รอคอยราชอาณาจักรที่ “มิได้เป็นส่วนของโลกนี้”
เรื่องราวชีวิตจริง
รอคอยราชอาณาจักรที่ “มิได้เป็นส่วนของโลกนี้”
เล่าโดย นีโคไล กุทซุลยัค
เป็นเวลา 41 วันเต็ม ๆ แล้วที่ผมติดอยู่ในเหตุจลาจลที่เรือนจำแห่งหนึ่ง. ทันใดนั้น ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยเสียงปืนใหญ่. รถถังและกองทหารบุกเข้ามาในค่ายเรือนจำ จู่โจมพวกผู้ต้องขัง. ชีวิตของผมแขวนอยู่บนเส้นด้าย.
ผมเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นได้อย่างไร? ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง. เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี 1954. ตอนนั้นผมมีอายุ 30 ปี. เช่นเดียวกับพยานพระยะโฮวาหลายคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ผมถูกจำคุกเนื่องจากวางตัวเป็นกลางในเรื่องการเมืองและเนื่องจากได้ประกาศข่าวราชอาณาจักรของพระเจ้าให้คนอื่น ๆ ฟัง. กลุ่มของพวกเราที่เป็นพยานฯ ในเรือนจำนั้นมีผู้ชาย 46 คนและผู้หญิง 34 คน. เราถูกจำอยู่ในค่ายแรงงานใกล้กับหมู่บ้านเคงกีร์ ในตอนกลางของคาซัคสถาน. เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางผู้ต้องขังอีกนับหมื่นคน.
โจเซฟ สตาลิน ผู้นำของสหภาพโซเวียตได้เสียชีวิตไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น. ผู้ต้องขังหลายคนหวังว่ารัฐบาลใหม่ในกรุงมอสโกจะรับฟังคำร้องเรียนของพวกเขาเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายในเรือนจำ. ในที่สุดความไม่พอใจของพวกผู้ต้องขังก็ลุกลามขึ้นจนกลายเป็นการจลาจลอย่างรุนแรง. ในช่วงที่มีการเผชิญหน้ากันต่อจากนั้น พวกเราที่เป็นพยานฯ ต้องชี้แจงจุดยืนของพวกเราให้ชัดเจนแก่พวกผู้ก่อการที่หัวเสียและยังต้องอธิบายจุดยืนของเราต่อนายทหารผู้คุมด้วย. เพื่อเราจะเป็นกลางอย่างนั้นจำเป็นต้องมีความเชื่อในพระเจ้า.
จลาจล!
ในวันที่ 16 พฤษภาคม เกิดการจลาจลขึ้นในเรือนจำ. สองวันต่อมา ผู้ต้องขังมากกว่า 3,200 คนไม่ยอมไปทำงาน เรียกร้องให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเรียกร้องสิทธิบางอย่างสำหรับนักโทษการเมือง. เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว. ตอนแรกพวกผู้ก่อการบังคับให้ผู้คุมออกไปจากค่าย. จากนั้น พวกเขาเจาะช่องทางเข้าออกที่รั้วซึ่งล้อมรอบค่าย. ต่อมาพวกเขาพังกำแพงที่แยกระหว่างแดนชายกับแดนหญิง ทำให้เกิดมีเรือนพักที่เรียกกันว่า เรือนพักครอบครัว. ในช่วงที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นไม่กี่วันหลังจากนั้น ผู้ต้องขังบางคนถึงกับแต่งงานกัน โดยมีบาทหลวงที่ติดคุกอยู่ด้วยเป็นผู้ทำพิธีแต่งงานให้. ในค่ายแรงงานทั้งสามแดนที่มีการจลาจลเกิดขึ้น ผู้ต้องขังส่วนใหญ่จากจำนวน 14,000 คนเข้าร่วมในการจลาจล.
พวกผู้ก่อการจัดตั้งคณะกรรมการค่ายเพื่อเจรจาต่อรองกับกองทัพ. แต่ไม่นานนัก การโต้เถียงกันก็เกิดขึ้นท่ามกลางสมาชิกในกรรมการค่าย และอำนาจควบคุมในค่ายก็ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มที่เป็นพวกหัวรุนแรงที่สุด. บรรยากาศยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น. พวกผู้นำในการก่อการได้จัดตั้งฝ่ายรักษาความปลอดภัย, ฝ่ายกองกำลัง, และฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อเพื่อรักษา “ความสงบ” ไว้ในค่าย. พวกผู้นำใช้ลำโพงซึ่งติดอยู่บนเสารอบค่ายเพื่อออกแถลงการณ์ด้วยความเผ็ดร้อน และโหมกระพืออารมณ์แห่งการต่อต้านให้ลุกโชนขึ้นอย่างต่อเนื่อง. พวกผู้ก่อการห้ามไม่ให้คนอื่นหลบหนี, ลงโทษคนที่ต่อต้านพวกเขา, และประกาศว่าพร้อมจะฆ่าใครก็ตามที่ไม่ยอมทำตามความต้องการของพวกเขา. มีข่าวลือว่าผู้ต้องขังบางคนถูกฆ่าไปแล้ว.
เนื่องจากพวกผู้ก่อการคาดหมายว่ากองทัพจะบุกเข้ามาโจมตี พวกเขาจึงเตรียมการอย่างดีเพื่อป้องกันตัว. เพื่อจะมั่นใจว่าผู้ต้องขังจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้พร้อมป้องกันค่าย พวกผู้นำจึงสั่งให้ผู้ต้องขังทุกคนพกอาวุธ. เพื่อจะทำเช่นนั้น ผู้ต้องขังจึงถอดลูกกรงเหล็กจากหน้าต่างและตีให้เป็นมีดและอาวุธเหล็กอื่น ๆ. พวกเขาถึงกับได้ปืนและระเบิดด้วย.
ถูกกดดันให้เข้าร่วม
ในตอนนั้น ฝ่ายก่อการสองคนเข้ามาหาผม. คนหนึ่งยื่นมีดที่ลับมาใหม่ ๆ ให้ผม. “เอาไปซะ!” เขาสั่ง. “แกจะต้องใช้มันเพื่อป้องกันตัว.” ผมอธิษฐานเงียบ ๆ ขอพระยะโฮวาช่วยให้ผมสงบใจ. ผมตอบว่า “ผมเป็นคริสเตียน เป็นพยานพระยะโฮวา. ผมกับพยานฯ คนอื่น ๆ ติดคุกที่นี่เพราะเราไม่ยอมต่อสู้กับมนุษย์คนอื่น ๆ แต่เรากำลังต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายวิญญาณที่มองไม่เห็น. อาวุธของเราที่ใช้ต่อสู้พวกมันคือความเชื่อและความหวังในราชอาณาจักรของพระเจ้า.”—เอเฟโซ 6:12.
ผมแปลกใจที่ชายคนนั้นพยักหน้าว่าเขาเข้าใจ. แต่ชายอีกคน
หนึ่งต่อยผมอย่างแรง. แล้วทั้งสองคนก็เดินจากไป. ฝ่ายกบฏเข้าไปในโรงเรือนทุกหลังและพยายามบังคับให้พยานฯ เข้าร่วมในการต่อสู้. แต่พี่น้องทั้งชายและหญิงของเราทุกคนไม่ยอมร่วมด้วย.ความเป็นกลางของพยานพระยะโฮวาถูกนำไปปรึกษากันในการประชุมของคณะกรรมการฝ่ายก่อการ. พวกเขากล่าวว่า “สมาชิกของศาสนาทุกศาสนา ทั้งเพนเทคอสต์, แอดเวนติสต์, แบพติสต์, และคนอื่นทุกคนเข้าร่วมในการต่อต้าน. มีเพียงพยานพระยะโฮวาเท่านั้นที่ไม่ยอม เราจะทำอย่างไรกับพวกเขาดี?” มีคนเสนอให้จับตัวพยานฯ คนหนึ่งโยนลงไปในเตาเผาของเรือนจำเพื่อขู่ให้เรากลัว. แต่อดีตนายทหารคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่คนอื่น ๆ ให้ความเคารพ ยืนขึ้นและพูดว่า “ทำอย่างนั้นไม่ฉลาดเลย. เราน่าจะจับพวกเขาทุกคนใส่ไว้ในห้องขังห้องเดียวกันซึ่งอยู่ริมค่าย ติดกับประตูใหญ่. พอทำอย่างนี้ ถ้าทหารเข้ามาโจมตีเราด้วยรถถัง พวกพยานฯ จะเป็นพวกแรกที่ถูกฆ่า. แล้วเราก็ไม่มีความผิดข้อหาฆ่าพวกเขา.” คนอื่น ๆ ยอมรับข้อเสนอของเขา.
ถูกนำตัวไปอยู่ในวิถีอันตราย
ไม่นาน มีผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งเดินไปรอบค่ายและตะโกนว่า “พยานพระยะโฮวาทุกคน ให้ออกมาข้างนอก!” แล้วพวกเขาก็ต้อนพวกเราทั้งหมด 80 คนเข้าไปในห้องขังห้องหนึ่งที่อยู่ริมค่าย. พวกเขาเอาเตียงนอนออกไปจากห้องเพื่อให้มีที่ว่างมากขึ้นและสั่งให้เราเข้าไปข้างใน. สำหรับเราแล้ว ห้องนั้นกลายเป็นเรือนจำภายในเรือนจำอีกที.
เพื่อจะมีความเป็นส่วนตัวบ้าง พี่น้องหญิงคริสเตียนในกลุ่มของเราเย็บผ้าปูที่นอนเข้าด้วยกัน และเราขึงผ้านั้นเพื่อแบ่งห้องเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับผู้ชายและส่วนหนึ่งสำหรับผู้หญิง. (ต่อมา พยานฯ คนหนึ่งในรัสเซียวาดรูปห้องขังนี้ ซึ่งปรากฏด้านล่าง.) ขณะที่เราอยู่ในห้องแคบ ๆ นั้น เรามักจะอธิษฐานด้วยกัน ทูลขอพระยะโฮวาด้วยใจแรงกล้าให้พระองค์ประทานสติปัญญาและ “กำลังที่มากกว่าปกติ” ให้เรา.—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.
ตลอดเวลานั้น เราต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างฝ่ายก่อการกับฝ่ายกองทัพโซเวียต ซึ่งเป็นอันตรายมาก. ไม่มีใครในพวกเราที่รู้ว่าแต่ละฝ่ายจะทำอะไรต่อไป. พี่น้องชาย
สูงอายุที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งเตือนว่า “อย่าพยายามคาดเดากันไปเองเลย. พระยะโฮวาไม่ทิ้งเราแน่.”พวกพี่น้องหญิงที่รักของเรา ทั้งที่ยังอายุน้อยและสูงอายุ แสดงความอดทนอย่างน่าทึ่ง. คนหนึ่งมีอายุราว ๆ 80 ปีแล้วและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ. ส่วนบางคนก็เจ็บป่วยและต้องการการรักษาพยาบาล. ตลอดช่วงเวลานั้น ประตูของห้องขังถูกเปิดอยู่เสมอเพื่อฝ่ายก่อการจะจับตาดูเราได้ตลอดเวลา. ตอนกลางคืน ผู้ต้องขังที่พกอาวุธจะเข้ามาในห้อง. บางครั้ง มีคนได้ยินพวกเขาบอกว่า “ราชอาณาจักรของพระเจ้าคงหลับไปแล้วล่ะ.” ตอนกลางวัน เมื่อพวกเขาอนุญาตให้เราไปที่ห้องอาหารในค่าย เราจะอยู่รวมกันตลอดเวลาและอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาทรงปกป้องเราจากพวกผู้ชายหัวรุนแรง.
ในห้องขัง เราพยายามหนุนกำลังใจซึ่งกันและกันทางฝ่ายวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น หลายครั้ง พี่น้องชายคนหนึ่งจะเล่าเรื่องราวตอนหนึ่งจากคัมภีร์ไบเบิล ด้วยเสียงดังพอให้เราได้ยิน. แล้วเขาก็จะปรับเรื่องนั้นให้เข้ากับสภาพการณ์ของเรา. พี่น้องชายสูงอายุคนหนึ่งชอบเล่าเรื่องกองทัพของฆิดโอนเป็นพิเศษ. เขาเตือนใจเราว่า “ด้วยพระนามของพระยะโฮวา คน 300 คนที่ถือเครื่องดนตรีออกไปสู้กับทหารติดอาวุธ 135,000 คน. ทั้ง 300 คนกลับมาโดยไม่ได้รับอันตรายอะไรเลย.” (วินิจฉัย 7:16, 22; 8:10) ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ทำให้เรามีกำลังเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. ตอนนั้นผมเพิ่งเข้ามาเป็นพยานฯ ไม่นาน แต่การได้เห็นความเชื่อที่เข้มแข็งของพี่น้องชายหญิงที่มีประสบการณ์มากกว่าทำให้ผมได้รับกำลังใจอย่างมาก. ผมรู้สึกว่าพระยะโฮวาอยู่กับเราจริง ๆ.
การต่อสู้เริ่มขึ้น
สองสามสัปดาห์ผ่านไป และความตึงเครียดในค่ายก็เพิ่มสูงขึ้น. การเจรจาระหว่างฝ่ายก่อการกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็เคร่งเครียดมากขึ้นด้วย. ผู้นำในการก่อการยืนยันให้รัฐบาลกลางในกรุงมอสโกส่งตัวแทนมาเจรจากับพวกเขา. พวกเจ้าหน้าที่เรียกร้องให้ฝ่ายก่อการยอมจำนน, วางอาวุธ, แล้วกลับไปทำงาน. แต่ละฝ่ายไม่ยอมอ่อนข้อให้กันเลย. พอถึงตอนนั้น ทหารก็มาล้อมค่าย พร้อมจะบุกเข้ามาเมื่อได้รับคำสั่งเพียงคำเดียว. ฝ่ายก่อการก็พร้อมจะสู้เช่นกัน โดยได้ตั้งเครื่องกีดขวางและสะสมอาวุธ. ทุกคนคาดหมายว่าในที่สุดจะต้องมีการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพกับฝ่ายผู้ต้องขัง.
ในวันที่ 26 มิถุนายน เราตื่นขึ้นด้วยเสียงปืนใหญ่ที่ดังแสบแก้วหู. รถถังบุกตะลุยฝ่ารั้วเข้ามาในค่าย. ถัดจากรถถังก็มีกองทหารหน่วยจู่โจมที่ยิงปืนกล. ผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงรีบวิ่งเข้าไปหารถถังที่บุกเข้ามาและร้องตะโกนว่า “ฮูร่า!” แล้วก็ขว้างก้อนหิน, ระเบิดที่ทำขึ้นมาเอง, และทุกสิ่งทุกอย่างที่จะหยิบคว้ามาได้ใส่ทหาร. การต่อสู้ที่รุนแรงติดตามมา และพวกเราพยานฯ ก็ติดอยู่ระหว่างกลาง. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือของเราอย่างไร?
ทันใดนั้น ทหารกลุ่มหนึ่งก็รีบเข้ามาในห้องขังของเรา. พวกเขาตะโกนว่า “พวกที่เคร่งศาสนา รีบออกมา! เร็วเข้า
รีบออกไปให้พ้นรั้ว!” พวกเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสั่งไม่ให้ทหารยิงพวกเราแต่ให้อยู่กับเราและคุ้มกันพวกเรา. ขณะที่การต่อสู้ยิ่งทวีความรุนแรง เรานั่งบนเนินเขาที่มีทุ่งหญ้าปกคลุมพ้นจากแนวเขตของค่าย. เป็นเวลาถึงสี่ชั่วโมงที่เราได้ยินเสียงระเบิด, เสียงปืน, เสียงกรีดร้อง, และเสียงโหยหวนจากค่าย. จากนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็เงียบสนิท. ต่อมาในตอนเช้าเมื่อแสงอาทิตย์เริ่มสาดส่อง เราเห็นพวกทหารหิ้วร่างของคนที่ตายแล้วออกมาจากค่าย. เราได้มารู้ว่ามีหลายร้อยคนบาดเจ็บและเสียชีวิต.ต่อมาในวันนั้น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ผมรู้จักเข้ามาหาเรา. เขาถามผมด้วยความภูมิใจว่า “เป็นไงล่ะนีโคไล ใครกันแน่ที่ช่วยพวกคุณ? พวกเราหรือพระยะโฮวา?” เราขอบคุณเขาอย่างจริงใจที่ช่วยชีวิตเรา แต่ก็เสริมว่า “เราเชื่อว่าพระยะโฮวา พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการของเรา กระตุ้นคุณให้ไว้ชีวิตเรา เหมือนกับที่พระองค์กระตุ้นคนอื่น ๆ ให้ช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลให้รอด.”—เอษรา 1:1, 2.
เจ้าหน้าที่คนเดียวกันนั้นอธิบายให้เราทราบอีกว่า ฝ่ายทหารรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นใครและเราอยู่ที่ไหน. เขาบอกว่าระหว่างการเจรจาครั้งหนึ่งระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายก่อการ ฝ่ายทหารกล่าวหาฝ่ายก่อการว่าได้ฆ่าผู้ต้องขังที่ไม่สนับสนุนพวกเขา. เพื่อแก้ข้อกล่าวหานี้ ฝ่ายก่อการตอบว่าพยานพระยะโฮวาไม่ได้เข้าร่วมในการต่อต้านแต่ก็ไม่ได้ถูกฆ่า. แต่เพื่อเป็นการลงโทษ พวกพยานฯ ทั้งหมดจึงถูกขังรวมกันไว้ในห้องเดียว. พวกนายทหารก็จำคำพูดนี้ไว้.
เรายืนหยัดมั่นคงเพื่อราชอาณาจักร
ในหนังสือชื่อหมู่เกาะกูลัก นักเขียนชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงชื่ออะเลคซันเดอร์ โซลเจนิตซิน กล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลในเรือนจำครั้งนี้ที่เราประสบ. เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เขาเขียนว่าการจลาจลเริ่มขึ้นเพราะ “แน่นอน เราต้องการเสรีภาพ . . . แต่ใครจะให้เสรีภาพเราได้?” ในฐานะพยานพระยะโฮวาที่อยู่ในค่ายเดียวกันนั้น เราก็ปรารถนาเสรีภาพเช่นกัน. อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงเสรีภาพจากเรือนจำเท่านั้น แต่เป็นเสรีภาพที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าเท่านั้นที่จะให้ได้. ขณะที่เราอยู่ในเรือนจำ เรารู้ว่าเราต้องการกำลังจากพระเจ้าเพื่อจะยืนหยัดมั่นคงอยู่ฝ่ายราชอาณาจักรของพระองค์. และพระยะโฮวาทรงจัดเตรียมทุกสิ่งที่เราจำเป็นต้องมี. พระองค์ประทานชัยชนะแก่เราโดยไม่ต้องใช้มีดหรือระเบิดมือ.—2 โกรินโธ 10:3.
พระเยซูคริสต์ตรัสแก่ปีลาตว่า “ราชอาณาจักรของเรามิได้เป็นส่วนของโลกนี้. ถ้าราชอาณาจักรของเราเป็นส่วนของโลกนี้ บริวารของเราคงได้ต่อสู้.” (โยฮัน 18:36, ล.ม.) ดังนั้น ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราไม่เข้าร่วมในการต่อสู้ใด ๆ ทางการเมือง. เรามีความสุขที่ว่า ระหว่างและหลังจากการจลาจล ความภักดีของเราต่อราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นสิ่งที่คนอื่นเห็นได้อย่างชัดเจน. โซลเจนิตซินกล่าวถึงความประพฤติของพวกเราในเวลานั้นว่า “พยานพระยะโฮวาพร้อมจะทำตามกฎเกณฑ์ของศาสนาของตนเองอย่างเคร่งครัด และไม่ยอมสร้างเครื่องกีดขวางหรือทำหน้าที่เป็นยาม.”
เหตุการณ์รุนแรงครั้งนั้นผ่านไปมากกว่า 50 ปีแล้ว. อย่างไรก็ตาม ผมมักจะมองย้อนกลับไปถึงช่วงนั้นด้วยความขอบคุณ เพราะผมได้เรียนรู้บทเรียนที่คงทนถาวร เช่น การรอคอยพระยะโฮวาและวางใจในอำนาจอันทรงพลังของพระองค์อย่างเต็มที่. ใช่แล้ว เช่นเดียวกับพยานฯ ที่รักคนอื่น ๆ อีกหลายคนในอดีตสหภาพโซเวียต ผมได้ประสบว่าพระยะโฮวาประทานเสรีภาพ, การปกป้อง, และการช่วยให้รอดแก่คนที่รอคอยราชอาณาจักรที่ “มิได้เป็นส่วนของโลกนี้.”
[ภาพหน้า 9]
ค่ายแรงงานในคาซัคสถานที่ซึ่งเราเคยถูกจำจอง
[ภาพหน้า 10]
ภาพวาดของห้องขังของพยานฯ ในส่วนของผู้หญิง
[ภาพหน้า 11]
กับพี่น้องคริสเตียนตอนที่ถูกปล่อยตัว