ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณเลียนแบบพระยะโฮวาในการเอาใจใส่คนอื่นไหม?

คุณเลียนแบบพระยะโฮวาในการเอาใจใส่คนอื่นไหม?

คุณ​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ใน​การ​เอา​ใจ​ใส่​คน​อื่น​ไหม?

‘จง​มอบ​ความ​กระวนกระวาย​ทั้ง​สิ้น​ของ​ท่าน​ไว้​กับ [พระเจ้า] เพราะ​ว่า​พระองค์​ทรง​ใฝ่​พระทัย​ใน​ท่าน​ทั้ง​หลาย.’ (1 เปโตร 5:7, ล.ม.) ช่าง​เป็น​การ​เชิญ​ชวน​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​อะไร​เช่น​นี้! พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ใฝ่​พระทัย​ประชาชน​ของ​พระองค์​เป็น​ราย​บุคคล. เรา​รู้สึก​ปลอด​ภัย​เมื่อ​เรา​อยู่​ภาย​ใต้​การ​คุ้มครอง​ของ​พระองค์.

เรา​พึง​ปลูกฝัง​และ​แสดง​เจตคติ​ที่​มี​ความ​ห่วงใย​รักใคร่​ผู้​อื่น​ใน​ทำนอง​เดียว​กัน. เนื่อง​จาก​เรา​ไม่​สมบูรณ์ เรา​จึง​ต้อง​ระวัง​หลุม​พราง​บาง​อย่าง​ขณะ​ที่​เรา​เอา​ใจ​ใส่​ผู้​อื่น​เป็น​ส่วน​ตัว. ก่อน​จะ​พูด​กัน​เรื่อง​หลุม​พราง​บาง​อย่าง ให้​เรา​ตรวจ​สอบ​บาง​แนว​ทาง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​ประชาชน​ของ​พระองค์.

โดย​การ​ยก​เรื่อง​คน​เลี้ยง​แกะ​เป็น​อุทาหรณ์ ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ได้​พรรณนา​ความ​ใฝ่​พระทัย​ของ​พระเจ้า​ดัง​นี้: “พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​ทรง​บำรุง​เลี้ยง​ข้าพเจ้า; ข้าพเจ้า​จะ​ไม่​ขัดสน. พระองค์​ทรง​โปรด​ให้​ข้าพเจ้า​นอน​ลง​ใน​ที่​มี​หญ้า​เขียว​สด; ทรง​นำ​ข้าพเจ้า​ไป​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​ที่​สงบ​เงียบ. พระองค์​ทรง​โปรด​ให้​จิตต์​ใจ​ข้าพเจ้า​ฟื้น​ชื่น​ขึ้น. . . . แม้​ว่า​ข้าพเจ้า​จะ​ดำเนิน​ไป​ตาม​หว่าง​เขา​อัน​มัว​มืด​แห่ง​ความ​ตาย, ข้าพเจ้า​จะ​ไม่​กลัว​อันตราย​เลย; เพราะ​พระองค์​ทรง​สถิต​อยู่​ด้วย​ข้าพเจ้า.”—บทเพลง​สรรเสริญ 23:1-4.

เนื่อง​จาก​ดาวิด​เอง​เคย​เป็น​คน​เลี้ยง​แกะ ท่าน​รู้​ดี​ว่า​การ​ดู​แล​ฝูง​แกะ​มี​อะไร​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย. คน​เลี้ยง​แกะ​ป้องกัน​ฝูง​แกะ​ของ​ตน​ให้​พ้น​สัตว์​ที่​ล่า​เหยื่อ เช่น สิงโต, สุนัข​ป่า, และ​หมี. เขา​ป้องกัน​แกะ​ไม่​ให้​กระจัด​กระจาย​ไป​จาก​ฝูง, ตาม​หา​ตัว​ที่​หลง​หาย, อุ้ม​ลูก​แกะ​ที่​อ่อนแอ​ไว้​แนบ​อก, และ​ตัว​ไหน​ป่วย​หรือ​บาดเจ็บ​ก็​จะ​รักษา. คน​เลี้ยง​แกะ​จะ​ให้​แกะ​ได้​กิน​น้ำ​ทุก​วัน. ทั้ง​นี้​ไม่​หมาย​ความ​ว่า​คน​เลี้ยง​จะ​กำกับ​การ​เขยื้อน​เคลื่อน​ไหว​ทุก​ฝี​ก้าว. แกะ​อยู่​อย่าง​อิสระ แต่​ภาย​ใต้​การ​อารักขา.

นั่น​คือ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​ประชาชน​ของ​พระองค์. อัครสาวก​เปโตร​อธิบาย​ว่า ‘ท่าน​ทั้ง​หลาย​ได้​รับ​การ​ป้องกัน​รักษา​ไว้​โดย​อำนาจ​ของ​พระเจ้า.’ ณ ที่​นี้ “ได้​รับ​การ​ป้องกัน​รักษา” ตาม​ตัว​อักษร​ก็​หมาย​ถึง “อยู่​ภาย​ใต้​การ​เฝ้า​ดู​แล.” (1 เปโตร 1:5, ล.ม., เชิงอรรถ) ด้วย​ความ​ห่วงใย​อย่าง​แท้​จริง พระ​ยะโฮวา​ทรง​เฝ้า​ดู​แล​พวก​เรา​อยู่​เสมอ ทรง​พร้อม​ให้​การ​ช่วยเหลือ​เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​เรา​ทูล​ขอ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​ทรง​สร้าง​เรา​ให้​มี​เจตจำนง​เสรี ดัง​นั้น พระองค์​ไม่​เข้า​แทรกแซง​การ​กระทำ​ทุก​อย่าง​และ​การ​ตัดสิน​ใจ​ทุก​เรื่อง​ของ​เรา. เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

เลียน​แบบ​พระเจ้า​ด้วย​การ​ดู​แล​บุตร​ของ​คุณ

“บุตร​ทั้ง​หลาย​เป็น​มรดก​จาก​พระ​ยะโฮวา.” ด้วย​เหตุ​นี้ บิดา​มารดา​ควร​ปก​ป้อง​และ​ดู​แล​บุตร​ของ​ตน. (บทเพลง​สรรเสริญ 127:3, ล.ม.) ข้อ​นี้​อาจ​รวม​ถึง​การ​สนับสนุน​บุตร​ให้​แสดง​ความ​คิด​เห็น​รวม​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เขา ครั้น​แล้ว​ก็​คำนึง​ถึง​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​ดัง​กล่าว​เมื่อ​ปฏิบัติ​ต่อ​เขา. หาก​บิดา​มารดา​พยายาม​ควบคุม​บุตร​ของ​ตน​ทุก​ฝี​ก้าว ไม่​คำนึง​ถึง​ความ​ต้องการ​ของ​บุตร​เสีย​เลย นั่น​คง​จะ​เป็น​เหมือน​คน​เลี้ยง​แกะ​พยายาม​บังคับ​แกะ​ของ​เขา​ด้วย​วิธี​ใช้​เชือก​จูง. ไม่​มี​คน​เลี้ยง​แกะ​คน​ไหน​เลี้ยง​ฝูง​แกะ​แบบ​นี้ และ​พระ​ยะโฮวา​ก็​หา​ได้​บำรุง​เลี้ยง​พวก​เรา​อย่าง​นั้น​ไม่.

มาริโกะ *ยอม​รับ​ว่า “เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ฉัน​เฝ้า​แต่​บอก​ลูก​สาม​คน​ของ​ฉัน​ว่า ‘ลูก​ควร​จะ​ทำ​อย่าง​นี้’ และ ‘อย่า​ทำ​แบบ​นั้น.’ ฉัน​คิด​ว่า​เป็น​พันธะ​หน้า​ที่​ของ​ฉัน​ใน​ฐานะ​มารดา​จะ​ต้อง​ทำ​เช่น​นั้น. ฉัน​ไม่​เคย​พูด​ชมเชย ไม่​ได้​พูด​คุย​จาก​ใจ​จริง​กับ​ลูก ๆ เลย.” แม้​ลูก​สาว​ของ​มาริโกะ​จะ​คุย​กับ​เพื่อน​ทาง​โทรศัพท์​นาน​นับ​ชั่วโมง แต่​พอ​จะ​พูด​คุย​กับ​มารดา เธอ​กลับ​คุย​ได้​ไม่​นาน. มาริโกะ​เล่า​ต่อ​ว่า “แล้ว​ฉัน​จึง​ได้​มา​ตระหนัก​ถึง​ความ​แตกต่าง. เมื่อ​ลูก​สาว​คุย​กับ​เพื่อน เธอ​จะ​ใช้​คำ​พูด​แสดง​ความ​ร่วม​รู้สึก เช่น ‘ใช่ ฉัน​เห็น​ด้วย’ หรือ ‘ฉัน​ก็​เป็น​เหมือน​กัน.’ ฉัน​เริ่ม​ใช้​คำ​พูด​คล้าย ๆ กัน​เพื่อ​จะ​ให้​ลูก​สาว​พูด​ออก​มา และ​ใน​ไม่​ช้า​เรา​พูด​คุย​กัน​นาน​ขึ้น​และ​เพลิดเพลิน​มาก​ขึ้น​ระหว่าง​การ​คุย​กัน.” การ​ทำ​แบบ​นี้​แสดง​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี ซึ่ง​ปกติ​แล้ว​จะ​มา​จาก​สอง​ฝ่าย ไม่​ใช่​เพียง​ฝ่าย​เดียว.

บิดา​มารดา​ต้อง​กระตุ้น​บุตร​ให้​พูด​ออก​มา และ​บุตร​จำเป็น​ต้อง​เข้าใจ​ว่า​ความ​ห่วงใย​ของ​บิดา​มารดา​เป็น​การ​คุ้ม​กัน. คัมภีร์​ไบเบิล​แนะ​นำ​บุตร​ทั้ง​หลาย​ให้​เชื่อ​ฟัง​บิดา​มารดา ครั้น​แล้ว​ได้​ให้​เหตุ​ผล​ดัง​นี้: “เพื่อ​ว่า​เจ้า​จะ​อยู่​ดี​มี​สุข​และ​เจ้า​จะ​อยู่​ยืนยง​บน​แผ่นดิน​โลก.” (เอเฟโซ 6:1, 3, ล.ม.) บุตร​ที่​เชื่อ​มั่น​เต็ม​ที่ว่าการ​นบนอบ​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​ยัง​ผล​ประโยชน์​มาก​มาย​เช่น​นั้น​จะ​รู้สึก​ว่า​ง่าย​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง.

การ​ดู​แล​ฝูง​แกะ​ของ​พระ​ยะโฮวา

ความ​ห่วงใย​รักใคร่​ของ​พระ​ยะโฮวา​สะท้อน​ออก​มา​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. พระ​เยซู​คริสต์​ประมุข​ของ​ประชาคม​ได้​ทรง​ชี้​นำ​พวก​ผู้​ปกครอง​ให้​ดู​แล​ฝูง​แกะ​ของ​พระองค์. (โยฮัน 21:15-17) คำ​ภาษา​กรีก​ที่​หมาย​ถึง​ผู้​ดู​แล​เกี่ยว​โยง​กับ​คำ​กริยา​ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า “ดู​แล​อย่าง​ระมัดระวัง.” เพื่อ​เน้น​ย้ำ​ว่า​จะ​ทำ​เช่น​นี้​ได้​อย่าง​ไร เปโตร​สั่ง​บรรดา​ผู้​ปกครอง​ดัง​นี้: “จง​บำรุง​เลี้ยง​ฝูง​แกะ​ของ​พระเจ้า​ใน​ความ​อารักขา​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย มิ​ใช่​เพราะ​ถูก​บังคับ แต่​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ; ไม่​ใช่​เพราะ​รัก​ผล​กำไร​โดย​มิ​ชอบ แต่​ด้วย​ใจ​จดจ่อ; ไม่​ใช่​เหมือน​เจ้านาย​กดขี่​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​เป็น​มรดก​ของ​พระเจ้า แต่​เป็น​แบบ​อย่าง​แก่​ฝูง​แกะ​นั้น.”—1 เปโตร 5:2, 3, ล.ม.

ใช่​แล้ว ภารกิจ​ของ​ผู้​ปกครอง​ก็​คล้าย​กัน​กับ​งาน​ของ​คน​เลี้ยง​แกะ. คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​พึง​รักษา​แกะ​ที่​เจ็บ​ป่วย​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​แก้ไข​ปรับ​ปรุง​พวก​เขา เพื่อ​ว่า​พวก​เขา​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​อย่าง​ที่​สะท้อน​มาตรฐาน​อัน​ชอบธรรม. พวก​ผู้​ปกครอง​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​จัด​กิจกรรม​ของ​ประชาคม, จัด​ระเบียบ​วาระ​การ​ประชุม, และ​รักษา​ความ​เป็น​ระเบียบ​เรียบร้อย​ใน​ประชาคม.—1 โกรินโธ 14:33.

ถ้อย​คำ​ข้าง​ต้น​ของ​เปโตร​ช่วย​เรา​ให้​ตื่น​ตัว​ต่อ​อันตราย​อย่าง​หนึ่ง​คือ การ​ที่​ผู้​ปกครอง​จะ​เป็น “เจ้านาย​กดขี่” ประชาคม. สิ่ง​บ่ง​ชี้​ข้อ​หนึ่ง​ที่​แสดง​ถึง​การ​เป็น “เจ้านาย​กดขี่” ประชาคม​คือ​ผู้​ปกครอง​วาง​กฎ​ระเบียบ​ที่​ไม่​จำเป็น. เนื่อง​จาก​ความ​สำนึก​อย่าง​แรง​กล้า​ใน​ภาระ​รับผิดชอบ​ที่​จะ​ปก​ป้อง​ฝูง​แกะ ผู้​ปกครอง​อาจ​กลาย​เป็น​คน​เลย​เถิด​ไป. ใน​ประชาคม​หนึ่ง​ทาง​ประเทศ​ตะวัน​ออก ผู้​ปกครอง​วาง​กฎ​ระเบียบ​การ​โอภาปราศรัย​ที่​หอ​ประชุม เช่น ใคร​ควร​เริ่ม​ทักทาย​ก่อน โดย​เชื่อ​ว่า​การ​ปฏิบัติ​ตาม​กฎ​เหล่า​นี้​จะ​ช่วย​สร้าง​บรรยากาศ​สงบ​สุข​ภาย​ใน​ประชาคม. แม้น​เป็น​เจตนารมณ์​ที่​ดี ทว่า​พวก​ผู้​ปกครอง​ได้​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ไหม​ใน​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ประชาชน​ของ​พระองค์? น่า​สนใจ เจตคติ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​สะท้อน​ออก​มา​เป็น​คำ​พูด​ดัง​นี้: “มิ​ใช่​ที่​ว่า​เรา​เป็น​นาย​เหนือ​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน แต่​เรา​เป็น​เพื่อน​ร่วม​งาน​เพื่อ​ความ​ยินดี​ของ​ท่าน เพราะ​โดย​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน​นั่น​เอง​ที่​ท่าน​ตั้ง​มั่น​อยู่.” (2 โกรินโธ 1:24, ล.ม.) พระ​ยะโฮวา​ทรง​วางใจ​ประชาชน​ของ​พระองค์.

นอก​จาก​จะ​งด​เว้น​การ​วาง​กฎเกณฑ์​ที่​ไม่​ยึด​หลัก​พระ​คัมภีร์​แล้ว ผู้​ปกครอง​ที่​เอา​ใจ​ใส่​ยัง​แสดง​ความ​ห่วงใย​จาก​ใจ​จริง​โดย​การ​ไม่​เปิด​เผย​ข้อมูล​อัน​เป็น​ความ​ลับ. พวก​เขา​จำ​คำ​เตือน​จาก​พระเจ้า​ที่​ว่า “อย่า​นำ​เอา​เรื่อง​ภาย​ใน​ของ​เขา​ไป​ประจาน.”—สุภาษิต 25:9.

อัครสาวก​เปาโล​เปรียบ​ประชาคม​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​เสมือน​ร่าง​กาย​มนุษย์​ดัง​นี้: “พระเจ้า​ทรง​ประกอบ​ร่าง⁠กาย . . . เพื่อ​จะ​ไม่​มี​การ​แตก​แยก​กัน​ใน​ร่าง​กาย แต่​ให้​อวัยวะ​ทั้ง​หลาย​ใน​ร่าง​กาย​ต่าง​เอา​ใจ​ใส่​กัน.” (1 โกรินโธ 12:12, 24-26, ล.ม.) ถ้อย​คำ​ภาษา​กรีก “เอา​ใจ​ใส่​กัน” หมาย​ความ​ตาม​ตัว​อักษร​ว่า ‘ควร​ห่วงใย​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.’ สมาชิก​ประชา⁠คม​คริสเตียน​ควร​สนใจ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​อย่าง​แรง​กล้า.—ฟิลิปปอย 2:4.

คริสเตียน​แท้​จะ​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​เขา ‘ห่วงใย​ซึ่ง​กัน​และ​กัน’? พวก​เขา​อาจ​แสดง​ความ​รู้สึก​ห่วงใย​ต่อ​สมาชิก​คน​อื่น ๆ ของ​ประชาคม​ใน​คำ​อธิษฐาน และ​เสนอ​ความ​ช่วยเหลือ​แก่​คน​ขัดสน. การ​ทำ​เช่น​นี้​ปลุก​เร้า​คน​อื่น​ให้​แสดง​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ออก​มา. ขอ​พิจารณา​กรณี​ความ​ห่วงใย​รักใคร่​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ไร​ต่อ​ทา​ดา​ทา​กะ. ตอน​ที่​เขา​รับ​บัพติสมา​เมื่อ​อายุ 17 ปี เขา​เป็น​คน​เดียว​ใน​ครอบครัว​ที่​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. เขา​เล่า​ว่า “มี​ครอบครัว​หนึ่ง​ใน​ประชาคม​มัก​จะ​ชวน​ผม​ไป​รับประทาน​อาหาร​ที่​บ้าน​และ​สังสรรค์​กัน. ผม​แวะ​ไป​ที่​บ้าน​นั้น​เกือบ​ทุก​เช้า​ระหว่าง​เดิน​ทาง​ไป​โรง​เรียน​เพื่อ​พิจารณา​ข้อ​คัมภีร์​ประจำ​วัน​กับ​ครอบครัว​นั้น. ผม​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ใน​เรื่อง​วิธี​รับมือ​กับ​ปัญหา​บาง​อย่าง​ที่​โรง​เรียน และ​เรา​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​นั้น ๆ. จาก​ครอบครัว​นี้​แหละ​ที่​ผม​ได้​มา​รู้​ซึ้ง​ใน​น้ำใจ​การ​แบ่ง​ปัน.” ปัจจุบัน ทา​ดา​ทา​กะ​กำลัง​นำ​เอา​สิ่ง​ที่​เขา​เรียน​รู้​ไป​ใช้​โดย​การ​รับใช้ ณ สำนักงาน​สาขา​แห่ง​หนึ่ง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

อัครสาวก​เปาโล​ได้​เตือน​ให้​ระวัง​หลุมพราง​อย่าง​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ​เมื่อ​แสดง​ความ​สนใจ​ใน​คน​อื่น. ท่าน​กล่าว​ถึง​ผู้​หญิง​บาง​คน​ซึ่ง​กลาย​เป็น​คน “ชอบ​ซุบซิบ​นินทา และ​เข้า​ไป​ยุ่ง​เรื่อง​ของ​คน​อื่น พูด​เรื่อง​ที่​ไม่​ควร​พูด.” (1 ติโมเธียว 5:13, ล.ม.) จริง​อยู่ แม้​การ​ที่​เรา​สนใจ​ผู้​อื่น​เป็น​สิ่ง​สม​ควร กระนั้น เรา​ก็​ต้อง​ระมัดระวัง​ไม่​ล่วง​ล้ำ​เข้า​ไป​ยุ่ง​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ของ​เขา. ความ​สนใจ​ใน​คน​อื่น​อย่าง​ไม่​บังควร​อาจ​ปรากฏ​ว่า​เป็น ‘การ​พูด​เรื่อง​ซึ่ง​เรา​ไม่​ควร​พูด’ เช่น พูด​วิพากษ์วิจารณ์​ผู้​อื่น.

พวก​เรา​ควร​จำ​ไว้​ว่า​คริสเตียน​อาจ​ต่าง​กัน​ใน​วิธี​จัด​ชีวิต​ส่วน​ตัว​ของ​เขา, อาหาร​ที่​เขา​เลือก, และ​รูป​แบบ​การ​พักผ่อน​หย่อนใจ​ที่​ดี​งาม​ที่​เขา​เลือก. ภาย​ใน​ขอบ​เขต​ที่​เป็น​ไป​ตาม​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​ละ​คน​มี​อิสระ​จะ​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ทำ​อะไร. เปาโล​เตือน​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ดัง​นี้: “อย่า​ให้​เรา​ทั้ง​หลาย​พิพากษา​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​เลย. . . . ให้​เรา​ทั้ง​หลาย​ประพฤติ​ตาม​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สงบ​สุข​แก่​กัน​และ​กัน และ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​มี​ความ​เจริญ​แก่​กัน​และ​กัน.” (โรม 14:13, 19) ความ​ห่วงใย​จาก​ใจ​จริง​ของ​เรา​ที่​มี​ต่อ​กัน​และ​กัน​ใน​ประชาคม​ควร​แสดง​ให้​เห็น ไม่​ใช่​การ​เข้า​ไป​ยุ่ง​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ของ​ผู้​อื่น แต่​โดย​ที่​เรา​พร้อม​จะ​ช่วย​ต่าง​หาก. เมื่อ​เรา​เอา​ใจ​ใส่​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​โดย​วิธี​นี้ ความ​รัก​และ​เอกภาพ​ย่อม​จะ​เฟื่องฟู​ทั้ง​ภาย​ใน​ครอบครัว​และ​ใน​ประชาคม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 บาง​ชื่อ​เป็น​นาม​สมมุติ.

[ภาพ​หน้า 19]

จง​ช่วย​ลูก​ให้​พูด​ออก​มา​ด้วย​การ​ชมเชย​และ​ร่วม​ความ​รู้สึก