ความยำเกรงพระเจ้า “เป็นที่สอนให้เกิดปัญญา”
ความยำเกรงพระเจ้า “เป็นที่สอนให้เกิดปัญญา”
พระปัญญาแท้จัดงานเลี้ยงใหญ่. พระปัญญา “ส่งนางกำนัลออกไป, ทรงร้องบอกจากที่เบื้องสูงในเมืองว่า: ‘ใครที่เป็นคนโง่ก็ให้เขาหันมาทางนี้?’ และสำหรับผู้ขาดความเข้าใจ, พระองค์กล่าวแก่เขาว่า, ‘มาเถิด, มารับประทานอาหารของเรา, และดื่มน้ำองุ่นซึ่งเราได้ผสม; จงละทิ้งความโง่เสีย, และดำรงชีวิตอยู่; และจงดำเนินไปในทางแห่งความเข้าใจ.’ ”—สุภาษิต 9:1-6.
งานเลี้ยงที่โต๊ะของพระปัญญาไม่เคยนำไปสู่สิ่งใด ๆ ที่ชั่วหรือเสื่อมเสีย. การฟังพระปัญญาของพระเจ้าในสุภาษิตที่ได้รับการดลใจและยอมรับคำเตือนสอนมีแต่จะก่อผลดี. ถ้อยคำแห่งสติปัญญาที่บันทึกในสุภาษิต 15:16-33 ก็ก่อผลเช่นนั้นด้วย. * การเอาใจใส่คำแนะนำของสุภาษิตที่กระชับได้ใจความเหล่านี้จะช่วยเราให้อิ่มใจพอใจกับทรัพย์สมบัติที่มีไม่มาก, ช่วยเราให้มีความเจริญ, และประสบความยินดีในการดำเนินชีวิต. การทำเช่นนั้นยังจะช่วยเราตัดสินใจได้อย่างสุขุมและช่วยให้เราอยู่บนทางแห่งชีวิตต่อ ๆ ไป.
มีน้อยดีกว่า
กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณกล่าวว่า “มีทรัพย์น้อยและยำเกรงพระยะโฮวายังดีกว่ามีทรัพย์สมบัติมากและมีความทุกข์.” (สุภาษิต 15:16) การที่คนเราไม่สนใจพระผู้สร้างและถือเอาการแสวงหาทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุเป็นเป้าหมายหลักในชีวิต นับเป็นเรื่องโง่เขลา. แนวทางชีวิตเช่นนั้นมีแต่การทุ่มเทกำลังที่ทำให้เหน็ดเหนื่อยและมีความวิตกกังวลมากมาย. คงจะเป็นเรื่องน่าเวทนาสักเพียงไรที่จะได้มาตระหนักในยามชราว่า แนวทางที่ดำเนินมาตลอดชีวิตนั้นว่างเปล่าและไร้ความหมาย! การสะสมทรัพย์สมบัติมากพร้อมกับมี “ความทุกข์” เป็นเรื่องไม่ฉลาดอย่างแน่นอน. นับว่าดีกว่าสักเพียงไรที่จะเรียนรู้เคล็ดลับสำหรับความอิ่มใจพอใจและดำเนินชีวิตตามนั้น! ความอิ่มใจพอใจแท้เกิดจากการยำเกรงพระยะโฮวา—การมีสัมพันธภาพกับพระองค์—ไม่ใช่เกิดจากทรัพย์สมบัติวัตถุ.—1 ติโมเธียว 6:6-8.
เพื่อเน้นให้เห็นว่าการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นมีคุณค่ายิ่งกว่าความมั่งคั่งฝ่ายวัตถุ ซะโลโมกล่าวว่า “มีผักเป็นอาหาร, ณ ที่ที่ซึ่งแวดล้อมไปด้วยความรักยังดีกว่ามีวัวตอนทั้งตัวเป็นอาหาร แต่แวดล้อมไปด้วยความเกลียดชัง.” (สุภาษิต 15:17) ใช่แล้ว บรรยากาศในบ้านที่เต็มไปด้วยความรักน่าปรารถนายิ่งกว่าการมีอาหารราคาแพงอย่างเหลือเฟือ. ครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวอาจมีทรัพย์สินเงินทองที่จำกัดมาก. ในบางดินแดน อาหารที่ผู้คนหาได้อาจเป็นแค่อาหารธรรมดา ๆ. อย่างไรก็ตาม ทุกคนในครอบครัวจะมีความสุขได้ในบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยความรักความเอาใจใส่.
แม้แต่ในครอบครัวที่ตามปกติแล้วรักกันดี สภาพการณ์ที่ยุ่งยากก็อาจเกิดขึ้นได้. ใครคนหนึ่งในครอบครัวอาจพูดหรือทำบางสิ่งที่ทำให้คนอื่นขุ่นเคือง. คนที่ขุ่นเคืองควรสุภาษิต 15:18 กล่าวว่า “คนโมโหร้ายเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน; แต่คนที่ยั้งโทสะไว้ได้ย่อมระงับการวิวาทกัน.” การตอบสนองด้วยท่าทีที่สงบ ไม่ใช่ด้วยความโกรธ จะช่วยส่งเสริมสันติสุข. คำแนะนำในสุภาษิตนี้นำไปใช้ในขอบเขตอื่น ๆ ของชีวิตได้เช่นกัน รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในประชาคมและงานประกาศ.
แสดงท่าทีเช่นไร?เมื่อ ‘ทางถูกยกสูงขึ้น’
สุภาษิตข้อถัดไปเน้นความแตกต่างระหว่างคนที่ไม่ใส่ใจสติปัญญาและคนที่มีสติปัญญา. กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวว่า “ทางของคนเกียจคร้านเป็นเหมือนรั้วต้นหนาม; แต่ทางของคนตรงเป็นเหมือนทางหลวง [“ที่ถูกยกสูงขึ้น,” ล.ม.].”—สุภาษิต 15:19.
รั้วต้นหนามเปรียบเหมือนอุปสรรคขวากหนาม. คนเกียจคร้านนึกถึงอุปสรรคทุกชนิดและใช้เป็นข้อแก้ตัวเพื่อจะไม่ต้องเริ่มทำงาน. ในอีกด้านหนึ่ง คนตรงไม่เป็นห่วงเรื่องอุปสรรคที่อาจขัดขวางพวกเขา. เขาทำงานอย่างขยันขันแข็งและเอาใจใส่งานที่ทำ. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงพ้นจากปัญหายุ่งยากมากมายที่อาจเกิดจากการปล่อยปละละเลย. แนวทางของพวกเขา “ถูกยกสูงขึ้น” นั่นคือเจริญขึ้น. งานของพวกเขารุดหน้าและรู้สึกปีติยินดีที่เห็นงานก้าวหน้า.
ขอยกตัวอย่างในเรื่องการได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าและการรุดหน้าสู่ความอาวุโส. การทำสองสิ่งนี้ต้องมีความพยายาม. เป็นการง่ายที่คนเราอาจยกเอาเรื่องการศึกษาน้อย, อ่านหนังสือไม่เก่ง, หรือมีความจำไม่ดี มาเป็นข้อแก้ตัวที่จะไม่ขยันศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว. นับว่าดีกว่าสักเพียงไรถ้าไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคขัดขวางบนหนทางสู่ความรู้! แม้มีความสามารถจำกัด เราก็สามารถออกแรงพยายามปรับปรุงทักษะการอ่านและการทำความเข้าใจในสิ่งที่เราอ่าน บางทีอาจต้องใช้พจนานุกรมถ้าจำเป็น. ทัศนะในแง่บวกจะช่วยให้เราได้รับความรู้และก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.
เมื่อ “บิดาปลื้มใจยินดี”
กษัตริย์แห่งอิสราเอลกล่าวว่า “บุตรที่มีปัญญาย่อมทำให้บิดาปลื้มใจยินดี; แต่คนโฉดเขลานั้นดูถูกมารดาของตน.” (สุภาษิต 15:20) บิดามารดารู้สึกยินดีมิใช่หรือเมื่อบุตรของตนประพฤติอย่างฉลาด? เป็นความจริงที่ว่า บิดามารดาจะ ต้องฝึกอบรมและตีสอนกว่าบุตรจะประพฤติดีอย่างที่ต้องการ. (สุภาษิต 22:6) แต่บุตรที่มีปัญญานับว่าเป็นแหล่งแห่งความยินดีเสียจริง ๆ สำหรับบิดามารดาของเขา! อย่างไรก็ตาม บุตรที่โฉดเขลาเป็นเหตุให้บิดามารดาเศร้าใจไม่หยุดหย่อน.
โดยใช้คำว่า “ยินดี” ในสุภาษิตอีกข้อหนึ่ง กษัตริย์ผู้ฉลาดสุขุมกล่าวว่า “ความโง่เขลาเป็นความยินดีแก่ผู้ที่ขาดด้านหัวใจ แต่คนที่มีความสังเกตเข้าใจเป็นผู้ที่เดินตรงไป.” (สุภาษิต 15:21, ล.ม.) คนที่ขาดด้านหัวใจยินดีกับเสียงหัวเราะและการสนุกสนานอันโฉดเขลาที่ไม่ให้ความอิ่มใจหรือความสุขแท้. แต่คนที่มีความสังเกตเข้าใจมองเห็นความเบาปัญญาของการเป็น “คนรักการสนุกสนานมากกว่ารักพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:1, 4) การยึดมั่นกับหลักการของพระเจ้าช่วยเขาให้ซื่อตรงอยู่เสมอและรักษาแนวทางของเขาให้ตรงไป.
เมื่อ “มีความสำเร็จ”
การดำเนินชีวิตโดยอาศัยหลักการของพระเจ้าให้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ของชีวิตด้วย. สุภาษิต 15:22 (ล.ม.) กล่าวว่า “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่เมื่อมีที่ปรึกษาจำนวนมากก็มีความสำเร็จ.”
การพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจหมายถึงการพูดคุยเป็นส่วนตัวอย่างตรงไปตรงมา. คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “การพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ได้รับการแปลในบทเพลงสรรเสริญ 89:7 ว่าการ “ประชุมหารือ.” นี่บ่งชี้ถึงการพูดคุยกันอย่างสนิทสนม. ไม่เหมือนกับการพูดคุยกันอย่างผิวเผิน การพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกที่แท้จริง. เมื่อสามีและภรรยารวมทั้งบิดามารดาและบุตรพูดคุยกันอย่างเปิดเผยเช่นนี้ พวกเขาก็จะมีสันติสุขและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. แต่ถ้าไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกันก็จะทำให้เกิดปัญหาและความข้องขัดใจในครอบครัว.
เมื่อเราตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ นับว่าสุขุมที่จะเอาใจใส่คำแนะนำที่ว่า “เมื่อมีที่ปรึกษาจำนวนมากก็มีความสำเร็จ.” ยกตัวอย่าง เมื่อเรากำลังเลือกวิธีรักษาโรค ไม่สุขุมหรอกหรือที่จะขอความเห็นจากแพทย์คนที่สองหรือสาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวข้องอยู่ด้วย?
การมีที่ปรึกษาหลายคนนับว่ามีคุณค่ามากในการดูแลเอาใจใส่เรื่องฝ่ายวิญญาณ. เมื่อผู้ปกครองปรึกษากันและนำคำแนะนำอันสุขุมของคณะผู้ปกครองไปใช้ ‘ก็จะมีความสำเร็จ.’ ยิ่งกว่านั้น ผู้ดูแลที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ไม่ควรลังเลที่จะขอคำแนะนำจากผู้ปกครองที่มีอายุและประสบการณ์มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องที่ต้องเอาใจใส่นั้นเป็นเรื่องยาก.
เมื่อมี ‘ความยินดีในคำตอบ’
อะไรคือผลดีของการพูดอย่างที่แสดงถึงความหยั่งเห็นเข้าใจ? กษัตริย์แห่งอิสราเอลกล่าวว่า “คำตอบที่เหมาะสมย่อมนำความยินดีมาสู่ผู้กล่าว; และถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะก็ประเสริฐนัก!” (สุภาษิต 15:23) เรารู้สึกยินดีมิ ใช่หรือเมื่อมีการปฏิบัติตามคำตอบหรือคำแนะนำของเราแล้วเกิดผลดีตามมา? อย่างไรก็ตาม เพื่อที่คำแนะนำของเราจะเกิดผลดี คำแนะนำนั้นต้องบรรลุข้อเรียกร้องสองประการ.
ประการแรก คำแนะนำนั้นควรยึดมั่นอยู่กับคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) ประการที่สอง ต้องพูดในเวลาที่เหมาะ. แม้สิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริงแต่ถ้าพูดในเวลาที่ไม่เหมาะก็อาจก่อความเสียหายได้. ตัวอย่างเช่น การให้คำแนะนำบางคนก่อนได้ฟังเขาชี้แจงเรื่องราวนับว่าไม่ฉลาดและไม่เป็นประโยชน์. ช่างเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะ “ว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด”!—ยาโกโบ 1:19.
“ทางแห่งชีวิต . . . ย่อมดำเนินสูงขึ้นไป”
สุภาษิต 15:24 กล่าวว่า “ทางแห่งชีวิตฝ่ายคนมีปัญญาย่อมดำเนินสูงขึ้นไป; เพื่อตนจะได้พ้นไปจากเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.] เบื้องต่ำ.” คนที่ประพฤติด้วยความหยั่งเห็นเข้าใจอยู่บนทางแห่งชีวิตที่ไกลจากเชโอล หรือหลุมศพทั่วไปของมนุษยชาติ. เขาหลีกหนีกิจปฏิบัติที่ก่อความเสียหาย เช่น การสำส่อนทางเพศ, การใช้ยาเสพติด, และการเมาเหล้า ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร. ทางของเขานำไปสู่ชีวิต.
ในทางตรงกันข้าม โปรดสังเกตแนวทางของคนที่ขาดความหยั่งเห็นเข้าใจ: “พระยะโฮวาจะถอนเสาเรือนของคนเย่อหยิ่งจองหอง; แต่พระองค์จะทรงกั้นเขตของหญิงม่ายให้ถาวร. โครงการชั่วเป็นที่สะอิดสะเอียนแต่พระยะโฮวา; แต่ถ้อยคำของคนบริสุทธิ์เป็นที่โปรดปราน. ผู้ที่มีความโลภเห็นแต่จะได้ย่อมนำความทุกข์มาสู่ครัวเรือนของตนเอง; แต่ผู้ที่ชังสินบนจะมีชีวิตอยู่.”—สุภาษิต 15:25-27.
ในการแสดงให้เห็นวิธีหลีกเลี่ยงหลุมพรางธรรมดา ๆ กษัตริย์แห่งอิสราเอลกล่าวว่า “ใจของคนชอบธรรมตรึกตรองก่อนแล้วจึงตอบ; แต่คำชั่วร้ายย่อมพลุ่งออกมาจากปากของคนชั่ว.” (สุภาษิต 15:28) สุภาษิตข้อนี้ช่างเป็นคำแนะนำที่มีคุณค่าจริง ๆ! คำตอบโง่ ๆ และไม่ยั้งคิดที่โพล่งออกจากปากแทบไม่ก่อผลดีใด ๆ เลย. เมื่อเราพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง รวมถึงสภาพการณ์และความรู้สึกของผู้อื่น เราคงจะไม่พูดอะไรที่อาจทำให้เราเสียใจภายหลัง.
แล้วประโยชน์ของการยำเกรงพระเจ้าและรับเอาการตีสอนจากพระองค์คืออะไร? บุรุษผู้ชาญฉลาดตอบว่า “พระยะโฮวาทรงอยู่ห่างไกลจากคนชั่ว; แต่พระองค์ทรงสดับคำอธิษฐานของคนชอบธรรม.” (สุภาษิต 15:29) พระเจ้าเที่ยงแท้ทรงอยู่ห่างไกลจากคนชั่ว. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนใด ที่บ่ายหูไม่ฟังพระบัญญัติ, คำอธิษฐานของเขาก็เป็นที่น่าสะอิดสะเอียน.” (สุภาษิต 28:9) คนที่ยำเกรงพระเจ้าและพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระองค์สามารถเข้าเฝ้าพระองค์ได้อย่างสะดวกใจโดยมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าพระองค์จะสดับฟังเขา.
สิ่งที่ “ทำให้ใจโสมนัส”
โดยใช้การเปรียบเทียบที่กระตุ้นความคิด ซะโลโมกล่าวว่า “ความสว่างแห่งดวงตาย่อมทำให้ใจโสมนัส; และข่าวดีย่อมเป็นที่ให้กะดูกทั้งหลายอ้วนพีขึ้น.” (สุภาษิต 15:30) กระดูกจะ “อ้วนพี” เมื่อมีไขกระดูก. นี่ส่งผลให้ทั้งร่างกายมีกำลังวังชาและทำให้หัวใจยินดี. และหัวใจที่เบิกบานก็จะสะท้อนออกมาทางดวงตาที่สดใส. ผลของข่าวดีก็เป็นอย่างนั้น!
รายงานความก้าวหน้าของการนมัสการพระยะโฮวาทั่วโลกเป็นแหล่งที่ให้การหนุนใจที่แท้จริงแก่เรามิใช่หรือ? การได้รู้ว่างานประกาศราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวกกำลังประสบผลสำเร็จ เป็นการเสริมกำลังเราอย่างแท้จริงให้มีส่วนร่วมมากขึ้นในงานรับใช้. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) ประสบการณ์ของคนเหล่านั้นที่ทำให้พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของเขาและรับเอาการนมัสการแท้ ทำให้หัวใจเรายินดี. เนื่องจาก “ข่าวดีที่มาจากเมืองไกล” มีผลกระทบที่ทรงพลังเช่นนี้ นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราจะส่งรายงานการรับใช้อย่างถูกต้องและซื่อตรง.—สุภาษิต 25:25.
“ใจถ่อมลงนำมาถึงเกียรติศักดิ์”
โดยเน้นถึงคุณค่าของการยอมรับการตีสอนในรูปแบบต่าง ๆ กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวว่า “หูที่ฟังคำเตือนสอนฝ่ายชีวิตจะอาศัยอยู่ในหมู่คนที่มีปัญญา. บุคคลผู้ปฏิเสธต่อคำสั่งสอนก็ดูหมิ่นต่อจิตต์วิญญาณของตนเอง; แต่บุคคลผู้ฟังคำตักเตือนก็ได้รับความเข้าใจ.” (สุภาษิต 15:31, 32) คำตักเตือนหรือการตีสอนเข้าถึงหัวใจของคนเราและทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่หัวใจ ส่งผลให้คนเรามีวิจารณญาณที่ดี. ไม่แปลกที่ว่า “ไม้เรียวแห่งการตีสอน” นั่นเองที่ขับไล่ ‘ความโฉดเขลาที่ผูกพันอยู่กับหัวใจของเด็ก’! (สุภาษิต 22:15, ล.ม.) คนที่ฟังการตีสอนก็จะมีหัวใจหรือแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง. ในอีกด้านหนึ่ง การปฏิเสธการตีสอนก็เป็นการปฏิเสธชีวิต.
จริงทีเดียว การยินดีรับเอาการตีสอนของสติปัญญาและการยอมรับด้วยความถ่อมใจย่อมให้ประโยชน์. การทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่นำความอิ่มใจพอใจ, ความเจริญ, ความยินดี, และความสำเร็จมาให้เท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งเกียรติศักดิ์และชีวิตอีกด้วย. สุภาษิต 15:33 ลงท้ายว่า “ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็นที่สอนให้เกิดปัญญา: และใจถ่อมลงนำมาถึงเกียรติศักดิ์.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 สำหรับรายละเอียดการพิจารณาพระธรรมสุภาษิต 15:1-15 โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กรกฎาคม 2006 หน้า 13-16.
[ภาพหน้า 17]
บรรยากาศในบ้านที่เต็มไปด้วย ความรักน่าปรารถนายิ่งกว่าการมีอาหารราคาแพงอย่างเหลือเฟือ
[ภาพหน้า 18]
แม้ว่าเรามีความสามารถจำกัด แต่ทัศนะในแง่บวกจะช่วยให้เราได้รับความรู้
[ภาพหน้า 19]
การพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกที่แท้จริง
[ภาพหน้า 20]
คุณรู้ไหมว่า “ข่าวดีย่อมเป็นที่ให้กะดูกทั้งหลายอ้วนพีขึ้น” อย่างไร?