พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าผู้หยั่งรู้ค่า
พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าผู้หยั่งรู้ค่า
“พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อ พระนามของพระองค์.”—เฮ็บราย 6:10.
1. พระยะโฮวาทรงแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อรูธชาวโมอาบอย่างไร?
พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งต่อความพยายามของคนที่บากบั่นทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์อย่างจริงใจ และพระองค์ประทานบำเหน็จแก่พวกเขาอย่างอุดม. (เฮ็บราย 11:6) โบอัศ ชายผู้ซื่อสัตย์ คุ้นเคยดีกับแง่มุมอันงดงามนี้แห่งบุคลิกภาพของพระเจ้า เพราะท่านกล่าวกับรูธชาวโมอาบที่ได้ดูแลแม่สามีที่เป็นม่ายด้วยความรักว่า “ขอให้พระยะโฮวาเจ้าทรงตอบแทนแก่เจ้า, และให้เจ้ามีบำเหน็จอันเต็มบริบูรณ์แต่พระยะโฮวา . . . เถิด.” (ประวัตินางรูธ 2:12) รูธได้รับพรจากพระเจ้าไหม? แน่นอนที่สุด! ที่จริง เรื่องราวของเธอถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล! นอกจากนั้น เธอยังได้สมรสกับโบอัศและกลายมาเป็นบรรพสตรีของทั้งกษัตริย์ดาวิดและพระเยซูคริสต์. (ประวัตินางรูธ 4:13, 17; มัดธาย 1:5, 6, 16) นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลาย ๆ ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าพระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าผู้รับใช้ของพระองค์.
2, 3. (ก) อะไรทำให้คำตรัสแสดงความหยั่งรู้ค่าของพระยะโฮวาโดดเด่นเป็นพิเศษ? (ข) เหตุใดพระยะโฮวาจึงสามารถแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงได้? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.
2 พระยะโฮวาคงถือว่าพระองค์นั้นอธรรมหากพระองค์ไม่ได้แสดงความหยั่งรู้ค่า. เฮ็บราย 6:10 กล่าวว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์, ในการที่ท่านได้ปรนนิบัติสิทธชนนั้น, และยังกำลังปรนนิบัติอยู่.” สิ่งที่ทำให้คำกล่าวนี้น่าทึ่งก็คือว่า พระเจ้าทรงแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อประชาชนที่อุทิศตัวแด่พระองค์ แม้ว่าพวกเขาเป็นคนบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระองค์.—โรม 3:23.
3 เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของเรา เราอาจรู้สึกว่าการกระทำด้วยความเลื่อมใสพระเจ้าของเราไม่สำคัญอะไรและไม่คู่ควรกับพระพรจากพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงเข้าใจเต็มที่ถึงแรงจูงใจและสภาพจริงของชีวิตเรา และพระองค์ทรงเห็นค่าอย่างแท้จริงที่เรารับใช้พระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณ. (มัดธาย 22:37) เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น: สมมุติว่ามารดาคนหนึ่งพบของขวัญ—สร้อยคอถูก ๆ เส้นหนึ่ง—วางอยู่บนโต๊ะ. อาจเป็นได้ว่าเธอจะมองของขวัญนั้นว่าไม่มีค่านักและไม่สนใจเลยกับสร้อยเส้นนี้. ทว่า บัตรอวยพรที่แนบมาด้วยบอกให้ทราบว่าของขวัญนี้มาจากลูกสาวตัวน้อย ๆ ของเธอซึ่งได้ใช้เงินออมทั้งหมดของตนซื้อสร้อยเส้นนี้ให้เธอ. ตอนนี้ มารดาผู้นี้มองของขวัญดังกล่าวต่างจากเดิม. เธอสวมกอดลูกสาวและพูดขอบคุณทั้งน้ำตาด้วยความรู้สึกจากหัวใจ.
4, 5. พระเยซูทรงเลียนแบบพระยะโฮวาอย่างไรในการแสดงความหยั่งรู้ค่า?
4 โดยที่ทรงตระหนักเต็มที่ถึงแรงจูงใจและข้อจำกัดของเรา พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าเมื่อเราถวายสิ่งดีที่สุดที่เราจะถวายได้แด่พระองค์ ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม. ในเรื่องนี้ พระเยซูทรงเป็นภาพสะท้อนอันสมบูรณ์ลูกา 21:1-4.
แบบของพระบิดาพระองค์. ขอให้นึกถึงเรื่องที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเงินเหรียญค่าเล็กน้อยของหญิงม่าย. “[พระเยซู] ทอดพระเนตรเห็นคนมั่งมีทั้งหลายนำเงินมาใส่ในตู้เก็บเงินถวาย. พระองค์ทรงเห็นหญิงม่ายคนหนึ่งเป็นคนจนนำสตางค์แดงสองสตางค์มาใส่ด้วย. พระองค์ตรัสว่า, ‘เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้มากกว่าคนทั้งปวงนั้น เพราะว่าคนทั้งหลายได้เอาเงินเหลือใช้ของเขามาใส่รวมกับเงินถวาย, แต่ผู้หญิงคนนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.’ ”—5 ใช่แล้ว โดยที่ทรงทราบถึงสภาพอันแท้จริงของหญิงนั้นว่าเธอเป็นม่ายและยากจน พระเยซูทรงเข้าใจในคุณค่าที่แท้จริงของเงินบริจาคของเธอ และพระองค์ทรงถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกหยั่งรู้ค่า. อาจกล่าวเช่นเดียวกันนี้ได้กับพระยะโฮวาด้วย. (โยฮัน 14:9) เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจมิใช่หรือที่ทราบว่าไม่ว่าสภาพของคุณเป็นเช่นไร คุณสามารถได้รับความโปรดปรานในสายพระเนตรของพระเจ้าและพระบุตรผู้เปี่ยมด้วยความหยั่งรู้ค่า?
พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่ชาวเอธิโอเปียที่เกรงกลัวพระองค์
6, 7. เหตุใดพระยะโฮวาทรงแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อเอเบ็ดเมเล็ก และโดยวิธีใด?
6 การที่พระยะโฮวาทรงแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อคนที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์นั้นมีแสดงไว้ในพระคัมภีร์หลายต่อหลายครั้ง. ขอให้พิจารณาวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อเอเบ็ดเมเล็กชาวเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นผู้เกรงกลัวพระเจ้าที่อยู่ในสมัยเดียวกับยิระมะยาและเป็นผู้รับใช้ในวังของกษัตริย์ซิดคียาผู้ไม่ซื่อสัตย์แห่งยูดาห์. เอเบ็ดเมเล็กได้ข่าวว่าเจ้าชายทั้งหลายแห่งยูดาห์กล่าวหาผู้พยากรณ์ยิระมะยาอย่างผิด ๆ ด้วยข้อหาปลุกปั่นให้ขืนอำนาจปกครองและจับท่านทิ้งลงในที่ขังน้ำ ให้อดตายที่นั่น. (ยิระมะยา 38:1-7, ฉบับแปลใหม่) โดยที่รู้อยู่ว่ายิระมะยาถูกเกลียดชังอย่างยิ่งเนื่องด้วยข่าวสารที่ท่านประกาศ เอเบ็ดเมเล็กเสี่ยงชีวิตทูลวิงวอนต่อกษัตริย์. ด้วยความกล้าหาญ ชาวเอธิโอเปียผู้นี้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชาของข้าพระบาท คนเหล่านี้ได้กระทำความชั่วร้ายในบรรดาการที่เขาได้กระทำต่อเยเรมีย์ ผู้เผยพระวจนะ โดยที่ได้ทิ้งท่านลงไปในที่ขังน้ำ ท่านคงหิวตายที่นั่น.” ด้วยพระบัญชาของกษัตริย์ เอเบ็ดเมเล็กพาคนไป 30 คนและช่วยผู้พยากรณ์ของพระเจ้าขึ้นมา.—ยิระมะยา 38:8-13, ฉบับแปลใหม่.
7 พระยะโฮวาทรงเห็นว่าเอเบ็ดเมเล็กลงมือกระทำด้วยความเชื่อซึ่งช่วยให้เขาเอาชนะความกลัวใด ๆ ที่เขาอาจมี. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงแสดงความหยั่งรู้ค่าและตรัสแก่เอเบ็ดเมเล็กโดยทางยิระมะยาว่า “นี่แน่ะ, เราจะนำถ้อยคำทั้งหลายของเรามาถึงเมืองนี้เพื่อจะให้บังเกิดความร้าย, แลจะให้เป็นเพื่อความดีหามิได้ . . . แต่เราจะให้ตัวเจ้าได้รอดในวันนั้น . . . แลตัวเจ้าจะไม่ต้องมอบไว้ในมือของคนที่ตัวเจ้าต้องกลัวอยู่นั้น. ด้วยว่าเราจะให้เจ้าได้รอดเป็นแน่ . . . ชีวิตของเจ้าจะเป็นของปล้นสำหรับเจ้า, เพราะว่าเจ้าได้วางใจในเรา.” (ยิระมะยา 39:16-18) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงช่วยเอเบ็ดเมเล็ก รวมทั้งยิระมะยา ให้รอดจากพวกเจ้าชายชั่วร้ายแห่งยูดาห์ และภายหลังจากพวกบาบิโลนที่มาทำลายกรุงเยรูซาเลมจนราบคาบ. บทเพลงสรรเสริญ 97:10 (ล.ม.) กล่าวว่า “[พระยะโฮวา] ทรงพิทักษ์ชีวิตของเหล่าผู้ภักดีของพระองค์; พระองค์ทรงช่วยเขาให้รอดจากมือคนชั่ว.”
“พระบิดาของท่านผู้ทอดพระเนตรเห็นในที่ลี้ลับจะประทานบำเหน็จแก่ท่าน”
8, 9. ดังที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็น คำอธิษฐานแบบใดที่พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่า?
8 หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ว่าพระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าและทรงเห็นค่าการที่เราแสดงความเลื่อมใสในพระองค์นั้นสามารถเห็นได้จากสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับคำอธิษฐาน. บุรุษผู้ฉลาดสุขุมกล่าวไว้ว่า “คำอธิษฐานของคนเที่ยงธรรมเป็นที่ปีติยินดีแก่ [พระเจ้า].” (สุภาษิต 15:8, ฉบับแปลใหม่) ในสมัยของพระเยซู ผู้นำทางศาสนาหลายคนอธิษฐานในที่สาธารณะ ไม่ใช่ด้วยใจเลื่อมใสพระเจ้าอย่างแท้จริง แต่เพราะอยากสร้างความประทับใจแก่ผู้คน. พระเยซูตรัสว่า “เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว.” พระองค์ทรงสอนเหล่าสาวกว่า “ส่วนท่านเมื่ออธิษฐานจงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้สถิตในที่ลี้ลับ และพระบิดาของท่านผู้ทอดพระเนตรเห็นในที่ลี้ลับจะประทานบำเหน็จแก่ท่าน.”—มัดธาย 6:5, 6, ฉบับแปล 2002.
9 แน่นอน พระเยซูไม่ได้คัดค้านการอธิษฐานในที่สาธารณะ เพราะพระองค์เองทรงอธิษฐานในที่สาธารณะในบางโอกาส. (ลูกา 9:16) พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งเมื่อเราอธิษฐานถึงพระองค์อย่างที่ออกมาจากใจจริง โดยไม่ได้มุ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้อื่น. ที่จริง คำอธิษฐานที่เรากราบทูลเป็นส่วนตัวเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่าความรักและความวางใจที่เรามีต่อพระองค์ลึกซึ้งขนาดไหน. ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจเลยว่าบ่อยครั้งพระเยซูทรงหาที่ที่จะทรงอยู่ตามลำพังเพื่ออธิษฐาน. ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงทำอย่างนี้ใน “เวลาเช้ามืด.” อีกโอกาสหนึ่ง “พระองค์เสด็จขึ้นไปบนภูเขาที่สงัดเพื่อจะอธิษฐาน.” และก่อนจะเลือกอัครสาวก 12 คน พระเยซูทรงใช้เวลาทั้งคืนตามลำพังเพื่ออธิษฐาน.—มาระโก 1:35; มัดธาย 14:23; ลูกา 6:12, 13.
10. เมื่อคำอธิษฐานของเราสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจและความรู้สึกอันลึกซึ้ง เราแน่ใจได้ในเรื่องใด?
10 ขอให้นึกดูว่าพระยะโฮวาคงต้องตั้งพระทัยฟังถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกจากหัวใจของพระบุตรขนาดไหน! ที่จริง บางครั้งพระเยซูทรงอธิษฐาน “ด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหล . . . และพระองค์ได้รับการสดับด้วยความพอพระทัยเนื่องด้วยพระองค์เกรงกลัวพระเจ้า.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.; ลูกา 22:41-44) เมื่อคำอธิษฐานของเราสะท้อนให้เห็นความจริงใจและความรู้สึกอันลึกซึ้งเช่นนั้น เราแน่ใจได้ว่าพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงตั้งพระทัยฟังและหยั่งรู้ค่า. ถูกแล้ว “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้คนทั้งปวงที่ . . . ทูลพระองค์ด้วยใจสัตย์ซื่อ.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:18.
11. พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เราทำเมื่ออยู่ตามลำพัง?
11 หากว่าพระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าเมื่อเราอธิษฐานถึงพระองค์เมื่อไม่มีใครเห็น พระองค์คงต้องหยั่งรู้ค่าสักเพียงไรเมื่อเราเชื่อฟังพระองค์เมื่อไม่มีใครเห็น! ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงทราบสิ่งใด ๆ ที่เราทำเป็นส่วนตัว. (1 เปโตร 3:12) ที่จริง การที่เราซื่อสัตย์และเชื่อฟังเมื่ออยู่ตามลำพังเป็นข้อบ่งชี้ที่ดีว่าเรามี “หัวใจครบถ้วน” ต่อพระยะโฮวา หัวใจที่เปี่ยมด้วยแรงกระตุ้นอันบริสุทธิ์และมั่นคงเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง. (1 โครนิกา 28:9, ล.ม.) การกระทำเช่นนั้นทำให้พระทัย ของพระยะโฮวามีความยินดีสักเพียงไร!—สุภาษิต 27:11; 1 โยฮัน 3:22.
12, 13. เราจะป้องกันจิตใจและหัวใจของเราและเป็นเหมือนนะธันเอล สาวกผู้ซื่อสัตย์ ได้อย่างไร?
12 ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนที่ซื่อสัตย์คอยระวังไม่ทำบาปอย่างลับ ๆ ที่ทำให้จิตใจและหัวใจเสื่อมทราม เช่น การดูสื่อลามกและความรุนแรง. แม้ว่าบาปบางอย่างอาจปิดซ่อนไม่ให้มนุษย์คนใดรู้ได้ แต่เราตระหนักว่า “สรรพสิ่งปรากฏแจ้งต่อพระเนตรของพระองค์ผู้ซึ่งเราต้องให้การนั้น.” (เฮ็บราย 4:13; ลูกา 8:17) โดยบากบั่นที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่พระยะโฮวาไม่พอพระทัย เรามีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและยินดีที่ทราบว่าเราได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. ใช่แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อคน “ที่ประพฤติเที่ยงตรง, ที่กระทำการยุติธรรม, และพูดแต่คำจริงจากใจของตน.”—บทเพลงสรรเสริญ 15:1, 2.
13 อย่างไรก็ตาม เราจะป้องกันจิตใจและหัวใจของเราไว้ได้อย่างไรในโลกที่ชุ่มโชกด้วยความชั่วร้าย? (สุภาษิต 4:23; เอเฟโซ 2:2) นอกจากการรับประโยชน์เต็มที่จากการจัดเตรียมทุกอย่างฝ่ายวิญญาณ เราต้องพยายามเต็มที่เพื่อปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดีและทำสิ่งที่ดี ลงมือทำอย่างฉับไวเพื่อความปรารถนาที่ไม่ถูกต้องจะไม่ลุกลามและก่อให้เกิดบาป. (ยาโกโบ 1:14, 15) ขอให้คิดดูว่าคุณจะมีความสุขสักเพียงไรหากพระเยซูตรัสถึงคุณแบบเดียวกับที่ตรัสถึงนะธันเอล ที่ว่า “ดูแน่ะ [คน] ที่ไม่มีอุบาย.” (โยฮัน 1:47) นะธันเอล ซึ่งมีอีกชื่อว่าบาร์โธโลมาย ภายหลังได้รับสิทธิพิเศษเป็นคนหนึ่งในอัครสาวก 12 คนของพระเยซู.—มาระโก 3:16-19.
“มหาปุโรหิตที่ทรงเมตตาและซื่อสัตย์”
14. ปฏิกิริยาของพระเยซูต่อการกระทำของมาเรียเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ?
14 โดยที่ทรงเป็น “ภาพสะท้อนของพระเจ้าผู้ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา” คือพระยะโฮวา พระเยซูทรงเลียนแบบพระบิดาอย่างสมบูรณ์แบบเสมอในการแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อผู้ที่รับใช้พระเจ้าด้วยหัวใจสะอาด. (โกโลซาย 1:15, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น ห้าวันก่อนสละชีวิตพระองค์ พระเยซูและสาวกบางคนเป็นแขกในบ้านของซีโมนที่เบทานี. ค่ำวันนั้น มาเรียพี่สาวของลาซะโรและน้องสาวของมาธา “เอาน้ำมันนาระดาบริสุทธิ์หนักประมาณสิบตำลึงมีราคามาก” (มีค่าเท่ากับค่าจ้างประมาณหนึ่งปี) มาชโลมพระเศียรและพระบาทของพระเยซู. (โยฮัน 12:3) บางคนกล่าวว่า “ทำให้ของเสียทำไม?” แต่พระเยซูทรงมองการกระทำของมาเรียต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง. พระองค์ทรงมองว่านี่เป็นการกระทำที่เอื้อเฟื้ออย่างยิ่งและมีความหมายลึกซึ้งเมื่อคำนึงถึงการสิ้นพระชนม์และการฝังพระศพของพระองค์ที่จวนจะถึงอยู่แล้ว. ด้วยเหตุนั้น แทนที่จะต่อว่ามาเรีย พระเยซูทรงให้เกียรติเธอ. พระองค์ตรัสว่า “กิตติคุณนี้จะประกาศที่ไหน ๆ ทั่วพิภพ, การซึ่งหญิงนี้ได้กระทำก็จะเลื่องลือไปเป็นที่ระลึกถึงเขาที่นั่น.”—มัดธาย 26:6-13.
15, 16. เราได้รับประโยชน์อย่างไรจากการที่พระเยซูทรงเคยมีชีวิตและรับใช้พระเจ้าในฐานะมนุษย์?
15 ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เรามีผู้นำที่หยั่งรู้ค่าแบบพระเยซู! ที่จริง ชีวิตของพระเยซูในฐานะมนุษย์เตรียมพระองค์ไว้สำหรับงานที่พระยะโฮวาทรงเตรียมไว้สำหรับพระองค์—การรับใช้เป็นมหาปุโรหิตและกษัตริย์ ทีแรกของประชาคมแห่งชนผู้ถูกเจิม และหลังจากนั้นของทั้งโลก.—โกโลซาย 1:13; เฮ็บราย 7:26; วิวรณ์ 11:15.
16 ก่อนจะลงมายังแผ่นดินโลก พระเยซูทรงสนพระทัยอย่างลึกซึ้งและรักมนุษยชาติเป็นพิเศษอยู่แล้ว. (สุภาษิต 8:31) โดยดำรงชีวิตเป็นมนุษย์ พระองค์จึงทรงเข้าใจถ่องแท้ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความทุกข์ลำบากที่เราประสบในการรับใช้พระเจ้า. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “[พระเยซู] จะต้องเป็นเหมือน ‘น้อง ๆ’ ของพระองค์ในทุกด้าน เพื่อว่าพระองค์จะทรงเป็นมหาปุโรหิตที่ทรงเมตตาและซื่อสัตย์ . . . เพราะเหตุที่พระองค์เองได้ทรงทนลำบากเมื่อถูกทดลอง พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลอง.” พระเยซูทรงสามารถ “เห็นอกเห็นใจในความอ่อนแอของเรา” เพราะพระองค์ “ได้ผ่านการทดลองมาแล้วทุกประการเหมือนพวกเรา แต่ปราศจากบาป.”—เฮ็บราย 2:17, 18; 4:15, 16, ล.ม.
17, 18. (ก) จดหมายถึงประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียน้อยเผยเช่นไรเกี่ยวกับความหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งของพระเยซู? (ข) คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการเตรียมให้พร้อมสำหรับอะไร?
17 ข้อที่ว่าพระเยซูทรงมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในความลำบากที่เหล่าสาวกประสบนั้นเห็นได้ชัดหลังจากพระองค์ทรงถูกปลุกให้คืนพระชนม์. ขอให้พิจารณาจดหมายของวิวรณ์ 2:8-10, ล.ม.
พระองค์ที่มีไปถึงประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียน้อย ตามที่อัครสาวกโยฮันได้เขียนไว้. พระเยซูตรัสกับประชาคมสเมอร์นาว่า “เรารู้ว่าเจ้าทุกข์ลำบากและยากจน.” ในที่นี้ พระเยซูกำลังตรัสในทำนองว่า ‘เราเข้าใจปัญหาของพวกเจ้าดี; เรารู้ดีว่าเจ้ากำลังประสบอะไรอยู่.’ ถัดจากนั้น ด้วยเหตุที่พระองค์เองทรงทนทุกข์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ พระเยซูจึงตรัสเสริมอย่างเห็นอกเห็นใจและหนักแน่นอีกว่า “จงซื่อสัตย์ตราบสิ้นชีวิต แล้วเราจะให้มงกุฎแห่งชีวิตแก่เจ้า.”—18 จดหมายถึงเจ็ดประชาคมดังกล่าวเต็มด้วยถ้อยคำที่สะท้อนให้เห็นว่า พระเยซูทรงตระหนักดีถึงความยากลำบากที่เหล่าสาวกของพระองค์ประสบและทรงหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อการดำเนินชีวิตที่ซื่อสัตย์มั่นคงของพวกเขา. (วิวรณ์ 2:1–3:22) ต้องไม่ลืมว่าคนที่พระเยซูตรัสด้วยคือคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่มีความหวังจะปกครองเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระองค์ในสวรรค์. โดยตามรอยพระบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้า พวกเขาได้รับการเตรียมให้พร้อมสำหรับบทบาทอันสูงส่งในการช่วยดำเนินการด้วยความเห็นอกเห็นใจเป็นที่สุดเพื่อให้เครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติที่เป็นทุกข์เจ็บปวด.—วิวรณ์ 5:9, 10; 22:1-5.
19, 20. บรรดาคนที่ประกอบกันเป็น “ชนฝูงใหญ่” แสดงให้เห็นความหยั่งรู้ค่าอย่างไรต่อพระยะโฮวาและพระบุตร?
19 แน่นอน ความรักของพระเยซูต่อเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์ยังประทานแก่ “แกะอื่น” ที่ภักดีหลายล้านคนด้วย ซึ่งในเวลานี้ประกอบกันเป็น “ชนฝูงใหญ่ . . . จากทุกประเทศ” ซึ่งจะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ที่กำลังจะมาถึง. (โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) คนเหล่านี้กำลังหลั่งไหลกันเข้ามาอยู่ฝ่ายพระเยซูด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์และความหวังที่จะมีชีวิตชั่วนิรันดร์. พวกเขาแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างไร? พวกเขาแสดงออกโดย “ทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวาย [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืน.”—วิวรณ์ 7:15-17, ล.ม.
20 รายงานจากทั่วโลกสำหรับปีการรับใช้ 2006 ซึ่งลงไว้ในหน้า 27 ถึง 30 เป็นหลักฐานชัดเจนว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์เหล่านี้กำลังทำงาน “รับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวาย [พระยะโฮวา] ทั้งวันทั้งคืน” จริง ๆ. ที่จริง ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านไป พวกเขาร่วมกับเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ยังเหลืออยู่ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างน้อยได้อุทิศเวลาทั้งสิ้น 1,333,966,199 ชั่วโมงให้กับงานเผยแพร่—เทียบเท่ากับเวลามากกว่า 150,000 ปี!
จงแสดงความหยั่งรู้ค่าเสมอไป!
21, 22. (ก) เหตุใดคริสเตียนต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษในทุกวันนี้ในเรื่องการแสดงความหยั่งรู้ค่า? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
21 ในการปฏิบัติต่อมนุษย์ไม่สมบูรณ์ พระยะโฮวาและพระบุตรได้แสดงถึงความหยั่งรู้ค่าอย่างเหลือล้นจริง ๆ. น่าเสียดายที่มนุษย์ส่วนใหญ่แทบไม่คิดถึงพระเจ้า และมุ่งสนใจแต่เรื่องของตนเอง. เปาโลเขียนพรรณนาถึงผู้คนที่มีชีวิตใน “สมัยสุดท้าย” ว่า “คนจะเป็นคนรักตัวเอง, เป็นคนรักเงิน . . . อกตัญญู.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) คนเช่นนั้นช่างแตกต่างสักเพียงไรจากคริสเตียนแท้ ซึ่งแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อทุกสิ่งที่พระเจ้าได้ทำเพื่อพวกเขาโดยทางคำอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากหัวใจ, การเต็มใจเชื่อฟัง, และการรับใช้อย่างสุดชีวิต!—บทเพลงสรรเสริญ 62:8; มาระโก 12:30, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:3.
22 ในบทความถัดไป เราจะทบทวนการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณบางอย่างจากหลายอย่างที่พระยะโฮวาได้ประทานแก่พวกเราด้วยความรัก. ขณะที่เราคิดใคร่ครวญถึง “ของประทานอันดี” เหล่านี้ ขอให้ความหยั่งรู้ค่าของเราพัฒนาลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป.—ยาโกโบ 1:17.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระยะโฮวาได้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้หยั่งรู้ค่า?
• เมื่ออยู่ตามลำพัง เราสามารถทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดีได้โดยวิธีใด?
• พระเยซูทรงแสดงให้เห็นความหยั่งรู้ค่าโดยวิธีใดบ้าง?
• การดำเนินชีวิตในฐานะมนุษย์ช่วยพระเยซูอย่างไรให้เป็นผู้ปกครองที่เห็นอกเห็นใจและหยั่งรู้ค่า?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 17]
เช่นเดียวกับมารดาซึ่งพอใจการแสดงออกอย่างง่าย ๆ ของลูก พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าเมื่อเราถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระองค์