ระบบสุริยะของเราที่ไม่มีใดเหมือนเกิดขึ้นอย่างไร?
ระบบสุริยะของเราที่ไม่มีใดเหมือนเกิดขึ้นอย่างไร?
มีหลายปัจจัยรวมกันที่ทำให้เอกภพส่วนที่เราอาศัยอยู่โดดเด่นไม่มีใดเหมือน. ระบบสุริยะของเราอยู่ระหว่างแขนกังหันสองแขนของกาแล็กซีทางช้างเผือกซึ่งเป็นบริเวณที่มีดาวค่อนข้างน้อย. ดาวเกือบทุกดวงที่เรามองเห็นในยามค่ำคืนอยู่ห่างไกลจากเรามากเสียจนเห็นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ เมื่อมองจากกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุด. ระบบสุริยะของเราเหมาะที่จะตั้งอยู่ในตำแหน่งนี้ไหม?
หากระบบสุริยะของเราอยู่ใกล้ศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก เราคงจะได้รับอันตรายจากการอยู่ท่ามกลางดาวมากมายที่แออัดยัดเยียด. ตัวอย่างเช่น วงโคจรของโลกก็คงจะถูกรบกวน และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์อย่างยิ่ง. ดังที่เราเห็น ระบบสุริยะดูเหมือนว่าอยู่ในตำแหน่งที่พอเหมาะพอดีทีเดียวในกาแล็กซีเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวและอันตรายอื่น ๆ เช่น ความร้อนสูงเมื่อโคจรผ่านกลุ่มเมฆก๊าซรวมทั้งผลกระทบจากการระเบิดของดวงดาวและแหล่งรังสีอื่น ๆ ที่ทำให้ถึงตาย.
ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่ยอดเยี่ยมเหมาะสำหรับความจำเป็นของเรา. ดวงอาทิตย์ลุกไหม้ในอัตราที่สม่ำเสมอ, มีอายุยืนยาว, และไม่ใหญ่หรือไม่ร้อนเกินไป. ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในกาแล็กซีของเรามีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก และไม่ได้ให้แสงชนิดที่เหมาะสม ทั้งไม่ได้ให้ความร้อนในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อค้ำจุนชีวิตบนดาวเคราะห์แบบโลก. นอกจากนี้ ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่มีแรงดึงดูดต่อดาวอีกดวงหนึ่งหรือหลายดวงและโคจรรอบกันและกัน. ตรงกันข้าม ดวงอาทิตย์ของเราเป็นดาวเดี่ยว. ระบบสุริยะของเราไม่น่าจะมีเสถียรภาพอยู่ได้หากต้องได้รับผลกระทบจากแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์สองดวงหรือมากกว่านั้น.
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบสุริยะของเราไม่มีใดเหมือนก็คือตำแหน่งของดาวเคราะห์ยักษ์ชั้นนอกที่โคจรเกือบจะเป็นวงกลมและแรงโน้มถ่วงของมันไม่ส่งผลกระทบต่อดาวเคราะห์แบบโลกซึ่งโคจรอยู่ชั้นใน. * แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ดาวเคราะห์ชั้นนอกทำหน้าที่เป็นโล่ป้องกันโดยดึงดูดวัตถุอันตรายต่าง ๆ ไว้และเหวี่ยงออกไปสู่ห้วงอวกาศ. ปีเตอร์ ดี. วอร์ดและโดนัลด์ บราวน์ลี นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อโลกที่หายาก—เหตุผลที่ชีวิตอันซับซ้อนไม่ได้มีทั่วไปในเอกภพ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “มีดาวเคราะห์น้อยและดาวหางพุ่งชนเราบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อย เนื่องจากเรามีดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดีอยู่ด้านนอก.” มีการค้นพบระบบสุริยะอื่น ๆ ที่มีดาวเคราะห์ยักษ์. แต่ดาวเคราะห์ยักษ์เหล่านั้นส่วนใหญ่มีวงโคจรที่ก่ออันตรายต่อดาวเคราะห์คล้ายโลกที่เล็กกว่า.
บทบาทของดวงจันทร์
ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ดวงจันทร์ทำให้มนุษยชาติรู้สึกพิศวง. ดวงจันทร์สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กวีและนักดนตรี. ตัวอย่างเช่น กวีชาวฮีบรูโบราณพรรณนาว่า ดวงจันทร์ “ตั้งอยู่ . . . เป็นนิจกาล, เป็นพยานแน่นอน . . . ในท้องฟ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 89:37.
บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของดวงจันทร์ที่มีผลต่อชีวิตบนแผ่นดินโลกก็คือแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ทำให้เกิดกระแสน้ำขึ้นน้ำลง. เชื่อกันว่าน้ำขึ้นน้ำลงส่งผลให้เกิดกระแสน้ำในมหาสมุทรซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพภูมิอากาศของเรา.
บทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของดวงจันทร์ก็คือ แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ทำให้แกนของโลกทำมุมเป็นองศาคงที่เมื่อเทียบกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์. ตามที่เนเจอร์วารสารทางวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ ถ้าไม่มีดวงจันทร์ การเอียงของแกนของโลกก็จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน จาก “เกือบ 0 [องศา] จนถึง 85 [องศา].” ลองนึกดูว่าถ้าแกนโลกไม่เอียง! เราคงจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลต่าง ๆ ที่ยังความยินดีและคงจะเกิดปัญหาเนื่องจากขาดแคลนน้ำฝน. การที่โลกเอียงยังทำให้อุณหภูมิของโลกไม่สูงหรือต่ำเกินไปจนเราอยู่ไม่ได้. ชาก ลัสการ์ นักดาราศาสตร์ลงความเห็นว่า “การที่เรามีสภาพภูมิอากาศที่คงที่ในปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากเหตุการณ์พิเศษอย่างหนึ่ง นั่นคือ เพราะเรามีดวงจันทร์อยู่ด้วย.” เพื่อที่ดวงจันทร์จะทำให้เกิดความคงที่ดังกล่าว ดวงจันทร์ของเราจะต้องมีขนาดใหญ่—เมื่อเทียบกันแล้วสัดส่วนของดวงจันทร์กับโลกจะต้องมากกว่าสัดส่วนของดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ยักษ์กับดาวเคราะห์เหล่านั้น.
กระนั้น หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของดาวบริวารทางธรรมชาติของโลกดังที่ผู้เขียนพระธรรมเยเนซิศโบราณกล่าวไว้ นั่นคือดวงจันทร์ให้ความสว่างในเวลากลางคืน.—เยเนซิศ 1:16.
บังเอิญหรือมีจุดมุ่งหมาย?
จะอธิบายอย่างไรถึงความประจวบเหมาะของปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ชีวิตบนแผ่นดินโลกไม่เพียงแค่เป็นไปได้เท่านั้นแต่ยังน่าเพลิดเพลินอีกด้วย? ดูเหมือนว่ามีคำอธิบายเพียงสองอย่างเท่านั้น. อย่างแรกคือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากความบังเอิญอย่างไร้จุดมุ่งหมาย. คำอธิบายที่สองคือ มีจุดมุ่งหมายบางอย่างที่สะท้อนถึงเชาวน์ปัญญาอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้.
เมื่อหลายพันปีมาแล้ว พระคัมภีร์บริสุทธิ์กล่าวว่าเอกภพของเราเกิดขึ้นและถูกสร้างโดยพระผู้สร้าง พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง นี่หมายความว่าสภาวะต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในระบบสุริยะของเราไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากการจงใจออกแบบ. พระผู้สร้างทรงเสมือนหนึ่งว่ารายงานให้เรารู้ขั้นตอนต่าง ๆ ที่พระองค์ทำเพื่อให้ชีวิตบนแผ่นดินโลกดำรงอยู่ได้. คุณอาจแปลกใจที่รู้ว่า แม้รายงานนี้มีอายุเก่าแก่ประมาณ 3,500 ปีแล้ว แต่การพรรณนาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของเอกภพ โดยทั่วไปแล้วก็ตรงกันกับขั้นตอนที่บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าต้องได้เกิดขึ้น. รายงานดังกล่าวมีอยู่ในพระธรรมเยเนซิศ. ขอพิจารณาสิ่งที่พระธรรมเยเนซิศกล่าวไว้.
เรื่องราวการสร้างโลกในพระธรรมเยเนซิศ
“เมื่อเดิมพระเจ้าได้นฤมิตสร้างฟ้าและดิน.” (เยเนซิศ 1:1) ถ้อยคำเริ่มต้นในคัมภีร์ไบเบิลพาดพิงถึงการสร้างระบบสุริยะของเราซึ่งก็รวมถึงดาวเคราะห์ของเราด้วย รวมทั้งการสร้างดวงดาวต่าง ๆ ในกาแล็กซีมากมายหลายพันล้านกาแล็กซีที่ประกอบกันเป็นเอกภพ. ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิล ช่วงหนึ่งผิวโลก “เป็นอรูปและว่างเปล่า.” ไม่มีทวีปและพื้นแผ่นดินที่จะก่อให้เกิดผล. แต่ถ้อยคำต่อมาเน้น สิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับดาวเคราะห์ที่มีสภาวะเอื้อชีวิต—น้ำจำนวนมากนั่นเอง. พระวิญญาณของพระเจ้า “เคลื่อนไหวไปมาอยู่เหนือผิวน้ำ.”—เยเนซิศ 1:2, ล.ม.
เพื่อน้ำบนพื้นผิวจะยังคงเป็นของเหลว ดาวเคราะห์จะต้องอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะที่เหมาะสม. แอนดรูว์ อินเกอร์ซอลล์ นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์อธิบายว่า “ดาวอังคารหนาวเย็นเกินไป ดาวศุกร์ก็ร้อนเกินไป โลกนี่แหละที่เหมาะสมที่สุด.” คล้ายกัน เพื่อที่พืชพรรณต่าง ๆ จะเจริญงอกงามได้จะต้องมีแสงสว่างเพียงพอ. และที่น่าสังเกตคือ เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า ระหว่างช่วงแรก ๆ ของการสร้าง พระเจ้าทำให้แสงแดดส่องทะลุผ่านเมฆหมอกหนาทึบที่ปกคลุมมหาสมุทรซึ่งเป็นเหมือน “ผ้าอ้อม” ห่อหุ้มทารก.—โยบ 38:4, 9; เยเนซิศ 1:3-5.
ข้อต่อ ๆ ไปในพระธรรมเยเนซิศเราอ่านว่า พระผู้สร้างทรงสร้างสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “พื้นอากาศ.” (เยเนซิศ 1:6-8) พื้นอากาศนี้เต็มไปด้วยก๊าซต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นบรรยากาศของโลก.
จากนั้นคัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่าพระเจ้าทรงเปลี่ยนผิวโลกที่ยังไม่มีรูปร่างแน่นอนให้เป็นแผ่นดินแห้ง. (เยเนซิศ 1:9, 10) ดูเหมือนว่าพระองค์ทำให้เปลือกโลกโค้งนูนขึ้นและเคลื่อนที่. ผลก็คือ เกิดส่วนที่ทรุดตัวเป็นร่องลึกและพื้นทวีปก็ผุดขึ้นจากมหาสมุทร.—บทเพลงสรรเสริญ 104:6-8.
ในช่วงเวลาหนึ่งบนแผ่นดินโลกที่ไม่ได้ระบุแน่ชัด พระเจ้าทรงสร้างสาหร่ายที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นไว้ในมหาสมุทร. โดยใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ขยายพันธุ์ด้วยตัวเองได้ก็เริ่มเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอาหารแล้วปล่อยออกซิเจนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ. ระหว่างช่วงที่สามแห่งการสร้าง กระบวนการอันมหัศจรรย์นี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยการสร้างพืชพรรณซึ่งในที่สุดก็ปกคลุมทั่วแผ่นดินโลก. โดยวิธีนี้ปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีทางเป็นไปได้ที่มนุษย์และสัตว์จะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการหายใจ.—เยเนซิศ 1:11, 12.
เพื่อให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ พระผู้สร้างทรงสร้างจุลินทรีย์หลายชนิดให้อาศัยอยู่ในดิน. (ยิระมะยา 51:15) สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ย่อยสลายสิ่งที่ตายแล้ว และทำให้พืชสามารถนำธาตุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ในการเจริญเติบโต. แบคทีเรียชนิดพิเศษต่าง ๆ ที่อยู่ในดินจะจับไนโตรเจนจากอากาศและทำให้พืชสามารถนำธาตุที่สำคัญยิ่งนี้ไปใช้เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต. น่าทึ่งที่ว่า ดินที่อุดมสมบูรณ์หนึ่งกำมืออาจมีจุลินทรีย์ถึงหกพันล้านตัว!
เยเนซิศ 1:14-19 พรรณนาถึงการปรากฏของดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และดวงดาวในช่วงที่สี่ของการสร้าง. ในตอนแรก นี่อาจดูเหมือนตรงข้ามกับคำอธิบายในพระคัมภีร์ก่อนหน้านี้. อย่างไรก็ตาม จำไว้ว่าโมเซผู้เขียนพระธรรมเยเนซิศบันทึกเรื่องราวการทรงสร้างจากมุมมองของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลกหากเขาอยู่ที่นั่นในตอนนั้น. ดูเหมือนว่าเริ่มมองเห็นดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และดวงดาวผ่านชั้นบรรยากาศของโลกในเวลานั้น.
เรื่องราวในเยเนซิศระบุว่าสัตว์ทะเลปรากฏในช่วงที่ห้าของการสร้าง และในช่วงที่หกเริ่มมีสัตว์บกรวมถึงมนุษย์.—เยเนซิศ 1:20-31.
แผ่นดินโลกถูกสร้างไว้ให้ชื่นชม
คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่าชีวิตบนแผ่นดินโลก ซึ่งเป็นขึ้นมาตามที่พรรณนาไว้ในเยเนซิศ ถูกสร้างให้มีความสุขมิใช่หรือ? คุณเคยตื่นขึ้นมาในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส สูดอากาศที่สดชื่น, และรู้สึกยินดีที่มีชีวิตอยู่ไหม? บางทีคุณอาจเดินเข้าไปในสวนและชื่นชมกับความงามและกลิ่นหอมของดอกไม้. หรือคุณอาจเดินเข้าไปในสวนผลไม้และเก็บผลไม้อร่อย ๆ บางชนิด. ความสุขแบบนั้นคงจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้: (1) น้ำที่มีอย่างอุดมบริบูรณ์บนแผ่นดินโลก, (2) ความร้อนและแสงในปริมาณที่พอเหมาะจากดวงอาทิตย์, (3) ชั้นบรรยากาศของเราซึ่งมีส่วนผสมที่พอดีของก๊าซต่าง ๆ, และ (4) แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์.
ปัจจัยทั้งหมดนี้—ซึ่งหาไม่ได้บนดาวอังคาร, ดาวศุกร์, และดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง—ไม่ใช่ผลผลิตของความบังเอิญที่ปราศจากการควบคุม. สิ่งเหล่านี้ได้รับการปรับตั้งอย่างละเอียดเพื่อทำให้ชีวิตบนแผ่นดินโลกน่าเพลิดเพลิน. บทความถัดไปจะแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวด้วยว่าพระผู้สร้างทรงออกแบบดาวเคราะห์ที่สวยงามของเราให้คงอยู่ตลอดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 ดาวเคราะห์ชั้นในสี่ดวงในระบบสุริยะของเรา ได้แก่ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, โลก, และดาวอังคาร ถูกเรียกว่าดาวเคราะห์แบบโลกเพราะมีพื้นผิวเป็นหิน. ดาวเคราะห์ยักษ์ที่โคจรอยู่ชั้นนอก ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส, และดาวเนปจูน มีองค์ประกอบหลักเป็นก๊าซ.
[กรอบหน้า 6]
“ถ้าผมในฐานะนักธรณีวิทยาถูกเชิญให้อธิบายย่อ ๆ เกี่ยวกับความเห็นของเราในปัจจุบันเรื่องต้นกำเนิดของแผ่นดินโลกและการพัฒนาของชีวิตบนโลกแก่คนเลี้ยงแกะธรรมดา ๆ เช่น ตระกูลต่าง ๆ ที่พระธรรมเยเนซิศบทแรกได้กล่าวถึงนั้น ผมไม่อาจทำอะไรที่ดีไปกว่าการติดตามสิ่งที่กล่าวไว้ส่วนใหญ่ในเยเนซิศบทแรกอย่างใกล้ชิด.”—วอลเลซ แพรต นักธรณีวิทยา.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการศึกษาด้านดาราศาสตร์ด้วย
หากดวงอาทิตย์อยู่บริเวณอื่นของกาแล็กซีของเรา เราคงจะไม่ได้เห็นดวงดาวมากมายขนาดนี้. หนังสือดาวเคราะห์พิเศษ (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “ระบบสุริยะของเราอยู่ . . . ไกลจากบริเวณที่เต็มไปด้วยฝุ่นซึ่งมีแสงมากเกินไป ทำให้เรามีโอกาสที่ดีเยี่ยมที่จะเห็นภาพรวมของดาวในเอกภพทั้งที่อยู่ใกล้และไกลออกไป.”
ยิ่งกว่านั้น ขนาดของดวงจันทร์และระยะห่างจากโลกก็ยังพอเหมาะพอดีที่ทำให้ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไว้มิดในช่วงที่เกิดสุริยุปราคา. เหตุการณ์ที่น่าเกรงขามและเกิดขึ้นไม่บ่อยนี้ทำให้นักดาราศาสตร์มีโอกาสศึกษาเรื่องดวงอาทิตย์. การศึกษาเรื่องนี้เปิดเผยความลับอีกมากมายเกี่ยวกับวิธีที่ดวงดาวส่องแสง.
[ภาพหน้า 5]
มวลของดวงจันทร์มีมากพอที่จะทำให้แกนโลกเอียงทำมุมคงที่
[ภาพหน้า 7]
อะไรทำให้ชีวิตบนแผ่นดินโลกดำรงอยู่ได้? น้ำที่มีอย่างอุดมบริบูรณ์, แสงและความร้อนในปริมาณที่พอเหมาะ, ชั้นบรรยากาศ, และแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์
[ที่มาของภาพ]
Globe: Based on NASA Photo; wheat: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.