บทความที่หายไปของจอห์น มิลตัน
บทความที่หายไปของจอห์น มิลตัน
มีนักเขียนน้อยคนที่ส่งผลกระทบต่อโลกรอบตัวได้มากเท่ากับจอห์น มิลตัน ผู้ประพันธ์บทกวีมหากาพย์เรื่อง อุทยานที่สูญเสียไป (ภาษาอังกฤษ). ตามคำกล่าวของนักเขียนชีวประวัติคนหนึ่ง มิลตัน “มีคนรักใคร่มากมาย, มีคนเกลียดอยู่บ้าง, แต่มีน้อยคนที่ไม่รู้จักเขา.” จวบจนทุกวันนี้ วรรณกรรมและวัฒนธรรมอังกฤษเป็นหนี้ผลงานของเขาอยู่มากทีเดียว.
ทำไมจอห์น มิลตันจึงมีอิทธิพลมากขนาดนั้น? อะไรทำให้ผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาที่ชื่อว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ) เป็นที่ถกเถียงอย่างมากจนไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเวลา 150 ปี?
ชีวิตวัยเยาว์ของเขา
จอห์น มิลตัน เกิดในครอบครัวของผู้มีอันจะกินในกรุงลอนดอน ในปี 1608. มิลตันเล่าว่า “บิดาของข้าพเจ้าเตรียมข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่ยังเล็กเพื่อจะให้เล่าเรียนด้านวรรณศิลป์ ซึ่งข้าพเจ้าเองก็สนใจเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ตั้งแต่อายุสิบสองขวบ ข้าพเจ้าแทบไม่เคยได้เข้านอนก่อนเที่ยงคืนเลย.” มิลตันเรียนเก่งมากและได้รับปริญญาโทจากเคมบริดจ์ในปี 1632. หลังจากนั้น เขาก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์และวรรณกรรมกรีกและโรมันต่อมาเรื่อย ๆ.
มิลตันต้องการจะเป็นกวี แต่อังกฤษในสมัยนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่ปั่นป่วนวุ่นวายเนื่องจากการปฏิวัติ. รัฐสภาซึ่งนำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ได้แต่งตั้งศาลหนึ่งขึ้นซึ่งตัดสินสำเร็จโทษกษัตริย์ชาลส์ที่ 1 ในปี 1649. โดยใช้บทกวีที่ดึงดูดใจ มิลตันปกป้องการกระทำดังกล่าวและได้กลายเป็นโฆษกให้กับรัฐบาลของครอมเวลล์. ที่จริง ก่อนที่จะมีชื่อเสียงฐานะกวี จอห์น มิลตันก็โด่งดังอยู่แล้วเนื่องจากใบปลิวที่เขาเขียนเกี่ยวกับการเมืองและศีลธรรม.
หลังจากระบอบกษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูด้วยการราชาภิเษกกษัตริย์ชาลส์ที่ 2 ในปี 1660 ความสัมพันธ์ของเขากับครอมเวลล์ก็ทำให้ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตราย. มิลตันหนีไปหลบซ่อน และเป็นเพราะความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงที่มีอิทธิพลเท่านั้นที่ทำให้เขารอดพ้นความตายมาได้. ตลอดเวลาดังกล่าว เขายังคงรักษาความสนใจในศาสนาไว้เสมอ.
“มาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล”
มิลตันเขียนอธิบายเรื่องความสนใจที่เขามีต่อศาสนาในช่วงเริ่มต้นไว้ดังนี้: “ข้าพเจ้าเริ่มจากการทุ่มเทตัวกับการศึกษาพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ในภาษาเดิมตั้งแต่เป็นเด็ก.” มิลตันถือว่าพระคัมภีร์บริสุทธิ์เป็นคู่มือที่เชื่อถือได้เพียงแหล่งเดียวในเรื่องศีลธรรมและศาสนา. อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ศึกษางานเขียนทางเทววิทยาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้น เขาก็ผิดหวังอย่างสิ้นเชิง. เขาได้เขียนในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าไม่อาจจะฝากความเชื่อหรือความหวังในเรื่องความรอดไว้กับแหล่งชี้แนะเหล่านั้นได้.” ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเทียบดูความเชื่อของตน “กับมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล” อย่างเคร่งครัด มิลตันจึงเริ่มทำรายการข้อคัมภีร์ที่เขาคิดว่าสำคัญและจัดเป็นหมวดหมู่ตามหัวเรื่องทั่ว ๆ ไป แล้วนำข้อพระคัมภีร์ในรายการเหล่านี้ไปใช้อ้างอิง.
ปัจจุบัน จอห์น มิลตัน เป็นที่รู้จักมากที่สุดจากบทประพันธ์เรื่องอุทยานที่สูญเสียไป ซึ่งเป็นบทกวีที่เล่าเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการสูญเสียความสมบูรณ์ของมนุษย์. (เยเนซิศ บทที่ 3) งานประพันธ์ดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1667 เป็นผลงานหลักที่สร้างชื่อให้กับมิลตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ. หลังจากนั้น เขาได้พิมพ์ภาคต่อที่ชื่อว่าอุทยานที่ได้กลับคืนมา (ภาษา อังกฤษ). บทกวีเหล่านี้พูดถึงพระประสงค์แรกเดิมของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ คือให้พวกเขามีชีวิตที่สมบูรณ์อยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลก และยังชี้ว่าพระเจ้าจะฟื้นฟูอุทยานบนแผ่นดินโลกโดยทางพระคริสต์. ตัวอย่างเช่น ในอุทยานที่สูญเสียไป อัครทูตสวรรค์มิคาเอลบอกล่วงหน้าถึงเวลาที่พระคริสต์จะ “ตอบแทนแก่ผู้ซื่อสัตย์ และรับพวกเขาเข้าสู่ความสุขไม่รู้สิ้นสุด ไม่ว่าจะในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก เพราะในเวลานั้นทั่วทั้งแผ่นดินโลกจะเป็นอุทยาน จะเป็นที่ที่มีความสุขยิ่งกว่าเอเดนมาก และเป็นสมัยที่มีความสุขกว่ามาก.”
ว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียน
เป็นเวลาหลายปีที่มิลตันต้องการจะเขียนหนังสือที่พูดถึงชีวิตและหลักคำสอนของคริสเตียนโดยละเอียด. แม้ว่าเมื่อถึงปี 1652 เขาจะมีดวงตาที่บอดสนิท แต่เขาก็พยายามอย่างหนักเพื่อจะเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยการช่วยเหลือของเลขานุการหลายคน จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1674. มิลตันตั้งชื่อผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาว่า บทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียนซึ่งรวบรวมจากพระคัมภีร์บริสุทธิ์เพียงแหล่งเดียว. ในคำนำเขาเขียนว่า “นักประพันธ์หลายคนที่เคยเขียนเรื่องนี้ . . . เพียงแต่ยกข้อคัมภีร์ทั้งหมดที่พวกเขาใช้สอนมาไว้ที่ช่องว่างริมหน้า โดยอ้างถึงบทและข้อเพียงสั้น ๆ. แต่ข้าพเจ้าได้พยายามบรรจุข้อความจากทุกส่วนของคัมภีร์ไบเบิลไว้จนเต็มหน้ากระดาษ กระทั่งล้นขอบกระดาษด้วยซ้ำ.” เป็นอย่างที่มิลตันบอกจริง ๆ บทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียน ได้อ้างถึงหรือยกข้อคัมภีร์มากล่าวมากกว่า 9,000 ครั้ง.
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้มิลตันไม่เคยลังเลที่จะแสดงทัศนะของตน แต่เขาก็ยังไม่ตีพิมพ์บทความนี้เสียที. เพราะเหตุใด? เหตุผลหนึ่งคือ เขาทราบว่าคำอธิบายข้อคัมภีร์ในบทความของเขาแตกต่างมากจากคำสอนของโบสถ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน. นอกจากนั้น เมื่อมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์แล้ว มิลตันก็ไม่เป็นที่นิยมชมชอบของรัฐบาลอีกต่อไป. ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่าเขากำลังรอเวลาที่สงบกว่านี้. ไม่ว่าจะอย่างไร หลังจากที่มิลตันเสียชีวิตลง เลขานุการของเขาก็ได้นำต้นฉบับภาษาละตินไปให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่สำนักพิมพ์นั้นปฏิเสธที่จะตีพิมพ์. รัฐมนตรีคนหนึ่งของอังกฤษในเวลานั้นได้ยึดสำเนาต้นฉบับไปเก็บไว้. เวลาผ่านไปศตวรรษครึ่งก่อนจะมีการค้นพบบทความของมิลตัน.
ในปี 1823 เสมียนของที่เก็บเอกสารนั้นได้พบห่อกระดาษที่มีต้นฉบับของกวีชื่อดังผู้นี้เข้าโดยบังเอิญ. ผู้ปกครองอังกฤษในสมัยนั้นคือกษัตริย์จอร์จที่ 4 ได้มีราชโองการให้แปลผลงานดังกล่าวซึ่งเป็นภาษาละตินและเผยแพร่แก่สาธารณชน. เมื่อต้นฉบับดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในสองปีถัดมา ก็เกิดการโต้แย้งกันอย่างดุเดือดในแวดวงเทววิทยาและวรรณกรรม. บิชอปคนหนึ่งประกาศในทันทีว่าต้นฉบับดังกล่าวเป็นฉบับปลอม โดยไม่ยอมเชื่อว่ามิลตัน ผู้ที่คนมากมายถือว่าเป็นกวีด้านศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษจะปฏิเสธหลักคำสอนของคริสตจักรที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างหนักแน่นถึงเพียงนี้. เนื่องจากเล็งเห็น *
แล้วว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้และเพื่อเป็นการยืนยันว่ามิลตันคือผู้เขียนจริง ๆ ผู้แปลจึงได้เพิ่มหมายเหตุท้ายหน้าซึ่งให้รายละเอียดข้อความ 500 แห่งที่ตรงกันระหว่างบทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียนกับอุทยานที่สูญเสียไป.ความเชื่อของมิลตัน
ในยุคของมิลตัน อังกฤษได้รับเอาการปฏิรูปโปรเตสแตนต์เข้ามา และได้ตัดความสัมพันธ์กับคริสตจักรโรมันคาทอลิก. ชาวโปรเตสแตนต์โดยทั่วไปเชื่อว่าอำนาจในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรมมาจากพระคัมภีร์บริสุทธิ์เท่านั้น ไม่ใช่จากโปป. แต่ในบทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียน มิลตันได้แสดงให้เห็นว่าคำสอนและกิจปฏิบัติหลายอย่างของโปรเตสแตนต์ก็ไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์เช่นกัน. โดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นพื้นฐาน เขาได้ปฏิเสธหลักคำสอนเรื่องพรหมลิขิตของจอห์น แคลวินและสนับสนุนความเชื่อเรื่องเจตจำนงเสรี. เขาส่งเสริมการใช้พระนามยะโฮวาของพระเจ้าด้วยความนับถือ โดยใช้พระนามนี้บ่อย ๆ ในงานเขียนของตนเอง
มิลตันใช้พระคัมภีร์เพื่อโต้แย้งว่าจิตวิญญาณมนุษย์ตายได้. เมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับเยเนซิศ 2:7 เขาเขียนว่า “เมื่อมนุษย์ถูกสร้างอย่างนั้นแล้ว พระคัมภีร์ได้กล่าวว่า ในที่สุด: มนุษย์จึงเกิดเป็นจิตต์วิญญาณมีชีวิตอยู่. . . . เขาไม่ได้มีสองร่างหรือแยกร่างได้ ไม่ใช่อย่างที่คิดกันทั่วไปว่าเขาถูกสร้างขึ้นและประกอบด้วยสองส่วนที่แตกต่างกันและแยกจากกัน คือจิตวิญญาณและร่างกาย. ตรงกันข้าม ตัวมนุษย์ทุกส่วนคือจิตวิญญาณ และจิตวิญญาณก็คือมนุษย์.” แล้วมิลตันก็ตั้งคำถามว่า “ทุกส่วนของมนุษย์ตาย หรือว่าเฉพาะร่างกายเท่านั้น?” หลังจากยกข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลมากมายเพื่อแสดงว่าทุกส่วนของมนุษย์ตาย เขาก็เสริมว่า “แต่คำอธิบายที่น่าเชื่อถือที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าจะอ้างได้ซึ่งให้หลักฐานว่าจิตวิญญาณตาย ก็คือคำอธิบายของพระเจ้าเอง ที่ยะเอศ[เคล 18]:20 จิตวิญญาณที่กระทำบาป, จิตวิญญาณนั้นจะตาย.” มิลตันยังได้ยกข้อคัมภีร์ เช่น ลูกา 20:37 และ โยฮัน 11:25 เพื่อแสดงว่าความหวังของมนุษย์ที่ตายไปแล้วคือการกลับเป็นขึ้นจากตายในอนาคต..
อะไรกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดต่อบทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียน? สิ่งนั้นก็คือ หลักฐานที่เรียบง่ายแต่มีพลังจากคัมภีร์ไบเบิลซึ่งมิลตันใช้เพื่อพิสูจน์ว่าพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า ทรงมีฐานะต่ำกว่าพระเจ้า พระบิดา. หลังจากยก โยฮัน 17:3 กับ โยฮัน 20:17 ขึ้นมาแล้ว มิลตันก็ถามว่า “ถ้าพระบิดาเป็นพระเจ้าของพระคริสต์และพระเจ้าของเรา และถ้าพระเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้น ใครจะเป็นพระเจ้าได้นอกจากพระบิดา?”
นอกจากนั้น มิลตันชี้ว่า “พระบุตรเองและอัครสาวกของพระองค์ก็ยอมรับในทุกสิ่งที่พูดและเขียนว่า พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าพระบุตรในทุกด้าน.” (โยฮัน 14:28) “ที่จริง พระคริสต์เองได้ตรัสที่ มัด. 26:39 ว่า โอพระบิดาของข้าพเจ้า, ถ้าเป็นได้ขอให้จอกนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพเจ้าเถิด แต่อย่างไรก็ดีอย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพเจ้า, แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์. . . . ถ้าพระองค์เองเป็นพระเจ้าจริง ๆ ทำไมจึงทรงอธิษฐานถึงพระบิดาเท่านั้นแทนที่จะอธิษฐานถึงพระองค์เอง? ถ้าพระองค์ทรงเป็นทั้งมนุษย์และพระเจ้าองค์สูงสุด ทำไมพระองค์จึงอธิษฐานขอสิ่งที่อยู่ในอำนาจของพระองค์เองอยู่แล้ว? . . . เนื่องจากพระบุตรทรงยกย่องและให้ความเคารพแด่พระบิดาแต่องค์เดียว พระองค์จึงสอนเราให้ทำอย่างเดียวกัน.”
ข้อบกพร่องของมิลตัน
จอห์น มิลตันแสวงหาความจริง. แต่เขาก็ยังมีข้อบกพร่องเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย และทัศนะบางอย่างของเขาก็ได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต. ตัวอย่างเช่น หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน เจ้าสาวของเขาซึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในชนบทซึ่งสนับสนุนระบอบกษัตริย์ ก็ทิ้งเขากลับไปหาครอบครัวประมาณสามปี. ระหว่างนั้น มิลตันได้เขียนใบปลิวเพื่อพิสูจน์ว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องชอบธรรม ไม่เพียงในกรณีที่คู่สมรสไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวตามมาตรฐานที่พระเยซูทรงตั้งไว้ แต่ยังรวมถึงในกรณีที่คู่สมรสเข้ากันไม่ได้อีกด้วย. (มัดธาย 19:9) มิลตันได้สนับสนุนความคิดดังกล่าวในบทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียนด้วย.
แม้ว่ามิลตันจะมีข้อบกพร่อง แต่บทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียนก็เสนอทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องคำสอนที่สำคัญหลายเรื่องได้อย่างมีพลัง. จนถึงทุกวันนี้ บทความของเขาก็ยังทำให้ผู้ที่อ่านต้องเทียบดูความเชื่อของตนเองกับมาตรฐานที่สมบูรณ์ในพระคัมภีร์บริสุทธิ์.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 บทความว่าด้วยหลักคำสอนคริสเตียน ที่แปลใหม่และตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยเยลในปี 1973 แปลได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาละตินของมิลตันยิ่งขึ้นอีก.
[ภาพหน้า 11]
มิลตันเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่กระตือรือร้น
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of The Early Modern Web at Oxford
[ภาพหน้า 12]
บทกวี “อุทยานที่สูญเสียไป” คือผลงานที่สร้างชื่อให้กับมิลตัน
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of The Early Modern Web at Oxford
[ภาพหน้า 12]
ผลงานชิ้นสุดท้ายของมิลตันสาบสูญไปประมาณ 150 ปี
[ที่มาของภาพ]
Image courtesy of Rare Books and Special Collections, Thomas Cooper Library, University of South Carolina
[ที่มาของภาพหน้า 11]
Image courtesy of Rare Books and Special Collections, Thomas Cooper Library, University of South Carolina