ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย”

“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย”

“อย่า​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​เลย”

“อย่า​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​เลย. จง​หา​ทาง​ทำ​สิ่ง​ที่​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ว่า​ดี.”—โรม 12:17, ล.ม.

1. พฤติกรรม​แบบ​ใด​มี​ให้​เห็น​โดย​ทั่ว​ไป?

เมื่อ​เด็ก​คน​หนึ่ง​ถูก​พี่​หรือ​น้อง​ผลัก ตาม​ปกติ​ปฏิกิริยา​แรก​ของ​เด็ก​นั้น​ก็​คือ​ผลัก​ตอบ​กลับ​ไป. น่า​เสียดาย พฤติกรรม​แก้​เผ็ด​เช่น​นั้น​ไม่​ได้​มี​เฉพาะ​แต่​ใน​เด็ก​เท่า​นั้น. ผู้​ใหญ่​หลาย​คน​ก็​ทำ​คล้าย ๆ กัน. เมื่อ​มี​ใคร​มา​ทำ​ให้​เขา​ไม่​พอ​ใจ เขา​ก็​ต้องการ​จะ​เอา​คืน. จริง​อยู่ ผู้​ใหญ่​ส่วน​มาก​จะ​ไม่​ใช้​มือ​ผลัก แต่​หลาย​คน​จะ​ตอบ​โต้​ใน​วิธี​ที่​แยบยล. เขา​อาจ​แพร่​คำ​ซุบซิบ​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​แก่​ผู้​ที่​ทำ​ให้​เขา​ขุ่นเคือง​หรือ​หา​ทาง​กีด​กัน​ไม่​ให้​คน​นั้น​ประสบ​ความ​สำเร็จ. ไม่​ว่า​ใช้​วิธี​ใด จุด​มุ่ง​หมาย​ก็​เหมือน​กัน คือ​มา​อย่าง​ไร​ก็​ตอบ​กลับ​ไป​อย่าง​นั้น​หรือ​แก้แค้น.

2. (ก) เหตุ​ใด​คริสเตียน​แท้​ต้านทาน​แรง​กระตุ้น​ที่​จะ​แก้แค้น? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​อะไร​และ​คัมภีร์​ไบเบิล​บท​ไหน?

2 แม้​ว่า​แรง​กระตุ้น​ที่​จะ​แก้แค้น​เป็น​ความ​รู้สึก​ที่​ฝัง​ลึก แต่​คริสเตียน​แท้​พยายาม​จะ​ไม่​ยอม​ตาม​แรง​กระตุ้น​นั้น. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พวก​เขา​พยายาม​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่​ว่า “อย่า​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​เลย.” (โรม 12:17) อะไร​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​มาตรฐาน​อัน​สูง​ส่ง​นั้น? โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เรา​ไม่​ควร​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​ต่อ​ใคร? เรา​จะ​เก็บ​เกี่ยว​ผล​ประโยชน์​อะไร​หาก​เรา​หลีก​เลี่ยง​การ​แก้แค้น? เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้ ให้​เรา​พิจารณา​บริบท​ของ​คำ​กล่าว​ของ​เปาโล​และ​ดู​ว่า​พระ​ธรรม​โรม​บท 12 แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​การ​ไม่​แก้แค้น​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ถูก​ต้อง, เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก, และ​แสดง​ถึง​ความ​เจียม​ตัว. เรา​จะ​พิจารณา​แง่​มุม​ทั้ง​สาม​นี้​ที​ละ​แง่.

“เหตุ​ฉะนั้น . . . ข้าพเจ้า​วิงวอน​ท่าน​ทั้ง​หลาย”

3, 4. (ก) เริ่ม​ตั้ง​แต่​พระ​ธรรม​โรม​บท 12 เปาโล​พิจารณา​อะไร และ​คำ “เหตุ​ฉะนั้น” ที่​ท่าน​ใช้​มี​ความ​หมาย​เช่น​ไร? (ข) ความ​เมตตา​สงสาร​ของ​พระเจ้า​น่า​จะ​มี​ผล​เช่น​ไร​ต่อ​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม?

3 เริ่ม​ตั้ง​แต่​บท 12 เปาโล​พิจารณา​สี่​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กัน​ซึ่ง​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ชีวิต​คริสเตียน. ท่าน​พรรณนา​ความ​สัมพันธ์​ของ​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา, กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ, กับ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ, และ​กับ​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง. เปาโล​ชี้​ว่า มี​เหตุ​ผล​หลัก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ควร​ต่อ​ต้าน​แนว​โน้ม​ที่​ผิด ๆ รวม​ทั้ง​แรง​กระตุ้น​ที่​จะ​แก้แค้น​ด้วย เมื่อ​ท่าน​กล่าว​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย อาศัย​ความ​เมตตา​สงสาร​ของ​พระเจ้า ข้าพเจ้า​วิงวอน​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” (โรม 12:1, ล.ม.) โปรด​สังเกต​คำ “เหตุ​ฉะนั้น” ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ว่า “เมื่อ​คำนึง​ถึง​สิ่ง​ที่​กล่าว​ไป​แล้ว.” โดย​เนื้อหา​แล้ว​จึง​เหมือน​กับ​เปาโล​กล่าว​ว่า ‘เมื่อ​คำนึง​ถึง​สิ่ง​ที่​ข้าพเจ้า​เพิ่ง​อธิบาย​แก่​ท่าน ข้าพเจ้า​วิงวอน​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ทำ​สิ่ง​ที่​ข้าพเจ้า​จะ​บอก​ท่าน​ต่อ​จาก​นี้.’ เปาโล​ได้​อธิบาย​อะไร​ไป​แล้ว​แก่​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม?

4 ใน 11 บท​แรก​ของ​จดหมาย​ฉบับ​นี้ เปาโล​พิจารณา​โอกาส​อัน​น่า​พิศวง​ที่​เปิด​แก่​ทั้ง​คน​ยิว​และ​คน​ต่าง​ชาติ​ให้​มา​เป็น​ผู้​ปกครอง​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​ใน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า ซึ่ง​เป็น​ความ​หวัง​ที่​ชาติ​อิสราเอล​โดย​สาย​เลือด​ไม่​ตอบรับ​เอา. (โรม 11:13-36) สิทธิ​พิเศษ​อัน​ล้ำ​ค่า​นั้น​เป็น​ไป​ได้​เฉพาะ​แต่​โดย “ความ​เมตตา​สงสาร​ของ​พระเจ้า.” คริสเตียน​ควร​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร​ต่อ​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ของ​พระเจ้า? หัวใจ​ของ​เขา​ควร​เต็ม​เปี่ยม​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​อย่าง​ลึกซึ้ง​จน​ถูก​กระตุ้น​ให้​ทำ​สิ่ง​ที่​เปาโล​กล่าว​ต่อ​จาก​นั้น ที่​ว่า จง “ถวาย​ร่าง​กาย​ของ​ท่าน​เป็น​เครื่อง​บูชา​อัน​มี​ชีวิต​อยู่, บริสุทธิ์, ที่​พระเจ้า​ทรง​ยอม​รับ​ได้, เป็น​การ​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​พร้อม​ด้วย​ความ​สามารถ​ของ​ท่าน​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล.” (โรม 12:1, ล.ม.) แต่​คริสเตียน​เหล่า​นั้น​จะ​สามารถ​ถวาย​ตัว​เอง​เป็น “เครื่อง​บูชา” แด่​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร?

5. (ก) คน​เรา​จะ​ถวาย​ตัว​เอง​เป็น “เครื่อง​บูชา” แด่​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร? (ข) หลักการ​อะไร​ที่​น่า​จะ​มี​ผล​ต่อ​ความ​ประพฤติ​ของ​คริสเตียน?

5 เปาโล​อธิบาย​ต่อ​ไป​ว่า “จง​เลิก​ถูก​นวด​ปั้น​ตาม​ระบบ​นี้ แต่​จง​รับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​โดย​เปลี่ยน​ความ​คิด​จิตใจ​ของ​ท่าน​เสีย​ใหม่ เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​พิสูจน์​แก่​ตัว​เอง​ใน​เรื่อง​พระทัย​ประสงค์​อัน​ดี ที่​น่า​รับ​ไว้​และ​สมบูรณ์​พร้อม​ของ​พระเจ้า.” (โรม 12:2, ล.ม.) แทน​ที่​จะ​ปล่อย​ให้​วิญญาณ​ของ​โลก​นวด​ปั้น​ความ​คิด​ของ​ตน พวก​เขา​จำเป็น​ต้อง​เปลี่ยน​ความ​คิด​จิตใจ​เสีย​ใหม่​เพื่อ​จะ​คิด​แบบ​พระ​คริสต์. (1 โกรินโธ 2:16; ฟิลิปปอย 2:5) หลักการ​นั้น​ควร​มี​ผล​ต่อ​ความ​ประพฤติ​ใน​แต่​ละ​วัน​ของ​คริสเตียน​แท้​ทุก​คน รวม​ทั้ง​พวก​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​ด้วย.

6. โดย​อาศัย​การ​หา​เหตุ​ผล​ของ​เปาโล​ที่​พบ​ใน​โรม 12:1, 2 อะไร​กระตุ้น​เรา​ไม่​ให้​แก้แค้น?

6 การ​หา​เหตุ​ผล​ของ​เปาโล​ใน​โรม 12:1, 2 ช่วย​เรา​อย่าง​ไร? เช่น​เดียว​กับ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​ใน​กรุง​โรม เรา​หยั่ง​รู้​ค่า​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​ถ้อย​คำ​ที่​มี​มา​เรื่อย ๆ และ​หลาก​หลาย​รูป​แบบ​เกี่ยว​กับ​ความ​เมตตา​สงสาร​ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ประทาน​แก่​เรา​และ​ยัง​คง​ประทาน​แก่​เรา​ทุก ๆ วัน​ใน​ชีวิต. เหตุ​ฉะนั้น หัวใจ​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​กระตุ้น​เรา​ให้​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​สิ้น​สุด​กำลัง​กาย, กำลัง​ทรัพย์, และ​กำลัง​ความ​สามารถ. ความ​ปรารถนา​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​หัวใจ​เช่น​นั้น​ยัง​กระตุ้น​เรา​ด้วย​ให้​พยายาม​เต็ม​ที่​เพื่อ​จะ​คิด​แบบ​เดียว​กับ​พระ​คริสต์ ไม่​ใช่​คิด​อย่าง​โลก. และ​การ​มี​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ส่ง​ผล​ต่อ​วิธี​ที่​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น ๆ—ทั้ง​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​และ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. (ฆะลาเตีย 5:25) ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​แสดง​อย่าง​นั้น​ก็​คือ ถ้า​เรา​คิด​แบบ​เดียว​กับ​พระ​คริสต์ เรา​ก็​จะ​รู้สึก​ว่า​ต้อง​ต้านทาน​แรง​กระตุ้น​ที่​จะ​แก้แค้น.—1 เปโตร 2:21-23.

“จง​ให้​ความ​รัก​ปราศจาก​มารยา”

7. มี​การ​พิจารณา​ความ​รัก​แบบ​ใด​ใน​โรม​บท 12?

7 เรา​ไม่​ตอบ​แทน​การ​ชั่ว​ด้วย​การ​ชั่ว​ไม่​เพียง​เพราะ​นั่น​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ถูก​ต้อง แต่​เพราะ​เป็น​แนว​ทาง​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ด้วย. โปรด​สังเกต​วิธี​ที่​อัครสาวก​เปาโล​พิจารณา​ต่อ​จาก​นั้น​เกี่ยว​กับ​แรง​กระตุ้น​ของ​ความ​รัก. ใน​พระ​ธรรม​โรม เปาโล​ใช้​คำ “ความ​รัก” (ภาษา​กรีก อะกาเป) หลาย​ครั้ง​เมื่อ​กล่าว​ถึง​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์. (โรม 5:5, 8; 8:35, 39) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​บท 12 เปาโล​ใช้​คำ​อะกาเป​ใน​แบบ​ที่​ต่าง​ออก​ไป คือ​กล่าว​ถึง​ความ​รัก​ที่​แสดง​ต่อ​เพื่อน​มนุษย์. หลัง​จาก​กล่าว​ว่า​ของ​ประทาน​ฝ่าย​วิญญาณ​มี​หลาย​อย่าง​และ​มี​อยู่​ใน​หมู่​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​บาง​คน เปาโล​กล่าว​ถึง​คุณลักษณะ​ที่​คริสเตียน​ทุก​คน​ควร​ปลูกฝัง. ท่าน​กล่าว​ว่า “จง​ให้​ความ​รัก​ปราศจาก​มารยา.” (โรม 12:4-9) การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​อื่น​เป็น​เครื่องหมาย​พื้น​ฐาน​ที่​ระบุ​ตัว​คริสเตียน​แท้. (มาระโก 12:28-31) เปาโล​กระตุ้น​เตือน​เรา​ให้​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ความ​รัก​ที่​เรา​แสดง​ออก​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​ออก​มา​จาก​ใจ​จริง.

8. เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​อัน​ปราศจาก​มารยา​ได้​อย่าง​ไร?

8 นอก​จาก​นั้น เปาโล​กล่าว​ถึง​วิธี​แสดง​ความ​รัก​อัน​ปราศจาก​มารยา โดย​บอก​ว่า “จง​เกลียด​ชัง​สิ่ง​ที่​ชั่ว จง​ยึด​ถือ​สิ่ง​ที่​ดี​ไว้.” (โรม 12:9) “เกลียด​ชัง” และ “ยึด​ถือ” เป็น​คำ​ที่​หนักแน่น. “เกลียด​ชัง” อาจ​แปล​ได้​ว่า “เกลียด​อย่าง​ยิ่ง.” เรา​ต้อง​เกลียด​ไม่​เพียง​แค่​ผล​ของ​ความ​ชั่ว แต่​เกลียด​ตัว​ความ​ชั่ว​เอง​ด้วย. (บทเพลง​สรรเสริญ 97:10) คำ “ยึด​ถือ” แปล​จาก​คำ​กริยา​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร​ว่า “ติด​กาว.” คริสเตียน​ที่​มี​ความ​รัก​แท้​ยึด​ติด​หรือ​ผูก​พัน​กับ​คุณลักษณะ​แห่ง​ความ​ดี​นี้​อย่าง​มั่นคง​ถึง​ขนาด​ที่​คุณลักษณะ​นี้​กลาย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ที่​ไม่​อาจ​แยก​อยู่​ต่าง​หาก​จาก​บุคลิกภาพ​ของ​เขา.

9. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​เตือน​อะไร​หลาย​ต่อ​หลาย​ครั้ง?

9 เปาโล​กล่าว​หลาย​ต่อ​หลาย​ครั้ง​เกี่ยว​กับ​การ​แสดง​ความ​รัก​ใน​วิธี​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ. ท่าน​กล่าว​ว่า “จง​อวย​พร​แก่​คน​ที่​เคี่ยวเข็ญ​ท่าน จง​ให้​พร​อย่า​แช่ง​ด่า​เลย.” “อย่า​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​เลย.” “ท่าน​ผู้​เป็น​ที่​รัก​ของ​ข้าพเจ้า, อย่า​ทำ​การ​แก้แค้น.” “อย่า​ให้​ความ​ชั่ว​ชนะ​เรา​ได้​แต่​จง​ชนะ​ความ​ชั่ว​ด้วย​ความ​ดี.” (โรม 12:14, 17-19, 21) ถ้อย​คำ​ของ​เปาโล​ไม่​ทิ้ง​อะไร​ไว้​ให้​ต้อง​สงสัย​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ และ​แม้​แต่​คน​ที่​ต่อ​ต้าน​เรา.

“จง​อวย​พร​แก่​คน​ที่​เคี่ยวเข็ญ​ท่าน”

10. เรา​สามารถ​อวย​พร​ผู้​ที่​ข่มเหง​เรา​ได้​โดย​วิธี​ใด?

10 เรา​จะ​ทำ​อย่าง​ที่​เปาโล​กระตุ้น​เตือน​เรา​ที่​ว่า “จง​อวย​พร​แก่​คน​ที่​เคี่ยวเข็ญ​ท่าน” โดย​วิธี​ใด? (โรม 12:14) พระ​เยซู​ทรง​บอก​เหล่า​สาวก​ว่า “จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน​ต่อ ๆ ไป และ​อธิษฐาน​เพื่อ​ผู้​ที่​ข่มเหง​ท่าน” (มัดธาย 5:44, ล.ม.; ลูกา 6:27, 28) ด้วย​เหตุ​นั้น วิธี​หนึ่ง​ที่​เรา​อวย​พร​ผู้​ข่มเหง​ก็​คือ​อธิษฐาน​เพื่อ​พวก​เขา อ้อน​วอน​ขอ​พระเจ้า​ว่า​หาก​ใคร​ต่อ​ต้าน​เรา​เพราะ​ความ​ไม่​รู้ ขอ​พระองค์​ทรง​เปิด​ตา​ให้​เขา​มอง​เห็น​ความ​จริง. (2 โกรินโธ 4:4) จริง​อยู่ อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​เรื่อง​แปลก​ที่​จะ​ขอ​พระเจ้า​ให้​อวย​พร​ผู้​ที่​ข่มเหง​เรา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ยิ่ง​เรา​คิด​คล้าย​กัน​กับ​พระ​คริสต์​มาก​เท่า​ใด เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​สามารถ​แสดง​ความ​รัก​แก่​คน​ที่​เป็น​ศัตรู​มาก​เท่า​นั้น. (ลูกา 23:34) การ​แสดง​ความ​รัก​เช่น​นั้น​อาจ​ก่อ​ผล​เช่น​ไร?

11. (ก) เรา​สามารถ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​ซะเตฟาโน? (ข) ดัง​เห็น​ตัว​อย่าง​จาก​ชีวิต​ของ​เปาโล อาจ​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​กับ​ผู้​ข่มเหง​บาง​คน?

11 ซะเตฟาโน​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​อธิษฐาน​เพื่อ​ผู้​ที่​ข่มเหง​ท่าน และ​คำ​อธิษฐาน​ของ​ท่าน​ไม่​ไร้​ประโยชน์. ไม่​นาน​หลัง​จาก​วัน​เพนเทคอสต์​สากล​ศักราช 33 ซะเตฟาโน​ถูก​ผู้​ต่อ​ต้าน​ประชาคม​คริสเตียน​จับ​ตัว ลาก​ออก​ไป​นอก​กรุง​เยรูซาเลม และ​เอา​หิน​ขว้าง. ก่อน​ท่าน​จะ​ตาย ท่าน​ร้อง​ออก​มา​ว่า “ข้า​แต่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ขอ​โปรด​อย่า​ทรง​ถือ​โทษ​เขา​เพราะ​บาป​นี้.” (กิจการ 7:58–8:1, ฉบับ​แปล​ใหม่) คน​หนึ่ง​ที่​ซะเตฟาโน​อธิษฐาน​เพื่อ​เขา​ใน​วัน​นั้น​คือ​เซาโล ซึ่ง​เป็น​พยาน​รู้​เห็น​และ​เห็น​ชอบ​กับ​การ​ฆ่า​ซะเตฟาโน. ต่อ​มา พระ​เยซู​ผู้​ถูก​ปลุก​ให้​คืน​พระ​ชนม์​ปรากฏ​แก่​เซาโล. อดีต​ผู้​ข่มเหง​คน​นี้​กลาย​มา​เป็น​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​และ​ใน​ที่​สุด​กลาย​เป็น​อัครสาวก​เปาโล ผู้​เขียน​จดหมาย​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม. (กิจการ 26:12-18) สอดคล้อง​กับ​คำ​อธิษฐาน​ของ​ซะเตฟาโน ปรากฏ​ชัด​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​เปาโล​สำหรับ​บาป​ที่​ท่าน​เคย​ข่มเหง​คริสเตียน. (1 ติโมเธียว 1:12-16) ไม่​แปลก​เลย​ที่​เปาโล​กระตุ้น​เตือน​คริสเตียน​ว่า “จง​อวย​พร​แก่​คน​ที่​เคี่ยวเข็ญ​ท่าน”! ท่าน​ทราบ​จาก​ประสบการณ์​ของ​ตัว​เอง​ว่า อาจ​เป็น​ได้​ว่า​ใน​ที่​สุด​ผู้​ข่มเหง​บาง​คน​จะ​กลาย​มา​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า. ใน​สมัย​ของ​เรา​ก็​เช่น​กัน ผู้​ข่มเหง​บาง​คน​กลาย​มา​เป็น​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​เพราะ​ความ​ประพฤติ​ที่​รัก​สันติ​ของ​ผู้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา.

“จง​สร้าง​สันติ​กับ​คน​ทั้ง​ปวง”

12. คำ​แนะ​นำ​ที่​พบ​ใน​โรม 12:9, 17 เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​ไร?

12 คำ​แนะ​นำ​ต่อ​จาก​นั้น​ของ​เปาโล​เกี่ยว​กับ​วิธี​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​ที่​มี​ความ​เชื่อ​และ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​คือ “อย่า​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​เลย.” คำ​กล่าว​นี้​เป็น​เหตุ​เป็น​ผล​กับ​สิ่ง​ที่​ท่าน​กล่าว​ก่อน​หน้า​นั้น ที่​ว่า “จง​เกลียด​สิ่ง​ชั่ว.” ที่​จริง ใคร​คน​หนึ่ง​จะ​กล่าว​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เขา​เกลียด​ชัง​สิ่ง​ที่​ชั่ว​อย่าง​แท้​จริง​ถ้า​เขา​ใช้​ความ​ชั่ว​ร้าย​เป็น​วิธี​ตอบ​แทน​ผู้​อื่น? การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ย่อม​ตรง​กัน​ข้าม​กับ​การ​มี​ความ​รัก​ที่ “ปราศจาก​มารยา.” จาก​นั้น เปาโล​กล่าว​ว่า “จง​หา​ทาง​ทำ​สิ่ง​ที่​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ว่า​ดี.” (โรม 12:9, 17, ล.ม.) เรา​จะ​นำ​คำ​แนะ​นำ​นี้​ไป​ใช้​อย่าง​ไร?

13. เรา​ประพฤติ​ตัว​ให้ “คน​ทั้ง​ปวง​เห็น” ใน​ทาง​ใด?

13 ก่อน​หน้า​นั้น ใน​จดหมาย​ถึง​ชาว​โครินท์ เปาโล​เขียน​เกี่ยว​กับ​การ​ข่มเหง​ที่​เหล่า​อัครสาวก​เผชิญ. ท่าน​กล่าว​ว่า “เรา​กลาย​เป็น​การ​แสดง​ที่​ให้​จักรวาล ทูตสวรรค์​และ​มนุษย์​ทั้ง​หลาย​มอง​ดู. . . . เมื่อ​ถูก​ด่า​เรา​ก็​อวย​พร เมื่อ​ถูก​ข่มเหง​ก็​ทน​เอา เมื่อ​ถูก​กล่าว​ร้าย​ก็​พยายาม​วิงวอน.” (1 โกรินโธ 4:9-13, ฉบับ​แปล 2002) คล้าย​กัน คริสเตียน​แท้​ใน​ปัจจุบัน​กำลัง​ถูก​เฝ้า​มอง​จาก​ผู้​คน​ใน​โลก​นี้. เมื่อ​คน​ที่​อยู่​รอบ​ตัว​เรา​สังเกต​สิ่ง​ดี ๆ ที่​เรา​ทำ​แม้​แต่​เมื่อ​เรา​ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​ยุติธรรม พวก​เขา​อาจ​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​มี​ทัศนะ​ที่​ดี​ขึ้น​ต่อ​ข่าวสาร​คริสเตียน​ที่​เรา​ประกาศ.—1 เปโตร 2:12.

14. เรา​ควร​พยายาม​สร้าง​สันติ​ถึง​ขนาด​ไหน?

14 แต่​เรา​ควร​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข​ถึง​ขนาด​ไหน? เรา​ควร​ทำ​ให้​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้. เปาโล​บอก​พี่​น้อง​คริสเตียน​ว่า “หาก​เป็น​ได้ เท่า​ที่​ขึ้น​อยู่​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย จง​สร้าง​สันติ​กับ​คน​ทั้ง​ปวง.” (โรม 12:18, ล.ม.) “หาก​เป็น​ได้” และ “เท่า​ที่​ขึ้น​อยู่​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย” เป็น​วลี​ขยาย​ความ​ที่​แสดง​ว่า​การ​สร้าง​สันติ​กับ​ผู้​อื่น​นั้น​อาจ​ไม่​สามารถ​ทำ​ได้​เสมอ​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​จะ​ไม่​ฝ่าฝืน​พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​เพียง​เพื่อ​จะ​รักษา​สันติ​สุข​กับ​มนุษย์. (มัดธาย 10:34-36; เฮ็บราย 12:14) ถึง​กระนั้น เรา​ทำ​ทุก​สิ่ง​ที่​สามารถ​ทำ​ได้​อย่าง​สม​เหตุ​ผล—โดย​ไม่​ประนีประนอม​หลักการ​อัน​ชอบธรรม—เพื่อ​สร้าง​สันติ “กับ​คน​ทั้ง​ปวง.”

“อย่า​แก้แค้น​เสีย​เอง”

15. มี​เหตุ​ผล​อะไร​ตาม​ที่​พบ​ใน​โรม 12:19 ที่​จะ​ตัดใจ​ไม่​แก้แค้น?

15 เปาโล​ให้​เหตุ​ผล​ที่​มี​น้ำหนัก​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เรา​ไม่​ควร​แก้แค้น กล่าว​คือ เพราะ​นั่น​เป็น​แนว​ทาง​ที่​เจียม​ตัว. ท่าน​กล่าว​ว่า “อย่า​แก้แค้น​เสีย​เอง พี่​น้อง​ที่​รัก แต่​จง​หลีก​ทาง​ให้​พระ​พิโรธ​ของ​พระเจ้า; เพราะ​มี​เขียน​ไว้​ว่า ‘การ​แก้แค้น​เป็น​ของ​เรา; เรา​จะ​ตอบ​แทน พระ​ยะโฮวา​ตรัส.’ ” (โรม 12:19, ล.ม.) คริสเตียน​ที่​พยายาม​แก้แค้น​เป็น​คน​ทำ​เกิน​สิทธิ์. เขา​ถือ​วิสาสะ​ทำ​บทบาท​ที่​เป็น​ของ​พระเจ้า. (มัดธาย 7:1) นอก​จาก​นั้น ด้วย​การ​จัด​การ​เรื่อง​ต่าง ๆ ด้วย​ตัว​เอง เขา​แสดง​ถึง​การ​ขาด​ความ​เชื่อ​ใน​คำ​รับรอง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ว่า “เรา​จะ​ตอบ​แทน.” ตรง​กัน​ข้าม คริสเตียน​แท้​ไว้​วางใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ “ประทาน​ความ​ยุติธรรม​แก่​คน​ที่​พระองค์​ทรง​เลือก​ไว้.” (ลูกา 18:7, 8, ฉบับ​แปล 2002; 2 เธซะโลนิเก 1:6-8) ด้วย​ความ​เจียม​ตัว พวก​เขา​มอบ​การ​แก้แค้น​ไว้​ให้​พระเจ้า​ทรง​จัด​การ.—ยิระมะยา 30:23, 24; โรม 1:18.

16, 17. (ก) การ “กอง​ถ่าน​เพลิง” ไว้​ที่​ศีรษะ​ของ​ใคร​คน​หนึ่ง​หมาย​ความ​เช่น​ไร? (ข) คุณ​เอง​เคย​สังเกต​เห็น​วิธี​ที่​ความ​กรุณา​ทำ​ให้​หัวใจ​ของ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​อ่อน​ลง​ไหม? ถ้า​อย่าง​นั้น จง​ยก​ตัว​อย่าง.

16 การ​แก้แค้น​ศัตรู​คง​จะ​ทำ​ให้​ศัตรู​มี​ใจ​แข็ง​กระด้าง​ยิ่ง​ขึ้น แต่​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​เขา​อย่าง​กรุณา​อาจ​ทำ​ให้​หัวใจ​เขา​อ่อน​ลง. เพราะ​เหตุ​ใด? ขอ​ให้​สังเกต​ถ้อย​คำ​ของ​เปาโล​ที่​มี​ไป​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม. ท่าน​กล่าว​ว่า “ถ้า​ศัตรู​ของ​ท่าน​อยาก​อาหาร จง​ให้​เขา​กิน ถ้า​กระหาย​น้ำ​จง​ให้​เขา​ดื่ม ด้วย​ว่า​ถ้า​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​กอง​ถ่าน​เพลิง​ไว้​ที่​ศีรษะ​ของ​เขา.” (โรม 12:20; สุภาษิต 25:21, 22) นั่น​หมาย​ความ​เช่น​ไร?

17 การ “กอง​ถ่าน​เพลิง​ไว้​ที่​ศีรษะ​ของ​เขา” เป็น​ภาพพจน์​ที่​มา​จาก​วิธี​การ​หลอม​โลหะ​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล. แร่​จะ​ถูก​ใส่​ใน​เตา​หลอม และ​ใส่​ชั้น​ถ่าน​ไม่​เฉพาะ​ด้าน​ล่าง​ของ​แร่ แต่​จะ​วาง​ไว้​ด้าน​บน​ด้วย. ถ่าน​ที่​ลุก​ร้อน​แรง​ที่​กอง​ไว้​ด้าน​บน​ช่วย​เพิ่ม​ทวี​ความ​ร้อน​จน​โลหะ​แข็ง​หลอม​ละลาย​และ​แยก​ออก​จาก​ขี้​แร่. คล้าย​กัน ด้วย​การ​กระทำ​ที่​กรุณา​ต่อ​ผู้​ต่อ​ต้าน เรา​อาจ “หลอม” ความ​แข็ง​กระด้าง​ของ​เขา​และ​ดึงดูด​ลักษณะ​ที่​ดี​ของ​เขา​ออก​มา. (2 กษัตริย์ 6:14-23) ที่​จริง หลาย​คน​ที่​เป็น​สมาชิก​ของ​ประชาคม​คริสเตียน​ถูก​ดึงดูด​มา​สู่​การ​นมัสการ​แท้​ใน​ครั้ง​แรก​โดย​การ​กระทำ​อัน​กรุณา​ที่​ผู้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ทำ​เพื่อ​พวก​เขา.

เหตุ​ที่​เรา​ไม่​แก้แค้น

18. เหตุ​ใด​การ​ไม่​แก้แค้น​จึง​เป็น​เรื่อง​ถูก​ต้อง, แสดง​ความ​รัก, และ​เจียม​ตัว?

18 ใน​การ​พิจารณา​พระ​ธรรม​โรม​บท 12 กัน​สั้น ๆ เรา​ได้​เห็น​เหตุ​ผล​สำคัญ​หลาย​ประการ​ที่​เรา​ไม่ “ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด.” เหตุ​ผล​แรก การ​ไม่​แก้แค้น​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ถูก​ต้อง. เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​เมตตา​ที่​พระเจ้า​แสดง​ต่อ​เรา เป็น​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​และ​มี​เหตุ​ผล​ที่​เรา​ถวาย​ตัว​เรา​เอง​แด่​พระ​ยะโฮวา​และ​เต็ม​ใจ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์—รวม​ถึง​พระ​บัญชา​ที่​ให้​รัก​ศัตรู. เหตุ​ผล​ที่​สอง การ​ไม่​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​เป็น​แนว​ทาง​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก. ด้วย​การ​ตัดใจ​ไม่​แก้แค้น​และ​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข เรา​แสดง​ความ​รัก​โดย​หวัง​ว่า​จะ​ช่วย​แม้​แต่​ผู้​ต่อ​ต้าน​ที่​โหด​เหี้ยม​บาง​คน​ให้​มา​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. เหตุ​ผล​ที่​สาม การ​ไม่​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​เป็น​แนว​ทาง​ที่​เจียม​ตัว. การ​แก้แค้น​ด้วย​ตัว​เรา​เอง​ย่อม​เป็น​การ​ทำ​เกิน​สิทธิ์ เพราะ​พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า “การ​แก้แค้น​เป็น​ของ​เรา.” พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ยัง​เตือน​ด้วย​ว่า “มี​การ​ทำ​เกิน​สิทธิ์​หรือ? ถ้า​เช่น​นั้น ก็​จะ​มี​ความ​อัปยศ; แต่​สติ​ปัญญา​อยู่​กับ​คน​เจียม​ตัว.” (สุภาษิต 11:2, ล.ม.) การ​มอบ​การ​แก้แค้น​ไว้​ให้​พระเจ้า​ทรง​จัด​การ​ซึ่ง​นับ​เป็น​ความ​ฉลาด​สุขุม​แสดง​ว่า​เรา​เจียม​ตัว.

19. เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

19 เปาโล​สรุป​เรื่อง​ที่​ท่าน​พิจารณา​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น. ท่าน​กระตุ้น​เตือน​คริสเตียน​ว่า “อย่า​ให้​ความ​ชั่ว​มี​ชัย​แก่​ตัว แต่​จง​เอา​ชนะ​ความ​ชั่ว​ด้วย​ความ​ดี​ต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:21, ล.ม.) เรา​เผชิญ​กับ​อิทธิพล​อัน​ชั่ว​ร้าย​อะไร​ใน​ทุก​วัน​นี้? เรา​จะ​เอา​ชนะ​อิทธิพล​เหล่า​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? จะ​มี​การ​พิจารณา​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​ดัง​กล่าว​และ​คำ​ถาม​อื่น ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

คุณ​อธิบาย​ได้​ไหม?

• ใน​โรม​บท 12 เรา​พบ​คำ​แนะ​นำ​อะไร​หลาย​ครั้ง​หลาย​คราว?

• อะไร​จะ​กระตุ้น​เรา​ไม่​ให้​แก้แค้น?

• เรา​และ​คน​อื่น ๆ จะ​เก็บ​เกี่ยว​ผล​ประโยชน์​อะไร​หาก​เรา​ไม่ “ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว”?

[คำ​ถาม]

[กรอบ​หน้า 22]

โรม​บท 12 พรรณนา​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์​ของ​คริสเตียน​กับ

• พระ​ยะโฮวา

• เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ

• คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ

[ภาพ​หน้า 23]

จดหมาย​ของ​เปาโล​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ใช้​ได้​จริง

[ภาพ​หน้า 25]

เรา​สามารถ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​สาวก​ซะเตฟาโน?