ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสเล่มแรกเรื่องราวของความบากบั่นพากเพียร

คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสเล่มแรกเรื่องราวของความบากบั่นพากเพียร

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส​เล่ม​แรก​เรื่อง​ราว​ของ​ความ​บากบั่น​พากเพียร

“ผู้​ที่​บากบั่น​พากเพียร​ย่อม​ประสบ​ซึ่ง​ความ​สำเร็จ.” คำ​ขวัญ​นี้​ปรากฏ​อยู่​บน​ใบ​ปลิว​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ที่​เขียน​โดย ชวน เฟเรรา ดิ อัลเมดา​เมื่อ​ศตวรรษ​ที่ 17. คง​ไม่​มี​คำ​พรรณนา​ใด​ที่​เหมาะ​กว่า​นี้​สำหรับ​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​ได้​อุทิศ​ชีวิต​ของ​เขา​เพื่อ​การ​แปล​และ​การ​พิมพ์​เผยแพร่​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส.

อัลเมดา​เกิด​เมื่อ​ปี 1628 ที่​หมู่​บ้าน​ตอร์รี ดิ ตาวาเรส ทาง​เหนือ​ของ​โปรตุเกส. เขา​เป็น​เด็ก​กำพร้า​และ​ถูก​เลี้ยง​ดู​ที่​ลิสบอน เมือง​หลวง​ของ​ประเทศ​โปรตุเกส​โดย​อา​ซึ่ง​เป็น​นัก​บวช. ตาม​ที่​เชื่อ​กัน ระหว่าง​ที่​เขา​ถูก​เตรียม​ให้​เป็น​นัก​บวช อัลเมดา​ได้​รับ​การ​ศึกษา​ที่​ดี​เยี่ยม ซึ่ง​ช่วย​ให้​เขา​มี​ความ​สามารถ​ด้าน​ภาษา​มาก​เป็น​พิเศษ​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดู​เหมือน​อัลเมดา​จะ​ไม่​ได้​ใช้​พรสวรรค์​ที่​เขา​มี​เพื่อ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ตอน​ที่​ยัง​อยู่​ใน​โปรตุเกส. ขณะ​ที่​การ​ปฏิรูป​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ต่าง ๆ แพร่​หลาย​ไป​ทั่ว​ยุโรป​ตอน​เหนือ​และ​ตอน​กลาง โปรตุเกส​ก็​ยัง​คง​อยู่​ภาย​ใต้​อิทธิพล​ของ​ศาล​ศาสนา​คาทอลิก​อย่าง​เหนียวแน่น. หาก​ใคร​เพียง​แต่​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​หนึ่ง​ใน​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป​อยู่​ใน​ครอบครอง คน​นั้น​ก็​อาจ​ถูก​บังคับ​ให้​ไป​ขึ้น​ศาล​ศาสนา. *

เป็น​ไป​ได้​ว่า​เขา​ถูก​กระตุ้น​โดย​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​หนี​จาก​บรรยากาศ​ที่​กดขี่ อัลเมดา​จึง​ย้าย​ไป​เนเธอร์แลนด์​ตั้ง​แต่​ยัง​เป็น​วัยรุ่น. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน เมื่อ​อายุ​เพียง 14 ปี เขา​ได้​ลง​เรือ​มา​ยัง​เอเชีย โดย​ผ่าน​ปัตตาเวีย (ปัจจุบัน​คือ​จาการ์ตา) ประเทศ​อินโดนีเซีย ซึ่ง​ขณะ​นั้น​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​บริหาร​งาน​ของ​บริษัท​ดัตช์ อีสต์ อินเดีย​ใน​เอเชีย​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้.

ผู้​แปล​วัย​เยาว์

ใน​ช่วง​ท้าย​ของ​การ​เดิน​ทาง​มา​เอเชีย อัลเมดา​ได้​พบ​สิ่ง​ที่​เป็น​จุด​เปลี่ยน​ใน​ชีวิต​ของ​เขา. เมื่อ​เรือ​แล่น​มา​อยู่​ระหว่าง​ปัตตาเวีย​กับ​มา​ลัก​กา (ปัจจุบัน​คือ​มะละกา) ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​มาเลเซีย เขา​ก็​บังเอิญ​ได้​พบ​แผ่น​พับ​ของ​โปรเตสแตนต์​ซึ่ง​เป็น​ภาษา​สเปน ชื่อ​ว่า ดิเฟเรนซียาส เด ลา คริสเตียนดาด (ความ​แตกต่าง​ใน​คริสต์​ศาสนจักร). แผ่น​พับ​นั้น​นอก​จาก​จะ​โจมตี​หลัก​คำ​สอน​เท็จ​ของ​คาทอลิก​แล้ว​ก็​ยัง​มี​ข้อ​ความ​หนึ่ง​ที่​ประทับใจ​เด็ก​หนุ่ม​อัลเมดา​เป็น​พิเศษ นั่น​คือ “การ​ใช้​ภาษา​ที่​ไม่​มี​ใคร​รู้​จัก​ใน​โบสถ์ แม้​จะ​ทำ​เพื่อ​พระ​รัศมี​แห่ง​พระเจ้า ก็​หา​ได้​มี​ประโยชน์​อัน​ใด​ไม่​สำหรับ​ผู้​ฟัง​ที่​ไม่​อาจ​เข้าใจ​ได้.”—1 โกรินโธ 14:9.

อัลเมดา​ได้​ข้อ​สรุป​ที่​ชัดเจน​ว่า วิธี​เดียว​ที่​จะ​เปิดโปง​ความ​ผิด​ทาง​ศาสนา​ได้​ก็​คือ​การ​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​สำหรับ​ทุก​คน. เมื่อ​มา​ถึง​มา​ลัก​กา เขา​ก็​เปลี่ยน​มา​นับถือ​นิกาย​ดัตช์ รีฟอร์ม​และ​เริ่ม​แปล​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​จาก​ภาษา​สเปน​เป็น​ภาษา​โปรตุเกส​ทันที แล้ว​แจก​จ่าย​กัน​ใน​หมู่ “ผู้​ที่​แสดง​ความ​ปรารถนา​อย่าง​จริง​ใจ​ที่​จะ​รู้​ความ​จริง.” *

สอง​ปี​ต่อ​มา อัลเมดา​ก็​พร้อม​สำหรับ​งาน​ที่​ใหญ่​กว่า​นั้น​อีก นั่น​คือ​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ครบ​ชุด​จาก​ฉบับ​วัลเกต​ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ละติน. เขา​ทำ​งาน​เสร็จ​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ปี ซึ่ง​นับ​เป็น​ความ​สำเร็จ​ที่​น่า​ทึ่ง​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​คน​อายุ 16 ปี! ด้วย​ความ​กล้า​หาญ เขา​ได้​ส่ง​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ที่​เขา​แปล​ไป​ให้​ข้าหลวง​ใหญ่​ชาว​ดัตช์​ใน​ปัตตาเวีย​เพื่อ​ให้​ช่วย​พิมพ์​เผยแพร่. ดู​เหมือน​ว่า คริสตจักร​รีฟอร์ม​ใน​ปัตตาเวีย​ได้​ส่ง​สำเนา​ต้น​ฉบับ​ของ​เขา​ต่อ​ไป​ยัง​อัมสเตอร์ดัม แต่​นัก​เทศน์​ชรา​ผู้​ได้​รับ​สำเนา​พระ​คัมภีร์​นั้น​ได้​เสีย​ชีวิต​ลง ผล​งาน​ของ​อัลเมดา​จึง​สาบสูญ​ไป.

เมื่อ​ได้​รับ​การ​ขอ​ให้​ทำ​สำเนา​ฉบับ​หนึ่ง​เพื่อ​มอบ​ให้​แก่​คริสตจักร​รีฟอร์ม​ใน​ซีลอน (ปัจจุบัน​คือ​ศรีลังกา) ใน​ปี 1651 อัลเมดา​จึง​ได้​พบ​ว่า​ต้น​ฉบับ​ได้​หาย​ไป​จาก​คลัง​เอกสาร​ของ​คริสตจักร. แต่​เขา​ก็​ไม่​ย่อท้อ เขา​หา​สำเนา​ฉบับ​หนึ่ง​เจอ​จน​ได้ ซึ่ง​อาจ​เป็น​ต้น​ร่าง​ฉบับ​แรก และ​ใน​ปี​ต่อ​มา​ก็​แปล​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​ของ​กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​กับ​พระ​ธรรม​กิจการ​แล้ว​เสร็จ. สภา​ราชา​คณะ *แห่ง​ปัตตาเวีย​ได้​ให้​เงิน 30 กิลเดอร์​แก่​เขา​เป็น​รางวัล. เพื่อน​ร่วม​งาน​คน​หนึ่ง​ของ​อัลเมดา​เขียน​ไว้​ว่า เงิน​นั้น “เป็น​เงิน​จำนวน​น้อย​นิด​เมื่อ​เทียบ​กับ​งาน​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​เขา​ทำ​ไป.”

ถึง​แม้​ไม่​มี​ใคร​เห็น​ค่า​งาน​ที่​เขา​ทำ แต่​อัลเมดา​ก็​ยัง​ทำ​งาน​ต่อ​ไป และ​ได้​เสนอ​พันธสัญญา​ใหม่​ครบ​ชุด​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​ของ​เขา​ใน​ปี 1654. อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ได้​มี​การ​พิจารณา​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​พิมพ์​เผยแพร่​พระ​คัมภีร์ แต่​ก็​ไม่​มี​การ​ดำเนิน​การ​ที่​เป็น​รูปธรรม​นอก​เหนือ​จาก​การ​คัด​ลอก​สำเนา​ไม่​กี่​ฉบับ​ด้วย​มือ​เพื่อ​ใช้​ใน​โบสถ์​บาง​แห่ง​เท่า​นั้น.

ถูก​ศาล​ศาสนา​กล่าว​โทษ

ใน​ช่วง​ทศวรรษ​ถัด​มา อัลเมดา​ง่วน​อยู่​กับ​การ​ดู​แล​สมาชิก​ของ​โบสถ์​และ​งาน​มิชชันนารี​ของ​คริสตจักร​รีฟอร์ม. เขา​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ศิษยาภิบาล​ใน​ปี 1656 และ​ทำ​หน้า​ที่​ใน​ซีลอน​เป็น​แห่ง​แรก ซึ่ง​ที่​นั่น​เขา​รอด​จาก​การ​ถูก​ช้าง​เหยียบ​อย่าง​หวุดหวิด และ​ต่อ​มา​ก็​ย้าย​ไป​ยัง​อินเดีย โดย​อยู่​ใน​กลุ่ม​มิชชันนารี​โปรเตสแตนต์​รุ่น​แรก​ที่​เข้า​ไป​ใน​ประเทศ​นั้น.

อัลเมดา​เป็น​ผู้​เปลี่ยน​มา​นับถือ​นิกาย​โปรเตสแตนต์​และ​ทำ​งาน​เผยแพร่​อยู่​ใน​ต่าง​ประเทศ. ฉะนั้น ชุมชน​ที่​พูด​ภาษา​โปรตุเกส​หลาย​แห่ง​ซึ่ง​เขา​ไป​เยี่ยม​จึง​มอง​เขา​เป็น​ผู้​ออก​หาก​และ​คน​ทรยศ. การ​ที่​เขา​กล่าว​โทษ​พวก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ใน​เรื่อง​ศีลธรรม​ที่​เสื่อม​ทราม​ใน​หมู่​พวก​เขา​และ​เปิดโปง​หลัก​คำ​สอน​ของ​คริสตจักร​ยัง​ผล​ให้​เขา​ต้อง​งัด​ข้อ​กับ​กลุ่ม​มิชชันนารี​คาทอลิก​อยู่​บ่อย ๆ. ความ​ขัด​แย้ง​นี้​มา​ถึง​จุด​สุด​ยอด​ใน​ปี 1661 เมื่อ​ศาล​ศาสนา​ใน​รัฐ​กัว ประเทศ​อินเดีย​ได้​ตัดสิน​ให้​อัลเมดา​ต้อง​โทษ​ประหาร​เพราะ​มี​ความ​คิด​แบบ​นอก​รีต. เมื่อ​เขา​ไม่​มา​ปรากฏ​ตัว จึง​มี​การ​เผา​หุ่น​ของ​เขา. บาง​ที​อาจ​เป็น​เพราะ​ตกใจ​กับ​วิธี​ที่​แข็ง​กร้าว​ของ​อัลเมดา ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​ข้าหลวง​ใหญ่​ชาว​ดัตช์​จึง​เรียก​เขา​กลับ​ไป​ยัง​ปัตตาเวีย.

อัลเมดา​เป็น​มิชชันนารี​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า แต่​เขา​ก็​ไม่​เคย​ลืม​ว่า​จำเป็น​ต้อง​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส. ที่​จริง ผล​จาก​การ​ที่​ผู้​คน​ขาด​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เห็น​ได้​อย่าง​ชัดเจน​ทั้ง​ใน​หมู่​นัก​เทศน์​นัก​บวช​และ​สามัญ​ชน​ทำ​ให้​เขา​มี​ความ​มุ่ง​มั่น​ยิ่ง​ขึ้น. ใน​คำนำ​ของ​แผ่น​พับ​ทาง​ศาสนา​ที่​เขียน​เมื่อ​ปี 1668 อัลเมดา​บอก​กับ​ผู้​อ่าน​ว่า “ข้าพเจ้า​หวัง​ว่า . . . ใน​ไม่​ช้า​จะ​ได้​มอบ​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ใน​ภาษา​ของ​พวก​ท่าน​เอง​ให้​แก่​ท่าน ซึ่ง​เป็น​ของ​ขวัญ​อัน​วิเศษ​สุด​และ​เป็น​ทรัพย์​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​สุด​ที่​เคย​มี​คน​ให้​ท่าน.”

อัลเมดา​กับ​คณะ​กรรมการ​ตรวจ​แก้ไข

ใน​ปี 1676 อัลเมดา​ได้​เสนอ​ต้น​ร่าง​ฉบับ​สุด​ท้าย​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​พันธสัญญา​ใหม่​ต่อ​สภา​คริสตจักร​ใน​ปัตตาเวีย​เพื่อ​ให้​ตรวจ​แก้ไข. ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​อัลเมดา​ซึ่ง​เป็น​ผู้​แปล​กับ​ผู้​ที่​ตรวจ​แก้ไข​นั้น​ตึงเครียด​มา​ตั้ง​แต่​แรก​แล้ว. นัก​เขียน​ชีวประวัติ เจ. แอล. สเวลเลนเกรเบล อธิบาย​ว่า​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​อัลเมดา​ที่​พูด​ภาษา​ดัตช์​คง​มี​ปัญหา​ใน​การ​เข้าใจ​แง่​มุม​เล็ก ๆ น้อย ๆ ของ​ความ​หมาย​และ​ลีลา​ของ​ภาษา. นอก​จาก​นี้​ก็​ยัง​มี​การ​โต้​แย้ง​กัน​ใน​เรื่อง​การ​เลือก​ใช้​ภาษา. ภาษา​ที่​ใช้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ควร​เป็น​ภาษา​โปรตุเกส​ที่​พูด​กัน​ใน​ท้องถิ่น​หรือ​ควร​จะ​เป็น​ภาษา​โปรตุเกส​ระดับ​สูง​ซึ่ง​จะ​เข้าใจ​ยาก​สำหรับ​หลาย​คน? ผล​สุด​ท้าย ความ​กระตือรือร้น​ของ​อัลเมดา​ที่​จะ​เห็น​งาน​เสร็จ​สมบูรณ์​ก็​กลาย​เป็น​สาเหตุ​ของ​ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​ที่​มี​อยู่​ตลอด​เวลา.

งาน​คืบ​หน้า​ไป​ช้า​มาก บาง​ที​อาจ​เป็น​เพราะ​ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​หรือ​เพราะ​การ​ขาด​ความ​สนใจ​ใน​ส่วน​ของ​ผู้​ที่​ตรวจ​แก้ไข. ต่อ​มา​อีก​สี่​ปี คณะ​ผู้​ตรวจ​แก้ไข​ก็​ยัง​โต้​แย้ง​กัน​ใน​เรื่อง​บท​ต้น ๆ ของ​พระ​ธรรม​ลูกา​อยู่. เนื่อง​จาก​รู้สึก​คับข้อง​ใจ​กับ​ความ​ล่า​ช้า​เช่น​นั้น อัลเมดา​จึง​ส่ง​สำเนา​ต้น​ฉบับ​ของ​เขา​อีก​ชุด​หนึ่ง​ไป​พิมพ์​ที่​เนเธอร์แลนด์​โดย​ไม่​ให้​คณะ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​รู้.

ถึง​แม้​สภา​คริสตจักร​จะ​พยายาม​ขัด​ขวาง​การ​พิมพ์​เผยแพร่ แต่​พันธสัญญา​ใหม่​ของ​เขา​ก็​ไป​ถึง​โรง​พิมพ์​ที่​อัมสเตอร์ดัม​ใน​ปี 1681 และ​ฉบับ​แรก ๆ ก็​ถูก​ส่ง​มา​ยัง​ปัตตาเวีย​ใน​ปี​ถัด​มา. ลอง​คิด​ดู​ว่า​อัลเมดา​คง​รู้สึก​ผิด​หวัง​มาก​เพียง​ไร​ที่​พบ​ว่า​ฉบับ​แปล​ของ​เขา​ถูก​เปลี่ยน​แปลง​แก้ไข​โดย​คณะ​ผู้​ตรวจ​แก้ไข​ที่​เนเธอร์แลนด์! เนื่อง​จาก​ผู้​ตรวจ​แก้ไข​ไม่​คุ้น​เคย​กับ​ภาษา​โปรตุเกส อัลเมดา​จึง​สังเกต​ได้​ว่า​พวก​เขา​ใช้ “สำนวน​แปล​ที่​ฟัง​แปลก​และ​ขัด​แย้ง​กัน ซึ่ง​ทำ​ให้​ความ​หมาย​ของ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​คลุมเครือ.”

รัฐบาล​เนเธอร์แลนด์​เอง​ก็​ไม่​พอ​ใจ​เช่น​กัน และ​ได้​สั่ง​ให้​ทำลาย​ทุก​ฉบับ​ที่​พิมพ์​ใน​งวด​นั้น. ถึง​กระนั้น อัลเมดา​ก็​เกลี้ยกล่อม​ให้​พวก​เจ้าหน้าที่​เก็บ​พระ​คัมภีร์​ไว้​บาง​เล่ม​โดย​รับปาก​ว่า​จะ​แก้ไข​ข้อ​ผิด​พลาด​ร้ายแรง​ต่าง ๆ ด้วย​มือ. ฉบับ​ที่​แก้ไข​เหล่า​นี้​จะ​ใช้​ไป​จน​กว่า​จะ​พิมพ์​ฉบับ​ใหม่​ได้.

คณะ​ผู้​ตรวจ​แก้ไข​ใน​ปัตตาเวีย​มา​รวม​ตัว​กัน​อีก​ครั้ง​เพื่อ​ตรวจ​แก้ไข​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​และ​เริ่ม​เตรียม​ที่​จะ​ตรวจ​พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ที่​อัลเมดา​แปล​เสร็จ​แล้ว. ด้วย​เกรง​ว่า​อัลเมดา​จะ​หมด​ความ​อด​ทน​ไป​เสีย​ก่อน สภา​คริสตจักร​จึง​ตัดสิน​ใจ​จะ​เก็บ​หน้า​ที่​ได้​ลง​ลาย​เซ็น​แล้ว​ของ​ต้น​ร่าง​ฉบับ​สุด​ท้าย​ไว้​ใน​ห้อง​นิรภัย​ของ​คริสตจักร. ไม่​ต้อง​บอก​ก็​คง​ทราบ​ว่า​อัลเมดา​คัดค้าน​การ​กระทำ​ดัง​กล่าว.

เมื่อ​ถึง​ตอน​นี้ เวลา​หลาย​สิบ​ปี​ที่​ทำ​งาน​หนัก​และ​ความ​ยาก​ลำบาก​ใน​การ​ใช้​ชีวิต​ใน​เขต​ร้อน​ก็​เริ่ม​ส่ง​ผล​ต่อ​อัลเมดา. ใน​ปี 1689 เมื่อ​อัลเมดา​เห็น​ว่า​สุขภาพ​ของ​ตน​ทรุด​ลง​เรื่อย ๆ เขา​จึง​รา​มือ​จาก​กิจกรรม​ของ​คริสตจักร​เพื่อ​ทุ่มเท​ให้​กับ​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เพียง​อย่าง​เดียว. น่า​เศร้า​ที่​เขา​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1691 ขณะ​กำลัง​แปล​บท​สุด​ท้าย​ของ​พระ​ธรรม​ยะเอศเคล.

พันธสัญญา​ใหม่​ฉบับ​ที่​สอง​เสร็จ​สิ้น​ก่อน​เขา​เสีย​ชีวิต​ไม่​นาน และ​ได้​รับ​การ​พิมพ์​ใน​ปี 1693. อีก​ครั้ง​หนึ่ง ดู​เหมือน​ว่า​งาน​ของ​เขา​ถูก​ผู้​ตรวจ​แก้ไข​ที่​ไร้​ความ​สามารถ​เปลี่ยน​แปลง​แก้ไข​จน​เสียหาย. ใน​หนังสือ​อา บิบลิอา ออง ปรอตูกาล (คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส) ผู้​เขียน​คือ จี. แอล. ซานโตส เฟอร์ไรรา​กล่าว​ว่า “พวก​ผู้​ตรวจ​แก้ไข . . . ได้​เปลี่ยน​แปลง​ผล​งาน​ที่​ยอด​เยี่ยม​ของ​อัลเมดา​อย่าง​เห็น​ได้​ชัดเจน และ​ทำ​ให้​ความ​งาม​ของ​ต้น​ฉบับ​ที่​รอด​พ้น​มือ​ของ​ผู้​ตรวจ​แก้ไข​ใน​การ​พิมพ์​ครั้ง​แรก​มา​ได้​ต้อง​เสียหาย​และ​ผิด​รูป​ผิด​ร่าง​ไป.”

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส​เสร็จ​สิ้น

เมื่อ​อัลเมดา​เสีย​ชีวิต​ลง แรง​ผลัก​ดัน​ใน​การ​ตรวจ​แก้​และ​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส​ใน​ปัตตาเวีย​ก็​ไม่​มี​อีก​ต่อ​ไป. สมาคม​ส่ง​เสริม​ความ​รู้​ของ​คริสเตียน​ซึ่ง​มี​ฐาน​อยู่​ที่​ลอนดอน​ได้​ให้​การ​สนับสนุน​ด้าน​การ​เงิน​สำหรับ​การ​พิมพ์​พันธสัญญา​ใหม่​ของ​อัลเมดา​เป็น​ครั้ง​ที่​สาม​ใน​ปี 1711 ตาม​คำ​ขอ​ของ​มิชชันนารี​ชาว​เดนมาร์ก​ที่​ทำ​งาน​อยู่​ใน​ทรองเคอบาร์ ทาง​ใต้​ของ​อินเดีย.

สมาคม​ดัง​กล่าว​ตัดสิน​ใจ​ที่​จะ​ดำเนิน​การ​พิมพ์​ที่​ทรองเคอบาร์. แต่​ระหว่าง​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​อินเดีย เรือ​ขน​วัสดุ​อุปกรณ์​สำหรับ​การ​พิมพ์​และ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส​จำนวน​หนึ่ง​ที่​ส่ง​ไป​ถูก​โจร​สลัด​ฝรั่งเศส​ยึด​ได้​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ถูก​ทิ้ง​ไว้​ที่​ท่า​เรือ​ใน​รี​โอ​เด​จา​เนโร ประเทศ​บราซิล. ซานโตส เฟอร์ไรรา​เขียน​ว่า “ด้วย​เหตุ​ผล​บาง​ประการ​ที่​ไม่​อาจ​อธิบาย​ได้​และ​ด้วย​สภาพการณ์​บาง​อย่าง​ซึ่ง​หลาย​คน​มอง​ว่า​เป็น​การ​อัศจรรย์ กล่อง​ที่​บรรจุ​วัสดุ​อุปกรณ์​การ​พิมพ์​ทั้ง​หมด​ถูก​พบ​อยู่​ด้าน​ล่าง​สุด​ของ​ระวาง​เก็บ​สินค้า​และ​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​ใน​เรือ​ลำ​เดิม​สู่​เมือง​ทรองเคอบาร์.” กลุ่ม​มิชชันนารี​ชาว​เดนมาร์ก​ได้​ตรวจ​แก้ไข​และ​พิมพ์​เผยแพร่​ส่วน​ที่​เหลือ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​อัลเมดา​ได้​แปล​ไว้​ด้วย​ความ​ละเอียด​รอบคอบ. ส่วน​สุด​ท้าย​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส​ได้​รับ​การ​พิมพ์​ใน​ปี 1751 เป็น​เวลา​เกือบ 110 ปี หลัง​จาก​ที่​อัลเมดา​เริ่ม​ทำ​งาน​เป็น​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล.

มรดก​ที่​คงทน

ตั้ง​แต่​ยัง​เป็น​วัยรุ่น อัลเมดา​เล็ง​เห็น​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปรตุเกส​เพื่อ​ที่​คน​ทั่ว​ไป​จะ​ได้​เข้าใจ​ความ​จริง​ใน​ภาษา​ของ​ตน​เอง. ตลอด​ชีวิต​ของ​เขา เขา​ได้​มุ​มานะ​เพื่อ​จะ​บรรลุ​เป้าหมาย​นั้น ทั้ง ๆ ที่​มี​การ​ต่อ​ต้าน​จาก​คริสตจักร​คาทอลิก, ความ​ไม่​แยแส​ของ​คน​รุ่น​เดียว​กัน, ปัญหา​เรื่อง​การ​ตรวจ​แก้ไข​ที่​ดู​จะ​ไม่​มี​วัน​จบ​สิ้น, และ​สุขภาพ​ของ​เขา​เอง​ก็​แย่​ลง​เรื่อย ๆ. ความ​บากบั่น​พากเพียร​ของ​เขา​ได้​รับ​ผล​ตอบ​แทน.

ชุมชน​ที่​พูด​ภาษา​โปรตุเกส​หลาย​แห่ง​ซึ่ง​อัลเมดา​เคย​ไป​ประกาศ​เผยแพร่​มี​ขนาด​เล็ก​ลง​เรื่อย ๆ และ​สาบสูญ​ไป​แล้ว แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา​ยัง​คง​อยู่. ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 19 สมาคม​บริติช แอนด์ ฟอรีน ไบเบิล กับ​สมาคม​อเมริกัน​ไบเบิล​ได้​จำหน่าย​จ่าย​แจก​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​อัลเมดา​หลาย​พัน​เล่ม​ใน​โปรตุเกส​และ​เมือง​ต่าง ๆ แถบ​ชายฝั่ง​ของ​บราซิล. ผล​คือ คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​อื่น ๆ ที่​แปล​โดย​อาศัย​ฉบับ​ของ​เขา​ได้​กลาย​เป็น​ที่​นิยม​และ​จำหน่าย​จ่าย​แจก​ไป​อย่าง​กว้างขวาง​ที่​สุด​ใน​ประเทศ​ที่​พูด​ภาษา​โปรตุเกส.

ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า หลาย​คน​รู้สึก​เป็น​หนี้​บุญคุณ​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​สมัย​แรก ๆ อย่าง​อัลเมดา. แต่​มาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​ควร​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​ผู้​ทรง​ชอบ​การ​สื่อสาร ผู้​มี “พระทัย​ประสงค์​ให้​คน​ทุก​ชนิด​ได้​ความ​รอด​และ​บรรลุ​ความ​รู้​ถูก​ต้อง​เรื่อง​ความ​จริง.” (1 ติโมเธียว 2:3, 4, ล.ม.) เหนือ​สิ่ง​อื่น​ใด พระองค์​ทรง​เป็น​ผู้​ที่​ปก​ปัก​รักษา​พระ​คำ​ของ​พระองค์​ไว้​เพื่อ​ให้​เรา​ได้​อ่าน​และ​รับ​ประโยชน์. ขอ​ให้​เรา​เห็น​คุณค่า​และ​ขยัน​ศึกษา “ทรัพย์​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​สุด” นี้​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์​เสมอ​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ใน​ช่วง​ครึ่ง​หลัง​ของ​ศตวรรษ​ที่ 16 คริสตจักร​คาทอลิก​ได้​พิมพ์​ดัชนี​ราย​ชื่อ​หนังสือ​ต้อง​ห้าม ออก​มา ซึ่ง​เป็น​การ​วาง​ข้อ​จำกัด​ที่​เข้มงวด​สำหรับ​การ​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ต่าง ๆ. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​สารานุกรม​บริแทนนิกา​ฉบับ​ใหม่ การ​ทำ​เช่น​นี้ “ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ทำ​ให้​งาน​แปล​ของ​คาทอลิก​หยุด​ชะงัก​ไป​ตลอด 200 ปี​หลัง​จาก​นั้น.”

^ วรรค 8 คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​อัลเมดา​ฉบับ​เก่า ๆ เรียก​เขา​ว่า​ปาเดร (คุณ​พ่อ) อัลเมดา บาง​คน​จึง​คิด​ว่า​เขา​เป็น​บาทหลวง​คาทอลิก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ชาว​ดัตช์​ที่​เป็น​บรรณาธิการ​ให้​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​อัลเมดา​ใช้​คำ​นี้​ไม่​ถูก​ต้อง โดย​คิด​ว่า​นั่น​เป็น​คำ​ที่​ใช้​เรียก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ของ​โปรเตสแตนต์.

^ วรรค 10 คณะ​ปกครอง​ของ​คริสตจักร​รีฟอร์ม.

[กรอบ/ภาพ​ภาพ​หน้า 21]

พระ​นาม​ของ​พระเจ้า

ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​น่า​สังเกต​เป็น​พิเศษ​ใน​เรื่อง​ความ​ซื่อ​สัตย์​ของ​อัล​เม​ดา​ฐานะ​ผู้​แปล​ก็​คือ การ​ที่​เขา​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​เพื่อ​แปล​อักษร​ฮีบรู​สี่​ตัว​ซึ่ง​ใช้​เขียน​พระ​นาม​พระเจ้า.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Cortesia da Biblioteca da Igreja de Santa Catarina (Igreja dos Paulistas)

[แผนที่​หน้า 18]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

มหาสมุทร​แอตแลนติก

โปรตุเกส

ลิสบอน

ตอร์รี ดิ ตาวาเรส

[ภาพ​หน้า 18]

ปัตตาเวีย​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 17

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From Oud en Nieuw Oost-Indiën, Franciscus Valentijn, 1724

[ภาพ​หน้า 19]

ปก​ใน​ของ​พันธสัญญา​ใหม่​ภาษา​โปรตุเกส​เล่ม​แรก​ซึ่ง​พิมพ์​เผยแพร่​ใน​ปี 1681

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy Biblioteca Nacional, Portugal