ความสัตย์จริงควรคาดหมายจากผู้อื่นเท่านั้นไหม?
ความสัตย์จริงควรคาดหมายจากผู้อื่นเท่านั้นไหม?
“ฉันเกลียดการโกหก และฉันเกลียดเมื่อมีคนโกหกฉัน!” เด็กสาวอายุ 16 ปี ร้องออกมาอย่างนั้น. พวกเราส่วนใหญ่รู้สึกแบบเดียวกัน. เราชอบที่จะคิดว่าข้อมูลที่เราได้รับนั้นเป็นความจริง—ไม่ว่าจะเป็นคำพูดจากปากหรือที่เขียนเป็นตัวหนังสือ. แต่เราเองพูดความจริงไหมเมื่อเราถ่ายทอดข้อมูลแก่คนอื่น ๆ?
ในการสำรวจครั้งหนึ่งที่ทำในเยอรมนี คนส่วนใหญ่ที่ตอบข้อซักถามรู้สึกว่า “การโกหกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อปกป้องตัวเองหรือปกป้องคนอื่นจากความเสียหายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และถึงกับจำเป็นด้วยซ้ำเพื่อที่มนุษย์เราจะเข้ากันได้กับคนอื่น ๆ.” และนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเขียนไว้ว่า “การพูดแต่ความจริงทุกครั้งเป็นความคิดที่เลิศเลอแต่น่าเบื่อ.”
เป็นไปได้ไหมว่า เราชอบให้คนอื่นพูดความจริงกับเรา แต่ตัวเรากลับรู้สึกว่าบางครั้งเรามีเหตุผลที่ฟังขึ้นที่จะไม่พูดความจริง? การพูดความจริงหรือไม่นั้นเป็นเรื่องสำคัญไหม? การพูดสิ่งที่ไม่จริงก่อผลอะไรบ้าง?
ความเสียหายจากการไม่พูดความจริง
ลองคิดถึงผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากไม่พูดความจริง. การพูดเท็จก่อให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคู่สมรสและสมาชิกในครอบครัว. การซุบซิบนินทาที่ไม่มีมูลความจริงอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง. ความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้างทำให้ต้นทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้น และส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นด้วย. การให้ข้อมูลเท็จในใบประเมินภาษีทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่จะนำไปใช้เพื่อจัดหาสาธารณูปโภค. เรื่องเท็จที่กุขึ้นโดยนักค้นคว้าวิจัยทำลายโอกาสในงานอาชีพของพวกเขาเองและทำให้สถาบันที่ให้การสนับสนุนพลอยเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย. แผนการรวยเร็วแบบเล่นไม่ซื่อหลอกเอาเงินออมจากนักลงทุนจนหมดตัวหรือยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ. ไม่น่าแปลกใจที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “ลิ้นพูดปด” และ “พยานเท็จที่ระบายลมออกมาเป็นคำเท็จ” นับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสะอิดสะเอียน!—สุภาษิต 6:16-19.
คำเท็จที่แพร่ออกไปสามารถก่อผลเสียหายทั้งแก่ปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม. แทบทุกคนเห็นพ้องกับข้อเท็จจริงนี้. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดผู้คนจึงจงใจพูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง? และการพูดไม่จริงถือเป็นการโกหกเสมอไปไหม? เราจะพิจารณาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้และคำถามอื่น ๆ ในบทความถัดไป.
[ภาพหน้า 3]
การพูดเท็จก่อให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคู่สมรส