คัมภีร์ไบเบิลมีข้อจำกัดมากเกินไปไหม?
คัมภีร์ไบเบิลมีข้อจำกัดมากเกินไปไหม?
“ตอนเป็นเด็ก ผมไม่ได้รับการสอนมาตรฐานใด ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล. ไม่เคยมีการพูดถึงพระเจ้าด้วยซ้ำ” ชายหนุ่มคนหนึ่งในฟินแลนด์ได้เล่าดังกล่าว. การอบรมเลี้ยงดูแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในทุกวันนี้. หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่มสาวถือว่าคัมภีร์ไบเบิลล้าสมัยเต็มทีและคำแนะนำในพระคัมภีร์ก็มีข้อจำกัดมากเกินไป. คนอื่น ๆ มองว่าบรรดาผู้ที่ต้องการปฏิบัติตามคัมภีร์ไบเบิลเป็นคนที่ถูกกดขี่ซึ่งชีวิตของพวกเขาต้องแบกภาระหนักด้วยข้อห้ามและคำสั่งต่าง ๆ. ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงรู้สึกว่าทิ้งคัมภีร์ไบเบิลไว้บนชั้นวางหนังสือดีกว่า แล้วแสวงหาการชี้นำจากแหล่งอื่น.
ทัศนะดังกล่าวที่มีต่อคัมภีร์ไบเบิล ส่วนใหญ่เนื่องมาจากประวัติอันยาวนานของการกดขี่ข่มเหงโดยคริสตจักรต่าง ๆ ของคริสต์ศาสนจักร. ตัวอย่างเช่น ระหว่างช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์บางคนเรียกว่ายุคมืด คริสตจักรคาทอลิกในยุโรปได้ควบคุมแทบทุกแง่มุมในชีวิตของผู้คน. ใครก็ตามที่บังอาจขัดแย้งกับคริสตจักรเสี่ยงต่อการถูกทรมานและการถูกประหารชีวิตด้วยซ้ำ. คริสตจักรโปรเตสแตนต์ ซึ่งปรากฏภายหลังได้จำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลด้วย. ทุกวันนี้ บางคนที่คุ้นเคยกับศาสนาโปรเตสแตนต์คิดถึงการลงโทษอย่างโหดเหี้ยมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาดังกล่าว. ฉะนั้น เนื่องจากคริสตจักรกดขี่ข่มเหง ผู้คนจึงลงความเห็นอย่างผิด ๆ ว่าคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลคงต้องเป็นภาระหนัก.
ไม่กี่ศตวรรษมานี้ คริสตจักรต่าง ๆ ได้สูญเสียอิทธิพลส่วนใหญ่ที่มีต่อชีวิตของผู้คน อย่างน้อยก็ในบางดินแดน. หลังจากปฏิเสธคำสอนของคริสตจักรที่ยึดถือกันเรื่อยมา หลายคนได้พัฒนาความเชื่อที่ว่าผู้คนมีสิทธิ์ที่จะตัดสินด้วยตัวเองว่าอะไรถูกอะไรผิด. พร้อมด้วยผลประการใด? อาห์ติ ไลติเนน ศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยาและสังคมวิทยาว่าด้วยการพิจารณาคดีอธิบายว่า “ความนับถือต่อผู้มีอำนาจได้ลดลง และผู้คนมีความเข้าใจที่คลุมเครือมากขึ้นทุกทีในเรื่องที่ว่าอะไรเป็นที่ยอมรับได้และอะไรที่ยอมรับไม่ได้.” ที่น่าขันก็คือ แม้แต่ผู้นำต่าง ๆ ของคริสตจักรก็ได้เปลี่ยนไปหาแนวคิดดังกล่าว. บิชอปลูเทอรันที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้กล่าวว่า “ผมมีแนวโน้มที่จะหลบเลี่ยงความเห็นที่ว่าจะแก้ปัญหาทางด้านศีลธรรมโดยการหมายพึ่งคัมภีร์ไบเบิลหรือผู้มีอำนาจทางด้านศาสนาบางคน.”
เสรีภาพแบบไม่มีขอบเขตจำกัดน่าปรารถนาหรือ?
แนวคิดเรื่องเสรีภาพแบบไม่มีขอบเขตจำกัดอาจฟังดูดึงดูดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนหนุ่มสาว. มีไม่กี่คนที่อยากให้คนอื่นมาคอยชี้แนะหรืออยากดำเนินชีวิตตามกฎข้อบังคับที่ละเอียดยิบ. อย่างไรก็ตาม ควรไหมที่ทุกคนมีอิสระจะทำอะไรก็ตามที่อยากทำ? เพื่อตอบคำถามนี้ ขอพิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบอันหนึ่ง. ขอให้นึกภาพเมืองที่ไม่มีกฎจราจร. ไม่มีข้อเรียกร้องให้มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ หรือการสอบเพื่อได้ใบขับขี่. ผู้คนสามารถขับรถไม่ว่าวิธีใดก็ตามที่เขาชอบ แม้แต่ตอนที่มึนเมา, ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการจำกัดความเร็ว, ป้ายหยุด, สัญญาณไฟจราจร, ถนนที่ให้รถวิ่งทางเดียว, ทางม้าลาย. “เสรีภาพ” ดังกล่าวจะเป็นที่น่าปรารถนาไหม? ไม่แน่ ๆ! ผลที่เกิดขึ้นคงจะเป็นความ
สับสนอลหม่าน, ความวุ่นวาย, และความเสียหาย. ถึงแม้กฎจราจรจำกัดเสรีภาพของผู้คน เราเข้าใจว่ากฎเหล่านี้ปกป้องคนขับรถอีกทั้งคนเดินถนนด้วย.คล้ายกัน พระยะโฮวาทรงประทานคำแนะนำในเรื่องวิธีที่เราควรดำเนินชีวิต. นี่เป็นประโยชน์ต่อเรา. หากไม่มีการชี้นำดังกล่าว เราคงต้องเรียนสิ่งต่าง ๆ โดยการลองผิดลองถูก และโดยทำเช่นนั้น เราอาจก่อผลเสียหายแก่ตัวเองและคนอื่น. บรรยากาศของความสับสนด้านศีลธรรมดังกล่าวคงจะไม่เป็นที่น่าปรารถนาและเต็มไปด้วยอันตรายเช่นเดียวกับการขับรถในเมืองที่ไม่มีกฎจราจร. ความเป็นจริงคือว่า เราจำเป็นต้องมีกฎระเบียบและกฎหมายบางอย่าง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่ยอมรับทันที.
“ภาระของเราก็เบา”
กฎจราจรอาจมีรายการกฎข้อบังคับที่มีรายละเอียดยืดยาว—ในบางแห่งกฎเรื่องการจอดรถอย่างเดียวก็มีมากจนทำให้งง. ตรงกันข้าม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กำหนดรายการกฎต่าง ๆ ที่ยืดยาว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระคัมภีร์ชี้แจงหลักการพื้นฐาน และหลักการเหล่านี้ไม่เป็นภาระหนักหรือกดขี่. พระเยซูคริสต์ทรงเสนอคำเชิญที่ดึงดูดใจแก่ผู้คนในสมัยของพระองค์ดังนี้: “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. เพราะแอกของเราก็พอเหมาะและภาระของเราก็เบา.” (มัดธาย 11:28, 30, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลได้เขียนในจดหมายไปถึงประชาคมคริสเตียนในเมืองโครินท์ว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่ที่ใด เสรีภาพก็อยู่ที่นั่น.”—2 โกรินโธ 3:17, ล.ม.
อย่างไรก็ดี เสรีภาพดังกล่าวใช่ว่าไม่มีขอบเขตจำกัด. พระเยซูทรงชี้ชัดว่าข้อเรียกร้องของพระเจ้ารวมไปถึงพระบัญญัติง่าย ๆ บางข้อ. ตัวอย่างเช่น พระเยซูตรัสแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า “นี่แหละเป็นบัญญัติของเรา, คือให้ท่านทั้งหลายรักกันและกันเหมือนเราได้รักท่าน.” (โยฮัน 15:12) คิดดูสิว่าชีวิตจะเป็นเช่นไรหากทุกคนนำเอาพระบัญญัติข้อนี้ไปใช้! ฉะนั้น เสรีภาพที่คริสเตียนมีอยู่ใช่ว่าปราศจากข้อจำกัด. อัครสาวกเปโตรได้เขียนว่า “จงเป็นเหมือนคนที่มีเสรีภาพ, แต่ท่านอย่าใช้เสรีภาพนั้นให้เป็นที่ปกปิดความชั่วไว้, แต่จงใช้เหมือนเป็นทาสของพระเจ้า.”—1 เปโตร 2:16.
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้คริสเตียนไม่ถูกผูกมัดโดยรายการกฎหมายที่ละเอียด พวกเขาก็มิได้ทำตามความคิดเห็นของตนเองในเรื่องสิ่งที่ถูกและผิด. มนุษย์จำเป็นต้องมีการชี้นำซึ่งเฉพาะแต่พระเจ้าเท่านั้นทรงประทานให้พวกเขาได้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างชัดแจ้งว่า “ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.” (ยิระมะยา 10:23) หากเราเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้า เราก็จะได้รับประโยชน์อย่างมากมาย.—บทเพลงสรรเสริญ 19:11.
ผลประโยชน์อย่างหนึ่งคือความสุข. ตัวอย่างเช่น ชายหนุ่มที่มีการกล่าวถึงในตอนต้นเคยเป็นขโมยและเป็นคนพูดโกหก. เขายังเป็นคนสำส่อนด้วย. ครั้นเรียนรู้มาตรฐานอันสูงส่งของคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เขาได้เปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตของตนเพื่อจะทำตามมาตรฐานดังกล่าว. เขากล่าวว่า “ถึงแม้ผมไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานทุกอย่างของพระคัมภีร์ได้โดยทันทีก็ตาม ผมได้เข้าใจคุณค่าของมาตรฐาน
เหล่านั้น. แนวทางชีวิตแต่ก่อนของผมไม่ได้ทำให้มีความสุขอย่างที่ผมประสบอยู่ในขณะนี้. การดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลทำให้ชีวิตของคุณเรียบง่ายขึ้น. คุณรู้จุดมุ่งหมายในชีวิต และรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด.”มีหลายล้านคนที่มีประสบการณ์คล้ายกัน. ผลประโยชน์ประการหนึ่งคือ การชี้นำที่พบในคัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยพวกเขาให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้น, ให้ปลูกฝังทัศนะที่สมดุลในเรื่องงาน, ให้ละเว้นจากนิสัยที่ก่อความเสียหาย, และด้วยเหตุนี้จึงดำเนินชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น. มาร์คุส * ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งได้ดำเนินชีวิตทั้งโดยใช้มาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลและโดยไม่ได้ใช้ กล่าวถึงชีวิตของตนเองว่า “โดยดำเนินชีวิตตามคัมภีร์ไบเบิล ผมสามารถนับถือตัวเองได้มากขึ้น.” *
คุณจะเลือกทางไหน?
ฉะนั้น คัมภีร์ไบเบิลมีข้อจำกัดไหม? คำตอบคือ มี นั่นก็เพื่อประโยชน์ของเราทุกคน. แต่คัมภีร์ไบเบิลมีข้อจำกัดมากเกินไป ไหม? คำตอบคือ ไม่. เสรีภาพแบบไม่มีขอบเขตจำกัดมีแต่นำไปสู่ความยุ่งยากเท่านั้น. มาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลสมดุล และส่งเสริมสวัสดิภาพกับความสุขของเรา. มาร์คุสกล่าวว่า “เวลาได้พิสูจน์ให้เห็นสติปัญญาของการนำพระคำของพระเจ้ามาใช้ในชีวิต. ถึงแม้ชีวิตผมต่างจากคนส่วนใหญ่ในหลาย ๆ ทาง ผมก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองพลาดสิ่งใด ๆ ที่คุ้มค่าในชีวิตไป.”
เมื่อคุณเริ่มได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล ความหยั่งรู้ค่าที่คุณมีต่อพระคำของพระเจ้าก็จะเพิ่มขึ้น. นี่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ยิ่งกว่านี้อีก นั่นคือ คุณจะรู้สึกรักพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ทรงเป็นแหล่งที่มาของพระคำนั้น. “นี่แหละเป็นความรักพระเจ้า, คือว่าให้เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์และพระบัญญัติของพระองค์หาหนักใจไม่.”—1 โยฮัน 5:3.
พระยะโฮวาทรงเป็นทั้งพระผู้สร้างและพระบิดาทางภาคสวรรค์ของเรา. พระองค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา. แทนที่จะวางข้อจำกัดควบคุมเรา พระองค์ทรงประทานการชี้นำด้วยความรักแก่เราเพื่อผลประโยชน์ของเรา. พระยะโฮวาทรงกระตุ้นเราด้วยภาษาเชิงกวีว่า “โอ้ถ้าเจ้าได้เชื่อฟังคำสั่งของเราแล้ว, ความเจริญของเจ้าก็จะเป็นดังแม่น้ำไหล, และความชอบธรรมของเจ้าก็จะมีบริบูรณ์ดังคลื่นในมหาสมุทร.”—ยะซายา 48:18.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 นามสมมุติ.
^ วรรค 13 เพื่อได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นในเรื่องแนวทางชีวิตที่มีการกำหนดไว้ในคัมภีร์ไบเบิล โปรดดูบท 12 ในหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 9]
พระเยซูตรัสว่าข้อเรียกร้องของพระเจ้าจะทำให้สดชื่น
[ภาพหน้า 10]
การเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้าทำให้มีความสุขและมีความนับถือตัวเอง