จุดเด่นจากพระธรรมยะเอศเคล—ตอนที่ 2
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมยะเอศเคล—ตอนที่ 2
ตอนนั้นเป็นเดือนธันวาคมปี 609 ก่อนสากลศักราช. กษัตริย์แห่งบาบิโลนเริ่มการล้อมกรุงเยรูซาเลมครั้งสุดท้าย. จนถึงตอนนั้น ข่าวสารของยะเอศเคลที่ส่งถึงพวกที่ถูกเนรเทศไปยังบาบิโลนมุ่งเน้นที่เรื่องเดียว นั่นคือ เรื่องความล่มจมและพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมอันเป็นที่รักของพวกเขา. แต่ตอนนี้ คำพยากรณ์ของยะเอศเคลเปลี่ยนเป็นเรื่องการพิพากษาบรรดาชาตินอกรีตซึ่งรู้สึกยินดีที่เห็นประชาชนของพระเจ้าประสบความหายนะ. เมื่อเยรูซาเลมล่มจมในอีก 18 เดือนต่อมา ข่าวสารของยะเอศเคลก็เปลี่ยนจุดสำคัญใหม่อีกครั้งหนึ่งไปเป็นเรื่องการฟื้นฟูการนมัสการแท้ให้รุ่งเรือง.
ยะเอศเคล 25:1–48:35 เป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับชาติต่าง ๆ ที่ล้อมรอบอิสราเอลและการช่วยประชาชนของพระเจ้าให้รอดพ้น. * มีการบันทึกเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์รวมทั้งบันทึกแบบเป็นเรื่อง ๆ ไป ยกเว้นยะเอศเคล 29:17-20. สี่ข้อนี้อยู่ในส่วนของการบันทึกตามเรื่องราว ไม่ใช่ตามลำดับเวลา. ในฐานะส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ พระธรรมยะเอศเคลมีข่าวสารที่ “มีชีวิตและทรงพลัง.”—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
‘แผ่นดินนี้ได้กลับเป็นดุจสวนในเอเดน’
โดยเห็นล่วงหน้าว่าชาติต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ จะมีปฏิกิริยาเช่นไรที่เห็นเยรูซาเลมล่มจม พระยะโฮวาจึงให้ยะเอศเคลพยากรณ์ต่อพวกอัมโมน, โมอาบ, เอโดม, ฟิลิสเตีย, ไทร์ (ตุโร), และซีโดน. อียิปต์จะถูกปล้น. ‘ฟาโรกษัตริย์อายฆุบโตและฝูงคนของท่าน’ เปรียบเหมือนต้นสนซีดาร์ที่จะถูกโค่นโดย “กะบี่แห่งกษัตริย์บาบูโลน.”—ยะเอศเคล 31:2, 3, 12; 32:11, 12.
ประมาณหกเดือนต่อมาหลังกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. มีผู้หนึ่งหนีออกมาได้และมาหายะเอศเคลเพื่อรายงานว่า “เมืองนั้นแตกเสียแล้ว!” ผู้พยากรณ์ “มิได้เป็นใบ้” กับพวกที่ถูกเนรเทศอีกต่อไป. (ยะเอศเคล 33:21, 22) ท่านมีคำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟูที่จะต้องประกาศ. พระยะโฮวา “จะตั้งผู้เลี้ยงแกะผู้หนึ่งไว้เหนือเขาคือดาวิดผู้รับใช้ของ [พระองค์].” (ยะเอศเคล 34:23, ฉบับแปลใหม่) เอโดมจะกลายเป็นที่ร้างเปล่า แต่ยูดาห์ แผ่นดินที่เลยเอโดมไปจะกลายเป็น “ดุจสวนในเอเดน.” (ยะเอศเคล 36:35) พระยะโฮวาสัญญาว่าจะปกป้องประชาชนที่กลับคืนมาจากการโจมตีของ “โกก.”—ยะเอศเคล 38:2, ฉบับแปลใหม่.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
29:8-12—เมื่อใดที่อียิปต์กลายเป็นที่ร้างเปล่านาน 40 ปี? หลังจากกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. ชาวยูดาห์ส่วนที่เหลือได้หนีไปที่อียิปต์แม้ว่าผู้พยากรณ์ยิระมะยาจะเตือนแล้วก็ตาม. (ยิระมะยา 24:1, 8-10; 42:7-22) การทำเช่นนั้นไม่ได้ช่วยให้พวกเขารอดชีวิตเพราะนะบูคัดเนซัรได้มาโจมตีอียิปต์และพิชิตได้. ช่วงเวลาที่อียิปต์ร้างเปล่านาน 40 ปีอาจเป็นช่วงหลังการพ่ายแพ้ในคราวนั้น. ขณะที่ประวัติศาสตร์โลกไม่มีพยานหลักฐานว่าแผ่นดินอียิปต์เคยร้างเปล่า แต่เรามั่นใจได้ว่าเป็นเช่นนั้นเพราะพระยะโฮวาเป็นผู้ทำให้คำพยากรณ์สำเร็จ.—ยะซายา 55:11.
29:18—“ศีรษะคนทั้งปวงล้าน, และบ่าทั้งปวงก็ปอก” ในแง่ใด? การล้อมเมืองไทร์ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ เป็นไปด้วยความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่งจนศีรษะของทหารของนะบูคัดเนซัรล้านไปเพราะเสียดสีกับหมวกเหล็ก และบ่าของเขาก็ถลอกเพราะต้องแบกอุปกรณ์สร้างหอคอยและป้อมปราการ.—ยะเอศเคล 26:7-12.
บทเรียนสำหรับเรา:
29:19, 20. เนื่องจากชาวไทร์ได้ขนทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่หนีไปยังเมืองที่อยู่บนเกาะ กษัตริย์นะบูคัดเนซัรจึงแทบไม่ได้ของปล้นจากเมืองไทร์. แม้นะบูคัดเนซัรจะเป็นผู้ปกครองชาวนอกรีตที่หยิ่งยโสและเห็นแก่ตัว แต่พระยะโฮวาก็ทรงชดเชยแก่เขาเพราะงานที่พระองค์ให้เขาทำโดยประทานอียิปต์ให้เป็น “บำเหน็จแก่พวกกองทัพของท่าน.” เราควรเลียนแบบพระเจ้าเที่ยงแท้โดยการจ่ายภาษีแก่รัฐบาลเพื่องานบริการที่รัฐจัดให้เรามิใช่หรือ? ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะประพฤติเช่นไรหรือนำเงินภาษีไปใช้ในทางใดก็ไม่อาจเป็นเหตุให้เราละเว้นพันธะหน้าที่นี้.—โรม 13:4-7.
33:7-9. ชนจำพวกคนยามสมัยปัจจุบัน—ชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิม—และสหายของเขาไม่ควรเลิกงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและการเตือนประชาชนเกี่ยวกับ “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ที่ใกล้เข้ามา.—มัดธาย 24:21.
33:10-20. ความรอดของเราขึ้นอยู่กับการหันกลับจากทางชั่วและเชื่อฟังข้อเรียกร้องของพระเจ้า. จริงทีเดียว ทางของพระยะโฮวาเป็น ‘ทางซื่อตรง.’
36:20, 21. เนื่องจากไม่ได้ดำเนินชีวิตสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็น “พลไพร่ของพระยะโฮวา” ชาวอิสราเอลจึงทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่ดูหมิ่นท่ามกลางนานาชาติ. เราไม่ควรเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาแต่เพียงในนาม.
36:25, 37, 38. อุทยานฝ่ายวิญญาณที่เราประสบในทุกวันนี้เต็มไปด้วย ‘กลุ่มผู้บริสุทธิ์.’ ด้วยเหตุนั้น เราควรพยายามรักษาความบริสุทธิ์สะอาดเสมอ.
38:1-23. ช่างทำให้อุ่นใจสักเพียงไรที่รู้ว่าพระยะโฮวาจะช่วยประชาชนของพระองค์ที่ถูกโกกแห่งมาโกกโจมตี! โกกเป็นชื่อที่ใช้เรียก “ผู้ครองโลก” หรือซาตานพญามาร หลังจากที่มันถูกขับออกจากสวรรค์. แผ่นดินมาโกกพาดพิงถึงบริเวณแผ่นดินโลกที่ซาตานและเหล่าปิศาจถูกจำกัดให้อยู่.—โยฮัน 12:31; วิวรณ์ 12:7-12.
“จงเอาใจใส่ในสิ่งทั้งปวงที่เราจะให้เจ้าเห็นนั้น”
ตอนนี้เป็นปีที่ 14 หลังจากกรุงเยรูซาเลมล่มจม. (ยะเอศเคล 40:1) ช่วงเวลาแห่งการถูกเนรเทศอีกห้าสิบหกปียังรออยู่ข้างหน้า. (ยิระมะยา 29:10) ตอนนี้ ยะเอศเคลเกือบจะอายุ 50 ปีแล้ว. ในนิมิต ท่านถูกพาไปยังแผ่นดินอิสราเอล. ท่านได้ยินเสียงกล่าวว่า “บุตรมนุษย์เอ๋ย, จงดูด้วยตาและฟังด้วยหูของเจ้า, และเจ้าจงเอาใจใส่ในสิ่งทั้งปวงที่เราจะให้เจ้าเห็นนั้น.” (ยะเอศเคล 40:2-4) ยะเอศเคลจะต้องตื่นเต้นอย่างยิ่งที่ได้รับนิมิตเกี่ยวกับพระวิหารใหม่!
พระวิหารอันสง่างามที่ยะเอศเคลเห็นมี 6 ประตู, ห้องอาหาร 30 ห้อง, ห้องบริสุทธิ์, ห้องบริสุทธิ์ที่สุด, แท่นบูชาที่ทำจากไม้, และแท่นบูชาสำหรับเครื่องบูชาเผา. สิ่งที่ “ไหล” ออกมาจากวิหารคือลำธารที่กลายเป็นกระแสน้ำที่ไหลแรง. (ยะเอศเคล 47:1) นอกจากนั้น ยะเอศเคลยังได้ รับนิมิตเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินแก่ตระกูลต่าง ๆ โดยแบ่งจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก และระหว่างที่ดินของตระกูลยูดาห์และเบนยามินมีการจัดสรรที่ดินผืนยาวไว้เป็นพื้นที่สำหรับการบริหาร. “วิหารของยะโฮวา” “และ “เมือง” ซึ่งถูกตั้งชื่อว่ายะโฮวาซามา ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนนั้น.—ยะเอศเคล 48:9, 10, 15, 35.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
40:3–47:12—นิมิตเรื่องพระวิหารหมายถึงอะไร? จริง ๆ แล้วไม่เคยมีการสร้างพระวิหารขนาดมหึมาที่ยะเอศเคลเห็นในนิมิต. นิมิตนี้ให้ภาพพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า—การจัดเตรียมที่เหมือนกับที่ทำกันในพระวิหาร ซึ่งพระยะโฮวาจัดเตรียมสำหรับการนมัสการบริสุทธิ์ในสมัยของเรา. (ยะเอศเคล 40:2; มีคา 4:1; เฮ็บราย 8:2; 9:23, 24) นิมิตเรื่องพระวิหารจะสำเร็จเป็นจริงในช่วง “สมัยสุดท้าย” เมื่อเหล่าปุโรหิตจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; ยะเอศเคล 44:10-16; มาลาคี 3:1-3) อย่างไรก็ตาม นิมิตนี้จะสำเร็จเป็นจริงขั้นสุดท้ายในอุทยาน. นิมิตเกี่ยวกับพระวิหารเป็นคำสัญญาสำหรับชาวยิวที่ถูกเนรเทศว่าการนมัสการบริสุทธิ์จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นและชาวยิวทุกครอบครัวจะได้รับมรดกในแผ่นดิน.
40:3–43:17—การวัดพระวิหารมีความหมายเช่นไร? การวัดพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ซึ่งบ่งบอกว่าพระประสงค์ของพระยะโฮวาเกี่ยวกับการนมัสการบริสุทธิ์จะต้องสำเร็จเป็นจริงแน่นอน.
43:2-4, 7, 9—“ศพเจ้าแผ่นดิน” ที่ต้องกำจัดออกไปจากพระวิหารคืออะไร? ดูเหมือนว่า ศพเหล่านั้นหมายถึงรูปเคารพ. ผู้ปกครองเยรูซาเลมและพลเมืองทำให้พระวิหารของพระเจ้าเป็นมลทินด้วยรูปเคารพ ซึ่งเท่ากับว่าให้สิ่งเหล่านั้นเป็นกษัตริย์ของพวกเขา.
43:13-20—แท่นบูชาที่ยะเอศเคลเห็นในนิมิตเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอะไร? แท่นบูชาเป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์. เนื่องด้วยการจัดเตรียมนี้ ผู้ถูกเจิมจึงได้รับการประกาศว่าชอบธรรมและ “ชนฝูงใหญ่” มีฐานะที่สะอาดและบริสุทธิ์ในสายพระเนตรพระเจ้า. (วิวรณ์ 7:9-14, ล.ม.; โรม 5:1, 2) บางที นั่นเป็นเหตุผลที่ “ทะเลหล่อ” ในวิหารของซะโลโม—อ่างน้ำขนาดใหญ่ที่มีไว้ให้เหล่าปุโรหิตชำระตัว—ไม่มีอยู่ในพระวิหารในนิมิตดังกล่าวนี้.—1 กษัตริย์ 7:23-26.
44:10-16—ชนชั้นปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงใคร? ชนชั้นปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงกลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมในสมัยของเรา. การถลุงพวกเขาให้บริสุทธิ์เกิดขึ้นในปี 1918 เมื่อพระยะโฮวาทรงนั่งลง “เหมือนช่างหลอมช่างถลุงเงิน” ในพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์. (มาลาคี 3:1-5) คนที่ถูกชำระให้สะอาดหรือกลับใจจะยังคงมีสิทธิพิเศษในงานรับใช้ต่อไป. หลังจากนั้น พวกเขาต้องทุ่มเทในการรักษาตัวเองให้ “ปราศจากด่างพร้อยของโลก” ฉะนั้น พวกเขาจึงกลายเป็นแบบอย่างแก่ “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งมีภาพเล็งถึงโดยตระกูลต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตระกูลปุโรหิต.—ยาโกโบ 1:27, ล.ม.; วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.
45:1; 47:13–48:29—“แผ่นดิน” และการจัดแบ่งที่ดินเป็นภาพเล็งถึงอะไร? แผ่นดินเป็นภาพเล็งถึงขอบเขตแห่งกิจกรรมของประชาชนของพระเจ้า. ไม่ว่าผู้นมัสการพระยะโฮวาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาก็อยู่ในแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟู ตราบใดที่เขาเชิดชูการนมัสการแท้. การจัด สรรที่ดินจะสำเร็จเป็นจริงขั้นสุดท้ายในโลกใหม่เมื่อผู้ซื่อสัตย์แต่ละคนได้รับส่วนของตน.—ยะซายา 65:17, 21.
45:7, 16—การที่ประชาชนทำการถวายแก่ปุโรหิตและเจ้าแผ่นดินเป็นภาพเล็งถึงอะไร? สำหรับวิหารฝ่ายวิญญาณ สิ่งนี้พาดพิงถึงการสนับสนุนทางฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรก—การให้ความช่วยเหลือและแสดงน้ำใจร่วมมือ.
47:1-5—น้ำในแม่น้ำที่ยะเอศเคลเห็นในนิมิตเป็นภาพเล็งถึงอะไร? น้ำเป็นภาพเล็งถึงการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาสำหรับชีวิต รวมถึงเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เยซูและความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าที่พบในคัมภีร์ไบเบิล. (ยิระมะยา 2:13; โยฮัน 4:7-26; เอเฟโซ 5:25-27) ความลึกของแม่น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจัดสิ่งจำเป็นดังกล่าวไว้ให้เหมาะกับคนใหม่ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามารับเอาการนมัสการแท้. (ยะซายา 60:22) น้ำแห่งชีวิตของแม่น้ำนี้จะไหลเพื่อก่อประโยชน์อย่างเต็มที่ในช่วงสมัยพันปี และน้ำดังกล่าวจะรวมถึงความเข้าใจเพิ่มเติมจาก “ม้วนหนังสือ” ที่จะถูกเปิดออกในเวลานั้น.—วิวรณ์ 20:12, ล.ม.; 22:1, 2.
47:12—ต้นไม้ที่มีผลเป็นภาพเล็งถึงอะไร? ต้นไม้โดยนัยเป็นภาพแสดงถึงการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าสำหรับการฟื้นฟูมนุษยชาติสู่ความสมบูรณ์.
48:15-19, 30-35—เมืองที่ยะเอศเคลเห็นในนิมิตเป็นภาพเล็งถึงอะไร? เมือง “ยะโฮวาซามา” ตั้งอยู่ในที่ที่ “มิได้เป็นที่บริสุทธิ์” ซึ่งบ่งชี้ว่าต้องหมายถึงบางสิ่งที่เกี่ยวกับแผ่นดินโลก. เมืองนี้ดูเหมือนหมายถึงการบริหารงานบนแผ่นดินโลกที่ให้ประโยชน์แก่ผู้คนซึ่งจะประกอบกันเป็น “แผ่นดินโลกใหม่” ที่ชอบธรรม. (2 เปโตร 3:13) การที่มีประตูอยู่แต่ละด้านแสดงให้เห็นว่าเข้าได้ง่าย. ผู้ดูแลในท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าต้องเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย.
บทเรียนสำหรับเรา:
40:14, 16, 22, 26. การสลักรูปต้นตาลที่ฝาผนังซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารแสดงให้เห็นว่าเฉพาะคนที่ซื่อตรงทางศีลธรรมเท่านั้นที่จะเข้าไปได้. (บทเพลงสรรเสริญ 92:12) เรื่องนี้สอนเราว่าการนมัสการของเราจะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าก็ต่อเมื่อเราเป็นคนซื่อตรงเท่านั้น.
44:23. เรารู้สึกหยั่งรู้ค่าสักเพียงไรสำหรับงานรับใช้ที่ชนชั้นปุโรหิตในสมัยของเราได้ทำ! “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้นำหน้าในการจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณที่เหมาะกับเวลาซึ่งช่วยเราให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ไม่สะอาดและสิ่งที่สะอาดในสายพระเนตรพระยะโฮวา.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
47:9, 11. ความรู้—ความหมายหนึ่งที่สำคัญยิ่งของน้ำโดยนัย—กำลังประสบผลสำเร็จในการเยียวยารักษาที่ดีเยี่ยมในสมัยของเรา. ไม่ว่าน้ำนั้นจะไหลไปที่ไหน ประชาชนที่บริโภคน้ำนั้นก็จะมีชีวิตทางฝ่ายวิญญาณ. (โยฮัน 17:3) ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ไม่ยอมรับน้ำที่ให้ชีวิตจะ “เป็นที่เกลือ” ซึ่งหมายถึงการถูกทำลายตลอดไป. นับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสักเพียงไรที่ ‘เราจะทำสุดความสามารถเพื่อใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง’!—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.
“เราจะทำให้นามยิ่งใหญ่ของเราเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์อย่างแน่นอน”
หลังจากถอดกษัตริย์องค์สุดท้ายในเชื้อวงศ์ของดาวิดออกแล้ว พระเจ้าเที่ยงแท้ทรงปล่อยให้เวลาผ่านไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนานก่อนจะมี “ผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ” มาเป็นกษัตริย์. อย่างไรก็ตาม พระเจ้าไม่ยกเลิกคำสัญญากับดาวิด. (ยะเอศเคล 21:27; 2 ซามูเอล 7:11-16) คำพยากรณ์ของยะเอศเคลกล่าวถึง “ดาวิดผู้รับใช้ของเรา” ซึ่งจะเป็น “ผู้เลี้ยง” และ “กษัตริย์.” (ยะเอศเคล 34:23, 24; 37:22, 24, 25) ผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระเยซูคริสต์ผู้ทรงได้รับมอบอำนาจแห่งราชอาณาจักร. (วิวรณ์ 11:15) พระยะโฮวาจะ “ทำให้นามยิ่งใหญ่ [ของพระองค์] เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” โดยทางราชอาณาจักรมาซีฮา.—ยะเอศเคล 36:23, ล.ม.
อีกไม่ช้า ทุกคนที่ดูหมิ่นพระนามอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะถูกทำลาย. แต่ผู้ที่ทำให้พระนามนั้นเป็นที่บริสุทธิ์ในชีวิตของตนโดยการนมัสการพระยะโฮวาในแบบที่พระองค์พอพระทัยจะได้รับชีวิตนิรันดร์. ด้วยเหตุนั้น ให้เราฉวยประโยชน์อย่างเต็มที่จากน้ำแห่งชีวิตที่กำลังหลั่งไหลอย่างบริบูรณ์ในสมัยของเรา และให้การนมัสการแท้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในชีวิตของเรา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 สำหรับการพิจารณายะเอศเคล 1:1–24:27 ดู “จุดเด่นจากพระธรรมยะเอศเคล—ตอนแรก” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กรกฎาคม 2007.
[ภาพหน้า 9]
พระวิหารอันสง่างามในนิมิตของยะเอศเคล
[ภาพหน้า 10]
แม่น้ำแห่งชีวิตในนิมิตของยะเอศเคลหมายถึงอะไร?
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.