ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณมีทัศนะเหมือนพระยะโฮวาในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม?

คุณมีทัศนะเหมือนพระยะโฮวาในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม?

คุณ​มี​ทัศนะ​เหมือน​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​ไหม?

“จง​ระวัง​ให้​ดี . . . เพื่อ​จะ​ไม่​มี​คน​ผิด​ประเวณี หรือ​คน​ใด​ที่​ไม่​หยั่ง​รู้​คุณค่า​ของ​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์.”—เฮ็บราย 12:15, 16, ล.ม.

1. ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​มี​ทัศนะ​เช่น​ไร​แบบ​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ใน​ปัจจุบัน?

ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ใน​โลก​สนใจ​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​น้อย​ลง​เรื่อย ๆ. เอดการ์ มอแรง นัก​สังคม​วิทยา​ชาว​ฝรั่งเศส​กล่าว​ไว้​ดัง​นี้: “รากฐาน​ทั้ง​สิ้น​ของ​ศีลธรรม​จรรยา​ทั้ง​หลาย—ไม่​ว่า​จะ​เป็น​พระเจ้า, ธรรมชาติ, มาตุภูมิ, ประวัติศาสตร์, เหตุ​ผล—ได้​สูญ​เสีย​ลักษณะ​ตาม​ธรรมดา​ที่​เมื่อ​ก่อน​ไม่​เคย​ถูก​ตั้ง​ข้อ​สงสัย. . . . ผู้​คน​เลือก​ค่า​นิยม​ที่​ตน​อยาก​จะ​ยึด.” ความ​เป็น​ไป​ดัง​กล่าว​แสดง​ให้​เห็น​ชัด​เกี่ยว​กับ “วิญญาณ​ของ​โลก” หรือ “วิญญาณ​ที่​ทำ​กิจ​อยู่​ใน​พวก​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ใน​เวลา​นี้.” (1 โกรินโธ 2:12; เอเฟโซ 2:2, ฉบับ​แปล 2002) น้ำใจ​ที่​ไม่​แสดง​ความ​นับถือ​แบบ​นั้น​ไม่​มี​อยู่​ใน​คน​ที่​ได้​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​และ​เต็ม​ใจ​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​พระ​บรม​เดชานุภาพ​อัน​ชอบธรรม​ของ​พระองค์. (โรม 12:1, 2) แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ผู้​รับใช้​พระเจ้า​ตระหนัก​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​ความ​ศักดิ์สิทธิ์ หรือ​ความ​บริสุทธิ์ ที่​มี​อยู่​ใน​การ​นมัสการ​ที่​เขา​ถวาย​แด่​พระ​ยะโฮวา. มี​อะไร​บ้าง​ใน​ชีวิต​เรา​ที่​ควร​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์? บทความ​นี้​จะ​พิจารณา​ห้า​ประการ​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​นับ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​สำหรับ​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ทุก​คน. บทความ​ถัด​ไป​จะ​เน้น​ใน​เรื่อง​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​การ​ประชุม​คริสเตียน. แต่​คำ “บริสุทธิ์” หมาย​ความ​เช่น​ไร​จริง ๆ?

2, 3. (ก) พระ​คัมภีร์​เน้น​ใน​เรื่อง​ความ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร? (ข) เรา​ควร​ถือ​ว่า​พระ​นาม​ยะโฮวา​เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​บริสุทธิ์​อย่าง​ไร?

2 ใน​ภาษา​ฮีบรู​ที่​ใช้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คำ “บริสุทธิ์” สื่อ​แนว​คิด​เกี่ยว​กับ​การ​แยก​ไว้​ต่าง​หาก. ใน​การ​นมัสการ คำ “บริสุทธิ์” ใช้​กับ​สิ่ง​ที่​ถูก​แยก​ไว้​ต่าง​หาก​จาก​การ​ใช้​ตาม​ธรรมดา หรือ​สิ่ง​ที่​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์. พระ​ยะโฮวา​ทรง​บริสุทธิ์​ใน​ความ​หมาย​ที่​ครบ​ถ้วน​สมบูรณ์. มี​การ​กล่าว​ถึง​พระองค์​ว่า​เป็น “องค์​บริสุทธิ์ [“ที่​สุด,” ล.ม.]” (สุภาษิต 9:10; 30:3) ใน​ชาติ​อิสราเอล​โบราณ มหา​ปุโรหิต​สวม​ผ้า​โพก​ศีรษะ​ที่​มี​แผ่น​ทองคำ​ติด​ไว้ ซึ่ง​มี​คำ​จารึก​ไว้​บน​แผ่น​ทองคำ​นั้น​ว่า “ความ​บริสุทธิ์​เป็น​ของ​พระ​ยะโฮวา.” (เอ็กโซโด 28:36, 37, ล.ม.) พระ​คัมภีร์​พรรณนา​ว่า​เครูบ​และ​เซราฟ​ซึ่ง​อยู่​ใน​สวรรค์​และ​ประจำการ​อยู่​รอบ​พระ​ที่​นั่ง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​ร้อง​ประกาศ​ว่า “พระ​ยะโฮวา . . . เป็น​บริสุทธิ์, เป็น​บริสุทธิ์, เป็น​บริสุทธิ์.” (ยะซายา 6:2, 3; วิวรณ์ 4:6-8) การ​กล่าว​ซ้ำ​อย่าง​นี้​เน้น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​บริสุทธิ์, สะอาด, และ​ไร้​มลทิน​ใน​ระดับ​สูง​สุด. ที่​จริง พระองค์​ทรง​เป็น​แหล่ง​แห่ง​ความ​บริสุทธิ์​ทั้ง​ปวง.

3 พระ​นาม​ยะโฮวา​นั้น​ศักดิ์สิทธิ์ หรือ​บริสุทธิ์. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​กล่าว​ด้วย​ความ​รู้สึก​อัน​แรง​กล้า​ว่า “ให้​คน​ทั้ง​ปวง​สรรเสริญ​พระ​นาม​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​และ​น่า​เกรง​กลัว​ของ​พระองค์. พระองค์​เป็น​ผู้​บริสุทธิ์ [“พระ​นาม​ของ​พระองค์​ใหญ่​ยิ่ง​และ​น่า​เกรง​ขาม เป็น​บริสุทธิ์,” ล.ม.].” (บทเพลง​สรรเสริญ 99:3) พระ​เยซู​ทรง​สอน​เรา​ให้​อธิษฐาน​ดัง​นี้: “โอ​พระ​บิดา​แห่ง​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์ ขอ​ให้​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์.” (มัดธาย 6:9) มาเรีย มารดา​ของ​พระ​เยซู​ขณะ​ที่​ทรง​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก ประกาศ​ดัง​นี้: “จิตต์​ของ​ข้าพเจ้า​ก็​สรรเสริญ​พระเจ้า . . . ผู้​ทรง​ฤทธิ์​ได้​ทรง​กระทำ​การ​ใหญ่​แก่​ข้าพเจ้า และ​พระ​นาม​ของ​พระองค์​ก็​บริสุทธิ์.” (ลูกา 1:46, 49) ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา เรา​ถือ​ว่า​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​บริสุทธิ์​และ​หลีก​เลี่ยง​การ​กระทำ​ใด ๆ ที่​อาจ​นำ​ความ​เสื่อม​เสีย​มา​สู่​พระ​นาม​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์. นอก​จาก​นั้น เรา​มี​ทัศนะ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​ความ​ศักดิ์สิทธิ์ กล่าว​คือ สิ่ง​ใด​ที่​พระองค์​ทรง​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​เรา​ถือ​ว่า​สิ่ง​นั้น​ศักดิ์สิทธิ์.—อาโมศ 5:14, 15.

เหตุ​ที่​เรา​นับถือ​พระ​เยซู​อย่าง​สุด​ซึ้ง

4. เหตุ​ใด​คัมภีร์​ไบเบิล​พรรณนา​พระ​เยซู​ว่า​เป็น “ผู้​บริสุทธิ์”?

4 ใน​ฐานะ “พระ​บุตร​ผู้​ได้​รับ​กำเนิด​องค์​เดียว” ของ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​องค์​บริสุทธิ์ พระ​เยซู​ทรง​ถูก​สร้าง​ให้​บริสุทธิ์. (โยฮัน 1:14, ล.ม.; โกโลซาย 1:15; เฮ็บราย 1:1-3) ด้วย​เหตุ​นั้น จึง​มี​การ​เรียก​พระองค์​ว่า “ผู้​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า.” (โยฮัน 6:69) พระองค์​ยัง​คง​บริสุทธิ์​อยู่​เมื่อ​ชีวิต​พระองค์​ถูก​โยกย้าย​จาก​สวรรค์​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก เพราะ​มาเรีย​ให้​กำเนิด​พระ​เยซู​โดย​อำนาจ​ของ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์. ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​บอก​เธอ​ว่า “พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​จะ​เสด็จ​ลง​มา​บน​เธอ . . . องค์​บริสุทธิ์​ที่​จะ​บังเกิด​นั้น​จะ​ได้​นาม​ว่า​เป็น​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า.” (ลูกา 1:35) ใน​คำ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา คริสเตียน​ใน​เยรูซาเลม​กล่าว​ถึง​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​สอง​ครั้ง​ว่า “พระ​เยซู​ผู้​รับใช้​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์.”—กิจการ 4:27, 30, ฉบับ​แปล​ใหม่.

5. ภารกิจ​ศักดิ์สิทธิ์​อะไร​ที่​พระ​เยซู​ได้​ปฏิบัติ​ให้​สำเร็จ​ลุ​ล่วง​บน​แผ่นดิน​โลก และ​เหตุ​ใด​พระ​โลหิต​ของ​พระองค์​จึง​มี​ค่า​ยิ่ง?

5 พระ​เยซู​ทรง​มี​ภารกิจ​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​ต้อง​ปฏิบัติ​ให้​ลุ​ล่วง​ขณะ​ที่​ทรง​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก. ใน​วัน​ที่​ทรง​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี​สากล​ศักราช 29 พระ​เยซู​ทรง​ถูก​เจิม​ให้​เป็น​มหา​ปุโรหิต​แห่ง​พระ​วิหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระ​ยะโฮวา. (ลูกา 3:21, 22; เฮ็บราย 7:26; 8:1, 2) นอก​จาก​นั้น พระองค์​ยัง​ต้อง​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​เป็น​เครื่อง​บูชา. พระ​โลหิต​ที่​หลั่ง​ออก​ของ​พระองค์​จะ​เป็น​ค่า​ไถ่​ที่​สามารถ​ช่วย​มนุษย์​ผู้​ผิด​บาป​ให้​รอด. (มัดธาย 20:28; เฮ็บราย 9:14) ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ถือ​ว่า​พระ​โลหิต​ของ​พระ​เยซู​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์ และ “มี​ค่า​มาก.”—1 เปโตร 1:19, ล.ม.

6. เจตคติ​ของ​เรา​ต่อ​พระ​คริสต์​เยซู​เป็น​เช่น​ไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

6 อัครสาวก​เปาโล​เขียน​เพื่อ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​มี​ความ​นับถือ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​พระ​คริสต์​เยซู พระ​มหา​กษัตริย์​และ​มหา​ปุโรหิต​ของ​เรา ดัง​นี้: “พระเจ้า​จึง​ได้​ทรง​ยก [พระ​บุตร] ขึ้น​ให้​ดำรง​ตำแหน่ง​สูง และ​ทรง​โปรด​ประทาน​พระ​นาม​ซึ่ง​เหนือ​นาม​อื่น​ทั้ง​หมด​ให้​แก่​พระองค์ เพื่อ​ทุก​หัวเข่า​ใน​สวรรค์​ก็​ดี ที่​แผ่นดิน​โลก​ก็​ดี​และ​ใต้​พื้น​แผ่นดิน​ก็​ดี​จะ​ได้​กราบ​ลง​ใน​พระ​นาม​ของ​พระ​เยซู และ​ลิ้น​ทุก​ลิ้น​จะ​รับ​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า​พระ​เยซู​คริสต์​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​เพื่อ​ถวาย​เกียรติยศ​แด่​พระเจ้า​พระ​บิดา.” (ฟิลิปปอย 2:9-11, ล.ม.) เรา​แสดง​ว่า​เรา​มี​ทัศนะ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​โดย​ยินดี​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​พระ​คริสต์​เยซู ผู้​นำ​และ​มหา​กษัตริย์​ของ​เรา​ที่​กำลัง​ครอง​ราชย์​อยู่ ผู้​เป็น​ประมุข​ของ​ประชาคม​คริสเตียน.—มัดธาย 23:10; โกโลซาย 1:18.

7. เรา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​พระ​คริสต์​โดย​วิธี​ใด?

7 การ​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​พระ​คริสต์​ยัง​หมาย​รวม​ถึง​การ​ที่​เรา​แสดง​ความ​นับถือ​อย่าง​ถูก​ต้อง​ต่อ​คน​ที่​พระองค์​ทรง​ใช้​ให้​นำ​หน้า​ใน​งาน​ที่​พระองค์​กำลัง​ชี้​นำ​อยู่​ใน​เวลา​นี้. บทบาท​ของ​ชน​ผู้​ถูก​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​ซึ่ง​ประกอบ​กัน​เป็น​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​และ​บรรดา​ผู้​ดู​แล​ที่​พวก​เขา​แต่ง​ตั้ง​ให้​ทำ​หน้า​ที่​ใน​สำนักงาน​สาขา, ภาค, หมวด, และ​ประชาคม​ต่าง ๆ ควร​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​นับถือ​ว่า​เป็น​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ต้อง​ให้​ความ​นับถือ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​และ​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​การ​จัด​เตรียม​นี้.—เฮ็บราย 13:7, 17.

ประชาชน​บริสุทธิ์

8, 9. (ก) ชาว​อิสราเอล​เป็น​ประชาชน​บริสุทธิ์​ใน​ทาง​ใด? (ข) พระ​ยะโฮวา​ทรง​เน้น​กับ​ชาว​อิสราเอล​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​หลักการ​ใน​เรื่อง​ความ​ศักดิ์สิทธิ์?

8 พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทำ​สัญญา​กับ​ชาติ​อิสราเอล. สาย​สัมพันธ์​นี้​ทำ​ให้​ชาติ​ใหม่​ชาติ​นี้​มี​สถานภาพ​พิเศษ. พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ชำระ​ให้​บริสุทธิ์ หรือ​ถูก​แยก​ไว้​ต่าง​หาก. พระ​ยะโฮวา​เอง​ทรง​บอก​พวก​เขา​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​จง​เป็น​คน​บริสุทธิ์​ต่อ​เรา; เพราะ​เรา​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​บริสุทธิ์, และ​เรา​ได้​แยก​เจ้า​ออก​จาก​ชน​ประเทศ​อื่น​ให้​เป็น​พลเมือง​ของ​เรา.”—เลวีติโก 19:2; 20:26.

9 ใน​ตอน​ที่​ทรง​ตั้ง​ชาติ​อิสราเอล​นั้น​เอง พระ​ยะโฮวา​ทรง​เน้น​กับ​ชาว​อิสราเอล​เกี่ยว​กับ​หลักการ​ใน​เรื่อง​ความ​ศักดิ์สิทธิ์. โดย​คาด​โทษ​ไว้​ถึง​ตาย พระองค์​ทรง​มี​พระ​บัญชา​ว่า​พวก​เขา​ต้อง​ไม่​แตะ​ต้อง​แม้​กระทั่ง​ภูเขา​ที่​เป็น​สถาน​ที่​ซึ่ง​พระองค์​ประทาน​พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ. ใน​แง่​หนึ่ง จึง​ถือ​ว่า​ภูเขา​ไซนาย​ใน​ตอน​นั้น​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์. (เอ็กโซโด 19:12, 23) ตำแหน่ง​ปุโรหิต, พลับพลา, และ​เครื่อง​ใช้​ทั้ง​หลาย​ของ​พลับพลา​ก็​ถือ​ว่า​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์. (เอ็กโซโด 30:26-30) สถานการณ์​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​เป็น​เช่น​ไร?

10, 11. เหตุ​ใด​จึง​กล่าว​ได้​ว่า​ประชาคม​คริสเตียน​แห่ง​ชน​ผู้​ถูก​เจิม​นั้น​ศักดิ์สิทธิ์ และ​เรื่อง​นี้​มี​ผล​เช่น​ไร​ต่อ “แกะ​อื่น”?

10 ประชาคม​คริสเตียน​แห่ง​ชน​ผู้​ถูก​เจิม​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระ​ยะโฮวา. (1 โกรินโธ 1:2) ที่​จริง คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ทั้ง​กลุ่ม​ที่​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก ณ เวลา​ใด​เวลา​หนึ่ง​ถูก​เปรียบ​กับ​พระ​วิหาร​บริสุทธิ์ แม้​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​เป็น​พระ​วิหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระ​ยะโฮวา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทับ​ที่​พระ​วิหาร​นั้น​โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ดัง​นี้: “ใน [พระ​คริสต์​เยซู] นั้น​ทุก​ส่วน​ของ​โครง​สร้าง​ถูก​เชื่อม​ต่อ​กัน​และ​เจริญ​ขึ้น​เป็น​วิหาร​อัน​บริสุทธิ์ [สำหรับ​พระ​ยะโฮวา]. และ​ใน​พระองค์​นั้น พวก​ท่าน​ก็​กำลัง​ถูก​ก่อ​ร่าง​สร้าง​ขึ้น​ด้วย​กัน​ให้​เป็น​ที่​สถิต​ของ​พระเจ้า​โดย​พระ​วิญญาณ.”—เอเฟโซ 2:21, 22, ฉบับ​แปล 2002; 1 เปโตร 2:5, 9.

11 เปาโล​เขียน​ต่อ​ไป​ถึง​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ไม่​รู้​หรือ​ว่า​ตัว​ท่าน​เป็น​วิหาร​ของ​พระเจ้า, และ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​สถิต​อยู่​ใน​ตัว​ท่าน? . . . วิหาร​ของ​พระเจ้า​เป็น​ที่​บริสุทธิ์, และ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​วิหาร​นั้น.” (1 โกรินโธ 3:16, 17) โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ พระ​ยะโฮวา “สถิต” อยู่​ท่ามกลาง​เหล่า​ผู้​ถูก​เจิม​และ “ดำเนิน​ท่ามกลาง​เขา.” (2 โกรินโธ 6:16) พระองค์​ทรง​ชี้​นำ “ทาส” สัตย์​ซื่อ​ของ​พระองค์​อยู่​เรื่อย​มา. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) “แกะ​อื่น” เห็น​ค่า​และ​รักษา​สิทธิ​พิเศษ​ของ​ตน​ไว้​ใน​การ​คบหา​กับ​ชน​ชั้น​พระ​วิหาร.—โยฮัน 10:16; มัดธาย 25:37-40.

สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​ชีวิต​ของ​เรา​ฐานะ​คริสเตียน

12. มี​อะไร​บ้าง​ที่​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​ชีวิต​ของ​เรา และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

12 ไม่​ใช่​เรื่อง​น่า​แปลก​ใจ​ที่​จะ​กล่าว​ว่า หลาย​สิ่ง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชีวิต​ของ​สมาชิก​ที่​เป็น​ผู้​ถูก​เจิม​ของ​ประชาคม​คริสเตียน​และ​บรรดา​สหาย​ของ​พวก​เขา​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์. ความ​สัมพันธ์​ของ​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์. (1 โครนิกา 28:9; บทเพลง​สรรเสริญ 36:7) นั่น​เป็น​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง​ถึง​ขนาด​ที่​เรา​ไม่​ยอม​ให้​สิ่ง​ใด​หรือ​ใคร​ก็​ตาม​มา​ทำ​ให้​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​อ่อน​ลง. (2 โครนิกา 15:2; ยาโกโบ 4:7, 8) การ​อธิษฐาน เป็น​ส่วน​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​รักษา​ความ​สัมพันธ์​อัน​ใกล้​ชิด​ระหว่าง​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา. การ​อธิษฐาน​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​มาก​สำหรับ​ผู้​พยากรณ์​ดานิเอล​ถึง​ขนาด​ที่​ท่าน​ยอม​เสี่ยง​ชีวิต​เพื่อ​รักษา​กิจวัตร​ของ​ท่าน​ใน​การ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ซื่อ​สัตย์. (ดานิเอล 6:7-11) “คำ​อธิษฐาน​ของ​สิทธชน​ทั้ง​ปวง” ซึ่ง​ก็​หมาย​ถึง​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม ถูก​เปรียบ​ว่า​เหมือน​กับ​เครื่อง​หอม​ที่​ใช้​ใน​การ​นมัสการ​ที่​พระ​วิหาร. (วิวรณ์ 5:8; 8:3, 4; เลวีติโก 16:12, 13) สัญลักษณ์​ดัง​กล่าว​เน้น​ถึง​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​การ​อธิษฐาน. ช่าง​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​สามารถ​สื่อ​ความ​กับ​องค์​บรม​มหิศร​แห่ง​เอกภพ! ไม่​ใช่​เรื่อง​น่า​แปลก​ใจ​เลย​ว่า​การ​อธิษฐาน​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​ชีวิต​ของ​เรา!

13. พลัง​อะไร​ที่​บริสุทธิ์ และ​เรา​ควร​ยอม​ให้​พลัง​นี้​ดำเนิน​กิจ​อย่าง​ไร​ใน​ชีวิต​เรา?

13 มี​พลัง​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​และ​สหาย​ที่​พวก​เขา​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​อย่าง​แน่นอน นั่น​คือ พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์. พระ​วิญญาณ​นี้​เป็น​พลัง​ปฏิบัติการ​ของ​พระ​ยะโฮวา และ​เนื่อง​จาก​พลัง​นี้​กระทำ​กิจ​สอดคล้อง​กับ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​องค์​บริสุทธิ์ จึง​เหมาะ​จะ​เรียก​ว่า “พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์” หรือ “พระ​วิญญาณ​แห่ง​ความ​บริสุทธิ์.” (โยฮัน 14:26; โรม 1:4) โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ พระ​ยะโฮวา​ประทาน​กำลัง​แก่​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ให้​ประกาศ​ข่าว​ดี. (กิจการ 1:8; 4:31) พระ​ยะโฮวา​ประทาน​พระ​วิญญาณ​แก่ “คน​เหล่า​นั้น​ที่​เชื่อ​ฟัง​พระองค์​ใน​ฐานะ​เป็น​ผู้​ปกครอง” และ​แก่​คน​ที่ “ดำเนิน​ตาม​พระ​วิญญาณ” ไม่​ใช่​ตาม​ความ​ปรารถนา​ของ​เนื้อหนัง. (กิจการ 5:32, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:16, 25; โรม 8:5-8) พลัง​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ฤทธิ์​อำนาจ​นี้​ทำ​ให้​คริสเตียน​สามารถ​แสดง “ผล​ของ​พระ​วิญญาณ”—คุณลักษณะ​ต่าง ๆ ที่​ดี—และ “การ​ประพฤติ​อัน​บริสุทธิ์ และ​การ​กระทำ​ด้วย​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23; 2 เปโตร 3:11, ล.ม.) หาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ศักดิ์สิทธิ์​สำหรับ​เรา เรา​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​สิ่ง​ใด​ก็​ตาม​ที่​อาจ​ทำ​ให้​พระ​วิญญาณ​เสีย​พระทัย หรือ​ขัด​ขวาง​การ​ดำเนิน​กิจ​ของ​พระ​วิญญาณ​ใน​ชีวิต​เรา.—เอเฟโซ 4:30.

14. ชน​ผู้​ถูก​เจิม​ถือ​ว่า​สิทธิ​พิเศษ​อะไร​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์ และ​แกะ​อื่น​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​สิทธิ​พิเศษ​นี้​อย่าง​ไร?

14 สิทธิ​พิเศษ​ที่​เรา​มี​ใน​การ​ถูก​เรียก​ตาม​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​องค์​บริสุทธิ์ พระ​ยะโฮวา และ​การ​เป็น​พยาน​ของ​พระองค์​เป็น​สิ่ง​ที่​เรา​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์. (ยะซายา 43:10-12, 15) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทำ​ให้​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​มี​คุณวุฒิ​เป็น “ผู้​รับใช้​แห่ง​สัญญา​ใหม่.” (2 โกรินโธ 3:5, 6, ล.ม.) เช่น​นั้น​แหละ พวก​เขา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ประกาศ “ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​นี้” และ “ทำ​ให้​คน​จาก​ทุก​ชาติ​เป็น​สาวก.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.; 28:19, 20, ล.ม.) พวก​เขา​ทำ​หน้า​ที่​มอบหมาย​นี้​ให้​สำเร็จ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์ และ​ผู้​คน​ที่​มี​นิสัย​เยี่ยง​แกะ​หลาย​ล้าน​คน​กำลัง​ตอบรับ ซึ่ง​อาจ​กล่าว​โดย​นัย​ได้​ว่า​พวก​เขา​พูด​กับ​ชน​ผู้​ถูก​เจิม​ว่า “เรา​จะ​ไป​ด้วย​ท่าน, เพราะ​เรา​ได้​ยิน​ว่า​พระเจ้า​อยู่​กับ​ท่าน​แล้ว.” (ซะคาระยา 8:23) คน​เหล่า​นี้​รับใช้​ด้วย​ความ​ยินดี​ใน​ฐานะ “คน​ไถ​นา” และ “คน​แต่ง​เถา​องุ่น” ใน​ความ​หมาย​ฝ่าย​วิญญาณ​สำหรับ “ผู้​ปรนนิบัติ​ของ​พระเจ้า​ของ​เรา” ที่​เป็น​ผู้​ถูก​เจิม. โดย​วิธี​นั้น แกะ​อื่น​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​อย่าง​มาก​แก่​เหล่า​ผู้​ถูก​เจิม​ใน​การ​ทำ​งาน​รับใช้​ของ​เขา​ให้​สำเร็จ​ใน​ขอบ​เขต​กว้างขวาง​ทั่ว​โลก.—ยะซายา 61:5, 6, ฉบับ​แปล​ใหม่.

15. อัครสาวก​เปาโล​ถือ​ว่า​กิจกรรม​อะไร​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์ และ​เหตุ​ใด​เรา​จึง​มี​ทัศนะ​แบบ​เดียว​กัน?

15 ยก​ตัว​อย่าง​เช่น อัครสาวก​เปาโล​ถือ​ว่า​งาน​เผยแพร่​แก่​สาธารณชน ที่​ท่าน​ทำ​นั้น​ศักดิ์สิทธิ์ หรือ​บริสุทธิ์. ท่าน​กล่าว​ถึง​ตัว​ท่าน​เอง​ว่า​เป็น “ผู้​รับใช้​สาธารณชน​ของ​พระ​คริสต์​เยซู​ไป​ถึง​นานา​ชาติ ทำ​งาน​บริสุทธิ์​แห่ง​ข่าว​ดี​ของ​พระเจ้า.” (โรม 15:16, ล.ม.) ใน​จดหมาย​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์ เปาโล​กล่าว​ถึง​งาน​รับใช้​ของ​ท่าน​ว่า​เป็น “ทรัพย์.” (2 โกรินโธ 4:1, 7) โดย​ทาง​งาน​เผยแพร่​แก่​สาธารณชน เรา​ประกาศ​ให้​คน​อื่น​ทราบ “คำ​แถลง​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​พระเจ้า.” (1 เปโตร 4:11, ล.ม.) ด้วย​เหตุ​นั้น ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ชน​ผู้​ถูก​เจิม​หรือ​แกะ​อื่น เรา​ถือ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​ได้​ร่วม​ใน​งาน​ให้​คำ​พยาน.

“ทำ​ความ​บริสุทธิ์​ให้​สมบูรณ์​ด้วย​ความ​เกรง​กลัว​พระเจ้า”

16. อะไร​จะ​ช่วย​เรา​หลีก​เลี่ยง​การ​กลาย​เป็น​คน​ที่ “ไม่​หยั่ง​รู้​คุณค่า​ของ​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์”?

16 อัครสาวก​เปาโล​เตือน​เพื่อน​คริสเตียน​ให้​ระวัง​อย่า​ได้​กลาย​เป็น​คน “ประมาท [“ไม่​หยั่ง​รู้​คุณค่า​ของ​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์,” ล.ม.].” แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ท่าน​แนะ​นำ​พวก​เขา​ให้ ‘แสวง​หา​ใจ​บริสุทธิ์’ “ระวัง​ให้​ดี . . . เกรง​ว่า​จะ​มี​ราก​ขมขื่น​แซม​ขึ้น​มา​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ยุ่งยาก . . . และ​เป็น​เหตุ​ให้​คน​เป็น​อัน​มาก​มลทิน​ไป.” (เฮ็บราย 12:14-16) คำ “ราก​ขมขื่น” ใน​ที่​นี้​หมาย​ถึง​คน​ไม่​กี่​คน​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​ที่​อาจ​ชอบ​จับ​ผิด​การ​ดำเนิน​การ​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น พวก​เขา​อาจ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​การ​สมรส​หรือ​ความ​จำเป็น​ต้อง​รักษา​ความ​สะอาด​ด้าน​ศีลธรรม. (1 เธซะโลนิเก 4:3-7; เฮ็บราย 13:4) หรือ​พวก​เขา​อาจ​ร่วม​วง​สนทนา​ที่​แพร่​ความ​คิด​แบบ​ออก​หาก “ถ้อย​คำ​นอก​คอก​นอก​ทาง [“การ​พูด​ไร้​สาระ​ซึ่ง​ละเมิด​สิ่ง​บริสุทธิ์,” ล.ม.]” ซึ่ง​เสนอ​โดย​พวก​ที่ “หลง​จาก​ความ​จริง.”—2 ติโมเธียว 2:16-18.

17. เหตุ​ใด​ชน​ผู้​ถูก​เจิม​จึง​ต้อง​พยายาม​อยู่​เสมอ​เพื่อ​สะท้อน​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​ความ​บริสุทธิ์?

17 เปาโล​เขียน​ถึง​พี่​น้อง​ที่​เป็น​ผู้​ถูก​เจิม​ด้วย​กัน​ว่า “ท่าน​ที่​รัก​ทั้ง​หลาย ให้​เรา​ชำระ​ตัว​เรา​จาก​มลทิน​ทุก​อย่าง​แห่ง​เนื้อหนัง​และ​วิญญาณ ทำ​ความ​บริสุทธิ์​ให้​สมบูรณ์​ด้วย​ความ​เกรง​กลัว​พระเจ้า.” (2 โกรินโธ 7:1, ล.ม.) คำ​กล่าว​นี้​แสดง​ว่า​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม “ผู้​เข้า​ส่วน​ด้วย​กัน​ใน​การ​ทรง​เรียก​ซึ่ง​มา​จาก​สวรรค์” ต้อง​พยายาม​อยู่​เสมอ​เพื่อ​พิสูจน์​ว่า​พวก​เขา​สะท้อน​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​ความ​บริสุทธิ์​ใน​ทุก​แง่​มุม​ของ​ชีวิต​ตน. (เฮ็บราย 3:1) คล้าย​กัน อัครสาวก​เปโตร​กระตุ้น​เตือน​พี่​น้อง​ที่​บังเกิด​ฝ่าย​วิญญาณ​ด้วย​กัน​กับ​ท่าน​ว่า “ดุจ​ดัง​เป็น​บุตร​ที่​เชื่อ​ฟัง, และ​ไม่​ประพฤติ​ตาม​ลำพัง​ใจ​ปรารถนา​เช่น​แต่​ก่อน​เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ยัง​เป็น​คน​โง่​อยู่ แต่​พระองค์​ผู้​ได้​ทรง​เรียก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​นั้น​บริสุทธิ์​ฉัน​ใด ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เป็น​คน​บริสุทธิ์​ใน​บรรดา​การ​ประพฤติ​ทุก​อย่าง​ด้วย​ฉัน​นั้น.”—1 เปโตร 1:14, 15.

18, 19. (ก) สมาชิก​ของ “ชน​ฝูง​ใหญ่” แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​พวก​เขา​มี​ทัศนะ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์? (ข) มี​อะไร​อีก​ที่​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​ชีวิต​ของ​คริสเตียน​ซึ่ง​จะ​พิจารณา​กัน​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

18 จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​สมาชิก “ชน​ฝูง​ใหญ่” ซึ่ง​จะ​รอด​ผ่าน “ความ​ทุกข์​ลำบาก​ครั้ง​ใหญ่”? พวก​เขา​ก็​เช่น​กัน​ต้อง​พิสูจน์​ว่า​มี​ทัศนะ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์. พระ​ธรรม​วิวรณ์​พรรณนา​ถึง​พวก​เขา​ว่า​กำลัง​ถวาย “งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์” แด่​พระ​ยะโฮวา ณ ลาน​บน​แผ่นดิน​โลก​ของ​พระ​วิหาร​ฝ่าย​วิญญาณ. พวก​เขา​ได้​แสดง​ความ​เชื่อ​ใน​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​คริสต์ ซึ่ง​มี​คำ​พรรณนา​โดย​นัย​ไว้​ว่า​พวก​เขา “ซัก​เสื้อ​คลุม​ของ​ตน​และ​ทำ​ให้​ขาว​ด้วย​พระ​โลหิต​ของ​พระ​เมษโปดก.” (วิวรณ์ 7:9, 14, 15, ล.ม.) นี่​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​ฐานะ​ที่​สะอาด​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระ​ยะโฮวา​และ​ทำ​ให้​พวก​เขา​อยู่​ภาย​ใต้​เงื่อนไข​ต้อง “ชำระ​ตัว [พวก​เขา] จาก​มลทิน​ทุก​อย่าง​แห่ง​เนื้อหนัง​และ​วิญญาณ ทำ​ความ​บริสุทธิ์​ให้​สมบูรณ์​ด้วย​ความ​เกรง​กลัว​พระเจ้า.”

19 ส่วน​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​และ​สหาย​คือ​การ​ประชุม​เป็น​ประจำ​เพื่อ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​และ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระองค์. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ถือ​ว่า​การ​ประชุม​ของ​ประชาชน​ของ​พระองค์​นั้น​ศักดิ์สิทธิ์. บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​ว่า​เรา​ควร​มี​ทัศนะ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา​เกี่ยว​กับ​แง่​มุม​นี้​ของ​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​โดย​วิธี​ใด​และ​เพราะ​เหตุ​ใด.

เพื่อ​ทบทวน

• ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​มี​ทัศนะ​เช่น​ไร​แบบ​โลก?

• เหตุ​ใด​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​แหล่ง​ที่​มา​ของ​ทุก​สิ่ง​ที่​บริสุทธิ์?

• เรา​แสดง​โดย​วิธี​ใด​ว่า​เรา​นับถือ​ความ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​คริสต์?

• เรา​ควร​ถือ​ว่า​อะไร​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​ชีวิต​เรา?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 23]

ใน​อิสราเอล​โบราณ ตำแหน่ง​ปุโรหิต, พลับพลา, และ​เครื่อง​ตกแต่ง​ต่าง ๆ ของ​พลับพลา​ถือ​ว่า​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์

[ภาพ​หน้า 24]

คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​บน​แผ่นดิน​โลก​ประกอบ​กัน​เป็น​พระ​วิหาร​อัน​ศักดิ์สิทธิ์

[ภาพ​หน้า 25]

คำ​อธิษฐาน​และ​งาน​เผยแพร่​แก่​สาธารณชน​ของ​เรา​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์