“จงทูลขอต่อพระเจ้า”
“จงทูลขอต่อพระเจ้า”
“ทุกสิ่งจงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ.”—ฟิลิปปอย 4:6, ล.ม.
1. เรามีสิทธิพิเศษที่จะติดต่อสื่อสารกับใคร และเหตุใดนี่เป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง?
หากคุณขอเข้าพบผู้ปกครองประเทศของคุณ คุณคงจะได้รับคำตอบเช่นไร? คุณอาจได้รับคำตอบอย่างสุภาพจากเจ้าหน้าที่ของเขา แต่โอกาสที่คุณจะได้รับอนุญาตให้พูดกับตัวผู้นำเองคงจะมีน้อยมาก. แต่กับผู้ปกครององค์ใหญ่ยิ่งสูงสุด พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ สถานการณ์กลับแตกต่างออกไป. เราสามารถเข้าเฝ้าพระองค์ที่ใดก็ได้ที่เราอยู่และในเวลาใดก็ได้ที่เราเลือก. คำอธิษฐานแบบที่ทรงยอมรับจะไปถึงพระองค์เสมอ. (สุภาษิต 15:29) นั่นเป็นเรื่องที่วิเศษจริง ๆ! ความหยั่งรู้ค่าในเรื่องนี้น่าจะกระตุ้นเราให้อธิษฐานเป็นประจำถึงพระองค์ผู้ถูกเรียกอย่างเหมาะเจาะว่า “ผู้สดับคำอธิษฐาน” มิใช่หรือ?—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
2. อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคำอธิษฐานจะเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า?
2 แต่บางคนอาจถามว่า ‘คำอธิษฐานแบบไหนที่พระเจ้าทรงยอมรับ?’ คัมภีร์ไบเบิลอธิบายถึงสิ่งหนึ่งที่จำเป็นเพื่อคำอธิษฐานจะเป็นที่ยอมรับ เมื่อกล่าวว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นที่ชอบพระทัยพระองค์ เพราะผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.” (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) ดังอธิบายแล้วในบทความก่อน ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าเฝ้าพระเจ้าคือความเชื่อ. พระเจ้าทรงเต็มพระทัยจะยอมรับคำอธิษฐานของคนที่เข้าเฝ้าพระองค์ แต่พวกเขาต้องอธิษฐานด้วยความเชื่อควบคู่กับการกระทำที่ถูกต้อง พร้อมกับมีความจริงใจและเจตคติที่ถูกต้อง.
3. (ก) ดังเห็นได้จากคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในอดีต คำกล่าวแบบใดที่อาจรวมอยู่ในคำอธิษฐาน? (ข) คำอธิษฐานของเราอาจเป็นแบบใดได้บ้าง?
3 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นคริสเตียนในสมัยท่านดังนี้: “อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใด แต่ในทุกสิ่งจงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐาน และการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างของคนที่ทูลอธิษฐานถึงพระเจ้าในเรื่องที่ตนเป็นห่วงกังวล. บางคนที่ทำเช่นนั้นก็คือฮันนา, เอลียา, ฮีศคียา, และดานิเอล. (1 ซามูเอล 2:1-10; 1 กษัตริย์ 18:36, 37; 2 กษัตริย์ 19:15-19; ดานิเอล 9:3-21) เราควรทำตามตัวอย่างของพวกเขา. โปรดสังเกตด้วยว่าคำกล่าวของเปาโลแสดงว่าการอธิษฐานของเราอาจทำได้หลายรูปแบบ. ท่านกล่าวถึงการขอบพระคุณ ซึ่งก็คือ คำอธิษฐานที่เราแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อเรา. อาจมีการสรรเสริญร่วมอยู่ด้วย. การวิงวอน หมายถึงการขอร้องอย่างถ่อมใจและจริงจัง. และเราอาจทูลขอบางสิ่งอย่างเจาะจงได้. (ลูกา 11:2, 3) พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงพร้อมจะให้เราเข้าเฝ้าพระองค์แบบใดก็ตามที่ได้กล่าวไป.
4. แม้พระยะโฮวาทรงทราบความจำเป็นของเรา เหตุใดเรายังคงต้องทูลขอพระองค์?
4 บางคนอาจถามว่า ‘พระยะโฮวาทรงทราบความจำเป็นของเราทุกอย่างอยู่แล้วมิใช่หรือ?’ ใช่ พระองค์ทรงทราบ. (มัดธาย 6:8, 32) ถ้าอย่างนั้น ทำไมพระองค์ยังประสงค์ให้เราเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยคำทูลขออีกล่ะ? ขอพิจารณาตัวอย่างนี้: เจ้าของร้านคนหนึ่งอาจเสนอจะให้ของกำนัลแก่ลูกค้าบางคน. อย่างไรก็ตาม เพื่อจะรับของกำนัล ลูกค้าต้องมาหาเจ้าของร้านและขอรับของกำนัลนั้น. คนที่ไม่เต็มใจจะออกแรงทำอย่างนั้นย่อมแสดงว่าเขาไม่เห็นค่าข้อเสนอจากเจ้าของร้านอย่างแท้จริง. คล้ายกัน การไม่ทูลขอให้พระองค์ทราบในคำอธิษฐานย่อมแสดงถึงการขาดความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้. พระเยซูตรัสว่า “จงขอและจะได้.” (โยฮัน 16:24) โดยทำอย่างนี้ เราแสดงว่าเราไว้วางใจพระเจ้า.
เราควรเข้าเฝ้าพระเจ้าอย่างไร?
5. เหตุใดเราจำเป็นต้องอธิษฐานในนามพระเยซู?
5 พระยะโฮวาไม่ทรงวางกฎตายตัวไว้มากมายในเรื่องวิธีอธิษฐาน. ถึงกระนั้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีเข้าเฝ้าพระเจ้าอย่างถูกต้อง ซึ่งมีอธิบายไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงสอนเหล่าผู้ติดตามพระองค์ว่า “ถ้าท่านทั้งหลายจะขอสิ่งใดจากพระบิดา, พระองค์จะทรงประทานสิ่งนั้นให้แก่ท่านในนามของเรา.” (โยฮัน 16:23) ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องอธิษฐานในนามพระเยซู โดยที่ตระหนักว่าพระเยซูทรงเป็นช่องทางเดียวเท่านั้นที่พระเจ้าทรงใช้ในการอวยพรมนุษยชาติ.
6. เมื่ออธิษฐาน เราควรอยู่ในท่าใด?
6 เราควรอยู่ในท่าใดเมื่ออธิษฐาน? ไม่มีการระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิลว่าต้องอธิษฐานในท่าใดโดยเฉพาะพระเจ้าจึงจะทรงสดับฟัง. (1 กษัตริย์ 8:22; นะเฮมยา 8:6; มาระโก 11:25; ลูกา 22:41) สิ่งสำคัญคือการอธิษฐานถึงพระเจ้าด้วยความจริงใจและด้วยท่าทีของหัวใจที่ถูกต้อง.—โยเอล 2:12, 13.
7. (ก) “อาเมน” มีความหมายเช่นไร? (ข) คำนี้ถูกใช้อย่างเหมาะสมในคำอธิษฐานอย่างไร?
7 จะว่าอย่างไรสำหรับการใช้คำ “อาเมน”? พระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่า ตามธรรมดาแล้วนี่เป็นการลงท้ายคำอธิษฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อเราอธิษฐานด้วยกันเป็นกลุ่ม. (บทเพลงสรรเสริญ 72:19; 89:52) คำภาษาฮีบรูอาเมน มีความหมายพื้นฐานว่า “อย่างแน่นอน.” ไซโคลพีเดีย ของแมกคลินทอกและสตรองก์อธิบายว่า การกล่าวคำ “อาเมน” ตอนท้ายคำอธิษฐานมีความสำคัญ “เพื่อยืนยันคำอธิษฐานที่ได้กล่าวไปแล้ว และวิงวอนขอให้สำเร็จตามคำอธิษฐานนั้น.” ด้วยเหตุนั้น โดยลงท้ายด้วยคำ “อาเมน” อย่างจริงใจ คนที่อธิษฐานแสดงความรู้สึกอันแรงกล้าของตนเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเพิ่งกล่าวไป. เมื่อคนหนึ่งเป็นตัวแทนของประชาคมคริสเตียนในการอธิษฐานร่วมกันกล่าวลงท้ายคำอธิษฐานด้วยคำนี้ คนที่ฟังอยู่อาจกล่าวคำ “อาเมน” ในใจหรือออกเสียงให้ได้ยินเพื่อแสดงความเห็นชอบจากหัวใจต่อสิ่งที่เพิ่งกล่าวไป.—1 โกรินโธ 14:16.
8. คำอธิษฐานของเราในบางครั้งอาจคล้ายคลึงกับคำอธิษฐานของยาโคบหรืออับราฮามอย่างไร และนั่นจะแสดงถึงอะไรเกี่ยวกับตัวเรา?
8 มีบางโอกาสที่พระเจ้าอาจยอมให้เราแสดงความเป็นห่วงกังวลอย่างยิ่งในเรื่องที่เราอธิษฐานขอ. เราอาจจะจำเป็นต้องเป็นเหมือนยาโคบในสมัยโบราณ ซึ่งปล้ำสู้ตลอดคืนกับทูตสวรรค์เพื่อจะได้รับพร. (เยเนซิศ 32:24-26) หรือสถานการณ์บางอย่างอาจทำให้เราจำเป็นต้องทำเหมือนอับราฮาม ซึ่งทูลวิงวอนครั้งแล้วครั้งเล่าต่อพระยะโฮวาเพื่อโลตและผู้ชอบธรรมคนอื่น ๆ ที่อาจอยู่ที่เมืองโซโดม. (เยเนซิศ 18:22-33) เราอาจวิงวอนขอพระยะโฮวาคล้าย ๆ กันเกี่ยวกับสิ่งที่มีค่าต่อเรา วิงวอนขอพระองค์โดยอาศัยพื้นฐานในเรื่องความยุติธรรม, ความกรุณารักใคร่, และความเมตตาของพระองค์.
เราอาจทูลขออะไร?
9. อะไรควรเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราเป็นห่วงเมื่ออธิษฐาน?
9 พึงจำไว้ว่าเปาโลกล่าวดังนี้: “ในทุกสิ่ง จงทูลขอต่อพระเจ้า.” (ฟิลิปปอย 4:6, ล.ม.) ฉะนั้น คำอธิษฐานที่ทูลเป็นส่วนตัวอาจเกี่ยวข้องกับแทบจะทุกแง่มุมในชีวิต. อย่างไรก็ตาม ความเป็นห่วงที่เราแสดงออกในเรื่องคำอธิษฐานควรได้แก่ผลประโยชน์ของพระยะโฮวาเป็นอันดับแรก. ดานิเอลวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้. เมื่อชาติอิสราเอลถูกลงโทษเพราะบาปที่พวกเขากระทำ ดานิเอลวิงวอนขอพระยะโฮวาทรงแสดงความเมตตา โดยกล่าวว่า “ขออย่าได้เนิ่นช้าไว้เลยพระเจ้าค่ะ, โอ้พระเจ้าของข้าพเจ้า, นึกว่าเห็นแก่พระนามของพระองค์เถอะ.” (ดานิเอล 9:15-19) คำอธิษฐานของเราแสดงให้เห็นเช่นเดียวกันไหมว่าการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถือและการทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จเป็นเรื่องหลักที่เราเป็นห่วง?
10. เราทราบได้อย่างไรว่าเหมาะสมที่จะอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว?
10 กระนั้นก็ตาม เป็นเรื่องเหมาะสมด้วยที่จะขอในเรื่องส่วนตัว. ยกตัวอย่าง เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ เราอาจอธิษฐานขอให้มีความเข้าใจฝ่ายวิญญาณลึกซึ้งยิ่งขึ้น. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานดังนี้: “ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจ, แล้วข้าพเจ้าจะได้รักษาพระบัญญัติของพระองค์ไว้; ข้าพเจ้าจะถือรักษาไว้ด้วยสุดใจ, พระเจ้าค่ะ.” (บทเพลง สรรเสริญ 119:33, 34; โกโลซาย 1:9, 10) พระเยซู “ทรงร้องอธิษฐานและทูลวิงวอน . . . ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตายได้.” (เฮ็บราย 5:7, ฉบับแปลใหม่) โดยทำเช่นนั้น พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะทูลขอความเข้มแข็งเมื่อเผชิญอันตรายหรือการทดลอง. ในคำอธิษฐานแบบอย่างที่พระเยซูประทานแก่เหล่าสาวกมีคำทูลขอในเรื่องส่วนตัวด้วย เช่น ขอการให้อภัยข้อผิดพลาดและขอเพื่อจะมีอาหารรับประทานในแต่ละวัน.
11. การอธิษฐานช่วยเราได้อย่างไรไม่ให้พ่ายแพ้การล่อใจ?
11 ในคำอธิษฐานแบบอย่าง พระเยซูทรงรวมคำขอนี้ไว้ด้วย: “ขออย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าสู่การทดลอง แต่ขอทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย.” (มัดธาย 6:9-13, ล.ม.) ในเวลาต่อมา พระองค์ทรงให้คำแนะนำว่า “จงเฝ้าระวังและอธิษฐาน, เพื่อท่านจะไม่ได้เข้าในการทดลอง.” (มัดธาย 26:41) เราจำเป็นต้องอธิษฐานเมื่อเผชิญการล่อใจ. เราอาจถูกล่อใจให้ละเลยหลักการคัมภีร์ไบเบิลในที่ทำงานหรือที่โรงเรียน. คนที่ไม่เป็นพยานฯ อาจชวนเราให้ร่วมกับเขาในกิจกรรมที่อยู่ในข่ายน่าสงสัย. เราอาจถูกขอให้ทำบางสิ่งที่ขัดกับหลักการอันชอบธรรม. ในโอกาสเช่นนั้น เราควรทำตามคำแนะนำของพระเยซูที่ให้อธิษฐาน—ทั้งอธิษฐานเผื่อไว้ก่อนล่วงหน้าและเมื่อเผชิญการล่อใจเข้าจริง ๆ—ทูลขอพระเจ้าช่วยเราไม่ให้ล้มพลาด.
12. ความกระวนกระวายใจในเรื่องใดบ้างที่อาจกระตุ้นเราให้อธิษฐาน และเราสามารถคาดหมายเช่นไรจากพระยะโฮวา?
12 ในชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้าในปัจจุบัน มีความกดดันและความกังวลด้วยเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่อง. ความเจ็บป่วยและความเครียดทางจิตใจเป็นสาเหตุใหญ่ของความกระวนกระวายใจสำหรับหลายคน. สถานการณ์รุนแรงที่มีอยู่รอบตัวเราทำให้ชีวิตตึงเครียด. ความลำบากด้านเศรษฐกิจทำให้ยังชีพด้วยความยากลำบาก. ช่างสบายใจสักเพียงไรที่บทเพลงสรรเสริญ 102:17 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “พระองค์จะสนพระทัยในคำอธิษฐานของคนสิ้นเนื้อประดาตัว และจะไม่ทรงดูหมิ่นคำอธิษฐานของเขา.”
ทราบว่าพระยะโฮวาทรงฟังผู้รับใช้ของพระองค์ที่ทูลอธิษฐานถึงพระองค์ในเรื่องเหล่านี้.13. (ก) เรื่องส่วนตัวเช่นไรบ้างที่นับว่าเหมาะสมที่จะกล่าวในคำอธิษฐาน? (ข) จงเล่าตัวอย่างหนึ่งของคำอธิษฐานเช่นนั้น.
13 ที่จริง เรื่องใดก็ตามที่มีผลต่อการรับใช้ของเราที่ถวายแด่พระยะโฮวาหรือที่กระทบสายสัมพันธ์ของเรากับพระองค์นับว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมจะกล่าวในคำอธิษฐาน. (1 โยฮัน 5:14) หากคุณต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการสมรสหรือการสมัครงานหรือการขยายงานรับใช้ ขออย่าได้ลังเลที่จะนำเรื่องเหล่านี้ทูลต่อพระเจ้า ขอการชี้นำจากพระองค์. ตัวอย่างเช่น หญิงสาวคนหนึ่งในฟิลิปปินส์อยากมีส่วนในงานรับใช้เต็มเวลา. แต่เธอไม่มีงานทำเพื่อเลี้ยงตัว. เธอกล่าวว่า “ในวันเสาร์หนึ่ง ดิฉันทูลอธิษฐานถึงพระยะโฮวาโดยเฉพาะเกี่ยวกับการเป็นไพโอเนียร์. ต่อมาในวันนั้นเอง เมื่อกำลังประกาศอยู่ ดิฉันเสนอหนังสือแก่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง. โดยไม่คาดฝัน เด็กสาวคนนั้นพูดขึ้นมาว่า ‘พี่น่าจะไปที่โรงเรียนของหนูในวันจันทร์นี้นะ.’ ดิฉันถามว่า ‘ทำไมเหรอ?’ เธออธิบายว่ามีงานอย่างหนึ่งกำลังว่างและต้องการคนทำงานนี้โดยด่วนที่สุด. ดิฉันไปสมัคร และได้รับการว่าจ้างทันที. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเร็วมาก.” พยานฯ จำนวนมากทั่วโลกมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้. ดังนั้น อย่าลังเลที่จะทูลขอพระเจ้าในคำอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากหัวใจคุณ!
จะว่าอย่างไรหากเราทำผิด?
14, 15. (ก) เหตุใดคนเราไม่ควรละเว้นการอธิษฐานแม้แต่เมื่อได้ทำผิด? (ข) นอกจากการอธิษฐานเป็นส่วนตัวแล้ว มีอะไรอีกที่จะช่วยคนเราให้ฟื้นตัวจากบาป?
14 คำอธิษฐานสามารถช่วยได้อย่างไรหากใครคนหนึ่งได้ทำผิด? เพราะความละอายใจ บางคนที่ทำผิดจึงละเว้นการอธิษฐาน. อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่แนวทางการกระทำที่ฉลาด. เพื่อเป็นตัวอย่าง: นักบินทราบว่าหากเขาหลงทาง เขาสามารถติดต่อกับผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศเพื่อขอความช่วยเหลือได้. แต่จะว่าอย่างไรหากนักบินที่หลงทางลังเลที่จะติดต่อกับห้องควบคุมเพราะเขาอายที่หลงทาง? นั่นอาจนำไปสู่หายนะ! ในทำนองเดียวกัน คนที่ทำผิดและละอายใจไม่กล้าอธิษฐานถึงพระเจ้าอาจได้รับความเสียหายหนักยิ่งขึ้น. ความละอายต่อบาปไม่ควรทำให้คนเราเลิกพูดกับพระยะโฮวา. ที่จริง พระเจ้าทรงเชิญคนที่ได้ทำผิดร้ายแรงให้อธิษฐานถึงพระองค์. ผู้พยากรณ์ยะซายากระตุ้นผู้ทำบาปในสมัยท่านให้ร้องขอพระยะโฮวา “เพราะพระองค์จะทรงอภัยอย่างล้นเหลือ.” (ยะซายา 55:6, 7, ฉบับแปลใหม่) แน่นอน คนเราอาจจำเป็นต้อง “เอาอกเอาใจพระยะโฮวา” โดยที่เขาเองต้องถ่อมใจลง, หันหนีจากแนวทางผิด, และกลับใจอย่างแท้จริงเสียก่อน.—บทเพลงสรรเสริญ 119:58; ดานิเอล 9:13.
15 เมื่อมีบาปเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย การอธิษฐานกลายเป็นเรื่องสำคัญเพราะเหตุผลอีกอย่างหนึ่งด้วย. สาวกยาโกโบกล่าวเกี่ยวกับบางคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณว่า “จงให้เขาเชิญบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมมาหาตน และให้คนเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อเขา . . . และพระยะโฮวาจะทรงพยุงเขาขึ้น.” (ยาโกโบ 5:14, 15, ล.ม.) ใช่แล้ว ผู้ที่ทำผิดควรสารภาพบาปต่อพระยะโฮวาเป็นส่วนตัวในคำอธิษฐาน แต่เขาสามารถขอผู้เฒ่าผู้แก่ให้อธิษฐานเพื่อเขาได้ด้วย. นั่นจะช่วยเขาให้ฟื้นตัวฝ่ายวิญญาณ.
คำตอบสำหรับคำอธิษฐาน
16, 17. (ก) พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานอย่างไร? (ข) ประสบการณ์อะไรแสดงว่าการอธิษฐานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับงานประกาศ?
16 คำอธิษฐานได้รับคำตอบอย่างไร? บางครั้งคำอธิษฐานอาจได้รับคำตอบอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัดเจน. (2 กษัตริย์ 20:1-6) แต่บางครั้งคำอธิษฐานอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะได้รับคำตอบ และคำตอบอาจสังเกต เห็นได้ยากกว่า. ดังเห็นได้จากอุทาหรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับหญิงม่ายที่คอยร้องขอต่อผู้พิพากษาอยู่เรื่อย ๆ อาจจำเป็นต้องทูลอธิษฐานถึงพระเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า. (ลูกา 18:1-8) อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจได้ว่าเมื่อเราอธิษฐานสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า พระยะโฮวาจะไม่มีทางบอกเราว่า ‘อย่ารบกวนเราเลย.’—ลูกา 11:5-9.
17 มีประสบการณ์มากมายที่ประชาชนของพระยะโฮวาเห็นว่าคำอธิษฐานของตนได้รับคำตอบ. บ่อยครั้ง ดูเหมือนว่าเป็นเช่นนั้นในงานรับใช้ของเราต่อสาธารณชน. ตัวอย่างเช่น พี่น้องหญิงคริสเตียนสองคนในฟิลิปปินส์กำลังจ่ายแจกสิ่งพิมพ์อธิบายคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้คนในท้องที่ห่างไกลของประเทศ. เมื่อทั้งสองให้แผ่นพับแก่หญิงคนหนึ่ง เธอน้ำตาคลอ แล้วบอกว่า “คืนที่แล้ว ฉันอธิษฐานถึงพระเจ้าขอพระองค์ส่งคนมาช่วยสอนคัมภีร์ไบเบิลให้ฉัน และฉันคิดว่านี่คือคำตอบสำหรับคำอธิษฐานของฉัน.” ไม่นานหลังจากนั้น หญิงคนนี้ก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมที่หอประชุม. ในอีกส่วนหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ พี่น้องคริสเตียนคนหนึ่งรู้สึกว่าไม่กล้าประกาศในอาคารพักอาศัยแห่งหนึ่งซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด. อย่างไรก็ตาม เขาอธิษฐานถึงพระยะโฮวา รวบรวมความกล้า แล้วเข้าไปในตึกนั้น. เขาเคาะประตูห้องชุดห้องหนึ่ง แล้วหญิงสาวคนหนึ่งก็มาที่ประตู. เมื่อพี่น้องคนนี้อธิบายเหตุผลที่เขามาเยี่ยม เธอเริ่มร้องไห้. เธอบอกว่าเธอกำลังพยายามหาพยานพระยะโฮวาและได้อธิษฐานขอความช่วยเหลือเพื่อจะพบกับพวกเขา. พี่น้องคนนี้ช่วยเธอด้วยความยินดีให้ติดต่อกับประชาคมท้องถิ่นของพยานพระยะโฮวา.
18. (ก) เมื่อคำอธิษฐานของเราได้รับคำตอบ เราควรตอบสนองอย่างไร? (ข) เราจะมั่นใจได้ในเรื่องใดหากเราอธิษฐานในทุกโอกาส?
18 การอธิษฐานเป็นการจัดเตรียมที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง. พระยะโฮวาทรงพร้อมจะฟังและตอบคำอธิษฐานของเรา. (ยะซายา 30:18, 19) อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องสังเกตว่าพระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของเราอย่างไร. คำตอบอาจไม่ได้มาในแบบที่เราคาดหมายเสมอไป. ถึงกระนั้น เมื่อเราดูออกแล้วว่าพระองค์ทรงชี้นำเราอย่างไร เราไม่ควรลืมขอบคุณและสรรเสริญพระองค์. (1 เธซะโลนิเก 5:18) นอกจากนั้น พึงจำคำแนะเตือนของอัครสาวกเปาโลไว้เสมอที่ว่า “ในทุกสิ่งจงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ.” ใช่แล้ว จงใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสเพื่อพูดกับพระเจ้า. โดยวิธีนั้น คุณจะประสบกับความจริงต่อ ๆ ไปตามคำกล่าวของเปาโลเกี่ยวกับคนที่คำอธิษฐานของเขาได้รับคำตอบ ที่ว่า “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของท่านไว้.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.
คุณตอบได้ไหม?
• คำอธิษฐานของเราอาจเป็นแบบใดได้บ้าง?
• เราควรอธิษฐานอย่างไร?
• เราอาจรวมเรื่องอะไรไว้ในคำอธิษฐานของเรา?
• การอธิษฐานมีบทบาทเช่นไรเมื่อคนเราทำบาป?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 29]
การอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากหัวใจช่วยเราไม่ให้พ่ายแพ้การล่อใจ
[ภาพหน้า 31]
ด้วยการอธิษฐาน เราแสดงความขอบคุณ, พูดถึงความกังวล, และทูลวิงวอนต่อพระเจ้า