ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณจะ “ดำเนินชีวิตตามการทรงนำจากพระวิญญาณต่อ ๆ ไป” ไหม?

คุณจะ “ดำเนินชีวิตตามการทรงนำจากพระวิญญาณต่อ ๆ ไป” ไหม?

คุณ​จะ “ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป” ไหม?

“จง​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป​แล้ว​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ไม่​ทำ​ตาม ความ​ปรารถนา​ของ​กาย​ที่​ไม่​สมบูรณ์​เลย.”—ฆะลาเตีย 5:16, ล.ม.

1. เรา​จะ​ขจัด​ความ​กังวล​เกี่ยว​กับ​การ​ทำ​บาป​ต่อ​พระ​วิญญาณ​ได้​อย่าง​ไร?

มี​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ขจัด​ความ​กังวล​เกี่ยว​กับ​การ​ทำ​บาป​ต่อ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา. นั่น​คือ​โดย​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ที่​ว่า “จง​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป​แล้ว​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ไม่​ทำ​ตาม​ความ​ปรารถนา​ของ​กาย​ที่​ไม่​สมบูรณ์​เลย.” (ฆะลาเตีย 5:16, ล.ม.) ถ้า​เรา​ยอม​ให้​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ชี้​นำ​เรา ความ​ปรารถนา​ฝ่าย​เนื้อหนัง​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​จะ​ไม่​มี​ทาง​ชนะ​เรา.—โรม 8:2-10.

2, 3. ถ้า​เรา​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป เรา​จะ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร?

2 ขณะ​ที่​เรา “ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป” พลัง​ปฏิบัติการ​ของ​พระเจ้า​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา. เรา​จะ​แสดง​คุณลักษณะ​เยี่ยง​พระเจ้า​ขณะ​ที่​เรา​อยู่​ใน​งาน​รับใช้, ใน​ประชาคม, ที่​บ้าน, และ​ที่​อื่น ๆ. ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ​จะ​ปรากฏ​ชัด​ใน​วิธี​ที่​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​คู่​สมรส, ต่อ​ลูก ๆ, ต่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ, และ​ต่อ​คน​อื่น ๆ.

3 การ​ดำเนิน​ชีวิต “ตาม​วิญญาณ​จาก​แง่​คิด​ของ​พระเจ้า” ทำ​ให้​เรา​สามารถ​เลิก​ทำ​บาป. (1 เปโตร 4:1-6, ล.ม.) ถ้า​เรา​อยู่​ภาย​ใต้​การ​โน้ม​นำ​ของ​พระ​วิญญาณ เรา​ก็​จะ​ไม่​ทำ​บาป​ที่​ให้​อภัย​ไม่​ได้​อย่าง​แน่นอน. แต่​เรา​จะ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​ใน​ด้าน​ดี​อะไร​อีก​ถ้า​เรา​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​เรื่อย​ไป?

จง​ติด​สนิท​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์

4, 5. การ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ทัศนะ​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​เยซู​อย่าง​ไร?

4 เนื่อง​จาก​เรา​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ เรา​จึง​สามารถ​รักษา​ไว้​ซึ่ง​สัมพันธภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์. เมื่อ​เขียน​เกี่ยว​กับ​ของ​ประทาน​ฝ่าย​วิญญาณ เปาโล​กล่าว​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​เมือง​โครินท์​ดัง​นี้: “ข้าพเจ้า​ขอ​บอก [ผู้​บูชา​รูป​เคารพ​ใน​อดีต] ให้​ทราบ​ว่า ไม่​มี​ใคร​ที่​พูด​โดย​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​จะ​พูด​ว่า ‘ให้​เยซู​เป็น​ที่​สาป​แช่ง’ และ​ไม่​มี​ใคร​สามารถ​พูด​ว่า ‘พระ​เยซู​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า’ นอก​จาก​จะ​พูด​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์.” (1 โกรินโธ 12:1-3, ฉบับ​แปล 2002) แรง​กระตุ้น​ใด ๆ ที่​กระตุ้น​ผู้​คน​ให้​สาป​แช่ง​พระ​เยซู​ต้อง​มา​จาก​ซาตาน​พญา​มาร. แต่​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​ที่​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ เรา​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ปลุก​พระ​เยซู​ให้​คืน​พระ​ชนม์​และ​ตั้ง​พระองค์​ให้​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​สูง​กว่า​สิ่ง​ทรง​สร้าง​อื่น ๆ ทั้ง​ปวง. (ฟิลิปปอย 2:5-11) เรา​มี​ความ​เชื่อ​ใน​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​คริสต์​และ​ยอม​รับ​พระ​เยซู​ใน​ฐานะ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ที่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​จาก​พระเจ้า​ให้​ดู​แล​เรา.

5 ผู้​ที่​อ้าง​ตัว​เป็น​คริสเตียน​บาง​คน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ปฏิเสธ​ว่า​พระ​เยซู​เสด็จ​มา​เป็น​เนื้อหนัง. (2 โยฮัน 7-11) การ​ยอม​รับ​แนว​คิด​ผิด ๆ นั้น​ทำ​ให้​บาง​คน​ปฏิเสธ​คำ​สอน​แท้​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู พระ​มาซีฮา. (มาระโก 1:9-11; โยฮัน 1:1, 14) การ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ป้องกัน​เรา​ไม่​ให้​พ่าย​แพ้​ต่อ​การ​ออก​หาก​เช่น​นั้น. แต่​โดย​การ​คง​ไว้​ซึ่ง​ความ​ระแวด​ระวัง​ฝ่าย​วิญญาณ​เท่า​นั้น​ที่​ทำ​ให้​เรา​สามารถ​รับ​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​จาก​พระ​ยะโฮวา​และ “ดำเนิน​อยู่​ใน​ความ​จริง​ต่อ ๆ ไป.” (3 โยฮัน 3, 4, ล.ม.) ดัง​นั้น ขอ​เรา​ตั้งใจ​ที่​จะ​ปฏิเสธ​การ​ออก​หาก​ทุก​รูป​แบบ​เพื่อ​ว่า​เรา​สามารถ​รักษา​สัมพันธภาพ​ที่​แน่นแฟ้น​กับ​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา.

6. พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ให้​เกิด​คุณลักษณะ​อะไร​บ้าง​ใน​ตัว​ผู้​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ?

6 เปาโล​จัด​เอา​การ​บูชา​รูป​เคารพ​และ​การ​แบ่ง​แยก​นิกาย​ที่​เป็น​การ​ออก​หาก​ไว้​ใน​กลุ่ม “การ​ของ​เนื้อหนัง” เช่น​เดียว​กับ​การ​ผิด​ประเวณี​และ​การ​ประพฤติ​หละหลวม. แต่​ท่าน​อธิบาย​ว่า “เขา​ทั้ง​หลาย​ที่​อยู่​ฝ่าย​พระ​เยซู​คริสต์​ได้​เอา​เนื้อหนัง​กับ​ความ​ปรารถนา​และ​ราคะ​ตัณหา​ของ​เนื้อหนัง​นั้น​ตรึง​ไว้​ที่​กางเขน​เสีย​แล้ว. ถ้า​เรา​มี​ชีวิต​อยู่​โดย​พระ​วิญญาณ​ก็​ให้​เรา​ดำเนิน​ตาม​พระ​วิญญาณ​ด้วย.” (ฆะลาเตีย 5:19-21, 24, 25) พลัง​ปฏิบัติการ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ให้​เกิด​คุณลักษณะ​อะไร​บ้าง​ใน​ตัว​ของ​คน​ที่​อยู่​และ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ? เปาโล​เขียน​ดัง​นี้: “ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ​คือ ความ​รัก, ความ​ยินดี, สันติ​สุข, ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน, ความ​กรุณา, ความ​ดี, ความ​เชื่อ, ความ​อ่อนโยน, การ​ควบคุม​ตน​เอง.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ขอ​เรา​พิจารณา​แง่​มุม​เหล่า​นี้​ของ​ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ.

“รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน”

7. ความ​รัก​คือ​อะไร และ​ลักษณะ​เด่น​บาง​อย่าง​ของ​ความ​รัก​มี​อะไร​บ้าง?

7 ความ​รัก—ผล​อย่าง​หนึ่ง​แห่ง​พระ​วิญญาณ—บ่อย​ครั้ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​รักใคร่​อัน​แรง​กล้า​และ​ความ​ห่วงใย​แบบ​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ที่​มี​ต่อ​ผู้​อื่น ควบ​คู่​ไป​กับ​ความ​สัมพันธ์​อัน​อบอุ่น​ที่​มี​ต่อ​พวก​เขา. พระ​คัมภีร์​กล่าว​ว่า “พระเจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก” เนื่อง​จาก​พระองค์​เป็น​แบบ​อย่าง​อัน​ยอด​เยี่ยม​ใน​คุณลักษณะ​นี้. ความ​รัก​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระเจ้า​และ​ของ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ที่​มี​ต่อ​มนุษยชาติ​แสดง​ให้​เห็น​เป็น​แบบ​อย่าง​ใน​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู​คริสต์. (1 โยฮัน 4:8; โยฮัน 3:16; 15:13; โรม 5:8) เรา​ได้​รับ​การ​ระบุ​ตัว​ว่า​เป็น​สาวก​ของ​พระ​เยซู​โดย​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​กัน​และ​กัน. (โยฮัน 13:34, 35) อัน​ที่​จริง เรา​ได้​รับ​พระ​บัญชา​ให้ “รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.” (1 โยฮัน 3:23) และ​เปาโล​กล่าว​ว่า​ความ​รัก​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​แสดง​ความ​กรุณา. ความ​รัก​ไม่​อิจฉา​ริษยา, และ​ไม่​อวด​ตัว, ไม่​ประพฤติ​หยาบ​โลน, หรือ​แสวง​หา​ผล​ประโยชน์​สำหรับ​ตน​เอง. ความ​รัก​ไม่​ปล่อย​ตัว​ให้​เกิด​โทโส​หรือ​จด​จำ​ความ​เสียหาย. ความ​รัก​ยินดี​กับ​ความ​จริง ไม่​ยินดี​ใน​การ​อธรรม. ความ​รัก​ยอม​ทน, เชื่อ, หวัง, และ​อด​ทน​ทุก​สิ่ง. ยิ่ง​กว่า​นั้น ความ​รัก​ไม่​ล้มเหลว​เลย.—1 โกรินโธ 13:4-8.

8. เหตุ​ใด​เรา​ควร​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​ร่วม​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา?

8 ถ้า​เรา​ยอม​ให้​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ผล​เป็น​ความ​รัก​ใน​ตัว​เรา คุณลักษณะ​นี้​ก็​จะ​อยู่​ใน​สัมพันธภาพ​ที่​เรา​มี​กับ​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน. (มัดธาย 22:37-39) อัครสาวก​โยฮัน​เขียน​ว่า “คน​ใด​ที่​ไม่​มี​ความ​รัก​ผู้​นั้น​ก็​ยัง​อยู่​ใน​ความ​ตาย. ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​ที่​เกลียด​ชัง​พี่​น้อง​ของ​ตน​ก็​ย่อม​เป็น​ผู้​ฆ่า​คน และ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​รู้​แล้ว​ว่า, ผู้​ฆ่า​คน​ไม่​มี​ชีวิต​นิรันดร์​อยู่​ใน​ตัว​เลย.” (1 โยฮัน 3:14, 15) ผู้​ฆ่า​คน​จะ​พบ​ที่​ปลอด​ภัย​ได้​ใน​เมือง​คุ้ม​ภัย​ของ​ชาว​อิสราเอล​เฉพาะ​ถ้า​เขา​ไม่​ได้​เกลียด​ชัง​คน​ที่​เขา​ฆ่า. (พระ​บัญญัติ 19:4, 11-13) ถ้า​เรา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า, เพื่อน​ร่วม​นมัสการ, และ​คน​อื่น ๆ.

“ความ​ยินดี​ใน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ป้อม​ของ​พวก​เจ้า”

9, 10. ความ​ยินดี​คือ​อะไร และ​มี​เหตุ​ผล​อะไร​บ้าง​ที่​จะ​ชื่นชม​ยินดี?

9 ความ​ยินดี​คือ​สภาพ​ที่​เป็น​สุข​อย่าง​ยิ่ง. พระ​ยะโฮวา​เป็น “พระเจ้า​ผู้​ประกอบ​ด้วย​ความ​สุข.” (1 ติโมเธียว 1:11; บทเพลง​สรรเสริญ 104:31) พระ​บุตร​ทรง​ยินดี​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์. (บทเพลง​สรรเสริญ 40:8; เฮ็บราย 10:7-9) และ “ความ​ยินดี​ใน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ป้อม [ของ​เรา].”—นะเฮมยา 8:10, ล.ม.

10 ความ​ยินดี​ที่​มา​จาก​พระเจ้า​ทำ​ให้​เรา​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​เมื่อ​เรา​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​แม้​ใน​ยาม​ที่​มี​ความ​ยุ่งยาก, ความ​โศก​เศร้า, หรือ​การ​กดขี่​ข่มเหง. “ความ​รู้​ของ​พระเจ้า” ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​สุข​อะไร​เช่น​นี้! (สุภาษิต 2:1-5) สัมพันธภาพ​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​ยินดี​ระหว่าง​เรา​กับ​พระเจ้า​มี​พื้น​ฐาน​จาก​ความ​รู้​ถ่องแท้​และ​ความ​เชื่อ​ใน​พระองค์​และ​ใน​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู. (1 โยฮัน 2:1, 2) การ​เป็น​ส่วน​แห่ง​ภราดรภาพ​นานา​ชาติ​ที่​แท้​จริง​เป็น​อีก​แหล่ง​หนึ่ง​ของ​ความ​ยินดี. (ซะฟันยา 3:9; ฮาฆี 2:7) ความ​หวัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​และ​สิทธิ​พิเศษ​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​เรา​มี​ใน​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ทำ​ให้​เรา​ชื่นชม​ยินดี. (มัดธาย 6:9, 10; 24:14) ความ​หวัง​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​นิรันดร์​ก็​ทำ​ให้​เรา​ยินดี​เช่น​กัน. (โยฮัน 17:3) เนื่อง​จาก​เรา​มี​ความ​หวัง​ที่​วิเศษ​เช่น​นั้น เรา​ควร “มี​ความ​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง.”—พระ​บัญญัติ 16:15.

จง​มี​สันติ​สุข​และ​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน

11, 12. (ก) คุณ​จะ​นิยาม​คำ​ว่า​สันติ​สุข​อย่าง​ไร? (ข) สันติ​สุข​ของ​พระเจ้า​ส่ง​ผล​กระทบ​เช่น​ไร​ต่อ​เรา?

11 สันติ​สุข—ผล​อีก​ประการ​หนึ่ง​แห่ง​พระ​วิญญาณ—เป็น​สภาพ​ของ​ความ​สงบ​และ​ปลอด​จาก​ความ​กระวนกระวาย. พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​เป็น​พระเจ้า​แห่ง​สันติ​สุข และ​เรา​ได้​รับ​การ​รับรอง​ดัง​นี้: “พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​อวย​พระ​พร​แก่​พลไพร่​ของ​พระองค์​ให้​มี​ความ​สงบ​สุข.” (บทเพลง​สรรเสริญ 29:11; 1 โกรินโธ 14:33) พระ​เยซู​ตรัส​กับ​เหล่า​สาวก​ว่า “เรา​ฝาก​สันติ​สุข​ไว้​กับ​เจ้า​ทั้ง​หลาย เรา​มอบ​สันติ​สุข​ของ​เรา​ไว้​แก่​เจ้า.” (โยฮัน 14:27, ล.ม.) สันติ​สุข​จะ​ช่วย​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร?

12 สันติ​สุข​ที่​พระ​เยซู​ประทาน​แก่​เหล่า​สาวก​ทำ​ให้​หัวใจ​และ​จิตใจ​ของ​พวก​เขา​สงบ​และ​ลด​ความ​กลัว​ที่​พวก​เขา​มี. พวก​เขา​มี​สันติ​สุข​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​ได้​รับ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ตาม​ที่​พระองค์​สัญญา​ไว้. (โยฮัน 14:26) ภาย​ใต้​อำนาจ​ของ​พระ​วิญญาณ​และ​การ​ได้​รับ​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้ เรา​ประสบ “สันติ​สุข​แห่ง​พระเจ้า” อัน​หา​ที่​เปรียบ​มิ​ได้​ซึ่ง​คุ้มครอง​หัวใจ​และ​จิตใจ​ของ​เรา​ให้​สงบ. (ฟิลิปปอย 4:6, 7) ยิ่ง​กว่า​นั้น พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​เรา​ให้​อยู่​อย่าง​สงบ​และ​สร้าง​สันติ​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​และ​คน​อื่น ๆ.—โรม 12:18; 1 เธซะโลนิเก 5:13.

13, 14. ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​คือ​อะไร และ​เหตุ​ใด​เรา​จึง​ควร​แสดง​คุณลักษณะ​นี้?

13 ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​สงบ​สุข เนื่อง​จาก​เรา​เพียร​อด​ทน​กับ​การ​ยั่ว​โทสะ​หรือ​ความ​ผิด ใน​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​หวัง​ว่า​สภาพการณ์​นั้น​จะ​ดี​ขึ้น. พระเจ้า​ทรง​อด​กลั้น​ไว้​นาน. (โรม 9:22-24) พระ​เยซู​ทรง​แสดง​คุณลักษณะ​นี้​ด้วย. เรา​สามารถ​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​แสดง​คุณลักษณะ​นี้ เพราะ​ท่าน​เปาโล​เขียน​ว่า “เพราะ​เหตุ​นี้​เอง​ข้าพเจ้า​จึง​ได้​รับ​พระ​กรุณา, คือ​ว่า​เพื่อ​พระ​เยซู​คริสต์​จะ​ได้​ทรง​สำแดง​ความ​อด​กลั้น​พระทัย​ทุก​อย่าง​ให้​เห็น​ใน​ตัว​ข้าพเจ้า​ซึ่ง​เป็น​ตัว​เอ้​นั้น, ให้​เป็น​แบบ​แผน​แก่​คน​ทั้ง​ปวง​ที่​ภาย​หลัง​จะ​เชื่อ​ใน​พระองค์, จึง​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์.”—1 ติโมเธียว 1:16.

14 คุณลักษณะ​ของ​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​ช่วย​เรา​ให้​อด​ทน​เมื่อ​คน​อื่น​พูด​หรือ​ทำ​ใน​สิ่ง​ที่​ไม่​กรุณา​หรือ​ไร้​ความ​คิด. เปาโล​กระตุ้น​เพื่อน​คริสเตียน​ให้ “อด​กลั้น​ไว้​นาน​ต่อ​คน​ทั้ง​ปวง.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) เนื่อง​จาก​เรา​ทุก​คน​ไม่​สมบูรณ์​และ​ทำ​ผิด​พลาด เรา​จึง​ต้องการ​อย่าง​แน่นอน​ที่​จะ​ให้​ผู้​คน​อด​ทน​กับ​เรา และ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​เมื่อ​เรา​ทำ​ผิด​พลาด​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา. ดัง​นั้น ขอ​เรา​พยายาม “อด​กลั้น​ไว้​นาน​ด้วย​ความ​ยินดี.”—โกโลซาย 1:9-12, ล.ม.

จง​แสดง​ความ​กรุณา​และ​ความ​ดี

15. จง​นิยาม​คำ​ว่า​กรุณา และ​ยก​ตัว​อย่าง​ผู้​ที่​สำแดง​คุณลักษณะ​นี้.

15 มี​การ​สำแดง​ความ​กรุณา​เมื่อ​เรา​แสดง​ความ​สนใจ​คน​อื่น​โดย​ทาง​คำ​พูด และ​การ​กระทำ​ที่​เป็น​มิตร​และ​เป็น​ประโยชน์. พระ​ยะโฮวา​ทรง​กรุณา และ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ก็​เป็น⁠เช่น​นั้น​ด้วย. (โรม 2:4; 2 โกรินโธ 10:1) มี​การ​คาด​หมาย⁠ให้​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​และ​ของ​พระ​คริสต์​เป็น​คน​กรุณา. (มีคา 6:8; โกโลซาย 3:12) แม้​แต่​บาง​คน​ที่​ไม่​มี​สัมพันธภาพ​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระเจ้า​ก็​ยัง​แสดง ‘ความ​กรุณา​เป็น​อัน​มาก.’ (กิจการ 27:3; 28:2) ดัง​นั้น จึง​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​คาด​หมาย​ว่า​เรา⁠สามารถ​แสดง​ความ​กรุณา​ถ้า​เรา “ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป.”

16. สภาพการณ์​เช่น​ไร​บ้าง​ที่​ควร​กระตุ้น​เรา​ให้​แสดง​ความ​กรุณา?

16 เรา​อาจ​แสดง​ความ​กรุณา​ได้​แม้​ว่า​มี​เหตุ​ผล​จะ​ขุ่นเคือง​เนื่อง​จาก​คำ​พูด​ที่​เจ็บ​แสบ​หรือ​การ​กระทำ​ที่​ไม่​คำนึง​ถึง​คน​อื่น​จาก​คน​ใด​คน​หนึ่ง. เปาโล​กล่าว​ว่า “โกรธ​เถิด และ​ถึง​กระนั้น​ก็​อย่า​ทำ​บาป. อย่า​ให้​ตะวัน​ตก​โดย​ที่​ท่าน​ยัง​ขุ่นเคือง​อยู่ และ​อย่า​เปิด​ช่อง​แก่​พญา​มาร. . . . จง​มี​ใจ​กรุณา​ต่อ​กัน, มี​ใจ​เมตตา​อัน​อ่อน​ละมุน, ให้​อภัย​กัน​ด้วย​ใจ​กว้าง​อย่าง​ที่​พระเจ้า​ทรง​ให้​อภัย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ด้วย​ใจ​กว้าง​โดย​ทาง​พระ​คริสต์.” (เอเฟโซ 4:26, 27, 32, ล.ม.) เป็น​การ​เหมาะ​สม​โดย​เฉพาะ​ที่​จะ​แสดง​ความ​กรุณา​ต่อ​ผู้​ที่​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก. แน่นอน คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​คง​ไม่​ได้​แสดง​ความ​กรุณา​ถ้า​เขา​ไม่​ให้​คำ​แนะ​นำ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​เพียง​เพราะ​กลัว​ว่า​จะ​กระทบ​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ใด​คน​หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่​เห็น​ชัดเจน​ว่า​เขา​กำลัง​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​จาก​การ​ละ​ทิ้ง​แนว​ทาง​ของ “ความ​ดี​ทุก​อย่าง​และ​ความ​ชอบธรรม​และ​ความ​จริง.”—เอเฟโซ 5:9.

17, 18. ความ​ดี​มี​ความ​หมาย​ว่า​อย่าง​ไร และ​คุณลักษณะ​นี้​ควร​มี​บทบาท​เช่น​ไร​ใน​ชีวิต​ของ​เรา?

17 ความ​ดี​เป็น​คุณธรรม เป็น​ความ​ยอด​เยี่ยม​ด้าน​ศีลธรรม หรือ​เป็น​คุณลักษณะ​หรือ​สภาพ​ที่​เป็น​ไป​ใน​ทาง​ที่​ดี. พระเจ้า​ทรง​คุณ​ความ​ดี​ใน​ความ​หมาย​ที่​ครบ​ถ้วน​สมบูรณ์. (บทเพลง​สรรเสริญ 25:8; ซะคาระยา 9:17) พระ​เยซู​ก็​ทรง​คุณ​ความ​ดี​และ​มี​คุณลักษณะ​เป็น​เลิศ​ด้าน​ศีลธรรม. กระนั้น พระองค์​ไม่​ยอม​รับ​คำ​ว่า “ประเสริฐ” ซึ่ง​เป็น​บรรดาศักดิ์​เมื่อ​มี​คน​เรียก​พระองค์​ว่า “อาจารย์​ผู้​ประเสริฐ.” (มาระโก 10:17, 18) เห็น​ได้​ชัด​ว่า​นี่​เป็น​เพราะ​พระองค์​ยอม​รับ​ว่า​พระเจ้า​เป็น​แบบ​อย่าง​สูง​สุด​ใน​เรื่อง​ความ​ดี.

18 ความ​สามารถ​ของ​เรา​ที่​จะ​ทำ​ดี​ถูก​ขัด​ขวาง​เนื่อง​จาก​บาป​ที่​ได้​รับ​เป็น​มรดก. (โรม 5:12) กระนั้น เรา​สามารถ​แสดง​คุณลักษณะ​นี้​ได้​ถ้า​เรา​อธิษฐาน​ขอ​พระเจ้า ‘สอน​ความ​ดี​แก่​เรา.’ (บทเพลง​สรรเสริญ 119:66, ล.ม.) เปาโล​กล่าว​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​กรุง​โรม​ว่า “พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย​ของ​ข้าพเจ้า, ส่วน​ท่าน​ทั้ง​หลาย​นั้น​ข้าพเจ้า​เชื่อ​เป็น​แน่​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​บริบูรณ์​ด้วย​การ​ดี, ประกอบ​ด้วย​ความ​รู้​ทุก​อย่าง.” (โรม 15:14) คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ต้อง​เป็น “ผู้​รัก​ความ​ดี.” (ติโต 1:7, 8) ถ้า​เรา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​โดย​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า เรา​จะ​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า​เป็น​คน​ดี และ​พระ​ยะโฮวา​จะ ‘ระลึก​ถึง​เรา​ตาม​ความ​ดี​ที่​เรา​ได้​กระทำ.’—นะเฮมยา 5:19; 13:31.

“ความ​เชื่อ​อัน​ปราศจาก​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด”

19. จง​นิยาม​คำ​ว่า​ความ​เชื่อ​อย่าง​ที่​สอดคล้อง​กับ​เฮ็บราย 11:1.

19 ความ​เชื่อ ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ​ด้วย “คือ​ความ​คาด​หมาย​ที่​แน่นอน​ใน​สิ่ง​ซึ่ง​หวัง​ไว้ เป็น​การ​แสดง​ออก​เด่น​ชัด​ถึง​สิ่ง​ที่​เป็น​จริง ถึง​แม้​ไม่​ได้​เห็น​สิ่ง​นั้น​ก็​ตาม.” (เฮ็บราย 11:1, ล.ม.) ถ้า​เรา​มี​ความ​เชื่อ เรา​แน่​ใจ​ว่า​ทุก​สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​สัญญา​จะ​สำเร็จ​อย่าง​แน่นอน. หลักฐาน​ที่​น่า​เชื่อ​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​เป็น​จริง​ซึ่ง​มอง​ไม่​เห็น​นั้น​หนักแน่น​ถึง​ขนาด​ที่​กล่าว​ได้​ว่า ความ​เชื่อ​ใน​เรื่อง​นั้น​ก็​เท่า​กับ​เป็น​หลักฐาน​ที่​แน่ชัด. ยก​ตัว​อย่าง การ​ดำรง​อยู่​ของ​สิ่ง​ทรง​สร้าง​ทำ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​ว่า​มี​พระ​ผู้​สร้าง. เรา​จะ​แสดง​ความ​เชื่อ​ชนิด​ดัง​กล่าว​ถ้า​เรา​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป.

20. “บาป​ที่​เข้า​ติด​พัน​เรา​โดย​ง่าย” คือ​อะไร และ​เรา​อาจ​หลีก​เลี่ยง​บาป​นั้น​และ​การ​ของ​เนื้อหนัง​ได้​อย่าง​ไร?

20 การ​ขาด​ความ​เชื่อ​เป็น “บาป​ที่​เข้า​ติด​พัน​เรา​โดย​ง่าย.” (เฮ็บราย 12:1, ล.ม.) เรา​ต้อง​พึ่ง​อาศัย​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​เพื่อ​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​ของ​เนื้อหนัง, การ​นิยม​วัตถุ, และ​คำ​สอน​ผิด ๆ ที่​อาจ​ทำลาย​ความ​เชื่อ. (โกโลซาย 2:8; 1 ติโมเธียว 6:9, 10; 2 ติโมเธียว 4:3-5) พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​เชื่อ​ใน​ตัว​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​เช่น​เดียว​กับ​เหล่า​พยาน​ก่อน​ยุค​คริสเตียน​และ​คน​อื่น ๆ ใน​สมัย​ที่​มี​การ​บันทึก​คัมภีร์​ไบเบิล. (เฮ็บราย 11:2-40) และ “ความ​เชื่อ​อัน​ปราศจาก​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด” ของ​เรา​เอง​อาจ​ส่ง​เสริม​ความ​เชื่อ​ของ​คน​อื่น​เป็น​อย่าง​ดี.—1 ติโมเธียว 1:5, ล.ม.; เฮ็บราย 13:7.

จง​สำแดง​ความ​อ่อนโยน​และ​การ​ควบคุม​ตน​เอง

21, 22. ความ​อ่อนโยน​มี​ความ​หมาย​อย่าง​ไร และ​เหตุ​ใด​เรา​ควร​แสดง​คุณลักษณะ​นี้?

21 ความ​อ่อนโยน​คือ​การ​มี​นิสัย​ใจ​คอ​และ​การ​ประพฤติ​ที่​อ่อน​สุภาพ. คุณลักษณะ​ประการ​หนึ่ง​ของ​พระเจ้า​คือ​ความ​อ่อนโยน. เรา​รู้​เรื่อง​นี้​เนื่อง​จาก​พระ​เยซู​ซึ่ง​เป็น​ชาย​ที่​มี​ความ​อ่อนโยน​สะท้อน​คุณลักษณะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ. (มัดธาย 11:28-30; โยฮัน 1:18; 5:19) ถ้า​อย่าง​นั้น มี​ข้อ​เรียก​ร้อง​อะไร​จาก​เรา​ฐานะ​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า?

22 ฐานะ​คริสเตียน เรา​ถูก​คาด​หมาย​ให้ ‘สำแดง​ความ​อ่อนโยน​ต่อ​คน​ทั้ง​ปวง.’ (ติโต 3:2, ล.ม.) เรา​แสดง​ความ​อ่อนโยน​เมื่อ​อยู่​ใน​งาน​รับใช้. ผู้​ที่​มี​คุณวุฒิ​ฝ่าย​วิญญาณ​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ให้​ปรับ​คริสเตียน​ที่​ทำ​ผิด “ด้วย​น้ำใจ​อ่อนโยน.” (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) เรา​ทุก​คน​สามารถ​ส่ง​เสริม​ความ​เป็น​เอกภาพ​และ​สันติ​สุข​ของ​คริสเตียน​โดย​การ​แสดง “ความ​ถ่อม​ใจ​และ​ความ​อ่อนโยน.” (เอเฟโซ 4:1-3, ล.ม.) เรา​สามารถ​สำแดง​ความ​อ่อนโยน​ถ้า​เรา​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​และ​แสดง​การ​ควบคุม​ตน​เอง​อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย.

23, 24. การ​ควบคุม​ตน​เอง​คือ​อะไร และ​คุณลักษณะ​นี้​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร?

23 การ​ควบคุม​ตน​เอง​ทำ​ให้​เรา​สามารถ​ยับยั้ง​ตัว​เรา​จาก​การ​คิด, คำ​พูด, และ​การ​กระทำ​ที่​ไม่​ดี. พระ​ยะโฮวา​ทรง “รั้ง​ตน​เอง” ใน​การ​จัด​การ​กับ​ชาว​บาบิโลน​ผู้​ทำลาย​เยรูซาเลม. (ยะซายา 42:14, ฉบับ​แปล​ใหม่) พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ทรง ‘วาง​แบบ​อย่าง’ ให้​เรา​โดย​การ​แสดง​การ​ควบคุม​ตน​เอง​ใน​ขณะ​ที่​เผชิญ​ความ​ยาก​ลำบาก. และ​อัครสาวก​เปโตร​ให้​คำ​แนะ​นำ​เพื่อน​คริสเตียน​ว่า​ให้ “เพิ่ม​ความ​รู้​ด้วย​การ​ควบคุม​ตน​เอง.”—1 เปโตร 2:21-23; 2 เปโตร 1:5-8, ล.ม.

24 คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ถูก​คาด​หมาย​ว่า​จะ​เป็น​คน​ควบคุม​ตน​เอง. (ติโต 1:7, 8) ที่​จริง ทุก​คน​ที่​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​สามารถ​แสดง​การ​ควบคุม​ตน​เอง​และ​จึง​สามารถ​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​ผิด​ศีลธรรม, คำ​พูด​หยาบคาย, หรือ​การ​กระทำ​ใด ๆ ที่​อาจ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ยอม​รับ. ถ้า​เรา​ให้​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ผล​ให้​เรา​มี​การ​ควบคุม​ตน​เอง คน​อื่น ๆ ก็​จะ​เห็น​คุณลักษณะ​นี้​ได้​เนื่อง​จาก​คำ​พูด​และ​การ​ประพฤติ​ของ​เรา​เป็น​แบบ​เลื่อมใส​พระเจ้า.

จง​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป

25, 26. การ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​จะ​ส่ง​ผล​กระทบ​สัมพันธภาพ​ของ​เรา​ใน​ปัจจุบัน​และ​ความ​หวัง​ใน​อนาคต​อย่าง​ไร?

25 ถ้า​เรา​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ เรา​จะ​เป็น​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า. (กิจการ 18:24-26) เรา​จะ​เป็น​เพื่อน​ที่​น่า​คบหา และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ผู้​คน​ที่​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​จะ​ยินดี​ที่​ได้​คบหา​สมาคม​กับ​เรา. ฐานะ​เป็น​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ เรา​จะ​เป็น​แหล่ง​ของ​การ​หนุน​กำลังใจ​แก่​เพื่อน​ร่วม​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ให้​ดำเนิน​ต่อ ๆ ไป​ตาม​พระ​วิญญาณ​ด้วย​เช่น​กัน. (ฟิลิปปอย 2:1-4) คริสเตียน​ทุก​คน​ต้องการ​เป็น​เช่น​นั้น​มิ​ใช่​หรือ?

26 ใน​โลก​นี้​ที่​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​ซาตาน ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ. (1 โยฮัน 5:19) ถึง​กระนั้น หลาย​ล้าน​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​กำลัง​ทำ​เช่น​นั้น. ถ้า​เรา​ไว้​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​สุด​หัวใจ เรา​จะ​ชื่นชม​กับ​ชีวิต​ใน​ขณะ​นี้​และ​จะ​สามารถ​ดำเนิน​ตลอด​ไป​ใน​แนว​ทาง​ชอบธรรม​ของ​ผู้​ประทาน​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก.—บทเพลง​สรรเสริญ 128:1; สุภาษิต 3:5, 6.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• การ “ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ” ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​สัมพันธภาพ​ที่​เรา​มี​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร?

• ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ประกอบ​ด้วย​คุณลักษณะ​อะไร​บ้าง?

• มี​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​จะ​แสดง​ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า?

• การ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ชีวิต​ของ​เรา​ใน​ปัจจุบัน​และ​ความ​หวัง​ใน​อนาคต​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 23]

พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ส่ง​เสริม​ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ

[ภาพ​หน้า 24]

จง​แสดง​ความ​กรุณา​โดย​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ที่​เป็น​ประโยชน์