มุ่งไปสู่แสงสว่าง
มุ่งไปสู่แสงสว่าง
ประภาคารช่วยชีวิตผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วน. แต่สำหรับนักเดินทางที่เหน็ดเหนื่อย แสงสว่างที่เห็นแต่ไกลไม่ได้เป็นแค่เครื่องเตือนให้รู้ว่ามีแนวหินโสโครกที่เป็นอันตรายเท่านั้น แต่ยังบอกให้รู้ด้วยว่าใกล้จะถึงจุดหมายปลายทางแล้ว. ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนในทุกวันนี้กำลังใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของการเดินทางอันยาวไกลซึ่งพาพวกเขาผ่านโลกที่มืดมนและอันตรายต่อความเชื่อ. ในคัมภีร์ไบเบิล มนุษยชาติโดยทั่วไป—ซึ่งเหินห่างจากพระเจ้า—ถูกเปรียบเหมือนกับ “ทะเลบ้า, เพราะมันอยู่สงบไม่ได้, และน้ำทะเลก็เป็นคลื่นขุ่นและโสโครก.” (ยะซายา 57:20) ประชาชนของพระเจ้าอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนั้น. กระนั้น พวกเขามีความหวังอันสดใสเรื่องความรอดซึ่งเป็นเหมือนแสงสว่างโดยนัยที่ไว้ใจได้. (มีคา 7:8) เป็นเพราะพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ที่จารึกไว้ จึงมี “แสงสว่างส่องมาสำหรับคนชอบธรรม, และความยินดีสำหรับคนที่มีใจซื่อตรง.”—บทเพลงสรรเสริญ 97:11. *
แต่คริสเตียนบางคนได้ปล่อยให้สิ่งที่ทำให้เขวมาล่อลวงเขาให้หันเหไปจากแสงสว่างของพระยะโฮวาจนทำให้ความเชื่อของเขาอับปางลง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจเปรียบได้กับหินโสโครก เช่น วัตถุนิยม, การผิดศีลธรรม, หรือกระทั่งการออกหาก. ใช่แล้ว เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก บางคนในทุกวันนี้ได้ “เสียความเชื่อนั้นเหมือนเรืออับปาง.” (1 ติโมเธียว 1:19; 2 เปโตร 2:13-15, 20-22) โลกใหม่อาจเปรียบได้กับท่าเรือที่เรากำลังมุ่งหน้าไปหา. เนื่องจากโลกใหม่ใกล้จะถึงอยู่แล้ว การสูญเสียความโปรดปรานจากพระยะโฮวาจึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเสียจริง ๆ!
จงหลีกเลี่ยง ‘การเสียความเชื่อเหมือนเรืออับปาง’
หลายศตวรรษก่อน เรือที่ท่องไปทั่วท้องทะเลอันกว้างไกลอาจอับปางเมื่อใกล้จะถึงท่า. บ่อยครั้ง ช่วงที่อันตรายที่สุดของการเดินทางคือช่วงที่เรือใกล้จะถึงฝั่ง. ในทำนองเดียวกัน สำหรับหลายคนแล้ว ช่วงที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์คือช่วง “สมัยสุดท้าย” ของระบบนี้. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาอย่างถูกต้องว่าสมัยสุดท้ายนี้ “ยากที่จะรับมือได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้ว.—2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.
เหตุใดสมัยสุดท้ายนี้จึงมีความยุ่งยากลำบากเหลือเกิน? เอาล่ะ ในการทำสงครามกับประชาชนของพระเจ้า ซาตานรู้ว่า “เวลาของมันมีน้อย.” ฉะนั้น มันจึงพยายามเพิ่มความรุนแรงให้กับการรณรงค์อันชั่วช้าของมันเพื่อทำให้ความเชื่อของพวกเขาอับปางลง. (วิวรณ์ 12:12, 17) กระนั้น เราไม่ขาดการช่วยเหลือและการชี้นำ. พระยะโฮวายังคงเป็นที่คุ้มภัยสำหรับคนที่เอาใจใส่คำแนะนำของพระองค์. (2 ซามูเอล 22:31) พระองค์ประทานตัวอย่างที่เป็นคำเตือนซึ่งเปิดโปงแผนการชั่วอันล้ำลึกของซาตาน. ตอนนี้ ให้เรามาทบทวนสองตัวอย่างดังกล่าวเกี่ยวกับชาติอิสราเอลในช่วงที่พวกเขาใกล้จะถึงแผ่นดินตามคำสัญญา.—1 โกรินโธ 10:11; 2 โกรินโธ 2:11.
ใกล้แผ่นดินตามคำสัญญา
เนื่องจากมีโมเซเป็นผู้นำ ชาวอิสราเอลจึงสามารถหนีออกจากอียิปต์ได้. ไม่นาน พวกเขาก็เข้ามาใกล้พรมแดนด้านใต้ของแผ่นดินตามคำสัญญา. แล้วโมเซได้ส่งชาย 12 คนไปสอดแนมแผ่นดินนั้น. คนสอดแนมสิบคนที่ขาดความเชื่อได้กลับมารายงานในแง่ลบโดยกล่าวว่า ชาวอิสราเอลจะไม่สามารถต่อสู้กับชาวคะนาอันได้สำเร็จเพราะพวกเขามี อาฤธโม 13:1, 2, 28-32; 14:1-4.
“รูปร่างโตใหญ่นัก” และมีกองทัพที่เข้มแข็ง. ข่าวนี้ส่งผลต่อพวกอิสราเอลอย่างไร? บันทึกในพระคัมภีร์บอกเราว่า พวกเขาเริ่มบ่นต่อว่าโมเซและอาโรนว่า “เหตุไฉนพระยะโฮวาได้พาเราออกจากประเทศนั้นมาให้ล้มตายด้วยคมกระบี่, แลลูกเมียของเราเป็นทาสเชลยเขาเล่า. . . . ให้เราทั้งหลายตั้งคนหนึ่งเป็นนายขึ้น, แลให้เราทั้งหลายกลับไปยังประเทศเมืองอายฆุบโต.”—ลองนึกภาพดูสิ! ประชาชนกลุ่มเดียวกันนี้แหละที่ได้เห็นพระยะโฮวาทำให้ประเทศอียิปต์อันเกรียงไกร—มหาอำนาจโลกในสมัยนั้น—ต้องยอมศิโรราบเนื่องจากภัยพิบัติสิบประการและการอัศจรรย์อันน่าครั่นคร้ามในทะเลแดง. แผ่นดินที่สัญญาไว้ก็อยู่ตรงหน้าพวกเขานั่นเอง ดังนั้น พวกเขาก็แค่มุ่งหน้าไปยังแผ่นดินนั้น เหมือนเรือที่มุ่งหน้าไปสู่แสงสว่างที่เป็นจุดหมายปลายทาง. กระนั้น พวกเขารู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่มีความสามารถที่จะล้มล้างอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อยที่แตกแยกกันของคะนาอันได้. ท่าทีที่ขาดความเชื่อคงต้องทำให้พระเจ้าและยะโฮซูอะกับคาเลบซึ่งเป็นคนสอดแนมที่กล้าหาญสองคนที่รู้สึกว่าชาวคะนาอันเป็นเหมือน “อาหารของ [ชาวอิสราเอล]” รู้สึกผิดหวังสักเพียงไร! คนสอดแนมทั้งสองได้เดินสำรวจทั่วแผ่นดินคะนาอันและเห็นด้วยตาตนเองมาแล้ว. เมื่อประชาชนไม่ได้เข้าไปในแผ่นดินตามคำสัญญา ยะโฮซูอะกับคาเลบจึงต้องเดินทางรอนแรมในถิ่นทุรกันดารต่อไปหลายสิบปีด้วย แต่พวกเขาไม่ได้เสียชีวิตเหมือนกับพวกที่ขาดความเชื่อเหล่านั้น. ที่จริง ยะโฮซูอะกับคาเลบได้ช่วยนำชาวอิสราเอลรุ่นถัดไปออกจากถิ่นทุรกันดารและมุ่งหน้าไปสู่แผ่นดินตามคำสัญญา. (อาฤธโม 14:9, 30) ช่วงที่ใกล้จะถึงแผ่นดินนั้นครั้งที่สอง ชาวอิสราเอลเผชิญบททดสอบที่ต่างไปจากเดิม. พวกเขาจะรับมืออย่างไร?
กษัตริย์บาลาคชาวโมอาบพยายามสาปแช่งชาวอิสราเอลโดยใช้บีละอามซึ่งเป็นผู้พยากรณ์เท็จ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทำลายแผนการนี้โดยทำให้บีละอามอวยพรชาวอิสราเอลแทนที่จะแช่งสาป. (อาฤธโม 22:1-7; 24:10) โดยไม่ยอมแพ้ บีละอามคิดแผนชั่วอีกแผนหนึ่งโดยทำให้ประชาชนของพระเจ้าไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้าไปในแผ่นดินตามคำสัญญา. แผนนั้นคืออะไร? โดยการล่อลวงพวกเขาให้ทำผิดศีลธรรมและนมัสการบาละ. แม้แผนการนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จทั้งหมดเช่นเดียวกัน แต่ก็ทำให้ชาวอิสราเอล 24,000 คนถูกล่อลวงให้ทำผิด. คนพวกนี้ทำผิดศีลธรรมกับหญิงชาวโมอาบและเข้าร่วมนมัสการบาละแห่งเปโอร์.—อาฤธโม 25:1-9.
คิดดูก็แล้วกัน! ชาวอิสราเอลหลายคนในกลุ่มเดียวกันนี้ได้เห็นพระยะโฮวานำพวกเขาผ่าน “ป่าใหญ่อันเป็นที่น่ากลัว” อย่างปลอดภัย. (พระบัญญัติ 1:19) กระนั้น ขณะอยู่ใกล้แผ่นดินที่จะได้รับเป็นมรดก ประชาชนของพระเจ้า 24,000 คนกลับยอมพ่ายแพ้ต่อความปรารถนาของเนื้อหนังและเสียชีวิตด้วยพระหัตถ์ของพระยะโฮวา. นับว่าเป็นตัวอย่างที่ให้คำเตือนเสียจริง ๆ สำหรับผู้รับใช้พระเจ้าในทุกวันนี้ขณะที่พวกเขาใกล้จะได้รับมรดกที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นมาก!
ในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะขัดขวางไม่ให้ผู้รับใช้พระยะโฮวาสมัยปัจจุบันได้รับบำเหน็จรางวัล ซาตานไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ใหม่. ในกลยุทธ์ซึ่งเตือนเราให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอิสราเอลตอนที่จะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญาในครั้งแรก บ่อยครั้งซาตานพยายามสร้างความหวาดกลัวและความสงสัย ไม่ว่าจะโดยการข่มขู่, การข่มเหง, หรือการเยาะเย้ย. คริสเตียนบางคนพ่ายแพ้ต่อความกลัวเช่นนั้น. (มัดธาย 13:20, 21) อีกแผนการหนึ่งที่ใช้ได้ผลทุกยุคทุกสมัยก็คือการทำให้เกิดความเสื่อมทรามทางศีลธรรม. บางครั้งบางคราว คนที่ลักลอบเข้ามาในประชาคมคริสเตียนได้พยายามบ่อนทำลายคนที่มีความเชื่ออ่อนแอและคนที่ไม่ได้ดำเนินด้วยความเชื่อมั่นในแสงสว่างของพระเจ้า.—ยูดา 8, 12-16.
สำหรับคนที่ตื่นตัวและเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ การที่โลกตกเข้าสู่การเสื่อมศีลธรรมอย่างรวดเร็วเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่าซาตานกำลังจนตรอก. ใช่แล้ว ซาตานรู้ว่าในไม่ช้า มันจะแตะต้องผู้รับใช้ที่ภักดีของพระเจ้าไม่ได้อีกแล้ว. ดังนั้น แน่นอนว่านี่เป็นเวลาที่เราจะต้องตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอเพื่อระแวดระวังต่อความพยายามของซาตาน.
สิ่งที่ช่วยให้รักษาความตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ
อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า คำกล่าวเชิงพยากรณ์ของพระเจ้าเปรียบเหมือน “แสงตะเกียงส่องสว่างเข้าไปในที่มืด” เพราะพระคำนั้นช่วยคริสเตียนให้เห็นและเข้าใจความสำเร็จแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า. (2 เปโตร 1:19-21) คนที่พัฒนาความรักต่อพระคำของพระเจ้าและให้พระคำนั้นชี้นำชีวิตของตนเรื่อยไป พบว่าพระยะโฮวาทรงชี้ทางเดินของเขาให้ตรงไป. (สุภาษิต 3:5, 6) คนที่สำนึกบุญคุณเช่นนั้นจะ “โห่ร้องด้วยความชื่นชมยินดีเพราะสภาพหัวใจที่ดี” เนื่องด้วยมีความหวังเต็มเปี่ยม ในขณะที่คนที่ไม่รู้จักพระยะโฮวาหรือออกไปจากแนวทางของพระองค์ในที่สุดก็จะ “หัวใจปวดร้าว ”และ “ใจแตกสลาย.” (ยะซายา 65:13, 14, ล.ม.) ฉะนั้น โดยการศึกษาพระคัมภีร์อย่างขยันขันแข็งและการนำสิ่งที่เราเรียนรู้ไปใช้ เราจะสามารถเอาใจจดจ่ออยู่เสมอกับความหวังอันแน่นอนของเรา แทนที่จะรู้สึกพึงพอใจกับสิ่งต่าง ๆ ในระบบนี้แต่เพียงชั่วคราว.
การอธิษฐานก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเพื่อรักษาความตื่นตัวทางฝ่ายวิญญาณ. เมื่อพูดเกี่ยวกับอวสานของระบบนี้ พระเยซูตรัสว่า “ฉะนั้น จงเฝ้าระวังและทูลวิงวอนอยู่เสมอเพื่อเจ้าทั้งหลายจะหนีพ้นสิ่งทั้งปวงนี้ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นและยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์ได้.” (ลูกา 21:34-36) สังเกตว่าพระเยซูใช้คำว่า “ทูลวิงวอน” ซึ่งเป็นการอธิษฐานในลักษณะที่เอาจริงเอาจังอย่างยิ่ง. พระเยซูรู้ว่าชีวิตนิรันดร์เผชิญความเสี่ยงในยุควิกฤตินี้. คำอธิษฐานของคุณสะท้อนถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอไหม?
ขอเราอย่าลืมว่า ช่วงที่อันตรายที่สุดของการเดินทางเพื่อจะรับมรดกของเราอาจเป็นช่วงสุดท้ายของการเดินทาง. ด้วยเหตุนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะไม่ละสายตาจากแสงสว่างซึ่งจะนำเราไปสู่ความรอด.
จงตื่นตัวต่อแสงสว่างปลอม
ย้อนกลับไปในสมัยที่ใช้เรือใบ มีอันตรายอย่างยิ่งที่เกิดจากคนชั่วที่อาศัยคืนเดือนมืดเมื่อกะลาสีเรือมองไม่เห็นชายฝั่ง. พวกโจรจะจุดไฟไว้ตามแนวชายฝั่งที่เป็นอันตรายเพื่อหลอกให้กัปตันเรือเปลี่ยนเส้นทาง. คนที่ถูกหลอกอาจประสบเหตุเรือจม, สินค้าถูกปล้น, และถูกฆ่า.
ในทำนองเดียวกัน ซาตาน “ทูตแห่งความสว่าง” จอมหลอกลวง ต้องการทำลายสัมพันธภาพที่ประชาชนของพระเจ้ามีกับพระองค์. พญามารอาจใช้ “อัครสาวกเท็จ” และ “คนรับใช้ของความชอบธรรม” ที่ออกหาก ในการล่อลวงคนที่ไม่ระวังตัว. (2 โกรินโธ 11:13-15) แต่เช่นเดียวกับกัปตันและลูกเรือที่มีประสบการณ์ซึ่งตื่นตัวไม่หลงกลแสงสว่างปลอม คริสเตียนที่ “ได้ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด” จะไม่ถูกชักนำให้หลงไปกับคนที่ส่งเสริมคำสอนเท็จและหลักปรัชญาที่สร้างความเสียหาย.—เฮ็บราย 5:14, ล.ม.; วิวรณ์ 2:2.
นักเดินเรือจะมีบัญชีรายชื่อประภาคารที่อยู่ตามเส้นทางเดินเรือที่เขาใช้. รายชื่อนั้นจะบอกลักษณะของประภาคารแต่ละแห่ง รวมถึงวิธีส่งสัญญาณเฉพาะของประภาคารนั้น ๆ. สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก ให้ข้อสังเกตว่า “นักเดินเรือรู้ว่าประภาคารที่เขามองเห็นคือประภาคารใด ซึ่งทำให้เขาทราบว่าตอนนี้อยู่ที่ไหนโดยการสังเกตลักษณะของประภาคารและการเทียบกับรายชื่อ.” ทำนองเดียวกัน พระคำของพระเจ้าช่วยคนที่มีหัวใจสุจริตให้สังเกตออกว่าอย่างไหนคือการนมัสการแท้และใครเป็นผู้ติดตามการนมัสการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสุดท้ายนี้ที่พระยะโฮวาได้ยกการนมัสการแท้ขึ้นสูงเหนือศาสนาเท็จ. (ยะซายา 2:2, 3; มาลาคี 3:18) เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการนมัสการแท้กับการนมัสการเท็จแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง ยะซายา 60:2, 3 กล่าวว่า “ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้มิด, และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้; แต่ส่วนเจ้า, พระยะโฮวาจะส่องแสงให้, และให้สง่าราศีของพระองค์จับปรากฏอยู่บนเจ้า; ประชาชาติจะดำเนินตามแสงสว่างของเจ้า, และกษัตริย์ทั้งหลายจะดำเนินตามแสงสว่างอันจ้าของเจ้า.”
ขณะที่ผู้คนนับล้านจากทุกชาติได้รับการชี้นำโดยแสงสว่างของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป พวกเขาจะไม่สูญเสียความเชื่อในช่วงสุดท้ายของการเดินทาง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะเดินทางอย่างปลอดภัยผ่านช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของระบบนี้และเข้าสู่ที่อาศัยอันสงบสุขและปลอดภัยในโลกใหม่.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 พระคัมภีร์ใช้คำ “แสงสว่าง” หลายครั้งในแง่สัญลักษณ์หรือไม่ก็ในความหมายเป็นนัย. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลเชื่อมโยงพระเจ้ากับแสงสว่าง. (บทเพลงสรรเสริญ 104:1, 2; 1 โยฮัน 1:5) ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์จากพระคำของพระเจ้าเปรียบเหมือนแสงสว่าง. (ยะซายา 2:3-5; 2 โกรินโธ 4:6) ช่วงที่พระเยซูรับใช้บนแผ่นดินโลก พระองค์เป็นแสงสว่าง. (โยฮัน 8:12; 9:5; 12:35) และสาวกของพระเยซูได้รับพระบัญชาให้ส่องความสว่างของตนออกไป.—มัดธาย 5:14, 16.
[ภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับนักเดินเรือ คริสเตียนจะระวังไม่ให้ถูกหลอกโดยแสงสว่างปลอม