จุดเด่นจากพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา
ผู้พยากรณ์ยิระมะยาได้เห็นข่าวสารการพิพากษาที่ท่านได้ประกาศเป็นเวลา 40 ปีสำเร็จเป็นจริง. ผู้พยากรณ์รู้สึกเช่นไรเมื่อเห็นความพินาศของกรุงอันเป็นที่รักด้วยตาตัวเอง? ในบทนำของพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยาฉบับกรีกเซปตัวจินต์กล่าวว่า “ยิระมะยาจึงนั่งลงร่ำไห้คร่ำครวญด้วยเพลงร้องทุกข์ถึงกรุงเยรูซาเลม.” พระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ถูกแต่งขึ้นในช่วงปี 607 ก่อนสากลศักราชขณะที่ความทรงจำเรื่องการล้อมกรุงนาน 18 เดือนและการเผากรุงเยรูซาเลมยังคงชัดเจนในจิตใจของท่านผู้พยากรณ์ และพระธรรมนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเจ็บปวดรวดร้าวหัวใจของยิระมะยา. (ยิระมะยา 52:3-5, 12-14) ไม่มีเมืองอื่นใดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการคร่ำครวญถึงด้วยถ้อยคำที่ชวนให้โศกเศร้าและสะเทือนใจเช่นนี้.
พระธรรมบทเพลงร้องทุกข์เป็นชุดคำกลอนห้าบท. สี่บทแรกเป็นบทเพลงคร่ำครวญ ส่วนบทที่ห้าเป็นคำอ้อนวอน หรือการอธิษฐาน. เพลงสี่บทแรกเป็นแบบอะครอสติก ซึ่งแต่ละบาท (ข้อ) จะเริ่มต้นด้วยอักขระฮีบรูหนึ่งใน 22 ตัวเรียงลำดับกันไป. แม้เพลงบทที่ห้าจะมี 22 ข้อซึ่งเท่ากับจำนวนอักขระฮีบรู แต่ก็ไม่ได้จัดเรียงตามอักขระ.
“นัยน์ตาของข้าพเจ้า ก็ทรุดโทรมเพราะหลั่งน้ำตา”
(บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 1:1–2:22)
“กรุงที่แต่ก่อนคับคั่งด้วยพลเมือง, บัดนี้มาอ้างว้างอยู่ได้อย่างไรหนอ? กรุงที่แต่ก่อนรุ่งเรืองในท่ามกลางเมืองทั้งปวงนั้น, ครั้นมาบัดนี้กลายเป็นดุจดังหญิงม่ายอย่างไรกันหนอ? กรุงที่เคยเป็นดังเจ้าหญิงในท่ามกลางอาณานิคมทั้งหลายนั้น, มีอย่างไรจึงกลับมาเป็นเมืองต้องส่งส่วยเช่นนี้หนอ?” ผู้พยากรณ์ยิระมะยาเริ่มต้นคร่ำครวญเกี่ยวกับกรุงเยรูซาเลมด้วยถ้อยคำเหล่านี้. ผู้พยากรณ์ยิระมะยาชี้แจงเหตุผลที่เกิดความหายนะเช่นนั้นโดยกล่าวว่า “พระยะโฮวาได้ทำให้นางทุกข์เพราะความผิดอันมหันต์ของนาง.”—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 1:1, 5.
กรุงเยรูซาเลมซึ่งถูกเปรียบเป็นหญิงม่ายที่เป็นทุกข์โศกเศร้าเพราะสูญเสียสามีและบุตร ได้ถามว่า “มีความทุกข์ใดบ้างไหมอันเหมือนความทุกข์ที่เขาได้ทำกับข้าพเจ้า”? ในเรื่องศัตรูของนาง นางอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า “ขอให้บรรดาความชั่วของเขาทั้งหลายมาปรากฏต่อพระพักตร์ของพระองค์, และขอให้ทรงกระทำแก่เขาทั้งหลายเหมือนอย่างพระองค์ได้กระทำแก่ข้าพเจ้าเพราะความผิดของข้าพเจ้าเถิด; ด้วยความสะท้อนถอนใจของข้าพเจ้านั้นมากมายหลายครั้ง, และจิตต์ใจของข้าพเจ้าก็อ่อนเพลียเต็มทีแล้ว.”—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 1:12, 22.
ด้วยความรู้สึกโศกเศร้าอย่างสุดซึ้ง ยิระมะยากล่าวว่า “ด้วยความกริ้วพระองค์ได้ตัดบรรดาสิงห์แห่งยิศราเอลขาดเสียสิ้น; พระองค์ได้หดพระหัตถ์เบื้องขวามาเสียจากหน้าศัตรู: และได้เผาผลาญตระกูลยาโคบดุจเพลิงลุกโพลงไหม้กินไปรอบ ๆ.” ท่านผู้พยากรณ์คร่ำครวญอย่างที่ทำให้เห็นภาพความโศกเศร้าอย่างยิ่งว่า “นัยน์ตาของข้าพเจ้าก็ทรุดโทรมเพราะหลั่งน้ำตา, จิตต์ใจของข้าพเจ้าก็ระบมบอบช้ำแทบอาเจียนเป็นโลหิตตกลงดิน.” แม้แต่คนที่เดินผ่านไปมาก็ยังรู้สึกฉงนสนเท่ห์และกล่าวว่า “นี่หรือคือกรุงที่คนทั้งปวงได้ขนานนามว่างามหมดจด, ว่าเป็นความชื่นชมยินดีของคนทั่วทั้งโลก?”—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 2:3, 11, 15.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:15—พระยะโฮวาทรง “เหยียบย่ำลูกสาว [“พรหมจารี,” ล.ม.] แห่งยะฮูดาดังเหยียบผลองุ่นลงในหีบบีบ น้ำองุ่น” อย่างไร? ในการทำลายกรุงซึ่งได้รับการพรรณนาว่าเป็นหญิงพรหมจารี ชาวบาบิโลนทำให้เมืองนั้นเกิดการนองเลือดถึงขนาดที่เปรียบได้กับการบีบพวงองุ่นในหีบน้ำองุ่น. พระยะโฮวาตรัสล่วงหน้าในเรื่องนี้และทรงยอมให้เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าพระองค์ ‘เหยียบหีบบีบน้ำองุ่น.’
2:1—‘สง่าราศีของอิสราเอลตกจากฟ้าลงถึงดิน’ อย่างไร? เนื่องจาก “ฟ้าสวรรค์สูงกว่าแผ่นดินโลก” การทำให้สิ่งที่ถูกยกย่องต่ำต้อยลงบางครั้งก็เปรียบได้กับการ “ตกจากฟ้าลงถึงดิน.” “สง่าราศีของยิศราเอล” ซึ่งก็คือความรุ่งโรจน์และอำนาจที่ได้รับเนื่องจากการอวยพรจากพระยะโฮวา ถูกทำลายจนหมดสิ้นในคราวพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมและความร้างเปล่าของแผ่นดินยูดาห์.—ยะซายา 55:9, ฉบับแปลใหม่.
2:1, 6 (ฉบับแปลใหม่)—“แท่นรองพระบาท” และ “เพิง” ของพระยะโฮวาคืออะไร? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายจะเข้าไปในพลับพลาของพระองค์; จะนมัสการกราบลงที่รองพระบาทของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 132:7) ฉะนั้น “แท่นรองพระบาท” ในบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 2:1 พาดพิงถึงสถานนมัสการพระยะโฮวาหรือพระวิหารของพระองค์. ชาวบาบิโลน “ได้เผาไหม้โบสถ์แห่งพระยะโฮวา” ประหนึ่งเป็นเพิง หรือเป็นแค่กระท่อมกลางสวน.—ยิระมะยา 52:12, 13.
2:17—“คำตรัส” อะไรโดยเฉพาะของพระยะโฮวาที่สำเร็จเป็นจริงเกี่ยวกับเยรูซาเลม? ดูเหมือนว่าเป็นการพาดพิงถึงคำตรัสที่เลวีติโก 26:17 ซึ่งกล่าวว่า “เราจะตั้งพักตร์ของเราต่อสู้แก่เจ้า, และจะให้เจ้าทั้งหลายล้มตายลงต่อหน้าศัตรู, ผู้ที่ชังเจ้าจะข่มขืนเหนือเจ้าทั้งหลาย, และเจ้าทั้งหลายจะหนีกระจายไปด้วยไม่มีผู้ใดไล่ตาม.”
บทเรียนสำหรับเรา:
1:1-9. กรุงเยรูซาเลมเปรียบเหมือนสตรีที่สะอึกสะอื้นร่ำไห้ในยามราตรี และน้ำตาก็ไหลอาบแก้ม. ประตูเมืองถูกทิ้งร้าง และปุโรหิตก็ทอดถอนใจ. หญิงสาวพรหมจารีเป็นทุกข์เดือดร้อน และกรุงเยรูซาเลมเองก็ขื่นขม. เพราะเหตุใด? เพราะเยรูซาเลมได้ทำบาปใหญ่หลวงนัก. สิ่งที่ไม่สะอาดของนางเกรอะกรังอยู่ที่ผ้านุ่ง. ผลของการล่วงละเมิดไม่น่ายินดีเลย มันมีแต่น้ำตา, การทอดถอนใจ, การโศกเศร้า, และความขื่นขม.
1:18. ในการลงโทษผู้ล่วงละเมิด พระยะโฮวาทรงสำแดงความยุติธรรมและความชอบธรรมเสมอ.
2:20. ชาวอิสราเอลได้รับคำเตือนว่า หากพวกเขาไม่ฟังคำตรัสของพระยะโฮวา พวกเขาจะถูกแช่งสาป ซึ่งหมายรวมถึงการกิน ‘เนื้อบุตรชายหญิงของเขา.’ (พระบัญญัติ 28:15, 45, 53) ช่างไม่ฉลาดสักเพียงไรที่จะเลือกแนวทางที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้า!
“ขออย่าได้ทรงอุดพระกรรณไม่ให้ยินคำวิงวอนของข้าพเจ้า”
(บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:1–5:22)
ในบทเพลงร้องทุกข์บท 3 ชาติอิสราเอลถูกกล่าวถึงว่าเป็น “มนุษย์ผู้หนึ่ง.” แม้ได้รับความยากลำบาก แต่เขาก็ร้องเพลงดังนี้: “พระยะโฮวาทรงดีต่อคนทั้งปวงที่ได้รอ ท่าพระองค์, ต่อจิตต์ใจที่ได้แสวงหาพระองค์.” ในคำอธิษฐานถึงพระเจ้าเที่ยงแท้ เขาทูลว่า “ทรงสดับเสียงร้องของข้าพเจ้า . . . , ขออย่าได้ทรงอุดพระกรรณไม่ให้ยินคำวิงวอนของข้าพเจ้า, และการพิลาปร่ำไห้ของข้าพเจ้าเลย.” ในการขอให้พระยะโฮวาทรงใส่ใจคำตำหนิติเตียนของศัตรู เขากล่าวว่า “โอ้พระยะโฮวา, พระองค์คงจะได้สนองผลตามกรรมแห่งน้ำมือของเขา.”—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:1, 25, 56, 64.
ยิระมะยาเผยความรู้สึกที่มีต่อผลอันเลวร้ายยิ่งของการปิดล้อมกรุงเยรูซาเลมนาน 18 เดือน และคร่ำครวญว่า “โทษโพยของการกระทำผิดแห่งบุตรีของพลเมืองข้าพเจ้านั้นก็ใหญ่โตกว่าโทษโพยของการกระทำบาปแห่งเมืองซะโดม, ที่ต้องคว่ำทลายลงในพริบตาเดียว, โดยไม่มีมือใครได้แตะต้องเลย.” ยิระมะยากล่าวต่อไปว่า “คนที่ถูกฆ่าให้ตายด้วยคมกะบี่ยังดีกว่าคนที่ต้องตายอดตายอยาก; เพราะคนเหล่านี้ค่อยผอมค่อยตายไป, ทั่วสารพางค์กายต้องซูบโทรมเพราะขาดเสบียงอาหาร.”—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 4:6, 9.
กลอนบทห้าให้ภาพว่าชาวกรุงเยรูซาเลมเป็นผู้กล่าว. พวกเขากล่าวว่า “โอ้พระยะโฮวา, ขอได้โปรดสังเกตว่าได้มีอะไรตกมาต้องพวกข้าพเจ้า; ขอได้พิจารณาดูความอัปยศอดสูของพวกข้าพเจ้า.” เมื่อบรรยายถึงความทุกข์ที่ได้รับ พวกเขาทูลอ้อนวอนดังนี้: “พระยะโฮวา, พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิจ, พระที่นั่งของพระองค์ดำรงอยู่ชั่วฟ้านิรันดร์. โอ้พระยะโฮวา, ขอได้ทรงช่วยเอาพวกข้าพเจ้าให้ได้กลับคืนไปสู่พระองค์เถิด, แล้วพวกข้าพเจ้าจะได้หันเข้าหาพระองค์ได้, ขอได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงชีวิตของพวกข้าพเจ้าไว้ใหม่, ให้เหมือนเมื่อครั้งอดีตกาลเถิด.”—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 5:1, 19, 21.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
3:16—ถ้อยคำที่ว่า “พระองค์ได้เลาะฟันของข้าพเจ้าเสียด้วยก้อนกรวด” บ่งชี้ถึงอะไร? แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “ช่วงการเดินทางตอนที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ชาวยิวจำเป็นต้องอบขนมปังในหลุมที่ขุดลงไปในดิน ขนมปังของพวกเขาจึงมีกรวดทรายปนอยู่ด้วย.” การกินขนมปังเช่นนั้นจึงอาจทำให้ฟันบิ่นได้.
4:3, 10—เหตุใดยิระมะยาจึงเปรียบ “บุตรีแห่งพลเมือง [ของท่าน]” ว่าเป็นเหมือน “นกกระจอกเทศในป่าทราย”? โยบ 39:16 กล่าวว่า นกกระจอกเทศ “ไม่ไยดีต่อลูกของมัน, ราวกับว่าไม่ใช่ลูกของมันเอง.” ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ไข่นกกระจอกเทศฟักออกเป็นตัวแล้ว นกกระจอกเทศตัวเมียก็จะทิ้งลูกไว้และออกไปกับตัวเมียอื่น ๆ ส่วนตัวผู้ก็จะทำหน้าที่เลี้ยงลูกน้อย. และเกิดอะไรขึ้นถ้ามีอันตรายเข้ามาใกล้พวกมัน? ทั้งตัวผู้และตัวเมียก็จะหนีออกจากรังและทิ้งลูกของมันไป. ช่วงที่บาบิโลนปิดล้อม กรุงเยรูซาเลมเกิดการกันดารอาหารอย่างหนัก จนผู้เป็นแม่ซึ่งปกติแล้วจะเมตตาลูก กลับทำสิ่งที่โหดเหี้ยมกับลูกของตนเหมือนนกกระจอกเทศในป่าทราย. นี่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับแม่หมาในที่ดูแลลูกของมัน.
5:7—พระยะโฮวาทรงคิดบัญชีกับประชาชนสำหรับความผิดที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ ไหม? ไม่ พระยะโฮวาไม่ทรงลงโทษผู้คนโดยตรงเพราะบาปที่บรรพบุรุษได้ทำไว้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เราทั้งหลายทุกคนต้องให้การด้วยตัวเองแก่พระเจ้า.” (โรม 14:12) อย่างไรก็ตาม ผลสืบเนื่องจากความผิดอาจยังคงอยู่และคนรุ่นต่อ ๆ มาอาจได้รับผลกระทบ. ตัวอย่างเช่น การที่ชาวอิสราเอลโบราณหันไปบูชารูปเคารพส่งผลทำให้เป็นเรื่องยากแม้แต่สำหรับชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์ในยุคต่อมาจะยึดมั่นกับแนวทางชอบธรรม.—เอ็กโซโด 20:5.
บทเรียนสำหรับเรา:
3:8, 43, 44. ช่วงที่ความหายนะกำลังบังเกิดแก่กรุงเยรูซาเลม พระยะโฮวาไม่สดับฟังเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากชาวกรุงนั้น. เพราะเหตุใด? เพราะประชาชนไม่เชื่อฟังและยังไม่ยอมกลับใจ. ถ้าเราต้องการให้พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเรา เราต้องเชื่อฟังพระองค์.—สุภาษิต 28:9.
3:20. พระยะโฮวาผู้ทรงเป็น “พระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก” ทรงสูงส่งยิ่งจนต้องลดพระองค์ลงมาเพื่อ “ทอดพระเนตรลงมาพิจารณาดูฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 83:18; 113:6) กระนั้น ยิระมะยาทราบดีว่าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการเต็มใจถ่อมพระทัยพิจารณาดูมนุษย์ โดยพระองค์น้อมลงมาอยู่ในระดับเดียวกับมนุษย์เพื่อจะชูใจพวกเขา. ช่างน่ายินดีสักเพียงไรที่พระเจ้าเที่ยงแท้ไม่เพียงแต่ทรงฤทธานุภาพทุกประการและทรงพระปรีชาญาณเท่านั้น แต่ยังทรงถ่อมพระทัยด้วย!
3:21-26, 28-33. เราจะอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสได้อย่างไร? ยิระมะยาให้คำตอบกับเรา. เราไม่ควรลืมว่าพระยะโฮวาทรงกระทำด้วยความกรุณารักใคร่อย่างล้นเหลือและความเมตตาของพระองค์มีอเนกอนันต์. นอกจากนั้น เราน่าจะจำไว้ด้วยว่า การที่เรามีชีวิตอยู่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะไม่สิ้นหวังและเราต้องอดทนและสงบใจรอคอยการช่วยให้รอดจากพระยะโฮวาโดยไม่บ่น. ยิ่งกว่านั้น เราควร “เอาปากจดไว้ในผงคลีดิน” ซึ่งหมายถึงยอมรับความลำบากอย่างถ่อมใจโดยตระหนักว่าคงมีเหตุผลที่ดีที่พระเจ้ายอมให้เกิดขึ้น.
3:27. การเผชิญการทดสอบความเชื่อในตอนที่ยังเป็นเยาวชนอาจหมายถึงการอดทนต่อความยากลำบากและการเยาะเย้ย. แต่นับ “เป็นการดีที่มนุษย์จะรับเอาแอกมาแบกในปฐมวัย.” เพราะเหตุใด? เพราะการเรียนรู้ที่จะแบกรับแอกแห่งความทุกข์ยากในขณะที่อายุยังน้อยจะช่วยเตรียมเขาไว้ให้รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในวันข้างหน้า.
3:39-42. ‘การบ่น’ เมื่อเกิดความทุกข์ยากลำบากเพราะบาปของเราเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาด. แทนที่จะบ่นเรื่องที่เราเก็บเกี่ยวผลจากการกระทำผิด “ให้พวกเราพินิจและพิจารณาดูวิถีทางของเรา, และกลับมาหาพระยะโฮวาอีก.” นับว่าสุขุมที่เราจะกลับใจและแก้ไขแนวทางของเรา.
จงให้พระยะโฮวาเป็นที่หวังพึ่งของคุณ
พระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยาเผยให้เห็นวิธีที่พระยะโฮวามองกรุงเยรูซาเลมและแผ่นดินยูดาห์หลังจากที่ชาวบาบิโลนเผากรุงนี้จนกลายเป็นที่ร้างเปล่า. ถ้อยคำที่แสดงถึงการยอมรับความผิดบาปที่มีบันทึกไว้ในพระธรรมนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจากทัศนะของพระยะโฮวา เหตุผลที่กรุงนี้ประสบความทุกข์เดือดร้อนก็เพราะประชาชนทำผิด. นอกจากนั้น บทเพลงที่ได้รับโดยการดลใจในพระธรรมนี้มีเนื้อเพลงที่แสดงถึงความหวังในพระยะโฮวาและความปรารถนาที่จะหันกลับมาดำเนินในแนวทางที่ถูกต้อง. แม้นี่ไม่ใช่ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสมัยยิระมะยา แต่ก็เป็นความรู้สึกของยิระมะยาและคนที่เหลือที่กลับใจ.
การประเมินสถานการณ์ของกรุงเยรูซาเลมของพระยะโฮวาดังที่เผยให้เห็นในพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยาให้บทเรียนที่สำคัญยิ่งแก่เราสองเรื่อง. เรื่องแรกคือ พินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมและความร้างเปล่าในแผ่นดินยูดาห์กระตุ้นเราให้เชื่อฟังพระยะโฮวาและเตือนเราไม่ให้เพิกเฉยต่อพระประสงค์ของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 10:11) บทเรียนที่สองได้จากตัวอย่างของยิระมะยา. (โรม 15:4) แม้แต่ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนสิ้นหวัง ผู้พยากรณ์ที่โศกเศร้าอย่างมากก็ยังคอยท่าความรอดจากพระยะโฮวา. นับเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะวางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์อย่างเต็มที่และให้พระองค์เป็นที่หวังพึ่งของเรา!—เฮ็บราย 4:12.
[ภาพหน้า 9]
ผู้พยากรณ์ยิระมะยาเห็นความสำเร็จเป็นจริงของข่าวสารการพิพากษาที่ท่านประกาศ
[ภาพหน้า 10]
ความเชื่อของพยานฯ ชาวเกาหลีเหล่านี้ถูกทดสอบเรื่องจุดยืนในประเด็นความเป็นกลางของคริสเตียน