เคว้งคว้างอยู่ในโลกที่ค่านิยมเปลี่ยนไป
เคว้งคว้างอยู่ในโลกที่ค่านิยมเปลี่ยนไป
ตามเรื่องเล่าที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย บุรุษผู้หนึ่งเดินถือตะเกียงจุดไฟตอนกลางวันแสก ๆ เพื่อเสาะหาบุคคลที่มีคุณธรรมแต่ไม่พบ. บุรุษผู้นี้ชื่อดิโอยีนิส นักปรัชญาที่อาศัยอยู่ในกรุงเอเธนส์สมัยศตวรรษที่สี่ก่อนสากลศักราช.
เรื่องเล่านี้จะถูกต้องหรือไม่นั้นไม่อาจยืนยันได้. แต่ถ้าดิโอยีนิสมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ การที่เขาเสาะหาคนที่มีศีลธรรมได้ยากยิ่งกว่านั้นอีกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก. หลายคนดูเหมือนปฏิเสธความเชื่อที่ว่าคนเราควรยึดมั่นกับค่านิยมทางศีลธรรมที่กำหนดไว้แน่นอน. บ่อยครั้งสื่อต่าง ๆ นำเสนอข่าวที่ทำให้เราตกตะลึงด้วยเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ ไม่ว่าจะในชีวิตส่วนตัว, ในรัฐบาล, แวดวงผู้มีความรู้, วงการกีฬา, แวดวงธุรกิจ, และอื่น ๆ. ค่านิยมที่ดีงามมากมายของคนรุ่นก่อนไม่ได้รับความนับถืออีกต่อไป. มาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้กำลังถูกนำมาประเมินใหม่และมักจะถูกปฏิเสธ. ส่วนค่านิยมอื่น ๆ ได้รับความนับถือในแง่ทฤษฎี แต่ไม่ใช่ในแง่ปฏิบัติ.
แอลัน วูลฟ์ นักสังคมวิทยาด้านศาสนากล่าวว่า “ยุคที่ผู้คนทั่วไปยอมรับมาตรฐานทางศีลธรรมได้ผ่านพ้นไปแล้ว.” เขายังกล่าวด้วยว่า “ไม่เคยมีมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนทั่วไปรู้สึกว่า ไม่สามารถพึ่งอาศัยขนบธรรมเนียมประเพณีและสถาบันต่าง ๆ ในการชี้นำพวกเขาทางศีลธรรม.” ลอสแอนเจลิส ไทมส์ กล่าวถึงความเห็นของโจนาทาน โกลเวอร์ นักปรัชญาว่า ตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ความเสื่อมทรุดทางศาสนาและกฎทางศีลธรรมที่เป็นสากลมีบทบาทสำคัญที่ทำให้โลกจมดิ่งลงสู่ความรุนแรง.
อย่างไรก็ตาม ความสับสนดังกล่าวในเรื่องค่านิยมซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ไม่ได้ทำให้บางคนเลิกค้นหาค่านิยมทางศีลธรรม. เฟเดริโก มายอร์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกกล่าวเมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่า “โลกใส่ใจในเรื่องจริยธรรมยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา.” แต่การที่โลกไม่ยอมรับเอาค่านิยมที่ดีงามไม่ได้หมายความว่าไม่มีค่านิยมที่ดีที่คนเราสามารถรับเอาได้และควรจะรับเอา.
แต่คนเราสามารถเห็นพ้องกันทุกคนไหมที่จะยอมรับเอาสิ่งที่ตั้งเป็นมาตรฐาน? เห็นได้ชัดว่าไม่. และถ้าไม่มีการเห็นพ้องกันในเรื่องมาตรฐานของสิ่งถูกและผิด ใคร ๆ จะ
กำหนดค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างไรกัน? สัมพัทธนิยมทางศีลธรรมเช่นนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน. กระนั้น คุณจะเห็นว่าทัศนะเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ศีลธรรมของผู้คนทั่วไปดีขึ้นแต่อย่างใด.พอล จอห์นสัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเชื่อหนักแน่นว่า ปรัชญาของสัมพัทธนิยมนี้ได้ “เซาะกร่อน . . . ความสำนึกอย่างจริงจังในเรื่องความรับผิดชอบส่วนตัว และหน้าที่ที่มีต่อค่านิยมแท้ทางศีลธรรมที่ปราศจากอคติและกำหนดไว้แน่นอน” ซึ่งดูเหมือนแพร่หลายในช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 จะเริ่มต้น.
ถ้าอย่างนั้น เป็นไปได้ไหมที่จะพบ “ค่านิยมแท้ทางศีลธรรมที่ปราศจากอคติ” หรือดำเนินชีวิตตาม “กฎทางศีลธรรมที่เป็นสากล”? มีผู้มีอำนาจสักคนหนึ่งไหมที่สามารถจะกำหนดค่านิยมทางศีลธรรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและใช้ได้เสมอซึ่งจะช่วยให้ชีวิตของเรามั่นคงยิ่งขึ้นและให้ความหวังในเรื่องอนาคต? บทความถัดไปจะตอบคำถามเหล่านี้.