จงช่วยคนอื่นให้ปฏิบัติตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน
จงช่วยคนอื่นให้ปฏิบัติตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน
“ซึ่งตกที่ดินดีนั้นได้แก่คนเหล่านั้นที่ได้ยินพระวจนะด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา, แล้วก็จดจำไว้, จึงเกิดผลโดยความเพียร.”—ลูกา 8:15.
1, 2. (ก) หนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? ออกแบบมาด้วยจุดประสงค์อะไร? (ข) ในไม่กี่ปีมานี้ พระยะโฮวาได้อวยพรความพยายามของประชาชนของพระองค์อย่างไรในการทำให้คนเป็นสาวก?
“หนังสือนี้ยอดเยี่ยมจริง ๆ. นักศึกษาของดิฉันชอบหนังสือนี้มาก. ดิฉันก็ชอบมาก. หนังสือนี้ทำให้สามารถเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับผู้คนที่หน้าประตูบ้านได้เลย.” พยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาประเภทไพโอเนียร์ กล่าวเช่นนั้นเกี่ยวกับหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? * เมื่อกล่าวถึงหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ผู้ประกาศราชอาณาจักรสูงอายุคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมมีสิทธิพิเศษได้ช่วยหลายคนให้มารู้จักพระยะโฮวาในช่วง 50 ปีที่ขันแข็งในงานรับใช้. แต่ผมต้องบอกว่า หนังสือศึกษาเล่มนี้โดดเด่นจริง ๆ. ภาพพจน์และภาพประกอบที่กระตุ้นใจในหนังสือนี้น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง.” คุณรู้สึกอย่างนั้นต่อหนังสือไบเบิลสอน ไหม? คู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเล่มนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยคุณให้ทำตามพระบัญชาของพระเยซูให้สำเร็จ ที่ว่า “ฉะนั้น จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.”—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
2 ไม่ต้องสงสัย พระทัยของพระยะโฮวายินดีเมื่อพระองค์ทรงเห็นพยานของพระองค์ประมาณ 6.6 ล้านคนเต็มใจเชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูในการทำให้คนเป็นสาวก. (สุภาษิต 27:11) พระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด. ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี 2005 มีการประกาศข่าวดีใน 235 ดินแดน และโดยเฉลี่ยแล้วมีการนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกว่า 6,061,500 ราย. ผลก็คือ ผู้คนจำนวนมากมาย ‘ได้ยินพระคำของพระเจ้า และรับเอาพระคำนั้นไม่ใช่อย่างคำของมนุษย์ แต่อย่างที่พระคำนั้นเป็นจริง คืออย่างพระคำของพระเจ้า.’ (1 เธซะโลนิเก 2:13, ล.ม.) ในช่วงสองปีมานี้ มีสาวกใหม่มากกว่าห้าแสนคนดำเนินชีวิตสอดคล้องกับมาตรฐานของพระยะโฮวาและอุทิศตัวแด่พระเจ้า.
3. จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความนี้เกี่ยวกับการใช้หนังสือไบเบิลสอน?
3 คุณได้พบความยินดีจากการนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับบางคนเมื่อไม่นานมานี้ไหม? ทั่วโลก ยังคงมีคนที่มี “หัวใจที่ประเสริฐและดี” ซึ่งเมื่อได้ยินพระคำของพระเจ้าแล้วก็จะ “จดจำไว้และเกิดผลด้วยความเพียร.” (ลูกา 8:11-15, ล.ม.) ให้เรามาพิจารณาวิธีที่คุณจะสามารถใช้หนังสือไบเบิลสอน ในงานทำให้คนเป็นสาวก. เราจะพิจารณาสามคำถามดังต่อไปนี้: (1) คุณจะเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้โดยวิธีใด? (2) วิธีสอนแบบใดมีประสิทธิภาพที่สุด? (3) คุณจะช่วยใครคนหนึ่งได้โดยวิธีใดให้เขาไม่เพียงแค่เป็นนักศึกษาแต่เป็นครูสอนคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าด้วย?
คุณจะเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้โดยวิธีใด?
4. เหตุใดบางคนอาจลังเลที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และคุณอาจช่วยเขาให้เอาชนะความลังเลใจได้อย่างไร?
4 หากคุณถูกขอให้กระโดดข้ามลำธารกว้าง คุณอาจไม่อยากทำตามข้อเสนอนั้น. แต่หากมีหินวางไว้เป็นระยะเท่า ๆ กันให้เหยียบข้าม คุณคงอยากจะลองข้ามมากกว่า. ในทำนองเดียวกัน คนที่มีธุระยุ่งอาจลังเลที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เจ้าของบ้านอาจคิดว่าต้องใช้เวลาและความพยายามมากเกินไปหากจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. คุณจะช่วยเขาได้โดยวิธีใดให้เอาชนะความลังเลใจ? โดยแบ่งการพิจารณาเพื่อให้ความรู้เป็นช่วงสั้น ๆ หลาย ๆ ครั้ง คุณก็อาจจะใช้หนังสือไบเบิลสอน นำใครคนหนึ่งให้ศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นประจำได้. หากคุณเตรียมอย่างดี การกลับเยี่ยมคนนั้นในแต่ละครั้งก็จะเป็นเช่นเดียวกับก้อนหินที่ใช้เหยียบข้ามลำธาร ซึ่งจะช่วยเขาก้าวไปสู่มิตรภาพกับพระยะโฮวา.
5. เหตุใดคุณจำเป็นต้องอ่านหนังสือไบเบิลสอน?
5 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณจะช่วยคนอื่นให้รับประโยชน์จากหนังสือไบเบิลสอน ได้ คุณจำเป็นต้องคุ้นเคยกับหนังสือนี้อย่างทั่วถึง. คุณได้อ่านหนังสือนี้ตั้งแต่ต้นจนจบแล้วไหม? สามีภรรยาคู่หนึ่งนำหนังสือนี้ติดตัวไปด้วยเมื่อไปเที่ยวในวันหยุดและเริ่มอ่านหนังสือนี้ขณะพักผ่อนที่ชายหาด. เมื่อหญิงท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งขายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวเข้าไปหาพวกเขา เธอสังเกตชื่อหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? เธอบอกคู่สามีภรรยานี้ว่าเพิ่งไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้นเองที่เธอได้อธิษฐานเกี่ยวกับคำถามนี้ ขอพระเจ้าให้ช่วยประทานคำตอบ. สามีภรรยาคู่นี้ให้หนังสือแก่หญิงคนนั้นด้วยความยินดี. คุณได้ “ซื้อโอกาส” เพื่ออ่านหนังสือนี้ไหม อาจเป็นได้ว่าเป็นรอบที่สอง ขณะรอนัดหรือระหว่างช่วงหยุดพักในที่ทำงานหรือที่โรงเรียน? (เอเฟโซ 5:15, 16) หากคุณทำอย่างนั้น คุณก็จะคุ้นเคยกับคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเล่มนี้และอาจทำให้มีโอกาสคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือนี้.
6, 7. คุณอาจใช้หนังสือไบเบิลสอน เพื่อเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้โดยวิธีใด?
6 เมื่อเสนอหนังสือนี้ในการประกาศ จงใช้ภาพ, ข้อพระคัมภีร์, และคำถามในหน้า 4, 5, และ 6 ให้เป็นประโยชน์. ตัวอย่างเช่น คุณอาจเริ่มการสนทนาโดยถามว่า “เมื่อคิดถึงปัญหาทั้งหมดที่มนุษย์เราประสบอยู่ในทุกวันนี้ คุณคิดว่าการชี้นำจากแหล่งใดที่น่าเชื่อถือ?” หลังจากตั้งใจฟังคำตอบของคู่สนทนาแล้ว ให้อ่าน 2 ติโมเธียว 3:16, 17 และอธิบายว่าคัมภีร์ไบเบิลเสนอทางแก้ที่แท้จริงสำหรับปัญหาของมนุษยชาติ. จากนั้น นำความสนใจของเจ้าของบ้านไปที่หน้า 4 และ 5 ของหนังสือและถามว่า “สภาพปัญหาอะไรในภาพสองหน้านี้ที่คุณเป็นห่วงมากที่สุด?” เมื่อเจ้าของบ้านชี้ไปที่ภาพหนึ่ง ขอให้เขาถือหนังสือไว้ขณะที่คุณเปิดพระคัมภีร์ของคุณอ่านข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น. ต่อจากนั้น อ่านที่หน้า 6 และถามเจ้าของบ้านว่า “จากหกคำถามที่อยู่ในส่วนล่างของหน้านี้ คุณอยากได้รับคำตอบข้อไหนมากที่สุด?” เมื่อคนนั้นเลือกข้อหนึ่งแล้ว เปิดหนังสือไปยังบทที่ตอบคำถามดังกล่าว ให้หนังสือแก่เขา และนัดหมายเวลาที่แน่นอนเพื่อกลับมาเยี่ยมเขาอีกครั้งและพิจารณาคำถามนั้น.
7 เค้าโครงการเสนอที่เพิ่งอธิบายไปดังกล่าวคงใช้เวลาประมาณห้านาที. แต่ในเวลาแค่ไม่กี่นาทีนั้น คุณจะรู้ได้ว่าเจ้าของบ้านเป็นห่วงในเรื่องอะไร, ได้อ่านและใช้ข้อพระคัมภีร์สองข้อ, และได้ปูพื้นฐานไว้สำหรับการกลับเยี่ยม. การสนทนาสั้น ๆ ของคุณกับเจ้าของบ้านบางคนอาจเป็นประสบการณ์ที่ให้การหนุนใจและการปลอบประโลมใจที่เขาไม่ได้รับมานานแล้ว. ผลก็คือ แม้แต่คนที่มีธุระยุ่งก็อาจคอยท่าจะใช้เวลาไม่กี่นาทีคุยกับคุณในคราวต่อไป ขณะที่คุณช่วยเขาให้ก้าวสู่ขั้นต่อไปในการเดินบน ‘ทางซึ่งนำไปถึงชีวิต.’ (มัดธาย 7:14) ภายหลัง เมื่อเจ้าของบ้านสนใจมากขึ้น ควรยืดเวลาศึกษาให้ยาวขึ้น. อาจทำอย่างนี้ได้โดยเสนอที่จะนั่งลงและศึกษาด้วยกันกับเขานานกว่าเดิม โดยกำหนดช่วงเวลาไว้ให้แน่นอน.
วิธีสอนที่มีประสิทธิภาพที่สุด
8, 9. (ก) คุณสามารถเตรียมนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้โดยวิธีใดให้ผ่านพ้นอุปสรรคและการทดสอบที่เขาคงจะเผชิญ? (ข) อาจหาวัสดุทนไฟเพื่อใช้สร้างความเชื่อที่เข้มแข็งได้ที่ไหน?
8 เมื่อคนหนึ่งเริ่มปฏิบัติตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน เขาคงจะพบอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าของเขา. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “บรรดาคนที่ตั้งใจประพฤติตามธรรมในพระเยซูคริสต์ก็จะต้องอดทนการข่มเหงด้วยกันทั้งนั้น.” (2 ติโมเธียว 3:12) เปาโลเปรียบการทดลองเหล่านั้นกับไฟซึ่งเผาทำลายวัสดุก่อสร้างคุณภาพต่ำ แต่ไม่ทำให้ทองคำ, เงิน, และอัญมณีเสียหาย. (1 โกรินโธ 3:10-13; 1 เปโตร 1:6, 7) เพื่อช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้พัฒนาคุณลักษณะที่จำเป็นเพื่อจะสามารถยืนหยัดต่อการทดสอบที่เขาอาจเผชิญ คุณจำเป็นต้องช่วยเขาโดยก่อสร้างด้วยวัสดุที่ทนไฟ.
9 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเปรียบ “คำตรัสของพระยะโฮวา” ว่าเหมือนกับ “เงินที่เผาชำระในเบ้าถึงเจ็ดครั้งแล้ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 12:6) ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลมีวัสดุก่อสร้างที่มีค่าทุกอย่างอยู่ในนั้นซึ่งสามารถใช้สร้างความเชื่อที่เข้มแข็ง. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11; สุภาษิต 2:1-6) และหนังสือไบเบิลสอน แสดงให้คุณเห็นวิธีใช้พระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพ.
10. คุณอาจเน้นกับนักศึกษาให้สนใจคัมภีร์ไบเบิลได้โดยวิธีใด?
10 ระหว่างศึกษา เน้นกับนักศึกษาให้สนใจข้อพระคัมภีร์ซึ่งอยู่ในแต่ละบทที่พิจารณา. ตั้งคำถามเพื่อช่วยนักศึกษาให้เข้าใจข้อพระคัมภีร์หลัก ๆ และใช้ข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นเป็นส่วนตัว. ระวังอย่าบอกเขาว่าต้องทำอะไร. แทนที่จะทำอย่างนั้น จงเลียนแบบอย่างของพระเยซู. เมื่อชายคนหนึ่งซึ่งช่ำชองในพระบัญญัติถามพระองค์ พระเยซูทรงตอบว่า “ในพระบัญญัติมีคำเขียนว่าอย่างไร? ท่านได้อ่านเข้าใจอย่างไร?” ชายคนนั้นตอบโดยอ้างข้อพระคัมภีร์ และพระเยซูทรงช่วยเขาให้เข้าใจว่าจะใช้หลักการข้อนั้นกับตัวเขาเองอย่างไร. และโดยยกอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง พระเยซูทรงช่วยชายคนนั้นให้เข้าใจว่าคำสอนนั้นควรมีผลอย่างไรต่อตัวเขาด้วย. (ลูกา 10:25-37) หนังสือไบเบิลสอน มีตัวอย่างเปรียบเทียบที่ง่าย ๆ หลายตัวอย่างซึ่งคุณสามารถใช้เพื่อช่วยนักศึกษาให้ใช้หลักการต่าง ๆ ในพระคัมภีร์กับตัวเขาเอง.
11. คุณควรพิจารณาเนื้อหามากน้อยเท่าใดในการศึกษาแต่ละครั้ง?
11 หนังสือไบเบิลสอน ใช้ภาษาที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาเพื่ออธิบายพระคำของพระเจ้า เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงเสนอแนวคิดที่ซับซ้อนด้วยถ้อยคำง่าย ๆ. (มัดธาย 7:28, 29) จงเลียนแบบอย่างของพระองค์. จงเสนอข้อมูลด้วยวิธีที่ง่าย, ชัดเจน, และถูกต้อง. อย่าพิจารณาเนื้อหาอย่างรีบร้อน. แทนที่จะทำอย่างนั้น จงให้สถานการณ์และความสามารถของนักศึกษาเป็นตัวกำหนดว่าจะพิจารณากี่ข้อในการศึกษาแต่ละครั้ง. พระเยซูทรงทราบข้อจำกัดของเหล่าสาวกและไม่วางภาระหนักไว้กับพวกเขาด้วยข้อมูลที่พวกเขายังไม่จำเป็นต้องทราบในขณะนั้น.—โยฮัน 16:12.
12. ควรใช้ภาคผนวกอย่างไร?
12 หนังสือไบเบิลสอน มีภาคผนวกซึ่งมีทั้งหมด 14 เรื่อง. ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของนักศึกษา คุณซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาควรจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้ภาคผนวกนี้อย่างไรจึง
จะดีที่สุด. ตัวอย่างเช่น หากมีเรื่องใดที่นักศึกษารู้สึกว่าเข้าใจยากหรือมีข้อสงสัยโดยเฉพาะในเรื่องหนึ่งเพราะความเชื่อที่เขาเคยมีมาก่อน อาจเพียงพอถ้าจะชี้ให้เขาดูภาคผนวกส่วนที่ให้คำอธิบายเรื่องนั้นแล้วให้เขาพิจารณาเรื่องนั้นด้วยตัวเขาเอง. ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับนักศึกษาบางคนแล้ว อาจจำเป็นที่คุณจะพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวกับเขา. ภาคผนวกมีเรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่น “มนุษย์มีสิ่งที่มองไม่เห็นและเป็นอมตะอยู่ในตัวจริง ๆ ไหม?” และ “ ‘บาบิโลนใหญ่’ หมายถึงอะไร?” คุณอาจต้องการพิจารณาหัวเรื่องเหล่านี้กับนักศึกษาของคุณ. เนื่องจากไม่มีคำถามเพื่อการพิจารณาสำหรับภาคผนวก คุณจึงจำเป็นต้องคุ้นเคยกับข้อมูลเพื่อจะตั้งคำถามที่มีความหมาย.13. คำอธิษฐานมีบทบาทเช่นไรในการเสริมความเชื่อให้เข้มแข็ง?
13 บทเพลงสรรเสริญ 127:1 กล่าวว่า “ถ้าพระยะโฮวาไม่ทรงสร้างตึกขึ้น, ช่างก่อก็จะเสียแรงเปล่า ๆ ในการก่อสร้างนั้น.” ด้วยเหตุนั้น เมื่อคุณเตรียมตัวเพื่อนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล จงอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. ขอให้คำอธิษฐานในตอนต้นและตอนจบการศึกษาแต่ละครั้งสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นที่คุณมีกับพระยะโฮวา. จงสนับสนุนนักศึกษาให้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาขอสติปัญญาเพื่อจะเข้าใจพระคำของพระองค์และขอความเข้มแข็งเพื่อจะใช้คำแนะนำนั้น. (ยาโกโบ 1:5) หากนักศึกษาของคุณทำอย่างนั้น เขาก็จะได้รับการเสริมกำลังให้อดทนการทดลองและจะเข้มแข็งขึ้นในความเชื่อ.
จงช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้เป็นครูสอน
14. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจำเป็นต้องทำความก้าวหน้าอะไร?
14 เพื่อนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจะปฏิบัติตาม “สิ่งสารพัตร” ที่พระเยซูมีพระบัญชาแก่เหล่าสาวกได้ เขาจำเป็นต้องก้าวหน้าจากการเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้ามาเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้า. (มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 1:6-8) คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยนักศึกษาให้ทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณแบบนี้?
15. เหตุใดคุณควรสนับสนุนนักศึกษาของคุณให้เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน?
15 ตั้งแต่เริ่มศึกษาเป็นครั้งแรก จงเชิญนักศึกษาให้เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของประชาคมกับคุณ. อธิบายกับเขาว่าการประชุมต่าง ๆ เป็นที่ที่คุณได้รับการฝึกให้เป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้า. ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ จงใช้เวลาสองสามนาทีหลังจบการศึกษาแต่ละครั้งอธิบายถึงรายการสอนฝ่ายวิญญาณที่คุณได้รับ ณ การประชุมต่าง ๆ ที่หอประชุมและในการประชุมใหญ่. จงพูดอย่างกระตือรือร้นเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่คุณได้รับจากโอกาสเหล่านั้น. (เฮ็บราย 10:24, 25) เมื่อไรก็ตามที่นักศึกษาเริ่มเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ เป็นประจำ มีความเป็นไปได้มากว่าเขาจะกลายมาเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้า.
16, 17. มีอะไรบ้างที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลสามารถตั้งเป็นเป้าหมายและพยายามบรรลุ?
16 จงช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้ตั้งเป้าที่เขาสามารถบรรลุ. ตัวอย่างเช่น สนับสนุนเขาให้บอกเล่าสิ่งที่ตนเรียนรู้แก่เพื่อนและญาติ. นอกจากนั้น จงแนะให้เขาตั้งเป้าที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม. หากคุณช่วยเขาให้เริ่มและรักษากิจวัตรในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ นิสัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเขาไปอีกนานหลังจากเขารับบัพติสมาแล้ว. นอกจากนั้น นับว่าดีมิใช่หรือที่จะแนะให้นักศึกษาตั้งเป้าไว้ว่าจะจำข้อพระคัมภีร์อย่างน้อยสักข้อหนึ่งที่ตอบคำถาม2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.
สำคัญจากแต่ละบทของหนังสือไบเบิลสอน? โดยทำอย่างนั้น เขาจะกลายเป็น “คนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.”—17 แทนที่จะสอนนักศึกษาให้เพียงแต่ท่องข้อพระคัมภีร์หรือเพียงแต่สรุปใจความของข้อพระคัมภีร์เหล่านั้น จงสนับสนุนเขาให้อธิบายข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องเหมือนที่เขาจะให้คำตอบแก่คนที่เรียกหาเหตุผลสำหรับความเชื่อของเขา. การฝึกซ้อมสั้น ๆ แบบนี้อาจเป็นประโยชน์ โดยที่คุณแสดงบทเป็นญาติหรือเพื่อนร่วมงานที่ขอคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเชื่อ. เมื่อนักศึกษาตอบรับ จงแสดงให้เขาเห็นวิธีที่จะตอบด้วย “ใจสุภาพและด้วยความนับถือ.”—1 เปโตร 3:15, ฉบับแปลใหม่.
18. เมื่อนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมีคุณวุฒิเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา คุณสามารถให้ความช่วยเหลืออะไรแก่เขาต่อไป?
18 ในที่สุด นักศึกษาอาจมีคุณวุฒิที่จะร่วมในงานรับใช้ในเขตประกาศ. จงเน้นว่าการได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในงานนี้เป็นสิทธิพิเศษ. (2 โกรินโธ 4:1, 7) เมื่อผู้ปกครองได้ตัดสินว่านักศึกษาคนหนึ่งมีคุณวุฒิเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมาแล้ว จงช่วยเขาให้เตรียมการเสนอง่าย ๆ และไปด้วยกันกับเขาในงานรับใช้ในเขต. จงทำงานกับเขาต่อ ๆ ไปเป็นประจำในหลาย ๆ ลักษณะของงานเผยแพร่ และสอนเขาเกี่ยวกับวิธีเตรียมตัวเพื่อจะกลับเยี่ยมและวิธีกลับเยี่ยมอย่างมีประสิทธิภาพ. ตัวอย่างที่ดีของคุณเองจะเป็นแรงชักจูงที่ดี.—ลูกา 6:40.
“ช่วยทั้งตัวของท่านและคนทั้งปวงที่ฟังท่านให้รอด”
19, 20. เราควรมีเป้าหมายอะไร และเพราะเหตุใด?
19 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การช่วยใครคนหนึ่งให้รับเอา “ความรู้ถูกต้องเรื่องความจริง” นั้นต้องพยายามอย่างมากทีเดียว. (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) แต่มีความยินดีในชีวิตไม่กี่อย่างที่อาจเทียบกันได้กับความยินดีในการช่วยบางคนให้ปฏิบัติตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน. (1 เธซะโลนิเก 2:19, 20) ที่จริง นับเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เราได้เป็น “ผู้ร่วมทำการด้วยกันกับพระเจ้า” ในงานสอนทั่วโลก!—1 โกรินโธ 3:9.
20 โดยทางพระเยซูคริสต์และเหล่าทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ อีกไม่ช้าพระยะโฮวาจะสำเร็จโทษคนเหล่านั้น “ที่ไม่รู้จักพระเจ้า, และไม่เชื่อฟังกิตติคุณของพระเยซูเจ้าของเรา.” (2 เธซะโลนิเก 1:6-8) ชีวิตของผู้คนแขวนอยู่บนเส้นด้าย. คุณจะตั้งเป้าไว้ว่าจะนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านโดยใช้หนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? อย่างน้อยหนึ่งรายได้ไหม? เมื่อคุณร่วมในงานนี้ คุณมีโอกาส ‘ช่วยทั้งตัวของคุณและคนทั้งปวงที่ฟังคุณให้รอดได้.’ (1 ติโมเธียว 4:16) บัดนี้ ยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะช่วยคนอื่น ๆ ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 1 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• หนังสือไบเบิลสอนออกแบบไว้เพื่อจุดประสงค์อะไร?
• คุณอาจเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยใช้หนังสือไบเบิลสอนได้อย่างไร?
• วิธีสอนแบบไหนที่ได้ผลดีที่สุด?
• คุณอาจช่วยนักศึกษาให้เป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 26]
คุณใช้หนังสือนี้ให้เป็นประโยชน์ไหม?
[ภาพหน้า 27]
การพิจารณาสั้น ๆ สามารถกระตุ้นความกระหายที่จะได้ความรู้ในคัมภีร์ไบเบิล
[ภาพหน้า 29]
คุณอาจทำอะไรได้เพื่อชักนำนักศึกษาให้สนใจคัมภีร์ไบเบิล?
[ภาพหน้า 30]
จงช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้ก้าวหน้า