คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ทำไมที่พระบัญญัติ 31:2 ฉบับแปลโลกใหม่ จึงกล่าวว่า โมเซจะ “ไม่ได้รับอนุญาต ให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ [ชาติอิสราเอล] อีกต่อไป” ในขณะที่ฉบับแปลอื่น ๆ บอกว่าท่านไม่สามารถ ทำเช่นนั้นได้อีกต่อไป?
ถึงแม้คำภาษาฮีบรูในข้อนี้สามารถแปลได้สองอย่าง แต่คำที่ใช้ในฉบับแปลบางฉบับทำให้เข้าใจว่า ในช่วงท้ายของชีวิต โมเซมีร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำได้. ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์ไทยฉบับแปลเก่า แปลคำพูดของโมเซว่า “วันนี้อายุเราได้ร้อยยี่สิบปีแล้ว; เราจะออกไปและเข้ามาอีกไม่ได้.” ฉบับแปลใหม่ก็กล่าวคล้าย ๆ กันว่า “ข้าพเจ้า . . . ออกไปและเข้ามาอีกไม่ไหวแล้ว.”
อย่างไรก็ตาม พระบัญญัติ 34:7 แสดงให้เห็นว่า แม้โมเซจะมีอายุมากแล้ว แต่ท่านไม่ได้มีร่างกายที่อ่อนแอแต่อย่างใด. ข้อคัมภีร์นั้นกล่าวว่า “เมื่อโมเซสิ้นชีพท่านก็มีอายุได้ร้อยยี่สิบปีแล้ว: จักษุของท่านยังมิได้มัว, และกำลังก็ยังมิได้หย่อนถอย.” ดังนั้น โมเซยังแข็งแรงพอที่จะนำชาติอิสราเอลได้ แต่พระยะโฮวาไม่ทรงประสงค์ให้ท่านทำหน้าที่นั้นอีกต่อไปแล้ว. เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำพูดของโมเซที่กล่าวต่อไปว่า “พระยะโฮวาตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘เจ้าจะไม่ได้ข้ามแม่น้ำจอร์แดนนี้.’ ” ดูเหมือนว่าพระยะโฮวากำลังกล่าวย้ำคำตัดสินที่ทรงให้ไว้ตอนเกิดเรื่องน้ำที่มะรีบา.—อาฤธโม 20:9-12.
โมเซมีชีวิตที่ยืนยาวและน่าสนใจซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสามช่วง. เป็นเวลา 40 ปี ท่านอาศัยอยู่ในอียิปต์ซึ่งเป็นที่ที่ท่าน “ได้เรียนรู้ชำนาญในวิชาการทุกอย่างของชาวอายฆุปโตมีความเฉียบแหลมมากในทางพูดและกิจการต่าง ๆ.” (กิจการ 7:20-22) ในช่วง 40 ปีต่อมา ท่านอาศัยอยู่ในมิดยาน. ระหว่างนี้ท่านได้พัฒนาคุณลักษณะฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นเพื่อจะนำหน้าประชาชนของพระยะโฮวา. ท้ายที่สุด โมเซได้ใช้เวลาอีก 40 ปีเพื่อนำหน้าและปกครองชาวอิสราเอล. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พระยะโฮวาทรงตัดสินพระทัยแล้วว่าผู้ที่จะนำชาติอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญาคือยะโฮซูอะ ไม่ใช่โมเซ.—พระบัญญัติ 31:3.
ดังนั้น ฉบับแปลโลกใหม่ จึงจับความหมายของพระบัญญัติ 31:2 ได้ถูกต้อง. โมเซจะไม่ได้เป็นผู้นำชาติอิสราเอลอีกต่อไป ไม่ใช่เพราะท่านมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง แต่เป็นเพราะพระยะโฮวาไม่ทรงอนุญาตให้ท่านทำหน้าที่นี้.