ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วนด้วย “ใจกล้า”

ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วนด้วย “ใจกล้า”

“ข้าพเจ้า​จำ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ยิ่ง​กว่า​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์”

ให้​คำ​พยาน​อย่าง​ถี่ถ้วน​ด้วย “ใจ​กล้า”

ฝูง​ชน​ที่​เดือดดาล​กำลัง​จะ​ตี​ผู้​รับใช้​ที่​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​คน​หนึ่ง​ให้​ถึง​ตาย​อยู่​แล้ว. แต่​ทันใด​นั้น ทหาร​โรมัน​ก็​มา​คว้า​ตัว​ชาย​ผู้​นั้น​ไป​จาก​พวก​ผู้​ประทุษร้าย​แล้ว​คุม​ตัว​เขา​ไว้. นี่​เป็น​การ​เริ่ม​ต้น​ของ​เหตุ​การณ์​มาก​มาย​ที่​เกิด​ขึ้น​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ตลอด​เวลา​ประมาณ​ห้า​ปี​นับ​จาก​นั้น. ผล​คือ นาย​ทหาร​ชั้น​ผู้​ใหญ่​หลาย​คน​ได้​ยิน​ได้​ฟัง​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู​คริสต์.

ผู้​ที่​ถูก​คุม​ตัว​อยู่​นี้​คือ​อัครสาวก​เปาโล. ประมาณ​ปี​สากล​ศักราช 34 พระ​เยซู​ทรง​เผย​ให้​ทราบ​ว่า​เปาโล (เซาโล) จะ​ประกาศ​พระ​นาม​ของ​พระองค์​ต่อ​หน้า “กษัตริย์.” (กิจการ 9:15) เมื่อ​ถึง​ปี​สากล​ศักราช 56 สิ่ง​นี้​ยัง​ไม่​เกิด​ขึ้น. แต่​แล้ว​ขณะ​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ใกล้​จะ​เสร็จ​สิ้น​การ​เดิน​ทาง​เผยแพร่​ใน​ต่าง​แดน​รอบ​ที่​สาม สถานการณ์​กำลัง​เปลี่ยน​ไป.

ถูก​รุม​ทำ​ร้าย​แต่​ไม่​ย่อท้อ

เปาโล​กำลัง​จะ​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม และ “โดย​พระ​วิญญาณ” คริสเตียน​บาง​คน​ได้​เตือน​ท่าน​ว่า​การ​ข่มเหง​ที่​หนัก​หน่วง​กำลัง​รอ​ท่าน​อยู่​ใน​กรุง​นั้น. เปาโล​พูด​อย่าง​กล้า​หาญ​ว่า “ข้าพเจ้า​เต็ม​ใจ​พร้อม​ที่​จะ​ไป​ให้​เขา​ผูก​มัด​ไว้​อย่าง​เดียว​ก็​หา​มิ​ได้, แต่​เต็ม​ใจ​พร้อม​จะ​ตาย​ที่​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​ด้วย​เพราะ​เห็น​แก่​พระ​นาม​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า.” (กิจการ 21:4-14) ทันที​ที่​เปาโล​ไป​ยัง​พระ​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเลม พวก​ยิว​จาก​เอเชีย​ซึ่ง​เคย​เห็น​งาน​เผยแพร่​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ที่​นั่น​มา​แล้ว​ก็​ปลุกระดม​ฝูง​ชน​เพื่อ​จะ​ฆ่า​ท่าน​เสีย. ทหาร​โรมัน​รีบ​มา​ช่วย​ท่าน​ไว้. (กิจการ 21:27-32) การ​ช่วย​ชีวิต​ครั้ง​นี้​ทำ​ให้​เปาโล​มี​โอกาส​พิเศษ​ที่​จะ​ประกาศ​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระ​คริสต์​ต่อ​หน้า​ผู้​ฟัง​ที่​เป็น​ปฏิปักษ์​และ​ผู้​มี​ตำแหน่ง​สูง.

ประกาศ​กับ​ผู้​ฟัง​ที่​เข้า​ถึง​ได้​ยาก

เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย​เปาโล​ถูก​ลาก​ตัว​ขึ้น​ไป​อยู่​บน​บันได​ของ​ป้อม​ปราการ​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า หอคอย​อันโทเนีย. * จาก​บันได​นั้น อัครสาวก​เปาโล​ได้​ให้​คำ​พยาน​ที่​มี​พลัง​แก่​ฝูง​ชน​ที่​คลั่ง​ศาสนา. (กิจการ 21:33–22:21) แต่​ทันที​ที่​ท่าน​เอ่ย​ถึง​งาน​มอบหมาย​ของ​ท่าน​ที่​ให้​ประกาศ​แก่​คน​ต่าง​ชาติ ก็​เกิด​ความ​โกลาหล​วุ่นวาย​ขึ้น​อีก. นาย​พัน​ลุเซีย​ผู้​บัญชา​การ​ทหาร​สั่ง​ให้​พา​เปาโล​ไป​สอบสวน​ด้วย​การ​เฆี่ยน​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​พวก​ยิว​กล่าวหา​ท่าน​ด้วย​เหตุ​อัน​ใด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​เฆี่ยน​ถูก​ระงับ​เมื่อ​เปาโล​บอก​ให้​รู้​ว่า​ท่าน​เป็น​พลเมือง​โรมัน. วัน​รุ่ง​ขึ้น ลุเซีย​นำ​ตัว​เปาโล​ไป​ยัง​สภา​ซันเฮดริน​เพื่อ​หา​สาเหตุ​ที่​ชาว​ยิว​กล่าวหา​ท่าน.—กิจการ 22:22-30.

เมื่อ​ยืน​อยู่​ต่อ​หน้า​ศาล​สูง เปาโล​มี​โอกาส​ที่​ดี​เยี่ยม​อีก​ครั้ง⁠หนึ่ง​ที่​จะ​ให้​คำ​พยาน​แก่​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ชาว​ยิว. ผู้​เผยแพร่​ที่​ไม่​หวั่น​กลัว​ผู้​นี้​ประกาศ​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน​ใน​เรื่อง​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย. (กิจการ 23:1-8) ความ​เกลียด​ชัง⁠อย่าง​อา⁠ฆาต​มาด​ร้าย​ของ​พวก​ยิว​ยัง​ไม่​เบา​บาง​ลง และ​เปาโล​ถูก​นำ​ตัว​เข้า​ไป​ใน​ค่าย​ทหาร. ใน​คืน​วัน​นั้น ท่าน​ได้​คำ​รับรอง​ที่​ให้​กำลังใจ​จาก​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ว่า “เจ้า​จง​มี​ใจ​กล้า​เถิด, เพราะ​ว่า​เจ้า​ได้​เป็น​พยาน​ฝ่าย​เรา​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​ฉัน​ใด, เจ้า​จะ​ต้อง​เป็น​พยาน​ใน​กรุง​โรม​ด้วย​ฉัน​นั้น.”—กิจการ 23:9-11.

แผนการ​สังหาร​เปาโล​ถูก​ขัด​ขวาง​เมื่อ​อัครสาวก​ผู้​นี้​ถูก​ส่ง​ตัว​อย่าง​เร่ง​รีบ​เป็น​การ​ลับ​ไป​ยัง​ซีซาเรีย (กายซาไรอา) เมือง​ศูนย์กลาง​การ​บริหาร​งาน​ของ​โรมัน​ใน​แคว้น​ยูเดีย. (กิจการ 23:12-24) ที่​ซีซาเรีย​นี้ เปาโล​มี​โอกาส​ที่​ดี​เยี่ยม​อีก​หลาย​ครั้ง​และ​ท่าน​ได้​ประกาศ​กับ “กษัตริย์.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตอน​แรก​เปาโล​ชี้​ให้​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​เฟลิกซ์​เห็น​ว่า ไม่​มี​หลักฐาน​สนับสนุน​ข้อ​กล่าวหา​ซึ่ง​พวก​ยิว​ฟ้อง​ท่าน. ต่อ​มา เปาโล​ให้​คำ​พยาน​แก่​เฟลิกซ์​กับ​ดรูซีลา​ภรรยา​ของ​เขา​ถึง​เรื่อง​พระ​เยซู, ความ​อด​กลั้น​ใจ, ความ​ชอบธรรม, และ​การ​พิพากษา​ที่​จะ​มา​ถึง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เปาโล​ถูก​คุม​ขัง​อยู่​ประมาณ​สอง​ปี​เพราะ​เฟลิกซ์​หวัง​จะ​ได้​สินบน​จาก​เปาโล. แต่​เขา​ก็​ไม่​เคย​ได้​รับ​อย่าง​ที่​หวัง​เลย.—กิจการ 23:33–24:27.

เมื่อ​เฟศโต​มา​รับ​ตำแหน่ง​แทน​เฟลิกซ์ ชาว​ยิว​ก็​พยายาม​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ที่​จะ​ให้​เปาโล​ถูก​กล่าว​โทษ​และ​ถูก​ประหาร. มี​การ​พิจารณา​คดี​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ที่​ซีซาเรีย และ​เพื่อ​คดี​ของ​ท่าน​จะ​ไม่​ต้อง​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม เปาโล​จึง​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​ก็​กำลัง​ยืน​อยู่​ต่อ​หน้า​บัลลังก์​ของ​กายะซา​อยู่​แล้ว . . . ข้าพเจ้า​ขอ​อุทธรณ์​ถึง​กายะซา.” (กิจการ 25:1-11, 20, 21) ไม่​กี่​วัน​ต่อ​มา หลัง​จาก​อัครสาวก​เปาโล​ได้​ให้​การ​ใน​คดี​ของ​ท่าน​ต่อ​หน้า​กษัตริย์​เฮโรด​อะกริปปา​ที่​สอง กษัตริย์​ก็​ตรัส​ว่า “ไม่​ช้า​เจ้า​จะ​โน้ม​น้าว​ใจ​เรา​ให้​เป็น​คริสเตียน.” (กิจการ 26:1-28, ล.ม.) ประมาณ​ปี​สากล​ศักราช 58 เปาโล​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​กรุง​โรม. ขณะ​อยู่​ที่​นั่น​ฐานะ​นัก​โทษ อัครสาวก​เปาโล​ผู้​รู้​จัก​ปรับ​เปลี่ยน​ยัง​คง​หา​วิธี​ประกาศ​เกี่ยว​กับ​พระ​คริสต์​ได้​ต่อ​ไป​อีก​สอง​ปี. (กิจการ 28:16-31) ดู​เหมือน​ว่า​ใน​ที่​สุด​เปาโล​ก็​ได้​ไป​ยืน​ต่อ​หน้า​จักรพรรดิ​เนโร ท่าน​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ว่า​ไม่​มี​ความ​ผิด และ​ใน​ที่​สุด​ก็​มี​อิสระ​และ​สามารถ​กลับ​มา​ทำ​งาน​มิชชันนารี​ได้​อีก. ไม่​มี​บันทึก​ที่​แสดง​ว่า​อัครสาวก​คน​อื่น​ใด​มี​โอกาส​บอก​ข่าว​ดี​แก่​บุคคล​สำคัญ ๆ เหล่า​นั้น.

ดัง​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ใน​ตอน​ต้น อัครสาวก​เปาโล​ดำเนิน​ชีวิต​ประสาน​กับ​หลักการ​สำคัญ​ซึ่ง​เพื่อน​คริสเตียน​ของ​ท่าน​ได้​เคย​พูด​ไว้​ต่อ​หน้า​ศาล​ของ​ชาว​ยิว ที่​ว่า “ข้าพเจ้า​จำ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ยิ่ง​กว่า​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์.” (กิจการ 5:29) ตัว​อย่าง​ที่​ท่าน​วาง​ไว้​ให้​เรา​นั้น​ยอด​เยี่ยม​จริง ๆ! ถึง​แม้​มนุษย์​พยายาม​อย่าง​ไม่​ลด​ละ​ที่​จะ​หยุด​ยั้ง​ท่าน แต่​อัครสาวก​เปาโล​เชื่อ​ฟัง​อย่าง​เต็ม​ที่​เมื่อ​ได้​รับ​พระ​บัญชา​ให้​ประกาศ​อย่าง​ถี่ถ้วน. เพราะ​เปาโล​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​อย่าง​ไม่​หวั่นไหว ท่าน​จึง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​งาน​มอบหมาย​ของ​ท่าน​ฐานะ ‘ภาชนะ​ที่​ได้​เลือก​สรร​ไว้’ เพื่อ​ประกาศ​พระ​นาม​ของ​พระ​เยซู​แก่ “คน​ต่าง​ชาติ, กษัตริย์​และ​พวก​ยิศราเอล.”—กิจการ 9:15.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 โปรด​ดู​ปฏิทิน 2006 ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา เดือน​พฤศจิกายน/ธันวาคม.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 9]

เปาโล​สนใจ​เพียง​การ​แก้​คดี​ให้​ตน​เอง​เท่า​นั้น​ไหม?

นัก​เขียน​ชื่อ​เบน วิทเทอริงตัน ที่ 3 เขียน​แสดง​ความ​คิด​เห็น​เกี่ยว​กับ​คำ​ถาม​นี้​ไว้​ว่า “จาก​มุม​มอง​ของ​เปาโล สิ่ง​สำคัญ​ไม่​ใช่​การ​แก้​คดี​ให้​ตน​เอง แต่​คือ​การ​ที่​ท่าน​ได้​ให้​คำ​พยาน​เกี่ยว​กับ​กิตติคุณ​แก่​พวก​เจ้าหน้าที่ ทั้ง​ชาว​ยิว​และ​ชาว​ต่าง​ชาติ. . . . แท้​จริง​แล้ว คือ​กิตติคุณ​ต่าง​หาก​ที่​ถูก​พิจารณา​คดี.”