ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คริสตอฟ ปลองแตงผู้บุกเบิกการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล

คริสตอฟ ปลองแตงผู้บุกเบิกการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล

คริสตอฟ ปลองแตง​ผู้​บุกเบิก​การ​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล

โยฮันเนส กูเทนแบร์ก (ประมาณ​ปี 1397-1468) มี⁠ชื่อเสียง​เนื่อง​จาก​การ​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​แรก​โดย​ใช้​แท่น​พิมพ์​ระบบ​ตัว​เรียง​พิมพ์. แต่​คริสตอฟ ปลองแตง​ไม่​ค่อย​เป็น​ที่​รู้​จัก​เท่า​ใด​นัก. เขา​คือ​ผู้​บุกเบิก​การ​พิมพ์​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​ทำ​ให้​หนังสือ​และ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ถึง​มือ​ผู้​คน​ทั่ว​โลก​ระหว่าง​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 16.

คริสตอฟ ปลองแตง​เกิด​ประมาณ​ปี 1520 ที่​เมือง​แซง-อาแวร์แตง ประเทศ​ฝรั่งเศส. เนื่อง​จาก​ต้องการ​อยู่​ใน​ที่​ที่​มี​การ​เปิด​กว้าง​ทาง​ศาสนา​และ​มี​โอกาส​หา​เงิน​ได้​มาก​กว่า​ที่​ฝรั่งเศส ปลองแตง​ใน​วัย​เกือบ 30 ปี​จึง​ตั้ง​หลัก​ปัก​ฐาน​ที่​แอนทเวิร์ป​ใน​เขต​ประเทศ​พื้น​ที่​ต่ำ. *

ปลองแตง​เริ่ม​งาน​อาชีพ​โดย​การ​เป็น​ช่าง​เย็บ​เล่ม​หนังสือ​และ​ช่าง​ทำ​เครื่อง​หนัง. เนื่อง​จาก​เป็น​คน​ที่​มี​ฝีมือ​ดี​ใน​การ​ทำ​เครื่อง​หนัง เหล่า​คหบดี​จึง​ชอบ​ผล​งาน​ของ​เขา​มาก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1555 เป็น​เหตุ​ให้​ปลองแตง​ต้อง​เปลี่ยน​อาชีพ. ขณะ​เดิน​ทาง​ไป​ส่ง​กล่อง​หนัง​ใบ​หนึ่ง​ซึ่ง​ผู้​ปกครอง​ของ​ประเทศ​พื้น​ที่​ต่ำ กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 แห่ง​สเปน​ได้​สั่ง​ทำ ปลองแตง​ถูก​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​บน​ถนน​สาย​หนึ่ง​ใน​แอนทเวิร์ป. ชาย​ขี้เมา​สอง​สาม​คน​เอา​ดาบ​แทง​ทะลุ​ไหล่​ของ​เขา. แม้​ปลองแตง​จะ​ฟื้น​ตัว​จาก​อาการ​บาดเจ็บ แต่​เขา​ก็​ไม่​อาจ​ทำ​งาน​ที่​ต้อง​ใช้​ความ​ประณีต​ได้​อีก​และ​จึง​ต้อง​ยุติ​งาน​อาชีพ​ของ​เขา. ปลองแตง​เริ่ม​ทำ​งาน​พิมพ์​โดย​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ทาง​การ​เงิน​จาก​เฮนดริก นิคลัส ผู้​นำ​กลุ่ม​แอนา​แบพติสต์.

“งาน​และ​ความ​พากเพียร”

ปลองแตง​ตั้ง​ชื่อ​โรง​พิมพ์​ของ​เขา​ว่า เดอ กุลเดน พาสเซอร์ (วงเวียน​ทองคำ). เครื่องหมาย​การ​ค้า​ของ​เขา​มี​สัญลักษณ์​เป็น​วงเวียน​ทองคำ​สำหรับ​เขียน​แบบ​พร้อม​ด้วย​อักษร​ที่​จารึก​ว่า “ลาโบเร เอต คอนสแตนเทีย” ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ว่า “งาน​และ​ความ​พากเพียร.” เครื่องหมาย​การ​ค้า​นี้​ดู​เหมือน​เหมาะ​กับ​ชาย​ผู้​ขยัน​ขันแข็ง​คน​นี้.

เนื่อง​จาก​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ยุค​ที่​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ใหญ่​ทั้ง​ทาง​ศาสนา​และ​การ​เมือง​ใน​ยุโรป ปลองแตง​จึง​พยายาม​ไม่​สร้าง​ปัญหา. งาน​พิมพ์​มี​ความ​สำคัญ​ต่อ​เขา​เหนือ​สิ่ง​อื่น​ใด. แม้​ว่า​เขา​จะ​มี​ใจ​เอนเอียง​ไป​ทาง​การ​ปฏิรูป​โปรเตสแตนต์ แต่​เขา “แสดง​ให้​เห็น​ทัศนคติ​ที่​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​ฝ่าย​ใด​อย่าง​ชัดเจน​ต่อ​ประเด็น​ทาง​ศาสนา” นัก​เขียน​เมาริทส์ ซับเบอ​กล่าว. ด้วย​เหตุ​นี้ ปลองแตง​จึง​ถูก​โจมตี​ด้วย​ข่าว​ลือ​ที่​ว่า​เขา​พิมพ์​หนังสือ​นอก​รีต. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1562 เขา​จำ​ต้อง​หนี​ไป​อยู่​ที่​ปารีส​นาน​กว่า​หนึ่ง​ปี.

เมื่อ​ปลองแตง​กลับ​ไป​ที่​แอนทเวิร์ป​ใน​ปี 1563 เขา​เข้า​เป็น​หุ้น​ส่วน​กับ​เหล่า​พ่อค้า​ที่​มั่งคั่ง​ซึ่ง​หลาย​คน​ใน​จำนวน​นี้​เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า​มี​ความ​เชื่อ​แบบ​แคลวิน. ตลอด​ห้า​ปี​ที่​ดำเนิน​กิจการ​ร่วม​กัน มี​หนังสือ​ฉบับ​ต่าง ๆ 260 ฉบับ​ที่​พิมพ์​ออก​จาก​โรง​พิมพ์​ของ​ปลองแตง. ใน​จำนวน​นี้​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู, กรีก, และ​ลาติน รวม​ถึง​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​คาทอลิก​ลู​แวง​ภาษา​ดัตช์​ที่​แวว​วาว​สวย​งาม.

“ความ​สำเร็จ​ด้าน​งาน​พิมพ์​ที่​สำคัญ​ที่​สุด”

ใน​ปี 1567 ซึ่ง​เป็น​ช่วง​ที่​การ​ต่อ​ต้าน​การ​ปกครอง​ของ​สเปน​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​ใน​ประเทศ​พื้น​ที่​ต่ำ กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 แห่ง​สเปน​ได้​ส่ง​ดุ๊ก​แห่ง​อัลบา​ไป​เป็น​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ที่​นั่น. เนื่อง​จาก​ได้​รับ​อำนาจ​เต็ม​ที่​จาก​กษัตริย์ ดุ๊ก​คน​นี้​จึง​พยายาม​หยุด​ยั้ง​การ​ต่อ​ต้าน​ของ​พวก​โปรเตสแตนต์​ที่​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น. ด้วย​เหตุ​นั้น ปลองแตง​จึง​เริ่ม​โครงการ​ที่​ใหญ่​โต​ซึ่ง​เขา​หวัง​ว่า​จะ​ช่วย​ลบ​ล้าง​ข้อ​สงสัย​ทุก​ประการ​ว่า​เขา​เข้า​ข้าง​พวก​นอก​รีต. เขา​ปรารถนา​อย่าง​แรง​กล้า​ที่​จะ​พิมพ์​ข้อ​ความ​คัมภีร์​ไบเบิล​สำหรับ​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​ใน​ภาษา​ดั้งเดิม. สำหรับ​ฉบับ​ใหม่​นี้ ปลองแตง​ขอ​การ​สนับสนุน​จาก​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 ได้​สำเร็จ. กษัตริย์​สัญญา​ว่า​จะ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ด้าน​การ​เงิน​และ​ส่ง​อารยาส มอนตาโน ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาษา​กรีก​และ​ลาติน​ที่​มี​ชื่อเสียง​เพื่อ​เป็น​ผู้​อำนวย​การ​ของ​โครงการ​นี้.

มอนตาโน​มี​พรสวรรค์​ด้าน​ภาษา​และ​เขา​ทำ​งาน​ประมาณ 11 ชั่วโมง​ทุก​วัน. เขา​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​นัก​ภาษา​ศาสตร์​ที่​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาษา​สเปน, เบลเยียม, และ​ฝรั่งเศส. จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​พวก​เขา​ก็​คือ เพื่อ​จัด​เตรียม​การ​พิมพ์​คอมพลูเทนเชียล โพลิกลอท​ที่​มี​ชื่อเสียง​ฉบับ​ใหม่. * นอก​จาก​จะ​มี​ฉบับ​ลาติน​วัลเกต, ฉบับ​กรีก​เซปตัวจินต์, และ​ข้อ​ความ​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ฉบับ​ดั้งเดิม​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​โพลิกลอท​ฉบับ​ใหม่​ของ​ปลองแตง​ยัง​ประกอบ​ด้วย​ทาร์กุม​ภาษา​อาระเมอิก​และ​ฉบับ​เพชิตตา ภาษา​ซีเรีย​โบราณ ซึ่ง​มี​การ​แปล​เป็น​ภาษา​ลาติน​ตาม​ตัว​อักษร​บรรทัด​ต่อ​บรรทัด.

การ​พิมพ์​ฉบับ​แปล​นี้​เริ่ม​ต้น​ใน​ปี 1568. งาน​ที่​ใหญ่​โต​นี้​เสร็จ​สมบูรณ์​ใน​ปี 1573. นับ​เป็น​การ​ทำ​งาน​ที่​เร็ว​มาก​ใน​สมัย​นั้น. ใน​จดหมาย​ที่​เขียน​ไป​ถึง​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 มอนตาโน​เขียน​ว่า “สิ่ง​ที่​ทำ​สำเร็จ​ที่​นี่​ใน​หนึ่ง​เดือน​ยัง​มาก​กว่า​ที่​ทำ​ใน​โรม​ใน​หนึ่ง​ปี.” ปลองแตง​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​โพลิกลอท​ฉบับ​ใหม่​จำนวน 1,213 ชุด แต่​ละ​ชุด​มี​แปด​เล่ม​ใหญ่. ปก​ด้าน​ใน​มี​การ​พิมพ์​ภาพ​สิงโต, วัว, สุนัข​ป่า, และ​ลูก​แกะ​กำลัง​กิน​อาหาร​จาก​ราง​หญ้า​เดียว​กัน​อย่าง​สงบ​สุข ดัง​ที่​พรรณนา​ไว้​ใน​ยะซายา 65:25. ราคา​ของ​ชุด​หนึ่ง​ที่​ยัง​ไม่​ได้​เย็บ​รวม​กัน​คือ 70 กิลเดอร์ ถือ​เป็น​ราคา​ที่​สูง​มาก​เนื่อง​จาก​ใน​สมัย​นั้น​โดย​เฉลี่ย​แล้ว​ครอบครัว​หนึ่ง​มี​ราย​ได้​ประมาณ 50 กิลเดอร์​ต่อ​ปี. ต่อ​มา​ฉบับ​ครบ​ชุด​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท. ฉบับ​แปล​นี้​ยัง​ถูก​เรียก​ว่า บิบลิอา เรเกีย (รอยัล​ไบเบิล) เนื่อง​จาก​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 เป็น​ผู้​ให้​การ​สนับสนุน.

แม้​ว่า​โปป​เกรกอรี​ที่ 8 จะ​รับรอง​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้ แต่​อารยาส มอนตาโน​ก็​ถูก​วิพากษ์วิจารณ์​อย่าง​หนัก​เนื่อง​จาก​งาน​นี้. เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ​มอนตาโน​ให้​ความ​นับถือ​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ดั้งเดิม​ยิ่ง​กว่า​ฉบับ​ลาติน​วัลเกต. ศัตรู​คน​สำคัญ​ของ​เขา​คือ​เลออง เด คาสโตร นัก​เทววิทยา​ชาว​สเปน​ผู้​ซึ่ง​ถือ​ว่า​ฉบับ​ลาติน​วัลเกต เป็น​ฉบับ​ที่​ถูก​ต้อง​ที่​สุด. เด คาสโตร​กล่าวหา​ว่า​มอนตาโน​ทำ​ให้​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​มัวหมอง​ด้วย​หลัก​คำ​สอน​ที่​ค้าน​ปรัชญา​ตรีเอกานุภาพ. ตัว​อย่าง​เช่น เด คาสโตร​กล่าว​เจาะจง​ถึง​ข้อ​ความ​เพชิตตา ใน​ภาษา​ซีเรีย​โบราณ​ว่า​ไม่​มี​ข้อ​ความ​แปลกปลอม​ที่​เพิ่ม​เข้า​มา​ใน 1 โยฮัน 5:7 ซึ่ง​กล่าว​ว่า “ใน​สวรรค์ พระ​บิดา, พระ​คำ, และ​พระ​จิตต์​บริสุทธิ์: และ​ทั้ง​สาม​รวม​เป็น​หนึ่ง​เดียว.” (ฉบับ​แปล​คิงเจมส์) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ศาล​ศาสนา​ของ​สเปน​ได้​พิสูจน์​ยืน​ยัน​ว่า​มอนตาโน​บริสุทธิ์​พ้น​จาก​ข้อ​สงสัย​ทุก​ข้อ​ที่​ว่า​เขา​เป็น​พวก​นอก​รีต. บาง​คน​ถือ​ว่า​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​เป็น “ความ​สำเร็จ​ด้าน​งาน​พิมพ์​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​สำหรับ​โรง​พิมพ์​แห่ง​เดียว​ใน​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 16.”

ผล​ประโยชน์​ที่​ยั่งยืน

ช่าง​พิมพ์​ส่วน​ใหญ่​ใน​สมัย​นั้น​เป็น​เจ้าของ​เครื่อง​พิมพ์​เพียง​สอง​หรือ​สาม​เครื่อง​เท่า​นั้น. แต่​สำหรับ​ปลองแตง​แล้ว ใน​ช่วง​ที่​เขา​สามารถ​ผลิต​หนังสือ​ได้​มาก​ที่​สุด เป็น​ไป​ได้​ว่า​เขา​อาจ​มี​เครื่อง​พิมพ์​อย่าง​น้อย 22 เครื่อง​และ​มี​คน​งาน 160 คน. ใน​ท่ามกลาง​ประเทศ​ต่าง ๆ ที่​ใช้​ภาษา​สเปน​เป็น​หลัก เขา​มี​ชื่อเสียง​ใน​ฐานะ​ผู้​นำ​ด้าน​การ​พิมพ์.

ขณะ​เดียว​กัน การ​ต่อ​ต้าน​การ​ปกครอง​ของ​สเปน​มี​เพิ่ม​มาก​ขึ้น​ใน​กลุ่ม​ประเทศ​พื้น​ที่​ต่ำ. เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​ขึ้น​ใน​แอนทเวิร์ป​ด้วย. ใน​ปี 1576 ทหาร​รับจ้าง​ชาว​สเปน​ซึ่ง​ไม่​ได้​รับ​ค่า​จ้าง​ได้​ก่อ​กบฏ​และ​เข้า​ปล้น​เมือง​นั้น. บ้าน​เรือน​มาก​กว่า 600 หลัง​ถูก​เผา และ​ชาว​เมือง​แอนทเวิร์ป​หลาย​พัน​คน​ถูก​ฆ่า. พวก​พ่อค้า​หนี​ออก​จาก​เมือง. นี่​เป็น​ความ​สูญ​เสีย​ทาง​การ​เงิน​ครั้ง​ใหญ่​สำหรับ​ปลองแตง. ยิ่ง​กว่า​นั้น เขา​ถูก​บังคับ​ให้​จ่าย​เงิน​จำนวน​มหา​ศาล​แก่​พวก​ทหาร​รับจ้าง​เหล่า​นั้น​เพื่อ​เป็น​ค่า​คุ้มครอง.

ใน​ปี 1583 ปลองแตง​ย้าย​ไป​ที่​ไลเดน อยู่​ห่าง​จาก​แอนทเวิร์ป​ไป​ทาง​เหนือ 100 กิโลเมตร. เขา​ได้​ตั้ง​โรง​พิมพ์​ที่​นั่น​และ​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ให้​เป็น​ช่าง​พิมพ์​ของ​มหาวิทยาลัย​ไลเดน สถาบัน​การ​ศึกษา​ซึ่ง​ก่อ​ตั้ง​โดย​โปรเตสแตนต์​นิกาย​แคลวิน. ข้อ​กล่าวหา​เดิม ๆ ที่​ว่า​เขา​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​คริสตจักร​คาทอลิก​ก็​กลับ​คืน​มา​อีก. ดัง​นั้น ปลองแตง​จึง​กลับ​ไป​ที่​แอนทเวิร์ป​ใน​ช่วง​ปลาย​ปี 1585 ไม่​นาน​หลัง​จาก​ที่​เมือง​นั้น​กลับ​ไป​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​สเปน. ตอน​นั้น​เขา​มี​อายุ 60 กว่า​ปี และ​โรง​พิมพ์​เดอ กุลเดน พาสเซอร์​ก็​มี​คน​งาน​เหลือ​เพียง​สี่​คน​โดย​มี​เครื่อง​พิมพ์​เครื่อง​เดียว. ปลองแตง​เริ่ม​สร้าง​โรง​พิมพ์​ใหม่. แต่​ก็​ไม่​มี​วัน​รุ่งเรือง​เหมือน​เดิม​อีก และ​ปลองแตง​ได้​เสีย​ชีวิต​ใน​วัน​ที่ 1 กรกฎาคม 1589.

ตลอด​ช่วง​เวลา 34 ปี คริสตอฟ ปลองแตง​พิมพ์​หนังสือ​ฉบับ​ต่าง ๆ 1,863 ฉบับ เฉลี่ย​แล้ว​ปี​ละ​เกือบ 55 ฉบับ. แม้​แต่​ใน​ทุก​วัน​นี้​นี่​ก็​ถือ​เป็น​ความ​สำเร็จ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​สำหรับ​โรง​พิมพ์​เพียง​แห่ง​เดียว! แม้​ปลองแตง​เอง​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​ยึด​มั่น​ใน​จุด​ยืน​ทาง​ศาสนา แต่​งาน​ของ​เขา​ไม่​เพียง​ส่ง​เสริม​การ​พิมพ์​และ​ศิลปะ​การ​ใช้​ตัว​พิมพ์​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​ค้นคว้า​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ด้วย. (2 ติโมเธียว 3:16) จริง​ที​เดียว ปลองแตง​และ​ช่าง​พิมพ์​ใน​สมัย​เดียว​กับ​เขา​มี​ส่วน​สำคัญ​ที่​ช่วย​ให้​คน​ทั่ว​ไป​มี​โอกาส​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ใน​ที่​สุด.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 คำ​ว่า “ประเทศ​พื้น​ที่​ต่ำ” หมาย​ถึง​พื้น​ที่​แถบ​ชายฝั่ง​ระหว่าง​เยอรมนี​และ​ฝรั่งเศส ประกอบ​ด้วย​เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, และ​ลักเซมเบิร์ก​ใน​ปัจจุบัน.

^ วรรค 11 คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​หลาย​ภาษา​นี้​เคย​มี​การ​พิมพ์​ออก​ใน​ปี 1517. พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​บรรจุ​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู, กรีก, และ​ลาติน​รวม​ถึง​ภาษา​อาระเมอิก​เป็น​บาง​ส่วน. ดู “คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท เครื่อง​มือ​ช่วย​ใน​การ​แปล​ที่​สำคัญ​ยิ่ง” ใน​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 2004 หน้า 28-31.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 15]

พิพิธภัณฑสถาน​ปลองแตง-มอเรตุส

อาคาร​ที่​อยู่​ใน​เมือง​แอนทเวิร์ป​ซึ่ง​เป็น​ที่​ที่​ปลองแตง​และ​ลูก​หลาน​ของ​เขา​อาศัย​อยู่​และ​ทำ​งาน ถูก​ทำ​เป็น​พิพิธภัณฑสถาน​และ​เปิด​ให้​สาธารณชน​เข้า​ชม​ใน​ปี 1877. โรง​พิมพ์​อื่น ๆ ใน​ยุค​นั้น​ไม่​มี​เหลือ​อยู่​เลย. มี​การ​ตั้ง​แสดง​เครื่อง​พิมพ์​ห้า​เครื่อง​จาก​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 17 และ 18. อีก​สอง​เครื่อง​ซึ่ง​เป็น​เครื่อง​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ใน​โลก​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ไป​เกือบ​ถึง​สมัย​ของ​ปลองแตง. พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​นี้​เป็น​ที่​เก็บ​แม่​แบบ​หล่อ​อักษร​ตัว​พิมพ์​เกือบ 15,000 ชิ้น​สำหรับ​เป็น​แบบ​หล่อ​ตัว​พิมพ์, แม่​พิมพ์​ไม้ 15,000 ชิ้น, และ​แผ่น​แม่​พิมพ์​ทองแดง​ซึ่ง​มี​ตัว​อักษร​หรือ​ภาพ 3,000 แผ่น. ห้อง​สมุด​ของ​พิพิธภัณฑสถาน​มี​ฉบับ​สำเนา​พระ​คัมภีร์ 638 ชิ้น​ซึ่ง​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 9 จน​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 16 รวม​ทั้ง​หนังสือ 154 เล่ม​ที่​พิมพ์​ก่อน​ปี 1501. ใน​จำนวน​นี้​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​กูเทนแบร์ก​ฉบับ​ดั้งเดิม​ที่​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ตั้ง​แต่​ก่อน​ปี 1461 รวม​ถึง​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​ปลองแตง​หนึ่ง​ชุด.

[ภาพ​หน้า 15]

อารยาส มอนตาโน

[ภาพ​หน้า 16]

แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​มี​ข้อ​ความ​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ฉบับ​ดั้งเดิม, ฉบับ​ลาติน “วัลเกต,” และ​ฉบับ​กรีก “เซปตัวจินต์,” รวม​ถึง​ฉบับ “เพชิตตา” ภาษา​ซีเรีย​โบราณ​และ​ทาร์กุม​ภาษา​อาระเมอิก​พร้อม​ด้วย​คำ​แปล​เป็น​ภาษา​ลาติน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

By courtesy of Museum Plantin-Moretus/Stedelijk Prentenkabinet Antwerpen

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

Both images: By courtesy of Museum Plantin-Moretus/Stedelijk Prentenkabinet Antwerpen