ภรรยา—จงนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง
ภรรยา—จงนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง
“จงให้ภรรยาทั้งหลายยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตน.”—เอเฟโซ 5:22, ล.ม.
1. เหตุใดการนับถือสามีมักทำได้ยาก?
ในหลายดินแดนเมื่อคู่บ่าวสาวสมรสกัน เจ้าสาวจะกล่าวปฏิญาณ ให้คำมั่นว่าเธอจะนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง. อย่างไรก็ตาม การที่ภรรยาจะทำตามคำปฏิญาณนี้ได้ยากหรือง่าย ส่วนหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับวิธีที่สามีปฏิบัติต่อภรรยา. แต่การสมรสมีจุดเริ่มต้นอันยอดเยี่ยม. พระเจ้าทรงชักกระดูกซี่โครงซี่หนึ่งจากอาดาม มนุษย์คนแรก แล้วสร้างเป็นผู้หญิง. อาดามออกปากกล่าวด้วยความรู้สึกว่า “นี่เป็นกระดูกแท้และเนื้อแท้ของเรา.”—เยเนซิศ 2:19-23.
2. มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในช่วงหลัง ๆ นี้เกี่ยวกับบทบาทและทัศนะของสตรีต่อชีวิตสมรส?
2 แม้มีการเริ่มต้นที่ดี ขบวนการหนึ่งที่เรียกว่าขบวนการปลดปล่อยสตรี อันเป็นความพยายามของเหล่าสตรีที่จะหลุดพ้นจากการครอบงำของผู้ชาย เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ในสหรัฐ. ในเวลานั้น อัตราส่วนของจำนวนสามีที่ทิ้งภรรยาเมื่อเทียบกับภรรยาทิ้งสามีคือประมาณ 300 ต่อ 1. แต่พอถึงปลายทศวรรษ 1960 อัตราส่วนดังกล่าวเปลี่ยนมาเป็นประมาณ 100 ต่อ 1. เดี๋ยวนี้ ดูเหมือนว่าผู้หญิงสบถ, ดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, และประพฤติผิดศีลธรรมมากพอ ๆ กับผู้ชาย. เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้หญิงมีความสุขมากขึ้นไหม? ไม่เลย. ในบางประเทศ คนที่สมรสแล้วประมาณครึ่งหนึ่งหย่าร้างกันไปในที่สุด. ความพยายามของผู้หญิงบางกลุ่มที่จะปรับปรุงชีวิตสมรสได้ทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นหรือว่าแย่ยิ่งกว่าเดิม?—2 ติโมเธียว 3:1-5.
3. ปัญหาพื้นฐานที่มีผลต่อชีวิตสมรสคืออะไร?
3 ปัญหาพื้นฐานคืออะไร? ในขอบเขตหนึ่ง นี่เป็นปัญหาที่มีอยู่นับตั้งแต่ฮาวาถูกล่อลวงโดยทูตสวรรค์ที่ขืนอำนาจ “งูเฒ่าที่เขาเรียกว่ามารและซาตาน.” (วิวรณ์ 12:9; 1 ติโมเธียว 2:13, 14) ซาตานได้บ่อนทำลายสิ่งที่พระเจ้าสอน. ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการสมรส พญามารได้ทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เข้มงวดและโหดร้าย. การโฆษณาชวนเชื่อที่มันส่งเสริมทางสื่อต่าง ๆ ในโลก—ซึ่งมันเป็นผู้ครอบครองอยู่—ถูกออกแบบไว้เพื่อทำให้พระบัญชาของพระเจ้าดูเหมือนว่าไม่ยุติธรรมและล้าสมัย. (2 โกรินโธ 4:3, 4) อย่างไรก็ตาม หากเราตรวจสอบด้วยใจเปิดว่าพระเจ้าตรัสไว้เช่นไรเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในชีวิตสมรส เราจะเห็นว่าพระคำของพระเจ้านั้นสุขุมและใช้การได้จริง ๆ.
คำเตือนสำหรับคนที่จะสมรส
4, 5. (ก) เหตุใดผู้หญิงควรพิจารณาให้รอบคอบเมื่อคิดจะสมรส? (ข) ผู้หญิงควรทำอะไรก่อนตอบตกลงแต่งงาน?
4 คัมภีร์ไบเบิลให้คำเตือน. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าในโลกที่พญามารปกครองนี้ แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสมรสก็จะมี “ความยากลำบาก.” ดังนั้น แม้ว่าการสมรสเป็นการจัดเตรียมของพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิลก็ยังเตือนคนที่คิดจะสมรส. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการดลใจคนหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับสตรีที่สามีได้เสียชีวิตและด้วยเหตุนั้นเธอจึงมีอิสระที่จะสมรสใหม่ได้ ดังนี้: “ถ้านางอยู่คนเดียวจะเป็นสุขกว่า.” พระเยซูทรงสนับสนุนความเป็นโสดสำหรับคนที่ “จัดชีวิตเพื่อของประทานนั้นได้.” อย่างไรก็ตาม หากใครเลือกจะสมรส ก็ควรสมรสกับ “ผู้ที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า” กล่าวคือ คนที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาเป็นผู้นมัสการพระเจ้า.—1 โกรินโธ 7:28, 36-40, ฉบับแปล 2002; มัดธาย 19:10-12, ล.ม.
5 เหตุผลที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงควรใส่ใจในเรื่องคนที่เธอจะสมรสด้วยนั้นก็เพราะมีคำเตือนในคัมภีร์ไบเบิลว่า “ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็มีพันธะตามกฎหมายต่อสามี.” เฉพาะแต่เมื่อเขาเสียชีวิตหรือทำผิดประเวณีและทั้งคู่หย่าขาดกันด้วยเหตุนี้เท่านั้น เธอจึงจะ “พ้นจากอำนาจของสามี.” (โรม 7:2, 3, ล.ม.) ความรู้สึกแบบรักเมื่อแรกพบอาจ เพียงพอที่จะสานสายสัมพันธ์ฉันคู่รักที่หวานชื่น แต่ไม่ใช่รากฐานที่หนักแน่นพอสำหรับชีวิตสมรสที่มีความสุข. ด้วยเหตุนั้น หญิงโสดต้องถามตัวเองว่า ‘ฉันเต็มใจที่จะเข้าสู่การจัดเตรียมที่ฉันจะเข้าอยู่ใต้กฎแห่งความเป็นประมุขของชายคนนี้ไหม?’ เวลาที่ควรใคร่ครวญคำถามนี้คือก่อนจะสมรส ไม่ใช่หลังจากสมรสแล้ว.
6. การตัดสินใจอะไรที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันสามารถทำได้ และเหตุใดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก?
6 ปัจจุบันในหลายแห่ง ผู้หญิงสามารถเลือกได้ว่า จะตอบรับหรือปฏิเสธการขอแต่งงาน. ถึงกระนั้น การเลือกที่ฉลาดสุขุมในเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเท่าที่ผู้หญิงเคยประสบ เนื่องจากความปรารถนาที่จะได้รับความใกล้ชิดและความรักที่สายสมรสสามารถให้ได้นั้นอาจแรงกล้ามาก. นักเขียนผู้หนึ่งให้ข้อสังเกตดังนี้: “ยิ่งเราอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่งมากเท่าไร—ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานหรือการปีนเขาลูกใดลูกหนึ่ง—ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้นที่เราจะทึกทักเอาเองโดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดีและเลือกสนใจเฉพาะข้อมูลซึ่งบอกสิ่งที่เราอยากจะได้ยิน.” การตัดสินใจอย่างขาดเหตุผลสำหรับนักปีนเขาอาจทำให้เขาเสียชีวิต; การตัดสินใจเลือกอย่างไม่ฉลาดเกี่ยวกับการเลือกคู่สมรสอาจก่อผลเป็นความหายนะคล้าย ๆ กัน.
7. มีคำแนะนำอะไรที่ฉลาดสุขุมเกี่ยวกับการหาคู่สมรส?
7 ผู้หญิงควรพิจารณาอย่างจริงจังถึงสิ่งที่อาจเกี่ยวข้องด้วยในการอยู่ใต้กฎแห่งความเป็นประมุขของชายที่ขอเธอแต่งงาน. เมื่อหลายปีมาแล้ว หญิงสาวชาวอินเดียคนหนึ่งยอมรับอย่างเจียมตัวว่า “พ่อแม่เราอายุมากกว่าและสุขุมกว่า และท่านไม่ถูกหลอกง่าย ๆ เหมือนเรา. . . . ดิฉันเองอาจทำผิดพลาดได้ง่ายมาก.” ความช่วยเหลือที่บิดามารดาและคนอื่น ๆ อาจให้แก่เรานั้นสำคัญ. เป็นเวลาหลายปีที่ผู้ให้คำปรึกษาที่ฉลาดสุขุมคนหนึ่งได้สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวทำความรู้จักกับบิดามารดาของคนที่คาดหวังว่าจะเป็นคู่ครองในอนาคต และให้สังเกตดูดี ๆ ว่าคนนั้นกับบิดามารดาและคนอื่น ๆ ในครอบครัวปฏิบัติต่อกันอย่างไร.
วิธีที่พระเยซูทรงแสดงการยอมอยู่ใต้อำนาจ
8, 9. (ก) พระเยซูทรงมีทัศนะอย่างไรต่อการยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า? (ข) การยอมอยู่ใต้อำนาจอาจก่อประโยชน์อะไร?
8 แม้ว่าการยอมอยู่ใต้อำนาจอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้หญิงสามารถมองเรื่องนี้ว่าเป็นการกระทำที่มีเกียรติ เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงมอง. ในขณะที่การยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าหมายรวมถึงการทนทุกข์ รวมถึงการสิ้นพระชนม์บนหลักทรมาน พระองค์ทรงพบความยินดีในการยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า. (ลูกา 22:41-44; เฮ็บราย 5:7, 8; 12:3) ผู้หญิงสามารถมองพระเยซูเป็นตัวอย่าง เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:3) แต่ที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะเมื่อผู้หญิงสมรสแล้วเท่านั้นจึงจะอยู่ใต้ความเป็นประมุขของผู้ชาย.
9 คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า ผู้หญิงไม่ว่าสมรสแล้วหรือเป็นโสด ควรยอมอยู่ใต้อำนาจความเป็นประมุขของชายผู้มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณที่ทำหน้าที่ดูแลประชาคมคริสเตียน. 1 ติโมเธียว 2:12, 13; เฮ็บราย 13:17) เมื่อผู้หญิงปฏิบัติตามการชี้นำของพระเจ้าเช่นนั้น พวกเธอวางตัวอย่างไว้สำหรับเหล่าทูตสวรรค์ในการจัดเตรียมด้านองค์การของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 11:8-10) นอกจากนั้น โดยตัวอย่างที่ดีและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ หญิงที่สมรสแล้วซึ่งอายุมากกว่าก็สอนผู้หญิงที่อายุน้อยกว่าให้ ‘ยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตน.’—ติโต 2:3-5, ล.ม.
(10. พระเยซูทรงวางตัวอย่างในเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างไร?
10 พระเยซูทรงตระหนักถึงคุณค่าของการยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างเหมาะสม. ในโอกาสหนึ่ง พระองค์ทรงสั่งให้อัครสาวกเปโตรจ่ายภาษีแก่พนักงานสำหรับพระองค์และเปโตรเอง โดยถึงกับทรงจัดหาเงินภาษีให้เปโตรไปจ่ายด้วยซ้ำ. เปโตรเขียนในภายหลังว่า “เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายจงยอมอยู่ใต้อำนาจสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้นทุกอย่าง.” (1 เปโตร 2:13, ล.ม.; มัดธาย 17:24-27) เกี่ยวกับแบบอย่างที่เด่นที่สุดของพระเยซูในเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจ เราอ่านดังนี้: “พระองค์ทรงสละพระองค์เองแล้วรับสภาพทาสและมาเป็นอย่างมนุษย์. ยิ่งกว่านั้น เมื่อทรงเห็นว่าพระองค์เองอยู่ในลักษณะมนุษย์แล้ว พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ และยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา.”—ฟิลิปปอย 2:5-8, ล.ม.
11. เหตุใดเปโตรจึงสนับสนุนภรรยาให้ยอมอยู่ใต้อำนาจแม้แต่สามีที่ไม่มีความเชื่อ?
11 เมื่อสนับสนุนคริสเตียนให้ยอมอยู่ใต้อำนาจแม้แต่ต่อเจ้าหน้าที่ของโลกนี้ที่โหดร้าย ไม่ยุติธรรม เปโตรอธิบายดังนี้: “ที่จริง ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) หลังจากพรรณนาว่าพระเยซูทรงทนทุกข์ขนาดไหนและพระองค์ทรงอดทนโดยที่ยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างไร เปโตรสนับสนุนภรรยาที่สามีไม่มีความเชื่อว่า “ในลักษณะเดียวกัน ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยา จงยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของท่าน เพื่อว่า ถ้าคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ แม้นไม่เอ่ยปาก เขาก็อาจถูกโน้มน้าวโดยการประพฤติของภรรยา เนื่องจากได้เห็นประจักษ์ถึงการประพฤติอันบริสุทธิ์ของท่านทั้งหลายพร้อมกับความนับถืออันสุดซึ้ง.”—1 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.
12. แนวทางการยอมอยู่ใต้อำนาจของพระเยซูก่อประโยชน์เช่นไร?
12 การยอมอยู่ใต้อำนาจแม้เผชิญการเยาะเย้ยและคำพูดหยาบคายอาจถูกมองว่าเป็นหลักฐานแสดงถึงความอ่อนแอ. กระนั้น นั่นไม่ใช่ทัศนะของพระเยซู. เปโตรเขียนดังนี้: “ครั้นเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์, พระองค์ไม่ได้กล่าวคำหยาบคายตอบแทนเลย เมื่อพระองค์ได้ทรงทนเอาการร้ายเช่นนั้น, พระองค์ไม่ได้ขู่ตวาด.” (1 เปโตร 2:23) บางคนที่เฝ้ามองพระเยซูทนทุกข์ได้กลายมาเป็นผู้มีความเชื่อ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็รวมถึงโจรที่อยู่บนหลักทรมานข้าง ๆ พระองค์และนายร้อยที่ดูการประหาร. (มัดธาย 27:38-44, 54; มาระโก 15:39; ลูกา 23:39-43) คล้ายกัน เปโตรชี้ว่าสามีที่ไม่เชื่อบางคน—แม้แต่คนที่ใช้อำนาจอย่างผิด ๆ—จะเข้ามาเป็นคริสเตียนหลังจากที่สังเกตเห็นการกระทำของภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจ. เราได้เห็นหลักฐานว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จริงในปัจจุบัน.
วิธีที่ภรรยาสามารถชนะใจ
13, 14. การยอมอยู่ใต้อำนาจสามีที่ไม่เชื่อก่อประโยชน์อย่างไร?
13 ภรรยาหลายคนที่เข้ามาเป็นผู้มีความเชื่อได้ชนะใจสามีด้วยการประพฤติอย่างพระคริสต์. ณ การประชุมภาคแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวาเมื่อไม่นานนี้ สามีคนหนึ่งกล่าวถึงภรรยาของเขาที่เป็นคริสเตียนว่า “ผมคิดว่าตอนนั้นผมเป็นคนที่แย่เอามาก ๆ ในวิธีที่ผมปฏิบัติต่อเธอ. ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังแสดงความนับถือต่อผมอย่างยิ่ง. เธอไม่เคยดูถูกผมเลยสักครั้ง. เธอไม่ได้พยายามยัดเยียดความเชื่อให้ผม. เธอดูแลผมอย่างที่เปี่ยมด้วยความรัก. เมื่อเธอไปร่วมการประชุมใหญ่ เธอทำงานหนักเพื่อเตรียมอาหารมื้อต่าง ๆ เอาไว้ให้ผมล่วงหน้าและทำงานบ้านให้เสร็จเรียบร้อย. ทัศนคติของเธอค่อย ๆ กระตุ้นให้ผมสนใจคัมภีร์ไบเบิล. แล้วก็อย่างที่เห็น ผมก็เลยมายืนอยู่ที่นี่!” ใช่แล้ว ในความเป็นจริง เขาถูก ‘โน้มน้าวแม้นไม่เอ่ยปาก’ โดยการประพฤติของภรรยา.
14 ดังที่เปโตรเน้น สิ่งที่ภรรยาทำก่อผลในแง่บวกมาก
กว่าสิ่งที่เธอพูด. เรื่องนี้เห็นได้จากตัวอย่างของภรรยาคนหนึ่งซึ่งได้เรียนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและตั้งใจเด็ดเดี่ยวจะเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. “แอกเนส ถ้าขืนเธอออกไปจากประตูนั้นละก็ ห้ามกลับเข้ามาอีกเลยนะ!” สามีตะโกนใส่เธอ. เธอไม่ได้ออกไปทาง “ประตูนั้น” อย่างที่เขาบอก แต่ออกไปทางประตูอื่น. เมื่อถึงคืนที่มีการประชุมคราวต่อมา เขาขู่ว่า “ฉันจะไม่อยู่ที่นี่ให้เห็นหน้าอีกตอนที่เธอกลับมา.” ปรากฏว่าเขาไม่อยู่จริง ๆ—เพราะเขาทิ้งเธอไปสามวัน. เมื่อเขากลับมา เธอถามเขาอย่างกรุณาว่า “คุณอยากกินอะไรไหมคะ?” แอกเนสไม่เคยยอมโอนอ่อนผ่อนตามในเรื่องความเลื่อมใสโดยเฉพาะต่อพระยะโฮวา. ในที่สุด สามีเธอตอบตกลงศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, อุทิศชีวิตแด่พระเจ้า, และต่อมาได้รับใช้เป็นผู้ดูแลที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง.15. ภรรยาที่เป็นคริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้ “ประดับตัว” เช่นไร?
15 อัครสาวกเปโตรสนับสนุนสิ่งที่ภรรยาทั้งสองคนที่เราเพิ่งกล่าวถึงได้แสดงให้เห็น นั่นคือ ‘การประดับตัว’ แต่ไม่ใช่โดยการให้ความสนใจเกินควรต่อ “การถักผม” หรือ “การนุ่งห่มเสื้อผ้า.” แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เปโตรกล่าวว่า “จงประดับด้วยบุคลิกที่ซ่อนอยู่ในใจ ด้วยเครื่องประดับซึ่งไม่รู้เสื่อมสลาย คือด้วยจิตใจที่สุภาพอ่อนโยนและจิตใจที่สงบ ซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งนักในสายพระเนตรพระเจ้า.” น้ำใจนี้สะท้อนให้เห็นจากน้ำเสียงและกิริยาที่เหมาะสม ไม่ใช่แบบที่ท้าทายหรือเรียกร้อง. ด้วยเหตุนั้น ภรรยาที่เป็นคริสเตียนจึงแสดงความนับถือสุดซึ้งต่อสามีตน.—1 เปโตร 3:3, 4, ฉบับแปล 2002.
ตัวอย่างที่น่าเรียนรู้
16. ซาราห์เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับภรรยาที่เป็นคริสเตียนในทางใด?
16 เปโตรเขียนว่า “บรรดาสตรีผู้บริสุทธิ์ในสมัยก่อนนั้น ผู้ซึ่งหวังในพระเจ้า ก็ได้ประดับกายโดยยอมเชื่อฟังสามีของตน.” (1 เปโตร 3:5, ฉบับแปล 2002) ผู้หญิงเหล่านี้ตระหนักว่าการทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยโดยทำตามคำแนะนำของพระองค์จะยังผลในที่สุดทำให้ครอบครัวมีความสุขและจะได้รับบำเหน็จชีวิตนิรันดร์. เปโตรกล่าวถึงซาราห์ ภรรยาคนสวยของอับราฮาม โดยชี้ว่าเธอ “ได้น้อมฟังอับราฮาม เรียกท่านว่านาย.” ซาราห์สนับสนุนสามีผู้เกรงกลัวพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าได้ทรงแต่งตั้งท่านให้รับใช้พระองค์ในดินแดนห่างไกล. เธอยอมทิ้งวิถีชีวิตที่สะดวกสบายและถึงกับพร้อมจะเสี่ยงอันตรายด้วยกันกับสามี. (เยเนซิศ 12:1, 10-13) เปโตรแนะนำให้ถือเอาซาราห์เป็นตัวอย่างในเรื่องความกล้าหาญ โดยกล่าวว่า “ถ้าท่านทั้งหลายได้ประพฤติดีและไม่มีความสะดุ้งกลัวประการใด, ท่านก็เป็นบุตรีของนางนั้น.”—1 เปโตร 3:6.
17. เหตุใดอะบีฆายิลอาจเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในความคิดของเปโตรในฐานะตัวอย่างสำหรับภรรยาที่เป็นคริสเตียน?
17 อะบีฆายิลเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญอีกคนหนึ่งซึ่งหวังใจในพระเจ้า และอาจเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในความคิดของเปโตร1 ซามูเอล 25:2-33, ฉบับแปลใหม่.
ด้วย. เธอ “มีความรอบคอบ” แต่นาบาลสามีเธอ “เป็นคนสามานย์และประพฤติตัวเลวทราม.” เมื่อนาบาลไม่ยอมให้ความช่วยเหลือ ดาวิดและคนของท่านก็เตรียมรี้พลจะมาจัดการกับนาบาลและครัวเรือนทั้งสิ้นของเขาให้สิ้นซาก. แต่อะบีฆายิลลงมือทำทันทีเพื่อช่วยชีวิตคนในครัวเรือนของเธอ. เธอจัดอาหารใส่หลังลาแล้วออกไปพบดาวิดและรี้พลของท่านที่กำลังเดินทางมา. เมื่อเห็นดาวิด เธอลงจากหลังลา ซบลงแทบเท้าของท่าน และวิงวอนขอให้ท่านอย่าได้ลงมือทำอย่างหุนหันพลันแล่น. ดาวิดถูกกระตุ้นใจอย่างลึกซึ้ง. ท่านกล่าวว่า “สาธุการแด่พระเยโฮวาห์พระเจ้าแห่งอิสราเอลผู้ทรงใช้เจ้าให้มาพบเราในวันนี้! ขอให้ความสุขุมของเจ้ารับพระพร.”—18. หากถูกล่อใจเพราะมีชายอื่นที่เข้ามาแสดงความสนใจเชิงชู้สาว ภรรยาทั้งหลายสามารถใคร่ครวญถึงตัวอย่างอะไร และเพราะเหตุใด?
18 ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับภรรยาคือหญิงสาวชาวชูเลมซึ่งรักษาความภักดีต่อคนเลี้ยงแกะผู้ต่ำต้อยที่เธอสัญญาว่าจะแต่งงานด้วย. ความรักที่เธอมีต่อเขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่ากษัตริย์ผู้มั่งคั่งได้แสดงความสนใจในตัวเธอ. โดยถูกกระตุ้นใจให้แสดงความรู้สึกต่อหนุ่มเลี้ยงแกะ เธอกล่าวว่า “จงแนบดิฉันเป็นดวงตราประทับบนหัวใจของเธอ เป็นดวงตราประทับบนแขนของเธอ เพราะความรักเข้มแข็งเหมือนความตาย . . . น้ำมากมายก็ไม่สามารถดับความรักได้ แม่น้ำต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเซาะความรักไปเสียได้.” (เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม 8:6, 7, ล.ม.) ขอให้นี่เป็นความตั้งใจแน่วแน่ของสตรีทุกคนที่ตอบตกลงแต่งงาน ที่จะรักษาตัวภักดีต่อสามีและนับถือเขาอย่างสุดซึ้ง.
คำแนะนำเพิ่มเติมจากพระเจ้า
19, 20. (ก) ภรรยาควรยอมอยู่ใต้อำนาจของสามีด้วยเหตุผลอะไร? (ข) มีตัวอย่างที่ดีอะไรสำหรับภรรยา?
19 ในตอนท้ายนี้ ขอให้พิจารณาบริบทของข้อพระคัมภีร์หลักของเรา: “จงให้ภรรยาทั้งหลายยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตน.” (เอเฟโซ 5:22, ล.ม.) เหตุใดการยอมอยู่ใต้อำนาจเช่นนั้นจึงจำเป็น? ข้อถัดมากล่าวต่อไปว่า “เพราะว่าสามีเป็นประมุขของภรรยาของตนเหมือนพระคริสต์เป็นประมุขของประชาคมด้วย.” ด้วยเหตุนั้น ภรรยาถูกกระตุ้นดังนี้: “ประชาคมอยู่ใต้อำนาจพระคริสต์ฉันใด ก็จงให้ภรรยาอยู่ใต้อำนาจสามีของตนในทุกสิ่งเหมือนกันฉันนั้น.”—เอเฟโซ 5:23, 24, 33, ล.ม.
20 เพื่อจะทำตามพระบัญชานี้ ภรรยาจำเป็นต้องศึกษาแล้วก็ทำตามแบบอย่างของประชาคมแห่งเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์. โปรดอ่าน 2 โกรินโธ 11:23-28 และเรียนรู้ว่าสมาชิกคนหนึ่งของประชาคม คืออัครสาวกเปาโล ได้อดทนในการซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์ผู้เป็นประมุขของท่านเช่นไร. เช่นเดียวกับเปาโล ภรรยาและคนอื่น ๆ ในประชาคมจำเป็นต้องรักษาตัวยอมอยู่ใต้อำนาจพระเยซูอย่างภักดี. ผู้เป็นภรรยาแสดงเช่นนั้นโดยยอมอยู่ใต้อำนาจของสามี.
21. อะไรอาจเป็นแรงกระตุ้นให้ภรรยายอมอยู่ใต้อำนาจสามีต่อ ๆ ไป?
21 ในขณะที่ภรรยามากมายในปัจจุบันอาจรู้สึกไม่พอใจที่ต้องยอมอยู่ใต้อำนาจ สตรีที่ฉลาดสุขุมจะใคร่ครวญถึงข้อดีของการทำอย่างนั้น. ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่สามีเป็นผู้ไม่มีความเชื่อ การยอมอยู่ใต้อำนาจประมุขของเขาในทุกเรื่องที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือหลักการของพระเจ้าอาจยังผลเป็นบำเหน็จอันยอดเยี่ยมโดยที่เธอสามารถ “ช่วยสามีให้รอดได้.” (1 โกรินโธ 7:13, 16) นอกจากนั้น เธอยังสามารถได้ความอิ่มใจยินดีที่ทราบว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงพอพระทัยแนวทางชีวิตของเธอและจะประทานบำเหน็จอย่างอุดมแก่เธอที่ทำตามแบบอย่างพระบุตรที่รักของพระองค์.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภรรยาจะนับถือสามี?
• เหตุใดการตอบรับคำขอแต่งงานจึงเป็นเรื่องจริงจังอย่างยิ่ง?
• พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างสำหรับภรรยาอย่างไร และอาจเกิดประโยชน์เช่นไรจากการทำตามตัวอย่างของพระองค์?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 19]
เหตุใดการตัดสินใจว่าจะตอบรับคำขอแต่งงานหรือไม่จึงเป็นเรื่องจริงจังอย่างยิ่ง?
[ภาพหน้า 21]
ภรรยาสามารถเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของบุคคลในคัมภีร์ไบเบิล เช่น อะบีฆายิล?