ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงสอนบุตรให้รักพระยะโฮวา

จงสอนบุตรให้รักพระยะโฮวา

จง​สอน​บุตร​ให้​รัก​พระ​ยะโฮวา

“ลูก​ธนู​ใน​มือ​ของ​คน​กล้า​หาญ​เป็น​ฉัน​ใด, บุตร​ชาย​หญิง​ของ​คน​หนุ่ม​ก็​เป็น​ฉัน​นั้น.”—บทเพลง​สรรเสริญ 127:4.

1, 2. บุตร​เป็น​เหมือน​กับ “ลูก​ธนู​ใน​มือ​ของ​คน​กล้า​หาญ” อย่าง​ไร?

นัก​ยิง​ธนู​เตรียม​พร้อม​จะ​ยิง​ลูก​ธนู​ไป​ที่​เป้า. เขา​วาง​ลูก​ธนู​พาด​เข้า​กับ​สาย​อย่าง​พิถีพิถัน แล้ว​ก็​น้าว​ศร​จน​คัน​ธนู​โก่ง​ด้วย​มัด​กล้าม​อัน​ตึง​เขม็ง. แม้​ว่า​ต้อง​ออก​แรง​เต็ม​ที่​อย่าง​นั้น เขา​พยายาม​เล็ง​ลูก​ธนู​อย่าง​บรรจง. แล้ว​เขา​ก็​ปล่อย​ลูก​ธนู​พุ่ง​ออก​ไป! ลูก​ธนู​จะ​พุ่ง​เข้า​เป้า​ไหม? มี​ปัจจัย​หลาย​อย่าง​ที่​กำหนด​ว่า​คำ​ตอบ​จะ​เป็น​อย่าง​ไร เป็น​ต้น​ว่า ความ​ชำนาญ​ของ​นัก​ยิง​ธนู, ผล​กระทบ​ของ​ลม, และ​สภาพ​ของ​ลูก​ธนู.

2 กษัตริย์​ซะโลโม​เปรียบ​บุตร​ว่า​เหมือน​กับ “ลูก​ธนู​ใน​มือ​ของ​คน​กล้า​หาญ.” (บทเพลง​สรรเสริญ 127:4) ให้​เรา​มา​พิจารณา​กัน​ว่า​อาจ​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​นี้​ได้​อย่าง​ไร. นัก​ยิง​ธนู​พาด​วาง​ลูก​ธนู​เข้า​กับ​คัน​ธนู​เพียง​ชั่ว​เวลา​สั้น ๆ. เพื่อ​จะ​ยิง​ให้​เข้า​เป้า เขา​ต้อง​ปล่อย​ลูก​ธนู​ออก​ไป​โดย​เร็ว. เช่น​เดียว​กัน บิดา​มารดา​มี​เพียง​แค่​เวลา​ค่อนข้าง​สั้น​ที่​จะ​พัฒนา​ความ​รัก​จาก​หัวใจ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ตัว​บุตร. หลัง​จาก​ช่วง​เวลา​ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​เพียง​แค่​ไม่​กี่​ปี ลูก ๆ ก็​เติบโต​ขึ้น​และ​ออก​จาก​บ้าน​ไป. (มัดธาย 19:5) พวก​เขา​จะ​พุ่ง​เข้า​เป้า​ไหม—กล่าว​คือ ลูก ๆ จะ​ยัง​คง​รัก​และ​รับใช้​พระเจ้า​ต่อ​ไป​ไหม​เมื่อ​เขา​ออก​จาก​บ้าน​ไป? มี​ปัจจัย​มาก​มาย​ที่​มี​ผล​ต่อ​คำ​ตอบ. ปัจจัย​เหล่า​นั้น​รวม​ถึง​ปัจจัย​สาม​ประการ​ต่อ​ไป​นี้ คือ ความ​สามารถ​ของ​บิดา​มารดา, สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​บุตร​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​เติบโต​ขึ้น​มา, และ​วิธี​ที่ “ลูก​ธนู” หรือ​ตัว​เด็ก​เอง​ตอบรับ​ต่อ​การ​อบรม​สั่ง​สอน​ที่​เขา​ได้​รับ. ให้​เรา​มา​พิจารณา​ปัจจัย​เหล่า​นี้​แต่​ละ​ปัจจัย​ให้​ละเอียด​ยิ่ง​ขึ้น. ใน​อันดับ​แรก เรา​จะ​พิจารณา​ลักษณะ​บาง​ประการ​ของ​บิดา​มารดา​ที่​มี​ความ​สามารถ.

บิดา​มารดา​ที่​มี​ความ​สามารถ​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี

3. เหตุ​ใด​คำ​พูด​ของ​บิดา​มารดา​ต้อง​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​โดย​การ​กระทำ?

3 พระ​เยซู​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ไว้​สำหรับ​บิดา​มารดา​โดย​ที่​พระองค์​ทรง​ปฏิบัติ​สอดคล้อง​กับ​สิ่ง​ที่​พระองค์​สอน. (โยฮัน 13:15) ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม พระองค์​ทรง​ตำหนิ​พวก​ฟาริซาย​ที่ “สั่ง​สอน” แต่ “หา​ทำ​ตาม​ไม่.” (มัดธาย 23:3) เพื่อ​จะ​กระตุ้น​ใจ​บุตร​ให้​รัก​พระ​ยะโฮวา คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​บิดา​มารดา​ต้อง​สอดคล้อง​กัน. คำ​พูด​ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​โดย​การ​กระทำ​นั้น​ไร้​ประสิทธิภาพ​เหมือน​กับ​คัน​ธนู​ที่​ไร้​สาย.—1 โยฮัน 3:18.

4. บิดา​มารดา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​อะไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

4 เหตุ​ใด​ตัว​อย่าง​ของ​บิดา​มารดา​จึง​สำคัญ​มาก? เช่น​เดียว​กับ​ที่​ผู้​ใหญ่​สามารถ​เรียน​รู้​ที่​จะ​รัก​พระเจ้า​โดย​ดู​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู เด็ก ๆ ก็​สามารถ​เรียน​รู้​ที่​จะ​รัก​พระ​ยะโฮวา​โดย​ทำ​ตาม​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​บิดา​มารดา. คน​ที่​เด็ก​ติด​ต่อ​คบหา​ด้วย​สามารถ​เสริม​ให้​เขา​เข้มแข็ง​ขึ้น หรือ​ไม่​ก็ “ทำ​ให้​นิสัย​ดี​เสีย​ไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) เวลา​ส่วน​ใหญ่​ใน​ชีวิต​บุตร และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ช่วง​สำคัญ​ใน​วัย​ที่​กำลัง​พัฒนา​นิสัย​ใจ​คอ คน​ที่​เขา​ติด​ต่อ​คบหา​ด้วย​หรือ​เพื่อน​ที่​ใกล้​ชิด​และ​มี​อิทธิพล​ต่อ​เขา​มาก​ที่​สุด​ได้​แก่​บิดา​มารดา. ด้วย​เหตุ​นั้น บิดา​มารดา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​เป็น​เพื่อน​ชนิด​ใด​สำหรับ​ลูก? ตัว​อย่าง​ของ​ฉัน​ส่ง​เสริม​ลูก​ให้​พัฒนา​นิสัย​ที่​ดี​ไหม? ฉัน​วาง​ตัว​อย่าง​ไว้​เช่น​ไร​ใน​เรื่อง​สำคัญ​อย่าง​เช่น​การ​อธิษฐาน​และ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล?’

บิดา​มารดา​ที่​มี​ความ​สามารถ​อธิษฐาน​กับ​บุตร

5. บุตร​สามารถ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​คำ​อธิษฐาน​ของ​บิดา​มารดา?

5 บุตร​ของ​คุณ​สามารถ​เรียน​ได้​มาก​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​ฟัง​คำ​อธิษฐาน​ของ​คุณ. ถ้า​พวก​เขา​ฟัง​คุณ​ขอบพระคุณ​พระเจ้า​เมื่อ​รับประทาน​อาหาร​และ​อธิษฐาน​เมื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล พวก​เขา​อาจ​ได้​ข้อ​สรุป​เช่น​ไร? พวก​เขา​น่า​จะ​เรียน​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​เตรียม​สิ่ง​จำเป็น​ฝ่าย​ร่าง​กาย​ให้​เรา—ซึ่ง​เรา​ควร​ขอบพระคุณ​พระองค์—และ​พระองค์​ทรง​สอน​ความ​จริง​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​เรา. นั่น​เป็น​บทเรียน​ที่​มี​คุณค่า.—ยาโกโบ 1:17.

6. บิดา​มารดา​สามารถ​ช่วย​บุตร​ให้​รู้สึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สน​พระทัย​พวก​เขา​เป็น​ส่วน​ตัว​ได้​อย่าง​ไร?

6 แต่​ถ้า​คุณ​อธิษฐาน​กับ​ครอบครัว​ใน​เวลา​อื่น ๆ นอก​เหนือ​จาก​เวลา​อาหาร​และ​เมื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​ครอบครัว และ​ถ้า​คุณ​อธิษฐาน​อย่าง​เจาะจง​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ ที่​มี​ผล​ต่อ​คุณ​และ​บุตร คุณ​จะ​บรรลุ​ผล​มาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก. คุณ​จะ​ช่วย​บุตร​ให้​รู้สึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว และ​พระองค์​ทรง​ใฝ่​พระทัย​อย่าง​ลึกซึ้ง​ใน​แต่​ละ​คน​เป็น​ส่วน​ตัว. (เอเฟโซ 6:18; 1 เปโตร 5:6, 7) บิดา​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “นับ​ตั้ง​แต่​ลูก​สาว​เรา​เกิด​มา เรา​อธิษฐาน​กับ​เธอ. เมื่อ​เธอ​โต​ขึ้น เรา​อธิษฐาน​ใน​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์​ที่​เหมาะ​สม​และ​เรื่อง​อื่น ๆ ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​เธอ. ไม่​มี​สัก​วัน​เดียว​ที่​ผ่าน​ไป​โดย​ที่​เรา​ไม่​ได้​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​กับ​เธอ​จน​กระทั่ง​เธอ​ออก​เรือน​แต่งงาน​ไป.” คุณ​สามารถ​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​นั้น​ได้​ไหม​โดย​อธิษฐาน​กับ​บุตร​ทุก ๆ วัน? คุณ​สามารถ​ช่วย​บุตร​ได้​ไหม​ให้​ถือ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​มิตร​ที่​ไม่​เพียง​แต่​จัด​เตรียม​สิ่ง​จำเป็น​ฝ่าย​วัตถุ​และ​ฝ่าย​วิญญาณ​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ทรง​คอย​ดู​แล​ความ​จำเป็น​ด้าน​อารมณ์​ให้​พวก​เขา​ด้วย?—ฟิลิปปอย 4:6, 7.

7. เพื่อ​คำ​อธิษฐาน​จะ​เป็น​แบบ​ที่​เจาะจง บิดา​มารดา​จำเป็น​ต้อง​ทราบ​อะไร?

7 แน่นอน เพื่อ​คุณ​จะ​ทำ​ให้​คำ​อธิษฐาน​ของ​คุณ​เป็น​แบบ​เจาะจง คุณ​จำ​ต้อง​ทราบ​ว่า​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​บ้าง​ใน​ชีวิต​ของ​บุตร. ขอ​ให้​สังเกต​ความ​เห็น​ของ​บิดา​คน​หนึ่ง​ที่​ได้​เลี้ยง​ดู​บุตร​สาว​สอง​คน: “ตอน​สิ้น​สุด​ของ​แต่​ละ​สัปดาห์ ผม​ถาม​ตัว​เอง​สอง​คำ​ถาม: ‘สัปดาห์​นี้​มี​เรื่อง​อะไร​ที่​อยู่​ใน​ใจ​ลูก? และ​ลูก​พบ​เรื่อง​อะไร​ที่​ดี ๆ บ้าง?’ ” บิดา​มารดา​ทั้ง​หลาย คุณ​สามารถ​ถาม​ตัว​เอง​แบบ​นั้น​แล้ว​ก็​พูด​ถึง​คำ​ตอบ​ใน​คำ​อธิษฐาน​ที่​คุณ​อธิษฐาน​กับ​บุตร​ด้วย​ได้​ไหม? ถ้า​คุณ​ทำ​อย่าง​นั้น คุณ​ก็​กำลัง​สอน​พวก​เขา​ไม่​เพียง​แค่​ให้​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา—ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน—แต่​สอน​เขา​ให้​รัก​พระองค์​ด้วย.—บทเพลง​สรรเสริญ 65:2.

บิดา​มารดา​ที่​มี​ความ​สามารถ​ส่ง​เสริม​นิสัย​การ​ศึกษา​ที่​ดี

8. เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​ต้อง​ช่วย​บุตร​ให้​พัฒนา​นิสัย​ใน​การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า?

8 ทัศนคติ​ของ​บิดา​มารดา​ต่อ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ส่ง​ผล​ต่อ​สาย​สัมพันธ์​ของ​บุตร​กับ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร? เพื่อ​ที่​ความ​สัมพันธ์​ใด ๆ จะ​เติบโต​และ​ดำรง​อยู่​ต่อ​ไป คน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ต้อง​ไม่​เพียง​แค่​พูด​คุย​กัน แต่​ต้อง​ฟัง​กัน​ด้วย. วิธี​หนึ่ง​ที่​เรา​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​ก็​คือ​ด้วย​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​อาศัย​หนังสือ​ต่าง ๆ ที่ “ทาส​สัตย์​ซื่อ” จัด​เตรียม​ให้. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.; สุภาษิต 4:1, 2) ด้วย​เหตุ​นั้น เพื่อ​จะ​ช่วย​บุตร​ให้​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​ยั่งยืน​นาน​กับ​พระ​ยะโฮวา บิดา​มารดา​ควร​ส่ง​เสริม​บุตร​ให้​พัฒนา​นิสัย​ใน​การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.

9. บุตร​จะ​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ให้​พัฒนา​นิสัย​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​ได้​โดย​วิธี​ใด?

9 บุตร​จะ​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ให้​พัฒนา​นิสัย​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​ได้​โดย​วิธี​ใด? อีก​ครั้ง​หนึ่ง ตัว​อย่าง​ของ​บิดา​มารดา​ช่วย​สอน​ได้​ดี​ที่​สุด. ลูก ๆ เห็น​คุณ​เพลิดเพลิน​กับ​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​เป็น​ประจำ​ไหม? จริง​อยู่ คุณ​คง​จะ​ยุ่ง​มาก​ใน​การ​ดู​แล​บุตร และ​คุณ​อาจ​นึก​สงสัย​อยู่​ว่า​จะ​หา​เวลา​อ่าน​และ​ศึกษา​ได้​เมื่อ​ไร. แต่​จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ลูก ๆ เห็น​ฉัน​ดู​โทรทัศน์​เป็น​ประจำ​ไหม?’ ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น คุณ​จะ​สามารถ​กัน​เวลา​บาง​ส่วน​ไว้​ได้​ไหม​ที่​จะ​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​แก่​บุตร​ใน​เรื่อง​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว?

10, 11. เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​ควร​จัด​ให้​มี​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ครอบครัว​เป็น​ประจำ?

10 อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​ใช้​ได้​ผล​ซึ่ง​บิดา​มารดา​สามารถ​สอน​ลูก ๆ ให้​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​ก็​คือ​โดย​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ครอบครัว​เป็น​ประจำ. (ยะซายา 30:21) แต่​บาง​คน​อาจ​นึก​สงสัย​ว่า ‘ทำไม​เด็ก ๆ จำเป็น​จะ​ต้อง​มี​การ​ศึกษา​ใน​ครอบครัว​อีก​ใน​เมื่อ​พ่อ​แม่​ก็​พา​พวก​เขา​ไป​ประชุม​ที่​ประชาคม​เป็น​ประจำ​อยู่​แล้ว?’ มี​เหตุ​ผล​ที่​ดี​หลาย​ประการ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​หลัก​แก่​บิดา​มารดา​ที่​จะ​สอน​บุตร. (สุภาษิต 1:8; เอเฟโซ 6:4) การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ครอบครัว​สอน​บุตร​ว่า​การ​นมัสการ​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​สิ่ง​ที่​ทำ​กัน​พอ​เป็น​พิธี​ใน​ที่​สาธารณะ​เท่า​นั้น แต่​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ส่วน​ตัว​ใน​ครอบครัว.—พระ​บัญญัติ 6:6-9.

11 นอก​จาก​นั้น การ​ศึกษา​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​การ​นำ​อย่าง​ดี​สามารถ​เปิด​ช่อง​ทาง​ให้​บิดา​มารดา​มี​โอกาส​จะ​รู้​ว่า​บุตร​คิด​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​เรื่อง​ศีลธรรม. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​เด็ก​ยัง​เล็ก บิดา​มารดา​สามารถ​ใช้​หนังสือ​อย่าง​เช่น จง​เรียน​จาก​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่. * ใน​เกือบ​ทุก​ย่อ​หน้า​ของ​คู่มือ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​นี้ จะ​มี​คำ​ถาม​ให้​เด็ก ๆ แสดง​ความ​คิด​เห็น​ใน​เรื่อง​ที่​กำลัง​พิจารณา​กัน​อยู่. โดย​หา​เหตุ​ผล​จาก​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ที่​อ้าง​ถึง​ใน​หนังสือ บิดา​มารดา​ก็​จะ​สามารถ​ช่วย​บุตร​ให้​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​สังเกต​เข้าใจ “เพื่อ​แยก​ออก​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด.”—เฮ็บราย 5:14, ล.ม.

12. บิดา​มารดา​อาจ​ปรับ​การ​ศึกษา​ของ​ครอบครัว​ให้​เข้า​กับ​ความ​จำเป็น​ของ​บุตร​อย่าง​ไร และ​คุณ​พบ​ว่า​อะไร​ที่​ใช้​ได้​ผล​ใน​เรื่อง​นี้?

12 ขณะ​ที่​บุตร​โต​ขึ้น จง​ปรับ​การ​ศึกษา​ให้​เข้า​กับ​ความ​จำเป็น​ของ​พวก​เขา. ขอ​ให้​สังเกต​วิธี​ที่​บิดา​มารดา​คู่​หนึ่ง​ช่วย​ลูก​วัยรุ่น​ให้​หา​เหตุ​ผล​เมื่อ​ลูก​ขอ​ไป​ร่วม​งาน​สังสรรค์​เต้น​รำ​ที่​โรง​เรียน​จัด. ผู้​เป็น​พ่อ​กล่าว​ว่า “เรา​บอก​ลูก ๆ ว่า​เรา​จะ​กัน​เวลา​ส่วน​หนึ่ง​ใน​การ​ศึกษา​ของ​ครอบครัว​คราว​หน้า​ไว้ ผม​กับ​ภรรยา​จะ​แสดง​เป็น​ลูก และ​ให้​ลูก​สาว​ของ​เรา​แสดง​บท​พ่อ​แม่. ลูก​คน​ไหน​จะ​แสดง​บท​ของ​พ่อ​หรือ​ของ​แม่​ก็​ได้ แต่​เด็ก ๆ ก็​ต้อง​ร่วม​มือ​กัน​ค้นคว้า​ใน​เรื่อง​นั้น​และ​ให้​คำ​แนะ​นำ​เกี่ยว​กับ​งาน​สังสรรค์​เต้น​รำ​ของ​โรง​เรียน.” ผล​เป็น​เช่น​ไร? ผู้​เป็น​พ่อ​เล่า​ต่อ​ไป​ว่า “เรา​รู้สึก​ทึ่ง​ที่​เห็น​ว่า​ลูก​สาว​เรา (ใน​บท​ของ​พ่อ​แม่) สามารถ​แยกแยะ​ได้​ว่า​อะไร​ผิด​อะไร​ถูก เมื่อ​พวก​เธอ​อธิบาย​กับ​เรา (ซึ่ง​แสดง​บท​ของ​ลูก) ถึง​เหตุ​ผล​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​ทำไม​จึง​ไม่​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​ไป​ร่วม​งาน​สังสรรค์​เต้น​รำ. ที่​ทำ​ให้​เรา​ประทับใจ​มาก​กว่า​นั้น​อีก​ก็​คือ​ลูก​ได้​เสนอ​แนะ​ทาง​เลือก​ที่​ยอม​รับ​ได้​แทน​การ​ไป​ร่วม​กิจกรรม​นี้. ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​เรา​เข้าใจ​ถึง​ความ​คิด​และ​ความ​ปรารถนา​ของ​ลูก ๆ ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น​ซึ่ง​นับ​ว่า​มี​ค่า​มาก.” จริง​อยู่ ต้อง​อาศัย​ความ​เพียร​พยายาม​และ​จินตนาการ​เพื่อ​จะ​มี​การ​ศึกษา​ใน​ครอบครัว​เป็น​ประจำ​และ​ตรง​กับ​ความ​จำเป็น​ของ​ครอบครัว แต่​ผล​ตอบ​แทน​นั้น​คุ้มค่า​ความ​พยายาม​ที​เดียว.—สุภาษิต 23:15.

จง​สร้าง​บรรยากาศ​ที่​สงบ​สุข

13, 14. (ก) บิดา​มารดา​สามารถ​สร้าง​บรรยากาศ​ที่​สงบ​สุข​ใน​บ้าน​ได้​อย่าง​ไร? (ข) มี​ผล​ประโยชน์​เช่น​ไร​เมื่อ​บิดา​มารดา​ยอม​รับ​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​ตัว​เอง?

13 ลูก​ธนู​มี​โอกาส​จะ​พุ่ง​เข้า​เป้า​มาก​กว่า​ถ้า​คน​ยิง​เล็ง​และ​ปล่อย​ลูก​ธนู​ใน​สภาพ​อากาศ​ที่​สงบ ลม​ไม่​แรง. คล้าย​กัน เด็ก ๆ จะ​เรียน​รู้​ที่​จะ​รัก​พระ​ยะโฮวา​ได้​ดี​กว่า​ถ้า​บิดา​มารดา​สร้าง​บรรยากาศ​ที่​สงบ​สุข​ใน​บ้าน. ยาโกโบ​เขียน​ว่า “เมล็ด​ของ​ผล​แห่ง​ความ​ชอบธรรม​ได้​หว่าน​ลง​ภาย​ใต้​สภาพ​ที่​มี​สันติ​สุข​สำหรับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​กระทำ​ให้​เกิด​สันติ​สุข.” (ยาโกโบ 3:18, ล.ม.) บิดา​มารดา​จะ​สร้าง​บรรยากาศ​ที่​สงบ​สุข​ใน​บ้าน​ได้​อย่าง​ไร? คู่​สมรส​จำเป็น​ต้อง​รักษา​สาย​สมรส​ให้​เหนียวแน่น. สามี​และ​ภรรยา​ที่​รัก​และ​นับถือ​กัน​มี​โอกาส​ดี​กว่า​ที่​จะ​สอน​บุตร​ให้​รัก​และ​นับถือ​ผู้​อื่น รวม​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ด้วย. (ฆะลาเตีย 6:7; เอเฟโซ 5:33) ความ​รัก​และ​ความ​นับถือ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​สันติ​สุข. และ​คู่​สมรส​ที่​รักษา​สันติ​สุข​ต่อ​กัน​สามารถ​จัด​การ​กับ​ข้อ​ขัด​แย้ง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ใน​ครอบครัว​ได้​ดี​กว่า.

14 แน่นอน เช่น​เดียว​กับ​ที่​ไม่​มี​คู่​สมรส​คู่​ใด​ที่​สมบูรณ์ ไม่​มี​ครอบครัว​ใด​สมบูรณ์​พร้อม​ใน​โลก​ปัจจุบัน​นี้. บาง​ครั้ง​บิดา​มารดา​อาจ​ไม่​ได้​แสดง​ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ​เมื่อ​ปฏิบัติ​ต่อ​ลูก ๆ. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) เมื่อ​เกิด​เหตุ​การณ์​อย่าง​นั้น บิดา​มารดา​ควร​ทำ​เช่น​ไร? ถ้า​เขา​ยอม​รับ​ข้อ​ผิด​พลาด​นั้น นั่น​จะ​ทำ​ให้​บุตร​นับถือ​เขา​น้อย​ลง​ไหม? ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​อัครสาวก​เปาโล. ท่าน​เป็น​บิดา​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​หลาย​คน. (1 โกรินโธ 4:15) กระนั้น ท่าน​ยอม​รับ​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า​ท่าน​ได้​ทำ​ผิด​พลาด. (โรม 7:21-25) แม้​กระนั้น ความ​ถ่อม​และ​ความ​ซื่อ​สัตย์​ของ​ท่าน​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​นับถือ​ต่อ​ท่าน​มาก​ขึ้น​แทน​ที่​จะ​ลด​ลง. แม้​มี​ข้อ​บกพร่อง เปาโล​สามารถ​เขียน​อย่าง​มั่น​ใจ​ถึง​ประชาคม​ใน​เมือง​โครินท์​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​ประพฤติ​ตาม​อย่าง​ข้าพเจ้า, เหมือน​ข้าพเจ้า​ประพฤติ​ตาม​อย่าง​พระ​คริสต์.” (1 โกรินโธ 11:1) ถ้า​คุณ​ยอม​รับ​ด้วย​ว่า​คุณ​ผิด​พลาด บุตร​ก็​จะ​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​มอง​ข้าม​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​คุณ.

15, 16. เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​ควร​อบรม​สั่ง​สอน​บุตร​ให้​รัก​พี่​น้อง​คริสเตียน และ​เขา​สามารถ​ทำ​อย่าง​นี้​โดย​วิธี​ใด?

15 มี​อะไร​อีก​ที่​บิดา​มารดา​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​สร้าง​บรรยากาศ​ที่​บุตร​จะ​เติบโต​ขึ้น​เป็น​ผู้​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา? อัครสาวก​โยฮัน​เขียน​ดัง​นี้: “ถ้า​ผู้​ใด​ว่า, ‘ข้าพเจ้า​รัก​พระเจ้า’ และ​ใจ​ยัง​เกลียด​ชัง​พี่​น้อง​ของ​ตัว ผู้​นั้น​เป็น​คน​พูด​มุสา เพราะ​ว่า​ผู้​ที่​ไม่​รัก​พี่​น้อง​ของ​ตน​ที่​แล​เห็น​แล้ว, จะ​รัก​พระเจ้า​ที่​ยัง​ไม่​ได้​แล​เห็น​อย่าง​ไร​ได้?” (1 โยฮัน 4:20, 21) ด้วย​เหตุ​นั้น เมื่อ​คุณ​อบรม​สั่ง​สอน​บุตร​ให้​รัก​พี่​น้อง​คริสเตียน คุณ​ก็​กำลัง​สอน​พวก​เขา​ให้​รัก​พระเจ้า. บิดา​มารดา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘สิ่ง​ที่​ฉัน​พูด​อยู่​บ่อย ๆ เกี่ยว​กับ​ประชาคม​เป็น​แบบ​ที่​เสริม​สร้าง​หรือ​วิพากษ์วิจารณ์?’ คุณ​จะ​ทราบ​ได้​อย่าง​ไร? ลอง​ตั้ง​ใจ​ฟัง​ลูก ๆ เมื่อ​เขา​พูด​เกี่ยว​กับ​การ​ประชุม​และ​สมาชิก​ใน​ประชาคม. คุณ​คง​จะ​มี​โอกาส​ได้​ยิน​ความ​คิด​ของ​คุณ​สะท้อน​ออก​มา​ใน​ความ​เห็น​ของ​ลูก.

16 บิดา​มารดา​จะ​สามารถ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ช่วย​บุตร​ให้​รัก​พี่​น้อง​ฝ่าย​วิญญาณ? ปีเตอร์ บิดา​ของ​ลูก​ชาย​วัยรุ่น​สอง​คน กล่าว​ว่า “ตั้ง​แต่​ลูก​ยัง​เล็ก เรา​เชิญ​พี่​น้อง​ที่​อาวุโส​ฝ่าย​วิญญาณ​มา​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​ที่​บ้าน​และ​ใช้​เวลา​ด้วย​กัน​เป็น​ประจำ และ​เรา​เพลิดเพลิน​กัน​มาก. ลูก​ชาย​ของ​เรา​เติบโต​ขึ้น​มา​โดย​คลุกคลี​อยู่​กับ​ผู้​คน​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา และ​ตอน​นี้​พวก​เขา​เห็น​ว่า​การ​รับใช้​พระเจ้า​เป็น​แนว​ทาง​ชีวิต​ที่​น่า​ชื่นชม​ยินดี.” เดนนิส บิดา​ของ​ลูก​สาว​ห้า​คน กล่าว​ว่า “เรา​สนับสนุน​ลูก​สาว​ของ​เรา​ให้​เป็น​เพื่อน​กับ​พวก​ไพโอเนียร์​ที่​อายุ​มาก​กว่า​ใน​ประชาคม และ​เมื่อ​ไหร่​ก็​ตาม​ที่​เป็น​ไป​ได้​เรา​ก็​จะ​เชิญ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​กับ​ภรรยา​มา​เป็น​แขก​ที่​บ้าน.” คุณ​จะ​แสดง​ความ​ริเริ่ม​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​ได้​ไหม​เพื่อ​ช่วย​บุตร​ให้​มี​ทัศนะ​ต่อ​ประชาคม​ว่า​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว?—มาระโก 10:29, 30.

ความ​รับผิดชอบ​ของ​เด็ก

17. บุตร​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​อะไร​ใน​ที่​สุด?

17 ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​เรื่อง​นัก​ยิง​ธนู​กัน​อีก​ครั้ง. แม้​ว่า​เขา​อาจ​เชี่ยวชาญ แต่​เขา​คง​จะ​ยิง​ไม่​ถูก​เป้า​ถ้า​ลูก​ธนู​ที่​เขา​ยิง​นั้น​บิด​งอ. แน่นอน บิดา​มารดา​จะ​พยายาม​อย่าง​หนัก​ที่​จะ​ดัด​ลูก​ธนู​ให้​ตรง กล่าว​คือ โดย​พยายาม​อย่าง​มาก​ที่​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​แก้ไข​ความ​คิด​ที่​ผิด ๆ ของ​บุตร. แต่​ใน​ที่​สุด​บุตร​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​เขา​จะ​ปล่อย​ให้​โลก​นี้​ทำ​ให้​เขา​บิด​เบี้ยว​ผิด​เพี้ยน​ตาม​ความ​ประสงค์​ของ​โลก​หรือ​จะ​ยอม​ให้​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้ ‘วิถี​ของ​เขา​ราบรื่น [“ตรง,” ล.ม.].’—สุภาษิต 3:5, 6, ฉบับ​แปล​ใหม่; โรม 12:2.

18. การ​เลือก​ของ​เด็ก​สามารถ​มี​ผล​เช่น​ไร​ต่อ​ผู้​อื่น?

18 แม้​ว่า​บิดา​มารดา​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​หนัก​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร​ด้วย “การ​ตี​สอน​และ​การ​ปรับ​ความ​คิด​จิตใจ​ตาม​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา” แต่​สิ่ง​ที่​ตัดสิน​ใน​ขั้น​สุด​ท้าย​ว่า​เด็ก​จะ​เติบโต​ขึ้น​มา​เป็น​คน​แบบ​ไหน​ขึ้น​อยู่​กับ​ตัว​เด็ก​เอง. (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) ด้วย​เหตุ​นั้น บุตร​ทั้ง​หลาย จง​ถาม​ตัว​คุณ​เอง​ว่า ‘ฉัน​จะ​ยอม​รับ​การ​อบรม​สั่ง​สอน​ด้วย​ความ​รัก​จาก​บิดา​มารดา​ไหม?’ ถ้า​คุณ​ยอม​รับ​เอา คุณ​กำลัง​เลือก​เอา​แนว​ทาง​ชีวิต​ที่​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. คุณ​จะ​ทำ​ให้​บิดา​มารดา​มี​ความ​สุข​มาก. ที่​สำคัญ​ที่​สุด คุณ​จะ​ทำ​ให้​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา​ยินดี.—สุภาษิต 27:11.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• บิดา​มารดา​อาจ​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ได้​โดย​วิธี​ใด​ใน​เรื่อง​การ​อธิษฐาน​และ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล?

• บิดา​มารดา​อาจ​สร้าง​บรรยากาศ​ที่​สงบ​สุข​ใน​บ้าน​ได้​โดย​วิธี​ใด?

• บุตร​เผชิญ​กับ​ทาง​เลือก​อะไร และ​การ​เลือก​ของ​พวก​เขา​จะ​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​ผู้​อื่น?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 28]

คุณ​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​แก่​บุตร​ไหม​ใน​เรื่อง​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว?

[ภาพ​หน้า 29]

บรรยากาศ​ที่​สงบ​สุข​ใน​ครอบครัว​ส่ง​เสริม​ความ​สุข