ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

นักคัดลอกสมัยโบราณกับพระคำของพระเจ้า

นักคัดลอกสมัยโบราณกับพระคำของพระเจ้า

นัก​คัด​ลอก​สมัย​โบราณ​กับ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า

พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เขียน​เสร็จ​ใน​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​ห้า​ก่อน​สากล​ศักราช. ใน​ช่วง​หลาย​ร้อย​ปี​หลัง​จาก​นั้น พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ชาว​ยิว​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ว่า โซเฟริม และ​ต่อ​มา​ก็​พวก​มาโซเรต​เป็น​ผู้​ที่​คอย​พิทักษ์​ข้อ​ความ​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​อย่าง​เข้มงวด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​นั้น​เขียน​ขึ้น​ตั้ง​แต่​สมัย​โมเซ​และ​ยะโฮซูอะ​แล้ว ก่อน​สมัย​พวก​โซเฟริม​หนึ่ง​พัน​ปี. วัสดุ​ที่​ใช้​บันทึก​พระ​ธรรม​เหล่า​นั้น​ก็​เปื่อย​สลาย​ได้ ฉะนั้น​ม้วน​หนังสือ​จึง​ต้อง​มี​การ​คัด​ลอก​กัน​หลาย​ครั้ง. เรา​รู้​อะไร​บ้าง​เกี่ยว​กับ​งาน​ของ​นัก​คัด​ลอก​ใน​ยุค​แรก? ใน​อิสราเอล​โบราณ​มี​นัก​คัด​ลอก​ที่​ชำนาญ​ไหม?

สำเนา​ต้น​ฉบับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ซึ่ง​มี​ใน​ปัจจุบัน​เป็น​ส่วน​ของ​ม้วน​หนังสือ​ทะเล​ตาย ซึ่ง​บาง​ส่วน​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สาม​และ​สอง​ก่อน​สากล​ศักราช. ศาสตราจารย์​อลัน อาร์. มิลลาร์ด ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาษา​และ​โบราณคดี​ตะวัน​ออก​ใกล้ อธิบาย​ว่า “เรา​ไม่​มี​สำเนา​ส่วน​ใด​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เก่า​แก่​กว่า​นั้น.” เขา​กล่าว​เสริม​ว่า “วัฒนธรรม​ของ​ชาติ​ใกล้​เคียง​บอก​ได้​ว่า​นัก​คัด​ลอก​ใน​สมัย​โบราณ​ทำ​งาน​กัน​อย่าง​ไร และ​ความ​รู้​นี้​จะ​ช่วย​ใน​การ​ประเมิน​คุณค่า​และ​ความ​สำคัญ​ของ​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​และ​ความ​เป็น​มา​ของ​ข้อ​ความ​นั้น.”

อาชีพ​นัก​คัด​ลอก​ใน​สมัย​แรก

มี​การ​เขียน​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​ประวัติศาสตร์, ศาสนา, กฎหมาย, การ​ศึกษา, และ​วรรณคดี ใน​เมโสโปเตเมีย​เมื่อ​สี่​พัน​ปี​มา​แล้ว. โรง​เรียน​นัก​คัด​ลอก​เฟื่องฟู​อย่าง​มาก และ​วิชา​หนึ่ง​ที่​มี​การ​สอน​กัน​คือ การ​คัด​ลอก​ข้อ​ความ​ที่​มี​อยู่​อย่าง​ซื่อ​สัตย์. ผู้​คง​แก่​เรียน​สมัย​ปัจจุบัน​พบ​ว่า​ข้อ​เขียน​ของ​ชาว​บาบิโลน​ที่​มี​การ​คัด​ลอก​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก​ใน​ช่วง​หนึ่ง​พัน​ปี​หรือ​นาน​กว่า​นั้น​มี​ความ​ผิด​พลาด​เพียง​เล็ก​น้อย​เท่า​นั้น.

อาชีพ​นัก​คัด​ลอก​ไม่​ได้​มี​แต่​ใน​เมโสโปเตเมีย​เท่า​นั้น. สารานุกรม​โบราณคดี​ใน​ตะวัน​ออก​ใกล้​ของ​ออกซฟอร์ด (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “นัก​คัด​ลอก​ชาว​บาบิโลน​ใน​ช่วง​กลาง​สหัสวรรษ​ที่​สอง​ก่อน​สากล​ศักราช​คง​คุ้น​เคย​กับ​วิธี​ที่​ใช้​กัน​ใน​ศูนย์กลาง​ของ​นัก​คัด​ลอก​ทั่ว​เมโสโปเตเมีย, ซีเรีย, คะนาอัน, และ​แม้​แต่​อียิปต์.” *

ใน​สมัย​โมเซ ผู้​ที่​มี​อาชีพ​นัก​คัด​ลอก​มี​ฐานะ​พิเศษ​ใน​อียิปต์. นัก​คัด​ลอก​จะ​คัด​ลอก​ผล​งาน​ทาง​วรรณกรรม​อยู่​เสมอ. กิจกรรม​ดัง​กล่าว​มี​ให้​เห็น​ใน​ภาพ​ที่​ตกแต่ง​หลุม​ศพ​ของ​ชาว​อียิปต์​ซึ่ง​มี​อายุ​มาก​กว่า​สี่​พัน​ปี. สารานุกรม​ที่​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​พูด​ถึง​นัก​คัด​ลอก​ใน​ยุค​นั้น​ว่า “เมื่อ​ถึง​สหัสวรรษ​ที่​สอง​ก่อน ส.ศ. พวก​เขา​ก็​มี​สารบบ​งาน​วรรณกรรม​กัน​แล้ว ซึ่ง​แสดง​ถึง​อารยธรรม​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​เมโสโปเตเมีย​และ​อียิปต์ อีก​ทั้ง​ยัง​วาง​หลัก​จรรยา​บรรณ​ไว้​สำหรับ​นัก​คัด​ลอก​อาชีพ​ด้วย.”

“หลัก​จรรยา​บรรณ” นี้​รวม​ถึง​การ​ใช้​บันทึก​ส่ง​ท้าย​เพิ่ม​เข้า​กับ​เนื้อ​ความ​หลัก. บันทึก​ดัง​กล่าว​มี​ชื่อ​ของ​ผู้​คัด​ลอก​และ​ชื่อ​เจ้าของ​แผ่น​ศิลา​หรือ​แผ่นดิน​เหนียว​ที่​จารึก​ข้อ​ความ, วัน​ที่, ที่​มา​ของ​ต้น​ฉบับ​ที่​คัด​ลอก​มา, จำนวน​บรรทัด, และ​อื่น ๆ. ที่​พบ​บ่อย​มาก​คือ​นัก​คัด​ลอก​จะ​เพิ่ม​ข้อ​ความ​ว่า “เอกสาร​นี้​ได้​คัด​ลอก​และ​ตรวจ​ทาน​เรียบร้อย​แล้ว.” ราย​ละเอียด​เหล่า​นี้​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​นัก​คัด​ลอก​สมัย​โบราณ​เป็น​ห่วง​เรื่อง​ความ​ถูก​ต้อง​อย่าง​มาก.

ศาสตราจารย์​มิลลาร์ด​ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ใน​ตอน​ต้น กล่าว​ว่า “จะ​เห็น​ได้​ว่า​ขั้น​ตอน​การ​คัด​ลอก​นั้น​รวม​ไป​ถึง​การ​ตรวจ​และ​แก้ไข ซึ่ง​ขั้น​ตอน​นี้​จะ​มี​วิธี​ป้องกัน​ความ​ผิด​พลาด​อยู่​ใน​ตัว. วิธี​เหล่า​นี้​บาง​อย่าง โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​การ​นับ​บรรทัด​หรือ​คำ​ก็​เป็น​ธรรมเนียม​ที่​ทำ​กัน​ใน​หมู่​พวก​มาโซเรต​ใน​ตอน​ต้น​ของ​ยุค​กลาง​ด้วย.” ดัง​นั้น ใน​สมัย​ของ​โมเซ​และ​ยะโฮซูอะ ทัศนะ​ที่​ส่ง​เสริม​เรื่อง​การ​ถ่ายทอด​งาน​เขียน​อย่าง​ระมัดระวัง​และ​ถูก​ต้อง​ก็​มี​อยู่​แล้ว​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง.

ใน​หมู่​ชาว​อิสราเอล​มี​นัก​คัด​ลอก​ที่​มี​ความ​สามารถ​ไหม? หลักฐาน​ภาย​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ให้​เห็น​เช่น​ไร?

นัก​คัด​ลอก​ใน​อิสราเอล​โบราณ

โมเซ​เติบโต​มา​ใน​ฐานะ​สมาชิก​คน​หนึ่ง​ใน​ราชสำนัก​ของ​ฟาโรห์. (เอ็กโซโด 2:10; กิจการ 7:21, 22) ผู้​ที่​ศึกษา​เกี่ยว​กับ​อียิปต์​โบราณ​ให้​ความ​เห็น​ว่า การ​ศึกษา​ที่​โมเซ​ได้​รับ​คง​ต้อง​รวม​ถึง​การ​มี​ทักษะ​ใน​การ​อ่าน​และ​เขียน​อักษร​ของ​ชาว​อียิปต์​และ​อย่าง​น้อย​ต้อง​มี​ทักษะ​บาง​อย่าง​ของ​นัก​คัด​ลอก​ด้วย. ศาสตราจารย์​เจมส์ เค. โฮฟไมเยอร์ กล่าว​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ที่​ชื่อ​อิสราเอล​ใน​อียิปต์ (ภาษา​อังกฤษ) ดัง​นี้ “มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​เชื่อ​คำ​บอก​เล่า​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า​โมเซ​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​บันทึก​เหตุ​การณ์, จัด​ทำ​บันทึก​การ​เดิน​ทาง, และ​งาน​อื่น ๆ ที่​นัก​คัด​ลอก​ทำ​กัน.” *

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​คน​อื่น ๆ ใน​อิสราเอล​โบราณ​ที่​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​คัด​ลอก​ด้วย. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​ประวัติศาสตร์​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เคมบริดจ์ (ภาษา​อังกฤษ) โมเซ “ได้​แต่ง​ตั้ง​ผู้​ทำ​งาน​ด้าน​อักษร . . . เพื่อ​ให้​บันทึก​คำ​ตัดสิน​ต่าง ๆ และ​จัด​ระบบ​ประชาชน​ตาม​ลำดับ​ชั้น.” ข้อ​สรุป​ดัง​กล่าว​อาศัย​พระ​บัญญัติ 1:15 ที่​กล่าว​ว่า “เรา [โมเซ] จึง​ได้​เลือก​คน​หัวหน้า​ใน​ทุก​ตระกูล​ของ​พวก​เจ้า . . . ตั้ง​ไว้​เป็น​ใหญ่​เหนือ​เจ้า​ทั้ง​หลาย ให้​เป็น​นาย​พัน, นาย​ร้อย, นาย​ห้า​สิบ, นาย​สิบ, และ​พนักงาน​ต่าง ๆ ตาม​ตระกูล​ของ​พวก​เจ้า.” ใคร​คือ​พนักงาน​เหล่า​นี้?

คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “พนักงาน” ปรากฏ​อยู่​หลาย​ครั้ง​ใน​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​พูด​ถึง​สมัย​ของ​โมเซ​และ​ยะโฮซูอะ. ผู้​คง​แก่​เรียน​หลาย​คน​อธิบาย​ว่า​คำ​นี้​หมาย​ถึง “เลขานุการ​ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​บันทึก,” “ผู้​ที่ ‘เขียน’ หรือ ‘บันทึก,’ ” และ “เจ้าหน้าที่​ที่​ช่วย​ผู้​พิพากษา​ใน​งาน​เลขานุการ.” การ​ที่​คำ​ฮีบรู​นี้​ปรากฏ​อยู่​หลาย​ครั้ง​แสดง​ว่า​มี​เลขานุการ​เหล่า​นี้​อยู่​จำนวน​มาก​ใน​อิสราเอล​และ​พวก​เขา​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​กว้างขวาง​ใน​การ​บริหาร​ชาติ​ใน​ตอน​แรก.

ตัว​อย่าง​ที่​สาม​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ปุโรหิต​ของ​อิสราเอล. สารานุกรม​จูไดกา​กล่าว​ว่า “ด้วย​หน้า​ที่​ใน​ด้าน​ศาสนา​และ​ด้าน​อื่น ๆ พวก​เขา​จึง​จำเป็น​ต้อง​รู้​วิธี​อ่าน​และ​เขียน.” ตัว​อย่าง​เช่น โมเซ​สั่ง​ลูก​หลาน​ชาว​เลวี​ว่า “ครั้น​ถ้วน​ครบ​ทุก​เจ็ด​ปี . . . เจ้า​จง​อ่าน​พระ​บัญญัติ​นี้​ให้​พวก​ยิศราเอล​ทั้ง​ปวง​ฟัง.” เหล่า​ปุโรหิต​กลาย​มา​เป็น​ผู้​เก็บ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ฉบับ​ทาง​การ. พวก​เขา​มอบ​อำนาจ​และ​ควบคุม​ดู​แล​การ​คัด​สำเนา​จาก​พระ​บัญญัติ​นั้น.—พระ​บัญญัติ 17:18, 19; 31:10, 11.

ให้​เรา​ดู​ว่า​มี​การ​ทำ​สำเนา​ฉบับ​แรก​ของ​พระ​บัญญัติ​กัน​อย่าง​ไร. ใน​ช่วง​เดือน​สุด​ท้าย​ของ​ชีวิต​โมเซ ท่าน​บอก​กับ​ชาว​อิสราเอล​ว่า “ใน​วัน​ที่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ข้าม​แม่น้ำ​จอร์แดน​เข้า​สู่​แผ่นดิน​ซึ่ง​พระ​เยโฮวาห์​พระเจ้า​ของ​ท่าน​ประทาน​แก่​ท่าน ท่าน​จง​ตั้ง​ศิลา​ก้อน​ใหญ่ ๆ ขึ้น​เอา​ปูน​โบก​เสีย แล้ว​ท่าน​จง​จารึก​ถ้อย​คำ​ของ​กฎหมาย​นี้​ไว้​บน​นั้น.” (พระ​บัญญัติ 27:1-4, ฉบับ​แปล​ใหม่) หลัง​จาก​เมือง​เยริโค​และ​เมือง​อาย​ถูก​ทำลาย​แล้ว พวก​อิสราเอล​ได้​ชุมนุม​กัน​ที่​ภูเขา​เอบาล ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​กลาง​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา. ณ ที่​นั่น​ยะโฮซูอะ​ได้​จารึก “กฎหมาย . . . ตาม​แบบ​ซึ่ง​ท่าน​โมเซ​ได้​จารึก” ไว้​บน​หิน​ของ​แท่น​บูชา​แห่ง​หนึ่ง​จริง ๆ. (ยะโฮซูอะ 8:30-32) การ​จารึก​นั้น​จะ​เกิด​ขึ้น​ได้​ก็​ต่อ​เมื่อ​มี​ทั้ง​ผู้​เขียน​และ​ผู้​อ่าน. นั่น​แสดง​ว่า ชาว​อิสราเอล​สมัย​แรก​จะ​ต้อง​มี​ความ​รู้​ทาง​ภาษา​และ​ทักษะ​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​รักษา​ข้อ​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ไว้​อย่าง​ถูก​ต้อง.

ความ​ถูก​ต้อง​ของ​พระ​คัมภีร์

หลัง​จาก​สมัย​ของ​โมเซ​และ​ยะโฮซูอะ​ก็​มี​การ​เขียน​พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฮีบรู​ขึ้น​อีก​หลาย​เล่ม และ​มี​การ​คัด​สำเนา​ด้วย​มือ. เมื่อ​สำเนา​เหล่า​นี้​เก่า​แล้ว หรือ​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​เนื่อง​จาก​ความ​ชื้น​หรือ​รา​ก็​ต้อง​มี​การ​ทำ​ฉบับ​ใหม่​ขึ้น​มา​แทน. การ​คัด​สำเนา​จึง​มี​มา​นาน​หลาย​ศตวรรษ.

ถึง​แม้​ผู้​คัด​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​ระมัดระวัง​กัน​มาก ความ​ผิด​พลาด​ก็​ยัง​มี​อยู่​อย่าง​ไม่​อาจ​หลีก​เลี่ยง​ได้. แต่​ความ​ผิด​พลาด​ของ​ผู้​คัด​ลอก​ได้​ทำ​ให้​ข้อ​ความ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​ขนาน​ใหญ่​ไหม? ไม่​เลย. ข้อ​ผิด​พลาด​เหล่า​นั้น​เป็น​เพียง​จุด​เล็ก ๆ น้อย ๆ และ​ไม่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ความ​ถูก​ต้อง​โดย​รวม​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล ดัง​ที่​พิสูจน์​แล้ว​โดย​การ​สอบ​ทาน​กับ​สำเนา​ต้น​ฉบับ​ที่​เก่า​แก่.

สำหรับ​คริสเตียน​แล้ว ทัศนะ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ที่​ทรง​มี​ต่อ​พระ​ธรรม​เล่ม​แรก ๆ เป็น​สิ่ง​ยืน​ยัน​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ได้​เป็น​อย่าง​ดี. คำ​ตรัส​เช่น “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ยัง​ไม่​ได้​อ่าน​คัมภีร์​ของ​โมเซ​หรือ?” และ “โมเซ​ได้​ให้​บัญญัติ​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มิ​ใช่​หรือ?” แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​ถือ​ว่า​สำเนา​ซึ่ง​คัด​ลอก​ด้วย​มือ​ที่​มี​อยู่​ตอน​ที่​พระองค์​ทรง​อยู่​บน​โลก​นั้น​เชื่อถือ​ได้. (มาระโก 12:26; โยฮัน 7:19) นอก​จาก​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ยืน​ยัน​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ฮีบรู​ทั้ง​หมด​เมื่อ​พระองค์​ตรัส​ว่า “บรรดา​คำ​ที่​เขียน​ไว้​ใน​บัญญัติ​ของ​โมเซ, และ​ใน​คัมภีร์​ของ​เหล่า​ศาสดา​พยากรณ์, และ​ใน​คัมภีร์​เพลง​สดุดี​กล่าว​เล็ง​ถึง​เรา​นั้น​จำเป็น​จะ​ต้อง​สำเร็จ.”—ลูกา 24:44.

เรา​จึง​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ได้​รับ​การ​ถ่ายทอด​มา​จาก​สมัย​โบราณ​อย่าง​ถูก​ต้อง. เป็น​จริง​ดัง​ที่​ผู้​พยากรณ์​ยะซายา​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ให้​กล่าว​ว่า “หญ้า​นั้น​ก็​เหี่ยว​แห้ง, และ​ดอกไม้​ก็​ร่วงโรย​ไป, แต่​พระ​ดำรัส​ของ​พระเจ้า​ของ​เรา​จะ​ยั่งยืน​อยู่​เป็น​นิจ.”—ยะซายา 40:8.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 ยะโฮซูอะ ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ช่วง​กลาง​สหัสวรรษ​ที่​สอง​ก่อน ส.ศ. กล่าว​ถึง​เมือง​ของ​คะนาอัน​ที่​ชื่อ คีริยาทเสเฟอร์ ซึ่ง​แปล​ว่า “เมือง​แห่ง​หนังสือ” หรือ “เมือง​ของ​นัก​คัด​ลอก.”—ยะโฮซูอะ 15:15, 16, ฉบับ​แปล​ใหม่.

^ วรรค 12 ข้อ​อ้างอิง​ที่​แสดง​ว่า​โมเซ​บันทึก​เรื่อง​ทาง​กฎหมาย​พบ​ได้​ที่​เอ็กโซโด 24:4, 7; 34:27, 28; และ​พระ​บัญญัติ 31:24-26. ท่าน​ได้​บันทึก​เพลง​บท​หนึ่ง​ไว้​ที่​พระ​บัญญัติ 31:22 และ​บันทึก​การ​เดิน​ทาง​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร​มี​กล่าว​ถึง​ที่​อาฤธโม 33:2.

[ภาพ​หน้า 18]

นัก​คัด​ลอก​ชาว​อียิปต์​ขณะ​ทำ​งาน

[ภาพ​หน้า 19]

พระ​ธรรม​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​สมัย​ของ​โมเซ