จุดเด่นจากพระธรรมยะซายา—ตอนแรก
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมยะซายา—ตอนแรก
“เราจะใช้ผู้ใดไป, และผู้ใดจะไปแทนเรา”? เพื่อตอบรับคำเชิญนี้ของพระยะโฮวาพระเจ้า ยะซายาบุตรอาโมสตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่; ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.” (ยะซายา 1:1; 6:8) ครั้นแล้ว ท่านจึงรับเอาหน้าที่ผู้พยากรณ์. งานของยะซายาฐานะผู้พยากรณ์มีบันทึกไว้ในพระธรรมที่ใช้ชื่อของท่าน.
พระธรรมยะซายาซึ่งเขียนโดยตัวผู้พยากรณ์เอง ครอบคลุมระยะเวลา 46 ปี นับตั้งแต่ประมาณปี 778 ก่อนสากลศักราชจนถึงช่วงใดช่วงหนึ่งหลังปี 732 ก่อน ส.ศ. แม้พระธรรมนี้บรรจุคำแถลงต่อยูดาห์, อิสราเอล, และชาติที่อยู่ล้อมรอบ แต่สาระสำคัญไม่ใช่เรื่องการพิพากษา แต่เป็นเรื่อง ‘ความรอดจากพระยะโฮวาพระเจ้า.’ (ยะซายา 25:9, ล.ม.) ที่จริง ชื่อยะซายานั่นเองที่มีความหมายว่า “ความรอดแห่งพระยะโฮวา.” บทความนี้จะพิจารณาจุดเด่นจากยะซายา 1:1–35:10.
“คนที่เหลืออยู่จะกลับมา”
ข่าวสารแห่งคำพยากรณ์ที่บันทึกในห้าบทแรกของพระธรรมยะซายาถูกส่งมาถึงยะซายาก่อนหรือหลังที่ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พยากรณ์นั้น คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกไว้. (ยะซายา 6:6-9) แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ยูดาห์และเยรูซาเลมป่วยฝ่ายวิญญาณ “ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปตลอดกะทั่งศีรษะ.” (ยะซายา 1:6) การไหว้รูปเคารพแพร่หลายไปทั่ว, ผู้นำทุจริต, พวกผู้หญิงกลายเป็นคนหยิ่งยโส. ประชาชนไม่รับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้ตามที่พระองค์ทรงยอมรับ. ยะซายาได้รับมอบหมายให้ไปหาและพูด ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ กับคนที่ไม่ยอมเข้าใจและไม่ต้องการความรู้ใด ๆ.
ยูดาห์ถูกคุกคามโดยการบุกรุกของกองกำลังผสมอิสราเอล และซีเรีย. โดยใช้ยะซายาและบุตรของท่าน “เป็นเครื่องหมายและหมายสำคัญ” พระยะโฮวาทรงรับรองกับยูดาห์ว่าพันธมิตรซีเรียและอิสราเอลจะไม่ประสบความสำเร็จ. (ยะซายา 8:18) แต่สันติสุขอันไม่รู้สิ้นสุดจะเกิดขึ้นได้โดยทางการปกครองของ “องค์สันติราช.” (ยะซายา 9:6, 7) นอกจากนั้น พระยะโฮวาจะทรงคิดบัญชีกับอัสซีเรีย ชาติที่พระองค์ใช้เป็น “ไม้เรียวสำหรับสำแดงความพิโรธ [ของพระองค์].” ยูดาห์จะตกเป็นเชลยในที่สุด แต่ “คนที่เหลืออยู่จะกลับมา.” (ยะซายา 10:5, 21, ฉบับแปลใหม่, 22) ความยุติธรรมแท้จะกลายเป็นจริงภายใต้การปกครองของ “กิ่ง” โดยนัย “ที่แตกออกจากต้นแห่งยิซัย.”—ยะซายา 11:1.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:8, 9—ลูกหญิงแห่งซีโอน “ถูกละไว้เหมือนอย่างห้างสวนในสวนองุ่น, และเหมือนกับกะท่อมในไร่แตงกวา” อย่างไร? นี่หมายถึงช่วงที่อัสซีเรียบุกรุก กรุงเยรูซาเลมจะดูเหมือนไม่มีทางป้องกันตัวเองได้เลย เปรียบเหมือนห้างสวนในสวนองุ่นหรือกระท่อมที่จวนจะพังในไร่แตงกวา. แต่พระยะโฮวาทรงช่วยกรุงนี้ไว้และทำให้กรุงนี้ไม่กลายเป็นเหมือนโซโดมและโกโมร์ราห์.
1:18 (ล.ม.)—ถ้อยคำที่ว่า “มาเถิด เจ้าทั้งหลาย และให้เราจัดเรื่องราวระหว่างเรากับเจ้าให้เรียบร้อย” หมายความเช่นไร? นี่ไม่ใช่คำเชิญให้มาเจรจาตกลงกันในแบบที่ต่างฝ่ายต่างยอม. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ข้อนี้พาดพิงถึงการจัดการพิจารณาคดีที่พระยะโฮวาผู้พิพากษาองค์ชอบธรรมเปิดโอกาสให้ชาติอิสราเอลเปลี่ยนแปลงและชำระตัวให้สะอาด.
6:8ก—สรรพนาม “เรา” ที่ใช้ในที่นี้หมายถึงใคร? “เรา” คำแรกหมายถึงพระยะโฮวาพระเจ้า. ส่วน “เรา” คำที่สองเป็นสรรพนามพหูพจน์ที่บ่งชี้ว่ามีอีกบุคคลหนึ่งอยู่กับพระยะโฮวา. แน่นอน บุคคลดังกล่าวก็คือ “พระบุตรองค์เดียว” ของพระองค์.—โยฮัน 1:14; 3:16.
6:11—ยะซายาหมายความเช่นไรเมื่อท่านถามว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, จะเป็นไปอย่างนี้นานสักเท่าใด?” ยะซายาไม่ได้ถามว่าท่านจะต้องประกาศข่าวสารของพระยะโฮวาแก่ผู้คนที่ไม่ตอบรับไปอีกนานเท่าใด. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านปรารถนาที่จะทราบว่าการป่วยฝ่ายวิญญาณของประชาชนซึ่งเป็นผลให้พระนามของพระเจ้าเสื่อมเสียจะยืดเยื้อไปนานเท่าใด.
7:3, 4—เหตุใดพระยะโฮวาจึงช่วยกษัตริย์อาฮาศผู้ชั่วร้ายให้รอด? กษัตริย์ซีเรียและอิสราเอลวางแผนโค่นราชบัลลังก์ของกษัตริย์อาฮาศแห่งยูดาห์และแต่งตั้งผู้ปกครองที่เป็นหุ่นเชิดขึ้นแทนท่าน ซึ่งก็คือบุตรของตาบะเอลชายที่ไม่ได้เป็นเชื้อสายของดาวิด. แผนการของซาตานนี้คงจะมีผลทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาแห่งราชอาณาจักรที่ทำกับดาวิดหยุดชะงัก. พระยะโฮวาทรงช่วยอาฮาศก็เพื่อจะปกป้องเชื้อสายซึ่ง “องค์สันติราช” ที่สัญญาไว้จะมา.—ยะซายา 9:6.
7:8—โดยวิธีใดที่เอฟรายิม “แตกบรรลัย” ภายใน 65 ปี? การที่ประชาชนจากอาณาจักรสิบตระกูลถูกเนรเทศและการที่ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในดินแดนนั้นเริ่มต้น “ในรัชกาลของเพคากษัตริย์ยิศราเอล” ไม่นานหลังจากที่ยะซายากล่าวคำพยากรณ์ข้อนี้. (2 กษัตริย์ 15:29) ช่วงการเนรเทศนั้นยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงสมัยของกษัตริย์เอซัรฮาโดรแห่งอัสซีเรีย ราชบุตรและผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากซันเฮริบ. (2 กษัตริย์ 17:6; เอษรา 4:1, 2; ยะซายา 37:37, 38) การที่อัสซีเรียอพยพผู้คนเข้ามาและออกไปจากซะมาเรียมีระยะเวลาใกล้เคียงกับช่วงเวลา 65 ปีที่กล่าวถึงในยะซายา 7:8.
11:1, 10—พระเยซูคริสต์เป็นทั้ง “กิ่งแตกออกจากต้นแห่งยิซัย” และเป็น “รากของยิซัย” ได้อย่างไร? (โรม 15:12, ล.ม.) พระเยซูเป็น “กิ่งแตกออกจากต้นแห่งยิซัย” ในแง่ที่ว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากยิซัย. พระองค์เป็นลูกหลานของยิซัยโดยผ่านทางดาวิดบุตรชายของยิซัย. (มัดธาย 1:1-6; ลูกา 3:23-32) อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ได้รับอำนาจฐานะกษัตริย์ สิ่งนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับบรรพบุรุษของพระองค์เปลี่ยนไป. เนื่องจากอำนาจที่พระองค์ได้รับในการช่วยให้มนุษยชาติที่เชื่อฟังได้รับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลก พระเยซูจึงกลายเป็น “พระบิดาองค์ถาวร” ของพวกเขา. (ยะซายา 9:6) ฉะนั้น พระองค์จึงเป็น “ราก” ของบรรพบุรุษของพระองค์ ซึ่งรวมถึงยิซัยด้วย.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:3. การปฏิเสธที่จะดำเนินชีวิตตามที่พระผู้สร้างทรงเรียกร้องจากเราแสดงถึงความโฉดเขลายิ่งกว่าโคหรือลา. ในอีกด้านหนึ่ง การเสริมสร้างความหยั่งรู้ค่าต่อทุกสิ่งที่พระ ยะโฮวาทรงทำเพื่อเราจะป้องกันเราไว้จากการประพฤติอย่างที่ขาดความเข้าใจและการละทิ้งพระองค์.
1:11-13. พิธีกรรมทางศาสนาที่หน้าซื่อใจคดและการสวดภาวนาตามแบบแผนทำให้พระยะโฮวาทรงเบื่อหน่าย. การประพฤติและคำอธิษฐานของเราควรเกิดจากแรงกระตุ้นที่ถูกต้องจากหัวใจ.
1:25-27; 2:2; 4:2, 3. การที่ชาวยูดาห์ตกเป็นทาสและความร้างเปล่าของแผ่นดินยูดาห์จะถึงจุดสิ้นสุดเมื่อชาวยิวที่เหลืออยู่ที่กลับใจได้เดินทางกลับสู่กรุงเยรูซาเลมและฟื้นฟูการนมัสการแท้. พระยะโฮวาทรงเมตตาต่อผู้ทำผิดที่กลับใจ.
2:2-4. การที่เราเข้าร่วมงานประกาศราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวกด้วยใจแรงกล้า ช่วยให้ผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติเรียนรู้แนวทางแห่งสันติและสร้างสันติสุขซึ่งกันและกัน.
4:4. พระยะโฮวาจะทรงขจัดหรือชำระล้างมลทินทางศีลธรรมและความผิดฐานทำให้โลหิตตก.
5:11-13. การไม่แสดงความเหนี่ยวรั้งตนและความสมดุลในเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจก็เท่ากับเป็นการไม่ประพฤติตามความรู้.—โรม 13:13.
5:21-23 (ฉบับแปลใหม่). คริสเตียนผู้ปกครองหรือผู้ดูแลต้องหลีกเลี่ยงการเป็นคนที่ “ฉลาดในสายตาของตัว.” นอกจากนั้น พวกเขาต้องรู้จักประมาณตนใน “การดื่มเหล้าองุ่น” และต้องหลีกเลี่ยงการเลือกหน้าลำเอียงด้วย.
11:3ก. ตัวอย่างและคำสอนของพระเยซูแสดงให้เห็นว่าความสุขเกิดจากความยำเกรงพระยะโฮวา.
“พระยะโฮวาจะทรงเมตตาสงสารยาโคบ”
บท 13 ถึง 23 เป็นถ้อยแถลงต่อชาติต่าง ๆ. อย่างไรก็ตาม “พระยะโฮวาจะทรงเมตตาสงสารยาโคบ” โดยให้ชาติอิสราเอลทุกตระกูลกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน. (ยะซายา 14:1) ข่าวสารเรื่องการทำลายล้างยูดาห์ในบท 24 ถึง 27 มีคำสัญญาเรื่องการฟื้นฟูรวมอยู่ด้วย. พระยะโฮวาสำแดงพระพิโรธต่อ ‘นักดื่มแห่งเอฟรายิม [อิสราเอล]’ ซึ่งสร้างสัมพันธไมตรีกับซีเรีย และต่อ “พวกปุโรหิตและผู้ทำนาย” แห่งยูดาห์ที่พยายามเป็นพันธมิตรกับอัสซีเรีย. (ยะซายา 28:1, 7) มีการประกาศวิบัติแก่ “อะรีเอ็ล [เยรูซาเลม]” เนื่องจาก “ลงไปยังประเทศอายฆุบโต” เพื่อการคุ้มครอง. (ยะซายา 29:1; 30:1, 2) กระนั้น มีการบอกล่วงหน้าเรื่องความรอดแก่คนที่แสดงความเชื่อในพระยะโฮวา.
เช่นเดียวกับ “สิงห์หนุ่มคำรามอยู่เหนือเหยื่อของมัน” (ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาจะทรงคุ้มครอง “ภูเขาซีโอน.” (ยะซายา 31:4) นอกจากนี้ยังมีคำสัญญาว่า “นี่แน่ะ, กษัตริย์จะทรงราชย์ตั้งอยู่ในความชอบธรรม.” (ยะซายา 32:1) ขณะที่อัสซีเรียข่มขู่ยูดาห์จนเป็นเหตุให้แม้แต่ “เหล่าราชทูตแห่งสันติสุข” ร้องไห้ด้วยความขมขื่น พระยะโฮวาสัญญาว่าประชาชนของพระองค์จะได้รับการรักษาให้หาย จะ “ได้รับการอภัยโทษ.” (ยะซายา 33:7, 22-24) “พระยะโฮวาทรงกริ้วประชาชาติทั้งมวล, และทรงพระพิโรธเกรี้ยวกราดต่อโยธาทั้งหมดของประชาชาติ.” (ยะซายา 34:2) ยูดาห์จะไม่ถูกทิ้งให้ร้างเปล่า. “ป่ารกและที่แห้งแล้งจะยินดี, และป่าทรายจะชื่นชม.”—ยะซายา 35:1, ฉบับแปลใหม่.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
13:17—พวกมีเดียจะไม่เห็นแก่เงินและแม้แต่ทองพวกเขาก็ไม่พึงใจในแง่ใด? ชาวมีเดียและเปอร์เซียถือว่าเกียรติยศที่ได้จากชัยชนะมีค่ายิ่งกว่าของที่ริบมาได้จากสงคราม. ข้อนี้เป็นจริงในกรณีของไซรัสซึ่งได้มอบภาชนะทองคำและเงินที่นะบูคัดเนซัรเคยยึดมาจากพระวิหารของพระยะโฮวาคืนให้กับเหล่าเชลยที่เดินทางกลับบ้าน.
14:1, 2—ประชาชนของพระยะโฮวากลายเป็น “นาย” และได้ “บังคับบัญชาผู้ที่เคยเป็นนายข่มขี่เขา” อย่างไร? ข้อนี้สำเร็จเป็นจริงเป็นรายบุคคล เช่น ในกรณีดานิเอลซึ่งดำรงตำแหน่งสูงในบาบิโลนภายใต้การปกครองของมีเดียและเปอร์เซีย; เอศเธระซึ่งกลายเป็นราชินีแห่งเปอร์เซีย; และมาระดะคายที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย.
21:1 (ฉบับแปลใหม่)—ดินแดนใดที่ถูกเรียกว่า “ถิ่นทุรกันดารของทะเล”? บาบิโลนถูกเรียกแบบนี้แม้ไม่ได้อยู่ใกล้ทะเลจริง ๆ. นั่นเป็นเพราะน้ำจากแม่น้ำยูเฟรทิสและไทกริสไหลท่วมดินแดนแถบนั้นทุกปีจึงทำให้เกิดที่ลุ่มชื้นแฉะที่เป็นเหมือน “ทะเล.”
24:13-16—ชาวยิวจะกลายเป็นเหมือนอยู่ ‘ในท่ามกลางโลกซึ่งมีคนเหลือน้อย, เช่นเดียวกับภายหลังฤดูมะกอกเทศเมื่อเขาเขย่าต้นเก็บผลแล้ว, หรือภายหลังฤดูองุ่นเมื่อเขาเก็บผลแล้ว’ ในทางใด? เช่นเดียวกับผลไม้ที่หลงเหลือบนต้นหรือบนเถาเล็กน้อยหลังการเก็บเกี่ยว จะมีเพียงไม่กี่คนที่รอดชีวิตในคราวการทำลายล้างกรุงเยรูซาเลมและยูดาห์. ไม่ว่าจะมีการเนรเทศผู้ที่รอดชีวิตไปที่ไหน ไม่ว่าจะ “ทั่วทิศตะวันออก [บาบิโลน]” หรือ “แผ่นดินชายทะเล [เมดิเตอร์เรเนียน]” พวกเขาก็จะถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา.
24:21—“พวกแห่งฟ้าสวรรค์เบื้องสูง” และ “บรรดากษัตริย์ชาวโลก” คือใคร? “พวกแห่งฟ้าสวรรค์เบื้องสูง” อาจหมายถึงเหล่ากายวิญญาณชั่ว. ถ้าเป็นเช่นนั้น “บรรดากษัตริย์ชาวโลก” คือเหล่าผู้ปกครองบนแผ่นดินโลกซึ่งอยู่ใต้อำนาจเหล่าผีปิศาจ.—1 โยฮัน 5:19.
25:7 (ฉบับแปลใหม่)—“ผ้าคลุมหน้าซึ่งคลุมหน้าบรรดาชนชาติทั้งหลายและม่านซึ่งกางอยู่เหนือบรรดาประชาชาติ” คืออะไร? การเปรียบเทียบนี้ทำให้คิดถึงสองศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษยชาติ นั่นคือบาปและความตาย.
บทเรียนสำหรับเรา:
13:20-22; 14:22, 23; 21:1-9. ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาสำเร็จเป็นจริงเสมอดังเช่นกรณีของบาบิโลน.
17:7, 8. แม้ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ไม่ยอมฟัง แต่บางคนก็หมายพึ่งพระยะโฮวา. เช่นเดียวกับบางคนในคริสต์ศาสนจักรที่ตอบรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร.
28:1-6. อิสราเอลจะพ่ายแพ้แก่อัสซีเรีย แต่พระเจ้าจะทรงคอยดูแลคนที่ซื่อสัตย์ให้รอด. การพิพากษาของพระยะโฮวาไม่ทำให้คนชอบธรรมหมดหวัง.
28:23-29. พระยะโฮวาทรงปรับแก้ไขบุคคลที่มีความจริงใจตามความจำเป็นและสภาพการณ์เฉพาะอย่างของเขา.
30:15. เพื่อจะได้ความรอดจากพระยะโฮวาเราต้องแสดงความเชื่อโดยการ “สงบใจ” ซึ่งหมายถึงการงดเว้นจากการแสวงหาความรอดโดยอาศัยแผนการของมนุษย์. นอกจากนั้น โดยการ “สงบเงียบ” หรือไม่กลัว เราแสดงให้เห็นความวางใจในพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาในการปกป้องเรา.
30:20, 21. เรา “เห็น” พระยะโฮวาและ “ได้ยิน” พระสุรเสียงแห่งความรอดจากพระองค์โดยการเอาใจใส่สิ่งที่พระองค์กล่าวโดยทางคัมภีร์ไบเบิล พระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระองค์ และโดยผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.”—มัดธาย 24:45, ล.ม.
คำพยากรณ์ของยะซายาเสริมความเชื่อมั่นของเราในพระคำของพระเจ้า
เรารู้สึกหยั่งรู้บุญคุณสักเพียงไรสำหรับข่าวสารของพระเจ้าในพระธรรมยะซายา! คำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริงไปแล้วเสริมความมั่นใจของเราในเรื่องที่ว่า ‘ถ้อยคำที่ออกไปจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวาจะไม่ได้กลับมายังพระองค์โดยไร้ผล.’—ยะซายา 55:11.
จะว่าอย่างไรกับคำพยากรณ์เกี่ยวกับมาซีฮา เช่น ที่พบในยะซายา 9:7 และ 11:1-5, 10? คำพยากรณ์เหล่านี้เสริมความเชื่อของเราในเรื่องการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อความรอดของเรามิใช่หรือ? นอกจากนั้น พระธรรมนี้ยังบรรจุคำพยากรณ์ซึ่งกำลังสำเร็จเป็นจริงในสมัยของเราหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตในขอบเขตที่ใหญ่กว่า. (ยะซายา 2:2-4; 11:6-9; 25:6-8; 32:1, 2) จริงทีเดียว พระธรรมยะซายาเสริมหลักฐานให้มากขึ้นอีกที่ว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง”!—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
[ภาพหน้า 8]
ยะซายาและบุตรของท่าน “เป็นเครื่องหมายและหมายสำคัญในพวกยิศราเอล”
[ภาพหน้า 8, 9]
กรุงเยรูซาเลมจะกลายเป็น “เหมือนอย่างห้างสวนในสวนองุ่น”
[ภาพหน้า 10]
ผู้คนจากทุกชาติกำลังได้รับการช่วยเหลือให้ ‘เอาดาบตีเป็นผาลไถนา’ อย่างไร?