ชัยชนะในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป
ชัยชนะในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2007 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปในสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ได้แถลงอย่างเป็นทางการว่ามีคำวินิจฉัยโดยเอกฉันท์ให้พยานพระยะโฮวาในรัสเซียชนะคดีที่มีกับสหพันธรัฐรัสเซีย. คำวินิจฉัยนี้สนับสนุนเสรีภาพทางศาสนาของพยานพระยะโฮวาและสิทธิที่พวกเขาจะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม. ขอให้เรามาดูว่าคดีนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร.
ประชาคมแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวาในเมืองคีลยาบิงสก์ ประเทศรัสเซีย มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหูหนวก. พวกเขาเช่าห้องประชุมของวิทยาลัยอาชีวะเพื่อใช้เป็นที่ประชุม. วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2000 การประชุมของพวกเขาถูกขัดจังหวะโดยประธานหรือข้าหลวงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภูมิภาคพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรสองนายและตำรวจนอกเครื่องแบบอีกหนึ่งนาย. เนื่องจากมีอคติ โดยเฉพาะข้าหลวงคนนั้น การประชุมจึงถูกสั่งให้ยุติลงพร้อมด้วยข้อหาเท็จที่กุขึ้นว่าเป็นการจัดการประชุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย. วันที่ 1 พฤษภาคม 2000 มีการยกเลิกสัญญาเช่าห้องประชุมนั้น.
พยานพระยะโฮวายื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานอัยการประจำเมืองคีลยาบิงสก์ แต่ไม่เกิดผลอะไร. รัฐธรรมนูญของรัสเซียและอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานรับรองเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพของการคบหาสมาคม. ดังนั้น จึงมีการยื่นคำร้องทุกข์ทางแพ่งต่อศาลแขวงแล้วตามด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์. ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 30 กรกฎาคม 1999 ศาลสูงสุดได้ตัดสินในอีกคดีหนึ่งว่า “สอดคล้องกับกฎหมายของรัสเซียว่าด้วยเสรีภาพแห่งมโนธรรมและการสมาคมทางศาสนา วลีที่ว่า ‘ปราศจากการขัดขวาง’ หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีการอนุญาตหรือขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนที่จะปฏิบัติศาสนกิจในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ [เพื่อจุดประสงค์นั้น].” (ข้อความในวงเล็บเหลี่ยมเป็นของเขาเอง.) ทั้ง ๆ ที่มีตัวอย่างคำตัดสินนี้ แต่คำร้องทุกข์ต่อศาลแขวงและศาลอุทธรณ์ก็ถูกเพิกเฉย.
วันที่ 17 ตุลาคม 2001 คดีนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป. มีการนั่งพิจารณาในวันที่ 9 กันยายน 2004. ข้อความต่อไปนี้ตัดตอนมาจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่ศาลได้ตัดสิน:
“ศาลสิทธิมนุษยชนลงความเห็นว่าสิทธิของผู้ยื่นคำร้องที่จะมีเสรีภาพทางศาสนานั้นถูกรบกวนในวันที่ 16 เมษายน 2000 เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การชุมนุมทางศาสนายุติลงก่อนเวลา.”
“เห็นได้ชัดว่าไม่มีพื้นฐานตามกฎหมายในการสั่งยุติการปฏิบัติศาสนกิจในอาคารที่มีการเช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์นั้น.”
“[ศาลสิทธิมนุษยชน] ขอประกาศหลักกฎหมายที่เสมอต้นเสมอปลายซึ่งถือเอาคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานแห่งศาลสูงสุดของรัสเซียให้ความหมายว่าการชุมนุมทางศาสนานั้นไม่จำเป็นต้องมีการอนุญาตใด ๆ ก่อนหรือไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ.”
“ดังนั้น จึงมีการฝ่าฝืนอนุสัญญามาตรา 9 [เสรีภาพทางศาสนา] เพราะมีการขัดขวางการประชุมทางศาสนาของผู้ยื่นคำร้องในวันที่ 16 เมษายน 2000 โดยข้าหลวงและผู้ช่วยของเธอ.”
“ศาลสิทธิมนุษยชนลงความเห็นว่าศาลภายในประเทศไม่ได้ทำตามหน้าที่ของตน . . . ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการรับฟังคู่กรณีทั้งสองอย่างถูกต้องเป็นธรรม. จึงเป็นการฝ่าฝืนอนุสัญญามาตรา 6 [สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม].”
พยานพระยะโฮวารู้สึกขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงช่วยให้มีชัยชนะในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป. (บทเพลงสรรเสริญ 98:1) คำวินิจฉัยของศาลนั้นจะส่งผลกว้างไกลขนาดไหน? โจเซฟ เค. เกรเบาส์กี ผู้อำนวยการสถาบันเกี่ยวกับศาสนาและนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า “นี่เป็นคำวินิจฉัยที่มีนัยสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ส่งผลต่อเสรีภาพทางศาสนาทั่วยุโรป เพราะคำวินิจฉัยนี้จะมีผลต่อสิทธิทางศาสนาในทุกรัฐที่อยู่ภายใต้ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป.”