพิจารณาสุภาษิตบทนั้นบางข้อ.
อะไร “ทำให้ ความโกรธผ่านพ้นไป”?
ในการพรรณนาวิธีที่คำพูดมีผลต่อความโกรธ กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณกล่าวว่า “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป; แต่คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.” (สุภาษิต 15:1) คำ “โทโส” ได้รับการนิยามว่า “ความโกรธ, ความฉุนเฉียว.” มีการนิยามคำ “ความโกรธ” ว่า “ความรู้สึกขุ่นเคืองใจอย่างแรงซึ่งควบคุมได้ยาก.” สุภาษิตข้อนี้ช่วยเราได้อย่างไรให้รับมือกับความโกรธของอีกฝ่ายหนึ่งรวมทั้งจัดการกับความโกรธของเราเอง?
คำพูดที่เชือดเฉือนอย่างเผ็ดร้อนอาจทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายกลับแย่ลงไปอีก. ในอีกด้านหนึ่ง คำตอบอ่อนหวานมักทำให้ใจสงบลงได้. กระนั้น การตอบคนที่กำลังโกรธโดยใช้คำพูดอ่อนหวานไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ช่วยเราได้คือการพยายามเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาโกรธ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สติปัญญาย่อมทำให้คนไม่โกรธเร็ว, และการไม่ถือโทษนั้นก็เป็นมงคลแก่เขา.” (สุภาษิต 19:11) เป็นไปได้ไหมว่าที่เขาโกรธก็เพราะเขาขาดความมั่นใจหรือต้องการให้สนใจ? เหตุผลที่แท้จริงอาจไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เราอาจได้พูดหรือทำไป. เมื่อเราไปประกาศและพบว่าเจ้าของบ้านเกิดความไม่พอใจ บ่อยครั้งเป็นเพราะเขาได้รับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับความเชื่อของเราหรือมีอคติเพราะความเข้าใจผิดบางอย่างมิใช่หรือ? เราควรคิดว่าเจ้าของบ้านโจมตีเราเป็นส่วนตัวและตอบกลับไปด้วยถ้อยคำเจ็บแสบไหม? แม้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเหตุใดบางคนจึงโกรธเรา แต่การตอบด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อนก็อาจบ่งชี้ว่าเราขาดการบังคับตนเอง. พึงหลีกเลี่ยงการทำเช่นนั้น.
นอกจากนั้น คำแนะนำที่ให้ตอบด้วยคำพูดอ่อนหวานยังมีคุณค่าอย่างมากเมื่อจัดการกับความโกรธของเราเอง. เราสามารถนำคำแนะนำนี้มาใช้โดยเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกในแบบที่ไม่ทำให้ผู้ฟังขุ่นเคือง. เมื่อปฏิบัติกับคนในครอบครัว แทนที่จะใช้คำพูดเจ็บแสบหรือเรียกพวกเขาโดยใช้คำพูดดูถูก เราพยายามแสดงความรู้สึกออกมาด้วยท่าทีที่สงบ. ตามปกติแล้ว คำพูดก้าวร้าวยั่วให้เกิดการแก้เผ็ด. การเผยความรู้สึกของเราอย่างนุ่มนวลทำให้ฟังดูไม่เป็นการตำหนิและอาจกระตุ้นให้เขาแก้ไขความประพฤติ.
“ลิ้นของคนที่มีปัญญาย่อมกล่าวความรู้ที่ถูกต้อง”
การใช้วินัยกับตัวเองส่งผลกระทบต่อวิธีที่เราพูดรวมทั้งสิ่งที่เราพูดด้วย. ซะโลโมกล่าวว่า “ลิ้นของคนที่มีปัญญาย่อมกล่าวความรู้ที่ถูกต้องออกมา; แต่ความโฉดเขลาย่อมพลุ่งออกมาจากปากของคนโฉดเสมอ.” (สุภาษิต 15:2) เมื่อเราพัฒนาความปรารถนาที่จะช่วยผู้อื่นและพูดเรื่องพระประสงค์ของพระเจ้าและการจัดเตรียมอันยอดเยี่ยมของพระองค์ เรากำลัง “กล่าวความรู้ที่ถูกต้อง” มิใช่หรือ? คนโฉดเขลาไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะเขาไม่มีความรู้.
ก่อนที่จะให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ลิ้น ซะโลโมกล่าวถึงความแตกต่างที่กระตุ้นให้คิด. “พระเนตรของพระยะโฮวาอยู่ทั่วทุกแห่ง, เฝ้าดูทั้งคนชั่วและคนดี.” (สุภาษิต 15:3) เรายินดีในเรื่องนี้ได้เพราะเราแน่ใจว่า “พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรไปทั่วพิภพโลก, เพื่อจะสำแดงว่าพระองค์ทรงฤทธานุภาพสถิตอยู่กับคนทั้งปวงที่มีใจซื่อสัตย์สุจริตต่อพระองค์.” (2 โครนิกา 16:9) พระเจ้าทรงทราบเมื่อเรากำลังทำสิ่งดี. พระองค์สังเกตคนที่กระทำความชั่วด้วยและจะทรงคิดบัญชีกับพวกเขา.
ซะโลโมกล่าวต่อไปโดยเน้นคุณค่าของคำพูดที่สุภาพดังนี้: “ลิ้นที่สุภาพเป็นดุจต้นไม้แห่งชีวิต; และลิ้นที่กะด้างหลงผิดย่อมทำให้จิตต์ใจแตกร้าวไป.” (สุภาษิต 15:4) วลีที่ว่า “ต้นไม้แห่งชีวิต” บ่งชี้ถึงคุณลักษณะแห่งการเยียวยาและการเสริมกำลัง. (วิวรณ์ 22:2) คำพูดที่สุภาพของคนฉลาดทำให้ผู้ที่ได้ยินชื่นใจ. คำพูดเช่นนั้นกระตุ้นให้ผู้ฟังแสดงคุณลักษณะที่ดีออกมา. ในทางตรงกันข้าม ลิ้นที่หลอกลวงหรือดึงดันไปในทางที่ผิดเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้ยินเจ็บช้ำน้ำใจ.
รับเอาการตีสอนและ “เผยแพร่ความรู้”
กษัตริย์ผู้ฉลาดสุขุมกล่าวต่อไปว่า “คนโฉดเขลามักประมาทคำสั่งสอนของบิดาตน; แต่ผู้ที่นับถือคำเตือนสอนเป็นผู้มีสติ.” (สุภาษิต 15:5) คนเราจะ “นับถือคำเตือนสอน” ได้อย่างไรถ้าไม่มีใครเตือนสอนเขา? ข้อคัมภีร์นี้บ่งชี้ว่าต้องมีการตีสอนเพื่อแก้ไขตามที่จำเป็นมิใช่หรือ? ในครอบครัว เป็นหน้าที่รับผิดชอบของบิดามารดา—โดยเฉพาะบิดา—ที่จะตีสอน และเป็นหน้าที่ของลูก ๆ ที่จะรับเอาการตีสอนนั้น. (เอเฟโซ 6:1-3) อย่างไรก็ตาม ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทุกคนล้วนรับการตีสอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. เฮ็บราย 12:6 กล่าวว่า “พระองค์ทรงรักผู้ใด, พระองค์จึงทรงตีสอนผู้นั้น และพระองค์ทรงรับคนใดเป็นบุตร, พระองค์ก็ทรงเฆี่ยนตีผู้นั้น.” การตอบรับการตีสอนเผยให้เห็นว่าเราเป็นคนฉลาดหรือโฉดเขลา.
เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างอีกประการหนึ่ง ซะโลโมกล่าวว่า “ริมฝีปากของคนมีปัญญาย่อมเผยแพร่ความรู้; แต่ใจของคนโฉดเขลาหาเป็นเช่นนั้นไม่.” (สุภาษิต 15:7) การเผยแพร่ความรู้เป็นเหมือนการหว่านเมล็ด. ในสมัยโบราณ ชาวนาจะไม่หว่านเมล็ดทั้งหมดลงที่จุดเดียว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาหว่านเมล็ดทีละน้อยทั่วทุ่งนา. การเผยแพร่ความรู้ก็เช่นกัน. ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพบคนหนึ่งในงานประกาศ คงไม่ดีแน่ถ้าเราจะอธิบายทุกเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลให้เขาฟังในคราวเดียว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คนฉลาดจะควบคุมการพูด. เขา “เผยแพร่” ความรู้เมื่อค่อย ๆ เน้นความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องเดียวในแต่ละครั้ง แล้วค่อยสานต่อจากเรื่องนั้น โดยคำนึงถึงการตอบรับของผู้ฟัง. พระเยซูคริสต์ผู้เป็นแบบอย่างของเราทรงทำเช่นนั้นเมื่อตรัสกับหญิงชาวซะมาเรีย.—โยฮัน 4:7-26.
สุภาษิต 15:28) นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่คำพูดของเราควรเป็นเหมือนน้ำฝนที่ค่อย ๆ โปรยปรายลงมาให้ความชุ่มชื้นและเป็นประโยชน์ ไม่ควรเป็นเหมือนกระแสน้ำเชี่ยวกรากอันไม่พึงประสงค์ซึ่งกวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไป!
การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวข้องกับการพูดสิ่งที่เป็นคำสอนและให้ประโยชน์. ต้องมีการใคร่ครวญอย่างดีเพื่อจะพูดอย่างที่ให้ความรู้และการหนุนใจ. ฉะนั้น “ใจของคนชอบธรรมตรึกตรองก่อนแล้วจึงตอบ.” (‘บริสุทธิ์ในการประพฤติ’
การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์รวมทั้งการถวาย “ผลแห่งริมฝีปาก” เป็น “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญ” เป็นแนวทางแห่งสติปัญญาอย่างแท้จริง. (เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม เพื่อที่เครื่องบูชาเช่นนั้นจะเป็นที่ยอมรับจำเพาะพระยะโฮวา เราต้อง “เป็นคนบริสุทธิ์ในบรรดาการประพฤติทุกอย่าง.” (1 เปโตร 1:14-16) โดยใช้สุภาษิตเกี่ยวกับสิ่งที่ตรงข้ามกันสองอย่าง ซะโลโมช่วยให้เราเห็นความจริงที่สำคัญอย่างชัดเจน. ท่านกล่าวว่า “เครื่องบูชาของคนชั่วเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา; แต่การอธิษฐานของคนตรงเป็นที่โสมนัสแต่พระองค์. ทางของคนชั่วเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา; แต่พระองค์ก็ทรงรักผู้ที่ติดตามความชอบธรรม.”—สุภาษิต 15:8, 9.
คนที่ออกไปจากทางแห่งชีวิตมีทัศนะเช่นไรต่อคำเตือนสอน และพวกเขาจะได้รับผลเช่นไร? (มัดธาย 7:13, 14) “คนใดที่ละทิ้งทางดีนั้นจะถูกตีสอนอย่างสาหัส; และคนใดที่เกลียดการตักเตือนจะถึงแก่ความตาย.” (สุภาษิต 15:10) แทนที่จะยอมรับการตักเตือนแก้ไขจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียนและกลับใจจริง ๆ บางคนซึ่งกำลังติดตามแนวทางที่ผิดเลือกที่จะละทิ้งทางแห่งความชอบธรรม. ช่างโง่เขลาสักเพียงไร!
จะว่าอย่างไรกับบางคนที่แสร้งทำเป็นยอมรับคำเตือนสอน แต่จริง ๆ แล้วเขาเกลียดสิ่งนั้น? นั่นก็เป็นความโฉดเขลาเช่นกัน. กษัตริย์ชาติอิสราเอลกล่าวว่า “เชโอลและแดนแห่งความพินาศอยู่ตรงพระพักตร์พระยะโฮวา. หัวใจของบุตรทั้งหลายของมนุษยชาติจะยิ่งกว่านั้นสักเพียงไร!” (สุภาษิต 15:11, ล.ม.) ในแง่ความหมายเป็นนัย ไม่มีอะไรจะห่างไกลจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ได้มากกว่าเชโอลหรือแดนแห่งความตาย. กระนั้น มันก็อยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์. พระองค์ทรงรู้จักตัวบุคคลและบุคลิกภาพของทุกคนที่อยู่ที่นั่นและสามารถปลุกพวกเขาให้กลับเป็นขึ้นจากตายได้. (บทเพลงสรรเสริญ 139:8; โยฮัน 5:28, 29) สำหรับพระยะโฮวาแล้ว การรู้สิ่งที่อยู่ในหัวใจมนุษย์ก็เป็นเรื่องง่ายดายเสียจริง ๆ! อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “สรรพสิ่งปรากฏแจ้งต่อพระเนตรของพระองค์ผู้ซึ่งเราต้องให้การ นั้น.” (เฮ็บราย 4:13) การเสแสร้งอาจหลอกมนุษย์ได้ แต่หลอกพระเจ้าไม่ได้.
คนที่ปฏิเสธการตีสอนไม่ได้รังเกียจเฉพาะคำเตือนสอนเท่านั้น แต่เขารังเกียจคนที่ให้การเตือนสอนด้วย. ซะโลโมกล่าวว่า “คนมักประมาทเยาะเย้ยไม่ชอบให้ใครเตือน.” เพื่อเน้นเรื่องนี้ ท่านกล่าวถึงอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันว่า “เขาจะไม่ไปสู่หาคนมีปัญญา.” (สุภาษิต 15:12) แทบจะไม่มีหวังเลยที่คนเช่นนั้นจะทำทางของเขาให้ตรง!
การมองในแง่ดี
สุภาษิตสามข้อถัดไปของซะโลโมเกี่ยวข้องกับคำว่า “หัวใจ.” ในการพรรณนาถึงอารมณ์ที่ส่งผลต่อสีหน้าของเรา กษัตริย์ผู้ฉลาดสุขุมกล่าวว่า “ใจ [“หัวใจ,” ล.ม.] ที่ชื่นบานทำให้ดวงหน้าสดใส; แต่ความเศร้าใจ [“หัวใจที่เจ็บปวด,” ล.ม.] ทำให้จิตต์แตกร้าว.”—สุภาษิต 15:13.
อะไรอาจเป็นเหตุให้หัวใจเจ็บปวดได้? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความกระวนกระวายในหัวใจคนจะทำให้หัวใจท้อแท้ [ด้วยความเศร้า].” (สุภาษิต 12:25, ล.ม.) เราจะป้องกันไม่ให้แง่มุมในด้านลบเกี่ยวกับชีวิตเซาะกร่อนจิตใจของเราได้อย่างไร? แทนที่จะครุ่นคิดตลอดเวลาเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่แทบจะควบคุมไม่ได้ เราสามารถคิดใคร่ครวญถึงพระพรฝ่ายวิญญาณอันอุดมที่พระยะโฮวาประทานแก่เราในเวลานี้และสิ่งที่พระองค์จะทำเพื่อเราในอนาคต. การทำเช่นนี้จะทำให้เราใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น. ใช่แล้ว การเข้าใกล้ “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข” จะทำให้หัวใจที่ห่อเหี่ยวของเรามีความยินดี.—1 ติโมเธียว 1:11.
ยิ่งกว่านั้น ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลเป็นแหล่งที่ดีเยี่ยมในการชูใจและให้ความยินดี. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่าความสุขเป็นของคนที่ ‘ยินดีในพระบัญญัติของพระยะโฮวา; และคิดรำพึงอยู่ในพระธรรมของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน.’ (บทเพลงสรรเสริญ 1:1, 2) แม้ในยามที่เราปวดร้าวใจ การอ่านและการคิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลจะหนุนใจเรา. นอกจากนี้ยังมีงานรับใช้ที่พระเจ้าประทานให้เราด้วย. เราได้รับคำรับรองว่า “คนที่หว่านพืชด้วยน้ำตาไหลจะเก็บเกี่ยวผลด้วยความยินดี.”—บทเพลงสรรเสริญ 126:5.
ซะโลโมกล่าวว่า “ใจของคนที่มีความเข้าใจแล้วย่อมแสวงหาความรู้; แต่ปากของคนโฉดย่อมเสพความโฉดเขลา.” (สุภาษิต 15:14) สุภาษิตข้อนี้ชี้ให้เราสนใจความแตกต่างอย่างชัดแจ้งระหว่างคำแนะนำของคนฉลาดกับของคนโฉดเขลา. หัวใจของคนที่มีความเข้าใจจะแสวงหาความรู้ก่อนให้คำแนะนำ. เขาตั้งใจฟังและทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ดีพอ. เขาค้นคว้าพระคัมภีร์เพื่อให้แน่ใจในกฎและหลักการที่จะนำมาใช้กับสถานการณ์นั้น ๆ. คำแนะนำของเขาอาศัยพระคำของพระเจ้าอย่างแท้จริง. อย่างไรก็ตาม คนโฉดเขลาไม่สนใจที่จะสืบหาข้อเท็จจริงของสถานการณ์นั้น ๆ และคิดอะไรได้ก็พูดโพล่งออกมาทันที. ด้วยเหตุนั้น ขณะที่เราเสาะหาคำแนะนำ นับว่าสุขุมที่เราจะไปหาคนที่มีความรู้และมีความอาวุโส แทนที่จะไปหาคนที่อาจมีแนวโน้มจะพูดในสิ่งที่เราต้องการได้ยิน. นับว่าเป็นเรื่องที่ดีสักเพียงไรที่มี “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ในประชาคมคริสเตียน ซึ่ง “แสวงหาความรู้” ก่อนให้คำแนะนำ! —เอเฟโซ 4:8, ล.ม.
สุภาษิตถัดไปกล่าวถึงผลประโยชน์อันยอดเยี่ยมของการมีความคิดในแง่บวก. กษัตริย์ชาติอิสราเอลกล่าวว่า “วันเวลาทั้งหมดของคนรับทุกข์เป็นที่เศร้าหมอง; แต่คนที่มีใจชื่นบานเปรียบเหมือนมีการเลี้ยงอยู่เสมอ.” (สุภาษิต 15:15) ชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตา. ถ้าเราเอาแต่จมอยู่กับการคิดในแง่ลบ ความห่อเหี่ยวใจจะครอบงำความคิดเรา และตลอดชีวิตของเราจะมีแต่ความเศร้าหมอง. อย่างไรก็ตาม ถ้าเราใคร่ครวญพระพรที่เราเองได้รับและความหวังที่พระเจ้าประทานให้ ความทุกข์ลำบากในชีวิตจะกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญและเราจะมีความสุขในหัวใจ. การมีความคิดในแง่บวกทำให้เป็นไปได้ที่เราจะมีความยินดี “เหมือนมีการเลี้ยงอยู่เสมอ.”
ฉะนั้น ขอให้เราถือว่าการตีสอนมีประโยชน์อย่างมาก. ขอให้การตีสอนส่งผลต่อเราไม่เฉพาะอารมณ์, คำพูด, และการกระทำเท่านั้น แต่รวมถึงทัศนะของเราด้วย.
[ภาพหน้า 13]
“คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป”
[ภาพหน้า 15]
เป็นหน้าที่รับผิดชอบของบิดามารดาที่จะให้การตีสอน
[ภาพหน้า 15]
“ริมฝีปากของคนมีปัญญาย่อมเผยแพร่ความรู้”