ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘จงรักษาตัวให้พ้นจากความโลภทุกชนิด’

‘จงรักษาตัวให้พ้นจากความโลภทุกชนิด’

‘จง​รักษา​ตัว​ให้​พ้น​จาก​ความ​โลภ​ทุก​ชนิด’

“แม้​ว่า​คน​เรา​มี​อย่าง​บริบูรณ์ แต่​ชีวิต​ของ​เขา​ก็​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​มี.” —ลูกา 12:15, ล.ม.

1, 2. (ก) คุณ​สังเกต​เห็น​อะไร​เกี่ยว​กับ​ความ​สนใจ​และ​การ​มุ่ง​แสวง​หา​ของ​ผู้​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้? (ข) เรา​อาจ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​จาก​เจตคติ​เช่น​นั้น?

ทรัพย์​สิน, เงิน​ทอง, ชื่อเสียง, งาน​ราย​ได้​ดี, ครอบครัว—นี่​คือ​บาง​สิ่ง​ที่​คน​ส่วน​ใหญ่​ถือ​ว่า​เป็น​เครื่องวัด​ความ​สำเร็จ​หรือ​สิ่ง​ที่​รับประกัน​อนาคต​อัน​มั่นคง. ไม่​ว่า​ใน​ประเทศ​ร่ำรวย​หรือ​ยาก​จน ดู​เหมือน​ผู้​คน​เป็น​อัน​มาก​สนใจ​และ​มุ่ง​แสวง​หา​ผล​ประโยชน์​และ​ความ​ก้าว​หน้า​ด้าน​วัตถุ. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม ความ​สนใจ​ของ​พวก​เขา​ใน​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ—หาก​ยัง​มี​อยู่​บ้าง—กำลัง​ลด​น้อย​ลง​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว.

2 สภาพ​ดัง​กล่าว​เป็น​เหมือน​กับ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า​เลย​ที​เดียว. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ใน​สมัย​สุด​ท้าย​จะ​เกิด​วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ได้. เพราะ​ว่า​คน​จะ​เป็น​คน​รัก​ตัว​เอง, เป็น​คน​รัก​เงิน, . . . เป็น​คน​รัก​การ​สนุกสนาน​แทน​ที่​จะ​รัก​พระเจ้า, มี​ความ​เลื่อมใส​ต่อ​พระเจ้า​ใน​รูป​แบบ​หนึ่ง แต่​ปฏิเสธ​พลัง​แห่ง​ความ​เลื่อมใส​นั้น.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) เนื่อง​จาก​อยู่​ท่ามกลาง​ผู้​คน​เช่น​นั้น​ทุก​เมื่อ​เชื่อ​วัน คริสเตียน​แท้​จึง​ถูก​กดดัน​อยู่​ตลอด​ให้​คล้อย​ตาม​วิธี​คิด​และ​วิถี​ชีวิต​แบบ​นี้. อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ได้​ให้​ต้านทาน​ความ​พยายาม​ของ​โลก​ที่​จะ ‘บีบ​เรา​เข้า​สู่​เบ้า​หลอม​ของ​มัน’?—โรม 12:2, พันธสัญญา​ใหม่​ใน​ภาษา​อังกฤษ​สมัย​ปัจจุบัน (ภาษา​อังกฤษ) โดย เจ. บี. ฟิลลิปส์.

3. พระ​เยซู​ประทาน​คำ​แนะ​นำ​อะไร​ที่​เรา​จะ​พิจารณา​กัน​ต่อ​จาก​นี้?

3 ใน​ฐานะ “ผู้​นำ​องค์​เอก​และ​ผู้​ปรับ​ปรุง​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ให้​สมบูรณ์” พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​สอน​บทเรียน​ที่​มี​พลัง​แก่​เรา​ใน​เรื่อง​นี้. (เฮ็บราย 12:2, ล.ม.) ใน​โอกาส​หนึ่ง​เมื่อ​พระ​เยซู​ตรัส​กับ​ฝูง​ชน​เกี่ยว​ด้วย​บาง​เรื่อง​ที่​ให้​ความ​สว่าง​ฝ่าย​วิญญาณ ชาย​คน​หนึ่ง​ขัด​จังหวะ​การ​พิจารณา​โดย​ร้อง​ขอ​ต่อ​พระองค์​ว่า “อาจารย์​เจ้าข้า ขอ​สั่ง​พี่​ชาย​ของ​ข้าพเจ้า​ให้​แบ่ง​มรดก​ให้​กับ​ข้าพเจ้า.” พระ​เยซู​ทรง​ตอบ​โดย​ประทาน​คำ​แนะ​นำ​ที่​หนักแน่น​แก่​ชาย​คน​นั้น—รวม​ทั้ง​ทุก​คน​ที่​ฟัง​อยู่. พระองค์​ทรง​เตือน​อย่าง​หนักแน่น​ให้​ระวัง​ความ​โลภ​และ​เสริม​คำ​เตือน​นั้น​ด้วย​อุทาหรณ์​ที่​กระตุ้น​ความ​คิด. เรา​ควร​ใส่​ใจ​จริง ๆ ใน​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส ณ โอกาส​นั้น​และ​ดู​ว่า​เรา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​นั้น​ใน​ชีวิต​เรา​เอง.—ลูกา 12:13-21, ฉบับ​แปล​ใหม่.

คำ​ร้อง​ขอ​ที่​ไม่​เหมาะ​สม

4. เหตุ​ใด​การ​ที่​ชาย​คน​นี้​เข้า​มา​ขัด​จังหวะ​พระ​เยซู​จึง​นับ​ว่า​ไม่​เหมาะ​สม?

4 ก่อน​ที่​ชาย​คน​นั้น​จะ​เข้า​มา​ขัด​จังหวะ พระ​เยซู​กำลัง​ตรัส​กับ​เหล่า​สาวก​และ​คน​อื่น ๆ ว่า​ให้​รักษา​ตัว​ให้​พ้น​จาก​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด, ให้​กล้า​ประกาศ​ตัว​ว่า​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กับ​บุตร​มนุษย์, และ​ให้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์. (ลูกา 12:1-12) เรื่อง​เหล่า​นี้​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เหล่า​สาวก​จำเป็น​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​แน่นอน. แต่​ขณะ​ที่​กำลัง​มี​คำ​บรรยาย​ที่​กระตุ้น​ให้​ตรวจ​สอบ​ความ​คิด​ความ​รู้สึก​เช่น​นั้น​อยู่ ชาย​คน​นี้​ก็​สอด​แทรก​เข้า​มา​กลาง​คัน ขอ​ให้​พระ​เยซู​ช่วย​จัด​การ​แก้​ข้อ​พิพาท​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​เรื่อง​ใน​วง​ครอบครัว​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สมบัติ​วัตถุ. ถึง​กระนั้น มี​บทเรียน​สำคัญ​ที่​เรา​สามารถ​เรียน​ได้​จาก​เหตุ​การณ์​นี้.

5. คำ​ร้อง​ขอ​ของ​ชาย​คน​นี้​เผย​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​เขา?

5 มี​คน​เคย​เขียน​ไว้​ว่า “บุคลิก​ลักษณะ​ของ​คน​เรา​เป็น​เช่น​ไร​มัก​จะ​ดู​ได้​จาก​ทิศ​ทาง​ความ​คิด​ของ​เขา​เมื่อ​ฟัง​คำ​เตือน​สอน​ทาง​ศาสนา.” ขณะ​ที่​พระ​เยซู​กำลัง​ตรัส​ถึง​เรื่อง​ที่​จริงจัง​ฝ่าย​วิญญาณ ชาย​คน​นี้​คง​กำลัง​คิด​ถึง​สิ่ง​ที่​เขา​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ผล​ประโยชน์​บาง​อย่าง​ทาง​การ​เงิน. ไม่​มี​การ​กล่าว​ไว้​ว่า​มี​เหตุ​อัน​ควร​หรือ​ไม่​ที่​เขา​จะ​เป็น​ทุกข์​ร้อน​ใจ​ใน​เรื่อง​มรดก. อาจ​เป็น​ได้​ว่า​เขา​กำลัง​พยายาม​ฉวย​ประโยชน์​จาก​อำนาจ​และ​ชื่อเสียง​ของ​พระ​เยซู​ใน​ฐานะ​ผู้​พิพากษา​ที่​สุขุม​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ ของ​มนุษย์. (ยะซายา 11:3, 4; มัดธาย 22:16) ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร คำ​ขอ​ของ​เขา​ชี้​ว่า​เขา​มี​ปัญหา​ที่​ฝัง​ลึก​อยู่​ใน​หัวใจ—การ​ไม่​มี​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ. นี่​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​ดี​ที่​เรา​จะ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เรา​เอง​มิ​ใช่​หรือ? ตัว​อย่าง​เช่น ณ การ​ประชุม​คริสเตียน เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​เรา​อาจ​จะ​ใจ​ลอย​หรือ​คิด​ว่า​เรา​จะ​ทำ​อะไร​หลัง​จาก​การ​ประชุม​จบ​ลง. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น เรา​ควร​สนใจ​สิ่ง​ที่​มี​การ​พิจารณา​และ​คิด​ถึง​วิธี​ที่​เรา​จะ​นำ​เอา​ความ​รู้​นั้น​ไป​ใช้​กับ​ตัว​เอง เพื่อ​เรา​จะ​สามารถ​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​กับ​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์ พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า และ​กับ​เพื่อน​คริสเตียน.—บทเพลง​สรรเสริญ 22:22; มาระโก 4:24.

6. เหตุ​ใด​พระ​เยซู​จึง​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ทำ​ตาม​คำ​ร้อง​ขอ​ของ​ชาย​คน​นี้?

6 ไม่​ว่า​ชาย​คน​นี้​มี​แรง​กระตุ้น​เช่น​ไร​ก็​ตาม พระ​เยซู​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ทำ​ตาม​คำ​ขอ​นั้น. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​กับ​เขา​ว่า “บุรุษ​เอ๋ย ใคร​ได้​ตั้ง​เรา​ให้​เป็น​ตุลาการ​หรือ​เป็น​ผู้​แบ่ง​มรดก​ให้​ท่าน.” (ลูกา 12:14, ฉบับ​แปล​ใหม่) โดย​ตรัส​อย่าง​นั้น พระ​เยซู​กำลัง​อ้าง​ถึง​บาง​สิ่ง​ที่​ผู้​คน​รู้​จัก​กัน​ดี เพราะ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ มี​การ​ตั้ง​ผู้​พิพากษา​ไว้​ตาม​เมือง​ต่าง ๆ ให้​ตัดสิน​ใน​เรื่อง​เช่น​นั้น. (พระ​บัญญัติ 16:18-20; 21:15-17; ประวัตินางรูธ 4:1, 2) ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ห่วง​ใน​เรื่อง​ที่​สำคัญ​กว่า—การ​ให้​คำ​พยาน​ถึง​ความ​จริง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​และ​สอน​ผู้​คน​ให้​รู้​จัก​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. (โยฮัน 18:37) โดย​ดำเนิน​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู แทน​ที่​จะ​ถูก​ชัก​นำ​ให้​ไขว้เขว​ด้วย​ปัญหา​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​โลก เรา​ใช้​เวลา​และ​พลัง​งาน​เพื่อ​ประกาศ​ข่าว​ดี​และ “ทำ​ให้​คน​จาก​ทุก​ชาติ​เป็น​สาวก.”—มัดธาย 24:14; 28:19, ล.ม.

จง​ระวัง​ความ​โลภ

7. พระ​เยซู​ทรง​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​อะไร​ที่​เฉียบ​แหลม?

7 เนื่อง​จาก​ทรง​สามารถ​ทราบ​เจตจำนง​ใน​ส่วน​ลึก​ที่​สุด​ของ​หัวใจ พระ​เยซู​ทรง​ตระหนัก​ว่า​มี​สิ่ง​ที่​ร้ายแรง​กว่า​รวม​อยู่​ด้วย​ใน​คำ​ร้อง​ขอ​ของ​ชาย​คน​นี้​ที่​ขอ​ให้​พระ​เยซู​เข้า​ไป​ไกล่เกลี่ย​ใน​เรื่อง​ส่วน​ตัว. ด้วย​เหตุ​นั้น แทน​ที่​จะ​เพียง​แต่​ปฏิเสธ​คำ​ร้อง​ขอ​นั้น พระ​เยซู​ทรง​เข้า​ถึง​แรง​กระตุ้น​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​เรื่อง​นี้​โดย​ตรัส​ว่า “จง​ระวัง​และ​รักษา​ตัว​ให้​พ้น​จาก​ความ​โลภ​ทุก​ชนิด เพราะ​แม้​ว่า​คน​เรา​มี​อย่าง​บริบูรณ์ แต่​ชีวิต​ของ​เขา​ก็​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​มี.”—ลูกา 12:15, ล.ม.

8. ความ​โลภ​คือ​อะไร และ​อาจ​ก่อ​ผล​เช่น​ไร?

8 ความ​โลภ​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​ความ​ปรารถนา​จะ​มี​เงิน​หรือ​สิ่ง​ของ​บาง​อย่าง​เท่า​นั้น ซึ่ง​อาจ​เป็น​ความ​ปรารถนา​ที่​มี​เป้าหมาย​และ​มี​การ​ใช้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ได้. ตาม​ที่​นิยาม​ไว้​ใน​พจนานุกรม​เล่ม​หนึ่ง ความ​โลภ​เป็น “ความ​ปรารถนา​อัน​เกิน​ควร​ที่​จะ​ได้​มา​ซึ่ง​ความ​มั่งคั่ง​หรือ​ทรัพย์​สมบัติ​หรือ​ทรัพย์​ของ​ผู้​อื่น.” ความ​โลภ​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​แรง​กระตุ้น​อัน​เห็น​แก่​ตัว​และ​ไม่​รู้​จัก​พอ​ที่​จะ​มี​สิ่ง​ต่าง ๆ—ซึ่ง​อาจ​เป็น​ของ​คน​อื่น—เพียง​เพื่อ​จะ​มี​สิ่ง​นั้น โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​ว่า​ตน​จำเป็น​ต้อง​มี​สิ่ง​นั้น​ไหม​หรือ​จะ​ก่อ​ผล​เช่น​ไร​ต่อ​ผู้​อื่น. คน​โลภ​ปล่อย​ให้​สิ่ง​ที่​เขา​ปรารถนา​จะ​ได้​ครอบ​งำ​ความ​คิด​และ​การ​กระทำ​ของ​ตน​จน​ถึง​ขั้น​ที่​โดย​แท้​แล้ว​สิ่ง​นั้น​กลาย​เป็น​พระเจ้า​ที่​เขา​บูชา. พึง​จำ​ไว้​ว่า​อัครสาวก​เปาโล​ถือ​ว่า​คน​โลภ​มี​ฐานะ​เท่า​กับ​คน​ไหว้​รูป​เคารพ​ซึ่ง​ไม่​ได้​รับ​มรดก​ใน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.—เอเฟโซ 5:5; โกโลซาย 3:5.

9. ความ​โลภ​อาจ​แสดง​ออก​มา​ได้​ใน​ทาง​ใด​บ้าง? จง​ยก​ตัว​อย่าง.

9 น่า​สนใจ พระ​เยซู​ทรง​เตือน​ให้​ระวัง “ความ​โลภ​ทุก​ชนิด.” ความ​โลภ​มี​หลาย​ลักษณะ. พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ​ข้อ​สุด​ท้าย​แจก​แจง​ความ​โลภ​บาง​ลักษณะ โดย​กล่าว​ว่า “อย่า​โลภ​เรือน​ของ​เพื่อน​บ้าน, อย่า​โลภ​ภรรยา​ของ​เพื่อน​บ้าน, หรือ​ทาสา​ทาสี​ของ​เขา, หรือ​โค​ลา​ของ​เขา, หรือ​สิ่ง​ใด ๆ ซึ่ง​เป็น​ของ​ของ​เพื่อน​บ้าน.” (เอ็กโซโด 20:17) คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ตัว​อย่าง​มาก​มาย​ของ​คน​ที่​ได้​พลาด​พลั้ง​ทำ​บาป​ที่​ทำ​ให้​เป็น​ทุกข์​เพราะ​ความ​โลภ​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง. ซาตาน​เป็น​บุคคล​แรก​ที่​โลภ​อยาก​ได้​บาง​สิ่ง​ที่​เป็น​ของ​ผู้​อื่น กล่าว​คือ เกียรติยศ, ความ​นับถือ, และ​อำนาจ​ซึ่ง​เป็น​ของ​พระ​ยะโฮวา​แต่​ผู้​เดียว. (วิวรณ์ 4:11) ฮาวา​โลภ​อยาก​ได้​สิทธิ​ที่​จะ​กำหนด​ก้าว​เดิน​ของ​ตัว​เอง และ​การ​ที่​เธอ​ถูก​หลอก​อย่าง​นี้​ทำ​ให้​เผ่า​พันธุ์​มนุษย์​ต้อง​เดิน​บน​เส้น​ทาง​ของ​บาป​และ​ความ​ตาย. (เยเนซิศ 3:4-7) ส่วน​พวก​ปิศาจ​นั้น​ก็​คือ​ทูตสวรรค์​ที่​ไม่​พอ​ใจ​กับ “ตำแหน่ง​ดั้งเดิม​ของ​ตน แต่​ได้​ละ​ทิ้ง​สถาน​ที่​อยู่​อัน​ควร​ของ​ตน” เพื่อ​จะ​ได้​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ไม่​มี​สิทธิ์. (ยูดา 6, ล.ม.; เยเนซิศ 6:2) นอก​จาก​นี้ ขอ​ให้​นึก​ถึง​บีละอาม, อาคาน, เฆฮะซี, และ​ยูดา​อิศการิโอด​ด้วย. แทน​ที่​จะ​พอ​ใจ​กับ​สิ่ง​ที่​มี​ใน​ชีวิต พวก​เขา​ปล่อย​ให้​ความ​ปรารถนา​เกิน​ควร​ที่​จะ​มี​ทรัพย์​สมบัติ​วัตถุ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ใช้​อำนาจ​หน้า​ที่​ของ​ตน​อย่าง​ผิด ๆ ทำ​ให้​ตัว​เอง​จม​สู่​ความ​หายนะ​และ​ความ​พินาศ.

10. เรา​ควร “ระวัง” อย่าง​ไร​ตาม​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เตือน?

10 ช่าง​เหมาะ​สม​สัก​เพียง​ไร​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เกริ่น​นำ​คำ​เตือน​ให้​ระวัง​ความ​โลภ​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “จง​ระวัง”! เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​คน​เรา​จะ​เห็น​ว่า​คน​อื่น​โลภ​หรือ​อยาก​ได้ แต่​ไม่​ค่อย​จะ​ยอม​รับ​ว่า​ตัว​เขา​เอง​มี​ความ​ปรารถนา​ผิด ๆ อย่าง​นั้น. กระนั้น อัครสาวก​เปาโล​ชี้​ว่า “การ​รัก​เงิน​ทอง​นั้น​ก็​เป็น​ราก​แห่ง​ความ​ชั่ว​ทุก​อย่าง.” (1 ติโมเธียว 6:9, 10) สาวก​ยาโกโบ​อธิบาย​ว่า​ความ​ปรารถนา​ผิด ๆ เมื่อ “เกิด​ขึ้น​แล้ว​ก็​ทำ​ให้​เกิด​บาป.” (ยาโกโบ 1:15, ฉบับ​แปล​ใหม่) สอดคล้อง​กับ​คำ​เตือน​ของ​พระ​เยซู เรา​ควร “ระวัง” ไม่​ใช่​เพื่อ​ดู​ว่า​คน​อื่น​เป็น​อย่าง​คำ​พรรณนา​ดัง​กล่าว​หรือ​ไม่ แต่​เพื่อ​ตรวจ​สอบ​ว่า​ความ​ปรารถนา​ใน​หัวใจ​ของ​เรา​เอง​เป็น​เช่น​ไร เพื่อ​จะ “รักษา​ตัว​ให้​พ้น​จาก​ความ​โลภ​ทุก​ชนิด.”

ชีวิต​อัน​บริบูรณ์

11, 12. (ก) พระ​เยซู​ทรง​เตือน​เช่น​ไร​ให้​ระวัง​ความ​โลภ? (ข) เหตุ​ใด​เรา​จำเป็น​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​คำ​เตือน​ของ​พระ​เยซู?

11 มี​เหตุ​ผล​อีก​ประการ​หนึ่ง​ที่​เรา​ต้อง​รักษา​ตัว​ให้​พ้น​จาก​ความ​โลภ. ขอ​ให้​สังเกต​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ต่อ​จาก​นั้น: “แม้​ว่า​คน​เรา​มี​อย่าง​บริบูรณ์ แต่​ชีวิต​ของ​เขา​ก็​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​มี.” (ลูกา 12:15, ล.ม.) นี่​ย่อม​เป็น​เรื่อง​น่า​ใคร่ครวญ​อย่าง​แน่นอน​ใน​ยุค​ของ​เรา​ที่​นิยม​วัตถุ ใน​สมัย​ที่​ผู้​คน​ถือ​ว่า​ความ​มั่งคั่ง​และ​ความ​เจริญ​รุ่งเรือง​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​มี​ความ​สุข​และ​ประสบ​ความ​สำเร็จ. ด้วย​คำ​ตรัส​ดัง​กล่าว พระ​เยซู​ทรง​ชี้​ว่า​ชีวิต​ที่​มี​ความ​หมาย​และ​น่า​พึง​พอ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​นั้น​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สมบัติ​วัตถุ ไม่​ว่า​จะ​มี​บริบูรณ์​เพียง​ใด​ก็​ตาม.

12 อย่าง​ไร​ก็​ตาม บาง​คน​อาจ​ไม่​เห็น​ด้วย. พวก​เขา​อาจ​หา​เหตุ​ผล​ว่า​การ​มี​สมบัติ​พัสถาน​ทำ​ให้​ชีวิต​สุข​สบาย​และ​น่า​เพลิดเพลิน​ยิ่ง​ขึ้น จึง​นับ​ว่า​คุ้มค่า​มาก​กว่า. ด้วย​เหตุ​นั้น พวก​เขา​ทุ่มเท​ตัว​ใน​อาชีพ​การ​งาน​ที่​จะ​ทำ​ให้​พวก​เขา​สามารถ​ได้​สมบัติ​วัตถุ​และ​เครื่อง​ใช้​ทัน​สมัย​ต่าง ๆ ทั้ง​หมด​ที่​พวก​เขา​ปรารถนา. พวก​เขา​คิด​ว่า​นั่น​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​สมบูรณ์​พูน​สุข. แต่​เมื่อ​คิด​อย่าง​นั้น พวก​เขา​พลาด​จุด​สำคัญ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ชี้.

13. ทัศนะ​ที่​สมดุล​ใน​เรื่อง​ชีวิต​และ​ทรัพย์​สมบัติ​เป็น​เช่น​ไร?

13 แทน​ที่​จะ​เน้น​ว่า​เป็น​เรื่อง​ถูก​หรือ​ผิด​ที่​จะ​มี​ทรัพย์​มาก พระ​เยซู​ทรง​เน้น​ว่า​ชีวิต​ของ​คน​เรา​ไม่​ได้​เป็น​ผล​มา​จาก “สิ่ง​ที่​เขา​มี” กล่าว​คือ สิ่ง​ที่​เขา​มี​อยู่​แล้ว. ใน​เรื่อง​นี้ เรา​ทุก​คน​รู้​ว่า​การ​มี​ชีวิต หรือ​การ​รักษา​ชีวิต​ให้​อยู่​ต่อ​ไป จริง ๆ แล้ว​ไม่​จำเป็น​ต้อง​มี​อะไร​มาก​มาย. สิ่ง​ที่​จำเป็น​ก็​เพียง​แค่​อาหาร​เล็ก​น้อย, เสื้อ​ผ้า​บาง​ชุด​เพื่อ​สวม​ใส่, และ​ที่​ที่​จะ​เอน​กาย​นอน. คน​รวย​มี​สิ่ง​เหล่า​นี้​อย่าง​บริบูรณ์ และ​คน​จน​อาจ​ต้อง​กระเสือกกระสน​เพื่อ​จะ​ได้​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​จำเป็น. แต่​ความ​แตกต่าง​ดัง​กล่าว​จะ​หมด​ไป​เมื่อ​ชีวิต​ไป​ถึง​วาระ​สุด​ท้าย—ทุก​อย่าง​จบ​สิ้น. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 9:5, 6) ด้วย​เหตุ​นั้น เพื่อ​ชีวิต​จะ​มี​ความ​หมาย​และ​คุ้มค่า ชีวิต​ไม่​อาจ​เพียง​แค่​ประกอบ​ด้วย​สิ่ง​ที่​คน​เรา​สามารถ​ได้​มา​หรือ​ครอบครอง และ​ไม่​ควร​เป็น​อย่าง​นั้น. แง่​คิด​นี้​จะ​เห็น​ได้​ชัดเจน​เมื่อ​เรา​พิจารณา​ความ​หมาย​ของ​ชีวิต​แบบ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ถึง.

14. เรา​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​คำ “ชีวิต” ที่​พบ​ใน​บันทึก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล?

14 เมื่อ​พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ชีวิต​ของ​เขา​ก็​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​มี” คำ​ที่​ใช้​ใน​ที่​นี้​สำหรับ “ชีวิต” ใน​กิตติคุณ​ของ​ลูกา (ภาษา​กรีก โซเอ) ไม่​ได้​หมาย​ถึง​รูป​แบบ​ใน​การ​ดำเนิน​ชีวิต แต่​หมาย​ถึง​ตัว​ชีวิต​เอง ชีวิต​ใน​ความ​หมาย​ที่​ครบ​ถ้วน. * พระ​เยซู​กำลัง​ตรัส​ว่า​ไม่​ว่า​เรา​จะ​รวย​หรือ​ยาก​จน ไม่​ว่า​เรา​จะ​อยู่​อย่าง​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย​หรือ​อยู่​อย่าง​กระเหม็ดกระแหม่ เรา​ไม่​มี​อำนาจ​อย่าง​แท้​จริง​ใน​การ​ควบคุม​ว่า​เรา​จะ​มี​ชีวิต​ยาว​นาน​เพียง​ใด​หรือ​เรา​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​หรือ​ไม่​ใน​วัน​พรุ่ง​นี้. พระ​เยซู​ตรัส​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ว่า “มี​ใคร​ใน​พวก​ท่าน​โดย​ความ​กระวนกระวาย​อาจ​ต่อ​ชีวิต​ให้​ยาว​ออก​ไป​อีก​สัก​ศอก​หนึ่ง​ได้​หรือ?” (มัดธาย 6:27) คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เพียง​ผู้​เดียว​เป็น “บ่อ​เกิด​แห่ง​ชีวิต” และ​เฉพาะ​พระองค์​เท่า​นั้น​สามารถ​ประทาน “ชีวิต​แท้” หรือ “ชีวิต​นิรันดร์” อัน​ได้​แก่​ชีวิต​ที่​ไม่​สิ้น​สุด แก่​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ทั้ง​ใน​สวรรค์​และ​บน​แผ่นดิน​โลก.—บทเพลง​สรรเสริญ 36:9, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 6:12, 19, ล.ม.

15. เหตุ​ใด​หลาย​คน​จึง​วางใจ​ใน​ทรัพย์​สมบัติ​วัตถุ?

15 คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ชี้​ว่า​เป็น​เรื่อง​ง่าย​จริง ๆ ที่​คน​เรา​จะ​มี​ทัศนะ​ต่อ​ชีวิต​อย่าง​ที่​ผิด​เพี้ยน​หรือ​บิดเบือน. ไม่​ว่า​รวย​หรือ​จน มนุษย์​ทุก​คน​ไม่​สมบูรณ์​และ​มี​โอกาส​ที่​จะ​ประสบ​ปัญหา​เหมือน ๆ กัน. โมเซ​ให้​ข้อ​สังเกต​ดัง​นี้: “ใน​ชั่ว​อายุ​ของ​ข้าพเจ้า​มี​สัก​เจ็ด​สิบ​ปี​เท่า​นั้น, ถ้า​แม้​ว่า​มี​กำลัง​มาก​ก็​จะ​ยืน​ได้​ถึง​แปด​สิบ​ปี; กำลัง​ที่​ตน​อวด​นั้น​ย่อม​ประกอบ​ไป​ด้วย​การ​ลำบาก​และ​ความ​ทุกข์; เพราะ​ไม่​ช้า​ก็​จะ​เสีย​ไป​และ​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ล่วง​ลับ​ไป.” (บทเพลง​สรรเสริญ 90:10; โยบ 14:1, 2; 1 เปโตร 1:24) ด้วย​เหตุ​นี้ คน​ที่​ไม่​ได้​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า​มัก​จะ​มี​ทัศนคติ​แบบ “ให้​เรา​กิน​และ​ดื่ม​เถิด, เพราะ​ว่า​พรุ่ง​นี้​เรา​ก็​จะ​ตาย” ดัง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ไว้. (1 โกรินโธ 15:32) ส่วน​คน​อื่น ๆ เมื่อ​รู้สึก​ว่า​ชีวิต​มี​อยู่​เพียง​ชั่ว​ครู่​ชั่ว​คราว​และ​ไม่​แน่นอน จึง​พยายาม​หา​ความ​มั่นคง​ปลอด​ภัย​ใน​ทรัพย์​สมบัติ​วัตถุ. อาจ​เป็น​ได้​ที่​พวก​เขา​คิด​ว่า​การ​มี​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ​ที่​เห็น​ได้​จับ​ต้อง​ได้​มาก ๆ จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​มั่นคง​ขึ้น​ไม่​โดย​วิธี​ใด​ก็​วิธี​หนึ่ง. ด้วย​เหตุ​นั้น พวก​เขา​ทำ​งาน​หาม​รุ่ง​หาม​ค่ำ​เพื่อ​สะสม​ทรัพย์​สิน​เงิน​ทอง​ให้​มาก ๆ โดย​เข้าใจ​ผิด​ว่า​สิ่ง​เหล่า​นั้น​เป็น​ความ​มั่นคง​และ​ความ​สุข​สำหรับ​ชีวิต.—บทเพลง​สรรเสริญ 49:6, 11, 12.

อนาคต​ที่​มั่นคง

16. คุณค่า​ที่​แท้​จริง​ใน​ชีวิต​ไม่​ได้​อาศัย​อะไร​เป็น​พื้น​ฐาน?

16 อาจ​เป็น​ความ​จริง​ว่า​มาตรฐาน​การ​ครอง​ชีพ​ที่​สูง​กว่า—การ​มี​อาหาร, เสื้อ​ผ้า, ที่​อยู่​อาศัย, และ​สิ่ง​อำนวย​ความ​สะดวก​อื่น ๆ อย่าง​ครบครัน—สามารถ​ช่วย​ให้​มี​ชีวิต​ที่​สบาย​กว่า​หรือ​อาจ​ถึง​กับ​ทำ​ให้​ได้​รับ​การ​รักษา​พยาบาล​ที่​ดี​กว่า​และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ทำ​ให้​มี​ช่วง​ชีวิต​ที่​ยืน​ยาว​กว่า​บ้าง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ชีวิต​เช่น​นั้น​มี​ความ​หมาย​กว่า​และ​มั่นคง​กว่า​จริง ๆ ไหม? คุณค่า​ที่​แท้​จริง​ใน​ชีวิต​ไม่​ได้​วัด​กัน​ที่​จำนวน​ปี​ที่​คน​เรา​สามารถ​มี​ชีวิต​อยู่​หรือ​ปริมาณ​วัตถุ​สิ่ง​ของ​ที่​คน​เรา​สามารถ​ครอบครอง​หรือ​ใช้​ประโยชน์. อัครสาวก​เปาโล​ชี้​ถึง​อันตราย​ของ​การ​วางใจ​มาก​เกิน​ไป​ใน​สิ่ง​ต่าง ๆ เช่น​นั้น. ท่าน​เขียน​ถึง​ติโมเธียว​ว่า “ท่าน​จง​กำชับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มั่งมี​ฝ่าย​โลก​อย่า​ให้​มี​ใจ​ถือ​มานะ​ทิฏฐิ, อย่า​ให้​ความ​หวัง​ของ​เขา​อิง​อยู่​กับ​ทรัพย์​อนิจจัง, แต่​ให้​หวัง​ใน​พระเจ้า​ผู้​ทรง​ประทาน​สิ่ง​สารพัตร​ให้​แก่​เรา​อย่าง​บริบูรณ์​เพื่อ​จะ​ให้​เรา​ใช้​ด้วย​ความ​ปีติ​ยินดี.”—1 ติโมเธียว 6:17.

17, 18. (ก) มี​ตัว​อย่าง​อัน​โดด​เด่น​อะไร​ใน​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​กับ​ทรัพย์​สมบัติ​วัตถุ​ซึ่ง​คุ้มค่า​ที่​เรา​จะ​เอา​อย่าง? (ข) จะ​มี​การ​พิจารณา​อุทาหรณ์​อะไร​ของ​พระ​เยซู​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

17 การ​ฝาก​ความ​หวัง​ไว้​กับ​ความ​มั่งคั่ง​นับ​ว่า​ไม่​ฉลาด เพราะ​นั่น​เป็น​สิ่ง “อนิจจัง.” โยบ​ปฐม​บรรพบุรุษ​มี​ฐานะ​ร่ำรวย​มาก แต่​เมื่อ​ภัย​พิบัติ​เกิด​ขึ้น​อย่าง​กะทันหัน ความ​มั่งคั่ง​ช่วย​อะไร​ท่าน​ไม่​ได้; สิ่ง​เหล่า​นั้น​สูญ​สลาย​ไป​ใน​ชั่ว​พริบ​ตา. แต่​เป็น​สาย​สัมพันธ์​อัน​มั่นคง​กับ​พระเจ้า​ต่าง​หาก​ที่​ช่วย​ท่าน​ผ่าน​พ้น​การ​ทดสอบ​และ​ความ​ทุกข์​ลำบาก​ทั้ง​สิ้น. (โยบ 1:1, 3, 20-22) อับราฮาม​ไม่​ได้​ปล่อย​ให้​สมบัติ​วัตถุ​ที่​ท่าน​มี​อย่าง​บริบูรณ์​กีด​ขวาง​ท่าน​ไว้​จาก​การ​ยอม​รับ​งาน​มอบหมาย​อัน​ยาก​เข็ญ​จาก​พระ​ยะโฮวา และ​ท่าน​ได้​รับ​พระ​พร​โดย​ได้​เป็น “บิดา​ของ​ชน​หลาย​ประเทศ.” (เยเนซิศ 12:1, 4; 17:4-6) เป็น​เรื่อง​คุ้มค่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ตาม​ตัว​อย่าง​เหล่า​นี้​และ​ตัว​อย่าง​อื่น ๆ. ไม่​ว่า​หนุ่ม​หรือ​แก่ เรา​จำเป็น​ต้อง​ตรวจ​สอบ​ตัว​เรา​เอง​เพื่อ​ดู​ว่า​อะไร​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ​อย่าง​แท้​จริง​ใน​ชีวิต​เรา​และ​เรา​ฝาก​ความ​หวัง​ไว้​กับ​อะไร.—เอเฟโซ 5:10; ฟิลิปปอย 1:10.

18 คำ​ตรัส​ไม่​กี่​คำ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ใน​เรื่อง​ความ​โลภ​และ​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​ใน​เรื่อง​ชีวิต​นับ​ว่า​มี​ความ​หมาย​และ​เป็น​บทเรียน​ที่​ดี​จริง ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​เยซู​ทรง​คิด​ถึง​คำ​เตือน​สอน​มาก​กว่า​นั้น และ​ต่อ​จาก​นั้น​พระองค์​จึง​ทรง​เล่า​อุทาหรณ์​ที่​กระตุ้น​ความ​คิด​เกี่ยว​กับ​ชาย​เศรษฐี​คน​หนึ่ง​ที่​ไร้​เหตุ​ผล. อุทาหรณ์​นั้น​ใช้​ได้​กับ​ชีวิต​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​อย่าง​ไร และ​เรา​จะ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​อุทาหรณ์​ดัง​กล่าว? บทความ​ถัด​ไป​จะ​ให้​คำ​ตอบ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 14 คำ​กรีก​อีก​คำ​หนึ่ง​ที่​แปล​ว่า “ชีวิต” คือ​ไบออส. ตาม​พจนานุกรม​อธิบาย​ศัพท์​พันธสัญญา​เดิม​และ​ใหม่​ของ​ไวน์ (ภาษา​อังกฤษ) ไบออส​หมาย​ถึง “ช่วง​ชีวิต,” “รูป​แบบ​ชีวิต,” และ “ปัจจัย​การ​ดำรง​ชีวิต.”

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เรา​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​การ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ปฏิเสธ​คำ​ร้อง​ขอ​จาก​ชาย​คน​หนึ่ง​ใน​หมู่​ฝูง​ชน?

• เหตุ​ใด​เรา​ต้อง​ระวัง​ความ​โลภ และ​เรา​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​ชีวิต​จึง​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สมบัติ​วัตถุ?

• อะไร​ทำ​ให้​ชีวิต​มี​คุณค่า​และ​มั่นคง​ได้​อย่าง​แท้​จริง?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 23]

เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ทรง​ปฏิเสธ​คำ​ร้อง​ขอ​ของ​ชาย​คน​หนึ่ง?

[ภาพ​หน้า 23]

ความ​โลภ​อาจ​ก่อ​ผล​เป็น​ความ​หายนะ​ได้

[ภาพ​หน้า 25]

อับราฮาม​แสดง​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​สมบัติ​วัตถุ?