เมื่อคนที่เรารักละทิ้งพระยะโฮวา
เมื่อคนที่เรารักละทิ้งพระยะโฮวา
มาร์กกับลูอิสเป็นพยานพระยะโฮวา. * เขาทั้งสองสอนพระคัมภีร์ให้ลูก ๆ ด้วยความรักและความเอาใจใส่ ดังที่คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนบิดามารดาคริสเตียนให้ทำเช่นนั้น. (สุภาษิต 22:6; 2 ติโมเธียว 3:15) น่าเศร้าใจ ไม่ใช่ลูกทุกคนของเขายังคงรับใช้พระยะโฮวาต่อไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว. ลูอิสบอกว่า “หัวใจดิฉันเจ็บปวดเพราะลูกไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาอีกต่อไป. ดิฉันจะแกล้งทำเป็นว่าไม่รู้สึกเจ็บปวดเสียเลยวันแล้ววันเล่าได้อย่างไร? เมื่อคนอื่นพูดถึงลูกชายของเขา ดิฉันรู้สึกลำคอตีบตันและต้องกลั้นน้ำตาไว้.”
ใช่แล้ว เมื่อคนหนึ่งเลือกที่จะละทิ้งพระยะโฮวาและแนวทางชีวิตที่กำหนดไว้ในพระคัมภีร์ ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกในครอบครัวที่ซื่อสัตย์รู้สึกปวดร้าวใจอย่างยิ่ง. ไอรีนบอกว่า “ดิฉันรักพี่สาวมาก. ดิฉันจะทำอะไรก็ตามที่ทำได้เพื่อเห็นเธอกลับมาหาพระยะโฮวาอีก!” มารีอาซึ่งน้องชายของเธอหันหลังให้พระยะโฮวาแล้วไปติดตามความประพฤติที่ผิดศีลธรรมบอกว่า “นี่เป็นเรื่องยากที่ดิฉันต้องทนเอา เพราะในแง่มุมอื่น ๆ ทุกด้านแล้วเขาเป็นน้องชายที่ยอดเยี่ยม. ดิฉันคิดถึงเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ครอบครัวมีการสังสรรค์ใหญ่.”
ทำไมจึงยากเหลือเกิน?
ทำไมการสูญเสียลูกหรือคนอื่นที่เรารักไปเนื่องจากเขาละทิ้งพระยะโฮวาจึงก่อความทุกข์ระทมอย่างยิ่งแก่ญาติที่เป็นคริสเตียน? เพราะพวกเขาทราบว่าพระคัมภีร์สัญญาเรื่องชีวิตถาวรบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานสำหรับคนเหล่านั้นที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 37:29; 2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 21:3-5) พวกเขาคอยท่าที่จะมีส่วนในพระพรเหล่านี้ร่วมกับคู่ชีวิต, ลูก ๆ, บิดามารดา, พี่ ๆ น้อง ๆ, และหลาน ๆ. ช่างทำให้พวกเขาปวดร้าวสักเพียงไรเมื่อคิดว่าผู้เป็นที่รักของเขาซึ่งได้เลิกรับใช้พระยะโฮวาอาจพลาดพระพรดังกล่าวไป! แม้แต่ชีวิตในตอนนี้ คริสเตียนเข้าใจว่ากฎหมายและหลักการต่าง ๆ ของพระยะโฮวาเป็นประโยชน์สำหรับเขา. ฉะนั้น คริสเตียนจึงหัวใจสลายที่เห็นผู้เป็นที่รักหว่านในแบบที่จะทำให้เขาเก็บเกี่ยวผลซึ่งก่อความเสียหาย.—ยะซายา 48:17, 18; ฆะลาเตีย 6:7, 8.
อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคนซึ่งไม่เคยประสบความสูญเสียดังกล่าวจะเข้าใจว่านั่นอาจก่อผลเสียหายร้ายแรงสักเพียงไร. แทบทุกแง่มุมของชีวิตได้รับผลกระทบ. ลูอิสกล่าวว่า “เป็นเรื่องยากขึ้นทุกทีเมื่อนั่งในการประชุมคริสเตียนและเห็นพ่อแม่หัวเราะและพูดคุยกับลูก ๆ ของเขา. ไม่ว่าโอกาสใด ๆ ที่น่ายินดี ดิฉันก็รู้สึกเศร้าใจเนื่องจากคนที่เรารักไม่ได้อยู่ร่วมด้วย.” คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งหวนรำลึกถึงช่วงเวลาสี่ปีที่ลูกสาวของภรรยาตัดขาดความสัมพันธ์กับพวกเขา. เขากล่าวว่า “บ่อยครั้ง แม้แต่ ‘ช่วงเวลาที่น่าจะสนุกกัน’ ก็ยังก่อความปวดร้าวใจ. หากผมให้ของขวัญภรรยาหรือพาเธอไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งที่น่าเพลิดเพลินในตอนสุดสัปดาห์ เธอก็จะร้องไห้ออกมา เมื่อนึกถึงว่าลูกสาวของเธอไม่ได้ร่วมความสุขกับเรา.”
คริสเตียนดังกล่าวแสดงปฏิกิริยามากเกินไปไหม? ไม่เสมอไป. ที่จริง พวกเขาอาจสะท้อนคุณลักษณะของพระยะโฮวาอยู่บ้าง เพราะมนุษย์ถูกสร้างตามแบบของพระองค์. (เยเนซิศ 1:26, 27) นี่หมายความเช่นไร? พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเมื่อชาวอิสราเอลประชาชนของพระองค์กบฏขัดขืนต่อพระองค์. จากบทเพลงสรรเสริญ 78:38-41 เราเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาเศร้าพระทัยและรู้สึกปวดร้าว. กระนั้น พระองค์ทรงเตือนสติและตีสอนพวกเขาด้วยความอดกลั้นพระทัย ทรงให้อภัยพวกเขาหลายครั้งหลายหนเมื่อพวกเขาแสดงการกลับใจ. เห็นได้ชัด พระยะโฮวาทรงรู้สึกผูกพันเป็นส่วนตัวกับผู้ที่พระองค์ทรงสร้างมา ซึ่งเป็น “หัตถกรรมของพระองค์” และไม่ทรงละทิ้งพวกเขาไป ง่าย ๆ. (โยบ 14:15; โยนา 4:10, 11) พระองค์ทรงปลูกฝังความสามารถที่จะมีความผูกพันที่ภักดีคล้ายกันในตัวมนุษย์ และความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวอาจแน่นแฟ้นเป็นพิเศษได้. ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราจะโศกเศร้าเมื่อญาติผู้เป็นที่รักเลิกรับใช้พระเจ้า.
ที่จริง การสูญเสียคนที่เรารักไปเนื่องจากเลิกรับใช้พระเจ้าอยู่ในบรรดาการทดลองที่ยากที่สุดซึ่งได้เกิดขึ้นกับผู้นมัสการแท้. (กิจการ 14:22) พระเยซูตรัสว่า การยอมรับข่าวสารของพระองค์จะทำให้เกิดการแตกแยกในบางครอบครัว. (มัดธาย 10:34-38) นี่ไม่ใช่เพราะข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเองที่ก่อความแตกแยกในครอบครัว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น สมาชิกในครอบครัวที่ไม่มีความเชื่อหรือไม่ซื่อสัตย์ก่อความแตกแยกโดยการปฏิเสธ, การละทิ้ง, หรือถึงกับต่อต้านแนวทางของศาสนาคริสเตียน. อย่างไรก็ดี เราสามารถขอบคุณที่พระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์โดยปราศจากความช่วยเหลือในการรับมือกับการทดลองที่เกิดแก่พวกเขา. หากตอนนี้คุณรู้สึกโศกเศร้าเนื่องด้วยคนที่คุณรักเลิกรับใช้พระเจ้า มีหลักการอะไรในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคุณให้อดทนกับความทุกข์โศกและพบความยินดีและความพอใจอยู่บ้าง?
การรับมือ
“โดยการก่อสร้างตัวของท่านขึ้น . . . จงรักษาตัวไว้ในความรักของพระเจ้า.” (ยูดา 20, 21) ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะของคุณ อาจเป็นได้ที่คุณไม่สามารถทำอะไรได้ในตอนนี้เพื่อช่วยสมาชิกในครอบครัวซึ่งได้เลิกรับใช้พระยะโฮวา. ถึงกระนั้น คุณสามารถเสริมสร้างตัวคุณอีกทั้งสมาชิกครอบครัวคนใด ๆ ที่ยังคงซื่อสัตย์อยู่และควรจะทำเช่นนั้น. เวโรนิกาซึ่งลูกชายสองในสามคนของเธอละทิ้งความจริงกล่าวว่า “ดิฉันกับสามีได้รับคำเตือนด้วยความกรุณาว่า หากเรายังคงอยู่ในสภาพที่เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ เราก็จะอยู่พร้อมจริง ๆ ที่จะต้อนรับลูกชายของเราเมื่อเขาสำนึกตัว. บุตรสุรุ่ยสุร่ายจะอยู่ที่ไหน หากบิดาของเขาไม่พร้อมที่จะรับเขากลับมา?”
เพื่อรักษาตัวให้อยู่ในสภาพเข้มแข็ง จงหมกมุ่นอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการแท้. นี่จะรวมไปถึงการรักษาตารางเวลาสำหรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้งและการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. จงทำตัวให้อยู่พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นในประชาคมเท่าที่สภาพแวดล้อมของคุณอำนวยให้. จริงอยู่ ทีแรกคุณอาจพบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องยาก. เวโรนิกาเล่าว่า “ความรู้สึกแรกของดิฉันคือที่จะแยกอยู่ต่างหากเหมือนสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ. แต่สามียืนกรานให้เรารักษากิจวัตรที่ดีเกี่ยวกับการนมัสการแท้ไว้. เขาคอยดูแลไม่ให้พวกเราขาดการประชุมต่าง ๆ. เมื่อถึงเวลาที่จะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ ดิฉันต้องมีความกล้าเป็นอย่างมากที่จะไปเผชิญหน้ากับผู้คน. ถึงกระนั้น ระเบียบวาระการประชุมทำให้เราใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น. ลูกชายของเราซึ่งยังคงซื่อสัตย์อยู่ได้รับการเสริมสร้างเป็นพิเศษจากการประชุมใหญ่นั้น.”
มารีอาที่กล่าวถึงในตอนต้นพบว่าการหมกมุ่นอยู่ในงานรับใช้ตามบ้านช่วยได้เป็นพิเศษ และปัจจุบันเธอกำลังช่วยสี่คนให้เรียนรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. คล้ายกัน ลอรากล่าวว่า “แม้ว่าดิฉันยังคงร้องไห้อยู่ทุกวัน ดิฉันก็ขอบคุณพระยะโฮวาที่ถึงแม้ตัวเองไม่ได้ประสบความสำเร็จในการอบรมลูก ๆ เหมือนพ่อแม่บางคน แต่ดิฉันก็มีข่าวสารที่ดีเลิศในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งสามารถช่วยหลายครอบครัวในสมัยสุดท้ายนี้.” เคนกับเอเลนอร์ ซึ่งลูก ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่ได้ทิ้งประชาคมไป ได้จัดสภาพการณ์ของเขาเพื่อย้ายไปยังเขตที่จำเป็นต้องมีผู้
ประกาศราชอาณาจักรมากกว่าและมุ่งทำงานรับใช้เต็มเวลา. การทำเช่นนี้ได้ช่วยทั้งสองให้มองเรื่องต่าง ๆ ตามความเป็นจริงและหลีกเลี่ยงการจมอยู่ในความโศกเศร้า.อย่าสิ้นหวัง. ความรัก “หวังทุกสิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) เคนที่กล่าวถึงข้างต้นบอกว่า “เมื่อลูก ๆ ของเราออกจากความจริง ผมรู้สึกเหมือนกับว่าพวกเขาตาย. แต่หลังจากน้องสาวของผมเสียชีวิต ทัศนะของผมได้เปลี่ยนไป. ผมรู้สึกขอบคุณที่ลูก ๆ ไม่ได้ตายจริงและที่พระยะโฮวายังคงเปิดทางไว้เพื่อพวกเขาจะกลับมาหาพระองค์.” ที่จริง ประสบการณ์ได้แสดงให้เห็นว่าหลายคนที่ได้ละทิ้งความจริงไป ในที่สุดก็ได้กลับมา.—ลูกา 15:11-24.
จงต้านทานการตำหนิตัวเอง. บิดามารดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีแนวโน้มที่จะคิดคำนึงถึงอดีตและเสียใจที่ตนไม่ได้ทำอีกแบบหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลักที่ถ่ายทอดไว้ในยะเอศเคล 18:20 คือว่า พระยะโฮวาทรงถือว่าผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อการเลือกอย่างผิด ๆ ของเขา หาใช่บิดามารดาไม่. น่าสนใจ ถึงแม้พระธรรมสุภาษิตกล่าวหลายครั้งเกี่ยวกับพันธะหน้าที่ของบิดามารดาที่จะอบรมบุตรในแนวทางที่ถูกต้อง แต่ก็มีคำแนะนำให้เยาวชนฟังและทำตามบิดามารดามากกว่าสี่เท่าที่ให้กับบิดามารดา ใช่แล้ว เด็กมีความรับผิดชอบที่จะตอบรับการอบรมของบิดามารดาที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. คุณคงจะจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างดีที่สุดเท่าที่คุณทำได้ในตอนนั้น. กระนั้น ถึงแม้คุณรู้สึกว่าตัวเองได้ทำผิดพลาดไปบ้างก็ตามและนั่นเป็นความผิดของคุณจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าความผิดพลาดของคุณเป็นเหตุให้คนที่คุณรักออกจากความจริง. ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ไม่ก่อผลดีแต่อย่างใดที่จะเอาแต่พูดว่า “ถ้าเพียงแต่ฉันได้ทำอย่างนี้หรืออย่างนั้น ก็คงจะไม่เป็นแบบนี้.” จงเรียนจากความผิดพลาดของคุณ ตั้งใจที่จะไม่ทำผิดซ้ำ และอธิษฐานขอการอภัยจากพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:8-14; ยะซายา 55:7) ต่อจากนั้น จงมองไปยังอนาคต ไม่ใช่อดีต.
จงอดทนกับคนอื่น. อาจเป็นเรื่องยากที่ใครบางคนจะรู้วิธีหนุนใจหรือปลอบโยนคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาไม่เคยมีประสบการณ์คล้ายกับคุณ. นอกจากนี้ ผู้คนก็ต่างกันในเรื่องที่เขาถือว่าเป็นการหนุนใจและปลอบโยน. ดังนั้น หากบางคนพูดอะไรที่ทำให้คุณไม่สบายใจ จงเอาคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่พบในโกโลซาย 3:13 มาใช้ที่ว่า “จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน, และถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน, ก็จงยกโทษให้กันและกัน.”
จงนับถือการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องการตีสอน. หากญาติของคุณได้รับการตีสอนจากประชาคม จำไว้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งแห่งการจัดเตรียมของพระยะโฮวา และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์อันดีที่สุดสำหรับทุกคน รวมทั้งผู้ที่กระทำผิดด้วย. (เฮ็บราย 12:11) ฉะนั้น จงต้านทานแนวโน้มใด ๆ ที่จะจับผิดผู้ปกครองซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย หรือการตัดสินใจใด ๆ ของพวกเขา. อย่าลืมว่า ผลดีที่สุดเกิดจากการทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระยะโฮวา ขณะที่การต่อต้านการจัดเตรียมของพระยะโฮวามีแต่จะลงเอยด้วยความทุกข์มากขึ้น.
หลังจากการช่วยชาติอิสราเอลให้รอดพ้นจากอียิปต์ โมเซได้รับใช้ฐานะผู้พิพากษาเป็นประจำ. (เอ็กโซโด 18:13-16) เนื่องจากการตัดสินใจที่แสดงความเห็นชอบต่อคนหนึ่งคงจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนึกภาพว่าบางคนรู้สึกผิดหวังเนื่องจากการตัดสินของโมเซ. บางทีการจับผิดการตัดสินของโมเซอาจทำให้เกิดการกบฏขัดขืนต่อการเป็นผู้นำของท่าน. อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาทรงใช้โมเซนำประชาชนของพระองค์ และพระองค์ทรงลงโทษไม่ใช่โมเซ แต่เป็นพวกกบฏกับครอบครัวซึ่งได้สนับสนุนพวกเขา. (อาฤธโม 16:31-35) เราสามารถเรียนจากเรื่องนี้ได้โดยการพยายามให้ความนับถือและร่วมมือกับ การตัดสินของคนเหล่านั้นที่มีอำนาจตามระบอบของพระเจ้าในทุกวันนี้.
ในเรื่องนี้ เดอโลเรสจำได้ว่ายากสักเพียงไรสำหรับเธอที่จะรักษาทัศนะที่สมดุลเมื่อลูกสาวของเธอได้รับการตีสอนจากประชาคม. เธอบอกว่า “สิ่งที่ได้ช่วยดิฉันคือการอ่านบทความเกี่ยวกับความมีเหตุผลในการจัดเตรียมของพระยะโฮวาซ้ำแล้วซ้ำอีก. ดิฉันทำสมุดบันทึกพิเศษที่จดจุดสำคัญจากคำบรรยายและบทความต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยดิฉันให้อดทนและรับใช้พระองค์ต่อไป.” เรื่องนี้นำไปสู่อีกวิธีหนึ่งที่สำคัญในการรับมือ.
จงพูดออกมาถึงความรู้สึกของคุณ. คุณอาจพบว่าสิ่งที่ช่วยได้มากคือการเผยความในใจกับเพื่อนที่เห็นอกเห็นใจสักคนหนึ่งหรือสองคนที่คุณไว้ใจได้. ในการทำเช่นนั้น จงเลือกเพื่อนซึ่งจะช่วยคุณให้รักษาเจตคติในแง่บวก. แน่นอน คงจะเกิดผลมากที่สุดที่จะ ‘ระบายความในใจของคุณ’ ต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. * (บทเพลงสรรเสริญ 62:7, 8, ฉบับแปลใหม่) เพราะเหตุใด? เพราะพระองค์ทรงเข้าใจจริง ๆ ถึงความรู้สึกในส่วนลึกของคุณ. ตัวอย่างเช่น คุณอาจรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมที่คุณจะต้องมาประสบความปวดร้าวทางอารมณ์เช่นนั้น. แท้จริงแล้ว คุณไม่ได้ละทิ้งพระยะโฮวา. จงเผยความรู้สึกของคุณต่อพระยะโฮวา และทูลขอพระองค์ให้ช่วยคุณมองสภาพการณ์ในแบบที่ทำให้เจ็บปวดน้อยลง.—บทเพลงสรรเสริญ 37:5.
ขณะที่เวลาผ่านไป คุณคงจะสามารถควบคุมความรู้สึกของคุณได้ดีขึ้น. ในระหว่างนี้ อย่าเลิกล้มความพยายามที่จะทำให้พระบิดาทางภาคสวรรค์ของคุณพอพระทัย และอย่ารู้สึกว่าความพยายามดังกล่าวไร้ประโยชน์. (ฆะลาเตีย 6:9) จำไว้ว่า หากเราละทิ้งพระยะโฮวา เราจะยังคงมีปัญหาอยู่. ในอีกด้านหนึ่ง โดยรักษาความภักดีต่อพระองค์ เราได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์ในการทดลองที่เราเผชิญ. ดังนั้น ขอมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงเข้าใจสภาพการณ์ของคุณและจะประทานกำลังที่จำเป็นให้คุณในเวลาอันเหมาะต่อ ๆ ไป.—2 โกรินโธ 4:7; ฟิลิปปอย 4:13; เฮ็บราย 4:16, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 19 เกี่ยวกับการอธิษฐานเพื่อญาติที่ถูกตัดสัมพันธ์ ดูหอสังเกตการณ์ วันที่ 1 ธันวาคม 2001 หน้า 30-31.
[กรอบหน้า 19]
วิธีรับมือ
◆ “โดยการก่อสร้างตัวของท่านขึ้น . . . จงรักษาตัวไว้ในความรักของพระเจ้า.”—ยูดา 20, 21.
◆ อย่าสิ้นหวัง.—1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.
◆ จงต้านทานการตำหนิตัวเอง.—ยะเอศเคล 18:20.
◆ จงอดทนกับคนอื่น.—โกโลซาย 3:13.
◆ จงนับถือการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องการตีสอน.—เฮ็บราย 12:11.
◆ จงพูดออกมาถึงความรู้สึกของคุณ.—บทเพลงสรรเสริญ 62:7, 8, ฉบับแปลใหม่.
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
คุณได้ละทิ้งพระยะโฮวาไหม?
ถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สัมพันธภาพของคุณกับพระยะโฮวาและความหวังถาวรของคุณตกอยู่ในอันตราย. บางทีคุณอาจตั้งใจจะกลับมาหาพระยะโฮวา. คุณกำลังมุ่งทำตามความตั้งใจนี้อย่างแข็งขันไหม? หรือว่าคุณผัดเรื่องนี้ออกไปจนกว่าจะถึง “เวลาอันเหมาะ” ไหม? อย่าลืมว่า เมฆที่ก่อตัวเป็นพายุแห่งอาร์มาเก็ดดอนตั้งเค้าแล้ว. ยิ่งกว่านั้น ชีวิตในระบบนี้ก็สั้นและไม่แน่นอน. คุณไม่อาจรู้ด้วยซ้ำว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ในวันพรุ่งนี้หรือไม่. (บทเพลงสรรเสริญ 102:3; ยาโกโบ 4:13, 14) ชายคนหนึ่งซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายที่ทำให้ถึงตายกล่าวว่า “ผมติดโรคนี้ขณะที่รับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา ผมไม่มีอะไรต้องอายที่จะพูดถึงเรื่องนี้. และนั่นเป็นความรู้สึกที่ดีที่มีในตอนนี้.” แต่คิดดูสิว่า เขาจะรู้สึกอย่างไรหากเขาติดโรคนี้ในช่วงที่พูดว่า “สักวันหนึ่ง ผมจะกลับมาหาพระยะโฮวา!” หากคุณได้ละทิ้งพระยะโฮวา ตอนนี้แหละเป็นเวลาเหมาะที่สุดที่จะกลับมาหาพระองค์.
[ภาพหน้า 18]
การหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการแท้สามารถช่วยคุณให้รักษามุมมองที่ถูกต้อง