จุดเด่นจากพระธรรมยะซายา—ตอนที่สอง
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมยะซายา—ตอนที่สอง
ยะซายาทำงานมอบหมายของท่านฐานะผู้พยากรณ์อย่างซื่อสัตย์. คำแถลงที่ท่านได้ประกาศต่ออาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลได้เกิดขึ้นไปแล้ว. ตอนนี้ท่านมีถ้อยคำที่จะกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนาคตของกรุงเยรูซาเลม.
กรุงเยรูซาเลมจะถูกทำลาย และพลเมืองจะถูกจับเป็นเชลย. แต่กรุงนั้นจะไม่ร้างเปล่าตลอดไป. เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง จะมีการฟื้นฟูการนมัสการแท้ขึ้น. นี่เป็นข่าวสารหลักในพระธรรมยะซายา 36:1–66:24. * เราจะได้รับประโยชน์จากการพิจารณาถ้อยคำในบทต่าง ๆ เหล่านี้เนื่องจากคำพยากรณ์หลายข้อในส่วนนี้กำลังสำเร็จเป็นจริงในขั้นที่ใหญ่กว่าหรือขั้นสุดท้ายในสมัยของเราหรือจะสำเร็จเป็นจริงในอนาคตอันใกล้. พระธรรมยะซายาส่วนที่สองนี้ยังมีคำพยากรณ์ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับมาซีฮาด้วย.
“ดูเถิด วันเวลากำลังย่างเข้ามา”
ในปีที่ 14 แห่งรัชกาลของกษัตริย์ฮิศคียา (ปี 732 ก่อนสากลศักราช) อัสซีเรียเข้ารุกรานยูดาห์. พระยะโฮวาสัญญาว่าจะปกป้องกรุงเยรูซาเลม. การขู่คุกคามสิ้นสุดลงเมื่อทูตสวรรค์เพียงองค์เดียวของพระยะโฮวาสังหารทหารอัสซีเรีย 185,000 คน.
ฮิศคียาประชวรหนัก. พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของท่านและรักษาท่านให้หาย รวมทั้งยืดชีวิตของท่านออกไปอีก 15 ปี. เมื่อกษัตริย์บาบิโลนส่งทูตมาแสดงความยินดี ฮิศคียาได้แสดงให้ทูตเหล่านั้นเห็นราชทรัพย์ทั้งหมดอย่างขาดความสุขุม. ยะซายาส่งข่าวสารจากพระยะโฮวาโดยกล่าวว่า “ดูเถิด วันเวลากำลังย่างเข้ามาเมื่อสรรพสิ่งทั้งสิ้นในวังของเจ้าและสิ่งซึ่งบรรพบุรุษของเจ้าได้สะสมจนถึงทุกวันนี้จะต้องถูกเอาไปยังบาบิโลน.” (ยะซายา 39:5, 6, ฉบับแปลใหม่) อีก 100 กว่าปีต่อมา คำพยากรณ์นี้กลายเป็นจริง.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
38:8—คำว่า “ขั้น” ที่เงาได้ถอยหลังไปคืออะไร? เนื่องจากมีการใช้นาฬิกาแดดทั้งในอียิปต์และบาบิโลนในช่วงศตวรรษที่แปดก่อนสากลศักราช ขั้นเหล่านี้อาจพาดพิงถึงขีดของนาฬิกาแดดที่อาฮาศราชบิดาของฮิศคียาได้ทำไว้. หรืออาจหมายถึงขั้นบันไดในพระราชวัง. เสาที่อยู่ข้างบันไดอาจค่อย ๆ ทอดเงาบนบันไดซึ่งอาจใช้นับเวลาได้.
บทเรียนสำหรับเรา:
36:2, 3, 22. แม้จะถูกถอดออกจากการเป็นผู้ดูแลราชสำนัก แต่เซ็บนายังคงทำงานรับใช้กษัตริย์ต่อไปฐานะเลขานุการของคนที่ขึ้นมาแทนท่าน. (ยะซายา 22:15, 19) หากเราถูกย้ายจากตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบในองค์การของพระยะโฮวาด้วยเหตุผลบางประการ ไม่ควรหรอกหรือที่เรา จะทำงานรับใช้พระเจ้าต่อไปไม่ว่าพระองค์จะให้เราทำอะไรก็ตาม?
37:1, 14, 15; 38:1, 2. ในยามที่เราเป็นทุกข์ นับว่าสุขุมที่เราจะหันไปหาพระยะโฮวาโดยการอธิษฐานและวางใจในพระองค์อย่างเต็มที่.
37:15-20; 38:2, 3. เมื่อเยรูซาเลมถูกอัสซีเรียรุกราน สิ่งแรกที่ฮิศคียาเป็นห่วงคือพระนามของพระยะโฮวาจะถูกตำหนิเนื่องจากความพินาศของกรุงนี้. เมื่อได้รู้ว่าโรคที่เป็นอยู่อาจทำให้ถึงตาย ฮิศคียาไม่ได้เป็นห่วงผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น. สิ่งที่ท่านหนักใจอย่างยิ่งก็คือหากท่านสิ้นชีวิตไปโดยไม่มีรัชทายาท นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อราชวงศ์ของดาวิด. นอกจากนั้น ท่านยังเป็นห่วงว่าใครจะเป็นผู้นำหน้าในการต่อสู้กับอัสซีเรีย. เช่นเดียวกับฮิศคียา เราคำนึงถึงว่าการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จมีความสำคัญยิ่งกว่าความรอดของเราเอง.
38:9-20. บทเพลงของฮิศคียาสอนเราว่าไม่มีอะไรในชีวิตที่สำคัญยิ่งกว่าการได้สรรเสริญพระยะโฮวา.
“กรุงจะถูกกู้ขึ้น”
ทันทีหลังจากบอกล่วงหน้าถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเลมและยังผลให้ตกเป็นเชลยในบาบิโลน ยะซายากล่าวคำพยากรณ์เกี่ยวกับการฟื้นฟู. (ยะซายา 40:1, 2) ยะซายา 44:28 กล่าวว่า “กรุงจะถูกกู้ขึ้น.” รูปเคารพพระต่าง ๆ ของบาบิโลนจะถูกเอาออกไปดุจ “สัมภาระ.” (ยะซายา 46:1, ล.ม.) บาบิโลนจะถูกทำลาย. ทั้งหมดนี้สำเร็จเป็นจริงในอีกสองศตวรรษต่อมา.
พระยะโฮวาจะตั้งผู้รับใช้ของพระองค์ให้เป็นเหมือน “ดวงสว่างแก่ประชาชาติ.” (ยะซายา 49:6) “ฟ้าสวรรค์” ของบาบิโลนหรือชนชั้นปกครองจะ “ศูนย์สิ้นไปเหมือนควัน” และเหล่าผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง “จะตายไปเหมือนริ้น” แต่ ‘ธิดาแห่งซีโอนที่เป็นเชลยจะแก้พันธนาการออกจากคอ.’ (ยะซายา 51:6, ฉบับแปลใหม่; 52:2) สำหรับคนที่มาหาพระเจ้าและฟังคำตรัสของพระองค์ พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะทำสันถวไมตรีกับเจ้าให้คงอยู่เป็นนิจ, คือความโปรดปรานที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับดาวิดแล้ว.” (ยะซายา 55:3) การดำเนินชีวิตสอดคล้องกับข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของพระเจ้าช่วยให้พบ “ความพึงพอใจในพระยะโฮวา.” (ยะซายา 58:14) ในอีกด้านหนึ่ง การกระทำผิดของประชาชน ‘เป็นเครื่องกีดกั้นระหว่างพวกเขากับพระเจ้าของพวกเขา.’—ยะซายา 59:2.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
40:27, 28 (ฉบับแปลใหม่)—เหตุใดชาวอิสราเอลกล่าวว่า “ทางของข้าพเจ้าปิดบังไว้จากพระเจ้าและความยุติธรรมอันควรตกแก่ข้าพเจ้านั้นก็ผ่านพระเจ้าของข้าพเจ้าไปเสีย”? ชาวยิวบางคนในบาบิโลนอาจรู้สึกว่าพระยะโฮวาทรงมองไม่เห็นความอยุติธรรมที่พวกเขาประสบอยู่. พวกเขาได้รับการเตือนใจว่าบาบิโลนไม่มีทางหนีพ้นพระผู้สร้างแผ่นดินโลกผู้ไม่ทรงอิดโรยและอ่อนเปลี้ยไปได้.
43:18-21—เหตุใดจึงมีการบอกผู้ถูกเนรเทศที่กลับคืนสู่บ้านเกิดว่า “อย่าไปตรึกตรองถึงเรื่องเก่าแก่”? นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาควรจะลืมราชกิจของพระยะโฮวาเกี่ยวกับการช่วยให้รอดในอดีต. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระยะโฮวาประสงค์ให้พวกเขาสรรเสริญพระองค์โดยอาศัย “สิ่งใหม่” (ฉบับแปลใหม่) ที่พวกเขาประสบด้วยตัวเอง เช่น การเดินทางกลับสู่กรุงเยรูซาเลมอย่างปลอดภัย ซึ่งบางทีโดยใช้เส้นทางตัดผ่านทะเลทรายที่ตรงกว่า. “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งออกมาจาก “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” จะมีเหตุผลใหม่และเป็นเหตุผลส่วนตัวเช่นเดียวกันที่จะถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา.—วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.
49:6—มาซีฮาเป็น “ดวงสว่างแก่ประชาชาติ” อย่างไร ทั้ง ๆ ที่การรับใช้บนแผ่นดินโลกของพระองค์จำกัดอยู่เฉพาะชาวอิสราเอลเท่านั้น? เรื่องนี้เป็นจริงเนื่องด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู. พระคัมภีร์นำยะซายา 49:6 มาใช้กับเหล่าสาวกของพระองค์. (กิจการ 13:46, 47) ทุกวันนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากชนฝูงใหญ่แห่งผู้นมัสการ รับใช้ฐานะ “ดวงสว่างแก่ประชาชาติ” ให้ความสว่างกับประชาชน “กระทั่งปลายพิภพโลก.”—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
53:10—พระยะโฮวาทรงพอพระทัยที่จะบดขยี้พระบุตรของพระองค์ในแง่ใด? เมื่อเห็นพระบุตรที่รักของพระองค์ต้องทนทุกข์ พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงกรุณาและเห็นอกเห็นใจคงต้องรู้สึกเจ็บปวด. กระนั้น พระองค์ทรงพอพระทัยที่พระเยซูเชื่อฟังอย่างเต็มใจและที่การทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูจะทำให้ทุกสิ่งบรรลุผลสำเร็จ.—สุภาษิต 27:11; ยะซายา 63:9.
53:11 (ฉบับแปลใหม่)—โดยทางความรู้อะไรที่มาซีฮา “จะกระทำให้คนเป็นอันมากนับได้ว่าเป็นคนชอบธรรม”? นี่เป็นความรู้ที่พระเยซูได้รับเมื่อพระองค์ลงมาบนแผ่นดินโลก, เกิดเป็นมนุษย์, และทนทุกข์อย่างไร้ความยุติธรรมจนสิ้นพระชนม์. (เฮ็บราย 4:15) โดยวิธีนี้ พระองค์ได้จัดเตรียมเครื่องบูชาไถ่ซึ่งจำเป็นต่อการช่วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมและชนฝูงใหญ่ให้มีฐานะอันชอบธรรมจำเพาะพระเจ้า.—โรม 5:19; ยาโกโบ 2:23, 25.
56:6—ใครคือ “คนต่างชาติ” และพวกเขา “ถือมั่นตามสันถวไมตรี [“สัญญา,” ล.ม.] ของ [พระยะโฮวา]” ในทางใด? “คนต่างชาติ” หมายถึง “แกะอื่น” ของพระเยซู. (โยฮัน 10:16) พวกเขายึดถือสัญญาใหม่ในแง่ที่ว่าพวกเขาเชื่อฟังกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญานั้น, ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการจัดเตรียมที่ผ่านทางสัญญานั้น, รับอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างเดียวกับที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมรับ, และสนับสนุนผู้ถูกเจิมในงานประกาศราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก.
บทเรียนสำหรับเรา:
40:10-14, 26, 28. พระยะโฮวาทรงเข้มแข็งและมีความอ่อนโยน, ทรงไว้ซึ่งอำนาจทุกประการและสติปัญญาบริบูรณ์, และทรงมีความเข้าใจยิ่งกว่าเรามากนัก.
40:17, 23; 41:29; 44:9; 59:4. พันธมิตรทางการเมืองและรูปเคารพมีค่า “น้อยเสียยิ่งกว่าศูนย์” และ “ไม่เป็นเรื่อง.” การวางใจในสิ่งเหล่านั้นไม่มีคุณค่าอะไรเลย.
42:18, 19; 43:8. การปิดตาต่อพระคำของพระเจ้าที่จารึกไว้และการปิดหูไม่ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ที่ผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ก็จะส่งผลให้กลายเป็นคนตาบอดและหูหนวกฝ่ายวิญญาณ.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
43:25. พระยะโฮวาทรงขจัดการล่วงละเมิดเพื่อเห็นแก่พระองค์เอง. การช่วยให้เราหลุดพ้นจากพันธนาการของบาปกับความตายและได้รับชีวิต เป็นสิ่งสำคัญรองจากการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.
44:8. เรามีพระยะโฮวาผู้ซึ่งมั่นคงและเข้มแข็งดั่งศิลาหนุนหลังเราอยู่. เราไม่ควรกลัวที่จะให้คำพยานเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระองค์!—2 ซามูเอล 22:31, 32.
44:18-20. การไหว้รูปเคารพเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมในหัวใจ. ในหัวใจของเราไม่ควรมีสิ่งใดมาแทนที่พระยะโฮวา.
46:10, 11. ความสามารถที่จะทำให้ ‘โครงการของพระองค์ยั่งยืน’ ซึ่งก็คือการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดแจ้งถึงความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวา.
48:17, 18; 57:19-21. หากเราหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อความรอด, เข้าใกล้พระองค์, และเอาใจใส่พระบัญชาของพระองค์ เราจะมีสันติสุขบริบูรณ์ดังน้ำในแม่น้ำที่ไหลอย่างต่อเนื่อง และการกระทำอันชอบธรรมของเราก็จะมีมากมายดังคลื่นในทะเล. คนที่ไม่ใส่ใจพระคำของพระเจ้าเปรียบเหมือน “ทะเลบ้า.” พวกเขาไม่มีสันติสุข.
52:5, 6. ชาวบาบิโลนลงความเห็นผิด ๆ ว่าพระเจ้าเที่ยงแท้อ่อนแอ. พวกเขาไม่ตระหนักว่า การที่ชาวอิสราเอลตกเป็นทาสนั้นเป็นผลมาจากการที่พระยะโฮวาไม่พอพระทัยประชาชนของพระองค์. เมื่อคนอื่น ๆ ประสบความหายนะ นับว่าสุขุมที่เราจะไม่ด่วนสรุปถึงสาเหตุของปัญหา.
52:7-9; 55:12, 13. เรามีเหตุผลอย่างน้อยสามประการที่จะเข้าร่วมในงานประกาศและงานทำให้คนเป็นสาวกด้วยความยินดี. เท้าของเราดูงดงามสำหรับคนถ่อมใจที่กระหายสิ่งฝ่ายวิญญาณ. เราเห็นพระยะโฮวา ‘กับตาของเราเอง’ หรือมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์. และเรายังได้ประสบความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณอีกด้วย.
52:11, 12. เพื่อจะมีคุณสมบัติสำหรับการถือ “เครื่องภาชนะของพระยะโฮวา”—การจัดเตรียมของพระองค์สำหรับการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์—เราต้องสะอาดทางฝ่ายวิญญาณและศีลธรรม.
58:1-14. การเสแสร้งแสดงความเลื่อมใสและความชอบธรรมเป็นสิ่งไร้ค่า. ผู้นมัสการแท้ควรแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าและความรักฉันพี่น้องอย่างจริงใจ.—โยฮัน 13:35; 2 เปโตร 3:11.
59:15ข-19. พระยะโฮวาทรงเฝ้าสังเกตกิจการของมนุษย์และเข้าแทรกแซงเมื่อถึงเวลาที่พระองค์เห็นสมควร.
เธอ “จะเป็นบุปผชาติมาลางดงาม”
โดยชี้ไปยังการฟื้นฟูการนมัสการแท้ในสมัยโบราณรวมถึงสมัยของเรา ยะซายา 60:1 กล่าวว่า “ลุกขึ้นเถอะ, จงส่องแสง! เพราะว่าแสงสว่างของเจ้ามาแล้ว, และสง่าราศีของพระยะโฮวาได้ลงมาจับอยู่บนเจ้าแล้ว.” ซีโอน “จะเป็นบุปผชาติมาลางดงามในพระหัตถ์ของพระเจ้า.”—ยะซายา 62:3.
ยะซายาอธิษฐานต่อพระยะโฮวาเพื่อคนร่วมชาติซึ่งจะกลับใจระหว่างที่พวกเขาเป็นเชลยในบาบิโลน. (ยะซายา 63:15–64:12) หลังจากเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผู้รับใช้แท้กับผู้รับใช้เท็จ ผู้พยากรณ์ประกาศวิธีที่พระยะโฮวาจะอวยพรคนที่รับใช้พระองค์.—ยะซายา 65:1–66:24.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
61:8, 9—“สันถวไมตรีอันถาวร” คืออะไร และ “เชื้อสาย” (ฉบับแปลใหม่) หมายถึงใคร? นี่เป็นสัญญาใหม่ที่พระยะโฮวาทำกับคริสเตียนผู้ถูกเจิม. “เชื้อสาย” หมายถึง “แกะอื่น” ซึ่งก็คือผู้คนหลายล้านที่ตอบรับข่าวสารของผู้ถูกเจิม.—โยฮัน 10:16.
63:5—ความเกรี้ยวกราดของพระเจ้าร่วมมือกับพระองค์อย่างไร? พระพิโรธของพระเจ้าเป็นอารมณ์ที่มีการควบคุม—เป็นความขุ่นเคืองโดยชอบธรรมของพระองค์. ความเกรี้ยวกราดของพระองค์สนับสนุนและกระตุ้นพระองค์ให้สำเร็จโทษตามการพิพากษาโดยชอบธรรมของพระองค์.
บทเรียนสำหรับเรา:
64:6. มนุษย์ไม่สมบูรณ์ไม่อาจช่วยตนเองให้ได้รับความรอด. ในเรื่องการปลดเปลื้องบาป การกระทำต่าง ๆ ด้วยความชอบธรรมของเขาไม่มีค่าอะไรมากไปกว่าเสื้อผ้าที่เปรอะเปื้อนเท่านั้น.—โรม 3:23, 24.
65:13, 14. พระยะโฮวาอวยพรผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์โดยสนองความจำเป็นทางฝ่ายวิญญาณอย่างอุดม.
66:3-5. พระยะโฮวาทรงเกลียดชังความหน้าซื่อใจคด.
“ท่านทั้งหลาย จงยินดีปรีดา”
คำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟูคงต้องให้การปลอบโยนสักเพียงไรแก่ชาวยิวที่ซื่อสัตย์ที่เป็นเชลยอยู่ในบาบิโลน! พระยะโฮวาตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย จงยินดีปรีดา และจงปีติชื่นชมตลอดไปในสิ่งที่เรากำลังสร้างอยู่นั้น. เพราะนี่แน่ะ เรากำลังสร้างเยรูซาเลมให้เป็นเหตุที่จะมีความชื่นชม และสร้างพลเมืองของกรุงนั้นให้เป็นเหตุที่จะมีความยินดีปรีดา.”—ยะซายา 65:18, ล.ม.
เราก็อยู่ในสมัยที่ความมืดปกคลุมแผ่นดินโลกและประชาชาติถูกความมืดทึบคลุมไว้เช่นกัน. (ยะซายา 60:2) “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” เกิดขึ้นอยู่แล้ว. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น ข่าวสารเรื่องความรอดของพระยะโฮวาที่มีไว้ในพระธรรมยะซายาจึงหนุนใจเรามากจริง ๆ.—เฮ็บราย 4:12.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 สำหรับการพิจารณายะซายา 1:1–35:10 ดู “พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต—จุดเด่นจากพระธรรมยะซายา—ตอนแรก” ในหอสังเกตการณ์ฉบับ 1 ธันวาคม 2006.
[ภาพหน้า 8]
คุณรู้ไหมว่าเหตุผลสำคัญที่ฮิศคียาอธิษฐานขอการคุ้มครองให้พ้นจากพวกอัสซีเรียนั้นคืออะไร?
[ภาพหน้า 11]
“เท้าของผู้เดินบนภูเขามาบอกข่าวดีก็งามจริง ๆ”