คำแนะนำที่วางใจได้ในเรื่องการเลี้ยงดูลูก
คำแนะนำที่วางใจได้ในเรื่องการเลี้ยงดูลูก
“ตอนนั้นฉันอายุได้ 19 ปี อยู่ไกลจากสมาชิกทุกคนในครอบครัวและไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นแม่เลยแม้แต่นิดเดียว” รูทพูดถึงการตั้งครรภ์ครั้งแรกของเธอ. เนื่องจากตัวเธอเองเป็นลูกคนเดียวเธอจึงไม่ได้คิดถึงมากนักเกี่ยวกับการเป็นแม่. เธอจะหาคำแนะนำที่วางใจได้จากที่ไหน?
ในอีกด้านหนึ่ง แจน ซึ่งปัจจุบันเป็นพ่อของเด็กที่โตแล้วสามคน ได้พูดถึงอดีตว่า “ตอนแรกผมมั่นใจมาก. แต่ไม่นานผมก็รู้ตัวว่ายังขาดความรู้ที่จะใช้การได้จริง ๆ.” ไม่ว่าผู้เป็นพ่อแม่จะรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรมาตั้งแต่ต้นหรือเริ่มรู้สึกเช่นนั้นเมื่อเลี้ยงลูกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว พวกเขาจะพบความช่วยเหลือในเรื่องการเลี้ยงลูกได้จากที่ไหน?
ทุกวันนี้ พ่อแม่จำนวนมากหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต. แต่คุณอาจสงสัยว่า คำแนะนำที่พวกเขาพบนั้นจะวางใจได้แค่ไหน. มีเหตุผลที่ดีที่จะคิดให้รอบคอบ. คุณรู้จักคนที่ให้คำแนะนำแก่คุณทางอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริงไหม? พวกเขาประสบความสำเร็จมากแค่ไหนในการเลี้ยงลูกของตนเอง? ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงต้องการจะตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อครอบครัวของคุณอย่างระมัดระวัง. ดังที่กล่าวถึงในบทความก่อน บางครั้งแม้แต่คำแนะนำที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญก็ยังทำให้ผิดหวัง. ถ้าอย่างนั้น คุณจะหาคำแนะนำได้จากที่ไหน?
แหล่งแห่งคำแนะนำที่ดีที่สุดในเรื่องการเลี้ยงลูกคือพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ทรงริเริ่มชีวิตครอบครัว. (เอเฟโซ 3:15, ล.ม.) พระองค์ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงแต่องค์เดียว. พระองค์ทรงจัดเตรียมคำชี้แนะที่วางใจได้และใช้ได้ผลจริงไว้ในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 32:8; ยะซายา 48:17, 18) แต่การนำคำชี้แนะเหล่านั้นมาใช้เป็นความรับผิดชอบของเราเอง.
มีการขอให้คู่สมรสหลายคู่เล่าว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างขณะที่เลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งยังเกรงกลัวพระเจ้า. พวกเขาบอกว่า ความสำเร็จที่ได้รับประการแรกเป็นผลมาจากการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. พวกเขาพบว่าปัจจุบันนี้คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลยังคงวางใจได้เหมือนเมื่อเขียนขึ้นในตอนแรก.
ใช้เวลากับลูก
เมื่อแคเทอรีน คุณแม่ลูกสองถูกถามว่าคำแนะนำอะไรที่เธอพบว่าเป็นประโยชน์มากที่สุด เธออ้างถึงพระบัญญัติ 6:7 ทันที. ข้อนั้นกล่าวว่า “จงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วย [หลักการในคัมภีร์ไบเบิล], และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” แคเทอรีนตระหนักว่าเพื่อจะทำตามคำแนะนำนี้ เธอต้องใช้เวลากับลูก ๆ.
คุณอาจคิดว่า ‘เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก.’ เนื่องจากมีหลายครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต่างต้องทำงานเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว พ่อแม่ที่มีธุระยุ่งจะใช้เวลากับลูกมากขึ้นได้อย่างไร? ทอร์ลิฟ ซึ่งเดี๋ยวนี้ลูกชายมีครอบครัวของตนเองแล้วบอกว่า ปัจจัยสำคัญคือการทำตามคำแนะนำที่พบในพระธรรมพระบัญญัติ. ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน จงพาลูกไปด้วย แล้วคุณก็จะมีโอกาสพูดคุยกับลูกโดยอัตโนมัติ. ทอร์ลิฟเล่าว่า “ผมกับลูกชายทำงานต่าง ๆ ในบ้านด้วยกัน. เราไปเที่ยวด้วยกันเป็นครอบครัว. เรารับประทานอาหารด้วยกัน.” ผลคือ เขาบอกว่า “ลูกชายของเรารู้สึกเสมอว่าเขาสามารถแสดงความรู้สึกของเขาออกมาอย่างเป็นอิสระ.”
แต่จะว่าอย่างไรถ้าไม่มีการสื่อความกันอย่างเปิดอกและการพูดคุยกันกลายเป็นเรื่องยาก? บางครั้งสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น. อีกครั้งหนึ่งที่การใช้เวลากับลูกมากขึ้นจะช่วยได้. เคน สามีของแคเทอรีนจำได้ว่าเมื่อลูกสาวเริ่มเป็นวัยรุ่น เธอเริ่มบ่นว่าเขาไม่สนใจฟังสิ่งที่เธอพูด. เด็กวัยรุ่นทั่วไปมักบ่นอย่างนี้. เขาจะทำอะไรได้? เคนเล่าว่า “ผมตัดสินใจจะใช้เวลาอยู่กับลูกตามลำพังมากขึ้น เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับความคิด, ความรู้สึก, และความข้องขัดใจของลูก. การทำอย่างนี้ช่วยได้จริง ๆ.” (สุภาษิต 20:5) อย่างไรก็ตาม เคนเชื่อว่าเหตุที่วิธีดังกล่าวใช้ได้ผลเป็นเพราะการติดต่อสื่อความภายในบ้านไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเขา. เขากล่าวว่า “ลูกสาวกับผมมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเสมอ ลูกจึงรู้สึกว่าเขาสามารถพูดกับผมได้ทุกเรื่อง.”
น่าสนใจทีเดียว การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้รายงานว่า วัยรุ่นมีแนวโน้มมากกว่าพ่อแม่สามเท่าที่จะพูดว่า พ่อแม่และลูกไม่ได้ใช้เวลาด้วยกันมากพอ. ดังนั้น คุณน่าจะลองทำตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลดูมิใช่หรือ? จงใช้เวลากับลูกของคุณให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ทั้งในยามพักผ่อนและขณะทำงาน ทั้งที่บ้านและเมื่อเดินทาง ในตอนเช้าเมื่อคุณตื่นนอนและในตอนค่ำก่อนที่คุณจะเข้านอน. หากเป็นได้ จงพาพวกเขาไปกับคุณไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน. ดังที่พระบัญญัติ 6:7 แสดงให้เห็น ไม่มีอะไรจะทดแทนการใช้เวลากับลูกของคุณได้.
สอนลูกให้รู้จักค่านิยมที่เหมาะสม
มาริโอ คุณพ่อซึ่งมีลูกสองคน ให้คำแนะนำคล้าย ๆ กันว่า “ให้ความรักกับลูกมาก ๆ และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง.” อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการกระตุ้นสติปัญญาของลูกเท่านั้น. คุณจำเป็นต้องสอนให้พวกเขารู้จักแยกแยะสิ่งถูกและผิด. มาริโอเสริมว่า “จงศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเขา.”
เพื่อจะทำเช่นนั้นได้ คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนบิดามารดาว่า “อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงเลี้ยงพวกเขาด้วยความอ่อนโยน โดยใช้การอบรมสั่งสอนและแนะนำตามแบบคริสเตียนแท้.” (เอเฟโซ 6:4, ฉบับแปลเวย์มัท) สิ่งที่ขาดไปในหลายครอบครัวทุกวันนี้คือการให้ความสำคัญกับการสอนเรื่องศีลธรรม. บางคนเชื่อว่าเมื่อเด็กโตขึ้นพวกเขาก็จะตัดสินใจได้เองว่าจะยอมรับค่านิยมแบบไหน. คุณคิดว่าความคิดเช่นนั้นมีเหตุผลไหม? เช่นเดียวกับที่ร่างกายของเด็กจำเป็นต้องได้รับอาหารที่เหมาะสมเพื่อจะเติบโตอย่างแข็งแรงและมีสุขภาพดี จิตใจและหัวใจที่อ่อนเยาว์ก็จำเป็นต้องได้รับการแนะนำสั่งสอนด้วย. ถ้าลูกของคุณไม่ได้เรียนรู้จักค่านิยมทางศีลธรรมจากที่บ้าน พวกเขาก็อาจรับเอาทัศนะของเพื่อนนักเรียนและครูหรือคนอื่น ๆ ที่พบเห็นในสื่อมวลชน.
คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยบิดามารดาสอนลูกของตนให้รู้จักแยกแยะสิ่งถูกและผิด. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) เจฟฟ์ คริสเตียนผู้ปกครองที่มีประสบการณ์ซึ่งได้เลี้ยงลูกสองคนแนะนำให้ใช้คัมภีร์ไบเบิลในการสอนค่านิยมที่เหมาะสมให้แก่เด็ก ๆ. เขาบอกว่า “การใช้คัมภีร์ไบเบิลช่วยเด็ก ๆ ให้คำนึงถึงความรู้สึกของพระผู้สร้างในเรื่องต่าง ๆ ไม่เพียงแต่คิดถึงความรู้สึกของพ่อแม่เท่านั้น. สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือพลังของคัมภีร์ไบเบิลที่มีต่อจิตใจและหัวใจอย่างที่ไม่มีสิ่งใดเหมือน. เมื่อจะพูดเรื่องการประพฤติหรือความคิดที่ไม่ถูกต้อง เราใช้เวลาเพื่อหาข้อคัมภีร์ที่เหมาะ. แล้วเราก็ให้ลูกอ่านข้อนั้น. บ่อยครั้งเมื่ออ่านแล้วลูกก็จะร้องไห้. เราประหลาดใจมาก. คัมภีร์ไบเบิลมีผลกระทบมากกว่าสิ่งใด ๆ ที่เราอาจคิดจะพูดหรือทำเสียอีก.”
เฮ็บราย 4:12 (ล.ม.) อธิบายว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง . . . และสามารถหยั่งรู้ความคิดและความมุ่งหมายในหัวใจ.” ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เป็นเพียงทัศนะหรือประสบการณ์ส่วนตัวของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงใช้ให้เป็นผู้เขียน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นความคิดของพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ทางศีลธรรม. สิ่งนี้ทำให้คัมภีร์ไบเบิลต่างจากคำแนะนำอื่น ๆ ทั้งหมด. หากคุณใช้คัมภีร์ไบเบิลสอนลูก คุณก็กำลังช่วยพวกเขาให้มีความคิดของพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ. การอบรมสั่งสอนของคุณจะมีน้ำหนักมากขึ้น และคุณจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้าถึงหัวใจของลูก.
แคเทอรีนซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้เห็นด้วยในเรื่องนี้. เธอบอกว่า “ยิ่งสถานการณ์ยุ่งยากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องแสวงหาการชี้นำจากพระคำของพระเจ้ามากเท่านั้น และก็ได้ผลจริง ๆ!” คุณจะใช้คัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นเพื่อสอนลูกให้รู้จักแยกแยะสิ่งถูกผิดได้ไหม?
จงเป็นคนมีเหตุผล
อัครสาวกเปาโลชี้ให้เห็นหลักการสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ช่วยในการเลี้ยงดูบุตร. ท่านกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนว่า “ให้ความมีเหตุผลของท่านทั้งหลายปรากฏแก่คนทั้งปวง.” (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) แน่นอนว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการให้เด็ก ๆ เห็นความมีเหตุผลของเรา. และจำไว้ว่า ความมีเหตุผลสะท้อนถึง “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน.”—ยาโกโบ 3:17.
แต่ความมีเหตุผลเกี่ยวข้องอย่างไรกับการอบรมสั่งสอนลูกของเรา? ขณะที่เราให้ความช่วยเหลือทุกอย่างที่เราให้ได้
แก่ลูก ๆ เราไม่ได้ควบคุมการกระทำทุกอย่างของพวกเขา. เพื่อเป็นตัวอย่าง มาริโอ ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้เป็นพยานพระยะโฮวา และเขาเล่าว่า “ตลอดเวลาเราสนับสนุนลูกให้มีเป้าหมายที่จะรับบัพติสมา, รับใช้เต็มเวลา, และเป้าหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการรับใช้พระเจ้า. แต่เราจะทำให้ลูกเข้าใจชัดเจนว่าเป็นเรื่องของเขาที่จะต้องเลือกเมื่อถึงเวลา.” ผลเป็นอย่างไร? ขณะนี้ลูกทั้งสองคนของเขาเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลา.คัมภีร์ไบเบิลเตือนผู้เป็นบิดาไว้ที่โกโลซาย 3:21 ว่า “อย่ายั่วบุตรของตนให้ขัดเคืองใจ, เกรงว่าเขาจะท้อใจ.” แคเทอรีนหยั่งรู้ค่าข้อคัมภีร์นี้. เมื่อความอดทนของพ่อแม่เริ่มลดน้อยลง เป็นเรื่องง่ายที่จะรู้สึกโกรธหรือเรียกร้องให้ลูกทำสิ่งนั้นสิ่งนี้. แต่เธอบอกว่า “อย่าเรียกร้องเอาจากลูกมากเท่ากับที่คุณคาดหมายจากตัวคุณเอง.” แคเทอรีนเองก็เป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งเช่นกัน และเธอเสริมว่า “จงทำให้การรับใช้พระยะโฮวาเป็นโอกาสที่น่ายินดี.”
เจฟฟ์ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ไว้ว่า “เมื่อลูกของเราเริ่มโตขึ้น เพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกเราว่า เขาได้มาตระหนักว่าบ่อยแค่ไหนที่เขาต้องปฏิเสธคำขอของลูก ๆ. การทำเช่นนั้นทำให้ลูกขัดเคืองใจและรู้สึกว่าถูกกดขี่. เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เขาแนะนำให้เราหาวิธีต่าง ๆ ที่จะยอมตามคำขอของพวกเด็ก ๆ.
เจฟฟ์บอกว่า “เราคิดว่านั่นเป็นคำแนะนำที่ดี. เราจึงมองหาโอกาสที่ลูก ๆ จะทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นในแบบที่เราเห็นว่าเหมาะสม. แล้วเราก็จะไปพูดกับลูกว่า ‘ลูกรู้ไหมว่าคนนั้นคนนี้จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้นะ? ลูกอยากจะไปด้วยไหม?’ หรือถ้าเด็ก ๆ ขอให้เราพาไปที่ไหนสักแห่ง เราก็จะพยายามไปให้ได้ถึงแม้เราจะเหนื่อยก็ตาม. เราทำอย่างนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิเสธพวกเขา.” นั่นคือลักษณะสำคัญของการเป็นคนมีเหตุผล กล่าวคือ ไม่ลำเอียง, คำนึงถึงผู้อื่น, และยอมตามโดยไม่ได้อะลุ่มอล่วยหลักการของคัมภีร์ไบเบิล.
ประโยชน์จากคำแนะนำที่วางใจได้
ปัจจุบันสามีภรรยาเหล่านี้ส่วนใหญ่กลายเป็นปู่ย่าตายายกันแล้ว. พวกเขามีความสุขที่เห็นว่าหลักการเดียวกันของคัมภีร์ไบเบิลช่วยลูก ๆ ของพวกเขาให้ประสบความสำเร็จในการเป็นบิดามารดา. คุณจะรับประโยชน์จากคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลได้ไหม?
เมื่อรูท ซึ่งกล่าวถึงในตอนต้นกลายเป็นคุณแม่ บางครั้งเธอกับสามีรู้สึกเหมือนขาดที่พึ่ง. แต่ที่จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น. พวกเขามีคำแนะนำที่ยอดเยี่ยมเหนืออื่นใดอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. พยานพระยะโฮวาได้ผลิตเครื่องมือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ดีเยี่ยมมากมายซึ่งจะช่วยบิดามารดาได้. เครื่องมือเหล่านี้รวมไปถึงหนังสือจงเรียนจากครูผู้ยิ่งใหญ่, หนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล, คำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล, และบุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็น. ทอร์ลิฟ สามีของรูทบอกว่า “เดี๋ยวนี้มีคำแนะนำมากมายซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักที่พ่อแม่จะใช้ได้ทันที. ถ้าเพียงแต่พวกเขาใช้ประโยชน์จากคำแนะนำเหล่านั้น พวกเขาก็จะได้รับความช่วยเหลือให้จัดการกับทุกแง่มุมในชีวิตขณะที่เลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้น.”
[กรอบ/ภาพหน้า 5]
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญบอก . . . สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก
ในเรื่องการแสดงความรัก:
ในหนังสือจิตวิทยาการดูแลทารกและเด็ก (1928, ภาษาอังกฤษ) ดร. จอห์น โบรดัส วัตสัน แนะนำบิดามารดาว่า “อย่ากอดหรือจูบ” ลูกของคุณ. “อย่าให้ลูกนั่งบนตักของคุณ.” แต่มาภายหลัง ดร. วีรา เลน กับ ดร. โดโรที โมลีโน ได้ชี้แจงไว้ในวารสารลูกของเรา (มีนาคม 1999, ภาษาอังกฤษ) ว่า “การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็ก ๆ ที่ขาดการสัมผัสทางกายและการแสดงความรักมักจะไม่เติบโตเท่าที่ควร.”
ในทางตรงกันข้าม ยะซายา 66:12 กล่าวถึงพระเจ้าว่าทรงแสดงออกถึงความรักที่มีต่อประชาชนของพระองค์ในลักษณะเดียวกับการแสดงความรักของพ่อแม่. ทำนองเดียวกัน เมื่อสาวกของพระเยซูพยายามห้ามประชาชนไม่ให้พาเด็กเล็ก ๆ มาหาพระองค์ พระเยซูทรงกล่าวแก้ไขพวกเขาว่า “จงยอมให้เด็กเล็ก ๆ เข้ามาหาเรา, อย่าห้ามเขาเลย.” แล้ว “พระองค์ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้นวางพระหัตถ์บนเขาและทรงอวยพรให้.”—มาระโก 10:14, 16.
ในเรื่องการสอนค่านิยมที่เหมาะสม:
ในบทความหนึ่งของนิวยอร์ก ไทมส์ แมกกาซีน เมื่อปี 1969 ดร. บรูโน เบตเทลไฮม์ ได้เน้นว่า เด็กมี “สิทธิที่จะมีความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ได้รับอิทธิพลจาก [การพร่ำสอน] ตามอำนาจหน้าที่ [ของบิดามารดา] แต่จากประสบการณ์ชีวิตจริงของตนเองเท่านั้น.” แต่แล้วเกือบ 30 ปีต่อมา ดร. โรเบิร์ต โคลส์ ผู้เขียนหนังสือเชาวน์ปัญญาทางศีลธรรมของเด็ก (1997, ภาษาอังกฤษ) ยอมรับว่า “เด็ก ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับรู้ถึงจุดมุ่งหมายและการชี้แนะในชีวิต อันเป็นค่านิยมรูปแบบหนึ่ง” ซึ่งเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่และผู้ใหญ่คนอื่น ๆ.
สุภาษิต 22:6 กระตุ้นบิดามารดาว่า “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น: และเมื่อแก่ชราแล้วเขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.” คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ฝึกสอน” ยังหมายถึง “ริเริ่ม” ได้ด้วย และในที่นี้บ่งชี้ถึงการริเริ่มให้การแนะนำสั่งสอนเป็นครั้งแรกแก่ทารก. ดังนั้น บิดามารดาจึงได้รับการสนับสนุนให้เริ่มสอนลูกของเขาให้รู้ถึงค่านิยมที่เหมาะสมตั้งแต่ยังเป็นทารก. (2 ติโมเธียว 3:14, 15) สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงขวบปีแรก ๆ ของชีวิตนี้มักจะคงอยู่กับพวกเขาเรื่อยไป.
ในเรื่องการตีสอน:
ดร. เจมส์ ดอบสัน เขียนไว้ในหนังสือเด็กที่มีใจมุ่งมั่น (1978, ภาษาอังกฤษ) ว่า “การเฆี่ยนตีโดยพ่อแม่ที่มีความรักเป็นวิธีสอนที่จะยับยั้งพฤติกรรมซึ่งก่อความเสียหาย.” ตรงกันข้าม ในบทความหนึ่งซึ่งดัดแปลงมาจากฉบับพิมพ์ครั้งที่เจ็ดของหนังสืออันโด่งดังที่ชื่อการดูแลเด็กและทารก (1998, ภาษาอังกฤษ) ดร. เบนจามิน สป็อก กล่าวว่า “การตีเป็นการสอนเด็กว่า คนที่แก่กว่า แข็งแรงกว่ามีอำนาจที่จะทำอะไรก็ได้ไม่ว่าเขาจะมีสิทธิหรือไม่ก็ตาม.”
ในเรื่องการตีสอน คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ไม้เรียวที่ตีสอนทำให้เกิดปัญญา.” (สุภาษิต 29:15) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เด็กทุกคนจำเป็นต้องถูกตี. สุภาษิต 17:10 บอกเราว่า “คนที่เข้าใจเมื่อถูกว่ากล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ซึมทราบยิ่งกว่าคนโฉดเขลาที่ถูกโบยสักร้อยราย.”
[ภาพหน้า 5]
จงใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะเข้าถึงหัวใจ
[ภาพหน้า 7]
บิดามารดาที่สุขุมจะจัดนันทนาการให้กับลูก ๆ