บารุค เลขานุการผู้ซื่อสัตย์ของยิระมะยา
บารุค เลขานุการผู้ซื่อสัตย์ของยิระมะยา
คุณรู้จัก “บารุคผู้เป็นบุตรของเนรียา” ไหม? (ยิระมะยา 36:4) ถึงแม้ว่าชื่อของเขาจะมีเอ่ยถึงในคัมภีร์ไบเบิลเพียงสี่บท แต่สำหรับผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เขาเป็นที่รู้จักดีในฐานะเลขานุการส่วนตัวและเพื่อนสนิทของผู้พยากรณ์ยิระมะยา. พวกเขาเผชิญสภาพการณ์ที่ยากลำบากร่วมกันในช่วง 18 ปีสุดท้ายของอาณาจักรยูดาห์, เมื่อกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายโดยชาวบาบิโลนในปี 607 ก่อนสากลศักราช, และระหว่างการเนรเทศไปยังอียิปต์ในเวลาต่อมา.
ไม่กี่ปีมานี้ได้มีการค้นพบตราดินเหนียว *สองอันจากศตวรรษที่เจ็ด ก่อน ส.ศ. ซึ่งมีข้อความว่า “ของเบเรคยาฮู [ชื่อภาษาฮีบรูของบารุค], บุตรเนริยาฮู [ชื่อภาษาฮีบรูของเนรียา] ผู้เป็นอาลักษณ์.” ตรานี้ได้ทำให้พวกผู้คงแก่เรียนเกิดสนใจบุคคลในคัมภีร์ไบเบิลผู้นี้ขึ้นมา. บารุคเป็นใคร? ภูมิหลังด้านครอบครัว, การศึกษา, และสถานภาพของเขาเป็นอย่างไร? การที่เขายืนหยัดอยู่เคียงข้างยิระมะยาเผยให้เห็นอะไร? เราเรียนอะไรได้จากเขา? ให้เรามาหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่จากคัมภีร์ไบเบิลและประวัติศาสตร์.
ภูมิหลังและสถานภาพ
ผู้คงแก่เรียนหลายคนในปัจจุบันเชื่อว่าบารุคมาจากครอบครัวอาลักษณ์ที่มีชื่อเสียงในยูดาห์. พวกเขาชี้ถึงเหตุผลหลายประการสำหรับการลงความเห็นเช่นนั้น. ตัวอย่างเช่น เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงบารุคโดยใช้ตำแหน่งพิเศษเช่น “เลขานุการ” หรือบางฉบับแปลก็ใช้คำว่า “อาลักษณ์.” พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงซะรายะซึ่งอาจเป็นพี่ชายหรือน้องชายของบารุค และเป็นข้าราชการคนสำคัญในราชสำนักของกษัตริย์ซิดคียาด้วย.—ยิระมะยา 36:32; 51:59.
นักโบราณคดีฟิลิป เจ. คิง เขียนเกี่ยวกับอาลักษณ์ในสมัยยิระมะยาว่า “อาลักษณ์เป็นสมาชิกของชนชั้นอาชีพหนึ่งซึ่งโดดเด่นในยูดาห์ในช่วงปลายศตวรรษที่เจ็ดและต้นศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช . . . ตำแหน่งดังกล่าวเป็นของข้าราชสำนักระดับสูง.”
นอกจากนี้ บันทึกในยิระมะยาบท 36 ซึ่งเราจะพิจารณาอย่างละเอียดยังทำให้คิดว่าบารุคได้เข้าพบบรรดาที่ปรึกษาของกษัตริย์และได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องรับประทานอาหารหรือห้องประชุมคณะมนตรีของคะมาระยา ผู้เป็นเจ้าชายหรือข้าราชสำนักคนหนึ่ง. เจมส์ มุยเลนเบิร์ก ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลให้เหตุผลว่า “บารุคสามารถเข้าไปในห้องประชุมคณะมนตรีได้ก็เพราะเขามีสิทธิจะเข้าไป และตัวเขาเองก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในหมู่ข้าราชสำนักที่มาร่วมประชุมในโอกาสสำคัญซึ่งมีการอ่านม้วนหนังสือนั้น. เขาเป็นคนหนึ่งในหมู่ข้าราชสำนัก.”
หนังสือประมวลตราประทับของชาวเซมิติกตะวันตก (ภาษาอังกฤษ) ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งอาลักษณ์ของบารุคดังนี้: “เนื่องจากมีการพบตราดินเหนียวของเบเรคยาฮูพร้อมกันกับตราดินเหนียวของข้าราชการระดับสูงคนอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะลงความเห็นว่าบารุคหรือเบเรคยาฮูนั้นทำงานอยู่ในขอบข่ายเดียวกันกับข้าราชการคนอื่น ๆ.” ข้อมูลที่มีอยู่ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่าบารุคและซะรายะเป็นข้าราชการระดับสูงที่คอยช่วยเหลือยิระมะยาผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ในช่วงหลายปีซึ่งเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญก่อนที่กรุงเยรูซาเลมจะถูกทำลาย.
ให้การสนับสนุนยิระมะยาอย่างเปิดเผย
ตามลำดับเวลาแล้ว บารุคปรากฏตัวครั้งแรกในยิระมะยาบท 36 ใน “ปีที่สี่แห่งยะโฮยาคิม” หรือประมาณปี 625 ก่อน ส.ศ. ในตอนนั้น ยิระมะยาทำหน้าที่ผู้พยากรณ์มาได้ 23 ปีแล้ว.—ยิระมะยา 25:1-3; 36:1, 4.
ขณะนั้นพระยะโฮวาตรัสกับยิระมะยาว่า “เจ้าจงเอาหนังสือม้วนเล่มหนึ่ง, แลเขียนลงในเล่มนั้นแต่บรรดาถ้อยคำที่เราได้บอกแก่เจ้าแล้วต่อสู้ยิศราเอล, แลต่อสู้ยะฮูดา, แลต่อสู้บรรดาเมืองทั้งปวง, . . . ตั้งแต่วันเดือนแห่งโยซียาจนถึงทุกวันนี้.” บันทึกกล่าวต่อไปอีกว่า “ยิระมะยาเรียกบารุคผู้เป็นบุตรของเนรียา, แลบารุคก็เขียนตามปากยิระมะยาบอกแต่บรรดาถ้อยคำแห่งพระยะโฮวา.”—ยิระมะยา 36:2-4.
ทำไมจึงต้องเรียกบารุคมา? ยิระมะยาบอกบารุคว่า “ข้าพเจ้าถูกห้ามไม่ให้ไปยังพระนิเวศของพระเจ้า.” (ยิระมะยา 36:5, ฉบับแปลใหม่) เห็นได้ชัดว่า ยิระมะยาถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในเขตพระวิหาร ที่ซึ่งควรมีการอ่านข่าวสารจากพระยะโฮวา บางทีอาจเป็นเพราะข่าวสารที่ยิระมะยาเปิดเผยไปก่อนหน้านี้ได้ทำให้พวกเจ้าหน้าที่โมโห. (ยิระมะยา 26:1-9) ไม่มีข้อสงสัยว่า บารุคเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาที่จริงใจ และเขาได้ “ทำทุกสิ่งตามที่ยิระมะยาผู้พยากรณ์ได้สั่งเขาไว้.”—ยิระมะยา 36:8, ล.ม.
การเขียนคำเตือนที่ได้ประกาศไปแล้วตลอด 23 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และบางทียิระมะยาอาจกำลังรอเวลาที่เหมาะอยู่. แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ปี 624 ก่อน ส.ศ. บารุคก็ได้แสดงความกล้าโดย “อ่านในเล่มหนังสือถ้อยคำทั้งหลายของยิระมะยาในวิหารแห่งพระยะโฮวา, ในห้องของคะมาระยา . . . , เขาอ่านในโสตบรรดาไพร่พลทั้งปวง.”—ยิระมะยา 36:8-10.
มิคายาบุตรของคะมาระยาได้แจ้งให้บิดากับเจ้านายบางคนทราบว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจึงได้เชิญให้บารุคมาอ่านม้วนหนังสือนั้นอีกเป็นครั้งที่สอง. บันทึกกล่าวว่า “ครั้นเมื่อเขาทั้งปวงได้ยินบรรดาถ้อยคำเหล่านั้น, เขาก็ตกใจกลัวทุกคนแล้วก็บอกบารุคว่า, พวกเราจะไปทูลกษัตริย์ด้วยแต่บรรดาถ้อยคำเหล่านี้เป็นแน่. . . . ตัวเจ้ากับยิระมะยาจงไปซ่อนตัวเสีย, อย่าให้ผู้ใดรู้ว่าเจ้าอยู่ที่ไหนเลย.”—ยิระมะยา 36:11-19.
เมื่อกษัตริย์ยะโฮยาคิมทรงได้ฟังสิ่งที่บารุคได้เขียนตามคำบอกของยิระมะยาก็ทรงกริ้ว จึงฉีกม้วนหนังสือนั้นทิ้งลงในไฟ แล้วสั่งให้คนไปจับตัวยิระมะยากับบารุค. ระหว่างที่ซ่อนตัวอยู่ทั้งสองคนได้ทำสำเนาม้วนหนังสือนั้นขึ้นอีกม้วนหนึ่งตามพระบัญชาของพระยะโฮวา.—ยิระมะยา 36:21-32.
ไม่ต้องสงสัยว่า บารุคเข้าใจว่างานที่ทำอยู่นั้นมีอันตรายอะไรบ้าง. เขาคงต้องรู้เกี่ยวกับคำขู่ที่ยิระมะยาได้รับเมื่อไม่กี่ปีก่อน. นอกจากนั้น เขาคงได้ยินเรื่องที่เกิดกับอุรียา ผู้ที่ได้พยากรณ์ “ด้วยถ้อยคำของยิระมะยา” แต่แล้วก็ถูกกษัตริย์ยะโฮยาคิมฆ่าตาย. กระนั้น บารุคก็ยังเต็มใจจะใช้ความชำนาญในอาชีพของตนและความได้เปรียบที่รู้จักข้าราชการหลายคน เพื่อช่วยยิระมะยาทำงานที่ได้รับมอบหมายนี้.—ยิระมะยา 26:1-9, 20-24.
อย่าแสวงหา “ของใหญ่”
ระหว่างที่เขียนหนังสือม้วนแรกเป็นช่วงเวลาที่บารุคต้องเจอกับความทุกข์ลำบาก. เขาร้องออกมาว่า “บัดนี้จะมีวิบากแก่ข้าพเจ้า, เพราะพระยะโฮวาได้เพิ่มเติมความเศร้าหมองแก่ความทุกข์ของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าได้สลบไปในความหายใจใหญ่ของข้าพเจ้า, แลข้าพเจ้าเสาะหาความสงบเงียบมิได้.” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?—ยิระมะยา 45:1-3.
ไม่มีคำตอบตรง ๆ สำหรับคำถามนี้. แต่ลองนึกภาพดูซิว่าบารุคต้องเจอสภาพการณ์เช่นไร. การกล่าวถึงคำเตือนที่มีการแจ้งแก่ชาวอิสราเอลและยูดาห์ตลอด 23 ปีคงทำให้การออกหากของพวกเขาและการถูกพระยะโฮวาปฏิเสธเห็นเด่นชัดอย่างยิ่ง. การที่พระยะโฮวาตัดสินพระทัยจะทำลายกรุงเยรูซาเลมและยูดาห์ แล้วให้พวกเขาไปเป็นเชลยในบาบิโลนนาน 70 ปี ดังที่ทรงเปิดเผยให้ทราบในปีเดียวกันนั้นและบางทีอาจจะเขียนไว้ในม้วนหนังสือด้วยคงต้องทำให้บารุคตกใจมากทีเดียว. (ยิระมะยา 25:1-11) ยิ่งกว่านั้น การที่บารุคสนับสนุนยิระมะยาอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาวิกฤตินี้ยังอาจทำให้เขาสูญเสียตำแหน่งและอาชีพได้อีกด้วย.
ไม่ว่าจะอย่างไร พระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซงด้วยพระองค์เองเพื่อช่วยบารุคให้คิดถึงการพิพากษาที่กำลังยิระมะยา 45:4, 5.
จะมาถึง. พระยะโฮวาตรัสว่า “สิ่งซึ่งเราได้ก่อขึ้นเราจะหักพังลงเสีย, แลสิ่งซึ่งเราได้ปลูกลงแล้วเราจะถอนขึ้น, คือว่าประเทศนี้ทั้งหมด.” แล้วพระองค์ทรงแนะนำบารุคว่า “แลเจ้าได้แสวงหาซึ่งของใหญ่สำหรับตัวหรือ, อย่าหาเลย.”—พระยะโฮวาไม่ได้ทรงระบุว่าอะไรคือ “ของใหญ่” ที่ว่านี้ แต่บารุคย่อมจะรู้ ไม่ว่าของใหญ่นั้นจะเป็นความทะเยอทะยานที่เห็นแก่ตัว, ชื่อเสียง, หรือความมั่งคั่งด้านวัตถุ. พระยะโฮวาทรงแนะเขาให้มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงและคิดถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยตรัสดังนี้: “นี่แน่ะ, เราจะนำความร้ายมาบนบรรดาเนื้อหนัง, . . . แต่ชีวิตของเจ้าจะยกให้แก่เจ้าเป็นของปล้นสำหรับเจ้าในบรรดาตำบลที่เจ้าจะไปอยู่นั้น.” สิ่งสำคัญที่สุดที่บารุคมี คือชีวิตของเขาเองจะได้รับการพิทักษ์รักษาไม่ว่าเขาจะไปที่ใด.—ยิระมะยา 45:5.
หลังจากพรรณนาถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในยิระมะยาบท 36 และ 45 ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงปี 625 ถึง 624 ก่อน ส.ศ. คัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ได้กล่าวถึงบารุคอีก จนกระทั่งเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก่อนที่ชาวบาบิโลนจะทำลายกรุงเยรูซาเลมและยูดาห์ในปี 607 ก่อน ส.ศ. เกิดอะไรขึ้นในเวลานั้น?
บารุคช่วยเหลือยิระมะยาอีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างที่กรุงเยรูซาเลมถูกชาวบาบิโลนล้อมอยู่นั้น ชื่อของบารุคก็ปรากฏในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลอีกครั้ง. ยิระมะยาถูก “กักขังอยู่ในบริเวณคุก” เมื่อพระยะโฮวาทรงบอกให้ท่านซื้อที่ดินผืนหนึ่งในเมืองอะนาโธธจากลูกพี่ลูกน้องของท่านเพื่อเป็นหมายสำคัญว่าจะมีการฟื้นฟู. บารุคจึงถูกเรียกตัวมาเพื่อช่วยจัดการเรื่องทางกฎหมาย.—ยิระมะยา 32:1, 2, 6, 7.
ยิระมะยาอธิบายว่า “ข้าพระบาทก็ลงนามใน [“เขียน,” ล.ม.] โฉนดประทับตราไว้ได้พยานและเอาตาชั่งชั่งเงิน แล้วข้าพระบาทก็รับโฉนดของการซื้อที่ประทับตราแล้ว . . . และฉบับที่เปิดอยู่ และข้าพระบาทก็มอบโฉนดของการซื้อให้แก่บารุค.” แล้วท่านก็สั่งให้บารุคเก็บรักษาโฉนดการซื้อทั้งสองฉบับไว้ในภาชนะดิน. ผู้คงแก่เรียนบางคนเชื่อว่าเมื่อยิระมะยาพูดว่าท่านได้ “เขียน” โฉนดนั้น น่าจะหมายความว่าท่านได้ให้บารุคผู้เป็นอาลักษณ์โดยอาชีพเขียนตามคำบอกของท่าน. ผู้ที่ทำการเขียนจริง ๆ คงเป็นบารุค.—ยิระมะยา 32:10-14; 36:4, 17, 18; 45:1, ฉบับแปลใหม่.
บารุคและยิระมะยาได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมทางกฎหมายที่ทำกันในเวลานั้น. ธรรมเนียมอย่างหนึ่งคือการทำโฉนดการซื้อสองฉบับ. หนังสือประมวลตราประทับของชาวเซมิติกตะวันตก อธิบายว่า “โฉนดฉบับแรกเรียกว่า ‘โฉนดประทับตรา’ เนื่องจากโฉนดนี้จะถูกม้วนและผนึกไว้ด้วยตราดินเหนียวอันหนึ่งหรือหลายอัน โดยโฉนดฉบับนี้ถือเป็นสัญญาฉบับจริง. . . . โฉนดฉบับที่สองคือ ‘โฉนดเปิด’ เป็นสำเนาของฉบับที่ได้ประทับตราแล้วม้วนเก็บไว้ และทำขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจสอบสัญญา. ดังนั้น จึงมีเอกสารสองฉบับ ตัวจริงหนึ่งฉบับและสำเนาอีกหนึ่งฉบับ โดยเขียนแยกกันบนกระดาษพาไพรัสสองแผ่น.” การค้นพบทางโบราณคดียืนยันว่าเคยมีธรรมเนียมการเก็บเอกสารในภาชนะดินเหนียวจริง.
ในที่สุด ชาวบาบิโลนก็ยึดกรุงเยรูซาเลม, เผากรุง, แล้วเนรเทศทุกคนไปเป็นเชลย เว้นแต่คนยากจนไม่กี่คน. นะบูคัดเนซัรได้ตั้งฆะดัลยาเป็นผู้ว่าราชการ. สองเดือนต่อมาเขาก็ถูกพวกยิวสังหาร. ชาวยิวที่เหลืออยู่วางแผนจะย้ายไปอียิปต์โดยไม่ฟังคำแนะนำที่ได้รับการดลใจของยิระมะยา และในบริบทนี้เองมีการกล่าวถึงบารุคอีกครั้งหนึ่ง.—ยิระมะยา 39:2, 8; 40:5; 41:1, 2; 42:13-17.
พวกผู้นำชาวยิวบอกยิระมะยาว่า “ท่านพูดไม่จริง, พระยะโฮวาพระเจ้าของเราไม่ได้ใช้ท่านเพื่อจะให้บอกว่า, อย่าเข้าไปในเมืองอายฆุบโตอาศัยอยู่ที่นั่น. แต่บารุคบุตรของเนรียาได้ยุท่านให้ขัดขวางพวกเรา, เพื่อจะมอบพวกเราให้เข้าในมือแห่งพวกเคเซ็ด, เพื่อเขาทั้งหลายจะฆ่าพวกเรา, แลจะกวาดเอาพวกเราเข้าไปในเมืองบาบูโลน.” (ยิระมะยา 43:2, 3) การกล่าวหาเช่นนั้นดูเหมือนจะแสดงให้เห็นความเชื่อในหมู่ผู้นำชาวยิวที่ว่าบารุคได้ใช้อิทธิพลเหนือยิระมะยาอยู่ไม่น้อย. พวกเขาเชื่อเช่นนั้นเนื่องจากตำแหน่งของบารุคหรือเพราะมิตรภาพที่ยาวนานระหว่างบารุคกับยิระมะยา ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่มากกว่าแค่คอยบันทึกถ้อยคำของผู้พยากรณ์ยิระมะยาไหม? อาจเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ว่าพวกผู้นำชาวยิวจะคิดอย่างไร ข่าวสารนั้นมาจากพระยะโฮวาจริง ๆ.
แม้จะได้รับการเตือนจากพระเจ้าหลายครั้ง แต่ชาวยิวที่เหลืออยู่ก็ยังออกไปและได้พา “ยิระมะยาผู้ทำนาย, แลบารุคบุตรของเนรียา” ไปด้วย. ยิระมะยาบันทึกว่า “เหตุดังนี้เขาทั้งหลายเข้ามาอยู่ในประเทศอายฆุบโต, เพราะเขาไม่ได้ฟังสำเนียงตรัสแห่งพระยะโฮวา, แลเขาทั้งปวงจึงเข้ามาถึงที่ตำบลธาฟันเฮศ” เมืองชายแดนทางตะวันออกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ซึ่งอยู่ติดกับไซนาย. เมื่อถึงตอนนี้ไม่มีการกล่าวถึงบารุคในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลอีกเลย.—ยิระมะยา 43:5-7.
เราเรียนอะไรได้จากบารุค?
มีบทเรียนที่มีค่าหลายเรื่องซึ่งเราเรียนได้จากบารุค. บทเรียนที่เด่นเรื่องหนึ่งคือการเต็มใจจะใช้ประโยชน์จากความชำนาญในอาชีพและการรู้จักผู้คนเพื่อช่วยในงานของพระยะโฮวา ไม่ว่าผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร. พยานพระยะโฮวาจำนวนมากในทุกวันนี้ทั้งชายและหญิงได้แสดงน้ำใจแบบเดียวกัน โดยใช้ทักษะของตนในงานรับใช้ที่เบเธล, ในโครงการก่อสร้าง, และในงานอื่น ๆ ทำนองนี้. คุณจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่ามีน้ำใจเหมือนบารุค?
เมื่อบารุคได้รับการเตือนว่าในช่วงวาระสุดท้ายของอาณาจักรยูดาห์ไม่ใช่เวลาที่จะแสวงหา “ของใหญ่” สำหรับตนเองก็ดูเหมือนว่าเขาตอบรับอย่างเชื่อฟัง เพราะเขาได้รับการไว้ชีวิต. นับว่ามีเหตุผลที่เราจะนำคำแนะนำนี้มาใช้กับตนเอง เพราะเราก็มีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายของระบบนี้เช่นกัน. พระยะโฮวาทรงให้คำสัญญาเดียวกันกับเรา นั่นคือ เราจะได้รับการไว้ชีวิต. เราจะตอบรับคำเตือนเหมือนที่บารุคทำได้ไหม?
ยังมีอีกบทเรียนหนึ่งที่เป็นประโยชน์ซึ่งเราเรียนได้จากเรื่องนี้. บารุคได้ช่วยยิระมะยาและลูกพี่ลูกน้องของท่านทำข้อตกลงทางกฎหมายที่จำเป็นเมื่อทั้งสองติดต่อซื้อขายที่ดินกัน แม้ว่า พวกเขาจะเป็นญาติกันก็ตาม. นี่เป็นแบบอย่างจากพระคัมภีร์สำหรับคริสเตียนที่ติดต่อธุรกิจกับพี่น้องชายหญิงร่วมความเชื่อ. การติดตามตัวอย่างนี้โดยทำข้อตกลงทางธุรกิจให้เป็นลายลักษณ์อักษรนับว่าเป็นเรื่องถูกต้องตามหลักคัมภีร์ไบเบิล, เป็นประโยชน์, และเป็นการแสดงความรัก.
ถึงแม้ว่าคัมภีร์ไบเบิลจะกล่าวถึงบารุคเพียงสั้น ๆ แต่เขาก็เป็นบุคคลที่คริสเตียนทุกคนในปัจจุบันควรสนใจ. คุณจะเลียนแบบตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของเลขานุการผู้ซื่อสัตย์ของยิระมะยาคนนี้ไหม?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ตราดินเหนียวคือดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ ใช้สำหรับผนึกเชือกที่ผูกกับเอกสารสำคัญ. ดินเหนียวจะถูกประทับด้วยตราที่ระบุชื่อเจ้าของหรือชื่อผู้ส่งเอกสาร.
[ภาพหน้า 16]
ดินเหนียวที่มีตราประทับของบารุค
[ที่มาของภาพ]
Bulla: Courtesy of Israel Museum, Jerusalem