การรับสุหนัตสัญลักษณ์ของความเป็นลูกผู้ชายหรือ?
การรับสุหนัตสัญลักษณ์ของความเป็นลูกผู้ชายหรือ?
ในหลายส่วนของโลก ถือกันว่าการให้ทารกชายรับสุหนัตเป็นมาตรการทางสุขภาพ. ในส่วนอื่น ๆ ของโลก ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายจะไม่รับสุหนัตเลยตลอดชีวิต. สำหรับบางคน เช่น ชาวยิวและมุสลิม การรับสุหนัตไม่เพียงแต่เป็นมาตรการทางสุขภาพเท่านั้น แต่มีนัยสำคัญทางศาสนาด้วย.
อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ มีการประกอบพิธีรับสุหนัตเมื่อเด็กชายย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม. โดยปกติแล้วนี่เกี่ยวข้องกับการส่งเด็กเข้าโรงเรียนสอนธรรมเนียมประเพณี ที่นั่นเขาจะรับสุหนัตและแยกตัวจากชุมชนหลายสัปดาห์จนกว่าเขาหายจากการผ่าตัด. ระหว่างช่วงเวลานั้น เด็กจะทำตามพิธีต่าง ๆ ที่กำหนดไว้และได้รับการสอนการดำเนินชีวิตอย่างลูกผู้ชาย. การรับสุหนัตแบบนี้จำเป็นไหมเพื่อพิสูจน์ว่าเด็กเป็นหนุ่มแล้ว? ขอเราพิจารณาว่าคัมภีร์ไบเบิลกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับทัศนะของพระเจ้าในเรื่องนี้.—สุภาษิต 3:5, 6.
ทัศนะของพระเจ้าเกี่ยวกับการรับสุหนัต
บางคนในสมัยโบราณเช่นชาวอียิปต์มีการรับสุหนัตซึ่งเป็นการขลิบหนังหุ้มปลายองคชาตของผู้ชาย. อย่างไรก็ตาม อับราฮามไม่ได้เกิดมาในวัฒนธรรมเช่นนั้น. อันที่จริง อับราฮามรับสุหนัตเมื่ออายุมากแล้ว. ยิ่งกว่านั้น ในช่วงที่ท่านยังไม่รับสุหนัต อับราฮามพิสูจน์ให้เห็นว่าท่านเป็นชายที่กล้าหาญ. ท่านกับกองกำลังเล็ก ๆ ได้ไล่ติดตามและเอาชนะกองทัพของกษัตริย์สี่องค์ที่จับตัวโลตหลานของท่านไป. (เยเนซิศ 14:8-16) ราว ๆ 14 ปีต่อมา พระเจ้าทรงบัญชาให้อับราฮามรับสุหนัตและให้ทั้งครัวเรือนของท่านรับสุหนัตด้วย. เหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาเช่นนั้น?
แน่นอนว่าการรับสุหนัตไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ว่าอับราฮามได้ก้าวจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่ม. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะท่านรับสุหนัตเมื่ออายุ 99 ปีแล้ว! (เยเนซิศ 17:1, 26, 27) พระเจ้าให้เหตุผลที่ทรงบัญชาเช่นนั้นโดยตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายต้องเข้าพิธีตัดหนังองคชาต, เพื่อเป็นหมายสำคัญแห่งคำสัญญาไมตรีในระหว่างเรากับเจ้า.” (เยเนซิศ 17:11) สัญญากับอับราฮามหมายรวมถึงคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าโดยทางอับราฮาม ในที่สุดจะมีการนำพระพรมากมายสู่ “บรรดาพงศ์พันธุ์ของมนุษย์โลก.” (เยเนซิศ 12:2, 3) ดังนั้น ในทัศนะของพระเจ้าแล้ว การรับสุหนัตไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นลูกผู้ชาย. มีการให้รับสุหนัตเพื่อแสดงว่าคนนั้นเป็นลูกหลานอิสราเอลเชื้อสายของอับราฮามซึ่งมีสิทธิพิเศษ “ได้เป็นผู้รับมอบพระคัมภีร์โอวาทของพระเจ้าให้รักษา.”—โรม 3:1, 2.
ในที่สุด ชนชาติอิสราเอลแสดงให้เห็นว่าไม่คู่ควรกับความไว้วางใจนั้นโดยการปฏิเสธพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นพงศ์พันธุ์แท้ของอับราฮาม. ดังนั้น พระเจ้าจึงปฏิเสธพวกเขา และสถานภาพของการรับสุหนัตก็หมดความหมายในสายพระเนตรของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกยืนยันว่าการรับสุหนัตยังคงเป็นข้อเรียกร้องของพระเจ้า. (กิจการ 11:2, 3; 15:5) เนื่องด้วยเหตุนี้ อัครสาวกเปาโลจึงส่งติโตเพื่อไป “จัดแจงกิจที่ยังบกพร่องอยู่นั้นให้เรียบร้อย” ในหลายประชาคม. ท่านเปาโลเขียนถึงติโตเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งที่ยังบกพร่องอยู่ดังนี้: “มีคนเป็นอันมากที่ดื้อกะด้าง, ที่พูดมากไม่เป็นสาระ, และที่หลอกลวงคนอื่นให้หลง คนเหล่านั้นมีพวกที่รับพิธีสุหนัต [“คนที่ยึดมั่นกับการรับสุหนัต,” ล.ม.] เป็นตัวเอ้ จำเป็นต้องปิดปากเขาเสีย ด้วยเขาพลิกบ้านคว่ำทั้งครัวเรือนให้เสียไป, และเขา สอนสิ่งที่ไม่ควรจะสอนเลยโดยมักได้เห็นแก่เล็กแก่น้อย.”—ติโต 1:5, 10, 11.
คำแนะนำของท่านเปาโลยังใช้ได้อยู่. คงขัดกับพระคัมภีร์อย่างแน่นอนถ้าคริสเตียนแท้กระตุ้นใครสักคนให้ลูกของเขารับสุหนัต. แทนที่จะเป็นคน “เที่ยวยุ่งกับธุระของคนอื่น” คริสเตียนให้บิดามารดาเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องส่วนตัวนั้น. (1 เปโตร 4:15) ยิ่งกว่านั้น ท่านเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนเกี่ยวกับการรับสุหนัตตามพระบัญญัติของโมเซดังนี้: “มีชายคนใดถูกเรียก (มาเป็นคริสเตียน) เมื่อตนได้รับพิธีสุหนัตแล้วหรือ อย่าให้เขากลับเป็นเหมือนคนที่ไม่ได้รับ. หรือมีชายคนใดถูกเรียก (มาเป็นคริสเตียน) เมื่อตนมิได้รับพิธีสุหนัตหรือ อย่าให้เขารับพิธีสุหนัตเลย. การที่รับพิธีหรือไม่รับพิธีสุหนัตไม่สำคัญอะไร แต่การประพฤติตามพระบัญญัติของพระเจ้านั้นสำคัญ. จงให้ทุกคนอยู่ในฐานะที่เขาอยู่เมื่อพระเจ้าทรงเรียก (มาให้เป็นคริสเตียน) นั้น.”—1 โกรินโธ 7:18-20.
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับ “โรงเรียนสำหรับการรับสุหนัต”?
จะว่าอย่างไรถ้าบิดามารดาคริสเตียนตัดสินใจให้ลูกชายของตนรับสุหนัต? จะเป็นการสอดคล้องกับพระคัมภีร์ไหมที่จะส่งลูกของตนไปยังที่ที่เรียกกันว่าโรงเรียนสำหรับการรับสุหนัตดังที่อธิบายไว้ตอนต้นบทความ? การเข้าโรงเรียนดังกล่าวเกี่ยวข้องไม่ใช่แค่การขลิบหนังหุ้มปลายองคชาตเท่านั้น. คนที่เข้าโรงเรียนนั้นจะอยู่ใกล้ชิดกับเด็กผู้ชายและครูที่ไม่ได้เป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาเป็นเวลาหลายสัปดาห์. โรงเรียนเหล่านี้สอนหลายเรื่องที่ขัดกับมาตรฐานสูงด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิล. คัมภีร์ไบเบิลเตือนดังนี้: “การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.”—1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.
การเข้าโรงเรียนเหล่านี้ยังมีอันตรายด้านร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. ในปี 2003 วารสารการแพทย์แอฟริกาใต้ (ภาษาอังกฤษ) ให้คำเตือนว่า “ผลที่น่ากลัวของการรับสุหนัตยังมีให้เห็นอีกครั้งในปีนี้ สำนักข่าวใหญ่ ๆ ทั้งหมดรายงานข่าวไปทั่วโลกเกี่ยวกับการเสียชีวิตและการถูกทำให้พิการ. . . . กล่าวโดยสรุปคือ ที่ที่เรียกกันว่า ‘โรงเรียนสำหรับการรับสุหนัต’ หลายแห่งในทุกวันนี้เป็นการหลอกลวงและทำให้เสียชีวิตได้.”
นอกจากเสี่ยงที่จะทำให้สุขภาพร่างกายที่ดีของเด็กเสียหายแล้ว ยังมีอันตรายทางฝ่ายวิญญาณที่สำคัญยิ่งกว่าอีก. คำสอนและกิจปฏิบัติต่าง ๆ ในโรงเรียนสำหรับการรับสุหนัตเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับลัทธิภูตผีปิศาจและการนมัสการบรรพบุรุษ. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะยอมรับว่าผู้ทำการขลิบที่ไม่ระมัดระวังและสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัยก่อให้เกิดอันตรายในการรับสุหนัต หลายคนกลับเชื่อว่าเวทมนตร์หรือการที่บรรพบุรุษซึ่งตายไปแล้วไม่พอใจเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ที่เศร้าสลด. คัมภีร์ไบเบิลให้คำสั่งเกี่ยวกับการติดต่อกับศาสนาเท็จดังนี้: “อย่าเข้าเทียมแอกด้วยกันกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีหุ้นส่วนอะไรกับความชั่ว? และความสว่างจะเข้าสนิทกันกับความมืดได้อย่างไร? . . . เหตุฉะนั้นพระเจ้าจึงตรัสว่า, ‘เจ้าจงออกมาจากท่ามกลางเขาเหล่านั้น, และจงอยู่ต่างหาก อย่าถูกต้องสิ่งซึ่งมลทิน และเราจะรับเจ้าทั้งหลายไว้.’ ” (2 โกรินโธ 6:14-17) เมื่อคำนึงถึงคำแนะนำนี้ จึงนับว่าไม่สุขุมอย่างยิ่งที่บิดามารดาคริสเตียนจะส่งลูกชายของตนเข้าโรงเรียนสำหรับการรับสุหนัต.
อะไรทำให้คริสเตียนเป็นลูกผู้ชาย?
ไม่ว่าชายคริสเตียนรับสุหนัตหรือไม่ก็ตาม นั่นไม่มีผลกระทบต่อความเป็นลูกผู้ชายของเขาแต่อย่างใด. สิ่งที่คริสเตียนแท้เป็นห่วงอันดับแรกคือการเป็นที่พอพระทัยในสายพระเนตรของพระเจ้า ไม่ใช่ “ที่ปรารถนาได้หน้าตามเนื้อหนัง.”—ฆะลาเตีย 6:12.
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า คริสเตียนต้องรับ ‘สุหนัตที่หัวใจ.’ (พระบัญญัติ 10:16; 30:6, ล.ม.; มัดธาย 5:8) การรับสุหนัตนี้ ไม่ใช่โดยใช้มีด แต่โดยการปฏิเสธความปรารถนาที่ผิดและความคิดที่หยิ่งทะนงตน เช่น ความเชื่อที่ว่าการรับสุหนัตทางเนื้อหนังทำให้ตนเองเหนือกว่าคนอื่น. คริสเตียนสามารถพิสูจน์ว่าตนเองเป็นลูกผู้ชายโดยอดทนต่อการทดลองต่าง ๆ และการ “ตั้งมั่นคงในความเชื่อ” ไม่ว่าเขารับสุหนัตหรือไม่รับก็ตาม.—1 โกรินโธ 16:13; ยาโกโบ 1:12.