จุดเด่นจากภาคที่สามและสี่ของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากภาคที่สามและสี่ของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ
ในคำอธิษฐานถึงพระเจ้า ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญถามว่า “ในหลุมฝังศพจะมีผู้ใดกล่าวถึงพระกรุณาของพระองค์หรือ?” (บทเพลงสรรเสริญ 88:11) แน่นอน คำตอบก็คือไม่. หากไม่มีชีวิต เราก็ไม่สามารถสรรเสริญพระยะโฮวาได้. การสรรเสริญพระยะโฮวาเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับการมีชีวิตอยู่ และการมีชีวิตอยู่ก็เป็นเหตุผลที่ดีที่จะสรรเสริญพระองค์.
ภาคที่สามและสี่ของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ ซึ่งประกอบด้วยเพลงสรรเสริญบท 73 ถึงบท 106 ช่วยเราเห็นเหตุผลมากมายที่จะสรรเสริญพระผู้สร้างและถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระองค์. การใคร่ครวญบทเพลงสรรเสริญเหล่านี้น่าจะทำให้เราหยั่งรู้ค่าอย่างสุดซึ้งต่อ “พระคำของพระเจ้า” และกระตุ้นเราให้ปรับปรุงการแสดงออกในการสรรเสริญพระองค์มากขึ้นและดียิ่งขึ้น. (เฮ็บราย 4:12) ทีแรก ให้เราใส่ใจพิจารณาดูภาคที่สามของบทเพลงสรรเสริญ.
‘เป็นการดีที่ข้าพเจ้าเข้ามาใกล้พระเจ้า’
บทเพลงสรรเสริญ 11 บทแรกของภาคที่สามนี้ มีอาซาฟหรือสมาชิกในวงศ์ตระกูลของอาซาฟเป็นผู้แต่ง. เพลงบทแรกอธิบายถึงสิ่งที่ช่วยปกป้องอาซาฟไว้ไม่หลงไปกับความคิดแบบผิด ๆ. ท่านได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง. ท่านร้องเพลงว่า “เป็นการดีที่ข้าพเจ้าเข้ามาใกล้พระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 73:28) จากนั้น มีการคร่ำครวญถึงความหายนะของกรุงเยรูซาเลมในเพลงสรรเสริญบท 74. บท 75, 76, และ 77 ให้ภาพพระยะโฮวาว่าทรงเป็นผู้พิพากษาองค์เที่ยงธรรม, ผู้ทรงช่วยคนถ่อมใจให้รอด, และผู้สดับคำอธิษฐาน. บท 78 ทบทวนประวัติของชาติอิสราเอลในอดีตตั้งแต่สมัยของโมเซจนถึงสมัยของดาวิด. เพลงสรรเสริญบทที่ 79 คร่ำครวญถึงพระวิหารที่ถูกทำลาย. บทถัดไปเป็นคำอธิษฐานเพื่อการกอบกู้ประชาชนของพระเจ้า. บท 81 เป็นบทเพลงที่กระตุ้นให้เชื่อฟังพระยะโฮวา. บท 82 และ 83 เป็นคำอธิษฐานขอให้พระเจ้าทรงสำเร็จโทษผู้พิพากษาที่ทุจริตและศัตรูของพระเจ้าตามลำดับ.
เหล่าบุตรของโคราร้องเพลงว่า “จิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าคำนึงถึงนิเวศน์ของพระยะโฮวาจนสลบไสลไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 84:2) เพลงสรรเสริญบท 85 เป็นการขอพระพรจากพระเจ้าเพื่อผู้ที่กลับจากการเป็นเชลย. เพลงสรรเสริญบทนี้เน้นว่า พระพรฝ่ายวิญญาณมีคุณค่าล้ำเลิศกว่าพระพรทางวัตถุมากนัก. ในบท 86 ดาวิดขอให้พระเจ้าทรงปกปักรักษาและสั่งสอนท่าน. บท 87 เป็นบทเพลงเกี่ยวกับซีโอนและผู้ที่เกิดในกรุงนั้น ตามด้วยคำอธิษฐานถึงพระยะโฮวาในบท 88. ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาดังที่แสดงให้เห็นในสัญญาไมตรีกับดาวิด ได้มีการเน้นในเพลงสรรเสริญบท 89 โดยมีผู้แต่งคือเอธานซึ่งบางทีอาจเป็นหนึ่งในสี่นักปราชญ์ในสมัยซะโลโม.—1 กษัตริย์ 4:31.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
73:9—คนชั่ว “อ้าปากกล่าวหยาบช้าต่อฟ้าสวรรค์, และลิ้นของเขาร้องป่าวไปทั่วแผ่นดินโลก” ในแง่ใด? เนื่องจากคนชั่วไม่นับถือใครทั้งนั้นไม่ว่าจะในสวรรค์หรือแผ่นดินโลก พวกเขาไม่ลังเลที่จะพูดดูหมิ่นพระเจ้า. พวกเขายังใช้ลิ้นให้ร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วย.
74:13, 14—พระยะโฮวาทรง ‘ตีหัวสัตว์ใหญ่มหึมาในทะเลให้แตกและทรงตีหัวจรเข้ใหญ่ให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ’ เมื่อไร? “ฟาโรผู้กษัตริย์อายฆุบโต” ถูกเรียกว่า “จรเข้ตัวใหญ่ [“สัตว์ใหญ่มหึมา,” ล.ม.] ที่นอนตามแม่น้ำสายทั้งปวงของเขา.” (ยะเอศเคล 29:3) จรเข้ใหญ่อาจหมายถึง “ผู้มีตำแหน่งสูงของฟาโรห์.” (บทเพลงสรรเสริญ 74:14, ล.ม. เชิงอรรถ) การตีหัวสัตว์ใหญ่มหึมาและจรเข้คงจะหมายถึงการที่ฟาโรห์และกองทัพของเขาถูกโจมตีจนพ่ายแพ้เมื่อพระยะโฮวาปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากการเป็นทาสในอียิปต์.
75:4, 5, 10—คำว่า “สิงค์” มีความหมายเช่นไร? สิงค์ซึ่งหมายถึงเขาสัตว์เป็นอาวุธที่ทรงพลัง. ฉะนั้น คำว่า “สิงค์” ในที่นี้มีความหมายเป็นนัยหมายถึงพลังหรือความแข็งแกร่ง. พระยะโฮวายกสิงค์ของประชาชนของพระองค์ขึ้น ทรงเป็นเหตุให้พวกเขาได้รับการยกชู ในขณะเดียวกันก็ทรง “ตัดสิงค์ทั้งหลายของคนชั่วเสียให้ขาด.” เราได้รับการเตือนว่า ‘อย่ายกสิงค์ของเราขึ้นให้สูง’ ซึ่งหมายความว่าเราไม่ควรรับเอาเจตคติที่เย่อหยิ่งหรือถือตัว. เนื่องจากพระยะโฮวาเป็นผู้ยกชูขึ้น เราควรมองว่าหน้าที่รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายในประชาคมนั้นมาจากพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 75:7.
76:10, ฉบับแปลใหม่—“ความโกรธของมนุษย์” จะเป็นการสรรเสริญพระยะโฮวาได้อย่างไร? เมื่อพระเจ้ายอมให้มนุษย์แสดงความโกรธต่อเราเพราะเหตุที่เราเป็นผู้รับใช้พระองค์ นั่นอาจส่งผลดีได้. ความยากลำบากที่เราประสบอาจฝึกเราในทางใดทางหนึ่ง. พระยะโฮวายอมให้เกิดความทุกข์ก็เพียงแต่ในระดับที่จะทำให้เราได้รับการฝึกฝนดังกล่าวเท่านั้น. (1 เปโตร 5:10) “ความโกรธที่เหลืออยู่นั้นพระองค์จะทรงคาดพระองค์ไว้.” จะว่าอย่างไรถ้าเราทนทุกข์จนถึงแก่ความตาย? นั่นเป็นการสรรเสริญพระยะโฮวาได้เช่นกันเนื่องจากคนที่เห็นเราอดทนอย่างซื่อสัตย์อาจเริ่มถวายเกียรติแด่พระเจ้าก็ได้.
78:24, 25—เหตุใดมานาจึงถูกเรียกว่า ‘อาหารจากสวรรค์’ และ “อาหารวิเศษ [“อาหารของเหล่าผู้ทรงฤทธิ์,” ล.ม.]”? ทั้งสองวลีนี้ไม่ได้หมายความว่ามานาเป็นอาหารของทูตสวรรค์. มานาเป็น ‘อาหารจากสวรรค์’ ในแง่ที่ว่าแหล่งที่มาอยู่ในสวรรค์. (บทเพลงสรรเสริญ 105:40) เนื่องจากทูตสวรรค์ หรือ “เหล่าผู้ทรงฤทธิ์” อาศัยอยู่ในสวรรค์ ฉะนั้น วลีที่ว่า “อาหารของเหล่าผู้ทรงฤทธิ์” อาจเพียงแต่หมายถึงอาหารที่พระเจ้าผู้สถิตในสวรรค์เป็นผู้จัดเตรียม. (บทเพลงสรรเสริญ 11:4) พระยะโฮวาอาจทรงใช้ทูตสวรรค์ให้จัดเตรียมมานาประทานแก่ชาวอิสราเอลด้วยก็ได้.
82:1, 6—ใครถูกเรียกว่า “พระ” และ “บุตรของพระเจ้าผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด”? ถ้อยคำทั้งสองพาดพิงถึงผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ในชาติอิสราเอล. การเรียกเช่นนี้นับว่าเหมาะสมเพราะพวกเขาต้องรับใช้ฐานะโฆษกหรือตัวแทนของพระเจ้า.—โยฮัน 10:33-36.
83:2—การ “ผงกหัวขึ้น” บ่งชี้ถึงอะไร? ท่าทางเช่นนี้แสดงถึงความพร้อมที่จะใช้กำลังหรือลงมือปฏิบัติ ซึ่งตามปกติแล้วเพื่อต่อต้าน, ต่อสู้, หรือกดขี่.
บทเรียนสำหรับเรา:
73:2-5, 18-20, 25, 28. เราไม่ควรอิจฉาความมั่งคั่งของคนชั่วและรับเอาแนวทางที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าของพวกเขา. คนชั่วยืนอยู่บนพื้นที่ลื่น. พวกเขาจะ ‘ล้มลงถึงความพินาศ’ อย่างแน่นอน. ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากความชั่วไม่อาจถูกขจัดให้หมดสิ้นภายใต้การปกครองของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ การที่เราพยายามกำจัดความชั่วจึงไม่มีวันสำเร็จ. เช่นเดียวกับอาซาฟ นับว่าสุขุมถ้าเราจะรับมือกับความชั่วโดย ‘เข้ามาใกล้พระเจ้า’ และมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระองค์.
73:3, 6, 8, 27. เราต้องระวังที่จะไม่เป็นคนโอ้อวด, หยิ่งจองหอง, เยาะเย้ย, และคดโกง. เราควรระวังเรื่องเหล่านี้แม้ว่าการรับเอาลักษณะนิสัยเหล่านี้มาใช้อาจดูเหมือนได้เปรียบก็ตาม.
73:15-17. เมื่อมีความสับสนเกิดขึ้นในความคิดของเรา เราไม่ควรเล่าให้คนทั่วไปฟัง. การพูดเรื่องเช่นนั้นมีแต่จะทำให้คนอื่นท้อใจ. เราควรใคร่ครวญเรื่องที่เราเป็นห่วงอย่างสงบและปรึกษากับเพื่อนร่วมความเชื่อเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา.—สุภาษิต 18:1.
73:21-24 (ฉบับแปลใหม่). ความปวดร้าวใจเนื่องจากเห็นคนชั่วดูเหมือนมีความมั่นคงปลอดภัยเปรียบเหมือนปฏิกิริยาที่เหมือนกับสัตว์ที่หาเหตุผลไม่ได้. ปฏิกิริยาเช่นนี้เป็นความหุนหันพลันแล่นที่อาศัยความรู้สึกเป็นเกณฑ์โดยแท้. แทนที่จะทำเช่นนั้น เราควรยึดคำแนะนำของพระยะโฮวาเป็นเครื่องนำทาง มั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าพระองค์จะ ‘ทรงยึดมือขวาของเราไว้’ และค้ำจุนเรา. นอกจากนี้ พระยะโฮวา ‘จะนำเราให้ได้รับเกียรติยศ’ ซึ่งก็หมายถึงการมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระองค์.
77:6. เพื่อแสดงความสนใจความจริงฝ่ายวิญญาณอย่างลึกซึ้งและค้นคว้าอย่างถี่ถ้วน เราต้องใช้เวลาศึกษาและใคร่ครวญ. นับเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราต้องกันเวลาไว้เพื่ออยู่ตามลำพังบ้าง!
79:9. พระยะโฮวาสดับคำอธิษฐานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.
81:13, 16. การฟังพระสุรเสียงของพระยะโฮวาและดำเนินในแนวทางของพระองค์นำไปสู่พระพรอันอุดม.—สุภาษิต 10:22.
82:2, 5. ความอยุติธรรมเป็นเหตุให้ “บรรดารากแห่งแผ่นดินโลก” สั่นคลอน. การกระทำซึ่งไร้ความยุติธรรมทำลายเสถียรภาพของสังคมมนุษย์.
84:1-4, 10-12. การที่เหล่าผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญหยั่งรู้ค่าสถานนมัสการพระยะโฮวาและรู้สึกพอใจกับสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้นับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรา.
86:5. เรารู้สึกขอบพระคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวา “พร้อมที่จะทรงยกความผิด”! พระองค์มองหาหลักฐานใด ๆ ก็ตามซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการแสดงความเมตตาต่อคนทำผิดที่กลับใจ.
87:5, 6. คนที่ได้รับชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลกจะมีวันรู้จักชื่อคนที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตในสวรรค์ไหม? ข้อคัมภีร์เหล่านี้ชี้ว่าอาจจะเป็นไปได้.
88:13, 14. เมื่อคำอธิษฐานของเราเกี่ยวกับปัญหาอย่างหนึ่งได้รับคำตอบช้า นั่นอาจหมายความว่าพระยะโฮวาประสงค์ให้เราแสดงให้เห็นว่าเราเลื่อมใสพระองค์อย่างแท้จริง.
“จงขอบพระเดชพระคุณและสรรเสริญพระนามของพระองค์”
ขอพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ ที่เราควรยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาดังที่กล่าวไว้ในภาคที่สี่ของบทเพลงสรรเสริญ. ในเพลงสรรเสริญบท 90 โมเซเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างการดำรงอยู่ของ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเจริญนิรันดร์” กับมนุษย์ซึ่งมีช่วงชีวิตอันแสนสั้น. (1 ติโมเธียว 1:17) ในบทเพลงสรรเสริญ 91:2 โมเซกล่าวว่าพระยะโฮวาเป็น ‘ที่พึ่งพำนักและเป็นป้อมของท่าน’—แหล่งแห่งความปลอดภัยของท่าน. เพลงสรรเสริญอีกสองสามบทถัดมากล่าวถึงคุณลักษณะต่าง ๆ อันล้ำเลิศ, พระสติปัญญาอันสูงส่ง, และราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า. มีเพลงสรรเสริญสามบทซึ่งเริ่มต้นด้วยถ้อยคำที่ว่า “พระยะโฮวาทรงครอบครองอยู่.” (บทเพลงสรรเสริญ 93:1; 97:1; 99:1) เมื่อกล่าวถึงพระยะโฮวาฐานะพระผู้สร้าง ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเชิญเราให้ “ขอบพระเดชพระคุณและสรรเสริญพระนามของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 100:4.
ผู้ปกครองที่เกรงกลัวพระยะโฮวาควรบริหารบ้านเมืองของตนอย่างไร? เพลงสรรเสริญบท 101 ซึ่งกษัตริย์ดาวิดเป็นผู้แต่ง ให้คำตอบในเรื่องนี้. เพลงสรรเสริญบทถัดไปบอกเราว่าพระยะโฮวาจะ “ทรงสดับฟังคำอธิษฐานของคนอนาถา, และไม่ทรงประมาทคำอธิษฐานของเขาเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 102:17) เพลงสรรเสริญบท 103 ชวนให้สนใจความกรุณารักใคร่และความเมตตาของพระยะโฮวา. เมื่อพูดถึงพระหัตถกิจนานัปการบนแผ่นดินโลก ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระราชกิจของพระองค์มีเป็นอเนกประการจริง! พระองค์ได้ทรง กระทำการนั้นทั้งสิ้นโดยพระสติปัญญา.” (บทเพลงสรรเสริญ 104:24) เพลงสรรเสริญสองบทสุดท้ายของภาคที่สี่สรรเสริญพระยะโฮวาเนื่องด้วยราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 105:2, 5; 106:7, 22.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
91:1, 2—“ที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด” คืออะไร และเราอาจ “อาศัยอยู่” ที่นั่นได้อย่างไร? ที่นั่นคือสถานที่โดยนัยซึ่งมั่นคงปลอดภัย เป็นสภาพที่มีการปกป้องให้พ้นจากอันตรายฝ่ายวิญญาณ. สถานที่นี้เป็นที่อันลับในแง่ที่ว่า คนที่ไม่วางใจในพระเจ้าจะไม่รู้จัก. เราจะทำให้พระยะโฮวาเป็นที่อาศัยของเราโดยการหมายพึ่งพระองค์ฐานะที่พึ่งพำนักและเป็นป้อม โดยการสรรเสริญพระองค์ฐานะผู้ปกครององค์สูงสุดแห่งเอกภพ และโดยการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. เรารู้สึกปลอดภัยฝ่ายวิญญาณเนื่องจากเรารู้ว่าพระยะโฮวาทรงพร้อมจะช่วยเราเสมอ.—บทเพลงสรรเสริญ 90:1.
92:12 (ฉบับแปลใหม่)—คนชอบธรรม “งอกขึ้นอย่างต้นอินทผลัม” ในแง่ใด? ต้นอินทผลัมเป็นที่รู้จักในเรื่องการเกิดผลที่ดี. คนชอบธรรมเป็นเหมือนต้นอินทผลัมในแง่ที่ว่าเขาเป็นคนซื่อตรงในสายพระเนตรของพระยะโฮวาและเกิด “ผลดี” อยู่เสมอซึ่งรวมถึงการงานที่ดีด้วย.—มัดธาย 7:17-20.
บทเรียนสำหรับเรา:
90:7, 8, 13, 14. การทำผิดก่อความเสียหายต่อสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้าเที่ยงแท้เสมอ. และการทำบาปลับ ๆ ไม่อาจปิดซ่อนจากพระองค์ได้. อย่างไรก็ตาม ถ้าเรากลับใจจริง ๆ และละทิ้งแนวทางที่ผิด เราจะเป็นที่โปรดปรานของพระยะโฮวาอีกและจะ ‘อิ่มใจด้วยพระกรุณาคุณของพระองค์.’
90:10, 12. เนื่องจากชีวิตนั้นสั้นนัก เราจึงควร ‘นับวันคืนทั้งหลายของเรา.’ โดยวิธีใด? โดยการ “มีใจประกอบไปด้วยสติปัญญา” หรือใช้สติปัญญาเพื่อว่าวันเวลาของเราที่เหลืออยู่จะไม่สูญเปล่า แต่ใช้ไปในแบบที่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. นี่เรียกร้องให้เราจัดให้สิ่งฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกและใช้เวลาของเราอย่างสุขุม.—เอเฟโซ 5:15, 16; ฟิลิปปอย 1:10.
90:17. นับว่าเหมาะที่จะอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาทรง ‘บำรุงการหัตถกรรมของพวกเราให้ตั้งมั่นคงอยู่’ และอวยพรความพยายามของเราในการรับใช้.
92:14, 15. โดยเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้าที่ขยันขันแข็งและสมทบกับประชาชนของพระยะโฮวาเป็นประจำ ผู้สูงอายุก็จะยังคง “ประกอบไปด้วยน้ำเลี้ยงและยังเขียวสด” ซึ่งหมายถึงความแข็งขันฝ่ายวิญญาณ และเป็นสมบัติที่มีค่ามากสำหรับประชาคม.
94:19. ไม่ว่าอะไรก็ตามที่อาจส่งผลให้เรามี “ความสาละวนในใจ” การอ่านและการคิดรำพึงถึงเรื่องที่ “ประเล้าประโลม” ซึ่งพบในคัมภีร์ไบเบิลจะให้การชูใจเรา.
95:7, 8. การฟังคำแนะนำจากพระคัมภีร์, เอาใจใส่, และพร้อมจะเอาคำแนะนำนั้นไปใช้ช่วยป้องกันเราไม่ให้มีหัวใจแข็งกระด้าง.—เฮ็บราย 3:7, 8.
106:36, 37. ข้อเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการไหว้รูปเคารพเกี่ยวข้องกับการถวายของบูชาแก่พวกผีปิศาจ. นี่บ่งชี้ว่าคนที่ใช้รูปเคารพอาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผีปิศาจ. คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนเราว่า “จงระวังรักษาตัวให้ปราศจากรูปเคารพ.”—1 โยฮัน 5:21.
“ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด”
เพลงสรรเสริญสามบทสุดท้ายของภาคที่สี่ในภาษาฮีบรูจบลงด้วยคำกระตุ้นเตือนว่า “ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด.” บทสุดท้ายของภาคที่สี่เริ่มต้นด้วยถ้อยคำนี้เช่นกัน. (บทเพลงสรรเสริญ 104:35; 105:45; 106:1, 48) ที่จริง ถ้อยคำที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด” ปรากฏหลายครั้งในบทเพลงสรรเสริญภาคที่สี่.
เรามีเหตุผลมากมายที่จะสรรเสริญพระยะโฮวา. เพลงสรรเสริญบท 73 ถึง 106 มีหลายสิ่งให้เราใคร่ครวญ ทำให้หัวใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยความสำนึกบุญคุณพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา. เมื่อเราคิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ได้ทำเพื่อเราไปแล้วและสิ่งที่จะทรงทำเพื่อเราในอนาคต เราได้รับการกระตุ้นให้ “สรรเสริญพระยะโฮวา” ด้วยสิ้นสุดกำลังของเรามิใช่หรือ?
[ภาพหน้า 10]
เช่นเดียวกับอาซาฟ เราจะรับมือกับความชั่วได้ โดย ‘เข้ามาใกล้พระเจ้า’
[ภาพหน้า 11]
ฟาโรห์พ่ายแพ้ที่ทะเลแดง
[ภาพหน้า 11]
คุณรู้ไหมว่าเหตุใดมานาจึงถูกเรียกว่า “อาหารของเหล่าผู้ทรงฤทธิ์”?
[ภาพหน้า 13]
อะไรจะช่วยเราขจัด “ความสาละวนในใจ”?