ถนนโรมันอนุสรณ์แห่งวิศวกรรมยุคโบราณ
ถนนโรมันอนุสรณ์แห่งวิศวกรรมยุคโบราณ
อะไรคือสิ่งที่ชาวโรมันทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด? คุณจะตอบว่าเป็นโคลอสเซียม ซากปรักหักพังที่เห็นได้ในกรุงโรมไหม? ถ้าเราต้องการคิดถึงสิ่งก่อสร้างสมัยโรมันที่อยู่มายาวนานที่สุดหรือที่มีผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ เราคงต้องคิดถึงถนน.
ไม่เพียงแค่ขบวนสินค้าและกองทัพเท่านั้นที่ใช้ทางหลวงโรมัน. โรโมโล เอ. สตาโชลี นักค้นคว้าเกี่ยวกับคำจารึกโบราณ กล่าวว่าถนนสายต่าง ๆ เป็นเส้นทาง “เผยแพร่แนวคิด, อิทธิพลทางศิลปะ, และหลักคำสอนทางปรัชญากับศาสนา” ซึ่งรวมถึงของศาสนาคริสต์ด้วย.
ในสมัยโบราณ ถนนสายต่าง ๆ ของโรมถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่. ตลอดหลายศตวรรษ ชาวโรมันสร้างเครือข่ายถนนที่มีประสิทธิภาพซึ่งในที่สุดแล้วมีความยาวมากกว่า 80,000 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากับประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันมากกว่า 30 ประเทศ.
เวีย พับลีกา—หรือในปัจจุบันอาจเรียกว่าทางหลวง—ที่สำคัญสายแรกคือ เวีย แอปเปีย หรือทางหลวงแอปเปียน เวย์. ถนนสายนี้ซึ่งได้ฉายาว่าราชินีแห่งถนน เชื่อมระหว่างกรุงโรมกับบรันดิเซียม (ปัจจุบันเรียกบรินดิซี) เมืองท่าซึ่งเป็นประตูสู่ดินแดนทางตะวันออก. ถนนสายนี้ได้รับการตั้งชื่อตามแอปปิอุส เคลาดิอุส แคคุส ผู้อำนวยการก่อสร้างชาวโรมัน ผู้ซึ่งเริ่มสร้างถนนสายนี้ประมาณปี 312 ก่อนสากลศักราช. นอกจากนั้น โรมยังมีถนนเวีย ซาลาเรียและเวีย ฟลามีเนีย ถนนสองสายนี้มุ่งหน้าไปทางตะวันออกถึงทะเลเอเดรียติก เป็นเส้นทางที่เปิดไปสู่คาบสมุทรบอลข่านรวมถึงบริเวณแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ. เวีย ออเรเลีย เป็นถนนที่มุ่งขึ้นทางเหนือไปยังกอลและคาบสมุทรไอบีเรีย และเวีย ออสเทนซิส เป็นถนนที่มุ่งไปสู่ออสเตีย ท่าเรือที่ชาวโรมันชอบใช้เพื่อเดินทางไปและกลับจากแอฟริกา.
โครงการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของโรม
ถนนมีความสำคัญต่อกรุงโรมแม้แต่ก่อนที่ชาวโรมันจะเริ่มสร้างถนนใหม่. กรุงโรมเกิดขึ้นตรงบริเวณที่เส้นทางเก่าแก่สายต่าง ๆ มาบรรจบกัน ณ บริเวณเดียวที่สามารถเดินลุยน้ำข้ามแม่น้ำไทเบอร์ได้. ตามที่กล่าวไว้ในแหล่งอ้างอิงโบราณ ชาวโรมันนำวิธีของชาวคาร์เทจมาใช้เพื่อปรับปรุงถนนที่มีอยู่ให้ดีขึ้น. แต่ผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ในการสร้างถนนก่อนหน้าชาวโรมันอาจเป็นชาวอีทรัสคัน. ส่วนที่ยังเหลือเป็นถนนของชาวอีทรัสคันยังคงมีให้เห็นได้ในทุกวันนี้. นอกจากนั้น มีเส้นทางที่มีการใช้บ่อย ๆ หลายสายในดินแดนนั้นก่อนยุคโรมัน. ถนนเหล่านี้อาจเป็นเส้นทางที่พาฝูงสัตว์ย้ายจากทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง. แต่การเดินทางบนถนนเหล่านั้นเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะในฤดูแล้งถนนเต็มไปด้วยฝุ่นและในฤดูฝนก็มีแต่โคลน. บ่อยครั้ง ชาวโรมันจะสร้างถนนของตนทับเส้นทางเหล่านั้น.
ถนนโรมันได้รับการออกแบบอย่างดีและถูกสร้างให้มีความทนทาน, ใช้งานได้ดี, และสวยงาม. ถนนต่าง ๆ ถูกสร้างอย่างดีเยี่ยม เชื่อมต้นทางกับปลายทางโดยใช้ระยะทางที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จึงเป็นเหตุให้ถนนหลายสายทอดยาวเป็นทางตรง. แต่บ่อยครั้ง ถนนจะถูกสร้างตามลักษณะธรรมชาติของพื้นที่. สำหรับพื้นที่ที่มีภูมิประเทศเป็นเนินเขาหรือภูเขา วิศวกรโรมันจะสร้างถนนบริเวณกึ่งกลาง
ระหว่างยอดเขากับเชิงเขาในด้านที่รับแสงแดดเท่าที่ทำได้. การสร้างถนนในลักษณะนี้ช่วยลดความไม่สะดวกสบายสำหรับผู้ใช้ถนนหากมีสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย.แล้วชาวโรมันสร้างถนนอย่างไร? พวกเขาใช้หลายวิธี แต่วิธีที่จะกล่าวถึงนี้เป็นวิธีพื้นฐานที่รู้ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี.
ก่อนอื่นจะต้องมีการกำหนดแนวของถนน. งานนี้เป็นหน้าที่ของช่างสำรวจในยุคนั้น. จากนั้น งานขุดดินซึ่งเป็นงานที่หนักมากเป็นหน้าที่ของกองทหาร, กรรมกร, หรือทาส. มีการขุดร่องขนานกันสองร่อง. แนวร่องทั้งสองห่างกันอย่างน้อยที่สุดประมาณ 2.4 เมตร แต่ปกติแล้วจะห่างกันประมาณ 4 เมตร และอาจกว้างกว่านั้นเมื่อเป็นทางโค้ง. ถนนที่สร้างเสร็จแล้วอาจมีความกว้างถึง 10 เมตรเมื่อรวมทางเท้าทั้งสองด้าน. แล้วดินที่อยู่ระหว่างแนวร่องจะถูกขุดออกไปกลายเป็นร่องลึกขนาดใหญ่. เมื่อขุดจนถึงพื้นที่แข็งแล้ว จะมีการถมด้วยวัสดุต่างชนิดกันสามหรือสี่ชั้น. ชั้นแรก
อาจจะเป็นหินก้อนใหญ่หรือเศษอิฐ. ชั้นต่อมาเป็นกรวดหรือหินแบน ๆ ซึ่งบางทีอาจมีการยึดติดกันโดยใช้คอนกรีต. แล้วก็ตามด้วยชั้นก้อนกรวดหรือเศษหินอัดแน่นอยู่ด้านบน.พื้นผิวถนนของโรมันบางสายเป็นแต่หินก้อนเล็ก ๆ อัดแน่น. แต่ในสมัยโบราณ ถนนที่ปูด้วยหินเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในสมัยนั้น. ผิวหน้าของถนนเหล่านั้นเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่ซึ่งมักจะหาได้ในละแวกนั้น. ถนนเหล่านั้นจะนูนขึ้นเป็นหลังเต่าเล็กน้อย ทำให้น้ำฝนไหลลงสู่ร่องด้านข้างได้ง่าย. การสร้างถนนในลักษณะนี้ช่วยให้ถนนมีความทนทานและถนนบางสายจึงอยู่มาจนถึงสมัยของเรา.
ประมาณ 900 ปีหลังจากการสร้างทางหลวงแอปเปียน เวย์ นักประวัติศาสตร์สมัยไบแซนไทน์ชื่อโพรโคปิอุสได้พรรณนาว่าถนนนี้คือ “สิ่งมหัศจรรย์.” เขาเขียนเกี่ยวกับแผ่นหินที่ปูผิวถนนว่า “แม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานและรถม้าแล่นผ่านวันแล้ววันเล่า สภาพถนนก็ไม่ได้เสียหายทั้งยังเรียบเหมือนเดิม.”
ถนนเหล่านี้ข้ามสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ได้อย่างไร? วิธีหนึ่งที่สำคัญคือการใช้สะพาน ซึ่งบางแห่งยังคงมีให้เห็นได้ในทุกวันนี้ เป็นหลักฐานถึงความสามารถในด้านเทคนิคที่น่าทึ่งของชาวโรมันในสมัยโบราณ. อุโมงค์ในระบบถนนโรมันบางทีอาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก แต่การก่อสร้างอุโมงค์เหล่านี้ก็ยิ่งเป็นเรื่องท้าทายเมื่อคำนึงถึงความรู้ทางเทคนิคและเครื่องมือที่มีอยู่ในสมัยนั้น. แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “วิศวกรรมของชาวโรมัน . . . ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ไม่มีใครเทียบได้เป็นเวลานานหลายศตวรรษ.” ตัวอย่างหนึ่งคืออุโมงค์ที่ช่องเขาฟูร์โลซึ่งเชื่อมต่อกับถนนเวีย ฟลามีเนีย. ย้อนไปในปีสากลศักราช 78 หลังจากที่วิศวกรได้วางแผนอย่างดีแล้ว ได้มีการเจาะหินแข็งเพื่อทำเป็นอุโมงค์ที่มีความยาว 40 เมตร กว้าง 5 เมตรและสูง 5 เมตร. นี่นับเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงเครื่องมือที่มีอยู่ในสมัยนั้น. การสร้างระบบถนนเช่นนี้เป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดของมนุษย์.
นักเดินทางและการเผยแพร่แนวคิด
ทหารและพ่อค้า, ผู้เผยแพร่ศาสนาและนักท่องเที่ยว, นักแสดงและนักต่อสู้บนสังเวียนล้วนเคยใช้ถนนเหล่านี้. ผู้คนที่เดินด้วยเท้าสามารถเดินทางในวันหนึ่งเป็นระยะทางประมาณ 25 ถึง 30 กิโลเมตร. นักเดินทางจะรู้ระยะทางได้จากหลักหินบอกระยะทาง. หินดังกล่าวซึ่งมีหลายรูปทรง ปกติแล้วเป็นทรงกระบอก จะปักไว้ทุก ๆ 1,480 เมตร ซึ่งเท่ากับระยะทางหนึ่งไมล์ของโรมัน. นอกจากนั้น ยังมีที่พัก ซึ่ง
เป็นที่ที่นักเดินทางสามารถเปลี่ยนม้า, ซื้อหาอาหาร, หรือบางครั้งก็พักค้างคืนได้. จุดบริการเหล่านี้บางแห่งพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นเมืองเล็ก ๆ.ไม่นานก่อนที่ศาสนาคริสเตียนเริ่มต้น ซีซาร์เอากุสตุสได้เริ่มโครงการบำรุงรักษาถนน. เขาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลถนนหนึ่งสายหรือมากกว่านั้น. เขาสั่งให้ตั้งสิ่งที่เป็นที่รู้จักกันว่ามีเลียรีอุม เอาเรอุม หรือหลักกิโลเมตรทองคำ ไว้ที่ลานชุมนุมของโรมัน. แท่งดังกล่าวซึ่งมีตัวอักษรเคลือบทองสัมฤทธิ์ เป็นจุดสิ้นสุดที่สมบูรณ์แบบของถนนโรมันทุกสายในอิตาลี. นี่จึงเป็นที่มาของภาษิตที่ว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่โรม.” เอากุสตุสยังให้มีการตั้งแสดงแผนที่ระบบถนนของจักรวรรดิด้วย. ดูเหมือนว่ามีเครือข่ายถนนที่อยู่ในสภาพดีเยี่ยมสำหรับสนองความจำเป็นของผู้คนตามมาตรฐานในสมัยนั้น.
นักเดินทางบางคนในสมัยโบราณถึงกับใช้คู่มือแนะนำเส้นทางหรือคู่มือการเดินทางที่เขียนขึ้นเพื่อช่วยให้เดินทางง่ายขึ้น. คู่มือเหล่านี้มีข้อมูลต่าง ๆ เช่น ระยะทางระหว่างจุดแวะพักแห่งหนึ่งกับอีกแห่งหนึ่ง และมีคำอธิบายว่ามีการบริการอะไรบ้างในจุดแวะพักเหล่านั้น. อย่างไรก็ตาม คู่มือเช่นนั้นมีราคาแพง และจึงไม่ใช่ทุกคนที่จะมี.
กระนั้นก็ตาม ผู้เผยแพร่คริสเตียนวางแผนและเดินทางไกลหลายครั้ง. เมื่อเดินทางไปทางตะวันออก อัครสาวกเปาโล ซึ่งก็เหมือนกับที่ผู้คนในยุคเดียวกับท่าน มักเลือกที่จะไปทางทะเลโดยฉวยประโยชน์จากกระแสลมที่มีอยู่เกือบตลอดเวลา. (กิจการ 14:25, 26; 20:3; 21:1-3) ในช่วงเดือนที่เป็นฤดูร้อนของแถบเมดิเตอร์เรเนียน กระแสลมจะพัดมาจากทางทิศตะวันตก. แต่เมื่อเปาโลไปทางทิศตะวันตก บ่อยครั้งท่านจะไปทางบกโดยอาศัยเครือข่ายถนนโรมัน. เปาโลวางแผนการเดินทางมิชชันนารีรอบที่สองและสามโดยใช้วิธีเดินทางเช่นนี้. (กิจการ 15:36-41; 16:6-8; 17:1, 10; 18:22, 23; 19:1) * ประมาณปี ส.ศ. 59 เปาโลใช้ทางหลวงแอปเปียน เวย์เพื่อเดินทางไปกรุงโรมและพบกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่ลานชุมนุมแอปปีอี หรือตลาดอัปปีโอที่จอแจ อยู่ห่างจากกรุงโรมไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 74 กิโลเมตร. ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ รอพบท่านอยู่ที่บ้านไตรภัตตาคารซึ่งอยู่ใกล้กรุงโรมเข้าไปอีก 14 กิโลเมตร. (กิจการ 28:13-15) ประมาณปี ส.ศ. 60 เปาโลสามารถกล่าวได้ว่าข่าวดีได้ประกาศ “ไปทั่วโลก” ตามที่รู้จักกันในสมัยนั้น. (โกโลซาย 1:6, 23) เครือข่ายถนนมีส่วนสำคัญในการทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้.
ด้วยเหตุนั้น ถนนโรมันจึงเป็นอนุสรณ์ที่โดดเด่นและคงทนถาวร—และเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการเผยแพร่ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.—มัดธาย 24:14.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 โปรดดูแผนที่ในจุลสาร “ไปดูแผ่นดินอันดี” หน้า 33 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 14]
หลักหินบอกระยะทางของโรมัน
[ภาพหน้า 15]
เวีย แอปเปีย ชานกรุงโรม
[ภาพหน้า 15]
ถนนในออสเตียโบราณ อิตาลี
[ภาพหน้า 15]
ร่องบนถนนที่เกิดจากรถม้าสมัยโบราณ ในออสเตรีย
[ภาพหน้า 15]
ส่วนหนึ่งของถนนโรมันพร้อมด้วยหลักหินบอกระยะทาง ในจอร์แดน
[ภาพหน้า 16]
ซากอุโมงค์ฝังศพบนถนนเวีย แอปเปีย นอกกรุงโรม
[ภาพหน้า 16]
อุโมงค์ฟูร์โล บนเส้นทางเวีย ฟลามีเนีย ในเขตมาร์ช
[ภาพหน้า 17]
สะพานทิเบริอุสบนถนนสายเวีย เอมิเลีย ที่รีมินี อิตาลี
[ภาพหน้า 17]
เปาโลพบกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่ลานชุมนุมแอปปีอี หรือตลาดอัปปีโอที่จอแจ
[ที่มาของภาพหน้า 15]
Far left, Ostia: ©danilo donadoni/Marka/age fotostock; far right, road with mileposts: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.