ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘จงดำเนินต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ’

‘จงดำเนินต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ’

‘จง​ดำเนิน​ต่อ ๆ ไป​โดย​ปราศจาก​การ​บ่น​พึมพำ’

“จง​ทำ​ทุก​สิ่ง​ต่อ ๆ ไป​โดย​ปราศจาก​การ​บ่น​พึมพำ.”—ฟิลิปปอย 2:14, ล.ม.

1, 2. อัครสาวก​เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​แก่​คริสเตียน​ใน​เมือง​ฟิลิปปี​และ​โครินท์ และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

ใน​จดหมาย​ที่​เขียน​โดย​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ถึง​ประชาคม​คริสเตียน​เมือง​ฟิลิปปี​ใน​ศตวรรษ​แรก มี​คำ​ชม​มาก​มาย​ของ​อัครสาวก​เปาโล. ท่าน​เขียน​ชม​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​เมือง​นั้น​สำหรับ​ความ​มี​น้ำใจ​เอื้อเฟื้อ​และ​กระตือรือร้น และ​ท่าน​แสดง​ความ​ยินดี​ใน​การ​งาน​ที่​ดี​ของ​พวก​เขา. แต่​กระนั้น เปาโล​เตือน​พวก​เขา​ให้ “ทำ​ทุก​สิ่ง​ต่อ ๆ ไป​โดย​ปราศจาก​การ​บ่น​พึมพำ.” (ฟิลิปปอย 2:14, ล.ม.) เพราะ​เหตุ​ใด​ท่าน​อัครสาวก​จึง​ให้​คำ​เตือน​นี้?

2 เปาโล​ทราบ​ว่า​การ​บ่น​พึมพำ​อาจ​นำ​ไป​สู่​อะไร. ไม่​กี่​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น ท่าน​ได้​เตือน​ประชาคม​ใน​เมือง​โครินท์​ว่า​การ​บ่น​พึมพำ​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้. เปาโล​ชี้​ว่า​ขณะ​ที่​ชาว​อิสราเอล​อยู่​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร พวก​เขา​ได้​กระตุ้น​ให้​พระ​ยะโฮวา​พิโรธ​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า. โดย​วิธี​ใด? โดย​ปรารถนา​จะ​ได้​สิ่ง​ที่​เป็น​อันตราย, โดย​ไหว้​รูป​เคารพ​และ​ผิด​ประเวณี, โดย​ทดลอง​พระ​ยะโฮวา, และ​โดย​บ่น​พึมพำ. เปาโล​สนับสนุน​ชาว​โครินท์​ให้​เรียน​จาก​ตัว​อย่าง​เหล่า​นี้. ท่าน​เขียน​ว่า “อย่า​บ่น​เหมือน​บาง​คน​ใน​พวก​เขา​ได้​บ่น, แล้ว​ก็​พินาศ​ด้วย​เพชฌฆาต.”—1 โกรินโธ 10:6-11.

3. เหตุ​ใด​การ​บ่น​พึมพำ​เป็น​เรื่อง​ที่​ควร​สนใจ​ใน​ปัจจุบัน?

3 ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ใน​สมัย​ปัจจุบัน เรา​แสดง​น้ำใจ​ที่​คล้าย​กัน​กับ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ฟิลิปปี. เรา​กระตือรือร้น​เพื่อ​การ​งาน​ที่​ดี และ​เรา​มี​ความ​รัก​ใน​หมู่​พวก​เรา. (โยฮัน 13:34, 35) เมื่อ​คำนึง​ถึง​ผล​เสียหาย​ที่​การ​บ่น​พึมพำ​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​ท่ามกลาง​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ใน​อดีต เรา​มี​เหตุ​ผล​ที่​ดี​ที่​จะ​ใส่​ใจ​คำ​แนะ​นำ​ที่​ว่า “จง​ทำ​ทุก​สิ่ง​ต่อ ๆ ไป​โดย​ปราศจาก​การ​บ่น​พึมพำ.” ก่อน​อื่น ให้​เรา​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​การ​บ่น​พึมพำ​ที่​พระ​คัมภีร์​กล่าว​ถึง. หลัง​จาก​นั้น เรา​จะ​พิจารณา​บาง​สิ่ง​ที่​เรา​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​ที่​เกิด​จาก​การ​บ่น​พึมพำ​ใน​ทุก​วัน​นี้.

กลุ่ม​คน​ชั่ว​ร้าย​ที่​บ่น​ว่า​พระ​ยะโฮวา

4. ชาว​อิสราเอล​บ่น​อย่าง​ไร​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร?

4 คำ​ฮีบรู​ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า ‘บ่น​พึมพำ, บ่น​งึมงำ, บ่น​ว่า, หรือ​บ่น​เสียง​ดัง’ ใช้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เหตุ​การณ์​ใน​ช่วง 40 ปี​ที่​ชาติ​อิสราเอล​รอน​แรม​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร. ใน​บาง​โอกาส ชาว​อิสราเอล​ไม่​พอ​ใจ​สภาพ​ความ​เป็น​อยู่​ของ​ตน​และ​แสดง​ความ​ไม่​พอ​ใจ​ด้วย​การ​บ่น. ตัว​อย่าง​เช่น เพียง​ไม่​กี่​สัปดาห์​หลัง​จาก​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ให้​หลุด​พ้น​การ​เป็น​ทาส​ใน​อียิปต์ “ชน​ชาติ​ยิศราเอล​ก็​พา​กัน​บ่น​ต่อ​โมเซ​และ​อาโรน.” ชาว​อิสราเอล​บ่น​เรื่อง​อาหาร โดย​กล่าว​ว่า “พวก​ข้าพเจ้า​ใคร่​จะ​ได้​ตาย​เสีย​ด้วย​พระ​หัตถ์​พระ​ยะโฮวา​ใน​ประเทศ​อายฆุบโต, ขณะ​เมื่อ​อยู่​ใกล้​หม้อ​เนื้อ​อัน​ได้​รับประทาน​อาหาร​อิ่ม​หนำ; แต่​นี่​ท่าน​ทั้ง​สอง​กลับ​นำ​พวก​ข้าพเจ้า​ออก​มา​ใน​ป่า​กันดาร​นี้, เพื่อ​จะ​ให้​อด​อาหาร​ตาย​เท่า​นั้น.”—เอ็กโซโด 16:1-3.

5. เมื่อ​ชาว​อิสราเอล​บ่น ที่​แท้​แล้ว​การ​บ่น​ของ​พวก​เขา​มุ่ง​ไป​ถึง​ใคร?

5 จริง ๆ แล้ว พระ​ยะโฮวา​ทรง​ค้ำจุน​ชาว​อิสราเอล​ให้​มี​สิ่ง​จำเป็น​ขณะ​อยู่​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร จัด​หา​อาหาร​และ​น้ำ​ให้​พวก​เขา​ด้วย​ความ​รัก. ไม่​เคย​มี​ความ​เสี่ยง​ถึง​ขนาด​ที่​ชน​อิสราเอล​จะ​ตาย​เพราะ​ขาด​อาหาร​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร. ถึง​กระนั้น ด้วย​ความ​ไม่​พอ​ใจ​พวก​เขา​พูด​ถึง​ความ​ลำบาก​ของ​ตน​แบบ​เกิน​จริง​และ​เริ่ม​บ่น. แม้​คำ​บ่น​ว่า​ของ​พวก​เขา​มุ่ง​ไป​ที่​โมเซ​และ​อาโรน แต่​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระ​ยะโฮวา​เป้า​ที่​แท้​จริง​ของ​ความ​ไม่​พอ​ใจ​ของ​พวก​เขา​คือ​พระองค์​เอง. โมเซ​บอก​ชาว​อิสราเอล​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​ทราบ​คำ​บ่น​ซึ่ง​เจ้า​ได้​บ่น​ต่อ​ว่า​พระองค์. เรา​ทั้ง​สอง​นี้​เป็น​ผู้​ใด? พวก​เจ้า​มิ​ได้​บ่น​ต่อ​ว่า​เรา, แต่​ได้​บ่น​ต่อ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ต่าง​หาก.”—เอ็กโซโด 16:4-8.

6, 7. ดัง​เห็น​ได้​จาก​อาฤธโม 14:1-3 เจตคติ​ของ​ชาว​อิสราเอล​ได้​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​ไร?

6 ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ชาว​อิสราเอล​บ่น​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. โมเซ​ส่ง 12 คน​ไป​สอดแนม​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา. สิบ​คน​ใน​พวก​เขา​กลับ​มา​แล้ว​รายงาน​ใน​แง่​ลบ. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? “บรรดา​พวก​ยิศราเอล​ได้​บ่น​ติเตียน​โมเซ​แล​อาโรน, คน​เหล่า​นั้น​ได้​ว่า​แก่​เขา​ว่า, ถ้า​พระเจ้า​ได้​ทำ​ให้​เรา​ตาย​ที่​ประเทศ​อายฆุบโต​ดี​กว่า, ถ้า​พระเจ้า​จะ​ให้​เรา​ตาย​ใน​ป่า​นี้​ก็​ดี​กว่า​นี้​อีก. เหตุ​ไฉน​พระ​ยะโฮวา​ได้​พา​เรา​ออก​จาก​ประเทศ​นั้น​มา​ให้​ล้ม​ตาย​ด้วย​คม​กระบี่, แล​ลูก​เมีย​ของ​เรา​เป็น​ทาส​เชลย​เขา​เล่า, ที่​เรา​จะ​กลับ​ไป​ยัง​ประเทศ​อายฆุบโต​จะ​มิ​ดี​กว่า​หรือ?”—อาฤธโม 14:1-3.

7 เจตคติ​ของ​ชาติ​อิสราเอล​เปลี่ยน​ไป​มาก​ที​เดียว! ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ใน​ตอน​แรก​ที่​ได้​รับ​การ​ปลด​ปล่อย​จาก​อียิปต์​และ​การ​ช่วย​ให้​รอด​ผ่าน​ทะเล​แดง​กระตุ้น​พวก​เขา​ให้​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา. (เอ็กโซโด 15:1-21) แต่​เมื่อ​พบ​กับ​ความ​ไม่​สะดวก​สบาย​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร​และ​ความ​กลัว​พวก​คะนาอัน ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ของ​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ก็​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​ความ​ไม่​พอ​ใจ. แทน​ที่​จะ​ขอบคุณ​พระเจ้า​ที่​ประทาน​อิสรภาพ​ให้ พวก​เขา​กลับ​ตำหนิ​พระองค์​ด้วย​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​มอง​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​เป็น​ความ​ขาด​แคลน. ด้วย​เหตุ​นั้น การ​ที่​พวก​เขา​บ่น​จึง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​ขาด​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​ของ​พระ​ยะโฮวา. ไม่​แปลก​ที่​พระองค์​ตรัส​ว่า “เรา​จะ​ทน​ชุมนุม​ชน​ชั่ว​ร้าย​นี้​บ่น​ต่อ​เรา​นาน​สัก​เท่า​ใด.”—อาฤธโม 14:27, ฉบับ​แปล​ใหม่; 21:5.

การ​บ่น​พึมพำ​ใน​ศตวรรษ​แรก

8, 9. จง​ยก​ตัว​อย่าง​การ​บ่น​พึมพำ​ที่​บันทึก​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก.

8 ตัว​อย่าง​การ​บ่น​ที่​ได้​กล่าว​ไป​แล้ว​เกี่ยว​ข้อง​กับ​กลุ่ม​ชน​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​ได้​แสดง​ความ​ไม่​พอ​ใจ​ออก​มา​อย่าง​โจ่งแจ้ง. แต่​ใน​คราว​ที่​พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​อยู่​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​เพื่อ​ร่วม​เทศกาล​ตั้ง​ทับ​อาศัย​ใน​ปี​สากล​ศักราช 32 “ประชาชน​ก็​ซุบซิบ กัน​ถึง​พระองค์​เป็น​อัน​มาก.” (โยฮัน 7:12, 13, 32, ฉบับ​แปล​ใหม่) พวก​เขา​กระซิบ​กัน​เรื่อง​พระองค์ บาง​คน​พูด​ว่า​พระองค์​เป็น​คน​ดี แต่​บาง​คน​บอก​ว่า​พระองค์​เป็น​คน​ไม่​ดี.

9 ใน​อีก​โอกาส​หนึ่ง พระ​เยซู​กับ​เหล่า​สาวก​เป็น​แขก​รับ​เชิญ​ที่​บ้าน​ของ​เลวี​หรือ​มัดธาย ซึ่ง​เป็น​คน​เก็บ​ภาษี. “พวก​ฟาริซาย​และ​พวก​อาลักษณ์​ของ​เขา​กระซิบ​บ่น​ติ​พวก​ศิษย์​ของ​พระองค์​ว่า, ‘เหตุ​ไฉน​พวก​ท่าน​มา​กิน​และ​ดื่ม​กับ​พวก​เก็บ​ภาษี​และ​กับ​พวก​คน​บาป?’ ” (ลูกา 5:27-30) ใน​เวลา​ต่อ​มา​ที่​แกลิลี “พวก​ยูดาย​จึง​กระซิบ​บ่น​ว่า​พระองค์​เพราะ​พระองค์​ตรัส​ว่า, ‘เรา​เป็น​ทิพย์​อาหาร​ที่​ลง​มา​จาก​สวรรค์.’ ” แม้​แต่​สาวก​บาง​คน​ของ​พระ​เยซู​ก็​ขุ่นเคือง​เพราะ​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์​และ​เริ่ม​บ่น​พึมพำ.—โยฮัน 6:41, 60, 61.

10, 11. เหตุ​ใด​ชาว​ยิว​ที่​พูด​ภาษา​กรีก​จึง​บ่น และ​โดย​วิธี​ใด​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​สามารถ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​วิธี​จัด​การ​กับ​การ​ร้อง​ทุกข์​นั้น?

10 ใน​อีก​กรณี​หนึ่ง​ของ​การ​บ่น​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ภาย​หลัง​วัน​เพนเทคอสต์​ปี​สากล​ศักราช 33 ไม่​นาน ผล​ออก​มา​ใน​แง่​ที่​ดี​กว่า. ใน​ตอน​นั้น สาวก​หลาย​คน​ที่​เพิ่ง​เปลี่ยน​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ​จาก​ที่​ต่าง ๆ นอก​เขต​ประเทศ​อิสราเอล​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​ดี​จาก​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​ยูเดีย แต่​มี​ปัญหา​เกิด​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​การ​แจก​ปัน​สิ่ง​ที่​มี​อยู่. บันทึก​รายงาน​ว่า “พวก​ยิว​ที่​พูด​กรีก​พา​กัน​บ่น​ติเตียน​พวก​ยิว​ที่​พูด​ฮีบรู เพราะ​บรรดา​แม่​ม่าย​ของ​พวก​เขา​ถูก​ทอดทิ้ง​ไม่​ได้​รับ​แจก​อาหาร​ประจำ​วัน.”—กิจการ 6:1, ฉบับ​แปล 2002.

11 คน​เหล่า​นี้​ที่​บ่น​ไม่​เหมือน​กับ​ชาว​อิสราเอล​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร. ชาว​ยิว​ที่​พูด​ภาษา​กรีก​กลุ่ม​นี้​ไม่​ได้​แสดง​ความ​ไม่​พอ​ใจ​อย่าง​เห็น​แก่​ตัว​เกี่ยว​กับ​สภาพ​ความ​เป็น​อยู่​ใน​ชีวิต​ของ​ตน​เอง. พวก​เขา​เรียก​ร้อง​ให้​สนใจ​ว่า​มี​การ​ละเลย​ไม่​ดู​แล​ความ​จำเป็น​ของ​แม่​ม่าย​บาง​คน. นอก​จาก​นั้น คน​เหล่า​นี้​ที่​บ่น​ไม่​ได้​ทำ​ตัว​เป็น​ผู้​สร้าง​ความ​เดือดร้อน​หรือ​บ่น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​โจ่งแจ้ง. พวก​เขา​มุ่ง​บ่น​ว่า​อัครสาวก และ​เหล่า​อัครสาวก​ก็​ได้​ดำเนิน​การ​แก้ไข​ทันที​เพราะ​การ​ร้อง​ทุกข์​นั้น​มี​เหตุ​ผล​สม​ควร. เหล่า​อัครสาวก​ช่าง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​จริง ๆ สำหรับ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ใน​ทุก​วัน​นี้! ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ฝ่าย​วิญญาณ​เหล่า​นี้​ระมัดระวัง​เพื่อ​จะ​ไม่ “ปิด​หู​ของ​ตน​ไว้​ไม่​ฟัง​คำ​ร้อง​ทุกข์​ของ​คน​จน.”—สุภาษิต 21:13; กิจการ 6:2-6.

จง​ระวัง​อำนาจ​กัด​กร่อน​ของ​การ​บ่น

12, 13. (ก) จง​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ให้​เห็น​ผล​ของ​การ​บ่น. (ข) อะไร​อาจ​กระตุ้น​ให้​คน​เรา​บ่น?

12 ตัว​อย่าง​ส่วน​ใหญ่​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​เรา​ได้​พิจารณา​กัน​แล้ว​แสดง​ว่า​การ​บ่น​ก่อ​ความ​เสียหาย​อย่าง​มาก​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ใน​อดีต. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ควร​คิด​อย่าง​จริงจัง​เกี่ยว​กับ​อำนาจ​กัด​กร่อน​ของ​การ​บ่น​ซึ่ง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ใน​ทุก​วัน​นี้. ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ตัว​อย่าง​หนึ่ง​อาจ​ช่วย​ให้​เห็น​ชัด​ขึ้น. โลหะ​หลาย​ชนิด​มี​แนว​โน้ม​ตาม​ธรรมชาติ​ที่​จะ​เป็น​สนิม. หาก​ไม่​สนใจ​เมื่อ​เริ่ม​เห็น​ร่องรอย​ของ​สนิม โลหะ​นั้น​อาจ​เป็น​สนิม​จน​ถึง​ขั้น​ที่​ใช้​งาน​ไม่​ได้​อีก​ต่อ​ไป. รถยนต์​จำนวน​นับ​ไม่​ถ้วน​ถูก​ทิ้ง​เป็น​เศษ​เหล็ก ไม่​ใช่​เพราะ​เครื่อง​ยนต์​ไม่​ทำ​งาน แต่​เพราะ​เหล็ก​เป็น​สนิม​มาก​จน​ทำ​ให้​ไม่​ปลอด​ภัย​ที่​จะ​ใช้​รถ​นั้น. เรา​จะ​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​นี้​ได้​อย่าง​ไร​กับ​การ​บ่น?

13 เช่น​เดียว​กับ​ที่​โลหะ​บาง​ชนิด​มัก​เป็น​สนิม มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​ก็​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​บ่น. เรา​ควร​คอย​ตรวจ​ดู​แนว​โน้ม​ดัง​กล่าว. เช่น​เดียว​กับ​ที่​ความ​ชื้น​และ​ความ​เค็ม​ของ​อากาศ​เร่ง​ให้​เกิด​สนิม​ได้​เร็ว​ขึ้น ความ​ยาก​ลำบาก​ก็​ทำ​ให้​มี​แนว​โน้ม​มาก​ขึ้น​ที่​เรา​จะ​บ่น. ความ​เครียด​อาจ​เปลี่ยน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้​กลาย​เป็น​ความ​ไม่​พอ​ใจ​อย่าง​มาก. ขณะ​ที่​สถานการณ์​ใน​สมัย​สุด​ท้าย​ของ​ระบบ​นี้​เสื่อม​ลง​เรื่อย ๆ สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​บ่น​ซึ่ง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ก็​คง​จะ​มี​เพิ่ม​ขึ้น. (2 ติโมเธียว 3:1-5) ดัง​นั้น ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​อาจ​เริ่ม​บ่น​ว่า​กัน. สาเหตุ​อาจ​เป็น​เรื่อง​เล็ก​น้อย เช่น เพราะ​ไม่​พอ​ใจ​ใน​เรื่อง​ความ​อ่อนแอ, ความ​สามารถ, หรือ​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​รับใช้​ของ​บาง​คน.

14, 15. เหตุ​ใด​เรา​ไม่​ควร​ปล่อย​ให้​แนว​โน้ม​ที่​จะ​บ่น​มี​อยู่​ต่อ​ไป​โดย​ไม่​ควบคุม?

14 ไม่​ว่า​เหตุ​ผล​ที่​ทำ​ให้​เรา​ไม่​พอ​ใจ​คือ​อะไร​ก็​ตาม หาก​เรา​ไม่​ควบคุม​แนว​โน้ม​ที่​จะ​บ่น แนว​โน้ม​นี้​อาจ​ส่ง​เสริม​ให้​เรา​มี​น้ำใจ​ที่​ไม่​พอ​ใจ​อะไร​ง่าย ๆ และ​ทำ​ให้​เรา​กลาย​เป็น​คน​ชอบ​บ่น​จน​เป็น​นิสัย. ผล​กระทบ​ที่​กัด​กร่อน​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​การ​บ่น​อาจ​ทำ​ให้​เรา​เสื่อม​เสีย​อย่าง​สิ้นเชิง. เมื่อ​ชาว​อิสราเอล​บ่น​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร พวก​เขา​ทำ​เลย​เถิด​ถึง​ขนาด​ตำหนิ​พระ​ยะโฮวา. (เอ็กโซโด 16:8) ขอ​อย่า​ให้​เหตุ​การณ์​แบบ​นี้​เกิด​ขึ้น​กับ​เรา​เลย!

15 โอกาส​ที่​โลหะ​จะ​เป็น​สนิม​อาจ​ลด​ให้​เหลือ​น้อย​ที่​สุด​ได้​ด้วย​การ​ทาสี​กัน​สนิม​เคลือบ​และ​ขจัด​สนิม​ตรง​จุด​ที่​ถูก​กัด​กร่อน​โดย​เร็ว. คล้าย​กัน​นั้น หาก​เรา​สังเกต​เห็น​ว่า​เรา​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​บ่น เรา​อาจ​ควบคุม​แนว​โน้ม​นี้​ไว้​ไม่​ให้​ลุก​ลาม​หาก​เรา​ใส่​ใจ​ใน​เรื่อง​นี้​พร้อม​ด้วย​การ​อธิษฐาน. โดย​วิธี​ใด?

จง​มอง​เรื่อง​ต่าง ๆ จาก​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา

16. หาก​เรา​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​บ่น เรา​จะ​เอา​ชนะ​แนว​โน้ม​นี้​ได้​โดย​วิธี​ใด?

16 การ​บ่น​เป็น​การ​เพ่ง​ความ​คิด​ไป​ที่​ตัว​เรา​เอง​และ​ความ​ลำบาก​ของ​เรา ทั้ง​ยัง​มอง​ข้าม​พระ​พร​ที่​เรา​มี​ใน​ฐานะ​พยาน​ของ​พระ​ยะโฮวา. เพื่อ​เอา​ชนะ​แนว​โน้ม​ที่​จะ​บ่น เรา​จำเป็น​ต้อง​คอย​เตือน​ใจ​ตัว​เอง​ให้​นึก​ถึง​พระ​พร​ทั้ง​หลาย​ที่​เรา​มี​เสมอ. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​แต่​ละ​คน​มี​สิทธิ​พิเศษ​อัน​ยอด​เยี่ยม​ใน​การ​ถูก​เรียก​ตาม​พระ​นาม​เฉพาะ​ของ​พระเจ้า. (ยะซายา 43:10) เรา​สามารถ​ปลูกฝัง​สาย​สัมพันธ์​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์ และ​เรา​สามารถ​พูด​กับ “ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน” เวลา​ใด​ก็​ได้. (บทเพลง​สรรเสริญ 65:2; ยาโกโบ 4:8) ชีวิต​เรา​มี​ความ​หมาย​แท้​จริง​เพราะ​เรา​เข้าใจ​ประเด็น​เรื่อง​สากล​บรม​เดชานุภาพ​และ​จำ​ไว้​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​เรา​จะ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ​พระเจ้า. (สุภาษิต 27:11) เรา​สามารถ​มี​ส่วน​ร่วม​เป็น​ประจำ​ใน​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร. (มัดธาย 24:14) ความ​เชื่อ​ใน​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ทำ​ให้​เรา​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​สะอาด​ได้. (โยฮัน 3:16) เรา​ได้​รับ​พระ​พร​เหล่า​นี้​ไม่​ว่า​เรา​ต้อง​อด​ทน​กับ​อะไร​ก็​ตาม.

17. เหตุ​ใด​เรา​ควร​พยายาม​มอง​เรื่อง​ต่าง ๆ จาก​มุม​มอง​ของ​พระ​ยะโฮวา แม้​แต่​ใน​กรณี​ที่​เรา​มี​เหตุ​ผล​สม​ควร​ที่​จะ​บ่น?

17 ให้​เรา​พยายาม​มอง​เรื่อง​ต่าง ๆ จาก​มุม​มอง​ของ​พระ​ยะโฮวา อย่า​เพียง​แต่​อาศัย​มุม​มอง​ของ​เรา​เอง. ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ร้อง​เพลง​ดัง​นี้: “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, ขอ​ทรง​โปรด​ให้​ข้าพเจ้า​รู้​ทาง​ของ​พระองค์, ขอ​ทรง​ฝึก​สอน​ข้าพเจ้า​ให้​ดำเนิน​ใน​พระ​มรคา​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 25:4) หาก​เรา​มี​เหตุ​ผล​สม​ควร​ที่​จะ​บ่น เรื่อง​นี้​ย่อม​ไม่​พ้น​การ​สังเกต​ของ​พระ​ยะโฮวา. พระองค์​ทรง​สามารถ​แก้ไข​เรื่อง​ต่าง ๆ ได้​ใน​ทันที. ถ้า​อย่าง​นั้น เหตุ​ใด​บาง​ครั้ง​พระองค์​ทรง​ยอม​ให้​ความ​ยาก​ลำบาก​คง​อยู่​ต่อ​ไป? ที่​เป็น​อย่าง​นี้​อาจ​เพื่อ​ช่วย​เรา​พัฒนา​คุณลักษณะ​ที่​ดี เช่น ความ​เพียร, ความ​อด​ทน, ความ​เชื่อ, และ​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน.—ยาโกโบ 1:2-4.

18, 19. จง​ยก​ตัว​อย่าง​ให้​เห็น​ผล​ที่​อาจ​เป็น​ไป​ได้​ของ​การ​อด​ทน​ต่อ​ความ​ไม่​สะดวก​สบาย​โดย​ไม่​บ่น.

18 การ​ที่​เรา​อด​ทน​ความ​ไม่​สะดวก​สบาย​ต่าง ๆ โดย​ไม่​บ่น​ไม่​เพียง​ช่วย​เรา​ปรับ​ปรุง​บุคลิกภาพ​ของ​เรา แต่​ยัง​อาจ​ทำ​ให้​คน​ที่​เฝ้า​มอง​การ​ประพฤติ​ของ​เรา​ประทับใจ​ด้วย. ใน​ปี 2003 พยาน​พระ​ยะโฮวา​กลุ่ม​หนึ่ง​เดิน​ทาง​โดย​รถยนต์​โดยสาร​จาก​เยอรมนี​เพื่อ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ภาค​ใน​ฮังการี. คน​ขับ​รถ​ไม่​ใช่​พยาน​ฯ และ​จริง ๆ แล้ว​เขา​ไม่​อยาก​อยู่​กับ​พยาน​ฯ นาน​ถึง​สิบ​วัน. แต่​เมื่อ​สิ้น​สุด​การ​เดิน​ทาง เขา​เปลี่ยน​ความ​คิด​โดย​สิ้นเชิง. เพราะ​เหตุ​ใด?

19 ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง มี​ปัญหา​หลาย​อย่าง​เกิด​ขึ้น​ที่​ทำ​ให้​ไม่​สะดวก. แต่​พยาน​ฯ ไม่​เคย​บ่น. คน​ขับ​รถ​กล่าว​ว่า​นี่​เป็น​กลุ่ม​ผู้​โดยสาร​ที่​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เขา​เคย​พบ! ที่​จริง เขา​สัญญา​ว่า​คราว​หน้า​เมื่อ​พยาน​ฯ ไป​เยี่ยม​ที่​บ้าน เขา​จะ​เชิญ​ให้​เข้า​บ้าน​และ​ตั้งใจ​ฟัง​พวก​เขา​พูด. ผู้​โดยสาร​กลุ่ม​นี้​ได้​สร้าง​ความ​ประทับใจ​ที่​ดี​จริง ๆ โดย ‘การ​ทำ​ทุก​สิ่ง​โดย​ปราศจาก​การ​บ่น​พึมพำ’!

การ​ให้​อภัย​ส่ง​เสริม​เอกภาพ

20. เหตุ​ใด​เรา​ควร​ให้​อภัย​กัน​และ​กัน?

20 จะ​ว่า​อย่าง​ไร​หาก​เรา​มี​เรื่อง​ที่​จะ​บ่น​ว่า​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ? หาก​เรื่อง​นั้น​ร้ายแรง เรา​ควร​ใช้​หลักการ​ที่​พบ​ใน​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู ดัง​บันทึก​ที่​มัดธาย 18:15-17. อย่าง​ไร​ก็​ดี ไม่​จำเป็น​ต้อง​ใช้​หลักการ​นี้​เสมอ​ไป เนื่อง​จาก​เรื่อง​ขัด​เคือง​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหญ่. น่า​จะ​ถือ​เสีย​ว่า​เหตุ​การณ์​นั้น​เป็น​โอกาส​ที่​จะ​ให้​อภัย​มิ​ใช่​หรือ? เปาโล​เขียน​ดัง​นี้: “จง​ทน​ต่อ​กัน​อยู่​เรื่อย​ไป​และ​อภัย​ให้​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​ถ้า​ผู้​ใด​มี​สาเหตุ​จะ​บ่น​ว่า​คน​อื่น. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ด้วย​พระทัย​กว้าง​เช่น​ไร ท่าน​จง​ทำ​เช่น​นั้น​ด้วย. แต่​นอก​จาก​สิ่ง​เหล่า​นี้​ทั้ง​หมด จง​สวม​ตัว​ท่าน​ด้วย​ความ​รัก เพราะ​ความ​รัก​เป็น​เครื่อง​ผูก​พัน​อัน​สมบูรณ์​ที่​ทำ​ให้​เป็น​หนึ่ง​เดียว.” (โกโลซาย 3:13, 14, ล.ม.) เรา​เต็ม​ใจ​จะ​ให้​อภัย​ไหม? พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​บ่น​ว่า​เรา​มิ​ใช่​หรือ? ถึง​กระนั้น พระองค์​ทรง​แสดง​ความ​เมตตา​สงสาร​และ​ให้​อภัย​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า.

21. การ​บ่น​พึมพำ​อาจ​ก่อ​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​ที่​ได้​ยิน?

21 ไม่​ว่า​เรื่อง​ขัด​เคือง​อาจ​เป็น​อะไร​ก็​ตาม การ​บ่น​พึมพำ​จะ​ไม่​ช่วย​ทำ​ให้​อะไร​ดี​ขึ้น. คำ​ฮีบรู​ที่​หมาย​ถึง “บ่น​พึมพำ” ยัง​มี​ความ​หมาย​ว่า “บ่น​ดัง ๆ” ได้​ด้วย. เรา​มัก​รู้สึก​อึดอัด​เมื่อ​อยู่​ใกล้​คน​ชอบ​บ่น​และ​พยายาม​อยู่​ให้​ห่าง ๆ จาก​คน​นั้น. หาก​เรา​บ่น​พึมพำ​หรือ​บ่น​ออก​มา​ดัง ๆ คน​ที่​ได้​ยิน​อาจ​รู้สึก​แบบ​เดียว​กัน​นั้น. ที่​จริง เขา​อาจ​รู้สึก​อึดอัด​จน​ไม่​อยาก​จะ​อยู่​ใกล้​เรา! การ​บ่น​ออก​มา​ดัง ๆ อาจ​กระตุ้น​ให้​บาง​คน​สนใจ แต่​จะ​ไม่​ชนะ​ใจ​ใคร​อย่าง​แน่นอน.

22. เด็ก​สาว​คน​หนึ่ง​กล่าว​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา?

22 เจตคติ​ที่​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​ส่ง​เสริม​เอกภาพ ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ปรารถนา​จะ​รักษา​ไว้. (บทเพลง​สรรเสริญ 133:1-3) ที่​ประเทศ​หนึ่ง​ใน​ยุโรป เด็ก​สาว​ชาว​คาทอลิก​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​อายุ 17 ปี​เขียน​ถึง​สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​แสดง​ความ​ชื่นชม​พวก​เขา. เธอ​กล่าว​ว่า “นี่​เป็น​องค์การ​เดียว​ที่​ดิฉัน​รู้​จัก​ซึ่ง​สมาชิก​ไม่​ถูก​แบ่ง​แยก​โดย​ความ​เกลียด​ชัง, ความ​ละโมบ, ความ​ไม่​มี​ขันติ, ความ​เห็น​แก่​ตัว, หรือ​ความ​ไม่​ปรองดอง.”

23. เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

23 ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​พระ​พร​ฝ่าย​วิญญาณ​ทั้ง​สิ้น​ที่​เรา​ได้​รับ​ใน​ฐานะ​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้ จะ​ช่วย​เรา​ส่ง​เสริม​เอกภาพ​และ​หลีก​เลี่ยง​การ​บ่น​ว่า​คน​อื่น ๆ ใน​เรื่อง​ส่วน​ตัว. บทความ​ถัด​ไป​จะ​แสดง​วิธี​ที่​คุณลักษณะ​แบบ​พระเจ้า​จะ​ป้องกัน​เรา​ไว้​จาก​การ​บ่น​แบบ​ที่​เป็น​อันตราย​ยิ่ง​กว่า​นี้​อีก ซึ่ง​ก็​คือ​การ​บ่น​ว่า​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ส่วน​ที่​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• การ​บ่น​พึมพำ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

• อาจ​ยก​ตัว​อย่าง​อย่าง​ไร​เพื่อ​แสดง​ถึง​ผล​ของ​การ​บ่น​พึมพำ?

• อะไร​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ให้​เอา​ชนะ​แนว​โน้ม​ที่​จะ​บ่น​พึมพำ?

• ความ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ให้​อภัย​ช่วย​เรา​ให้​หลีก​เลี่ยง​การ​บ่น​พึมพำ​ได้​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 15]

จริง ๆ แล้ว ชาว​อิสราเอล​บ่น​ว่า​พระ​ยะโฮวา!

[ภาพ​หน้า 17]

คุณ​พยายาม​มอง​เรื่อง​ต่าง ๆ อย่าง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​ไหม?

[ภาพ​หน้า 18]

การ​ให้​อภัย​ส่ง​เสริม​เอกภาพ​ของ​คริสเตียน