ชายและหญิงบทบาทที่มีเกียรติของแต่ละฝ่าย
ชายและหญิงบทบาทที่มีเกียรติของแต่ละฝ่าย
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสร้างอาดามก่อน จากนั้นก็สร้างฮาวา. ก่อนที่พระเจ้าจะสร้างฮาวา อาดามได้ลิ้มรสประสบการณ์ของการมีชีวิตอยู่. ระหว่างช่วงเวลานั้น พระยะโฮวาประทานคำสั่งบางอย่างแก่เขา. (เยเนซิศ 2:15-20) ฐานะผู้แจ้งข่าวของพระเจ้า อาดามต้องถ่ายทอดคำสั่งเหล่านี้แก่ภรรยาของเขา. ฉะนั้น ตามเหตุผลแล้วเขาควรจะนำหน้าในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการ.
การจัดเตรียมที่คล้ายกันนี้มีอยู่ในประชาคมคริสเตียน และเราจะได้รับประโยชน์จากการตรวจสอบเรื่องนี้. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้ผู้หญิง . . . ใช้อำนาจเหนือผู้ชาย, แต่ให้เขานิ่ง ๆ อยู่. ด้วยว่าทรงสร้างอาดามก่อน, แล้วจึงทรงสร้างฮาวา.” (1 ติโมเธียว 2:12, 13) นี่ไม่ได้หมายความว่าห้ามผู้หญิงพูดโดยเด็ดขาดในการประชุมของประชาคมคริสเตียน. เธอต้องนิ่งเงียบในแง่ที่ว่าไม่ควรโต้เถียงกับผู้ชาย. เธอต้องไม่ดูถูกตำแหน่งของผู้ชายที่ได้รับการแต่งตั้งหรือพยายามสอนในประชาคม. ผู้ชายได้รับหน้าที่มอบหมายให้ดูแลและสอนในประชาคม แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้หญิงทำได้ในการประชุมคริสเตียนโดยให้การสนับสนุนในหลาย ๆ ทาง.
เพื่อช่วยให้เข้าใจบทบาทของแต่ละฝ่ายทั้งชายและหญิงในการจัดเตรียมของพระเจ้า อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ด้วยว่าไม่ได้ทรงสร้างผู้ชายมาจากผู้หญิง แต่ได้ทรงสร้างผู้หญิงมาจากผู้ชาย . . . ถึงกระนั้นก็ดีตามกฎขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ชายก็ต้องพึ่งผู้หญิง, และผู้หญิงก็ต้องพึ่งผู้ชาย. ด้วยว่าผู้หญิงได้เกิดมาจากผู้ชายฉันใด, ต่อมาผู้ชายก็เกิดมาจากผู้หญิงฉันนั้น, แต่สิ่งสารพัตรก็ได้กำเนิดมาจากพระเจ้า.”—1 โกรินโธ 11:8-12.
ผู้หญิงมีสิทธิพิเศษอันเยี่ยมยอด
ภายใต้กฎหมายที่พระเจ้าประทานแก่ชาติอิสราเอล ผู้หญิงมีสิทธิพิเศษหลายอย่างและมีอิสระที่จะทำตามความคิดริเริ่มของตนเอง. ตัวอย่างเช่น ในสุภาษิต 31:10-31 กล่าวถึง “สตรีที่เป็นแม่เรือนดี” ที่ซื้อวัสดุชั้นดีมาทำเสื้อผ้าคุณภาพเยี่ยมสำหรับคนในครอบครัว. ลองคิดดูสิ “นางทำเครื่องนุ่งห่มด้วยผ้าป่านขาย”! (ข้อ 13, 21-24) “เปรียบเหมือนเรือกำปั่นพ่อค้า” ผู้หญิงที่ฉลาดเช่นนี้เสาะหาอาหารที่มีคุณภาพดีแม้จะต้องหามาจากที่ไกล ๆ ก็ตาม. (ข้อ 14) “นางพิเคราะห์ดูนาที่ดีและซื้อไว้” และ “นางทำไร่องุ่น.” (ข้อ 16) เนื่องจาก “การค้าขายของนางมีกำไรงาม” งานต่าง ๆ ที่ทำจึงมีแต่ผลกำไร. (ข้อ 18) นอกจากจะ “ดูแลฝ่ายการของครอบครัวเป็นอย่างดี” แล้ว สตรีผู้เกรงกลัวพระยะโฮวาซึ่งขยันขันแข็งได้ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว. (ข้อ 20, 27) ไม่แปลกเลยที่เธอได้รับคำชมเชย!—ข้อ 31.
กฎหมายต่าง ๆ ของพระยะโฮวาที่ประทานผ่านทางโมเซเปิดโอกาสอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้หญิงเติบโตฝ่ายวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น ที่ยะโฮซูอะ 8:35 เราอ่านว่า “มิได้ขาดเหลือสักคำเดียวในสรรพสิ่งซึ่งโมเซได้สั่งไว้แล้ว, ซึ่งยะโฮซูอะมิได้ประกาศต่อหน้าพวกยิศราเอลทั้งปวง ณ ที่ประชุมผู้หญิงและเด็กและแขกเมืองที่อยู่ด้วยกันนั้น.” คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับปุโรหิตเอษราดังนี้: “ครั้น ณ วันต้นเดือนที่เจ็ดเอษรา ผู้ปุโรหิตได้เชิญพระบัญญัตินั้นออกมาต่อหน้าบรรดาพวกประชุมทั้งชายหญิง, และคนทั้งปวงที่ฟังเข้าใจได้. ท่านได้อ่านพระบัญญัติอยู่ที่ถนนตรงหน้าประตูน้ำแต่รุ่งเช้าจนเที่ยง, ต่อหน้าชายหญิงและคนทั้งปวง, ที่ฟังเข้าใจได้; ฝูงคนก็ได้เปิดหูตั้งใจฟังข้อความในบทพระบัญญัตินั้น.” (นะเฮมยา 8:2, 3) พวกผู้หญิงก็ได้รับประโยชน์จากการอ่านพระบัญญัติดังกล่าว. พวกเธอยังได้ร่วมฉลองเทศกาลทางศาสนาด้วย. (พระบัญญัติ 12:12, 18; 16:11, 14) ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้หญิงในสมัยอิสราเอลโบราณสามารถมีสัมพันธภาพเป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและอธิษฐานถึงพระองค์เป็นส่วนตัวได้.—1 ซามูเอล 1:10.
ในสมัยศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ผู้หญิงที่ยำเกรงพระเจ้าได้รับสิทธิพิเศษที่จะรับใช้พระเยซู. (ลูกา 8:1-3) ผู้หญิงคนหนึ่งได้เทน้ำมันลงบนพระเศียรและพระบาทของพระเยซูระหว่างการรับประทานอาหารมื้อเย็นในบ้านเบทานี. (มัดธาย 26:6-13; โยฮัน 12:1-7) มีผู้หญิงบางคนอยู่ในบรรดาผู้ที่พระเยซูทรงปรากฏพระกายให้เห็นหลังจากที่พระองค์คืนพระชนม์. (มัดธาย 28:1-10; โยฮัน 20:1-18) หลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ กลุ่มคนประมาณ 120 คนที่มาชุมนุมกันนั้นมี “พวกผู้หญิงและมาเรียมารดาของพระเยซู” รวมอยู่ด้วย. (กิจการ 1:3-15) ไม่สงสัยเลยว่า ผู้หญิงเหล่านี้หลายคนหรือทั้งหมดได้อยู่ในห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเลมในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 ตอนที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้หลั่งลงมาและทำให้สาวกของพระเยซูพูดภาษาต่าง ๆ ได้อย่างอัศจรรย์.—กิจการ 2:1-12.
ทั้งชายและหญิงอยู่ในบรรดาคนเหล่านั้นที่ประสบกับความสำเร็จเป็นจริงของโยเอล 2:28, 29 ที่อัครสาวกเปโตรยกขึ้นมากล่าวในวันเพนเทคอสต์ว่า “เรา [พระยะโฮวา] จะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราโปรดประทานแก่มนุษย์ทั้งปวง บุตราบุตรีของท่านทั้งหลายจะกล่าวคำพยากรณ์ . . . ในคราวนั้นเราจะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราบนทาสาทาสีของเรา.” (กิจการ 2:13-18) หลังวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 ระยะหนึ่งสตรีคริสเตียนได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณ. พวกเขากล่าวคำพยากรณ์ ซึ่งก็คือความจริงที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ ในภาษาต่างประเทศ.
ในจดหมายถึงคริสเตียนในกรุงโรม อัครสาวกเปาโลกล่าวถึง “ฟอยเบน้องสาวของเรา” ด้วยความอบอุ่น โดยชมเชยนางให้คนเหล่านั้นฟัง. ท่านยังกล่าวถึงตรุฟายนาและตรุโฟซาอีกด้วย โดยเรียกพวกเขาว่า “[“สตรี,” ล.ม.] ผู้กระทำการฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (โรม 16:1, 2, 12) แม้ไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลหรือผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรก แต่พวกเธอและผู้หญิงคนอื่น ๆ ก็ได้ รับพระพรโดยที่พระเจ้าทรงเลือกให้เป็นผู้ร่วมปกครองกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.—โรม 8:16, 17; ฆะลาเตีย 3:28, 29.
สตรีที่เลื่อมใสพระเจ้าในทุกวันนี้ก็นับว่าได้รับสิทธิพิเศษที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ! บทเพลงสรรเสริญ 68:11 กล่าวว่า “พระเจ้าทรงประทานพระวจนะ: สตรีที่ประกาศข่าวประเสริฐนั้นเป็นพวกใหญ่.” สตรีดังกล่าวสมควรได้รับคำชมเชย. ตัวอย่างเช่น ความสามารถของพวกเขาในการสอนพระคัมภีร์ตามบ้านช่วยให้หลายคนรับเอาคำสอนแท้ที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย. สตรีคริสเตียนที่สมรสแล้วซึ่งได้ช่วยลูก ๆ ของตนให้มาเป็นผู้เชื่อถือและสนับสนุนสามีของตนที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างในประชาคมก็สมควรได้รับการยกย่องเหมือนกัน. (สุภาษิต 31:10-12, 28) ผู้หญิงโสดก็อยู่ในฐานะอันมีเกียรติในการจัดเตรียมของพระเจ้าเช่นกัน และชายคริสเตียนก็ได้รับคำเตือนให้ “อ้อนวอน . . . ผู้หญิงสูงอายุเหมือนเป็นมารดา ผู้หญิงอ่อนวัยกว่านั้นเป็นพี่สาวน้องสาวด้วยความบริสุทธิ์ทั้งสิ้น.”—1 ติโมเธียว 5:1, 2, ล.ม.
หน้าที่มอบหมายต่าง ๆ ของผู้ชาย
ชายคริสเตียนมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าและถูกคาดหมายให้ทำหน้าที่ของตน. เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า, พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:3) ผู้ชายก็มีประมุขเช่นกัน คือพระคริสต์. จริงทีเดียว ผู้ชายต้องให้การต่อพระคริสต์และในที่สุดก็ต่อพระเจ้า. และพระเจ้าทรงคาดหมายให้ผู้ชายแสดงความเป็นประมุขโดยอาศัยความรัก. (เอเฟโซ 5:25) พระเจ้าประสงค์เช่นนี้ตั้งแต่สร้างมนุษย์บนแผ่นดินโลก.
คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าพระเจ้ามอบหมายงานแก่ผู้ชายอย่างที่สอดคล้องกับตำแหน่งประมุขของเขา. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาทรงให้ชายที่ชื่อโนฮาสร้างนาวาเพื่อรักษาชีวิตในช่วงน้ำท่วมใหญ่. (เยเนซิศ 6:9–7:24) บุรุษที่ชื่ออับราฮามได้รับคำสัญญาว่าโดยทางพงศ์พันธุ์ของท่าน ทุกครอบครัวและชนชาติบนแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้รับพร. ส่วนหลักของพงศ์พันธุ์นั้นได้แก่พระคริสต์เยซู. (เยเนซิศ 12:3; 22:18; ฆะลาเตีย 3:8-16) พระเจ้าทรงแต่งตั้งชายที่ชื่อโมเซให้นำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์. (เอ็กโซโด 3:9, 10, 12, 18) โดยทางโมเซนี่เองที่พระยะโฮวาทรงประทานประมวลกฎหมายซึ่งรู้จักกันว่าสัญญาแห่งพระบัญญัติ หรือพระบัญญัติของโมเซ. (เอ็กโซโด 24:1-18) ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลล้วนเป็นผู้ชาย.
ฐานะประมุขของประชาคมคริสเตียน พระเยซู “ให้ของประทานในลักษณะมนุษย์” ซึ่งเป็นผู้ชาย. (เอเฟโซ 1:22; 4:7-13, ล.ม.) เมื่อแจกแจงรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ดูแล เปาโลก็พาดพิงถึงผู้ชาย. (1 ติโมเธียว 3:1-7; ติโต 1:5-9) ดังนั้น ผู้ชายจึงรับใช้เป็นผู้ดูแลหรือผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคมของพยานพระยะโฮวา. (ฟิลิปปอย 1:1, 2; 1 ติโมเธียว 3:8-10, 12) เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่รับใช้ฐานะผู้บำรุงเลี้ยงในประชาคมคริสเตียน. (1 เปโตร 5:1-4) อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไปแล้ว ผู้หญิงก็มีสิทธิพิเศษอันดีเยี่ยมที่พระเจ้าประทานให้.
มีความสุขในบทบาทของตน
การทำตามบทบาทที่พระเจ้าประทานให้นำความสุขมาให้ทั้งชายและหญิง. ชีวิตสมรสที่มีความสุขเกิดจากการที่สามีและภรรยาเลียนแบบอย่างของพระคริสต์และประชาคมของประองค์. เปาโลเขียนว่า “สามีจงรักภรรยาของตน, เหมือนอย่างพระคริสต์ได้ทรงรักคริสตจักรด้วย, และได้ทรงประทานพระองค์เองเพื่อคริสตจักรนั้น . . . ท่านทั้งหลายทุกคนจงต่างคนต่างรักภรรยาของตนเหมือนรักตัวเอง.” (เอเฟโซ 5:25-33) ฉะนั้น สามีต้องแสดงความเป็นประมุข ไม่ใช่ในแบบที่เห็นแก่ตัว แต่ด้วยความรัก. ประชาคมของพระคริสต์ไม่ได้ประกอบด้วยมนุษย์สมบูรณ์. กระนั้น พระเยซูทรงรักและเอาพระทัยใส่พวกเขา. ในทำนองเดียวกัน สามีคริสเตียนก็ควรรักและเอาใจใส่ภรรยาของตน.
ภรรยาคริสเตียนควร “ยำเกรงสามีของตน.” (เอเฟโซ 5:33) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอสามารถดูตัวอย่างของประชาคมได้. เอเฟโซ 5:21-24 กล่าวว่า “จงยอมฟังซึ่งกันและกันด้วยเกรงกลัวพระคริสต์. ฝ่ายภรรยา จงยอมฟังสามีของตน, เหมือนยอมฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า, เพราะว่าสามีนั้นเป็นศีรษะของภรรยา, เหมือนพระคริสต์เป็นศีรษะของคริสตจักร, โดยที่พระองค์เป็นผู้ทรงช่วยคริสตจักรคือร่างกายของพระองค์ให้รอด. แต่คริสตจักรยอมฟังพระคริสต์ฉันใด, ภรรยาก็ควรยอมฟังสามีทุกประการฉันนั้น.” แม้ว่าบางครั้งภรรยาอาจพบว่าเป็นเรื่องท้าทายและไม่ง่ายที่จะยอมอ่อนน้อมต่อสามี แต่นี่ “เป็นการสมควรในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (โกโลซาย 3:18, ฉบับแปลใหม่) การยอมอยู่ใต้อำนาจสามีจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเมื่อเธอจำไว้ว่านี่เป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์เจ้าพอพระทัย.
แม้สามีของเธอไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือ แต่ภรรยาคริสเตียนก็ต้องยอมอยู่ใต้ตำแหน่งประมุขของเขา. อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยา จงยอมฟังคำสามีของตน . . . เพื่อว่าถ้าสามีคนใดไม่เชื่อฟังพระคำของพระเจ้า, กิริยาการประพฤติของภรรยาก็จะได้เป็นที่ชักนำเขามานอกจากพระคำของพระเจ้านั้น, คือเมื่อเขาได้เห็นการประพฤติของภรรยาซึ่งปราศจากราคีและมีใจยำเกรงด้วย.” (1 เปโตร 3:1, 2) ซาราห์ ซึ่งนับถืออับราฮามสามีของเธอ ได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้ให้กำเนิดยิศฮาคและกลายเป็นบรรพสตรีของพระเยซูคริสต์. (เฮ็บราย 11:11, 12; 1 เปโตร 3:5, 6) ภรรยาผู้ประพฤติตนเหมือนซาราห์มั่นใจได้ว่าจะได้รับบำเหน็จจากพระเจ้าแน่นอน.
สันติสุขและความปรองดองจะเกิดขึ้นเมื่อชายและหญิงทำตามบทบาทที่พระเจ้าประทานให้. นี่ยังผลให้เกิดความพึงพอใจและความสุขสำหรับทั้งสองฝ่าย. ยิ่งกว่านั้น การทำตามข้อเรียกร้องของพระคัมภีร์ทำให้แต่ละฝ่ายมีศักดิ์ศรีควบคู่ไปกับฐานะตำแหน่งอันเป็นสิทธิพิเศษในการจัดเตรียมของพระเจ้า.
[กรอบหน้า 7]
พวกเขารู้สึกอย่างไรกับบทบาทที่พระเจ้ามอบให้?
ซูซานกล่าวว่า “สามีของดิฉันใช้ตำแหน่งประมุขอย่างที่แสดงถึงความรักและความกรุณา. ปกติแล้ว เราจะพูดคุยกันเมื่อมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ และเมื่อเขาตัดสินใจไปแล้วดิฉันก็รู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์ของพวกเรา. การจัดเตรียมของพระยะโฮวาสำหรับภรรยาคริสเตียนทำให้ดิฉันมีความสุขมากและชีวิตครอบครัวของเราก็เข้มแข็ง. เราใกล้ชิดกันและทำงานด้วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ.”
มินดี สตรีอีกคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า “บทบาทที่พระยะโฮวาทรงมอบให้ผู้รับใช้พระองค์ที่เป็นผู้หญิงทำให้เรามั่นใจว่าพระองค์รักเรา. ดิฉันรู้สึกว่าการให้เกียรติและนับถือสามี รวมทั้งการสนับสนุนหน้าที่ของเขาในประชาคมคือวิธีที่ดิฉันแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาสำหรับการจัดเตรียมนี้.”
[ภาพหน้า 5]
สอดคล้องกับตำแหน่งประมุขของผู้ชาย พระเจ้าทรงให้โนฮา, อับราฮาม, และโมเซทำหน้าที่มอบหมายต่าง ๆ
[ภาพหน้า 7]
“สตรีที่ประกาศข่าวประเสริฐนั้นเป็นพวกใหญ่”