ทุ่งนา “เหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว”
ทุ่งนา “เหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว”
สุดแดนตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้คือแหลมกวาฮีรา ซึ่งเป็นภาคเหนือของโคลัมเบีย และเป็นภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวเนซุเอลา. แสงแดดที่แผดกล้าและฝนตกในปริมาณน้อยมากเป็นปัจจัยทำให้ภูมิภาคนี้เป็นกึ่งทะเลทราย ซึ่งอุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส. แม้สภาพดินฟ้าอากาศเป็นเช่นนี้ก็ตาม คนที่นี่เป็นเกษตรกรที่ขยัน เอาการเอางานและมีประสิทธิผล. กระแสลมเย็นจากทะเลที่พัดเข้ามาอย่างสม่ำเสมอและลมสินค้าจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ชีวิตดำเนินได้ไม่ลำบากเกินไป ผู้คนที่มาเยือนก็เพลิดเพลินหลงใหลกับทิวทัศน์และหาดทรายที่งดงาม.
ยินดีต้อนรับสู่แดนอินเดียนแดงเผ่าไวยู. ประมาณกันว่ามีชนเผ่าไวยู 305,000 คน ในจำนวนนี้ 135,000 คนอยู่ในโคลัมเบีย. ชนเผ่านี้อาศัยอยู่ที่นี่มานานก่อนสเปนยึดเป็นเมืองขึ้น.
การทำมาหากินดั้งเดิมของเผ่าไวยูคือการเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรรม. นอกจากนั้น พวกเขาจับปลาและติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน. ส่วนผู้หญิงถนัดทอผ้าสีสดใสหลากหลาย และผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยว.
ชนเผ่าไวยูเป็นที่รู้จักกันว่ามีความจริงใจและโอบอ้อมอารี. อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็เช่นเดียวกันกำลังอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง อันเป็นสาเหตุที่นำความยุ่งยากด้านอื่น ๆ มาสู่พวกเขา เช่น การไม่รู้หนังสือ, ภาวะทุโภชนาการในกลุ่มเด็กทารก, ขาดการรักษาพยาบาล, และในบางท้องที่มีการกระทำผิดกฎหมาย.
เป็นเวลาหลายสิบปี นิกายต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรได้ส่งพวกมิชชันนารีไปอยู่ท่ามกลางเผ่าไวยู. ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนฝึกหัดครูและโรงเรียนกินนอนส่วนใหญ่จึงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของโบสถ์. ชนเผ่าไวยูจำนวนมากรับเอาธรรมเนียมที่อ้างว่าเป็นประเพณีของคริสเตียน อาทิ การบูชารูปเคารพและการให้ทารกรับบัพติสมา แต่พวกเขาไม่ทิ้งความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีต้นตอมาจากนิยายปรัมปราและการถือโชคถือลาง.
โดยทั่วไป พวกไวยูเกรงกลัวพระเจ้าและชอบความจริงของคัมภีร์ไบเบิลที่พยานพระยะโฮวาสอน. ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ที่แหลมกวาฮีรามีชาวไวยูที่เป็นพยานฯ เพียงเจ็ดคน สามคนอยู่ที่ริโออาชาเมืองหลวง. นอกจากพยานฯ คนพื้นเมืองแล้วยังมีผู้ประกาศอีก 20 คนเผยแพร่ข่าวดีเกี่ยวกับราชอาณาจักรเป็นภาษาสเปนในเมืองนั้น.
ข่าวสารภาษาท้องถิ่น
ชาวไวยูส่วนใหญ่ที่อาศัยในเมืองริโออาชานอกจากใช้ภาษาไวยูไนคิซึ่งเป็นภาษาพื้นเมือง พวกเขาพูดภาษาสเปนได้บ้างเล็กน้อย. ทีแรก การเผยแพร่ข่าวราชอาณาจักรไม่ค่อยจะบรรลุผลสำเร็จ. ดูเหมือนว่าคนพื้นเมืองจะหลบเลี่ยงชาวอาริฮูนาส ชื่อที่พวกเขาเรียกผู้คนที่ไม่ใช่ชาวไวยู. เมื่อ
พยานฯ ไปประกาศที่บ้านของเขา ชาวไวยูส่วนใหญ่พูดโต้ตอบด้วยภาษาของเขาเอง จะไม่พูดภาษาสเปน. พยานฯ ก็เพียงแต่ผ่านเลยไปเยี่ยมบ้านถัดจากนั้น.อย่างไรก็ตาม พอมาในปลายปี 1994 สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในประเทศโคลัมเบียได้มอบหมายไพโอเนียร์พิเศษหรือผู้สอนคัมภีร์ไบเบิลเต็มเวลากลุ่มหนึ่งไปรับใช้ที่ประชาคมริโออาชา. เหล่าไพโอเนียร์ขอพยานฯ ชาวไวยูช่วยสอนภาษาไวยูไนคิ. หลังจากฝึกเรียนและจำคำง่าย ๆ บางคำพอที่จะเสนอข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลได้ ผู้เผยแพร่เหล่านี้ก็ออกไปยังเขตงาน และสังเกตเห็นได้ทันทีทันใดถึงท่าทีตอบรับของผู้คนเปลี่ยนไป. แม้ผู้สอนคัมภีร์ไบเบิลพูดภาษาไวยูไนคิได้กระท่อนกระแท่น เจ้าของบ้านรู้สึกประหลาดใจและยินดี อีกทั้งเต็มใจรับฟัง บางครั้งพวกเขายังสนทนาต่ออย่างมีชีวิตชีวาด้วยภาษาสเปนซึ่งพอพูดได้ไม่มาก!
“เหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว”
อัครสาวกเปาโลเปรียบงานสอนของคริสเตียนเพื่อช่วยคนเข้ามาเป็นสาวกเหมือนการเพาะปลูกในไร่นา ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ชาวไวยูซึ่งทำการเกษตรเข้าใจได้ง่าย. (1 โกรินโธ 3:5-9) ในแง่ความหมายโดยนัย ทุ่งนาของชาวไวยู “เหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว” จริง ๆ.—โยฮัน 4:35.
นีล ชาวอินเดียนแดงเผ่าไวยู ซึ่งอยู่ในเมืองมานาอูเร ทนทรมานด้วยโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด. เนื่องด้วยความพิการ เขาจึงกล่าวโทษพระเจ้า และรู้สึกหดหู่มากจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย. พยานฯ คนหนึ่งซึ่งฉวยโอกาสประกาศตามบ้านระหว่างที่ไปทำงานอาชีพของเขาตามเมืองต่าง ๆ พูดคุยกับนีลเรื่องราชอาณาจักรของพระยะโฮวา. นีลอายุแค่ 14 ปีเท่านั้น. เมื่อมองเห็นความสนใจของนีล พยานฯ คนนี้จึงเริ่มนำการศึกษาพระคัมภีร์กับเขา. นีลมีความสุขเมื่อได้มาเรียนรู้เรื่องบุคลิกภาพที่เปี่ยมด้วยความรักของพระยะโฮวา และเขาจึงได้มาสรุปว่าพระเจ้าไม่ใช่ต้นเหตุทำให้เขาทนทุกข์ทรมาน. เขารู้สึกตื้นตันเหลือเกินเมื่อได้อ่านคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับอุทยานทางแผ่นดินโลก ซึ่งจะไม่มีความเจ็บป่วยอีกเลย!—ยะซายา 33:24; มัดธาย 6:9, 10.
เวลานั้น ครอบครัวของนีลมีเรื่องอาฆาตบาดหมางกับอีกครอบครัวหนึ่ง. ด้วยความพยายามที่จะป้องกันครอบครัวตัวเอง หมู่ญาติของนีลได้ประกอบพิธีกรรมบางอย่างของเผ่า. นีลเล่าเหตุการณ์คราวนั้นว่า “ทีแรกผมไม่กล้าพูดกับครอบครัวในเรื่องความเชื่อที่ผมเพิ่งเรียนรู้ โดยเฉพาะกับพวกผู้ใหญ่ในบ้านผู้ซึ่งเราเคารพนับถืออย่างยิ่ง.” พ่อแม่ของนีลโกรธเมื่อรู้ว่านีลไม่ยอมรับความเชื่อใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล ทั้งไม่ยอมปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมอันเกี่ยวเนื่องกับลัทธิภูตผีปิศาจ. เมื่อเป็นเช่นนั้น นีลจึงย้ายไปที่เมืองริโออาชาและเริ่มคบหากับประชาคมที่นั่น. ต่อมาเขาได้รับบัพติสมา. ปี 1993 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ ต่อจากนั้นสามปีเขาสมัครเป็นไพโอเนียร์ประจำ. ครั้นมาในปี 1997 เขาถูกแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองในประชาคม. ปี 2000 เขาขยายงานรับใช้ของเขาออกไปโดยการเป็นไพโอเนียร์พิเศษ.
ขอพิจารณากรณีของเทเรซาด้วย เธอเป็นชาวไวยูแต่กำเนิดซึ่งได้เริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับเหล่าพยานฯ. เธออยู่กินกับชายชื่อแดเนียลโดยไม่แต่งงาน เขาเยาะเย้ยและทำร้ายร่างกายเธอรวมถึงลูกของพวกเขาทั้งสามคน. ถึงแม้ในตอนหลังเขายินยอมศึกษาพระคัมภีร์พร้อมกับเทเรซา แต่ก็มักจะออกไปนอกบ้านดื่มหัวราน้ำกับเพื่อนฝูง บางครั้งไปนานถึงสี่ห้าวัน. เขาปล่อยให้ครอบครัวยากจน. เทเรซายังคงแน่วแน่ตั้งใจศึกษาและเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. นี่
ช่วยให้แดเนียลมองเห็นความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์. แล้วลูกคนหนึ่งของพวกเขาพลัดตกลงไปในหม้อน้ำที่เดือดอยู่ถูกน้ำร้อนลวกและเสียชีวิต. นอกจากจะโศกเศร้าเป็นเวลานานเพราะการตายของลูกแล้ว เทเรซายังต้องรับมือความกดดันจากเพื่อนและเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้จัดงานศพตามประเพณีนิยม ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์.ในช่วงยุ่งยากลำบากนั้น คนทั้งสองได้รับการช่วยเหลือและการปลอบโยนให้กำลังใจจากสมาชิกของประชาคมซึ่งอยู่ใกล้ ๆ. หลังงานศพ ประชาคมภาษาไวยูในท้องถิ่นยังคงเยี่ยมเยียนให้การหนุนใจพวกเขาอย่างต่อเนื่อง. ครั้นเห็นพี่น้องในประชาคมแสดงความรักเช่นนั้น แดเนียลจึงรู้สึกถูกกระตุ้นให้ทำความก้าวหน้าในด้านความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและมีสัมพันธภาพกับพระองค์. เขาเลิกดื่มและเลิกทำร้ายเทเรซา. ทั้งสองคนได้แต่งงานกันอย่างถูกต้อง แดเนียลเริ่มทำงานอย่างแข็งขันหาเลี้ยงครอบครัว. ทั้งคู่ก้าวหน้าในความรู้ของพระเจ้าและมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์ และรับบัพติสมาในปี 2003. ทั้งสองนำการศึกษาพระคัมภีร์หลายราย. เนื่องจากเทเรซาได้ให้คำพยานที่ดีแก่ครอบครัว ญาติของเธอเริ่มสนใจรับฟังเมื่อพยานฯ ออกไปประกาศตามบ้าน. หลานชายคนหนึ่งของแดเนียลเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา และหลานสาวสองคนกำลังศึกษาพระคัมภีร์และเข้าร่วมการประชุมประชาคม. พี่สะใภ้ของเทเรซาซึ่งลูกชายได้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเหมือนกัน รวมทั้งครอบครัวของเธอก็แสดงความสนใจอยากศึกษาพระคัมภีร์เช่นเดียวกัน.
อาหารฝ่ายวิญญาณภาษาไวยูไนคิ
ปี 1998 มีการออกหนังสือเล่มเล็กเพลิดเพลินกับชีวิตบนแผ่นดินโลกตลอดไป! * ในภาษาไวยูไนคิ. หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือที่มีคุณค่าต่อการเจริญเติบโตในเขตงานของเผ่าไวยูและการนำศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้าน. ปี 2003 มีการจัดเตรียมให้พี่น้องชายหลายคนรับการฝึกอบรมให้แปลหนังสือของพยานพระยะโฮวาเป็นภาษาไวยูไนคิ. ด้วยความขยันหมั่นเพียรของกลุ่มผู้แปลในเมืองริโออาชา จึงมีจุลสารออกใหม่ให้อ่านหลายเล่ม ช่วยเสริมเหล่าสาวกที่พูดภาษาไวยูไนคิให้เติบโตเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ.
นับจากปี 2001 มีล่ามที่แปลบางส่วนของระเบียบวาระการประชุมภาคเป็นภาษาไวยูไนคิ. นักศึกษาพระคัมภีร์ได้รับการกระตุ้นฝ่ายวิญญาณเมื่อได้ฟังระเบียบวาระการประชุมในภาษาของเขาเอง. พวกเขาคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะได้ชมละครจากคัมภีร์ไบเบิลในภาษาไวยูไนคิด้วย.
เขตงานที่เจริญงอกงาม
เมืองอุริบยาอยู่ห่างจากริโออาชาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร. ประชาคมอุริบยาไวยูมีผู้ประกาศราชอาณาจักร 16 คน ในจำนวนนี้มีหลายคนบากบั่นมากขึ้นที่จะไปประกาศแก่ชาวอินเดียนแดงในเขตชนบท. ผู้ปกครองคนหนึ่งพูดถึงการเดินทางของประชาคมไปประกาศในแถบนั้นครั้งหนึ่งว่า “พวกเราแวะที่หมู่บ้านเลี้ยงสัตว์ มีบ้านสิบกว่าหลัง ซึ่งมีหลังคาทรงเตี้ยและช่องหน้าต่างเล็ก ๆ. หน้าบ้านแต่ละหลังเป็นเพิงที่ทำด้วยโยโตโฮโล ซึ่งเป็นเนื้อไม้อยู่ภายในลำต้นตะบองเพชร. ครอบครัวของเจ้าบ้านและแขกจะนั่งหลบแดดร้อนกันที่นั่น. พวกเราดีใจที่เห็นหลายคนแสดงความสนใจอย่างมาก ดังนั้น เราเตรียมการกลับเยี่ยมและเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์. เมื่อกลับเยี่ยม เราสังเกตเห็นว่าหลายคนไม่รู้หนังสือ. พวกเขาเล่าว่าเคยมีโรงเรียนแต่ร้างไปแล้วเพราะขาดกองทุนสนับสนุน. ด้วยใจกรุณา คนที่ดูแลสถานที่ได้อนุญาตให้เราใช้หนึ่งห้องเป็นชั้นเรียนสอนหนังสือ และใช้สำหรับนำการศึกษาพระคัมภีร์ด้วย. ชายหญิงชาวไวยูหกคนได้เรียนจนอ่านออกเขียนได้และกำลังก้าวหน้าด้านการศึกษาพระคัมภีร์. ความหยั่งรู้ค่าและความสนใจของพวกเขามีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเรา ดังนั้น เรามีโครงการที่จะจัดการประชุมขึ้น ณ หมู่บ้านเลี้ยงสัตว์แห่งนี้.”
พยานฯ จำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่คนในท้องถิ่นได้เรียนภาษาไวยูไนคิ และความช่วยเหลือของพวกเขาได้รับการหยั่งรู้ค่ามากทีเดียว. บนแหลมกวาฮีรา ณ เวลานี้มีแปดประชาคมและพยานฯ อีกสองกลุ่มที่ใช้ภาษานี้.
เป็นที่ประจักษ์แจ้งว่าพระยะโฮวาทรงพอพระทัยความบากบั่นพยายามเหล่านี้. ไม่ต้องสงสัย มีหลายสิ่งที่ยังต้องทำเพื่องานประกาศข่าวดีจะได้สำเร็จลุล่วงท่ามกลางชาวไวยู. คาดหมายได้ว่าจะมีความก้าวหน้าต่อไป ขณะที่คนเหล่านั้นซึ่งสำนึกถึงความต้องการฝ่ายวิญญาณของตนเข้ามาเป็นสาวกคริสเตียน. ขอพระยะโฮวาโปรดส่งผู้เผยแพร่มากขึ้นเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวเขตงานนี้ที่ “เหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว.”—มัดธาย 9:37, 38.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[แผนที่หน้า 16]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เวเนซุเอลา
โคลัมเบีย
ลา กวาฮีรา
มานาอูเร
ริโออาชา
อุริบยา
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Wayuu camp below: Victor Englebert